ข้อใดมี เสียงพยัญชนะ สะกด ต่างจากข้ออื่น ก ตัว ข ผิว ค ข้าว ง เกี่ยว

1. ความในข้อใดไม่ถูกต้อง
          1. สระประสมเกิดจากการประสมของสระเดี่ยว 2 เสียง
          2. ภาษาไทยจัดเป็นภาษาคำโดด  เพราะคำในภาษาเป็นคำพยางค์เดียวทั้งหมด
          3. การเขียนที่รักษารูปคำเดิมช่วยให้แยกความหมายของคำพ้องเสียงได้
          4. การออกเสียงของผู้พูดเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ภาษาเปลี่ยนแแปลงได้
เฉลยข้อ 2 แนวคิด
          ภาษาไทยเป็นภาษาคำโดด คำในภาษาส่วนใหญ่เป็นคำพยางค์เดียว แต่บางคำก็มีหลายพยางค์
*******************************************
2. ข้อใดมีเสียงวรรณยุกต์ตรงกับเสียงวรรณยุกต์ในข้อความ "สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น"
          1. หากใจมุ่งมั่นไร้แปรผัน
          2. เด็กเก่งมักขวนขวายสร้างสรรค์
          3. รีบเกี่ยวข้าวให้ทันวันเสาร์
          4. บุกบั่นมุ่งสร้างบ้านชวนฝัน
เฉลยข้อ 4 แนวคิด
          "สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น" มีเสียงวรรณยุกต์ดังนี้ เอก เอก โท โท โท สามัญ จัตวา ซึ่งตรงกับเสียงวรรณยุกต์ของข้อความ "บุกบั่นมุ่งสร้างบ้านชวนฝัน"
***********************************************
3. ข้อใดมีพยางค์ที่ใช้สระประสมมากที่สุด
          1. นึกเฉลียวเสียวทรวงถึงดวงจันทร์
          2. กรับประสานสวบสวบส่งเสียงใส
          3. ทั้งหวายตรวนล้วนเครื่องที่ลำบาก
          4. พลุกระจายช่อช่วงดังดวงเดือน
เฉลยข้อ 1 แนวคิด
          สระประสม คือ เอีย เอือ อัว
          ข้อ 1. ใช้สระประสม 4 แห่ง คือ เฉลียว เสียว ทรวง ตวง
          ข้อ 2. ใช้สระประสม 3 แห่ง คือ สวย สวบ เสียง
          ข้อ 3. ใช้สระประสม 3 แห่ง คือ ตรวน ล้วน เครื่อง
          ข้อ 4. ใช้สระประสม 3 แห่ง คือ ช่วง ตวง เดือน
***********************************************
4. ทุกคำในข้อใด ไม่ออกเสียงควบกล้ำ
          1. ปลัด พฤทธิ์ นิทรา
          2. ปรอท กลศ แทรก
          3. ปลาต ขรม พุทรา
          4. ปริตร ตรุษ อินทรีย์
เฉลยข้อ 3 แนวคิด
          ข้อ 1 คำที่ไม่ออกเสียงควบกล้ำ คือ ปลัด (ปะ - หลัด)
          ข้อ 2 คำที่ไม่ออกเสียงควบกล้ำ คือ ปรอท (ปะ - หลอด) แทรก (แซก)
          ข้อ 3 ทุกคำไม่ออกเสียงควบกล้ำ ปลาด (ปะ - ลาด) ขรม (ขะ - หรม) พุทรา (พุด - ซา)
          ข้อ 4 คำที่ไม่ออกเสียงควบกล้ำ คือ ปริตร (ปะ - หริด) อินทรีย์ (อิน - ซี)
************************************************
5. ข้อใดไม่มีพยางค์คำตาย
          1. ไม้แก้วกางกิ่งพิงกับกิ่งเกด
          2. ฝูงโนเรศขันขานประสานเสียง
          3. น้ำตาคลอท้ออกเห็นนกเรียง
          4. เหมือนเรียมเคียงร่วมคู่เมื่ออยู่เรือน
เฉลยข้อ 4 แนวคิด
          ข้อ 1 พยางค์คำตาย คือ กับ เกด
