หนังสือขออนุญาตออกนอกเขตจังหวัด นายก อบต

ตามมาตรา 122 แห่ง พรบ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 (แก้ไขฉบับที่ 11 พ.ศ.2551) “นายอำเภอมีหน้าที่ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันและสิ่งซึ่งเป็นสาธารณประโยชน์อื่นอันอยู่ในเขตอำเภอ..."

ตามระเบียบมท.ว่าด้วยการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันพ.ศ.2553 ข้อ 6 อำนาจหน้าที่ "ในการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินตามข้อ 5"

จากฐานอำนาจดังกล่าวเห็นว่า อปท.ควรมีอำนาจหน้าที่ เกี่ยวกับการคุ้มครองป้องกันและดูแลรักษาที่ดินของรัฐแยกได้ 3 เรื่อง ดังนี้

1. เรื่องการระวังชี้และรับรองแนวเขต

(1.1) อำนาจในการระวังชี้และรับรองแนวเขตที่ดิน ดังนั้น ในกรณีที่ต้องลงนามรับรองแนวเขตที่ดินในเขตอปท. (ประเภทที่รกร้างว่างเปล่าและประเภทที่สาธารณประโยชน์)นายอำเภอท้องที่ต้องลงนามร่วมกับ นายก อปท. เช่น ในเขตเทศบาลคือ นายกเทศมนตรี ในเขต อบต. คือ นายก อบต. ฯ

(1.2) หน้าที่ในการระวังชี้และรับรองแนวเขต (ตามระเบียบฯ กรมที่ดิน นายกอปท.ต้องลงนามร่วมกับนายอำเภอในการรับรองระวังแนวเขตที่ดินเอกสารสิทธิ์ที่ติดที่ดินสาธารณะ)

(1.3) หน้าที่ในการจัดทำทะเบียนที่ดินสาธารณประโยชน์ จำนวน 4 ชุด ตามแบบที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดร่วมกับนายอำเภอและให้เก็บรักษาไว้ที่อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานที่ดินจังหวัดและกรมที่ดินแห่งละ 1 ชุด ตามข้อ 10 แห่ง แห่งระเบียบมท.ว่าด้วยการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันพ.ศ.2553

(1.4) หน้าที่ให้ข้อเท็จจริงและความเห็นกรณีทะเบียนที่ดินสาธารณประโยชน์ผิดพลาดคลาดเคลื่อน ให้สำนักงานที่ดินจังหวัด เพื่อกระทรวงมหาดไทยพิจารณาสั่งการให้แก้ไขหรือจำหน่ายรายการทะเบียนที่ดินสาธารณประโยชน์ ตามข้อ 11 วรรคสาม แห่ง ระเบียบมท.ว่าด้วยการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันพ.ศ.2553

(1.5) หน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่ดินตามข้อ 12 แห่ง ระเบียบมท.ว่าด้วยการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันพ.ศ.2553

(1.6) หน้าที่ออกค่าใช้จ่ายในการดำเนินการกรณีที่มีข้อพิพาทหรือคดีเกี่ยวกับที่ดินตาม ข้อ 13 แห่ง ระเบียบมท.ว่าด้วยการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันพ.ศ.2553 บัญญัติว่า "ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกันเช่น การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง การตรวจสอบหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงการดำเนินคดีกรณีมีข้อพิพาท การรังวัดทำแผนที่การจัดทำทะเบียนที่ดินสาธารณประโยชน์ รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่นใดที่เกี่ยวข้องให้เบิกจ่ายจากงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น"

2. เรื่องการฟ้องร้องดำเนินคดีแก่ผู้ฝ่าฝืน

(2.1) อำนาจดำเนินคดีแก่ผู้ฝ่าฝืน (ร่วมเป็นโจทก์ร่วมกับนายอำเภอ)

หน้าที่เป็นผู้ดำเนินการระงับข้อพิพาทหรือร้องทุกข์กล่าวโทษภายในสามสิบวันนับแต่รู้เหตุแห่งข้อพิพาทหรือคดี ข้อ 6 วรรคสอง แห่งระเบียบ มท.ว่าด้วยการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันพ.ศ.2553

