คำไวพจน์ ในกาพย์พระไชยสุริยา

คำไวพจน์ ในกาพย์พระไชยสุริยา

“แน่ะ ! อ่านอะไรอยู่น่ะ หน้าแดงเชียว !”

ใครที่อ่านนิยายบ่อย ๆ น่าจะพอเห็นฉากเลิฟซีน (Love scene) ฉาก 18+ หรือฉาก NC[1] แบบผ่านหูผ่านตากันมาบ้าง แต่เพื่อน ๆ รู้ไหมว่าวรรณคดีไทยก็มีฉากวาบหวิวชวนจินตนาการที่น่าสนใจไม่แพ้นิยายรักร่วมสมัยเหมือนกัน และขึ้นชื่อว่ากวีไทย ถ้าบรรยายแบบธรรมดา ๆ ก็คงไม่ท้าทาย กวีไทยในสมัยก่อนจึงแอบ ๆ สอดแทรกเรื่องราวสุดตื่นเต้นเหล่านี้ไว้ในสิ่งที่เรียกว่า “บทอัศจรรย์” นั่นเอง

ว่าแต่พูดตรง ๆ ไม่ได้หรือไง ทำไมถึงต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ ทำตัวมีพิรุธด้วยล่ะ ?


[1] ฉาก NC (No Children) หรืออีกชื่อคือ NC-17 (No One 17 And Under Admitted) สมาคมภาพยนตร์แห่งอเมริกา (Motion Picture Of America) บัญญัติคำว่า NC-17 ขึ้นมาเพื่อเป็นใช้บอกเรตของภาพยนตร์ที่ “ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีรับชม” เนื่องจากมีภาพและเสียงที่รุนแรง รวมถึงฉากที่ไม่เหมาะสำหรับเยาวชน เช่น ฉากการมีเพศสัมพันธ์ ฉากการใช้สารเสพติด

เรื่องเพศเรื่องใหญ่ : ประเด็นต้องห้ามของสังคมไทยในสมัยก่อน

ที่ต้องแอบ ๆ ซ่อน ๆ ก็เพราะสภาพสังคมไทยในสมัยก่อนไม่ได้เปิดกว้างเหมือนในปัจจุบัน ถึงเรื่องของเพศจะเป็นธรรมชาติของมนุษย์ แต่ด้วยจารีตและขนบธรรมเนียมอัน “ดีงาม” ของสังคมไทย ทำให้การพูดคุยเรื่องเพศอย่างโจ่งแจ้งดูเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม และดู “บัดสีบัดเถลิง” เอามาก ๆ ด้วยเหตุนี้ กวีไทยจึงหลีกเลี่ยงการพูดถึงเรื่องเพศโดยตรง และเปลี่ยนมาพูดอ้อม ๆ ในบทอัศจรรย์แทน

เลิฟซีนแบบไทย ๆ : บทอัศจรรย์คืออะไรกันนะ ?

ราชบัณฑิตยสถานได้ให้นิยามของบทอัศจรรย์ไว้ว่า “บทอัศจรรย์ (น.) คือบทร้อยกรองตามธรรมเนียมนิยมในวรรณคดี พรรณนาเพศสัมพันธ์ของชายหญิง มักกล่าวให้เป็นที่เข้าใจโดยใช้โวหารเป็นสัญลักษณ์หรืออุปมาอุปไมยเป็นต้น”บทอัศจรรย์จึงเป็นบทบรรยายการร่วมรักระหว่างตัวละครในวรรณคดีแบบอ้อม ๆ ด้วยการเปรียบสิ่งหนึ่งให้เป็นอีกสิ่งหนึ่ง หรือใช้โวหารภาพพจน์แบบต่าง ๆ มาบรรยายเหตุการณ์ให้ดูสวยงามไพเราะ และไม่โจ่งแจ้งเกินไป หน้าตาของบทอัศจรรย์ส่วนใหญ่จึงออกมาในรูปแบบการดูแมลงชมดอกไม้ พร้อมกับปรากฎการณ์ธรรมชาติสุดสนั่นหวั่นไหวในรูปแบบต่าง ๆ ถ้าไม่มานั่งตีความกันอย่างจริงจังก็อาจจะดูไม่ออกเลยก็ได้ว่า “นี่มันเลิฟซีนชัด ๆ !”

