คณิตศาสตร์ในชีวิตประจําวัน pdf

พูดกันมากมายเกี่ยวกับคณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวัน และดูเหมือนทุกคนจะรู้และเข้าใจ แต่ถ้าถามว่าตกลงเกี่ยวข้องกันอย่างไร มีใครบ้างไหมช่วยตอบให้ที

          มาเปิดบล็อกไว้สักพักแล้ว และถ้านับจำนวนบทความก็ต้องถือเป็นน้องใหม่  ตอนแรกกะว่าจะมาเขียนทุกๆวันวันละนิดเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองในชีวิตและแลกเปลี่ยนความรู้ แต่สุดท้ายก็พ่ายแพ้ต่อกิเลส แบบว่ามีมารผจญเยอะแยะมากมายกว่าจะฝ่าฟัน ผ่านค่ายกลในชีวิตประจำวันมาได้ จนสุดท้ายวันนี้ได้มีโอกาสอู้งานมานั่งพิมพ์ได้ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะมีใครสนใจเรื่องเดียวกันหรือเปล่า..ไม่เป็นไรอย่างน้อยก็จะได้เล่าสู่กันฟัง
          ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมารู้สึกว่าระบบการเรียนการสอนของบ้านเราจะนับวันถอยหลังเข้าคลองไปทุกที ขณะที่ต่างชาติส่วนใหญ่เขาใส่เกียร์ 5 เดินหน้าเต็มที่ แต่บ้านเรากลับพบว่าเหมือนกับจะใส่เกียร์ 5 เหมือนกัน แต่ถอยหลังแทนที่จะเดินหน้า   ไม่รู้ว่าเป็นเพราะระบบ/หลักสูตร   เป็นเพราะผู้สอน เป็นเพราะผู้เรียน เรื่องใดกันแน่  หรือาจเป็นเพราะคนดีไม่ได้บริหาร  คนที่บริหารก็ไม่ค่อยดี  หรืออาจจะดี แต่ก็แวดล้อมด้วยบริวารที่ไม่ดี หรือว่าสถานการณ์การศึกษาในบ้านเราอาจจะแย่ลงจนยากเยียวยา ก็ไม่อาจรู้ได้  คงต้องทำใจ แต่ก็ยังมีความหวังว่ากรุงรัตนโกสินทร์คงไม่สิ้นคนดี  พิมพ์ไปพิมพ์มาจะกลายเป็นเรื่องการเมืองไปสะแล้ว ยิ่งเดี๋ยวนี้กฏหมายออกมาพูดไรมากอาจโชคดีสามชั้นได้ที่อยู่ฟรี  แล้วก็ข้าวผัดกะโอเลี้ยงฟรี แถมมียามคอยดูแลอีกต่างหาก ... วกกลับมาเข้าเรื่องดีกว่า 
          ตั้งใจว่าวันนี้จะพูดเรื่อง คณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวัน เพราะเห็นพูดกันมามากมายหลายสิบปี เกี่ยวกับคณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวันและดูเหมือนทุกคนจะรู้และเข้าใจ แต่ถ้าถามว่าตกลงเกี่ยวข้องกันอย่างไร มีใครบ้างไหมที่จะช่วยตอบได้  กลับหาได้น้อยคน ระยะหลังพบว่ามีการเรียนการสอนเป็นวิชาให้เรียนกันในห้องเรียนกันเลยทีเดียว  แต่เท่าที่ค้นดู เนื้อหาส่วนใหญ่ก็ไม่หนีคณิตศาสตร์ หรืออาจมีกลิ่นอายที่ต่างไปบ้างแต่ก็ไม่พ้น เซต ระบบจำนวน การให้เหตุผล  สมการ  อสมการ การแปลงเชิงเส้น  ดอกเบี้ย  ร้อยละ กำไรขาดทุน   ดัชนี การนับ  สถิติ  ความน่าจะเป็น อะไรประมาณนั้น  บางวิชาที่สอนกันดูๆไปก็คล้ายๆกับเป็นคณิตศาสตร์พื้นฐาน หรือ คณิตศาสตร์ธุรกิจมากกว่า แต่จะว่าไปชื่อนั้นสำคัญไฉน เรื่องบางเรื่องไม่มีถูกหรือผิด ขึ้นอยู่ว่าจะมองอย่างไรมุมไหน เวลาไหนเท่านั้นเอง