(2.2) หน้าที่ในการฟ้องร้องดำเนินคดีแก่ผู้ฝ่าฝืน (รวมถึงเรื่องการบุกรุกด้วย), เป็นโจทก์ร่วมกับนายอำเภอในการฟ้องร้องคดี

3. เรื่องการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์

(3.1) อำนาจในการให้ความเห็นเพื่อใช้ประกอบการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์เกี่ยวกับที่ดินของรัฐ กรณีเอกชนขอใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐ ตามมาตรา 9 หรือมาตรา 12 แห่ง ป.ที่ดิน

(3.2) อำนาจขออนุญาตใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐ เพื่อประโยชน์ในทางราชการ เช่น ใช้เพื่อก่อสร้างสำนักงาน ในฐานะ “ทบวงการเมือง"ตาม มาตรา 8 ทวิ แห่ง ป.ที่ดินประกอบด้วยระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ทบวงการเมืองใช้ที่ดินของรัฐเพื่อประโยชน์ในราชการ

(3.3) อำนาจขอเปลี่ยนสภาพการใช้ที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันจากการใช้เพื่อประโยชน์อย่างหนึ่งเป็นอีกอย่างหนึ่ง ตามข้อ 9แห่งระเบียบมท.ว่าด้วยการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันพ.ศ.2553

ข้อสังเกตการใช้ใช้ประโยชน์ในที่ดินสาธารณประโยชน์

"อำนาจ" ของ อปท. เกี่ยวกับที่ดินสาธารณะนั้น จะโยงไปถึงคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการทางปกครอง(กฎ, คำสั่ง, การทำอื่นใด, สัญญาทางปกครอง) ตาม มาตรา 9 แห่งพรบ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542ตามหลักกฎหมายปกครองที่ว่า "ไม่มีกฎหมาย ไม่มีอำนาจ"ฉะนั้นการที่ทราบว่า อปท.มีอำนาจเกี่ยวกับที่ดินสาธารณะอย่างไร จึงเป็นสิ่งจำเป็น

นายอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่มีอำนาจใช้หรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้ที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันข้อ 7 แห่งระเบียบมท.ว่าด้วยการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันพ.ศ.2553

อปท.จะให้เช่าที่สาธารณประโยชน์โดยนำรายได้เข้าท้องถิ่นสามารถทำได้แต่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนของ ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการอนุญาตให้ประชาชนใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐพ.ศ. 2547 ซึ่งต้องมีการจัดทำประชาคมและจัดทำโครงการประชุมชี้แจงราษฎรในพื้นที่ดำเนินการตามนโยบายการแก้ไขปัญหาสังคมและความยากจนเชิงบูรณาการที่สาธารณประโยชน์ของกรมที่ดิน

ฉะนั้นกรณีที่ อปท. นำที่ดินของรัฐไปอนุญาตให้เอกชนผู้หนึ่งผู้ใดใช้ประโยชน์จึงเป็นการไม่ถูกต้องหากเกิดความเสียหายต่อผู้ขอใช้หรือต่อที่ดินของรัฐ อปท.จะต้องรับผิดชอบเป็นส่วนตัว และจะต้องรับผิดชอบทางวินัย และทางละเมิดหรืออาจจะต้องรับผิดในทางอาญาด้วย

ประเด็นทางสาธารณะ,ทางหลวง

"การได้มาซึ่งที่ดินนั้นเป็นการได้มาเพื่อสร้างทางหลวงตามข้อ 63 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 จึงอยู่ในความปกครองดูแลและคุ้มครองป้องกันของเทศบาลซึ่งเป็นผู้ดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งที่ดินดังกล่าวแม้จะไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่ก็ต้องถือว่าข้อ 63 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ฯได้ให้อำนาจหน่วยงานที่ทำหน้าที่สร้างหรือขยายทางหลวงดูแลรักษาและดำเนินการคุ้มครองป้องกันที่ดินนั้น"

