เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เป็นนิยาม5 ข้อใด

ความแปรปรวนต่าง ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในโลก ธรรมนิยาม 3 ไตรลักษณ์ สามัญญลักษณะ นิยาม 5 อุตุนิยาม พีชนิยาม จิตนิยาม กรรมนิยาม ธรรมนิยาม อิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท อริยสัจ 4 และอื่น ๆ อีกมากมาย

    สรรพสิ่งในจักรวาลล้วนแปรปรวนเปลี่ยนแปลง หาได้หยุดนิ่งอยู่กับที่หรือคงสภาพเดิมไว้ได้ตลอดเวลา ล้วนแฝงไว้ซึ่งสภาพที่แท้จริงต่างก็มีความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ชั่วขณะหนึ่ง แล้วก็ดับสลายไปในที่สุด ซึ่งเป็นลักษณะสามัญทั่วไปทุก ๆ สิ่งในจัดรวาล หรือ "สามัญญลักษณะ" (ยกเว้นพระนิพพาน) กล่าวคือ ความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไม่คงทนถาวรแน่นอน (อนิจจัง) ไม่อาจคงสภาพเดิมไว้ได้ตลอดไป (ทุกขัง) และปราศจากความเป็นตัวตนหรือความเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง (อนัตตา)

    นอกจากนี้สรรพสิ่งที่ปรากฏอยู่นี้หาได้เกิดขึ้นมาเองลอย ๆ ล้วนแล้วแต่มีเหตุให้เกิด จึงเกิดปรากฏขึ้นตามปัจจัยโดยปราศจากผู้สร้าง (อัตตาหรืออาตมัน) หากว่าเกิดขึ้นและเป็นไปตามกำหนดกฏเกณฑ์ของเหตุและผล (ปัจจยาการ) และต่างก็สูญสลายไปในที่สุด เมื่อสิ้นเหตุปัจจัยปรากฏการณ์เช่นนี้รวมครอบคลุมถึงสภาวธรรมทั้งที่เป็นสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตทั้งหลายทั้งปวง ซึ่งมีชื่อเรียกว่า "อิทัปปัจจยตา" นั่นคือ เมื่อสิ่งนี้มีสิ่งนั้น จึงมีเกิดตามมา เมื่อสิ่งนี้ดับ สิ่งนั้นจึงดับสูญสลายตามไปด้วยเช่นกัน เมื่อคุณอ่านหนังสือเล่มนี้จบลง คำถามหลายประการที่ติดค้างอยู่ในใจจะอันตรธานไป และความเข้าใจใหม่ ๆ อีกหลายประการจะเพิ่มพูนงอกงามตามมาอย่างไม่ต้องสงสัย มาร่วม "ไขความลับของสัจธรรมและวิทยาศาสตร์" พร้อมกันได้แล้วในเล่ม!

- โลกแปรผัน อัศจรรย์พุทธวิทัศน์
- อุตุนิยาม
- พืชนิยาม
- จิตตนิยาม
- กรรมนิยาม
- ธรรมนิยาม

พระพุทธเจ้าทรงค้นพบความจริงอะไร และวิทยาศาสตร์มาพบกับพุทธศาสนาได้อย่างไร คำตอบมีอยู่แล้วในหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนขออนุโมทนาในวิริยอุตสาหะของนายแพทย์คงศักดิ์ ตันไพจิตร คุณหมอนักปฏิบัติและนักวิชาการผู้ลุ่มลึกที่สร้างสรรค์ผลงานทางปัญญาเล่มนี้มอบเป็นของขวัญทางปัญญาแก่ชาวไทยและชาวโลกว.วชิรเมธี

เมื่อเราเข้าใจแง่ต่างๆ ในเบื้องต้นเกี่ยวกับกรรมแล้ว ก็ควรเข้าใจต่อไปด้วยว่า กรรมนี้เราถือว่าเป็นกฎอย่างหนึ่ง เรามักจะเรียกว่า “กฎแห่งกรรม”

