การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 pdf

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 pdf

อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขา Business Analytics and Intelligence และวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์
ผู้อำนวยการศูนย์คลังปัญญาและสารสนเทศ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์



การปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial revolution) ครั้งแรกของโลกเกิดในอังกฤษ เกิดการประดิษฐ์เครื่องจักรไอน้ำโดย James Watt ทำให้เกิดการปั่นฝ้าย ทอผ้าด้วยเครื่องจักร เริ่มมีรถไฟที่ใช้หัวจักรไอน้ำ ทำให้การขนส่งเกิดความสะดวก เกิดการขยายอุตสาหกรรมขึ้นอย่างมากมาย James Watt เกิดในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ผลงานของ Watts ทำให้โลกเกิดการประดิษฐ์ เกิดการผลิตแบบอุตสาหกรรม และเป็นต้นแบบของการผลิตเครื่องจักรจากการต้มน้ำให้เดือดกลายเป็นไอมาเป็นเครื่องจักรเครื่องยนต์แบบจุดระเบิดในลูกสูบที่เราใช้ในรถยนต์มาจนถึงทุกวันนี้ ทำให้เศรษฐกิจโลกเติบโตและพัฒนาไปสู่ความสมัยใหม่ (Modernization) สาเหตุเพราะเครื่องจักรไอน้ำในยุคนั้นที่ Watts คิดค้นได้เป็น Disruptive technology ของยุคนั้น เป็นเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก และทำให้ชนชั้นกรรมาชีพเติบโตและมีการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานและท้ายที่สุดมีคนวิเคราะห์กันว่าการนำไปสู่ Glorious revolution หรือการกำเนิดประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้งในอังกฤษ (ซึ่งตอนแรกเป็นการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่สุดท้ายก็มีปัญหาต้องไปเชิญพระเจ้าแผ่นดินกลับมาครองอังกฤษเช่นเดิม)

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สอง (The second industrial revolution) นั้นกล่าวกันว่าเกิดจากการประดิษฐ์คิดค้นเทคโนโลยีหลายๆ อย่างพร้อมๆ กัน แต่หลักสำคัญสุดน่าจะเป็นการปั่นไฟฟ้าได้ ด้วยไดนาโม ของ Michael Faraday ซึ่งเอาแม่เหล็กมาหมุนกับขดลวดเหนี่ยวนำให้เกิดกระแสไฟฟ้า ซึ่งทำให้เกิดการสร้างเขื่อนและกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ นำไปสู่การผลิตเครื่องจักรที่ใช้ไฟฟ้ามากมาย นำไปสู่การประดิษฐ์หลอดไฟโดย Thomas Alva Edison ในเวลาเดียวกันนี้ก็เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีในการถลุงเหล็กให้ดีขึ้น ทำให้การผลิตเครื่องจักรสำหรับอุตสาหกรรมหนักและการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าทำได้ง่ายขึ้นและทำได้อย่างรวดเร็ว มีการประดิษฐ์โทรเลขโดย Samuel Morse และการประดิษฐ์โทรศัพท์โดย Alexander Graham Bell และนำไปสู่การคิดค้นคอมพิวเตอร์ที่ใช้ไฟฟ้า จากแนวคิดเครื่องจักรที่คิดคำนวณได้ของ Charles Babbage หลังจากนั้นโลกก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในอัตราที่ไม่เคยมีมาก่อน

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สาม เริ่มมีคนพูดถึงคำนี้เป็นครั้งแรกในหนังสือ The Third Industrial Revolution; How Lateral Power is Transforming Energy, the Economy, and the World แต่งโดย Jeremy Rifkin ตีพิมพ์จำหน่ายในปี 2011 โดยมีความเห็นว่าพลังงานไฟฟ้าทางเลือกที่นำกลับมาใช้ได้อีก (Renewable Electricity) จะเปลี่ยนโลกไปอย่างสิ้นเชิง

