ศรัทธาในพระพุทธศาสนามีความหมายว่าอย่างไร

สาระธรรม


     

ศรัทธาในพระพุทธศาสนามีความหมายว่าอย่างไร
ศรัทธา ที่ถูกต้องในทางคำสอนของพระพุทธเจ้ามี 2 ระดับเท่านั้นเอง และไม่ยากด้วย สั้นนิดเดียว ในเมืองไทยเรา เวลาเราพูดถึงศรัทธาวัดโน้น วัดนี้  ศรัทธาหลวงพ่อรูปโน้น รูปนี้ ศรัทธาอาจารย์โน้น อาจารย์นี้ อย่างนี้ก็เป็นคำพูด อาจจะเป็นศรัทธาจริงๆ หรือไม่เป็นก็ได้ ถ้าเป็นศรัทธาจริง ๆ ก็ต้องเป็นธรรมะที่เป็นฝ่ายดี เป็น โสภณะ  ศรัทธาในอาจารย์ ศรัทธาในความดีที่เกิดขึ้นในตัวอาจารย์อันนี้ถือว่าเป็นศรัทธาอยู่ แต่ยังไม่ถูกต้องนักเพราะว่าไม่ได้เป็นไปเพื่อปัญญา  ไม่ได้เป็นไปเพื่อจะเป็นพระโสดาบัน  แต่ทางพุทธเราเป็นไปเพื่อพ้นทุกข์จึงเรียกว่าถูก ถึงแม้จะดี แต่ไม่เป็นไปเพื่อพ้นทุกข์ ก็ยังถือว่าผิดอยู่

     ศรัทธา ที่พูดกันในภาษาไทยโดยทั่วไปนี้ ส่วนใหญ่ไม่ใช่ศรัทธาจริงๆ ถ้าเป็นแบบลุ่มหลงอย่างนี้เป็นโมหะเป็นอวิชชา อาการเหมือนศรัทธาเลยที่จริงคือโง่นั่นเอง ไม่รู้เรื่อง  ศรัทธาที่เป็นตัวสภาวะจริงๆ เช่น ศรัทธาในคุณงามความดี อันนี้ถูกต้อง เห็นคนอื่นเขาทำดีก็มีศรัทธา ไม่ใช่ศรัทธาในคนนะ ศรัทธาในคุณงามความดี  ถ้าเชื่อ มั่นใจในคำสอนพระพุทธเจ้าก็เป็นไปได้ที่จะงดเว้นสิ่งที่ไม่ดี กระทำสิ่งที่ดีคุณธรรมอื่นๆ ทรัพย์อื่นๆ ก็จะได้ทำมาตามกำลังความเพียรของตัวเอง

      สรุป แล้วศรัทธาที่ถูกต้องเป็นศรัทธาเชื่อมโยงไปสู่ปัญญา ศรัทธาในปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ศรัทธาในคำสอนของพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงสอนธรรมะ สอนให้เข้าใจว่ามีแต่ธรรมะ ไม่มีตัว ไม่มีตน ไม่มีของตน ไม่มีเรา ไม่มีเขา ไม่มีของเรา ไม่มีของเขา ไม่มีใคร ไม่มีของใคร มันเป็นของมันอย่างนั้น สิ่งต่างๆ เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยมั่นใจในสิ่งที่พระองค์สอนเหล่านี้ ไม่เชื่อถือของขลัง ไม่เชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่หลงมงคล ตื่นข่าว มั่นใจเรื่องกรรม หวังผลที่มาจากเหตุมั่นใจในปัญญาของพระพุทธเจ้าเป็นเบื้องต้น จนกว่าจะมีปัญญาเห็นด้วยตัวเอง ทีนี้ก็จะมีความเลื่อมใสอันหยั่งลงอย่างมั่นคง ไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ต่อไป ถ้าศรัทธาถูกต้องก็เป็นไปได้ที่จะเกิดความเพียร เกิดสติ เกิดสมาธิ เกิดปัญญาต่อไป
       ศรัทธาที่ถูกต้องในพุทธศาสนา คือศรัทธาที่เชื่อมโยงมาสู่ปัญญา โดยทำหน้าที่ถึงที่สุดตอนเป็นพระโสดาบัน เพื่อให้มีความมั่นใจได้ ปลอดภัย ไว้วางใจได้ทำให้เชื่อมั่นได้ว่า บุคคลนั้นเป็นผู้ที่แน่นอน ไม่มีทางตกต่ำ จะได้เป็นพระอรหันต์ในภายหน้าแน่นอน
                                  