กฎแห่งกรรมนี้ ศัพท์ทางวิชาการแท้ๆ ท่านเรียกว่า กรรมนิยาม ซึ่งก็แปลตรงๆ ว่ากฎแห่งกรรม เป็นกฎเกณฑ์แห่งเหตุและผลอย่างหนึ่ง

แต่ในทางพุทธศาสนา ท่านบอกว่า กฎเกณฑ์แห่งเหตุและผลนี้ มิใช่มีเฉพาะกรรมนิยามอย่างเดียว กฎอย่างนี้มีหลายกฎ ท่านประมวลไว้ว่ามี ๕ กฎด้วยกัน เรียกว่านิยาม ๕ หรือกฎ ๕ มีอะไรบ้าง จะยกให้กรรมนิยามเป็นข้อที่ ๑ ก็ได้ ดังนี้

๑. กรรมนิยาม กฎแห่งกรรม ได้แก่กฎเกณฑ์แห่งเหตุและผลเกี่ยวกับการกระทำของมนุษย์ เช่นที่ว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

๒. จิตตนิยาม กฎเกณฑ์เกี่ยวกับการทำงานของจิต เช่น เมื่อจิตอย่างนี้เกิดขึ้นจะมีเจตสิกอะไรประกอบได้บ้าง ถ้าเจตสิกอันนี้เกิดขึ้น จะมีเจตสิกไหนเกิดร่วมได้ อันไหนร่วมไม่ได้ เมื่อจิตจะขึ้นสู่วิถีออกรับอารมณ์ มันจะดำเนินไปอย่างไร ก่อนออกจากภวังค์ก็มีภวังคจลนะ (ภวังค์ไหว) แล้วจึงภวังคุปัจเฉท (ตัดภวังค์) จากนั้นมีอะไรต่อไปอีกจนถึงชวนจิต แล้วกลับตกภวังค์อย่างเดิมอีก อย่างนี้เรียกว่ากฎแห่งการทำงานของจิต คือจิตตนิยาม

๓. พีชนิยาม กฎเกี่ยวกับพืชพันธุ์ เช่น ปลูกมะม่วงก็เกิดเป็นมะม่วง ปลูกมะนาวก็เกิดเป็นต้นมะนาว ปลูกเมล็ดพืชอะไรก็ออกผล ออกต้นเป็นพืชชนิดนั้น อย่างนี้เรียกว่าพีชนิยาม

๔. อุตุนิยาม กฎเกณฑ์เกี่ยวกับอุตุ อุตุคือเรื่องอุณหภูมิ สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ กฎเกณฑ์เกี่ยวกับดินฟ้าอากาศ พูดอย่างชาวบ้านก็เช่น อากาศร้อนขึ้น เราก็เหงื่อออก อากาศเย็นลง เย็นมากๆ เข้า น้ำกลายเป็นน้ำแข็ง หรือถ้าร้อนมากขึ้น น้ำก็กลายเป็นไอ นี้เรียกว่าอุตุนิยาม

๕. ธรรมนิยาม กฎแห่งธรรม คือ ความเป็นเหตุเป็นผลกันของสิ่งทั้งหลาย หรือความเป็นไปตามธรรมดาแห่งเหตุปัจจัย เช่น คนเกิดมาแล้วก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วก็ดับไป เป็นต้น

ตกลงว่า กฎนี้มีตั้ง ๕ กฎ กรรมนิยามเป็นเพียงกฎหนึ่งใน ๕ กฎนั้น การที่เราจะวิเคราะห์พิจารณาสิ่งทั้งหลายจึงอย่าไปยึดถือว่าทุกอย่างต้องเป็นเรื่องของกรรมทั้งนั้น มิฉะนั้นจะกลายเป็นทัศนะที่ผิดพลาด เพราะพระพุทธศาสนาสอนไว้แล้ว ว่ากฎธรรมชาติมี ๕ อย่าง หรือนิยาม ๕ กรรมนิยามเป็นเพียงกฎหนึ่ง