ผมไม่คิดว่า Renewable Electricity จะเปลี่ยนโลกได้ และไม่คิดว่าเป็น disruptive technology ที่เปลี่ยนโลกได้แต่อย่างใด การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สามของโลก น่าจะเกิดจากปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) วิทยาการข้อมูล (Data Science: DS) และอินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง (Internet of Things: IOTs)

ปัญญาประดิษฐ์ นั้นเกิดจากการคิดค้นของ Herbert A Simon แห่ง Carnegie Mellon ผู้ได้รับรางวัลโนเบล โดยการพัฒนาให้คอมพิวเตอร์คิดได้เหมือนคน โดย Simon ใช้เทคนิคที่เรียกว่า Protocol Analysis หรือ Think out loud ให้ผู้เชี่ยวชาญมาแก้ปัญหา และอธิบายกระบวนการในการคิดและการแก้ปัญหาออกมาเป็นขั้นตอนย่อยๆ เป็น chunk เล็กๆ แล้วพูดออกมาว่ามี input process และ output อะไรบ้างในแต่ละขั้นตอน นำมาเขียน flowchart ให้เข้าใจแล้วเอาไปเขียนโปรแกรม เท่านี้คอมพิวเตอร์ก็คิดได้เท่ากับผู้เชี่ยวชาญ และต่อมาปัญญาประดิษฐ์ก็ได้รับการคิดค้นและพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ ได้แก่ Artificial neural network และ Deep learning เป็นต้อน ปัญญาประดิษฐ์ทำให้เกิดการสร้างเครื่องจักรที่คิดและทำงานได้ใกล้เคียงกับคนมากขึ้นเรื่อยๆ

วิทยาการข้อมูล เป็นบูรณาการระหว่างสามสาขาวิชาคือหนึ่ง คณิตศาสตร์และสถิติ สองวิทยาการคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ และสามความรู้ในสาขาวิชาต่างๆ เช่น ถ้าเอาความรู้ทางบริหารธุรกิจมารวมก็จะกลายเป็น Business Analytics ถ้าเอาความรู้ทางชีววิทยามารวมก็กลายเป็น Bioinformatics เป็นต้น วิทยาการข้อมูลช่วยให้วิเคราะห์ข้อมูล โดยเฉพาะข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีความหลากหลายและนำไปสู่ความรู้ที่นำไปใช้งานได้จริง (Actionable knowledge)

อินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง เกิดจากการที่อุปกรณ์ต่างๆ ไปจนถึงตึกรามบ้านช่อง ถนน รถยนต์ มี censor หรือแม้แต่ร่างกายเราก็สามารถติดตั้ง biosensor ไว้ตรวจจับสัญญาณและข้อมูลต่างๆ ไว้ได้อย่างรวดเร็ว เกิดข้อมูลเรียลไทม์ที่มีปริมาณมหาศาล หากเอาความรู้ด้าน Data Science และ ปัญญาประดิษฐ์มาช่วยกันก็จะช่วยทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆ และนวัตกรรมได้เป็นอันมาก

ปัญญาประดิษฐ์+วิทยาการข้อมูล+อินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง ในปัจจุบันนี้พยากรณ์ว่าผู้ป่วยคนใดจะเกิดหัวใจล้มเหลวเมื่อไหร่ ได้แม่นยำกว่าหทัยแพทย์ ต่อไปจะอ่านฟิลม์ได้ดีกว่ารังสีแพทย์ ดูรูปถ่ายผิวหนังแล้วสามารถวินิจฉัยโรคได้ดีกว่าตจแพทย์ และน่าจะวินิจฉัยโรคต่างๆ ได้ดีกว่าอายุรแพทย์ด้วยในอนาคตอันใกล้ ในขณะเดียวกันเมื่อนำ ปัญญาประดิษฐ์+วิทยาการข้อมูล+อินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง มาหลอมรวมกัน สร้างหุ่นยนต์อัตโนมัติ ก็สามารถผ่าตัดได้แม่นยำกว่าศัลยแพทย์เสียอีก