(คำพิพากษาศาลปกครองสงขลา คดีหมายเลขแดงที่ 42/2545ระหว่าง นางสุทิน บุพโก ผู้ฟ้องคดี กับ เทศบาลนครหาดใหญ่ ผู้ถูกฟ้องคดี เรื่องเทศบาลนครหาดใหญ่ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติคดีเกี่ยวกับที่สาธารณะ) (ดูอ้างอิง [1])

***** หมายเหตุ สรุปประเภทที่ดินของรัฐได้ 2 ประเภท คือ

1. ที่ดินที่เป็นทรัพย์สินของแผ่นดินธรรมดา กับ

2. ที่ดินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน

หากทรัพย์ของแผ่นดิน ใช้เพื่อ สาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน ก็จะกลายเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ฉะนั้น ที่ดินที่เป็นทรัพย์สินของแผ่นดินจะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่นั้น จึงขึ้นอยู่กับสภาพของทรัพย์สินนั้นเองว่าได้ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันหรือไม่ (ดูอ้างอิง [2])

หมายเหตุ ระเบียบ มท. มีหลายฉบับ ที่เกี่ยวกับที่ทางสาธารณะ ซึ่งยังไม่ยกเลิก ได้แก่

[1] ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการถอนสภาพการจัดขึ้นทะเบียนและการจัดหาผลประโยชน์ในที่ดินของรัฐตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2550,

[2] ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยวิธีการเกี่ยวกับการขุดลอกแหล่งน้ำสาธารณะประโยชน์ที่ตื้นเขิน พ.ศ. 2547,

[3] ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการอนุญาตให้ประชาชนใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐ พ.ศ. 2547,

[4] ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการเปลี่ยนสภาพที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกัน จากการใช้เพื่อสาธารณประโยชน์อย่างหนึ่ง เป็นอีกอย่างหนึ่ง พ.ศ. 2543,

[5] ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วย หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ทบวงการเมืองใช้ที่ดินของรัฐเพื่อประโยชน์ในราชการตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2541,
(หมายเหตุ ลำดับที่ 5 ถูกยกเลิกโดย“ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการถอนสภาพ การจัดขึ้นทะเบียน และการจัดหาผลประโยชน์ในที่ดินของรัฐ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2550”)

[6] ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการสอบสวนเกี่ยวกับการบุกรุกที่หรือทางสาธารณประโยชน์ พ.ศ. 2539,

ฯลฯ

อ้างอิง

[1] อนุชา ฮุนสวัสดิกุล. “คดีปกครองที่สำคัญเกี่ยวกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น". สถาบันพระปกเกล้า,สิงหาคม 2547. (คดีปกครองเกี่ยวกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 10 ประเภท), 

http://www.kpi.ac.th/คดีปกครอง...

[2] ลักคณา พบร่มเย็น, "ประเภทของที่ดินของรัฐ", คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, บันทึก GotoKnow 24 ธันวาคม 2551, https://www.gotoknow.org/posts/231729

[3] กรมการปกครอง, "ขอบเขตหัวข้อการดูแลรักษาคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน", http://iad.dopa.go.th/subject/land2.doc

[4] ดูเพิ่มเติมใน "มาตรฐานการดูแลรักษาที่สาธารณประโยชน์", รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (นายวสันต์ วรรณวโรทร) ประธานคณะทำงาน ตาม คำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ 119/2549 ลงวันที่ 12 เมษายน 2549 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาร่างมาตรฐานการบริหาร/การบริการสาธารณะขององค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น, http://www.dla.go.th/work/e_book/eb1/std210550/27/27.htm

[5] ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการสอบสวนเกี่ยวกับการบุกรุกที่หรือทางสาธารณประโยชน์ พ.ศ. 2539, http://dl.parliament.go.th/han...

& http://drmlib.parliament.go.th...

[6] แนวทาง วิธีการ และมาตรการในการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ จังหวัด (กบร.จังหวัด), http://pab.dopa.go.th/main/law/land_threat.pdf

คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ จังหวัด (กบร.จังหวัด), คำสั่งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ ที่ 1/2553. ลงวันที่ 19 มกราคม 2553