          ข้อ 2 พยางค์คำตาย คือ เรศ ประ
          ข้อ 3 พยางค์คำตาย คือ อก นก
          ข้อ 4 ไม่มีพยางค์คำตาย
*********************************************
6. เสียงควบกล้ำในข้อใดไม่ปรากฏ ในระบบเสียงภาษาไทย
          1. บรั่นดี
          2. นิวเคลียส
          3. อิเควเตอร์
          4. เพนกวิน
เฉลยข้อ 1 เหตุผล
          ข้อ 1 บร เป็นเสียงควบคล้ำที่รับมาจากภาษาอังกฤษ ไทยไม่ได้มีใช้มาแต่ก่อน
          ข้อ 2 คล เป็นเสียงควบกล้ำที่มีใช้ในภาษาไทย เช่น คล้อย คลาดเคลื่อน
          ข้อ 3 คว เป็นเสียงควบกล้ำที่มีใช้ในภาษาไทย เช่น ความ ควัน
          ข้อ 4 กว เป็นเสียงควบกล้ำที่มีใช้ในภาษาไทย เช่น กวาง กวัก
**********************************************
7. ข้อความต่อไปนี้มีพยางค์ที่ปรากฏเสียงพยัญชนะท้ายกี่พยางค์ "มัวแต่พูดว่า "จะ จะ" อยู่นั่นเอง ทำไมไม่ลงมือเสียที"
          1. 7 พยางค์
          2. 8 พยางค์
          3. 9 พยางค์
          4. 10 พยางค์
เฉลยข้อ 1 เหตุผล
          ข้อความดังกล่าวมีพยางค์ที่ปรากฏเสียงพยัญชนะท้าย 7 พยางค์ คือ
          พูด มีเสียงพยัญชนะท้ายพยางค์ คือ /ต/
          นั่น มีเสียงพยัญชนะท้ายพยางค์ คือ /น/
          เอง, ลง มีเสียงพยัญชนะท้ายพยางค์ คือ /ง/
          ทำ มีเสียงพยัญชนะท้ายพยางค์ คือ /ม/
          ไม, ไม่ มีเสียงพยัญชนะท้ายพยางค์ คือ /ย/
          (ทำ ประกอบด้วยพยัญชนะต้น ท มีเสียงสระอะ มี ม เป็นเสียงพยัญชนะท้ายพยางค์
          ไม, ไม่ ประกอบด้วยพยัญชนะต้น ม มีเสียงสระอะ มี ย เป็นเสียงพยัญชนะท้ายพยางค์ )
*********************************************
8. ข้อใดมีเสียงวรรณยุกต์ครบทั้ง 5 เสียง
          1. ประหยัดวันนี้สบายวันหน้า
          2. สมบัติเมาเดินเซถลาหัวทิ่ม
          3. หมึกแดงแผลงฤทธิ์ให้รสอร่อย
          4. จะพูดจาจงพิเคราะห์ให้เหมาะความ
เฉลยข้อ 3 เหตุผล
          ข้อ 1 ประหยัดวันนี้สบายวันหน้า มีเสียงวรรณยุกต์ คือ
                   เอก เอก สามัญ ตรี เอก สามัญ สามัญ โท (ขาดเสียงจัตวา)
          ข้อ 2. สมบัติเมาเดินเซถลาหัวทิ่ม มีเสียงวรรณยุกต์ คือ
                   จัตวา เอก สามัญ สามัญ สามัญ เอก จัตวา จัตวา โท (ขาดเสียงตรี)
          ข้อ 3. หมึกแดงแผลงฤทธิ์ให้รสอร่อย มีเสียงวรรณยุกต์ คือ
                    เอก สามัญ จัตวา ตรี โท ตรี เอก เอก (มีเสียงวรรณยุกต์ครบทุกเสียง)
          ข้อ 4. จะพูดจาจงพิเคราะห์ให้เหมาะความ มีเสียงวรรณยุกต์ คือ
                    เอก โท สามัญ สามัญ ตรี ตรี โท เอก สามัญ (ขาดเสียงจัตวา)
*******************************************************
9. ข้อความในข้อใดไม่ถูกต้อง
          1. ภาษาไทยมาตรฐานคือภาษาราชการ
          2. ภาษาไทยมีการออกเสียงหนักเสียงเบา
          3. ภาษาไทยรับคำจากภาษาอื่นในรูปศัพท์เดิมเป็นส่วนใหญ่