โรงงานผลิตรถยนต์ สินค้า ต่างๆ จะใช้หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ วิทยาการข้อมูล อินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง มาแทนที่คนงานในโรงงานทั้งหมด ที่เคยต้องมีคนงานเป็นพันๆ คน อาจจะเหลือเพียง 6 คนเท่านั้น ล่าสุดที่ Donald Trump บอกว่าจะตั้งกำแพงภาษีสำหรับรถยนต์ที่ผลิตใน Mexico เพื่อบังคับให้ Nissan และ Toyota มาตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ในสหรัฐอเมริกาซึ่งค่าแรงแพงกว่ามาก เพื่อให้เกิดการจ้างแรงงานในสหรัฐอเมริกา ทำให้ Nissan รับปากทันทีและออกแบบโรงงานผลิตรถยนต์ในสหรัฐอเมริกาให้สายพานการผลิตเป็นแบบ automated ทั้งหมด ใช้หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ในการควบคุม และใช้คนสำหรับดูแลโรงงานผลิตรถยนต์ทั้งโรงงานไม่ถึงสิบคน ทำให้ลดต้นทุนค่าแรงลงไปจนสามารถตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ในสหรัฐอเมริกาได้อย่างสบายๆ ถ้าใครเคยไป Detroit ที่สหรัฐอเมริกาย่อมทราบว่าเมืองนี้เคยเป็นเมืองอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มากผลิตรถยนต์แต่ทุกวันนี้โรงงานปิดไปหมดแล้ว และเมืองก็แทบจะเป็นเมืองร้าง เห็นซากปรักหักพังของบ้านเรือนที่ไม่มีคนอยู่อาศัยและโรงงานร้างเต็มไปหมดทั้งเมือง และที่ Trump คิดว่าเอาโรงงานกลับมาตั้งในสหรัฐอเมริกาก็จะไม่ช่วยเพิ่มการจ้างงานสักเท่าไหร่

ในปัจจุบันปัญญาประดิษฐ์เก่งมากขึ้นถึงกับเริ่มมีการออกแบบให้หุ่นยนต์ทำหน้าที่บริบาลผู้สูงอายุง่ายๆ แทนคนในบ้านได้ดีมาก เอาหุ่นยนต์มาใช้แทนพนักงานเสิร์ฟ ต่อไป แอร์โฮสเตส อาจจะไม่มี และใช้หุ่นยนต์แทนก็ย่อมได้ ดังนั้นหุ่นยนต์ที่เก่งขึ้นด้วยปัญญาประดิษฐ์จะมาแทนที่คนแทบจะทั้งหมด AI+DS+IOTs จะทำให้คนตกงานอีกมากมาย แต่จะทำให้อุตสาหกรรมต่างๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าไปอย่างสิ้นเชิงในเร็ววันนี้ อุปกรณ์แทบทุกอย่างจะคิดเองได้ เชื่อมต่อ พูดคุยและสื่อสารกันเอง และปรับตัวหรือปรับแต่งได้อย่างรวดเร็วให้เหมาะกับสถานการณ์ Computer และ หุ่นยนต์จะไม่เพียงแค่ทำงานซ้ำๆ ได้ดี แต่จะฉลาดมากขึ้น คิดและตัดสินใจได้เองมากขึ้น ทุกสิ่งอย่างจะ automated เองได้มากขึ้น

