วิจัยในชั้นเรียนสังคมศึกษา เศรษฐศาสตร์ ป. 4

 วิชาเศรษฐศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3  โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์เชียงใหม่ 

ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

                            การศึกษาเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพัฒนาคนคนเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้า ดังนั้นการจะพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้านั้นต้องเห็นความสำคัญของการศึกษาเป็นอันดับแรก  ตามพระราชบัญญัติการศึกษา พุทธศักราช 2542 ได้ให้ความหมายของการศึกษาไว้ว่า การศึกษา หมายถึง กระบวนการเรียนรู้เพื่อความเจริญงอกงามของบุคคลและสังคม โดยการถ่ายทอดความรู้การฝึกการอบรมการสืบสานทางวัฒนธรรม การสร้างสรรค์จรรโลงความก้าวหน้าทางวิชาการ การสร้างองค์ความรู้อันเกิดจากการจัดสภาพแวดล้อมสังคมการเรียนรู้และปัจจัยเกื้อหนุนให้บุคคลเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต จากความหมายดังกล่าวถือว่าการศึกษามีลักษณะเป็นนามธรรมยากต่อการเรียนรู้ได้โดยตรง จะต้องมีกระบวนการถ่ายทอดความรู้ การฝึก และการอบรมซึ่งก็คือกระบวนการจัดการเรียนการสอนนั่นเอง และเมื่อกล่าวถึง กระบวนการจัดการเรียนการสอน สิ่งที่จะต้องนึกถึงเป็นลำดับแรก ก็คือ ผู้เรียน ซึ่งตามมาตรา 22 ของพระราชบัญญัติการศึกษา พุทธศักราช 2542 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (2542,หน้า 12) กล่าวไว้ว่า  การจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตนเองตามธรรมชาติและเต็มศักยภาพ ด้วยเหตุนี้เองจึงจำเป็นต้องพัฒนาตัวกลางระหว่างผู้สอนกับผู้เรียนขึ้น นั่นก็คือ สื่อการเรียนการสอน ซึ่งถือเป็นตัวกลางที่จะช่วยให้การสื่อสารระหว่างผู้สอนและผู้เรียนดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ และพัฒนาการเรียนรู้เพื่อเกิดผลอย่างถาวร    

                หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2544 เป็นหลักสูตรที่มุ่งให้ผู้เรียนพัฒนาให้เป็นคนที่สมบูรณ์และสมดุลทั้งด้านจิตใจและ   และร่างกาย  สติปัญญา อารมณ์ และสังคม  โดยมุ่งเน้นการพัฒนาให้ผู้เรียนมีความรู้ ความสามารถ ทั้งด้านวิชาการ วิชางาน และวิชาชีวิต  เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขพึ่งตนเองได้  อยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างสร้างสรรค์  พัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม กรมวิชาการ(2544, หน้า 1) และการเรียนรู้ในสาระการเรียนรู้ต่างๆ มีกระบวนการและวิธีการที่หลากหลาย  ผู้สอนต้องคำนึงถึงพัฒนาการทางด้านร่างกายและสติปัญญา  วิธีการเรียนรู้ ความสนใจ และความสามารถของผู้เรียนเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง  ดังนั้นการจัดการเรียนรู้ควรใช้รูปแบบและวิธีการที่หลากหลายเน้นการเรียนการสอนตามสภาพจริง  การเรียนรู้ด้วยตนเอง  การเรียนรู้ร่วมกัน  การเรียนรู้จากธรรมชาติ   การเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง   และการเรียนรู้แบบบูรณาการ กรมวิชาการ ( 2544, หน้า 21)  ซึ่งช่วยส่งเสริมให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างมีคุณค่าน่าสนใจ ชวนคิด  ชวนติดตามเข้าใจได้ง่าย และรวดเร็วขึ้น รวมทั้งกระตุ้นให้ผู้เรียนรู้จักวิธีการแสวงหาความรู้   เกิดการเรียนรู้อย่างกว้างขวาง  ลึกซึ้งและต่อเนื่องตลอดเวลา (กรมวิชาการ, 2544, หน้า 23)  

