กระบวนการพยาบาลครอบครัว 5 ขั้นตอน

บทบาทพยาบาลกับการสร้างเสริมสุขภาพครอบครัวบนพื้นฐานทฤษฎีพัฒนาการครอบครัว

knowledge Boromarajonani Chon Buri > การพยาบาล > บทบาทพยาบาลกับการสร้างเสริมสุขภาพครอบครัวบนพื้นฐานทฤษฎีพัฒนาการครอบครัว

เมษายน 29, 2016

บทคัดย่อ

การสร้างเสริมสุขภาพครอบครัวเป็นหัวใจสำคัญของการแก้ไขปัญหาครอบครัวในทุกๆด้านไม่ว่าจะเป็นปัญหาความเจ็บป่วย หรือปัญหาตามโครงสร้างบทบาทหน้าที่ของครอบครัว โดยมีวัตถุประสงค์ของการเขียนบทความนี้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทพยาบาลในการสร้างเสริมสุขภาพครอบครัวบนพื้นฐานทฤษฎีพัฒนาการครอบครัว ซึ่งพยาบาลมีบทบาทในการส่งเสริมสุขภาพครอบครัวในแต่ระยะพัฒนาการของครอบครัวตามพันธกิจ ซึ่งพัฒนาการครอบครัวแบ่งออกเป็น 8 ระยะตามแนวคิดทฤษฎีของดูวาลล์ (Duvall, 1977 ) ซึ่งในแต่ละพัฒนาการของครอบครัวล้วนแล้วแต่มีพันธกิจในแต่ละระยะแตกต่างกันไป วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ชลบุรี เห็นว่าแนวคิดทฤษฎีดังกล่าวเป็นการสร้างเสริมสุขภาพครอบครัวที่ดีและมีประโยชน์สูงสุดกับครอบครัวคนไทย จึงได้นำแนวคิดทฤษฎีดังกล่าวมาบรรจุไว้ในหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิตทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เพื่อให้นักศึกษาพยาบาลได้เรียนรู้และประยุกต์ในในการฝึกปฏิบัติในการสร้างเสริมสุขภาพครอบครัวในชุมจังหวัดชลบุรี

คำสำคัญ บทบาทพยาบาล  การสร้างเสริมสุขภาพครอบครัว ทฤษฎีพัฒนาการครอบครัว

Abstract

Family health promotion is the heart of family health in every problems, including it is an illness or family structure and family role . The purpose of this article to understand concern nursing role  in family health promotion based on family development theory . Family health promotion is the role of nurse’s about family’s developmental stages. The family developmental is divided into 8 stages, according to the theory of Duvall (Duvall, 1977) . The development of each family are all committed to each phase varies. Boramarajonani College of Nursing Chon Buri that theories such as a good families health promotion and the most useful families in Thailand. The leading theory is contained in bachelor of nursing science program including both theoretical and practical for nursing students have learned and applied to family health promotion practice in the community at Chon Buri province.

Keywords : Nursing role, family health promotion, Family Development Theory

บทนำ

สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมในช่วงที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อคนในสังคมเป็นอย่างมาก ประชาชนในประเทศต่างเผชิญกับปัญหาความยากจนและการดิ้นรนทางเศรษฐกิจที่ทำให้ครอบครัวจำนวนมากในชนบทต้องถูกผลักออกจากฐานการผลิตและวิถีชีวิตดั้งเดิม กลายเป็นทรัพยากรแรงงานในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ ความสัมพันธ์ในครอบครัวที่เคยเป็นต้นทุนด้านความเกื้อกูล ความเอื้ออาทรที่มีต่อกันในระดับครอบครัวและชุมชนเสื่อมถอย ครอบครัวไม่สามารถทำหน้าทีของครอบครัวได้ แต่ละครอบครัวหลีกหนีไม่พ้นจากผลกระทบและปัญหาทางสังคมอื่นๆ ที่ปรากฏให้เห็นในระดับปริมาณ และความรุนแรงที่ซับซ้อน และหนักหน่วงขึ้น ส่งผลให้คุณภาพชีวิตทั้งทางร่างกาย และจิตใจถูกทำให้อ่อนแอ (บังอร เทพเทียน, ปรินดา ตาสี, ปิยฉัตร ตระกูลวงษ์ และสุภัทรา อินทร์ไพบูลย์. 2551)