          ในความคิดส่วนตัวของผมเอง อาจผิดหรือถูกแล้วแต่มุมมองคณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวันนั้น น่าจะเป็นวิชาที่บรูณาการกับอีกหลายๆ สาขาวิชาเข้าด้วยกัน หรืออาจเป็นการประยุกต์เพื่อนำไปใช้งานหรือใช้ในชีวิตจริง เพื่อเป็นดั่งสะพานที่เชื่อมโยงระหว่างโลกของคณิตกับโลกของความจริง  แล้วถ้าเป็นไปได้น่าจะเริ่มจากเรื่องง่ายๆ ไปสู่เรื่องยากๆ เพื่อผู้ที่ไม่มีพื้นไม่รักวิชานี้ จะได้เริ่มรู้เข้าใจว่าส่วนหนึ่งของคณิตศาสตร์ที่แท้จริงนั้นเป็นอย่างไร แล้วสามารถคิดเป็นวิเคราะห์เป็น สามารถนำความรู้ไปใช้ได้ในชีวิตจริง ไม่ใช่แค่ท่องไปจำไปเพื่อสอบ  เพราะการที่เรียนรู้คณิตศาสตร์นั้นส่วนหนึ่งจะเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม แล้วในขณะเดียวกันก็เป็นการเรียนรู้อดีต ปัจจุบัน และศึกษาแนวโน้มในอนาคต แล้วสุดท้ายเมื่อรู้รอบพอควรแล้วก็ไม่พ้นกลับมาเรียนรู้ตนเอง  น่าสังเกตนะครับว่าคนที่รักคณิตศาสตร์ ส่วนหนึ่งจะรักที่จะเรียนรู้ปรัชญา เรียนรู้ธรรม แล้วส่วนหนึ่งในนี้จะเข้าใจว่าการเรียนคณิตศาสตร์เป็นเหมือนกับประตูหรือเครื่องมือที่พาเราไปสู่โลกการเรียนรู้แบบไม่มีที่สิ้นสุด และมีส่วนทำให้เราเป็นคนที่สมบูรณ์ขึ้นไม่มากก็น้อย ซึ่งถ้าจะพูดให้ละเอียดคงเขียนหรือพิมพ์กันได้อีกหลายตอนแน่
          ทั้งหมดนี้อย่าคิดว่าผมถูกและอย่าเชื่อนะครับเป็นเพียงแค่ความคิดคนธรรมดาคนหนึ่งเท่านั้นเอง พูดไปแล้วออกจะหนักไปทางปรัชญามากหน่อย  ลองตามมาดูกันนะครับว่าถ้าจะนำสิ่งเหล่านี้ไปจัดทำเป็นรายวิชาหรือให้มีเนื้อหาน่าจะทำได้อย่างไร  แต่คงต้องบอกไว้ก่อนว่าไม่มีอะไรที่ดีที่สุดและก็หวังว่าคงจะมีผู้ชี้แนะแนวทางเพิ่มเติมเพื่อจะได้แลกเปลี่ยนความรู้กัน เท่าที่ผมกำลังพยายามอยู่นั้นผมมองว่า คณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวันอาจแบ่งออกได้เป็นหลายแง่มุม ซึ่งขอยกตัวอย่างไว้เพื่อที่จะได้มีผู้รู้ช่วยชี้แนะดังนี้


1. ความหมายและพัฒนาการความคิดทางคณิตศาสตร์ 
       - ความหมายของคณิตศาสตร์
       - พัฒนาการความคิดทางคณิตศาสตร์
       - การพัฒนาทักษะกระบวนการแก้ปัญหา
2. คณิตศาสตร์กับตัวเลขและสัญลักษณ์  
       - ความเป็นมาและความหมายของตัวเลขและสัญลักษณ์ที่น่าสนใจ
       - ตัวเลขและสัญลักษณ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน
3.  คณิตศาสตร์กับปรากฏการณ์ธรรมชาติ  
       - ตัวอย่างปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกี่ยวข้องในมุมมองของคณิตศาสตร์  
       - หลักการและทฤษฎีทางคณิตศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง
       - การศึกษาความสัมพันธ์และการหาคำตอบของปรากฏการณ์ธรรมชาติที่น่าสนใจ
       - ปรากฏการณ์ธรรมชาติ และสิ่งก่อสร้างที่เกี่ยวกับสัดส่วนทองคำ (Golden ratio)
4.  คณิตศาสตร์กับศิลปและความงาม 
       - ความสวยงามในมุมมองของคณิตศาสตร์  (Heart curve ,  Fractal , Golden ratio, …)
       - เรขาคณิตกับศิลป ( Origami , Tangram , …)
       - ตัวอย่างการออกแบบลวดลาย (Patterns, Tilings, Tessellations, ลายไทย, การออกแบบลวดลายผ้า, การปักครอสติส,การร้อยลูกปัด, ...)