                สังคมศึกษา  ศาสนา  และวัฒนธรรม  เป็นกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่นักเรียนต้องเรียนตลอด  12  ปี   ประกอบมาจากหลายแขนงวิชา  จึงมีลักษณะเป็นสหวิทยาการ  โดยนำวิทยาการจากแขนงวิชาต่าง ๆ ในสาขาสังคมศาสตร์มาหลอมรวมเข้าด้วยกัน  ได้แก่  ภูมิศาสตร์  ประวัติศาสตร์   เศรษฐศาสตร์  นิติศาสตร์  จริยธรรม  ประชากรศึกษา  สิ่งแวดล้อมศึกษา  รัฐศาสตร์  สังคมวิทยา  ปรัชญาและศาสนา  จึงเป็นกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่ออกแบบมาเพื่อส่งเสริมศักยภาพการเป็นพลเมืองดีให้แก่ผู้เรียน  โดยมีเป้าหมายของการพัฒนาความเป็นพลเมืองดี (กรมวิชาการ, กระทรวงศึกษาธิการ, 2545, หน้า  3)      ช่วยให้ผู้เรียนมีความรู้ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมทั้งทางธรรมชาติและสังคมวัฒนธรรม  มีทักษะและกระบวนการที่จะนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจในการดำเนินชีวิต  การมีส่วนร่วมในสังคมในฐานะพลเมืองดี  นำความรู้ทางจริยธรรม  หลักธรรม  มาพัฒนาตนเองและสังคม  และทำให้สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

                เศรษฐศาสตร์เป็นสาระหนึ่งในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา  ศาสนาและวัฒนธรรมที่มีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ เป็นสาระที่ว่าด้วยเรื่องซึ่งเป็นพื้นฐานที่สุดของชีวิตมนุษย์ในสังคม เศรษฐศาสตร์ศึกษาถึงชีวิตทางเศรษฐกิจของมนุษย์ ประกอบด้วย การผลิต การบริโภคและการแลกเปลี่ยน ปัญหาพื้นฐานของชีวิตมนุษย์ถึงทรัพยากรที่มีจำกัด ขณะที่ความต้องการของมนุษย์มีไม่จำกัด เศรษฐศาสตร์จึงเป็นสาระวิชาที่ต้องศึกษาเพื่อให้เข้าใจการแจกจ่ายทรัพยากรในการผลิตทั้งสังคม (ปรีชา เปรี่ยมพงศ์สานต์, 2538, หน้า 4) ความคิดแกนกลางของเศรษฐศาสตร์ คือ ความคิดรวบยอดเกี่ยวกับความขาดแคลนซึ่งมาจากความต้องการที่ไม่สิ้นสุด แต่ทรัพยากรมีจำกัด แม้นักเรียนเยาว์วัยที่สุดก็พร้อมจะเข้าใจในความคิดนี้  จากความขาดแคลนนำไปสู่การผลิต ซึ่งเป็นกระบวนการเปลี่ยนทรัพยากรให้เป็นผลิตภัณฑ์และบริการที่ผู้บริโภคต้องจ่ายเงิน จากการผลิตเชื่อมโยงไปถึงความชำนาญเฉพาะทางและการแบ่งงานกันทำ

                หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 ได้กำหนดสาระหลักที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐศาสตร์ไว้ในสาระที่ 3 เศรษฐศาสตร์ มาตรฐาน ส. 3.1 โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจและสามารถบริหารจัดการทรัพยากรในการผลิต และการบริโภค การใช้ทรัพยากร ที่มีอยู่จำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และคุ้มค่า รวมทั้งเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการดำรงชีวิตอย่างมีดุลยภาพและ มาตรฐาน ส.32 เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจระบบและสถาบันทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ความสัมพันธ์ของระบบเศรษฐกิจ และความจำเป็นของการร่วมมือกันทางเศรษฐกิจในสังคมโลก  (ถวัลย์  มาสจรัส, 2550, หน้า 21)

                การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนสาระเศรษฐศาสตร์นั้นนอกจากผู้สอนจะต้องจัดกิจกรรมการเรียน   การสอนตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช  2544  แล้ว  ครูผู้สอนทุกคนจะต้องขับเคลื่อนปรัชญาพระราชทาน “เศรษฐกิจพอเพียง”  สู่การจัดการเรียนการสอนอย่างเป็นรูปธรรม  ดังจะเห็นได้จากสาระที่ มาตรฐาน  3.1  โดยตั้งจุดมุงหมายไว้ว่า  ช่วงชั้นที่  3-4  ครูผู้สอนจะต้องจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้นักเรียนเข้าใจเกี่ยวกับระบบและวิธีการของเศรษฐกิจพอเพียงและสามารถนำไปประยุกต์กับชีวิตประจำวันได้  ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของโรงเรียนในการจัดการเรียนการสอนตามเนื้อหาสาระที่กำหนดไว้ในหลักสูตรอย่างสอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้เรียน  เน้นกระบวนการคิดวิเคราะห์ เน้นการปฏิบัติจริง เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติตนที่เหมาะสมในวิถีชีวิตประจำวัน โดยจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นการฝึกทักษะกระบวนการคิด วิเคราะห์ จัดการ การเผชิญสถานการณ์ การแก้ปัญหา ฯลฯ ที่เริ่มจากชีวิตประจำวัน ที่เชื่อมโยงสู่ครอบครัว สังคม ประเทศชาติ และสังคมโลก  จัดกระบวนการเรียนรู้ โดยเน้นการทดลอง   การปฏิบัติจริงทั้งในสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ภายนอกสถานศึกษา ทั้งในรูปของการจัดทำโครงการ โครงงาน และอื่น ๆ ทั้งการศึกษารายบุคคลและเป็นกลุ่ม วัดและประเมินผลการเรียนรู้ให้ครอบคลุมทั้ง  3 ด้าน ได้แก่ ความรู้ (Knowledge) ทักษะกระบวนการ(Process) และเจตคติ (Attitude)