Duvall (1977) ได้แบ่งระยะพัฒนาการครอบครัวไว้เป็น 8 ระยะ ซึ่งในแต่ละระยะจะมีภารกิจที่สมาชิกจะต้องทำให้สำเร็จ จึงจะไปสู่ระยะต่อไปได้เป็นอย่างดี แต่ถ้าไม่สำเร็จตามระยะจะเกิดภาวะวิกฤติในระยะนั้น ที่ถือว่าเป็นระยะวิกฤติที่ต้องแก้ไข ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของครอบครัวนั้น มาจากปัจจัยด้านสมาชิกในครอบครัวมีการเปลี่ยนแปลงวุฒิภาวะทั้งทางร่างกายและเสรีภาพ ปัจจัยด้านสังคมมีความคาดหวังเกี่ยวกับบทบาทและหน้าที่ของบุคคล ปัจจัยด้านบุคคลมีความต้องการและค่านิยมยึดมั่นในอุดมการณ์ (สุริยา ฟองเกิด และอนิสา อรัญคีรี. 2556)

พยาบาลจึงมีบทบาทอย่างมากในการสร้างเสริมสุขภาพครอบครัวตามพัฒนาการครอบครัวให้มีความเหมาะสม ถูกต้องยิ่งขึ้น  เนื่องจากโดยลักษณะงานการบริการทางสุขภาพที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยและครอบครัวในชุมชนโดยตรง (Maben, J. and Macleod, C.  1995)  ดังนั้น ในยุคที่เน้นการบริการแบบสร้างเสริมสุขภาพเชิงรุก พยาบาลจึงต้องทำบทบาทเพื่อสร้างเสริมให้ครอบครัว ปฏิบัติพฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพครอบครัวตามพันธกิจของครอบครัวอย่างสม่ำเสมอ และต่อเนื่อง ดังนั้นบทความนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอบทบาทพยาบาลในการสร้างเสริมสุขภาพครอบครัวบนพื้นฐานทฤษฎีพัฒนาการครอบครัวเพื่อสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานในชุมชนได้อย่างเหมาะสม

ทฤษฎีพัฒนาการครอบครัว (Family Development Theory)

            การเปลี่ยนแปลงของครอบครัวตามพัฒนาการจะเป็นระยะ เป็นขั้นตอน เป็นลำดับก่อนหลัง เป็นวัฏจักร ซึ่งในแต่ละระยะจะมีภารกิจที่สมาชิกจะต้องทำให้สำเร็จ จึงจะไปสู่ระยะต่อไปได้เป็นอย่างดี ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของครอบครัวนั้น มาจากปัจจัยด้านสมาชิกในครอบครัวมีการเปลี่ยนแปลงวุฒิภาวะทั้งทางร่างกายและเสรีภาพ ปัจจัยด้านสังคมมีความคาดหวังเกี่ยวกับบทบาทและหน้าที่ของบุคคล  Duvall (1977) ได้แบ่งพัฒนาการครอบครัวออกเป็น 8 ระยะ ดังนี้

  1. ครอบครัวระยะเริ่มต้น (marital stage) เป็นการเริ่มต้นครอบครัวที่หนุ่มสาวมีการเลือกคู่ครองของตนเองและทำการสมรส หรือมาอยู่ร่วมกันโดยไม่ได้ทำการสมรส เป็นระยะที่คู่สมรสต้องปรับตัวเข้าหากันในการใช้ชีวิตร่วมกัน นับจากการสมรสจนกระทั่งภรรยาตั้งครรภ์
    • พันธกิจครอบครัว ประกอบด้วย 1) จัดเตรียมที่อยู่อาศัย 2) สร้างระบบต่าง ๆ ร่วมกัน เช่น ระบบการใช้จ่ายเงิน 3) ปรับตัวเข้าหากันและยอมรับพฤติกรรม และปรับบทบาทหน้าที่ใหม่ในครอบครัว 4) สร้างความพึงพอใจสัมพันธภาพทางเพศให้คงอยู่ตลอดไป 5)สร้างระบบการสื่อสารที่ดี ใช้สติปัญญามีเหตุผล และซื่อสัตย์ต่อกัน 6) สร้างสัมพันธภาพกับเครือญาติ 7) สร้างวิถีทางการมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่น 8) วางแผนการมีบุตร และ 9) สร้างปรัชญาชีวิตร่วมกัน