เรามักพบบทอัศจรรย์ต่อเนื่องจากบทเกี้ยวพาราสีของคู่พระ - นาง (นารีปราโมทย์) ส่วนบทอัศจรรย์ในวรรณคดีไทยนั้น ปรากฎหลักฐานครั้งแรกในเรื่องลิลิตพระลอ ซึ่งเป็นวรรณคดีที่ถูกแต่งขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น (หลังรัชกาลพระเจ้าบรมไตรโลกนารถลงมา)

แล้วบทอัศจรรย์อยู่ตรงไหนในบทเรียน ?

ประวัติความเป็นมายาวนานขนาดนี้ จึงไม่แปลกที่เราจะพบบทอัศจรรย์ในวรรณคดีไทยหลากหลายเรื่อง เช่น วรรณคดีเก่าแก่จากสมัยอยุธยาอย่างทวาทศมาศโคลงดั้น และลิลิตพระลอ (ที่คอวรรณคดีไทยหลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าบทอัศจรรย์ในเรื่องแซ่บมากมากกกก) รวมไปถึงวรรณคดีไทยที่ถูกแต่งขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นอย่างขุนช้างขุนแผน พระอภัยมณี อิเหนา รามเกียรติ์ ระเด่นลันได

จากรายชื่อวรรณคดีไทยเหล่านี้ จะเห็นว่ามีเรื่องที่พวกเราเรียนกันอยู่หลายเรื่องเลยนี่นา “แต่ไม่เห็นเคยเจอบทอัศจรรย์ที่ว่าในหนังสือเรียนเลยนะ” สาเหตุที่เป็นไม่เจอก็เพราะว่าวรรณคดีไทยส่วนใหญ่จะยาวมาก ๆ และเนื้อหาบางส่วนอาจจะยากเกินไปสำหรับระดับมัธยม จึงต้องเลือกตัดวรรณคดีไทยแค่บางส่วนมาบรรจุในหลักสูตรให้เราเรียน บทอัศจรรย์เหล่านี้จึงถูกตัดออกไปพร้อม ๆ กันด้วย ส่วนเหตุผลอีกข้อหนึ่งน่าจะเป็นเรื่องความเหมาะสมของเนื้อหา เพราะการนำเนื้อหาที่เกี่ยวกับเรื่องเพศมาให้เด็ก ๆ หัดเรียนเขียนอ่านก็คงเหมือนการ “ชี้โพรงให้กระรอก” บทอัศจรรย์เหล่านี้จึงถูกยกไปอยู่ในระดับมหาวิทยาลัยแทน แถมคนที่เรียนก็มักจะจำกัดอยู่ในกลุ่มนิสิตนักศึกษาที่ศึกษาภาษาไทยและวรรณคดีไทยอย่างลงลึกเท่านั้น 

แต่ถึงจะโดนเซ็นเซอร์ไปเกือบหมด แต่ก็ยังมีบทอัศจรรย์ที่เล็ดรอดมาอยู่ในหนังสือเรียนของกระทรวงศึกษาธิการจนได้ ซึ่งบทอัศจรรย์บทดังกล่าวอยู่ใน “กาพย์พระไชยสุริยา” นั่นเอง !

คำไวพจน์ ในกาพย์พระไชยสุริยา

กาพย์พระไชยสุริยา ขอบคุณภาพจาก National Library Thailand

เรียนรู้ตัวสะกดจากบทอัศจรรย์

กาพย์พระไชยสุริยาเป็นวรรณคดีประเภทกาพย์ที่สุนทรภู่แต่งขึ้นในขณะที่จำพรรษาอยู่ ณ วัดเทพธิดา ประกอบด้วยกาพย์ 3 ประเภท ได้แก่ กาพย์ยานี กาพย์ฉบัง และกาพย์สุรางคนางค์ จุดประสงค์ของการแต่งกาพย์พระไชยสุริยาคือ เพื่อแนะแนวทางการอ่านเขียนเทียบตัวสะกดให้กับเด็กชายที่ร่ำเรียนภาษาไทยในยุคนั้น ดังตอนท้ายของกาพย์ที่ว่า…