                ผู้ศึกษาเป็นครูผู้สอนวิชาสังคมศึกษา  ได้น้อมนำเอาหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงลงสู่การจัดการเรียนการสอน  ในระยะแรกได้จัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยบูรณาการเข้าไปในเนื้อหาที่สอนผลการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน  ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งแต่ยังไม่บรรลุเป้าหมายที่คาดหวัง  ต่อมาในปีการศึกษา  2550  โรงเรียนมีนโยบายให้ครูผู้สอนโดยเฉพาะอย่างยิ่งครูผู้สอนในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม  ปรับกิจกรรมการเรียนการสอน  และรายละเอียดของเนื้อหา  ที่เกี่ยวข้องกับ  “เศรษฐกิจพอเพียง”  ให้เข้มข้นขึ้น  รวมทั้งปรับปรุง  เลือกใช้สื่อการเรียนรู้ที่เหมาะสม  (ถวัลย์  มาสจรัส, 2550, หน้า 90)   ผู้ศึกษาในฐานะที่เป็นผู้สอนได้ตระหนักในเรื่องนี้  จึงได้พัฒนาหลักสูตรรายวิชา ส 30205  เศรษฐศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ขึ้น ซึ่งเป็นสาระการเรียนรู้เพิ่มเติม  โดยมุ่งเน้นการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ในชีวิตประจำวันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง  กิจกรรมการเรียนใช้กระบวนการกลุ่ม  เน้นกระบวนการคิดวิเคราะห์  เป็นสำคัญ  ผลการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งแต่ยังไม่บรรลุผลตามจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้  สาเหตุเนื่องจากสื่อการเรียนการสอนที่นำมาใช้ไม่มีประสิทธิภาพ    ผู้ศึกษาในฐานะที่เป็นครูผู้สอนได้ตระหนักในปัญหาดังกล่าว  จึงได้หาแนวทางปรับปรุงและพัฒนาโดยทำการศึกษาเอกสารและงานวิจัยต่าง ๆ เกี่ยวสื่อประเภทต่าง ๆ ที่คาดหวังว่าเมื่อนำมาใช้จัดกิจกรรมการเรียนการสอนแล้วจะสามารถทำให้นักเรียนบรรลุผลตามผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง  ผลจากการศึกษาพบว่า  สื่อที่มีความเหมาะสมกับเนื้อหา  เศรษฐศาสตร์ในชีวิตประจำวันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง  และผู้ศึกษาสามารถสร้างได้ด้วยตนเอง  คือชุดกิจกรรม  ทั้งนี้เพราะ  การเรียนการสอนโดยใช้ชุดกิจกรรม ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ไปตามลำดับขั้น ตามคำแนะนำที่กำหนดไว้ในชุดกิจกรรมโดยครูเป็นผู้ชี้นำแนวทางให้แก่ผู้เรียน ทำให้ผู้เรียนได้รับความรู้ในแนวเดียวกัน ผู้เรียนมีอิสระที่จะพัฒนาตนเองไปตามลำดับขั้นเร็วหรือช้าตามความสามารถของตนเองได้กระทำกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ ได้ฝึกหาคำตอบด้วยตนเองอีกทั้งยังก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการเรียนการสอน และเพื่อเป็นแนวทางไปสู่การคิดเป็นทำเป็นและแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันได้  (วาสนา  ชาวหา , 2535,หน้า 139)และชุดกิจกรรมยังช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ครูผู้สอน ทำให้ครูผู้สอนมีเวลาในการปรับปรุงและเตรียมการสอนได้มากขึ้น