1.2 บทบาทของพยาบาลครอบครัว พยาบาลจะต้องให้คำแนะนำ และให้คำปรึกษาในเรื่องการปรับบทบาทในชีวิตสมรสและเรื่องเกี่ยวกับเพศ การวางแผนครอบครัว การสื่อสารในครอบครัว การดูแลสุขภาพให้สมบูรณ์ก่อนการตั้งครรภ์ ความพร้อมในการมีบุตร รวมทั้งการปฏิบัติตัวระหว่างตั้งครรภ์ ฯลฯ

  1. ครอบครัวระยะเริ่มเลี้ยงดูบุตร  (Early  childbearing  families)เริ่มตั้งแต่มีบุตรคนแรกจนกระทั่งบุตรอายุได้ 30 เดือน หรือ 2 ขวบครึ่ง

2.1 พันธกิจครอบครัว ประกอบด้วย 1) เตรียมการจัดการสำหรับการเลี้ยงดูบุตร 2) พัฒนารูปแบบการหารายได้และการใช้จ่ายเงินใหม่ 3) ปรับบทบาทความรับผิดชอบในการทำงานใหม่ 4) ปรับแบบแผนการมีเพศสัมพันธ์  5) ขยายระบบการสื่อสารในปัจจุบันโดยเฉพาะการตอบสนองความต้องการทางด้านอารมณ์  6) ปรับความสัมพันธ์กับเครือญาติ 7) ปรับความสัมพันธ์กับผู้อื่น ชุมชน สังคม 8) แสวงหาความรู้เกี่ยวกับการตั้งครรภ์  การคลอด  และการเป็นบิดามารดา วางแผนสำหรับการมีบุตรในครอบครัว  และ 9) รักษาดำรงไว้ซึ่งการดำเนินชีวิตอย่างมีคุณธรรมตามปรัชญาแห่งชีวิต

2.2 บทบาทของพยาบาลครอบครัว  พยาบาลควรจะให้ความรู้  คำแนะนำและเป็นที่ปรึกษาแก่ครอบครัวในเรื่องดังต่อไปนี้  1) การเป็นพ่อแม่ 2) การดูแลสุขภาพ 3) การดูแลปัญหาสุขภาพเบื้องต้น  การปฐมพยาบาล 4) การให้ภูมิคุ้มกันโรคเด็ก 5) การสังเกตประเมินพัฒนาการเด็กและการกระตุ้นส่งเสริมพัฒนาการเด็ก 6) การวางแผนครอบครัว และ 7) สนับสนุนให้สมาชิกในครอบครัวมีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน

  1. ครอบครัวระยะมีบุตรวัยก่อนเรียน (Families with preschool  children) ระยะนี้บุตรคนแรกอายุ  2 ปี 6 เดือน ถึง 5 ปี ครอบครัวในระยะนี้มีโอกาสเป็นไปได้ที่สมาชิกครอบครัวจะมีจำนวน 3-5 คน คือ สามีภรรยาหรือพ่อแม่  ลูกชายและลูกสาว  พี่ชาย-น้องสาว ซึ่งครอบครัวจะซับซ้อนมากขึ้นและมีความแตกต่างกัน  ระยะนี้ส่วนมากจะเป็นช่วงที่พ่อแม่มีภารกิจและหน้าที่การงานมากซึ่ง  ต้องใช้เวลามากในการทำงานและยังต้องให้เวลาสำหรับลูกในบทบาทของพ่อและแม่ พ่อแม่ถือว่าเป็นสถาปนิกของครอบครัวเป็นผู้ออกแบบและชี้นำครอบครัวในการพัฒนา (Satir. V. 1991) เป็นช่วงเวลาที่สำคัญของสามีภรรยาที่ต้องเพิ่มความแข็งแกร่งร่วมกันและรักษาชีวิตสมรสให้ราบรื่นมีความสุข  และช่วยให้เด็กได้เรียนรู้ตามระยะพัฒนาการ สนับสนุนให้เขาเป็นตัวของตัวเอง สามารถช่วยเหลือตัวเองได้