                                       ขออนุโมทนา และขอขอบคุณญาติธรรมทั้งหลาย
                                                อาจารย์สุภีร์  ทุมทอง (ผู้บรรยาย )

                                 ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

-->

ศรัทธาที่ลึกซึ้งนี้ มักเป็นศรัทธาทางศาสนา ศรัทธาในสิ่งที่สูง ที่เป็นหลักยึดเหนี่ยวในจิตใจ ซึ่งไม่ว่าเราจะทำอะไรในภายนอก จะดำเนินชีวิตอย่างไรก็ตาม ทำงานอะไรก็ตาม เราก็มีศรัทธาที่ลึกอยู่ในใจเป็นฐานอันแน่นแฟ้น เป็นความเชื่อในสิ่งที่สูงสุด สิ่งที่เป็นเครื่องเชิดชูกำลังใจว่า ไม่ว่าเราจะมีชีวิตอยู่อย่างไรก็ตาม เราก็มีสิ่งที่เราเคารพนับถือ บูชา เป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่เรารู้ แม้ว่าจิตใจของเราจะอยู่ในยามที่ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องพัวพัน เมื่อนึกถึงสิ่งเหล่านี้แล้วเราก็มีความสบายใจ ไม่อ้างว้าง ไม่เลื่อนลอยไร้ความหมาย เช่น ผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนา มีความเชื่อความเคารพในพระรัตนตรัย คำว่ามีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ก็หมายถึงว่า มีศรัทธาในพระรัตนตรัย ในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ศรัทธาในพระพุทธเจ้า หมายความว่า เราเห็นว่ามีบุคคลที่มีชีวิตที่ดีที่สุดเป็นตัวอย่าง เป็นแบบอย่างของการที่ได้เข้าถึงความจริง เข้าถึงความสมบูรณ์แห่งศักยภาพของความเป็นมนุษย์ เป็นเครื่องยืนยันว่ามนุษย์เราทุกคนมีศักยภาพที่จะพัฒนาตนได้ จนเข้าถึงความรู้และความดีงาม มีปัญญาและคุณธรรมสูงสุด แต่จะต้องเพียรพยายามเข้มแข็งในการพัฒนาศักยภาพของตน เรามีความเชื่อและมั่นใจอย่างนี้ แล้วก็มีกำลังใจ ในเวลาที่ไม่ได้เกี่ยวข้องไม่ได้ยุ่งกับภารกิจการงานอย่างอื่น จิตใจก็จะได้มาผูกพันอยู่กับความรู้สึกนี้ อันนี้ก็เป็นหลักอย่างหนึ่งในทางจิตใจ ซึ่งทำให้จิตใจไม่ว้าเหว่

ศรัทธานี้ นอกจากเป็นแรงส่งให้จิตใจของเรามีแรงทำงานทำการแล้ว ก็ทำให้จิตใจไม่ว้าเหว่ด้วย คนเรานี้ เวลาอยู่ว่างๆ ไม่มีอะไรทำ ไม่มีงานทำ ว่างจากงาน บางทีก็เกิดอาการอ้างว้างว้าเหว่ เหนื่อยหน่ายหรือเหงาขึ้นมา ทำอย่างไรจะให้หายเหงาได้ ก็ต้องมีสิ่งที่เป็นหลักยึดเหยี่ยวในใจ ศรัทธาความเชื่อในทางศาสนานี้มาเป็นหลัก มาเป็นเครื่องให้กำลังใจในเวลาที่ไม่มีสิ่งอื่นที่ทำอยู่ หรือไม่มีงานที่ทำอยู่ หรือแม้ไม่มีคนอื่นอยู่ คนเราตามปกติก็ต้องมีเพื่อน จึงจะไม่เหงา แต่บางทีเพื่อนก็ไม่อยู่กับเรา เราก็อยู่คนเดียว ในเวลานั้นก็อาจจะเกิดความเหงาขึ้น หรือบางที ทั้งๆ ที่มีเพื่อนนั่นแหละ เพื่อนก็ไม่สามารถเข้าไปในจิตใจที่ลึกซึ้งได้ บางทีเรามีความต้องการอะไรบางอย่าง ที่แม้แต่เพื่อนก็ไม่อาจจะสนองได้ ใจเราก็เหงา เราก็ว้าเหว่ แต่ถ้าเรามีศรัทธาเป็นหลักใจอยู่ ใจก็ไม่อ้างว้าง คนที่ไม่มีศรัทธาอยู่ในใจ ใจจะเหงาจะว้าเหว่บ่อยๆ เสมอๆ

