ตําแหน่งผลิตภัณฑ์ มีอะไรบ้าง

‘คุณสมบัติของสินค้า’ กับ ‘มุมมองสินค้าในความคิดของลูกค้า’ ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันเสมอ สินค้าบางอย่างอาจจะมีคุณภาพไม่ได้ดีมากแต่ลูกค้าคิดว่าสินค้าคุณภาพดีก็สามารถขายได้ สินค้าบางอย่างคุณภาพดีเยี่ยมแต่ลูกค้าไม่เชื่อถือ ก็ขายไม่ได้

การตลาดไม่ได้หมายถึง ‘การแสดงความเป็นอันดับหนึ่ง’ เสมอไป ถ้าเรามองว่าเป้าหมายของธุรกิจคือการขายของให้ลูกค้า และลูกค้าอยากจะซื้อสินค้าที่แก้ปัญหาให้กับตัวเองได้ หน้าที่ของการตลาดก็คือการแสดงให้ลูกค้าเห็นว่าสินค้าของเราเหมาะสมกับการแก้ปัญหาให้ลูกค้ามากที่สุด ลูกค้าสามารถซื้อเสื้อผ้าที่ไหนก็ได้ ลูกค้าก็ย่อมอยากซื้อเสื้อผ้าที่ ‘ลูกค้าคิดว่า’ มีขนาด ‘พอดี’ กับตัวเองมากกว่าเสื้อผ้าของคนอื่น

marketing is battle of perceptions
การตลาดคือการต่อสู้ของการรับรู้ 

Positioning หรือ การจัดวางตำแหน่งสินค้า คือการบริหารจัดการมุมมองที่ลูกค้ามีต่อสินค้าของบริษัท เพื่อให้ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายสามารถแยกแยะสินค้าของเราออกจากสินค้าคู่แข่งในตลาดได้ และการวิจัยตลาดกับกลุ่มเป้าหมายจะบอกให้เรารู้ได้ว่าลูกค้าตอบรับกับอะไรดีที่สุด

หลักการ Positioning หรือการจัดวางตำแหน่งสินค้าเป็นหลักการที่มีมานานแล้ว แต่ก็ยังคงเป็นเครื่องมือการตลาดที่ยังทรงพลังและมีค่าให้เราศึกษาอยู่ทุกวันนี้

จุดหมายของการตลาดก็คือการทำให้สินค้าของเราโดดเด่นหรือจะเรียกอีกอย่างหนึ่งก็คือ ‘แตกต่าง’ แต่ในโลกที่คุณสมบัติทุกอย่างของสินค้าสามารถถูกลอกเลียนแบบได้ สิ่งที่นักการตลาดค้นพบก็คือ เราก็สามารถปรับมุมมองของกลุ่มลูกค้าเราได้เช่นกัน

รองเท้า Nike ก็อาจจะเป็นรองเท้าคู่นึงถ้าไม่มีโลโก้บริษัทติด มือถือ iPhone ก็คงไม่ได้ต่างจากมือถือรุ่นอื่นเท่าไรถ้าไม่ได้มีโลโก้ของ Apple ติด คำว่า branding และ positioning อาจจะมีความหมายที่ไม่เหมือนกันแต่ผลลัพธ์ในเรื่องของการตลาดนั้นก็ต่างกันไม่มาก

Unique Positioning คือ

Positioning หรือการจัดวางตำแหน่งของเราคงไม่มีประโยชน์อะไรมาก ถ้าตำแหน่งของสินค้าของเราไม่แตกต่างไปจากเจ้าอื่นๆ ร้านมินิมาร์ทก็ยังคงเป็นร้านมินิมาร์ทถ้าเราไม่ได้มีความแตกต่าง (Unique Positioning)

ย้อนกลับไปจะยุคหลายร้อยปีก่อน ในสมัยที่ทุกคนยังเป็นชาวนา แล้วทุกคนก็สามารถผลิตสินค้าเหมือนกันออกมาขายได้ … ในยุคสมัยนั้น ส้มก็คือส้ม แตงโมก็คือแตงโม สินค้าไม่มีความแตกต่างระหว่างผู้ผลิตแต่ละคน

