การใช้คําฟุ่มเฟือย ตัวอย่าง

ความฟุ่มเฟือยไม่ใช่คุณสมบัติอันพึงประสงค์ เพราะความฟุ่มเฟือยมีความหมายถึงความเกินพอดี สิ่งใดเกินพอดีนับว่าไม่เหมาะสมทั้งนั้น ความฟุ่มเฟือยในการใช้ภาษาก็เช่นกัน การใช้คำเกินพอดีจะทำให้ข้อความเยิ่นเย้อ ความหมายไม่กระชับรัดกุม บางครั้งเป็นการใช้คำผิดความหมาย หรือผิดหลักการใช้ภาษา

คำว่า ตายลง เป็นตัวอย่างหนึ่งของการใช้คำฟุ่มเฟือย เพราะใช้คำว่า ตาย คำเดียว ความหมายก็ชัดเจนแล้ว การใช้คำว่า ตายลง อาจทำให้มีข้อสงสัยว่า ตายขึ้น ไหม เพราะถ้าเราใช้คำว่า ขึ้น ก็มักจะมีคำเข้าคู่ที่ตรงกันข้ามด้วย เช่น น้ำลง / น้ำขึ้น ทางลง / ทางขึ้น ขาขึ้น / ขาล่อง พระอาทิตย์ขึ้น / พระอาทิตย์ตก เป็นต้น

คำว่า สุ่มเสี่ยง เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ใช้คำซ้อนโดยไม่จำเป็น คำว่า สุ่ม มีความหมายว่า อาการที่ทำไปโดยไม่แน่ใจผล เช่น เดาสุ่ม หรือไม่เฉพาะเจาะจง เช่น สุ่มตัวอย่าง ส่วนคำว่า เสี่ยง หมายความว่าลองทำสิ่งที่ไม่แน่ใจว่าจะเกิดผลอย่างไร คำว่า สุ่มเสี่ยง ก็ใช้ในความหมายตรงกับคำว่า เสี่ยง ดังนั้นใช้คำว่า เสี่ยง คำเดียวก็ได้ความหมายเท่ากัน คำว่า สุ่มเสี่ยง เป็นศัพท์ที่วงการตำรวจ ทหาร และนักข่าวชอบใช้

คำกริยาราชาศัพท์ เป็นตัวอย่างที่พูดถึงได้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะมีผู้ใช้ผิดอยู่เสมอ โดยเฉพาะสื่อมวลชน ซึ่งเป็นแบบอย่างที่คนอื่นใช้ตาม คำกริยาราชาศัพท์ที่ใช้คำว่า ทรง นำหน้าอย่างฟุ่มเฟือย เช่น ทรงเสด็จ ทรงพระราชทาน ทรงประทับ ทรงเป็นพระราชโอรส ทรงมีพระเมตตา ล้วนเป็นการใช้ผิดทั้งนั้น เพราะหลักการใช้คำราชาศัพท์ คือจะไม่ใช้คำว่า ทรง นำหน้าคำกริยาที่เป็นคำราชาศัพท์อยู่แล้ว คำว่า มี หรือ เป็น ก็เช่นกัน หากตามด้วยคำราชาศัพท์ก็ไม่ต้องใช้คำว่า ทรง นำหน้า แต่หากไม่ได้ตามด้วยคำราชาศัพท์ ก็ต้องเติมคำว่า ทรง เพื่อให้เป็นคำกริยาราชาศัพท์ เช่น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงเป็นผู้แทนพระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดการประชุม

คำว่า นำพาเป็นตัวอย่างหนึ่งของการใช้คำฟุ่มเฟือยแล้วทำให้ผิดความหมาย เป็นการใช้คำซ้อนโดยไม่จำเป็น เพราะใช้คำว่า นำ หรือ พาคำใดคำหนึ่ง ก็สื่อความหมายได้แล้วว่าให้เอาสิ่งของนั้น ๆ ไป เช่น “กรุณานำสิ่งของที่จำเป็นของท่านติดตัวไปด้วย” ไม่ควรใช้ว่า “กรุณานำพาสิ่งของที่จำเป็นของท่านติดตัวไปด้วย” เมื่อใช้คำซ้อนโดยไม่จำเป็นทำให้ความหมายของคำผิดไป เพราะคำว่า นำพาหมายความว่า เอาใจใส่ เอาธุระ ไม่สนใจ แต่มักใช้ในความหมายเชิงปฏิเสธว่า ไม่นำพาเช่น “ที่ยกขบวนกันมาปิดถนนแบบนี้ พวก เขาไม่นำพาหรอกว่าใครจะเดือดร้อนบ้าง”

คำว่า หยิบฉวย ก็เป็นตัวอย่างแบบเดียวกัน คือใช้คำซ้อนกันอย่างฟุ่มเฟือย คำว่า หยิบ และ ฉวย มีความหมายคล้าย ๆ กัน แต่เมื่อนำมาซ้อนกันจะมีความหมายว่า นำสิ่งของนั้นไปโดยมีเจตนาทุจริต เช่น ไม่บอกเจ้าของก่อน หรือตั้งใจขโมย ดังนั้น เมื่อโฆษกในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ประชาสัมพันธ์ให้ทราบว่ามีของกำนัลแจกฟรีให้แก่ลูกค้า โดยบอกว่า “ขอเชิญท่านมีผู้อุปการคุณ มาหยิบฉวยของกำนัลที่เคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์ไปได้เลยค่ะ” จึงกลายเป็นว่าเชิญชวนให้ลูกค้ามาขโมยของกำนัล