๏ ภุมราการุญสุนทร ไว้หวังสั่งสอน
เด็กอ่อนอันเยาว์เล่าเรียน  
๏ ก ข ก กา ว่าเวียน หนูน้อยค่อยเพียร
อ่านเขียนผสมกมเกย  

สุนทรภู่ใช้วิธีการเล่าเรื่องอย่างนิทานให้ “พอล่อใจกุมารา” ทำให้กาพย์พระไชยสุริยาเป็นบทเรียนที่มีเรื่องราวสนุก น่าติดตาม พร้อมสอนเรื่องตัวสะกดตั้งแต่แม่ ก กา จนถึงแม่เกยไปด้วย กาพย์พระไชยสุริยานั้นเป็นเรื่องราวว่าด้วยกษัตริย์องค์หนึ่งชื่อพระไชยสุริยา เป็นเจ้าเมืองปกครองกรุงสาวัตถี พระไชยสุริยามีมเหสีคือพระนางสุมาลี ทั้งสองปกครองเมืองอย่างร่มเย็นเป็นสุขเรื่อยมา จนกระทั่งขุนนางอำมาตย์เริ่มประพฤติตนไม่ดี ไม่อยู่ในศีลในธรรม ทำให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ น้ำป่าไหลบ่าท่วมเมืองจนชาวกรุงสาวัตถีจึงต้องลงเรือสำเภาหนีออกจากเมืองไป พระไชยสุริยาและพระนางสุมาลีเองก็ต้องอพยพออกจากเมืองพร้อมคนอื่น ๆ เช่นกัน

คำไวพจน์ ในกาพย์พระไชยสุริยา
ชาวเมืองสาวัตถีประสบภัยพิบัติ ขอบคุณภาพจาก sisira28.blogspot.com

แต่เรือสำเภาของชาวเมืองสาวัตถีก็ไปเจอกับพายุใหญ่ ทำให้เรือสำเภาแตกและอับปางลง พระไชยสุริยาและพระนางสุมาลีว่ายน้ำมาจนพบฝั่งและรอนแรมอยู่ในป่า เหตุการณ์เหล่านี้ถูกเล่าพร้อม ๆ กับสอดแทรกวิธีการประสมคำตามมาตราตัวสะกดต่าง ๆ ตั้งแต่แม่ ก กา แม่กน แม่กง แม่กก จนมาถึงแม่กด บทเลิฟซีนระหว่างพระไชยสุริยาและพระนางสุมาลี (ที่เราแนะนำว่าควรอ่านในใจ จะได้ไม่เขินมาก)

๏ ขึ้นกดบทอัศจรรย์ เสียงครื้นครั่นชั้นเขาหลวง
นกหกตกรังรวง สัตว์ทั้งปวงง่วงงุนโงง
๏ แดนดินถิ่นมนุษย์ เสียงดังดุจพระเพลิงโพลง
ตึกกว้านบ้านเรือนโรง โคลงคลอนเคลื่อนเขยื้อนโยน
๏ บ้านช่องคลองเล็กใหญ่ บ้างตื่นไฟตกใจโจน
ปลุกเพื่อนเตือนตะโกน ลุกโลดโผนโดนกันเอง
๏ พิณพาทย์ระนาดฆ้อง ตะโพนกลองร้องเป็นเพลง
ระฆังดังวังเวง โหง่งหง่างเหง่งเก่งก่างดัง
๏ ขุนนางต่างลุกวิ่ง ท่านผู้หญิงวิ่งยุดหลัง
พัลวันดันตึงตัง พลั้งพลัดตกหกคะเมน
๏ พระสงฆ์ลงจากกุฏิ์ วิ่งอุดตลุตฉุดมือเณร
หลวงชีหนีหลวงเถร ลงโคลนเลนเผ่นผาดโผน
๏ พวกวัดพลัดเข้าบ้าน ล้านต่อล้านซานเซโดน
ต้นไม้ไกวเอนโอน ลิงค่างโจนโผนหกหัน
๏ พวกผีที่ปั้นลูก ติดจมูกลูกตาพลัน
ขิกขิกระริกกัน ปั้นไม่ทันมันเดือดใจ
๏ สององค์ทรงสังวาส โลกธาตุหวาดหวั่นไหว
ตื่นนอนอ่อนอกใจ เดินไม่ได้ให้อาดูร