และความไม่แตกต่างนี่เองก็สร้างปัญหาให้กับทางธุรกิจและกับลูกค้า ธุรกิจที่ไม่สามารถขายสินค้าที่แตกต่างได้ก็ไม่สามารถทำกำไรได้ ลูกค้าที่มีความต้องการแบบเฉพาะทางก็จะรู้สึกเหมือนกับว่าความต้องการตัวเองไม่ถูกตอบรับจากธุรกิจ

จนกระทั่งค้นพบว่า ส้มทุกลูกไม่ได้เหมือนกัน ส้มบางลูกหวานกว่าส้มอื่น ส้มบางลูกมีวิตามินซีสูงกว่าส้มอื่น แตงโมมีทั้งสีแดงและสีเหลือง แตงโมบางลูกก็มีน้ำชุ่มฉ่ำกว่าลูกอื่น คุณสมบัติที่ไม่เหมือนกันของสินค้าที่คล้ายๆกันนี้ทำให้เกิดตำแหน่งสินค้าในมุมมองของลูกค้า

ยิ่ง unique positioning ของเราเยอะ เราก็ยิ่งสร้างความแตกต่างได้เยอะ

อย่างไรก็ตามข้อเสียของการมี positioning เยอะก็คือเราต้องใช้งบในการสื่อสารและอบรมลูกค้าเยอะเช่นกัน เราอาจจะต้องเสียเงินหนึ่งก้อนเพื่อบอกลูกค้าว่าสินค้าเราราคาถูก และเสียเงินอีกหนึ่งก้อนเพื่อบอกว่าสินค้าเราคุณภาพดี

unique positioning เปรียบเทียบได้กับตัวเมืองในสมัยสงคราม เรามีเมืองเยอะทรัพยากรก็เยอะ แต่ก็ยิ่งทำให้เราตกเป็นเป้าหมายการโจมตีจากคู่แข่งได้เยอะจากหลายทิศทางเช่นกัน (ตำแหน่งตลาด เป็นคำที่ถูกใช้เปรียบเทียบด้วยคำศัพท์ด้านการสงครามเยอะ)

ประโยชน์ของการวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์ [Benefits of Positoning]

#1 สร้างความแตกต่าง

สาเหตุหลักที่ทุกธุรกิจควรจะมี Positioning ก็คือการสร้างความแตกต่างในสายตาของลูกค้า ในโลกธุรกิจที่การแข่งขันสูงและคู่แข่งทุกคนพยายามที่จะลอกเลียนแบบคนที่ทำได้ดีเสมอ ลูกค้าก็จะมองว่า ‘สินค้า’ นั้นสามารถ ‘ซื้อที่ไหนก็ได้’ และ ‘ซื้อจากใครก็ได้’ เพราะผู้ขายผู้ผลิตทุกคนสามารถสร้างสินค้าได้ในมาตรฐานใกล้เคียงกันหมด

แต่ถ้าเราสามารถนำหลักการของการจัดวางตำแหน่งมาใช้ เราก็สามารถสร้างตำแหน่งสินค้าในใจให้กับลูกค้าได้ และลูกค้าก็จะเข้าใจว่าสินค้าของเรามีความแตกต่างและโดดเด่น หมายความว่าเราจะสามารถตอบโจทย์ข้อแรกและโจทย์พื้นฐานที่สุดของการตลาดได้ ซึ่งก็คือ ‘การสร้างความแตกต่าง’

#2 การสร้างแบรนด์

แบรนด์กับตำแหน่งสินค้าเป็นสองคำที่เราได้ยินด้วยกันบ่อยๆ เพราะตำแหน่งสินค้าที่ดีจะช่วยสร้างแบรนด์ให้เรา และแบรนด์ที่ดีก็จะทำให้ตำแหน่งสินค้าของเราชัดเจนมากขึ้น แบรนด์เป็นสิ่งที่มาหลังจากเราสร้างตำแหน่งสินค้าที่แข็งแรงแล้ว