3.1 พันธกิจครอบครัว ประกอบด้วย  1) จัดเตรียมสถานที่ สิ่งอำนวยความสะดวก เครื่องมือเครื่องใช้ ให้เพียงพอสำหรับสมาชิกครอบครัว และคำนึงถึงความปลอดภัยของเด็กเป็นสำคัญ 2) วางแผนปรึกษาเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายต่างๆที่คาดว่าจะเกิดขึ้น  3) ร่วมกันรับผิดชอบเกี่ยวกับการขยายตัวของครอบครัวและการเจริญเติบโตและพัฒนาการของสมาชิกครอบครัว จัดประสบการณ์ส่งเสริมสนับสนุนให้เด็กได้มีโอกาสเจริญเติบโตและพัฒนาอย่างเต็มที่ 4) รักษาความพึงพอใจในสัมพันธภาพทางเพศ 5) รักษาระบบสื่อสารที่มีประสิทธิภาพในครอบครัว 6) รักษาความสัมพันธ์ระหว่างเครือญาติกับครอบครัว 7) จัดสรรทรัพยากรตอบสนองความต้องการของสมาชิก มีความสัมพันธ์กับสังคมภายนอกครอบครัว  และ 8) เผชิญปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างท้าทาย

3.2 บทบาทของพยาบาลครอบครัว ประเมินครอบครัวและให้การช่วยเหลือให้คำแนะนำและให้คำปรึกษาทั้งในเรื่องการเลี้ยงดูเด็ก  ส่งเสริมกระตุ้นให้เด็กมีการเจริญเติบโตและพัฒนาการตามวัย  การป้องกันโรค  การดูแลเมื่อเจ็บป่วย  การดูแลเมื่อต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล  การจัดสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัยสำหรับเด็ก  การป้องกันอุบัติเหตุ  และประเด็นสำคัญ คือ การเสริมสร้างความเข้มแข็งมั่นคงในชีวิตสมรส

  1. ครอบครัวระยะมีบุตรวัยเรียน (Families with  school  children)      ครอบครัวระยะนี้จะเริ่มเมื่อมีบุตรคนแรก  อายุ 6 ปี และสิ้นสุดเมื่อบุตรคนแรก อายุ  13 ปี เป็นระยะที่ครอบครัวจะมีจำนวนสมาชิกมากที่สุด บุตรจะเริ่มเข้าเรียนที่โรงเรียนประถมศึกษา โดยพันธกิจของบุตรคือความขยันหมั่นเพียร ประสบความสำเร็จในการเรียน มีความสุข สนุกสนาน ขณะที่พ่อแม่ต้องเรียนรู้เกี่ยวกับการแยกจากเด็กหรือปล่อยให้เด็กมีความสัมพันธ์กับกลุ่มเพื่อนโรงเรียนและมีกิจกรรมต่างๆ มากมาย

4.1 พันธกิจครอบครัว ประกอบด้วย 1) เตรียมการสำหรับกิจกรรมของเด็ก และความเป็นส่วนตัวของพ่อแม่ 2) รักษาสถานภาพทางเศรษฐกิจให้มั่นคง 3) ให้ความร่วมมือประสานงานในการทำกิจกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะโรงเรียน 4) ใช้ระบบการสื่อสารในครอบครัวอย่างมีประสิทธิภาพ 5) ยังคงรักษาความพึงพอใจของแต่ละบุคคล  รวมทั้งคู่สมรส 6) มีความรู้สึกใกล้ชิดผูกพันกับญาติของครอบครัว 7) เชื่อมโยงครอบครัวกับสังคมภายนอก 8) ทดสอบและตรวจสอบปรัชญาของครอบครัวอีกครั้ง

4.2 บทบาทของพยาบาลครอบครัว                  ให้คำแนะนำและให้คำปรึกษาแก่ครอบครัวในการปฏิบัติเพื่อส่งเสริมพัฒนาการของเด็กการป้องกันปัญหาต่างๆที่อาจเกิดขึ้นได้  เช่น ปัญหาการเรียน  พฤติกรรมไม่พึงประสงค์  ปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นได้เช่นปัญหาการเรียน พฤติกรรมไม่พึงประสงค์ ปัญหาสุขภาพ  การสื่อสารระหว่างพ่อแม่กับลูก  รวมทั้งปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างสามีและภรรยา

