การแพทย์ทางเลือก ข้อดี ข้อเสีย

หลายคนอาจเคยได้ยินมาว่า มะเร็งเป็นโรคที่น่ากลัวและอันตรายถึงชีวิต ซึ่งชุดความคิดนี้ก็ไม่ถูกต้องไปทั้งหมดเสียเลยทีเดียว เนื่องจากในปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าและศาสตร์การแพทย์แขนงอื่น ๆ ได้เริ่มเข้ามามีบทบาทในการรักษามากขึ้น ทำให้เรามีวิธีการในการรักษาและจัดการกับโรคมะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ในคอลัมน์นี้เราจะมาพบกับคุณหมอบุ๊ค พท.ป.ภัคภร บูรณสันติกูล ประจำวิวัฏฏะคลินิก โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ เพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมว่าทำไม ปัจจุบัน ผู้คนถึงได้เจ็บป่วยเป็นโรคมะเร็งกันมากขึ้น และเราจะสามารถดูแลป้องกันตัวเองให้ห่างไกลจากโรคมะเร็งได้อย่างไร ตลอดจนเรียนรู้เกี่ยวกับแนวทางการรักษามะเร็งทั้งศาสตร์การแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์ทางเลือก ซึ่งเริ่มมีบทบาทสำคัญในวงการแพทย์มากขึ้นอีกด้วย

1.) สาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งในปัจจุบัน มีอะไรบ้าง?

  1. พฤติกรรมการบริโภคที่ไม่เหมาะสม เช่น การรับประทาน Fast Food (แฮมเบอร์เกอร์, ฮอทดอก) หรือ Processed Food (อาหารแปรรูป เช่น ไส้กรอก หมูแฮม ไส้อั่ว กุนเชียง เป็นต้น) อาหารหมักดอง (ปลาร้า, กั้งดอง, ปูดอง, ผัก-ผลไม้ดอง เป็นต้น) อาหารที่มีรสหวานมากหรือใช้น้ำตาลในปริมาณสูง  การรับประทานเนื้อสัตว์ที่ใช้สารเร่งเนื้อแดง ซึ่งอาหารเหล่านี้อุดมไปด้วยสารก่อมะเร็ง มีส่วนทำให้เซลล์ในร่างกายเกิดความผิดปกติและอาจแปรเปลี่ยนเป็นเซลล์เนื้อร้าย(เซลล์มะเร็ง)ในร่างกายได้
  2. ปัจจัยด้านภาวะอารมณ์ เช่น ความเครียด เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งได้เช่นกัน เมื่อเกิดภาวะเครียด ร่างกายจะมีการสร้างฮอร์โมนเพื่อตอบสนองต่อความเครียด ส่งผลให้อัตราการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิตและระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น และหากร่างกายเกิดความเครียดบ่อยครั้งและสะสมเป็นเวลานาน ความเครียดรุนแรงประเภทนี้จะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเราอ่อนแอลงซึ่งอาจส่งผลต่อการเกิดมะเร็งที่มีความเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อไวรัส อย่าง Kaposi Sarcoma และ Lymphoma (มะเร็งต่อมน้ำเหลือง) เป็นต้น นอกจากนี้ข้อมูลงานวิจัยยังพบว่าความเครียดหรืออารมณ์เชิงลบที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยสามารถส่งผลต่อการขยายขนาดและแพร่กระจายของเนื้องอก/เนื้อร้ายได้อีกด้วย 
  3. ปัจจัยด้านสภาพอากาศ/มลภาวะ เช่น การสูดดมควันมลพิษจากท่อไอเสีย ฝุ่นควันพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม การสูดดมควันบุหรี่ (มือหนึ่งหรือมือสอง) สิ่งเหล่านี้หากได้รับในปริมาณมากจะสะสมเป็นสารก่อมะเร็งในร่างกาย และมีโอกาสทำให้เกิดเป็นมะเร็งได้เช่นกัน
  4. ปัจจัยด้านสารเคมีและการได้รับรังสีอันตราย เช่น การได้รับหรือสูดดมสารเคมีจากบ้าน สถานที่ทำงาน หรือโรงงานอุตสาหกรรม เช่น ยาฆ่าแมลง สารฟอกสี น้ำยาย้อมสีผม น้ำยาดัดผม โฟม การทำงานในสถานที่ที่ต้องสัมผัสสารจำพวกโลหะหนักเป็นประจำ เช่น เบนซิน นิกเกิล แคดเมียม ปรอท อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน โดยการสัมผัสสารเหล่านี้เป็นประจำจะมีส่วนทำให้เกิดโรคมะเร็งได้
  5. ปัจจัยด้านพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม เช่น การหักโหมทำงานที่หนักจนเกินไป การพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ การรับประทานยาคุมกำเนิดติดต่อกันอย่างน้อยเป็นเวลา 5 ปี การสูบบุหรี่ หรือดื่มเหล้าติดต่อกันเป็นเวลานาน การขาดออกกำลังกาย เป็นต้น
  6. ปัจจัยด้านพันธุกรรม เกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมที่ผิดปกติจากพ่อแม่มาสู่ลูกหรือหลาน โดยโรคมะเร็งที่มักพบได้บ่อย ได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ มะเร็งตับ มะเร็งตับอ่อน มะเร็งเม็ดเลือดขาว เป็นต้น