          4. คนไทยบางคนออกเสียงพยัญชนะบางเสียงตามเสียงภาษาอังกฤษ
เฉลยข้อ 3 เหตุผล
          ข้อ 1. ไทยเรามีภาษามาตรฐานใช้ เรียกกันว่า ภาษากลางบ้าง ภาษาราชการบ้าง
          ข้อ 2. การออกเสียงคำไทย โดยปกติไม่ได้ออกเสมอกันทุกพยางค์ บางพยางค์ออกเสียงหนัก บางพยางค์ออกเสียงเบา เช่น กิจการ ลงเสียงหนักที่กิจ และ การ
          ข้อ 3. ภาษาไทยเมื่อได้รับคำจากภาษาอื่นมาแล้ว มีการเปลี่ยนแปลงรูปศัพท์เดิมใช้เพื่อให้เหมาะสม เช่น นำเอาคำภาษาบาลีสันสกฤตมาใช้ โดยเปลี่ยนสระ ได้แก่ ไวทย ไทยใช้ แพทย์
          ข้อ 4. คนไทยบางคนออกเสียงพยัญชนะบางเสียงตามเสียงภาษาอังกฤษ เช่น ออกเสียง /ช/ คล้ายเสียง /sh/ ในภาษาอังกฤษ
**************************************************
10. ข้อใดพยางค์แรกไม่มีเสียงพยัญชนะสะกด
          1. โฆษณา
          2. กรรมาธิการ
          3. วาตภัย
          4. ทิฐิ
เฉลยข้อ 3 เหตุผล 
          ข้อ 1. โฆษณา อ่านว่า โคด-สะ-นา พยางค์แรกมีเสียงพยัญชนะสะกด ต
          ข้อ 2. กรรมาธิการ อ่านว่า กำ-มา-ทิ-กาน พยางค์แรกมีเสียงพยัญชนะสะกด ม
          ข้อ 3. วาตภัย อ่านว่า วา-ตะ-ไพ พยางค์แรกไม่มีเสียงพยัญชนะสะกด
          ข้อ 4. ทิฐิ อ่านว่า ทิด-ถิ พยางค์แรกมีเสียงพยัญชนะสะกด ต
*********************************************
11. ข้อใดไม่ถูกต้อง
          1. ภาษาทุกภาษามีลักษณะร่วมกันคือใช้เสียงสื่อความหมาย ประกอบด้วยหน่วยเล็กซึ่งรวมกันเป็นหน่วยที่ใหญ่ขึ้น
          2. วัจนภาษาคือถ้อยคำที่มนุษย์ใช้พูดเพื่อสื่อความหมาย ดังนั้นผู้ใช้ภาษาจึงต้องเป็นมนุษย์เท่านั้น และสิ่งที่สื่อความหมายก็คือเสียงพูด
          3. เสียงที่ใช้อยู่ในแต่ละภาษามีจำนวนไม่รู้จบ เราสามารถนำเสียงสระ พยัญชนะ และวรรณยุกต์มาสร้างเป็นคำได้จำนวนมากเพื่อสื่อสารกับคนในสังคม
          4. การที่คนไทยเรียกละอองน้ำที่แข็งเย็นมีลักษณะเป็นปุยว่าหิมะ คนอังกฤษเรียกสโนว์ คนญี่ปุ่นเรียกยูคิ เป็นเรื่องของการตกลงกันของคนแต่ละกลุ่ม ไม่ได้เป็นเพราะความสัมพันธ์ของเสียงกับความหมายแต่อย่างใด
เฉลยข้อ 3 เหตุผล
          ข้อ 3 ไม่ถูกต้อง เพราะเสียงที่ใช้อยู่ในแต่ละภาษา ได้แก่ เสียงพยัญชนะ เสียงสระ ในแต่ละภาษามีจำนวนจำกัด เช่น ภาษาไทยมีเสียงพยัญชนะ 21 เสียง เสียงสระ 21 เสียง
********************************************
12. คำในข้อใดทุกคำมีทั้งความหมายโดยตรงและความหมายเชิงอุปมา
          1. ตกเบ็ด ลอยแพ ไหว้ผี เอียงซ้าย
          2. จับตา ลอกคราบ นิ้วก้อย จับตาย
          3. ติดตา ลายคราม ขึ้นหิ้ง จับเข่า
          4. ปากน้ำ ตัดต่อ ร้อนตัว ตกข่าว
เฉลยข้อ 3 แนวคิด
          ข้อ 1 คำที่มีความหมายโดยตรงเพียงอย่างเดียว คือ ไหว้ผี
          ข้อ 2 คำที่มีความหมายโดยตรงเพียงอย่างเดียว คือ นิ้วก้อย
          ข้อ 3 ติดตา หมายถึง ดูใกล้ตา (ความหมายโดยตรง)