  1. ครอบครัวระยะมีบุตรวัยรุ่น (Families  with  teenages) เป็นช่วงระยะที่ครอบครัวมีบุตรคนแรกอายุ 13 ปี จนกระทั่งอายุ 20 ปี ช่วงเวลานี้ประมาณ 6-7 ปี หรืออาจจะสั้นหรือยาวกว่านี้ขึ้นกับบุตรเริ่มแยกออกไปจากครอบครัว โดยทั่วไปครอบครัวระยะนี้จะมีความผูกพันลดน้อยลง เนื่องจากพยายามที่จะให้เด็กมีความรับผิดชอบเพิ่มมากขึ้นและให้อิสระแก่เด็กมากขึ้น  เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะ  อาจกล่าวได้ว่าช่วงชีวิตครอบครัวในระยะนี้ค่อนข้างจะยุ่งยาก  ทั้งพันธกิจของเด็กวัยรุ่นและของพ่อแม่วัยรุ่นต้องการอิสระ  ค่านิยมของกลุ่มวัยรุ่น  กลุ่มเพื่อนจะมีอิทธิพลต่อเด็กวัยรุ่น โดยมากจะเกิดปัญหาช่องว่างระหว่างวัย  ความคิดเห็น  บรรทัดฐานจะแตกต่างกันระหว่างเด็กวัยรุ่นและผู้ใหญ่ ดังนั้นปัญหาต่างๆอาจเกิดตามมาได้

5.1 พันธกิจของครอบครัว ประกอบด้วย 1) อำนวยความสะดวกตามความต้องการที่แตกต่างกันของสมาชิกครอบครัว 2) คิดคำนวณเงินรายได้ของครอบครัว เพื่อวางแผนการใช้จ่าย 3) ร่วมกันทำหน้าที่และรับผิดชอบการดำเนินชีวิตของครอบครัว 4) ให้ความสำคัญต่อสัมพันธภาพที่ดีระหว่างสามีและภรรยา 5) รักษาระบบการสื่อสารที่ดี  ยอมรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน 6) รักษาความสัมพันธ์กับเครือญาติ 7) เติบโตเป็นตัวของตัวเองอยู่ในครอบครัวและสังคมภายนอกอย่างมีความสุข  และ 8) ดำเนินวิถีชีวิตตามปรัชญาการดำเนินชีวิต

5.2 บทบาทของพยาบาลครอบครัว                ประเด็นหลักในการให้การพยาบาลคือการที่ช่วยให้ครอบครัวเข้าใจเด็กวัยรุ่น  และมีทักษะการสื่อสารที่ดี  รวมทั้งทักษะการแก้ไขปัญหา  การตอบสนองปฏิกิริยาความต้องการของวัยรุ่นอย่างเหมาะสม  เพื่อเกิดช่องว่างระหว่างวัยน้อยที่สุด  จะเป็นการลดความขัดแย้งและปัญหา  พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์

  1. ครอบครัวระยะมีบุตรแยกจากครอบครัว (Launching center  families) พัฒนาการครอบครัวระยะนี้คือช่วงตั้งแต่บุตรคนแรกจนถึงบุตรคนสุดท้ายแยกจากพ่อแม่ครอบครัวไป  อาจไปทำงาน  ไปศึกษาหรือแต่งงานสร้างครอบครัวใหม่จนกระทั่งเกิด   “รังร้าง” (empty  nest) ระยะนี้อาจจะค่อนข้างสั้นหรือยาวพอสมควรขึ้นกับจำนวนบุตร  ถ้าหากบุตรยังไม่แต่งงาน  ยังอาศัยอยู่กับพ่อแม่หลังจากสำเร็จการศึกษา โดยทั่วไประยะเวลาช่วงดังกล่าวจะประมาณ 6 หรือ 7 ปี ภาระหน้าที่หลักของครอบครัวที่สำคัญ คือ การเตรียมตัวบุตรให้มีวุฒิภาวะเป็นผู้ใหญ่สามารถอยู่ได้ด้วยตนเองและบทบาทพ่อแม่จะเปลี่ยนเป็นปู่  ยา  ตา  ยาย

6.1 พันธกิจของครอบครัว ประกอบด้วย 1) จัดสิ่งอำนวยความสะดวกทางกายภาพและทรัพยากรตามการเปลี่ยนแปลงของครอบครัวให้เหมาะสม 2) ค่าใช้จ่ายสำหรับการที่บุตรย้ายครอบครัวไป 3) แบ่งบทบาทความรับผิดชอบใหม่ ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตในครอบครัว รับบทบาทการเป็นปู่  ย่า ตา  ยาย  4)  พ่อแม่จะย้อนกลับมาด้วยกันเพียงสองคน  คือ สามีและภรรยา 5) คงรักษาระบบการสื่อสารที่ดีมีความสัมพันธ์ที่ดีภายในครอบครัวและกับครอบครัวใหม่ของบุตร 6) วงจรครอบครัวจะขยายกว้างออกไปตั้งแต่บุตรเป็นผู้ใหญ่มีครอบครัวและมีสมาชิกใหม่เพิ่มขึ้นจากการแต่งงาน  มีบุตรเขย-สะใภ้  หลานและเครือญาติ  ส่งเสริมช่วยเหลือบุตรให้อิสระและสามารถสร้างครอบครัวใหม่พร้อมทั้งยอมรับสมาชิกใหม่ของครอบครัว และ 7) สร้างความปรองดองเมื่อเกิดความคับข้องใจในเรื่องความซื่อสัตย์และปรัชญาในการดำเนินชีวิต