2.) แนวทางการรักษามะเร็งตามแนวทางการแพทย์แผนปัจจุบัน มีอะไรบ้าง?

ปัจจุบันการรักษามะเร็งตามแนวทางการแพทย์แผนปัจจุบันนั้นมีหลายวิธี สามารถอธิบายโดยสังเขปได้ดังนี้ 

  1. การผ่าตัดเอาเซลล์เนื้อร้าย/มะเร็งออก (Surgery) เป็นการรักษามะเร็งเฉพาะที่ จะช่วยทำให้กำจัดเซลล์มะเร็งได้อย่างรวดเร็วที่สุด แต่ทั้งนี้จะขึ้นกับการพิจารณาของแพทย์แผนปัจจุบัน
  2. การรักษาด้วยเคมีบำบัด (Chemotherapy) เป็นการรักษาโดยการให้ยาหรือสารเคมีเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง โดยยาเคมีบำบัดจะเข้าไปขัดขวางการแบ่งเซลล์มะเร็งที่แบ่งตัวเร็วกว่าเซลล์ปกติจึงอาจมีผลข้างเคียงต่อเซลล์ข้างเคียงค่อนข้างมาก โดยส่วนใหญ่แพทย์มักพิจารณาให้ยาเคมีบำบัดเพื่อลดขนาดเซลล์มะเร็ง และใช้เป็นการรักษาเสริมหลังผ่าตัดเพื่อลดโอกาสการเกิดมะเร็งกลับเป็นซ้ำ (Recurrent cancer)
  3. การรักษาด้วยรังสีรักษา (Radiotherapy) หรือการฉายแสงเป็นการใช้รังสีกำลังสูงเข้าไปทำลายเซลล์มะเร็งในตำแหน่งที่กำหนด โดยสามารถรักษามะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งไทรอยด์ มะเร็งต่อมน้ำลาย เป็นต้น ซึ่งจะช่วยลดความเจ็บปวดและลดการหยุดไหลของเลือดได้
  4. การรักษาโดยใช้ฮอร์โมนบำบัด (Hormonal Therapy) จะเป็นการใช้ฮอร์โมนเพื่อยับยั้งหรือยุติการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ซึ่งใช้ได้ในการรักษามะเร็งบางชนิดอย่างมะเร็งเต้านมที่อาจต้องกระตุ้นด้วยฮอร์โมนเพศหญิงและมะเร็งต่อมลูกหมากที่กระตุ้นด้วยฮอร์โมนเพศชาย เป็นต้น
  5. การรักษาด้วยยามุ่งเป้า (Targeted Therapy) โดยยามุ่งเป้าจะเข้าไปออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงกับเซลล์มะเร็งเพื่อยับยั้งการแบ่งตัวและแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง มีประสิทธิภาพในการรักษาสูง ผลข้างเคียงน้อยกว่ายาเคมีบำบัด แต่ใช้ได้ดีกับเนื้อเยื่อมะเร็งที่มีเป้าจำเพาะต่อยาเท่านั้น จึงขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์เฉพาะทางด้านมะเร็งเป็นสำคัญ 
  6. การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) ใช้หลักการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายต่อสู้กับเซลล์มะเร็งเพื่อต่อต้านเซลล์มะเร็งได้ดียิ่งขึ้น
  7. การปลูกถ่ายไขกระดูก (Bone Marrow/Stem Cell Transplantation) มีทั้งแบบการใช้เซลล์ต้นกำเนิดของตัวเองหรือของบุคคลที่มีความเข้ากันได้ของระบบภูมิคุ้มกัน ส่วนใหญ่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งระบบเลือดอื่น ๆ หรือมะเร็งเซลล์สืบพันธุ์บางชนิด 
  8. การรักษาแบบผสมผสาน (Combined Modality Therapy) เป็นการรักษาโรคมะเร็งโดยใช้หลายศาสตร์การรักษาร่วมกันเพื่อเพิ่มโอกาสหายและรอดชีวิต แต่จะใช้วิธีใดขึ้นอยู่กับระยะ ความรุนแรงของโรค และสุขภาพของผู้ป่วย โดยแพทย์เฉพาะทางด้านมะเร็งจะประเมินการรักษาอย่างละเอียดเพื่อให้ผลการรักษาเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้

3.) แพทย์แผนไทยประยุกต์มีบทบาทสำคัญต่อผู้ป่วยในการรักษาโรคมะเร็งในปัจจุบันอย่างไร?