การจัดตำแหน่งสินค้าหมายความว่าเรารู้แล้วว่าสินค้าเราต้องอยู่ในตำแหน่งไหนถึงจะถูกใจลูกค้ามากที่สุด สินค้าเราต้องสร้างคุณค่าให้ลูกค้าได้อย่างไร สินค้าเราควรจะทำให้ลูกค้ามีความรู้สึกอย่างไร และสินค้าเราทำให้ลูกค้ามีประสบการณ์การใช้และการซื้อได้อย่างไร ตำแหน่งการตลาดที่ถูกสร้างขึ้นมาและถูกขัดเกลาเรื่อยๆไปตามเวลาก็จะกลายเป็นแบรนด์ให้แข็งแรง 

#3 การต่อยอดสินค้า

การจัดตำแหน่งสินค้าก็คือการหานิยามว่ากลุ่มเป้าหมายลูกค้าของคุณคือใคร และการสร้างความไว้วางใจระหว่างธุรกิจของคุณกับกลุ่มลูกค้าของคุณ เมื่อไรที่คุณมีความไว้วางใจจากลูกค้าคุณก็จะรู้ว่าลูกค้าคือใครและลูกค้าต้องการอะไร แล้วถ้าคุณสามารถตอบโจทย์ทั้งสองอย่างได้คุณก็จะรู้ว่าทิศทางของบริษัทที่ต้องการก้าวไปต่อไปคืออะไร

ลูกค้าที่เชื่อใจในตำแหน่งสินค้าของคุณก็จะเชื่อในสินค้าอื่นๆที่คุณนำออกมาขาย (ข้อแม้ก็คือว่าสินค้าชิ้นต่อไปก็ยังต้องตรงกับตำแหน่งสินค้าและกลุ่มลูกค้าเดิม) ซึ่งแปลว่าการขยายกิจการของคุณนั้นสามารถทำได้ง่ายขึ้นเพราะลูกค้าเข้าใจแล้วว่าสินค้าและบริการของคุณทำอะไรและเหมาะสำหรับลูกค้าแบบไหน (Apple จะออกนาฬิกา หูฟัง หรือที่ตั้งหน้าจอคอม คนก็ซื้ออยู่ดี)

#4 การสร้างลูกค้าประจำและลูกค้าที่ภัคดี

ตำแหน่งสินค้าที่ดีจะสร้าง ‘ตัวตน’ ให้กับธุรกิจสินค้าของคุณ และเมื่อไรที่ธุรกิจของคุณมีตัวตนลูกค้าก็จะรู้สึกว่าธุรกิจของคุณเป็นสิ่งที่เข้าหาได้ง่าย

ตัวตนในที่นี้อาจจะหมายถึงอะไรกว้างๆ เช่นการเป็น Application มือถือที่มีไว้เรียกแท็กซี่ (Uber) หรือการเป็นร้านขายของที่มีสินค้าทุกอย่างที่เราอยากจะได้ (Lazada) หรืออาจจะหมายถึงอะไรที่เรียบง่ายกว่านั้น เช่นคุณเป็นเครื่องดื่มสำหรับคนที่ต้องการพลังงานอย่างเร่งด่วน (กระทิงแดง)

ถ้าคุณสามารถขึ้นเป็นอันดับหนึ่งในจิตใจลูกค้าสำหรับแต่ละตำแหน่งสินค้าของคุณ ลูกค้าก็จะได้นึกถึงสินค้าของคุณก่อนอันดับแรกเวลาที่ลูกค้ามี ‘ความอยากซื้อ’ (เปรียบเหมือนคนหิวน้ำแล้วนึกถึงน้ำเปล่าตราสิงห์) อันดับหนึ่งในใจของลูกค้านี่แหละที่จะทำให้เกิดการซื้อซ้ำ ทำให้มีลูกค้าประจำ และทำให้ลูกค้าอยากจะบอกต่อแนะนำผู้อื่นให้ซื้อสินค้านี้เช่นกัน

#5 ความง่ายในการสื่อสารและในการขาย

เวลาคนถามว่าอยากกินสุกี้กินที่ไหนดีคำตอบก็คือไปกิน MK ถ้าถามว่าอยากกินบิงซูที่ไหนคนส่วนมากก็คงจะแนะนำ After You ตัวอย่างสองบริษัทนี้แสดงให้เห็นว่าตำแหน่งสินค้าในใจของลูกค้านั้นมีความสำคัญต่อการสื่อสารและการขายแค่ไหน