6.2 บทบาทของพยาบาลครอบครัว  เมื่อทราบถึงโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาต้องมีการให้คำแนะนำล่วงหน้าเพื่อให้ครอบครัวปรับตัวและยอมรับการเปลี่ยนแปลงและมีวิถีในการดำเนินชีวิตที่เหมาะสม ช่วยเหลือสนับสนุนให้คำปรึกษาแนะนำบุตรในการสร้างครอบครัวใหม่ ยอมรับสมาชิกใหม่ของครอบครัวบุตร มีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคู่สามีและภรรยา

  1. ครอบครัวระยะวัยกลางคน (Families of  middle  years)   เป็นช่วงที่บุตรแยกไปหมดแล้ว “รังร้าง” มีพ่อแม่หรือสามีภรรยาอยู่ด้วยกันเพียงสองคน และเตรียมตัวเกษียณจากหน้าที่การงาน  โดยทั่วไประยะนี้จะเริ่มเมื่อพ่อแม่อายุประมาณ 45-55 ปี สิ้นสุดลงเมื่อเริ่มเกษียณจากงาน  แต่ในปัจจุบันจะมีบ้างที่บางครอบครัวมีบุตรแต่งงานและยังคงให้การช่วยเหลือไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเงิน  สิ่งของ  การช่วยดูแลหลาน  เหล่านี้เป็นต้น  ซึ่งอาจเป็นผลดีทางด้านจิตใจพ่อแม่  มีความรู้สึกอบอุ่นใกล้ชิดไม่เหงาและรู้สึกยังมีคุณค่าในตนเอง มีความหมาย ในทางตรงกันข้าม  พ่อแม่อาจจะรู้สึกลำบากเหนื่อยหนักต่อภาระหน้าที่ความรับผิดชอบต่อบุตรที่ไม่สิ้นสุด

7.1 พัฒนกิจของครอบครัว ประกอบด้วย  1) ดูแลรักษาบ้านให้น่าอยู่  2) วางแผนเพื่อความมั่นคงของชีวิตในบั้นปลาย 3) รับผิดชอบต่อครอบครัว 4) สร้างสัมพันธภาพที่ดีต่อคู่สมรสให้มีความผูกพันใกล้ชิดให้เกิดความรู้สึกเป็นเพื่อน  พึ่งพาอาศัยกันและกัน 5) มีสัมพันธภาพที่ดีกับครอบครัวใหม่ของบุตร 6) คงความสัมพันธ์ที่ดีกับเครือญาติโดยเฉพาะพ่อแม่ที่สูงอายุ 7) เข้าร่วมกิจกรรมของชุมชนสังคมเพิ่มมากขึ้น  และ 8) ทบทวนเพื่อยืนยันว่าค่านิยมของวิถีชีวิตนั้นเหมาะสมและมีความหมายอย่างแท้จริง

7.2 บทบาทของพยาบาลครอบครัว สิ่งสำคัญที่พยาบาลควรปฏิบัติ คือ 1) การส่งเสริมสุขภาพ 2) ส่งเสริมการสร้างสัมพันธภาพที่ดีของสามีและภรรยา 3) ส่งเสริมสนับสนุนให้มีการสื่อสาร มีสัมพันธภาพที่ดีกับบุตร บุตรเขย-บุตรสะใภ้ หลานและพ่อแม่วัยชรา 4) ช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุ และ 5) จัดสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัย ป้องกันอุบัติเหตุ