สุนทรภู่บรรยายบทอัศจรรย์ในกาพย์พระไชยสุริยาบทนี้ไว้อย่างชัดเจนมาก ๆ ชัดจนเราตกใจแบบว่าพูดได้ไหมพี่จี้ ชัดขนาดที่จั่วหัวไว้ให้ตั้งแต่วรรคแรกเลยว่า “อันนี้เป็นบทอัศจรรย์นะจ๊ะ” คือไม่ต้องถอดความครบทุกบททุกบาท ผู้อ่านก็พอสัมผัสความชุลมุนวุ่นวายและอึกทึกครึกโครมที่เกิดขึ้นในเลิฟซีนฉากนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นวรรคที่ว่า “ตึกกว้านบ้านเรือนโรง โคลงคลอนเคลื่อนเขยื้อนโยน” “นกหกตกรังรวง” และ “ต้นไม้ไกวเอนโอน” ที่บรรยายลักษณะการเคลื่อนไหวว่ารุนแรงมาก ๆ จนนกตกจากรัง ดุเดือดจนเกิด “เสียงครื้นครั่นชั้นเขาหลวง” แถมเมื่อเลิฟซีนจบก็คือเดินไม่ได้กันเลยนะ อะไรจะขนาดนั้นเนี่ย ! (และถ้าพูดกันตามจริงแล้ว บทอัศจรรย์ในเรื่องกาพย์พระไชยสุริยาก็ไม่ได้มีแค่บทที่เรายกมาด้วย แต่จะมีบทไหนอีก เราอยากให้เพื่อน ๆ ไปอ่านและตีความกันเอาเองดีกว่า ทางเราจะไม่สปอยล์)

คำไวพจน์ ในกาพย์พระไชยสุริยา

พยายามเนียนแล้วนะ แต่ดูออกเลยเหรอคะว่าเป็นบทอัศจรรย์

ขนาดบอกไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่า “นี่มันบทอัศจรรย์ !!!” เราก็ยังต้องมาตีความกันต่ออีกเยอะมาก กว่าจะรู้ว่าบทไหนเป็นบทเลิฟซีน แต่บอกเลยว่าในวรรณคดีไทยยังมีบทอัศจรรย์ที่ "เนียน" กว่านี้อีกมาก เช่น

     ว่าพลางทางเปลื้องเครื่องคาด แขวนพาดฉากลงประจงจับ
อุ้มนางวางตักสะพักรับ ก็ทอดทับระทวยดังท่อนทอง
     พระพายชายชัดบุปผาชาติ เกสรสาดหอมกลบตลบห้อง
ริ้วริ้วปลิวชายสไบกรอง พระจันทร์ผันผยองอยู่ยับบับ
     พระอาทิตย์ชิงดวงพระจันทร์เด่น ดาวกระเด็นใกล้เดือนดาราดับ
หิ่งห้อยพร้อยไม้ไหวระยับ แมลงทับท่องเที่ยวสะเทือนดง

— เสภาขุนช้างขุนแผน ฉบับหอสมุดแห่งชาติ, หน้า 376

จากตัวอย่างเป็นฉากที่ขุนแผนเข้าห้องนางแก้วกิริยา จะเห็นว่ากวีไทยใช้ภาษาเล่าเรื่องการร่วมรักได้สวยงามและแนบเนียนมาก เนียนกริบชนิดที่ว่าถ้าไม่มานั่งถอดความกันดี ๆ ก็คงเดาไม่ออก แต่เรามีทริกและข้อสังเกตเกี่ยวกับบทอัศจรรย์ในวรรณคดีไทยมาฝากเพื่อน ๆ กันด้วย นั่นก็คือ !!!