Category Positioning ก็คือการที่เราจัดตำแหน่งสินค้าหรือบริษัทเราให้เป็นตัวแทนของทั้งชนิดสินค้านั้นๆ เพื่อที่จะสร้างความง่ายในการที่จะให้ลูกค้าเห็นภาพบริษัทของเราและสินค้าของเรามีตัวตนอยู่เพื่ออะไร ถ้าคุณยังไม่สามารถอธิบายได้ว่าธุรกิจของคุณทำอะไรภายในประโยคสั้นๆ 1 ประโยค (พูดภายใน 20 ถึง 30 วินาที) ธุรกิจของคุณก็คงยังไม่มีความชัดเจนพอที่จะสร้างตำแหน่งสินค้าในสายตาลูกค้าได้ 

ทำไมธุรกิจต้องมี Brand Positioning

Brand positioning คือการสร้างตัวตนให้กับธุรกิจของคุณ ซึ่งตัวตนธุรกิจที่ดีก็ควรจะตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้ได้ ถ้ากลุ่มลูกค้าเป้าหมายของเราต้องการความเรียบง่ายความสะดวกสบายตำแหน่งของแบรนด์ของเราก็ควรจะตอบโจทย์ความต้องการนี้ ถ้าลูกค้าต้องการความละเอียดอ่อนความสวยหรูตำแหน่งของแบรนด์เราก็ต้องตอบโจทย์ส่วนนี้เช่นกัน

บางครั้งตำแหน่งสินค้ากับผลประโยชน์ของสินค้าอาจจะไม่ได้จำเป็นต้องตรงกันเสมอไป ตัวอย่างเช่นสินค้าแบรนด์รังนก แบรนด์รังนกคนส่วนมากเข้าใจว่าเป็นสินค้าที่ดื่มเพื่อทำให้สุขภาพดี แต่ตำแหน่งสินค้าที่คนส่วนมากใช้กันก็คือการซื้อไว้เป็นของขวัญวันเกิดวันปีใหม่ เพื่อให้เป็นของฝากคนอื่นมากกว่าการใช้กินเอง 

สินค้าที่มีความชัดเจนในตำแหน่งก็ย่อมที่จะสามารถตั้งราคาได้แพงกว่าสินค้าอื่นๆที่ลูกค้าอาจจะไม่ได้เห็นค่ามากเท่า มือถือสมาร์ทโฟนอย่างของ Apple ในสายตาของหลายคนก็ถือว่าเป็นมือถือที่มีคุณภาพดีที่สุด ใช้งานง่ายที่สุด และแน่นอนว่าคนก็พร้อมที่จะซื้อมือถือนี้อยู่เรื่อยๆถึงแม้ว่าราคาจะแพงกว่ามือถือเจ้าอื่นก็ตาม

ตำแหน่งแบรนด์ที่ดีต้องใช้การลงทุนมหาศาล หลายบริษัทยอมลงทุนมหาศาลเพื่อ ‘กรอกข้อความ’ ซ้ำไปซ้ำมาให้ลูกค้าจำให้ได้

แต่ตำแหน่งแบรนด์ก็เหมือนกับดาบสองคมเช่นกัน หากวันไหนที่สินค้าและอุตสาหกรรมของคุณถูกแทรกแซงโดยเทคโนโลยีใหม่ (คิดถึงบริษัท Nokia กับ Fuji Film) ตำแหน่งแบรนด์บางอย่างที่เราทุ่มเทเงินมหาศาลก็จะกลับมาทำร้ายเราเพราะมุมมองของลูกค้าต่อเราอาจจะไม่เปลี่ยน…แต่พฤติกรรมของลูกค้าเปลี่ยนไปแล้ว

วิธีการวางตําแหน่งผลิตภัณฑ์มีอะไรบ้าง 

การจัด ‘ตำแหน่งสินค้า’ ในมุมมองของลูกค้า ก็คือการเล่นกับมุมมองความคิดของคนครับ ซึ่งก็หมายความว่าตราบใดที่ลูกค้ายังใช้สมองและยังใช้อารมณ์ในการตัดสินใจและเรียบเรียงข้อมูลอยู่ ความเป็นไปได้ของตำแหน่งสินค้าก็มีไม่สิ้นสุด