                             หมายถึง ยังรู้สึกนึกเห็นภาพนั้นอยู่ไม่รู้เลือน (ความหมายเชิงอุปมา)
                   ลายคราม หมายถึง เครื่องภาชนะกระเบื้องที่เขียนลายเป็นสีคราม (ความหมายโดยตรง)
                                   หมายถึง คนแก่ที่ยังมีค่ามีความสามารถ (ความหมายเชิงอุปมา)
                   ขึ้นหิ้ง หมายถึง นำของไปวางไว้บนหิ้ง (ความหมายโดยตรง)
                              หมายถึง เป็นที่รักโปรดปราน (ความหมายเชิงอุปมา)
                   จับเข่า หมายถึง จับหัวเข่า (ความหมายโดยตรง)
                              หมายถึง พูดทำความเข้าใจกัน (ความหมายเชิงอุปมา)
           ข้อ 4 คำที่มีความหมายโดยตรงเพียงอย่างเดียว คือ ปากน้ำ
**********************************************
13. ข้อความต่อไปนี้มีคำประสมกี่คำ
สมศักดิ์เป็นหัวหน้าในสำนักงาน เขามีเพื่อนร่วมงานอีก 4 คน เวลาคนอื่นไม่อยู่สมศักดิ์จะต้องยืนโรงคอยรับลูกค้า
          1. 6 คำ
          2. 5 คำ
          3. 4 คำ
          4. 3 คำ
เฉลยข้อ 2 แนวคิด
          ข้อความนี้มีคำประสม คือ หัวหน้า สำนักงาน เพื่อนร่วมงาน ยืนโรง ลูกค้า
************************************************
14. ข้อใดมีกริยาเป็นคำประสมทั้งหมด
          1. คุณปู่นั่งเล่านิทาน หลาน ๆ ยิ้มแป้น
          2. เวลาแดดร้อนจัดต้องเดินกางร่ม
          3. เขาชอบออกตัวเพราะเกรงใจเพื่อน ๆ
          4. พ่อถ่ายรูปน้องขณะนอนหลับ
เฉลยข้อ 3 แนวคิด
          กริยาที่เป็นคำประสมคือ
          ออกตัว หมายถึง พูดกันตัวหรือแก้ตัวไว้ก่อน
          เกรงใจ หมายถึง ไม่อยากทำให้ผู้อื่นลำบากเดือดร้อน
******************************************************
15. ข้อใดเป็นคำซ้อนทุกคำ
          1. แนบชิด กับแกล้ม เก่งกาจ
          2. รีดไถ กล่าวหา เอาอย่าง
          3. อ้อยอิ่ง ป่าวร้อง โยนกลอง
          4. หมดสิ้น กดดัน ใหม่เอี่ยม
เฉลยข้อ 4 แนวคิด
          ข้อ 1 คำที่ไม่ใช่คำซ้อน คือ กับแกล้ม
          ข้อ 2 คำที่ไม่ใช่คำซ้อน คือ กล่าวหา, เอาอย่าง
          ข้อ 3 คำที่ไม่ใช่คำซ้อน คือ โยนกลอง
          ข้อ 4 ทุกคำเป็นคำซ้อน
************************************************
16. คำซ้อนในข้อใดประกอบขึ้นจากคำที่มีความหมายต่างกันเล็กน้อย
          1. ขวากหนาม ซ่อมแซม
          2. สักการบูชา เปลี่ยนแปลง
          3. คาดคะเน ซ่อนเร้น
          4. หยุดยั้ง อภิบาลรักษา
เฉลยข้อ 1 แนวคิด
          ขวากหนาม เกิดจากการนำ "ขวาก" กับ "หนาม" มาซ้อนกัน ซึ่งทั้งสองคำมีความหมายต่างกันเล็กน้อย
                   ขวาก หมายถึง ไม้หรือเหล็กเป็นต้นมีปลายแหลม
                   หนาม หมายถึง ส่วนแหลมที่งอกออกมาจากกิ่งไม้
          ซ่อมแซม เกิดจากการนำ "ซ่อม" กับ "แซม" มาซ้อนกัน ซึ่งทั้งสองคำมีความหมายต่างกันเล็กน้อย