  1. ครอบครัวระยะวัยชรา (Aging families) เป็นระยะสุดท้ายของพัฒนาการครอบครัว เป็นช่วงที่สามีภรรยาเข้าสู่วัยชราเริ่มเกษียณอายุจากภาระหน้าที่การงานและเริ่มสูญเสียคู่สามีภรรยา โดยทั่วไปจะมีอายุประมาณ  65  ปีหรือมากกว่านั้น  ช่วงวิถีชีวิตวัยชราจะมีความแตกต่างกันไปขึ้นกับฐานะทางการเงินหรือแหล่งสนับสนุน  ความสามารถในการดูแลรักษา ความพึงพอใจที่บ้าน และภาวะสุขภาพของตนเองอาจต้องพึ่งพาผู้อื่น เมื่อมีปัญหาสุขภาพและพบได้บ่อยครั้งที่มีปัญหาทางด้านสมองเมื่อสูงอายุ

8.1 พันธกิจครอบครัว ประกอบด้วย  1) เตรียมที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงตามวัย 2) ปรับการใช้จ่ายให้เหมาะสมภายหลังการเกษียณ 3) สร้างความสะดวกสบายในการดำเนินชีวิต 4) ดูแลกันระหว่างสามีภรรยา 5) เตรียมพร้อมที่จะเผชิญกับการสูญเสียคู่ชีวิต 6) คงรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับบุตรหลาน 7) ดูแลญาติที่สูงอายุ 8) คงรักษาความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นในชุมชนสังคม และ 9) ค้นหาความหมายของชีวิต  คุณค่าประสบการณ์ที่มีค่า  มีความหมายที่ผ่านมาตลอดชีวิต

8.2 บทบาทของพยาบาลครอบครัว                  พยาบาลควรมีบทบาทในการช่วยเหลือให้ครอบครัวสามารถเผชิญกับภาวะการเปลี่ยนแปลงการสูญเสียได้อย่างเหมาะสมโดยช่วยสร้างความเข้มแข็งทางด้านจิตใจ เตรียมพร้อม ที่จะรับสถานการณ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะทางด้านการสูญเสียและการเจ็บป่วย  ส่งเสริมกระตุ้นให้กำลังใจในการดูแลสุขภาพ  สร้างความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง  สะท้อนให้เห็นถึงประสบการณ์ที่ดีในอดีตที่ผ่านมาทั้งในด้านครอบครัว  หน้าที่การงาน  ความสำเร็จต่างๆ สนับสนุนให้มีกิจกรรมร่วมกับชมรม องค์กรต่างๆในสังคม ส่งเสริมให้ทำงานให้เป็นประโยชน์ถ่ายทอดประสบการณ์ของชีวิตแก่บุตรหลานหรือชุมชน สังคม  และพยาบาลควรให้คำแนะนำแก่บุตรหลานและครอบครัวให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับความรักความต้องการของพ่อแม่ที่สูงอายุ  เพื่อให้การตอบสนองความต้องการของท่าน ให้คำปรึกษาถึงแนวทางการปฏิบัติในการช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุด้วยความรู้สึกเคารพรักให้เกียรติ จะเป็นสิ่งที่ช่วยจรรโลงใจพ่อแม่ผู้สูงอายุ

บทสรุป

ครอบครัวมีพัฒนาการ 8 ระยะ แต่ละระยะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นและสิ่งแวดล้อมเมื่อมีพัฒนาการเกิดขึ้นย่อมมีพัธกิจครอบครัวตามมาด้วย ซึ่งพัฒนาการของครอบครัวดังกล่าวเป็นพัฒนาการปกติของครอบครัวเดี่ยว พัฒนาการก็จะดูไม่ซับซ้อน และตรงไปตรงมา แต่ในบริบทของสังคมไทยส่วนใหญ่เป็นครอบครัวขยาย อาจมีทั้งครอบครัวรุ่นลูกรวมอยู่ด้วย  ทำให้ครอบครัวนั้นอาจมี 3 วงจรครอบครัวซ้อนกันในครอบครัวใหญ่ครอบครัวเดียว สมาชิกในแต่ละครอบครัวย่อยต้องกระทำทั้งพันธกิจของครอบครัวย่อยและครอบครัวใหญ่ไปพร้อมๆกัน ถ้าทุกคนกระทำหน้าที่ได้เหมาะสมตามโครงสร้างของครอบครัว สมาชิกทั้ง 3 รุ่นก็สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างอบอุ่นและมีความสุข นอกจากนี้พยาบาลครอบครัวจะต้องมีความรู้ความเข้าใจและสามารถประเมินครอบครัวตามระยะพัฒนาการได้ถูกต้องเพื่อนำข้อมูลที่ได้มาเป็นแนวทางในการวางแผนการสร้างเสริมสุขภาพครอบครัวตามพันธกิจในแต่ละระยะได้อย่างมีประสิทธิภาพและจะนำไปสู่การมีครอบครัวที่อบอุ่นและเป็นสุขของชุมชและประเทศชาติต่อไป