ในมุมมองของนักการตลาดแล้วตำแหน่งของสินค้าที่ดีก็คือตำแหน่งของสินค้าที่ลูกค้าพร้อมที่จะควักกระเป๋าตังค์ออกมาจ่ายเงินให้กับเรา พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือตำแหน่งอะไรก็ได้ที่ลูกค้าเห็นค่าและทำให้เราแตกต่าง

วิธีการวางตําแหน่งผลิตภัณฑ์ที่นักการตลาดนิยมใช้การมีดังนี้ครับ

  • วางตำแหน่งจากคุณสมบัติสินค้า (คุณสมบัติและประโยชน์) – ยกตัวอย่างเช่นยาแก้ไอใช้บรรเทาอาการเจ็บคอ หรือยาสีฟันไว้ช่วยลดอาการเสียวฟัน การวางตำแหน่งแบบนี้ถือว่าเรียบง่ายและทำให้ลูกค้าเข้าใจได้ง่าย แต่บางครั้งตำแหน่งแบบนี้ก็อาจจะถูกแย่งความสนใจไปจากสินค้าทดแทนอื่นๆ ยกตัวอย่างเช่นยาสีฟันกับบริการขัดฟัน ทั้งสองอย่างนี้ทำให้ ‘ฟันขาว’ ได้เหมือนกัน
  • วางตำแหน่งจากชนิดผู้ใช้ – ยกตัวอย่างเช่นคู่มือหนังสือการตลาดสำหรับมือใหม่ หรือเครื่องคิดเลขวิทยาศาสตร์สำหรับนักเรียนวิศวะ การวางตำแหน่งแบบนี้มักเป็นตำแหน่งที่ใช้ควบคู่กับตำแหน่งคุณสมบัติสินค้าหรือตำแหน่งอื่นๆวิธีเพื่อให้ลูกค้าเข้าใจทั้งข้อดีของสินค้าและชนิดของกลุ่มลูกค้าที่เหมาะสมกับสินค้าตัวนี้
  • วางตำแหน่งจากระดับสินค้า – หมายถึงว่าดีที่สุดในโลก หรือขายดีที่สุด เป็นตำแหน่งสั้นและง่ายได้ใจความดี แต่ตำแหน่งแบบนี้ก็ง่ายที่จะถูกลูกค้าพลิกตำแหน่งได้ง่ายเพราะคำว่าที่หนึ่งเป็นคำพูดที่ค่อนข้างคลุมเครือพอสมควร อีกตำแหน่งที่ธุรกิจมักจะใช้การก็คือ สินค้าต้นฉบับหรือสินค้าของแท้ ที่แน่นอนว่าก็ อาจจะถูกแย่งส่วนแบ่งตลาดจากคู่แข่งที่ขายสินค้าที่พัฒนาแล้วหรือสินค้าที่ดีกว่าเป็นต้น
  • วางตำแหน่งเทียบกับคู่แข่ง – การวางตำแหน่งนี้เหมาะสำหรับธุรกิจอันดับ 2 อันดับ 3 ของอุตสาหกรรมเป็นต้น ไม่ว่าคู่แข่งอันดับ 1 ของเราจะขายดีแค่ไหน ก็ต้องมีลูกค้าที่ไม่พึงพอใจอยู่แล้วใช่ไหมครับ ในกรณีนี้การวางตำแหน่งที่ดีที่สุดของอันดับ 2 ก็คือ ‘เราไม่เหมือนอันดับหนึ่ง’ ตำแหน่งตลาดแบบนี้ ‘พรรคการเมือง’ ใช้กันบ่อยมาก ถ้าคุณไม่ชอบพรรคการเมือง A คุณก็อาจจะมาชอบพรรคการเมือง B แบบเราก็ได้
  • วางตำแหน่งตามการใช้งาน – การใช้งานกับคุณสมบัติสินค้าอาจจะฟังดูใกล้ๆกัน แต่จุดที่แตกต่างก็ยังมีอยู่ ยกตัวอย่างแสงสว่างที่มีการใช้งานคือการถือและเจาะรูและมีคุณสมบัติและประโยชน์คือการสร้างรู ในกรณีนี้เราก็ต้องมาดูกันอีกทีว่าการใช้งานสินค้าเราเหมาะสมกับลูกค้าที่สุดแล้วหรือยัง ปราณีการใช้งานก็ถือว่าเป็นคุณสมบัติด้วยยกตัวอย่างเช่นขวดใส่น้ำหอมพกพาขึ้นเครื่องบิน ที่มีการใช้งานกับคุณสมบัติเป็นอย่างเดียวก็คือใส่น้ำหอมพกพาในปริมาณที่นำขึ้นเครื่องบินได้
  • วางตำแหน่งตามคุณค่าหรือคุณภาพ – ส่วนนี้ก็ถือว่าเป็นตำแหน่งสินค้าที่คนใช้กันบ่อย ตำแหน่งนี้ส่วนมากจะมีไว้ตอบโต้ธุรกิจที่มีตำแหน่งคือ ‘ราคาถูก’ ยกตัวอย่างเช่นมือถือที่ขายดีที่สุดในโลกตอนนี้ก็คือ Xiao Mi (ตำแหน่งตลาดคือถูกและดี) เทียบกับตำแหน่งมือถือยี่ห้ออื่นอย่าง Samsung และ Apple ที่คนจัดตำแหน่งว่าเป็นมือถือที่คุณภาพดีมากกว่าสร้างคุณค่าให้ลูกค้าได้มากกว่า