       - ตัวอย่างการออกแบบโครงสร้าง (โครงสร้างอาคาร, แผนที่,  เขาวงกต,  ...)
        - ความสวยงามของผลึก/โครงสร้างอะตอม
5 .  คณิตศาสตร์กับเทคโนโลยี 
       - ระบบเลขฐานกับเทคโนโลยี
       - จากลูกคิดสู่คอมพิวเตอร์
       - Discrete mathematics 
       - Fuzzy logic กับเทคโนโลยี 
       - คอมพิวเตอร์กราฟฟิก / เกม กับคณิตศาสตร์
       - รหัสผ่านและการเข้ารหัสถอดรหัส 
       - การประมวลผลภาพ ในมุมมองของคณิตศาสตร์ 
       - การอ่านลายนิ้วมือ หรือ ม่านตา ที่เกี่ยวกับ คณิตศาสตร์
       - ไวรัสคอมพิวเตอร์ กับ คณิตศาสตร์
       - ภาพถ่ายดาวเทียม,  ความรู้เกี่ยวกับแผนที่เบื้องต้น, ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System, GIS)
       - รหัสพันธุกรรม
6.  คณิตศาสตร์กับการแก้ปัญหาและตัดสินใจในชีวิตประจำวัน  
       - มาตรา การชั่ง ตวง วัด
       - ดัชนีมวลกาย และ การหาพื้นที่ผิวของร่างกาย
       - การคิดค่าสาธารณูปโภค (ค่าน้ำ, ค่าไฟ)
       - การเสียภาษีรายได้
       - การฝากเงิน การกู้เงิน ดอกเบี้ย 
       - คณิตศาสตร์ กับ เกม / การพนัน / การเสี่ยงโชค
       - คลื่นเสียง กับ คณิตศาสตร์
       - ดนตรี กับ คณิตศาสตร์
       - ทักษะในการคิดเลขเร็ว   (คณิตศาสตร์กับลูกคิด, Vedic Mathematics,…)
7.  คณิตศาสตร์กับศาสนาและความเชื่อ  
       - คณิตศาสตร์ในศาสนาหรือนิกายต่างๆ 
       - ความเชื่อและสัญลักษณ์ที่เกี่ยวกับคณิตศาสตร์ ( Mandala , หยินหยาง, โป๊ยก่วย. ยันต์, …)   
       - คณิตศาสตร์ สถิติ ความน่าจะเป็นกับการพยากรณ์ (โหราศาสตร์, อี้จิง, เซียมซี,  Numerology, …) 
       - เรียนรู้บุคลิกภาพ/เรียนรู้ใจตนเอง จากตัวเลข
8.  แนวคิดเบื้องต้นเกี่ยวกับแบบจำลองทางคณิตศาสตร์
       - ประเภทของแบบจำลองทางคณิตศาสตร์
       - การสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์
       - ตัวอย่างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์
       - การประยุกต์ใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์

       ซึ่งเหล่านี้เป็นเพียงบางส่วนที่พอจะพิมพ์ได้ภายในเวลาจำกัด ซึ่งอาจจะถูกหรือผิดดีหรือไม่ ขอน้อมรับคำติด้วยความเต็มใจ  แล้วถ้ามีเวลาหรือโอกาสคงจะได้กลับมาใหม่  อาจเป็น ภาคสอง ภาคสาม หรือ อีกหลายๆภาคก็ได้ถ้าคิดว่าจะเป็นประโยชน์กับทุกๆคน   ยังมีอีกหลายเรื่องครับที่อยากพิมพ์แต่ยังไม่มีเวลาพอ ไม่ว่าจะเป็นคณิตศาสตร์กับการสอบแข่งขัน  เช่น ข้อสอบ Gmat , ข้อสอบ CU-best หรือ ข้อสอบ SMART-I  ในมุมมองของคณิตศาสตร์  หรือ คณิตศาสตร์กับเกมคอมพิวเตอร์ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นดาบสองคมสำหรับเยาวชน และอีกมากมายครับที่อยากแลกเปลี่ยนความรู้กันได้  ถ้าอยากรู้เรื่องใดลองบอกมานะครับ เผื่อสมองเล็กของผมจะค้นหามาคุยกันได้ แต่สำหรับวันนี้หมดเวลาอู้งานแล้ว คงต้องกลับไปสะสมบุญสะสมสตางค์  เพื่อฝ่าด่านค่ายกลของมารผจญต่างๆ เพื่อเอาตัวให้รอดไปวันๆก่อน  ครับ   ; )
แล้วเจอกันครับ