เอกสารอ้างอิง

ปรินดา ตาสี, ปิยฉัตร ตระกูลวงษ์ และสุภัทรา อินทร์ไพบูลย์. (2551) ปัจจัยที่สัมพันธ์กับครอบครัวเข้มแข็ง.วารสารสาธารณสุขและการพัฒนา.  ปีที่ 6 ฉบับที่ 2 หน้า 25-38.

ยุทธนา ไชยจูกุลพรรณี, มนัส บุญประกอบ และทัศนา ทองภักดี. (2552)  การวิจัยและพัฒนาครอบครัวเข้มแข็งโดยผ่านกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมของผู้นำองค์การบริหารส่วนตำบล. วารสารพฤติกรรมศาสตร์. ปีที่ 15 ฉบับที่ 1 หน้า 162-184.

สุริยา ฟองเกิด และ อนิสา อรัญคีรี. (2556) ตำราการสร้างเสริมสุขภาพครอบครัว. ชลบุรี : ศรีศิลป์การพิมพ์.

สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์. (2558). โครงการจัดกิจกรรมเพื่อสดุดีครอบครัวร่มเย็น. เอกสารอัดสำเนา (ม.ป.ป.).

Duvall, E. M. (1977)  Marriage and Family Relationships (5thed). Philadelphia: Lippincott.

Friedman, M.M., Bowen,V.R., & Jones,E.G. (2003) Family Nursing: Theory and Practice (5thed.). New Jersey: Upper Saddle River.

Satir, V. (1991.) The Satir model family therapy and beynd. Palo Alto, CA: Science and Behavior.

กระบวนการพยาบาล 5 ขั้นตอน มีอะไรบ้าง

การใช้กระบวนการพยาบาลอย่างครอบคลุม หมายถึง การใช้กระบวนการพยาบาลอย่างครบถ้วนทั้ง 5 ขั้นตอน ซึ่งเริ่มตั้งแต่การประเมินสภาพผู้ป่วย การวินิจฉัยการพยาบาล การวางแผนการพยาบาล การปฏิบัติ การพยาบาล การประเมินผลการพยาบาล ซึ่งสามารถวัดได้โดยใช้แบบวิเคราะห์ความครอบคลุมตามขั้นตอน ของการใช้กระบวนการพยาบาลจากการบันทึก ที่มีข้อความ ...

กระบวนการพยาบาล มีอะไรบ้าง

การวางแผนการพยาบาล ประกอบด้วย 1. การเรียงลาดับความสาคัญ (priorities) การให้ความช่วยเหลือได้อย่างเหมาะสม 2. มีการตั้งเป้าหมาย (Setting goals) เป็นเป้าหมายระยะสั้น (short-term goals) และเป้าหมายระยะยาว (long-term goals) ตัวอย่างการวินิจฉัยทางการพยาบาล เป้าหมายระยะสั้นและระยะยาวและเกณฑ์ประเมินผล

งานอนามัยครอบครัวคืออะไร

หมายถึง กระบวนการที่เป็นพลวัตรของครอบครัวที่แสดงถึงความยืดหยุ่น การปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างความผาสุกในครอบครัว การวางแผนแก้ไขปัญหาในการดูแลสุขภาพที่บ้านจะต้องวางแผนร่วมกันทั้งผู้รับบริการ ครอบครัว และผู้ให้บริการสุขภาพอื่นๆ

การพยาบาลชุมชนมีกี่ขั้นตอน

กระบวนการพยาบาลอนามัยชุมชน และประกอบด้วย 5 ขั้นตอน - Coggle Diagram.
การประเมินภาวะสุขภาพชุมชน และการวินิจฉัยชุมชน ขั้นตอนการศึกษาชุมชน ... .
การวางแผนงานและโครงการ การวางแผน ... .
ขั้นการวินิจฉัยชุมชน 2.การจัดลำดับความสำคัญของปัญหา ... .
ประเมินผลโครงการ ... .
การปฏิบัติงาน.