เมื่ออะไรเกิดขึ้นอย่าไปบอกว่าเป็นเพราะกรรมเสมอไป ถ้าบอกอย่างนั้นจะผิด ยกตัวอย่างเช่น นาย ก. เหงื่อออก ถามว่า นาย ก. เหงื่อออกเพราะอะไร ถ้าเป็นเพราะอากาศร้อน ลองวินิจฉัยซิว่าอยู่ในนิยามไหน ถ้าว่าอะไรๆ ก็เป็นเพราะกรรม ถ้าอย่างนั้นนาย ก. เหงื่อออกก็เพราะกรรมสิ ลองบอกซิว่า เป็นกรรมอะไรของนาย ก. ที่ต้องเหงื่อออก ไม่ใช่อย่างนั้นหรอก นาย ก. เหงื่อออกเพราะอากาศร้อน นี่เรียกว่าอุตุนิยาม

แต่ไม่แน่เสมอไป บางทีนาย ก. เหงื่อออกไม่ใช่เพราะร้อนก็มี เช่น นาย ก. ไปทำความผิดไว้ พอเข้าที่ประชุม เขาเกิดสอบสวนหาตัวผู้กระทำผิด นาย ก. มีความหวาดกลัวมาก ก็อาจจะกลัวจนเหงื่อออก ในกรณีอย่างนี้ นาย ก. เหงื่อออกเพราะอะไร ตรงนี้ตอบได้ว่าเพราะกรรม นี่คือกรรมนิยาม

ฉะนั้น สิ่งที่เกิดขึ้น แม้แต่เป็นปรากฏการณ์อย่างเดียวกัน บางทีก็เกิดจากเหตุคนละอย่าง เราจะต้องเอานิยาม ๕ มาวัดวิเคราะห์ว่า มันเกิดจากอะไร อย่างที่ยกตัวอย่างมาแล้วว่า เหงื่อออก อาจจะเป็นเพราะเขารู้ตัวว่าได้ทำความผิดไว้ ตอนนี้หวาดกลัวว่าจะถูกจับได้จึงเหงื่อออก ถ้าอย่างนี้ก็เป็นกรรมนิยาม แต่ถ้าอยู่ดีๆ เขาไม่ได้ทำอะไร อากาศมันร้อนหรือไปออกกำลังมากๆ ใครๆ ก็เหงื่อออกได้ เป็นธรรมดา นี่เป็นอุตุนิยาม

อีกตัวอย่างหนึ่ง ถ้าน้ำตาไหล เป็นเพราะอะไร เป็นนิยามอะไร ต้องวินิจฉัยจับนิยามให้ดี ในเวลาตัดสินเรื่องกรรม ถ้าเข้าใจเรื่องนิยาม ๕ จะช่วยในการอธิบายเรื่องกรรมได้มาก คนเสียใจร้องไห้ก็น้ำตาไหล แต่ดีใจก็น้ำตาไหลได้เหมือนกัน อันหนึ่งเป็นจิตตนิยาม เป็นไปตามการทำงานของจิต จิตที่มีความปลาบปลื้มดีใจหรือเสียใจก็ทำให้น้ำตาไหล แต่อาจจะบวกกับเหตุผลที่มาจากกรรมนิยาม เช่นเสียใจในความผิดที่ได้กระทำไว้ แต่ก็ไม่แน่เสมอไป บางทีเราไม่ได้ดีใจหรือเสียใจสักหน่อย แต่เราไปถูกควันไฟรมเข้าก็น้ำตาไหล แล้วอันนี้เป็นนิยามอะไร ก็เป็นอุตุนิยาม ฉะนั้นการวินิจฉัยสิ่งต่างๆ อย่าไปลงโทษกรรมเสียทั้งหมด