โดยรวมแล้วตำแหน่งสินค้าที่บริษัททั้งหลายจัดวางกันก็มีดังนี้ อย่างไรก็ตามอิสระในการจัดตำแหน่งสินค้าของแต่ละธุรกิจก็ขึ้นอยู่กับว่าลูกค้าเห็นคุณค่าของตำแหน่งนี้มากแค่ไหน

ในสมัยก่อนที่รถยนต์ของบริษัท Ford ผลิตแค่สีดำเท่านั้น Positioning สินค้าของคู่แข่งที่น่าจะขายดีก็อาจจะเป็น ‘รถสีขาว’ ก็ได้ ตลาดอาจจะเริ่มที่ตลาดชานม แต่ตอนนี้แต่ละบริษัทก็มีจุดขายพิเศษส่วนตัว เช่น ชานมหวานน้อย ชานมเกาหลี ชานมใต้หวัน ชานม brown sugar ชานมไข่มุกคาราเมล

‘Any color you like, as long as its black’ – Ford, 1909
เราขายรถทุกสีที่คุณชอบ ตราบใดที่เป็นสีดำ – Ford 1909

Repositioning คืออะไร

Repositioning คือการจัดวางตำแหน่งสินค้าใหม่ ส่วนมากมักจะถูกใช้เวลาตำแหน่งสินค้าเก่าไม่สามารถสร้างกำไรหรือโตต่อไปได้แล้ว ยกตัวอย่างเช่นเวลาที่บริษัทเราถูกคู่แข่งขโมยตลาดไป สาเหตุที่การจัดวางตำแหน่งสินค้าใหม่เป็นสิ่งที่ยากก็เพราะว่าเมื่อใดที่ลูกค้ามีความคิดหรือมุมมองต่อสินค้าของเราแล้วมันก็ยากที่จะปรับเปลี่ยนตำแหน่งนี้ได้ 

บางคนก็เรียกสิ่งนี้ว่า ‘การรีแบรนด์ธุรกิจ’ (Rebranding) 

การรีแบรนด์กับการจัดวางตำแหน่งสินค้าใหม่เป็นแนวคิดที่มีความเหมือนกันตรงที่ว่าเราต้องปรับเปลี่ยนมุมมองของลูกค้าให้ได้ อย่างไรก็ตามการรีแบรนด์อาจจะมีส่วนที่เราต้องออกแบบโลโก้ใหม่ ออกแบบสินค้าใหม่ หรือบางทีก็เปลี่ยนชื่อบริษัทไปเลยก็มี หรือถ้าบริษัทนึงถูกอีกบริษัทนึงซื้อหุ้นไป บางครั้งการรีแบรนด์ก็อาจจะเป็นแค่การนำแบรนด์ 2 บริษัทมารวมกัน 

มาเรื่องการจัดวางตำแหน่งสินค้าใหม่ (Repositioning) อีกรอบ หากธุรกิจหรือสินค้าคุณเข้าข่ายดังนี้อาจจะต้องคิดเรื่องการจัดวางตำแหน่งสินค้าใหม่