คำว่า ทำการ จัดเป็นคำฟุ่มเฟือยยอดนิยม พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ทรงนิพนธ์บทกลอนแสดงความสงสารคำว่า “ทำการ” ไว้ เนื่องจากมักมีผู้นำมาใช้โดยไม่จำเป็น แต่คนสมัยนี้ก็ยังไม่เลิกนิยม เราจึงจะพบข้อความที่ตัดคำว่า ทำการ ออกไปได้ก็ไม่เสียความแต่อย่างใด เช่น

“รัฐบาลประกาศว่าจะทำการใช้กฎหมายในการปราบปรามผู้ชุมนุมอย่างเคร่งครัด”
“หลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ธนาคารเริ่มทำการเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ”
“ผู้สมัครเข้าอบรมความรู้จะต้องทำการกรอกใบสมัครให้ครบถ้วน”
“ผู้บริหารสถาบันพระปกเกล้าร่วมให้การต้อนรับคณะที่ปรึกษาขององค์พระมหากษัตริย์แห่งภูฏานในโอกาสเดินทางมาศึกษาดูงานด้านการเมืองการปกครอง”

การใช้คำบุพบทหรือสันธานขึ้นต้นประโยค นับเป็นการใช้คำฟุ่มเฟือยที่ควรแก้ไข พอ ๆ กับการพูด ที่ต้นขึ้นประโยคว่า ครับ หรือ ค่ะ ซึ่งพิธีกรวัยรุ่นสมัยนี้ ชอบพูดเป็นคำติดปาก คำบุพบทที่นิยมใช้ขึ้นต้นประโยค มาก คือ สำหรับ ส่วนคำเชื่อมที่นิยมนำมาใช้ขึ้นประโยค ทั้ง ๆ ที่ไม่จำเป็นคือคำว่า ซึ่ง จะเห็นได้ว่าทั้งสองคำสามารถตัดออกได้โดยไม่ต้องเสียดาย เช่น

“สำหรับการใช้โปรแกรมพีเบสิกเอดิเตอร์ จะต้อง ดาวน์โหลดจากเว็บไซด์โดยตรงแล้วติดตั้งโปรแกรมให้ เรียบร้อย”
“ซึ่งประเทศไทยและประเทศจีน มีความสัมพันธ์ กันมายาวนานทั้งประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และ เศรษฐกิจ”
ภาษาในวงการกีฬาที่ใช้กันผิด ๆ เสมอ คือคำว่า แพ้ให้กับ เป็นการเติมบุพบทเข้ามาโดยไม่จำเป็นเพราะ คำว่า แพ้ ตามด้วยกรรมได้อยู่แล้ว เช่น “ในการพบกัน นัดแรก เชลซีแพ้หงส์แดง “ลิเวอร์พูล” ยับเยิน”
ดังนั้น ในการเขียนข้อความเป็นประโยค หรือ หลายประโยค ผู้เขียนควรทบทวนตรวจทานว่าสามารถ จะปรับข้อความนั้นให้กระชับขึ้น สละสลวยขึ้น โดยการ ตัดคำที่ไม่จำเป็นออกไปได้หรือไม่ โดยเฉพาะคำบุพบท คำสันธาน หรือหากเปลี่ยนคำนามให้เป็นคำกริยาได้ก็ อาจจะทำให้ประโยคกระชับขึ้นลองดูตัวอย่างหนึ่ง

“ในแต่ละรายการผู้จัดรายการจะตั้งกติกา การแข่งขันและวิธีการเล่นโดยให้มีความหลากหลาย แปลกใหม่ ตื่นเต้นเร้าใจ ในส่วนของรางวัลก็จะตั้งไว้ ค่อนข้างสูง”
ดูเผิน ๆ ข้อความประโยคนี้ก็สื่อความได้ ไม่เห็น มีอะไรต้องแก้ แต่อ่านดูอีกทีจะพบว่าสามารถตัดคำไม่จำเป็นบางคำ ย้ายที่บางคำ ปรับเปลี่ยนคำบางคำ ประโยคจะสละสลวย ไม่เยิ่นเย้อ และสื่อความได้ชัดเจน ขึ้น ดังนี้
“ผู้จัดรายการแข่งขันแต่ละรายการจะตั้งกติกา การแข่งขันและวิธีเล่นให้หลากหลาย แปลกใหม่ ตื่นเต้น เร้าใจ และตั้งรางวัลไว้ค่อนข้างสูง”

ในยามนี้ เราประจักษ์ในความจริง ความงาม ของ คำว่า พอเพียง ว่าทำให้ชีวิตมีสุข เราควรนำปรัชญา ความพอเพียงมาใช้ในการใช้ภาษาด้วย จะพูดหรือเขียน ก็ควรคำนึงว่าใช้ภาษาอย่างพอเพียงและเพียงพอ ไม่ใช้ คำมากเกินความจำเป็น หรือใช้ในที่ไม่ควรใช้ เราอาจใช้ คำซ้ำ คำซ้อน หรือการหลากคำ แต่ก็ต้องมีเจตนาเพื่อ สื่อความหมายด้านเนื้อสารหรือความหมายด้านอารมณ์ หรือสร้างลีลาจังหวะของถ้อยคำ เพื่อให้เกิดท่วงทำนอง ที่สละสลวย แต่ไม่ใช่ใช้อย่างเลื่อนลอยโดยไม่ช่วยใน การสื่อความ เพราะนอกจากจะถูกกล่าวหาว่าใช้ภาษา ฟุ่มเฟือย ยังถือว่าใช้ภาษาไม่เป็นอีกด้วย