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ใครก็ตามที่ยึดถือว่าอะไรๆ ทุกอย่างล้วนเป็นผลเกิดจากกรรมทั้งสิ้นนั้น เป็นคนที่ถือผิด เช่น ในเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ พระองค์ก็ตรัสไว้

มีพุทธพจน์ในสฬายตนวรรค สังยุตตนิกาย พระสุตตันตปิฎก พระไตรปิฎกเล่ม ๑๘ ข้อ ๔๒๗ ว่า โรคบางอย่างเกิดจากการบริหารกายไม่สม่ำเสมอก็มี เกิดจากอุตุคือสภาพแวดล้อมแปรปรวนเป็นสมุฏฐานก็มี เกิดจากเสมหะเป็นสมุฏฐานก็มี เกิดจากดีเป็นสมุฏฐานก็มี เกิดจากสมุฏฐานต่างๆ ประกอบกันก็มี เกิดจากกรรมก็มี แปลว่าโรคบางอย่างเกิดจากกรรม แต่หลายอย่างเกิดจากอุตุนิยมบ้าง เกิดจากความแปรปรวนของร่างกายบ้าง เกิดจากการบริหารร่างกายไม่สม่ำเสมอ เช่น พักผ่อนน้อยเกินไป ออกกำลังมากเกินไป เป็นต้นบ้าง กรรมเป็นเพียงเหตุหนึ่งเท่านั้น จะโทษกรรมไปทุกอย่างไม่ได้

ยกตัวอย่าง คนเป็นแผลในกระเพาะอาหาร บางทีเป็นเพราะฉันยาแก้ไข้แก้ปวด เช่น แอสไพรินในเวลาท้องว่าง พวกยาแก้ไขแก้ปวดเหล่านี้เป็นกรด บางทีมันก็กัดกระเพาะทะลุ อาจจะทำให้ถึงกับมรณภาพไปเลย ยาแก้ไข้แก้ปวดบางอย่างมีอันตรายมาก เขาจึงห้ามฉันเวลาท้องว่าง ต้องให้มีอะไรในท้องจึงฉันได้ บางคนเลือดไหลในกระเพาะ ไม่รู้ว่าเป็นเพราะเหตุใด ที่แท้เป็นเพราะกินยาแก้ไข้แก้ปวดนี่เอง นี้ก็เป็นเหตุอันหนึ่ง

แต่บางคนเป็นแผลในกระเพาะอาหาร เพราะความวิตกกังวล คิดอะไรต่างๆ ไม่สบายใจ กลุ้มใจบ่อยๆ คับเครียดจิตใจอยู่เสมอเป็นประจำ จึงทำให้มีกรดเกิดขึ้นในกระเพาะอาหาร แล้วกรดนี้มันก็กัดกระเพาะของตัวเองเป็นแผล จนกระทั่งเป็นโรคร้ายแรงถึงกับต้องผ่าตัดกระเพาะทิ้งไปครึ่งหนึ่งก็มี

จะเห็นว่าผลอย่างเดียวกัน แต่เกิดจากเหตุคนละอย่าง ที่ฉันแอสไพรินหรือยาแก้ปวดแก้ไข้แล้วกระเพาะทะลุ เป็นอุตุนิยาม แต่ที่คิดวิตกกังวลกลุ้มใจอะไรต่ออะไรแล้วเกิดแผลในกระเพาะ เป็นกรรมนิยาม จิตใจไม่ดีมีอกุศลมากก็ทำให้โรคเกิดจากกรรมได้มากมาย อย่างที่เป็นกันมากเวลานี้คือโรคเครียด ก็โรคกรรม หรือโรคเกิดจากกรรมนั่นเอง (กรรมนิยาม ผสมด้วยจิตตนิยาม)

แต่อย่างไรก็ตาม เราต้องเอาหลักเรื่องนิยาม ๕ มาวินิจฉัย อย่าไปลงโทษกรรมทุกอย่าง แล้วบางอย่างก็เกิดจากนิยามต่างๆ หลายนิยามมาประกอบกัน