การรักษาตามศาสตร์การแพทย์แผนไทยประยุกต์จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่เหมาะสมกับผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ต้องการการรักษาแบบผสมผสานระหว่างการแพทย์แผนปัจจุบันและการแพทย์ทางเลือก หรือผู้ป่วยโรคมะเร็งที่แสวงหาแนวทางการรักษาอื่น ๆ โดยไม่พึ่งยาและสารเคมี  

การรักษาโรคมะเร็งนั้นสามารถรักษาโดยแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทยประยุกต์ควบคู่กันได้ เมื่อผู้ป่วยตรวจพบเจอเซลล์มะเร็งในร่างกายในระยะเริ่มแรก ควรรักษาตามแนวทางของการแพทย์แผนปัจจุบันอย่างรวดเร็วที่สุด เพื่อให้เซลล์เนื้อร้ายได้ถูกกำจัด หรือ ไม่แพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆของร่างกาย โดยในขณะที่ผู้ป่วยอยู่ในระหว่างการรักษาตัวนั้น แพทย์แผนไทยประยุกต์จะเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการให้คำแนะนำในการเลือกใช้ตัวยาสมุนไพรที่เหมาะสมกับอาการโรค ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต และให้การดูแลในด้านของโภชนบำบัดที่เหมาะสมในผู้ป่วยโรคมะเร็ง ซึ่งจะช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดีขึ้นและช่วยบรรเทาภาวะแทรกซ้อนอันเกิดจากการรักษาได้

หรือ ในกรณีที่ผู้ป่วยโรคมะเร็งต้องการรักษาตามแนวทางแพทย์แผนไทยประยุกต์โดยไม่พึ่งยาและสารเคมี แพทย์แผนไทยประยุกต์จะต้องประเมินสภาพร่างกายผู้ป่วย วิเคราะห์ธาตุเจ้าเรือน พร้อมกับให้คำแนะนำในด้านการเลือกใช้ยาสมุนไพรที่เหมาะสมกับอาการโรค ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต และแนะนำโภชนบำบัดที่เหมาะสม แต่อย่างไรก็ตามผู้ป่วยยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการปรึกษา และติดตามอาการกับแพทย์แผนปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของร่างกายผู้ป่วยและเพื่อการรักษาอย่างถูกวิธี

4.) แพทย์แผนไทยประยุกต์สามารถให้การรักษาโรคมะเร็งชนิดใดบ้าง?

โดยส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งมดลูก มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งผิวหนัง ซึ่งเป็นมะเร็งที่สามารถสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงของความผิดปกติของเซลล์มะเร็งได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ในกลุ่มโรคมะเร็งประเภทอื่น ๆ การรักษาโดยแพทย์แผนไทยประยุกต์จะช่วยประคับประคองอาการและช่วยลดความรุนแรงของอาการข้างเคียงหรือภาวะแทรกซ้อนของโรคมะเร็ง เช่น อาการเบื่ออาหาร เจ็บปาก-เจ็บคอ ผมร่วง นอนไม่หลับ เป็นต้น ซึ่งจะช่วยฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้กลับคืนสู่ภาวะปกติได้เร็วขึ้น

5.) วิวัฏฏะคลินิก โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ มีแนวทางการรักษาผู้ป่วยมะเร็งอย่างไรบ้าง​?

แนวทางการรักษาและดูแลผู้ป่วยจะเน้นการใช้สมุนไพรบำบัดตามโรค และวิเคราะห์ธาตุเจ้าเรือน (หรือธาตุประจำตัวของผู้ที่เข้ารับการรักษา ซึ่งมีความแตกต่างเฉพาะบุคคล) เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุของการเกิดโรค ปรับสมดุลธาตุของผู้ป่วยด้วยแนวทางของศาสตร์การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสานเพื่อให้ร่างกายกลับคืนสู่ภาวะปกติและมีสุขภาพที่แข็งแรงขึ้น นอกจากนี้ยังมีบริการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการใช้ธรรมชาติบำบัดและเลือกใช้ Supplement ที่เหมาะสมกับร่างกายของผู้ป่วยค่ะ