                จากเหตุผลดังกล่าวทำให้ผู้ศึกษาสนใจที่จะสร้างชุดกิจกรรมเศรษฐศาสตร์ในชีวิตประจำวันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง  สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3   โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อให้ผู้เรียนได้มีความรู้และตระหนักในการบริโภคและการใช้บริการเพื่อไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ ตลอดจนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในชีวิตประจำวัน และคาดหวังว่าชุดกิจกรรมที่สร้างขึ้นนี้  จะทำให้นักเรียนได้เรียนรู้  เข้าใจและสามารถคิดวิเคราะห์ตามหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอพียงได้อย่างถูกต้อง  มีทักษะพื้นฐานการดำรงชีวิต  พึงตนเองได้ตามหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  รวมทั้งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิตประจำวันบนวิถีแห่งความพอเพียง  ได้อย่างเหมาะสม  เป็นคนดี  คนเก่ง  มีความสุขเป็นพลเมืองที่ดีของสังคม  ประเทศชาติต่อไป

จุดประสงค์ของการศึกษา

1.        เพื่อสร้างและหาประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมเศรษฐศาสตร์ในชีวิตประจำวันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง   วิชา  ส 30205  เศรษฐศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3   โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์เชียงใหม่

2.        เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยชุดกิจกรรมเศรษฐศาสตร์ในชีวิตประจำวันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง  

3.    เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่มีต่อกิจกรรมการเรียนการสอนโดยใช้ ชุดกิจกรรม  เศรษฐศาสตร์ในชีวิตประจำวันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพีย

ขอบเขตของการศึกษา

1.  ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง

 ประชากร  คือ  นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 3 โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์เชียงใหม่  สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ จังหวัด เชียงใหม่ ปีการศึกษา 2553

กลุ่มตัวอย่าง  คือ  นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ที่ลงทะเบียนเรียน วิชา  ส 3020เศรษฐศาสตร์ ในปีการศึกษา  2553   จำนวน 25 คน

2 ตัวแปรที่ศึกษา

                    2.1  ตัวแปรต้น  คือ  วิธีการจัดการเรียนรู้ด้วยชุดกิจกรรม เรื่อง  เศรษฐศาสตร์ในชีวิตประจำวันตาม

หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง  วิชา  ส 30205  เศรษฐศาสตร์  สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3   โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์เชียงใหม่

                      2.2   ตัวแปรตาม  คือ  ประสิทธิภาพของชุดกิจกรรม   ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความพึงพอใจ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่มีต่อการใช้ชุดกิจกรรมเศรษฐศาสตร์ในชีวิตประจำวันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง  วิชา  ส 30205  เศรษฐศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3   โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์เชียงใหม่  ปีการศึกษา 2553   

3.   ด้านเนื้อหา

 เนื้อหาที่ใช้ในการสร้างชุดกิจกรรมครั้งนี้เป็นเนื้อหาในสาระเศรษฐศาสตร์  กลุ่มสาระการเรียนรู้ สังคมศึกษา  ศาสนาและวัฒนธรรม ประกอบด้วยเรื่องต่อไปนี้

         3.1  แนวคิดพื้นฐานของเศรษฐศาสตร์

         3.2  ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับการผลิตสินค้าและบริการ  

         3.3  การบริโภค

         3.4  การคุ้มครองตนเองของผู้บริโภค 

         3.5  การดำเนินการคุ้มครองผู้บริโภคของหน่วยงานราชการ

         3.6  การออมและการลงทุนตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง

4. เวลาที่ใช้ในการศึกษา 

ภาคเรียนที่ 1  ปีการศึกษา  2553 

สมมุติฐานในการศึกษา

                ในการศึกษาครั้งนี้  ผู้ศึกษาได้ตั้งสมมติฐานในการศึกษาไว้ดังนี้

1.        ชุดกิจกรรม  เศรษฐศาสตร์ในชีวิตประจำวันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง            วิชา  ส 30205  เศรษฐศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3   โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์เชียงใหม่   มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์  80/80

2.        เมื่อนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3  โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์เชียงใหม่  ได้เรียนวิชา ส30205  เศรษฐศาสตร์  ด้วยชุดกิจกรรมเศรษฐศาสตร์ในชีวิตประจำวันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง  แล้ว  ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนจะสูงกว่าก่อนเรียน ที่ระดับนัยสำคัญ .01