ในโลกปัจจุบันนี้ ชีวิตวุ่นวายสับสนมาก ความสับสนวุ่นวายนี้ บางครั้งก็ทำให้เรารู้สึกสนุก แต่บางครั้งก็ทำให้เรารู้สึกว้าวุ่นยุ่ง ดังนั้น ในเวลาที่สิ่งวุ่นวายเหล่านี้ไม่มี เราอยู่สงบว่างๆ ใจของเราบางครั้งก็สบาย เพราะในเวลาที่มีความรู้สึกว่าเรื่องวุ่นๆ ใจมีอะไรเกะกะ ทำให้ยุ่งมาก ถ้าจิตใจของเราได้ว่างเว้นจากสิ่งเหล่านั้นแล้วก็รู้สึกสงบและสบาย แต่บางครั้งเรากลับต้องการความวุ่นวายนั้น คล้ายกับว่ามันทำให้เกิดชีวิตชีวามีรสชาติ พอมาสงบเข้ากลับรู้สึกว้าเหว่ ถ้าคนไม่มีหลัก ใจก็ยุ่ง ถ้าไม่กระวนกระวายก็กลายเป็นเหงาเป็นว้าเหว่ จิตใจมี ๒ ลักษณะอย่างนี้ คนจำนวนมากเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น จะทำอย่างไรในเวลาที่อยู่ท่ามกลางกิจกรรมก็ไม่ให้วุ่น เวลาว่างจากกิจกรรมก็ไม่ให้เหงาไม่ให้ว้าเหว่ อันนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญของจิต

คนที่มีศรัทธา ท่านบอกว่าเหมือนมีเพื่อนใจ เพื่อนที่อยู่ในใจ ทำให้ใจไม่เหงาไม่ว้าเหว่ ในทางพระศาสนาบอกว่า ศรัทธาเป็นเพื่อนประจำใจของตัวเอง ไม่ว่าเราจะมีเพื่อนภายนอกหรือไม่มีเพื่อนก็ตาม ถ้ามีศรัทธาแล้วก็เท่ากับ มีเพื่อนอยู่ในใจที่ช่วยให้จิตใจแช่มชื่น มีกำลังเสมอ ไม่ว้าเหว่ เริ่มต้นตั้งแต่ศรัทธาที่ว่าเมื่อกี้ คือศรัทธาในการงาน ศรัทธาในวิถีชีวิตที่เราเห็นว่าดีงาม ตลอดจนถึงศรัทธาในพระศาสนา ศรัทธาในพระศาสนาเป็นศรัทธาที่ลึกถึงก้นกลางใจเป็นฐาน เป็นแกนทำให้จิตใจของเรามีหลักยึดเหนี่ยว มีที่ปรึกษาอยู่เสมอ ไม่อ้างว้าง เปล่าเปลี่ยว โดดเดี่ยว และไม่ห่อเหี่ยว แต่ศรัทธาที่ถูกต้องจะต้องให้เครื่องนำทางแก่ชีวิตของเรา ไม่ใช่ว่าเราจะมีศรัทธาเชื่อกันเฉยๆ เท่านั้น เช่นความเชื่อในพระรัตนตรัยนี้ ก็มีความหมายเป็นเครื่องนำทางศรัทธาในพระรัตนตรัย คือในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม ในพระสงฆ์ เป็นอย่างไร