  • กลุ่มลูกค้ากำลังหายไป
  • กลุ่มลูกค้ากำลังถูกคู่แข่งแย่งไป แล้วเราคิดว่าไม่คุ้มที่จะแข่งขันตลาดนี้แล้ว
  • ลูกค้าหรือผู้ใช้งานมีความคิดมุมมองต่อสินค้าคุณไม่เหมือนกับที่คุณอยากให้ลูกค้ารู้สึก 
  • คุณกำลังอยากจะรีแบรนด์สินค้าอยู่แล้ว
  • คุณสูญเสียช่องทางการขายหรือช่องทางการตลาดหลัก จนไม่สามารถขายลูกค้ากลุ่มเดิมได้แล้ว

สุดท้ายนี้กับการจัดวางตำแหน่งสินค้า 

สุดท้ายนี้คุณก็ต้องกลับมาดูการจัดวางตำแหน่งสินค้าของคุณอีกรอบว่าเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายของคุณหรือเปล่า หาคนมีงบการตลาดมากหน่อยก็อาจจะลองทำการสำรวจตลาดดูว่ามุมมองของลูกค้ากับมุมมองที่คุณอยากจะให้ลูกค้าเห็นคุณนเหมือนกันหรือต่างกันมากแค่ไหน

การกําหนดตําแหน่งผลิตภัณฑ์ มีอะไรบ้าง

การกำหนดตำแหน่งผลิตภัณฑ์.
การกำหนดตำแหน่งผลิตภัณฑ์ตามคุณลักษณะภายนอกที่สังเกตเห็นได้ของผลิตภัณฑ์ เช่น ขนาด ความเก่าแก่ของตรายี่ห้อ.
การกำหนดตำแหน่งผลิตภัณฑ์ตามผลประโยชน์ที่ลูกค้าจะได้รับ.
การกำหนดตำแหน่งผลิตภัณฑ์ตามคุณลักษณะของลูกค้า.
การกำหนดตำแหน่งผลิตภัณฑ์ตามความเหนือกว่าในเชิงเปรียบเทียบกับคู่แข่งขัน.

การวางตําแหน่งสินค้าคืออะไร

กลยุทธ์การวางตำแหน่งของแบรนด์ (Brand Positioning Strategy) ให้เกิดประสิทธิภาพเพื่อนำไปสู่การสร้างแบรนด์ที่แข็งแกร่ง จำเป็นต้องคำนึงถึงส่วนประกอบสำคัญเพื่อใช้ดึงดูดกลุ่มลูกค้าเป้าหมายให้มองเห็นภาพว่าแบรนด์นั้นๆมีจุดมุ่งหมายอะไร แบรนด์ต้องการนำเสนออะไร และตัวของแบรนด์เองนั้นอยากให้ลูกค้ามองแบรนด์ว่าเป็นอย่างไรรู้สึกกับ ...

ตําแหน่งทางการตลาด มีอะไรบ้าง

5 ตำแหน่งงานการตลาดสำหรับเด็กจบใหม่ปี 2020.
นักการตลาดดิจิทัล (Digital Marketer).
นักสื่อสารเนื้อหาการตลาด (Content Marketing).
ผู้จัดการโซเชียลมีเดีย (Social Media Admin).
ผู้เชี่ยวชาญด้าน SEM (SEM Specialist).
ผู้เชี่ยวชาญด้าน SEO (SEO Specialist).

สิ่งใดที่ใช้กำหนดตำแน่งทางการตลาด

การกำหนดตำแหน่งทางการตลาดสินค้าทำอย่างไร.
1. กำหนดจากประโยชน์ เช่น ปวดหัว เป็นไข้ ซาร่า พาราเซตามอล 500 มิลลิกรัม, ซอลล์ เค็ม.. แต่ดี.
2. กำหนดจากผู้ใช้สินค้า เช่น พาโรดอนแทกซ์ ยาสีฟันที่ทันตแพทย์ทั่วโลกแนะนำ, ไบกอน พลังในมือคุณ.
3. กำหนดจากการเปรียบเทียบคู่แข่ง เช่น Think Different (คิดให้แตกต่าง) ของบริษัทแอปเปิ้ล.