AI+DS+IOTs จะทำให้สิ่งต่างๆ รอบตัวเราฉลาดขึ้น Smart Car เอยต่อไปก็ไม่ต้องมีคนขับแล้ว รถยนต์ไม่มีคนขับจะเป็นสิ่งที่เราน่าจะได้เห็นในเร็วๆ นี้ คนขับรถจะตกงานได้ไม่ยากแต่อย่างใด Smart City ที่ต่อไปอาจจะไม่ต้องมีตำรวจ เพราะทุกอย่างควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ การกำกับดูแลจราจร ทุกอย่างมี กล้องวีดิโอ คอยติดตามกำกับและควบคุม Block chain และ Fin Tech จะเปลี่ยนโฉมหน้าทางการเงินการธนาคาร ทำให้สามารถระดมทุนผ่าน Crowdsourcing ได้ และผู้กู้กับผู้ให้กู้เงินไม่ต้องเจอหน้ากันก็ได้ และไม่ต้องมีคนกลางเช่นธนาคารพาณิชย์ก็ยังได้ ไม่มีความจำเป็นต้องทำ IPO: Initial public offering ในการระดมทุนเช่นในอดีต

ในสิบปีข้างหน้านี้จะมีอาชีพที่เตรียมตัวตกงานอีกมากมาย ปัญญาประดิษฐ์ วิทยาการข้อมูล และอินเทอร์เน็ทแห่งสรรพสิ่งจะสามารถทำงานที่มนุษย์และผู้เชี่ยวชาญในอดีตต้องทำ แต่เมื่อ AI+DS+IOTs เข้ามา ความจำเป็นในการจ้างงานที่ใช้คนจะลดลงไปเรื่อยๆ ไม่เว้นแม้แต่ศัลยแพทย์หรือพยาบาลที่อาจจะตกงานได้ไม่ยากนัก ผมนึกถึงเหตุการณ์ในอดีตที่กิจการการพิมพ์ต้องใช้คนงานเรียงพิมพ์ตัวตะกั่วซึ่งกลับซ้ายเป็นขวา ต้องจ้างพนักงานเรียงพิมพ์ไว้มากมาย ต่อมาเกิดการเรียงพิมพ์ด้วยแสงและการเรียงพิมพ์ด้วยคอมพิวเตอร์ ทำให้พนักงานเรียงพิมพ์เหล่านี้ตกงานกันไปจนหมดสิ้น มีน้อยรายมากที่สามารถปรับตัวมาเรียนรู้การเรียงพิมพ์ด้วยคอมพิวเตอร์ และวันนี้ผมก็ได้เห็นว่า digital media และ social media กำลังมาฆ่าสื่อสิ่งพิมพ์ให้ตายไปจนหมดสิ้น แม้แต่วิศวกรคอมพิวเตอร์ของอินเดียที่ไม่มีความรู้เรื่อง AI+DS+IOTs ยังถูกเลย์ออฟ มีการประมาณว่าบุคลากรด้าน IT กว่าหนึ่งในสี่จะถูกเลย์ออฟภายในสามปีนี้เพราะทักษะและความรู้ที่มีด้าน IT ล้าสมัย ไปแล้วอย่างรุนแรง ส่วนอาชีพอื่นๆ เช่น พนักงานขายประกัน Teller หน้าเคาน์เตอร์ของธนาคาร ยาม ซึ่งเป็นงานที่ไม่ซับซ้อนเท่าแพทย์หรือพยาบาลคงหนีไม่พ้นการตกงานอย่างแน่นอน

ทางเลือกและทางรอดของคนที่กำลังจะเผชิญกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สาม คือการต้องเก่งกว่า AI+DS+IOTs ต้องมีทักษะฝีมือที่เก่งกว่า หรืออีกทางเลือกคือต้องมาเป็นคนประดิษฐ์และพัฒนา AI+DS+IOTs ให้ทำงานแทนคนได้ ต้องออกแบบและพัฒนาให้ทำงานแทนคนและพัฒนาให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ หรืออีกทางก็คือเป็นคนควบคุมหุ่นยนต์ AI+DS+IOTs เหล่านี้ ตรวจสอบคุณภาพและความถูกต้อง หรือซ่อมแซมเมื่ออุปกรณ์เหล่านี้ เสียหาย

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สามก้าวมาหาทุกท่านแล้ว หากไม่อยากตกงาน จำเป็นต้องปรับตัวขนานใหญ่ครับ ก่อนที่จะสายเกินไป