3.        ความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่มีต่อกิจกรรมการเรียนการสอนโดยใช้     ชุดกิจกรรมเศรษฐศาสตร์ในชีวิตประจำวันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพีย  อยู่ในระดับมากขึ้นไป

นิยามศัพท์เฉพาะ

                ในการศึกษาค้นคว้าครั้งนี้  ผู้ศึกษาได้กำหนดนิยามศัพท์เฉพาะไว้ดังต่อไปนี้

                ชุดกิจกรรมเศรษฐศาสตร์ในชีวิตประจำวันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หมายถึง    ชุดกิจกรรม ที่ผู้ศึกษาได้สร้างขึ้น  โดยใช้หลักการสร้างชุดการสอน  ประกอบไปด้วย คู่มือการใช้ชุดกิจกรรม คู่มือครู คู่มือนักเรียน และแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน จำนวน  6 ชุด ได้แก่

ชุดกิจกรรม   ชุดที่ 1แนวคิดพื้นฐานของเศรษฐศาสตร์  

ชุดกิจกรรม  ชุดที่ 2  เศรษฐกิจพอเพียงกับการผลิตสินค้าและบริการ

ชุดกิจกรรม  ชุดที่ การบริโภค

ชุดกิจกรรม  ชุดที่ การคุ้มครองตนเองของผู้บริโภค

ชุดกิจกรรม  ชุดที่ การดำเนินการคุ้มครองผู้บริโภคของหน่วยงานของรัฐ

ชุดกิจกรรม  ชุดที่ การออมและการลงทุนตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง

เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร      ต่อการกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในภายนอก ทั้งนี้ จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการ ทุกขั้นตอน และขณะเดียวกัน จะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี


                ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หมายถึง เศรษฐกิจที่สามารถอุ้มชูตัวเองได้ให้มีความพอเพียงกับตัวเอง  (Self Sufficiency) อยู่ได้โดยไม่สร้างความเดือดร้อนให้ตนเองและผู้อื่นซึ่งต้องสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของตนเองให้ดีเสียก่อนมีความพอกินพอใช้สามารถพึ่งพาตนเองได้  ย่อมสามารถสร้างความเจริญก้าวหน้าและฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศได้

    ประสิทธิภาพของชุดกิจกรรม   หมายถึง  คะแนนที่วัดได้จากเครื่องมือทดสอบคุณภาพของ        ชุดกิจกรรมที่ทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ในระดับที่น่าพอใจ  โดยกำหนดให้เป็นร้อยละเฉลี่ยของคะแนนกิจกรรมระหว่างเรียนต่อเปอร์เซ็นต์ของคะแนนจากแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนของนักเรียนทั้งกลุ่ม  โดยกำหนดคะแนนตามเกณฑ์มาตรฐาน 80/80

                80  ตัวแรก  หมายถึง  คะแนนเฉลี่ยของคะแนนที่ได้จากการวัดผลการปฏิบัติงานและกระบวนการทำงานของนักเรียนในกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด  คิดเป็นร้อยละ 80

                80  ตัวหลัง  หมายถึง  คะแนนเฉลี่ยของคะแนนแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน   คิดเป็นร้อยละ  80

                   ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน  หมายถึง  คะแนนของนักเรียนที่ได้จากการทดสอบก่อนและหลังเรียนด้วยชุดกิจกรรม  เศรษฐศาสตร์ในชีวิตประจำวันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง  วิชา  ส 30205  เศรษฐศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์เชียงใหม่          

                 ความพึงพอใจ   หมายถึง ความรู้สึกและความคิดเห็นในด้านต่างๆ ของนักเรียนที่มีต่อชุดกิจกรรม  เศรษฐศาสตร์ในชีวิตประจำวันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง   วิชา ส 30205  เศรษฐศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3   โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์เชียงใหม่

ประโยชน์ที่ได้รับจากการศึกษา

1.       ได้ชุดกิจกรรมเศรษฐศาสตร์ในชีวิตประจำวันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์เชียงใหม่ สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ ที่มีประสิทธิภาพ  และใช้สำหรับการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

2.       นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3  โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์เชียงใหม่  ที่เรียนวิชา ส30205  เศรษฐศาสตร์  ด้วยชุดกิจกรรมเศรษฐศาสตร์ในชีวิตประจำวันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง      มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดีขึ้น  

3.       นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีความพึงพอใจต่อกิจกรรมการเรียนการสอนโดยใช้ชุดกิจกรรม  เศรษฐศาสตร์ในชีวิตประจำวันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพีย   

สามารถอ่านต่อได้จากลิ้งข้างล่าง........