                   ซ่อม หมายถึง ทำสิ่งชำรุดให้ดีขึ้น
                   แซม หมายถึง เอาสิ่งใหม่แทรกเข้าไปเพื่อแทนสิ่งที่ชำรุดให้ดีขึ้น
************************************************
17. ข้อใดเป็นคำสมาสทุกคำ
          1. เคหสถาน เพรงกรรม อากาศธาตุ
          2. วิบากกรรม นวโลหะ ชัยมงคล
          3. วีรกรรม ปฏิบัติการ อัญชุลี
          4. ทัศนวิสัย ผลบุญ เพลิงกาล
เฉลยข้อ 2 แนวคิด
          คำสมาส หมายถึง คำที่เกิดจากการสร้างคำในภาษาบาลีสันสกฤต ตั้งแต่ 2 คำขึ้นไปด้วยวิธีการสมาส
          วิบากกรรม
                   วิบาก หมายถึง ผลแห่งกรรมดีกรรมชั่วอันทำไว้แต่ปางก่อน
                   กรรม หมายถึง การกระทำที่ส่งผลร้ายมายังปัจจุบัน
          นวโลหะ
                   นว หมายถึง เก้า
                   โลหะ หมายถึง ธาตุที่ถลุงจากแร่แล้ว
          ชัยมงคล
                   ชัย หมายถึง การชนะ
                   มงคล หมายถึง เหตุที่นำมาซึ่งความเจริญ
****************************************************
18. ข้อความต่อไปนี้มีคำยืมมาจากภาษาบาลีสันสกฤตกี่คำ
          ไว้เป็นมหรสพซร้อง              สุขศานติ์
สำหรับราชสำราญ                            เริ่มรั้ง
บำเทิงหฤทัยบาน                              ประดิยุทธ์    นั้นนา
เสนอเนตรมนุษยตั้ง                           แต่หล้าเลอสรวง
          1. 6 คำ
          2. 7 คำ
          3. 8 คำ
          4. 9 คำ
เฉลยข้อ 3 แนวคิด
          คำยืมจากภาษาบาลีสันสกฤต มี 8 คำ คือ มหรสพ สุข ศานติ์ ราช หฤทัย ประดิยุทธ์ เนตร มนุษย์
***********************************************
19. ข้อความตอนใดมีคำสมาส
(ก) สัญญาในที่นี้หมายถึงเอกสารที่มีผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างบุคคล 2 ฝ่าย /
(ข) เซ็นสัญญาจะซื้อขายสินค้า สัญญากู้เงิน สัญญาเช่าบ้าน /
(ค) สัญญาต่าง ๆ เหล่านี้ทำขึ้นเป็นแบบฟอร์มเพื่อให้คู่สัญญาได้รับความสะดวก /
(ง) ผู้ทำสัญญาต้องลงลายมือชื่อกำกับไว้เพื่อให้สัญญามีผลสมบูรณ์
          1. (ก)
          2. (ข)
          3. (ค)
          4. (ง)
เฉลยข้อ 1 แนวคิด 
          เอกสาร เป็นคำสมาส
          เอก และ สาร เป็นคำภาษาบาลีสันสกฤต
***************************************************
20. คำซ้ำในข้อใดทำหน้าที่ในประโยคต่างกับข้ออื่น
          1. เห็นกันหลัด ๆ ก็ได้ข่าวว่าสมบัติตายเสียแล้ว
          2. เขาเดินกระทืบเท้าปัง ๆ เข้าไปในครัว
          3. เขามาถึงสนามบินทันเห็นเครื่องบินออกไปลิบ ๆ
          4. ผู้หญิงสวย ๆ ทุกวันนี้ทำงานนอกบ้าน
เฉลยข้อ 4 แนวคิด
          ข้อ 1, ข้อ 2 และข้อ 3 คำซ้ำ "หลัด ๆ" "ปัง ๆ" "ลิบ ๆ" ทำหน้าที่เป็นคำวิเศษณ์ ขยายกริยา
          ข้อ 4 คำซ้ำ "สวย ๆ" ทำหน้าที่เป็นคำวิเศษณ์ขยายนาม "ผู้หญิง"