“พระนางเกี้ยวกันอยู่ดี ๆ กวีก็เล่าเรื่องธรรมชาติธรรมชาติให้เราฟัง”

เพราะส่วนใหญ่แล้วบทอัศจรรย์มักมีบทนารีปราโมทย์หรือบทเกี้ยวนำมาก่อน จากนั้นภาพก็จะตัดมาเล่าเรื่องธรรมชาติอันสวยงามแทน (ลองนึกถึงละครหลังข่าวไทยที่ชอบแพนกล้องไปที่โคมไฟข้างเตียง อะไรประมาณนั้น) นอกจากนี้ยังมีการเปรียบเทียบด้วยการใช้สัญลักษณ์แทนสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น “แมลง” ที่หมายถึงผู้ชาย “ดอกไม้” ที่มักจะหมายถึงผู้หญิง (หรือของลับของเพศหญิงในบางกรณี) ดังนั้นบริบทที่ว่า “แมลงชมดอกไม้” จึงหมายถึงการที่ผู้ชายกำลังเชยชมผู้หญิง และบางครั้งแมลงและดอกไม้เหล่านี้ก็ไม่ได้มาแบบโต้ง ๆ อย่าง “ฉันคือแมลง !” หรือ “นี่คือดอกไม้ !” แต่มาในรูปแบบคำไวพจน์ที่เราไม่คุ้นหน้ามากมาย เช่น ภุมรา ภุมเรศ บุษบา มาลี ผกา บุปผาชาติ นอกจากนี้กวียังชอบเปรียบเทียบ “ดอกบัว” และ “พระจันทร์” ว่าเป็นหน้าอกของผู้หญิงด้วย กลวิธีการแต่งบทอัศจรรย์เช่นนี้ทำให้ผู้อ่านสามารถเสพและตีความวรรณคดีไทยได้หลายระดับ หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะอ่านเอาความสวยงามของภาษา หรือจะอ่านเอาเรื่องด้วยการตีความเพิ่มเติมก็ได้เช่นกัน

บทอัศจรรย์ในอีก (หลาย) มุมมอง

นอกจากจะอ่านและตีความได้หลายระดับ การมีอยู่ของตัวบทอัศจรรย์เองก็อาจมีหลายจุดประสงค์เช่นกัน ซึ่งในกรณีของกาพย์พระไชยสุริยานั้น เราไม่อาจคาดเดาได้ว่าเจตนาในการใส่บทอัศจรรย์ไว้ในแบบเรียนภาษาไทยสำหรับเด็กนั้นคืออะไร อาจจะเป็นดังที่โชษิตา มณีใสเสนอไว้ว่า ‘การใส่บทอัศจรรย์ที่ค่อนข้างยาวและมีน้ำหนักสัดส่วนค่อนข้างมากนี้อาจเป็นการสอนเพศศึกษาให้กับเด็ก ๆ ในทางหนึ่ง ซึ่งถ้าเป็นตามนั้นจริงก็นับว่าเป็นความคิดที่ก้าวหน้ามาก’ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีความเป็นไปได้อื่น ๆ อีกมาก เช่น เป็นความนิยมของกวีเองที่มักจะสอดแทรกบทอัศจรรย์ไว้ในผลงานเสมอ ๆ ซึ่งสะท้อนลักษณะของวรรณคดีไทยแต่เดิมที่มักแต่งขึ้นเพื่อพูดคุยกับผู้ใหญ่ และไม่ได้ให้ความสำคัญกับเด็กในฐานะผู้เสพเท่าไหร่นัก

คำไวพจน์ ในกาพย์พระไชยสุริยา
ฉากขุนแผนเข้าห้องนางแก้วกิริยา ขอบคุณรูปภาพจาก มติชนสุดสัปดาห์

และในอีกมุมหนึ่งเราก็พบว่า บทเข้าพระเข้านางในวรรณคดีไทย บางครั้งก็ "ไม่ได้เกิดขึ้นจากความยินยอมพร้อมใจของทั้งสองฝ่าย" จากการศึกษาของเสาวณิต จุลวงศ์แสดงให้เราเห็นว่า "หลายครั้งที่บทอัศจรรย์ทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวของการล่วงละเมิดและการข่มขืน" ซึ่งเมื่อผ่านการเรียงร้อยถ้อยคำของกวี เรื่องราวเหล่านี้ก็มักจะออกมาสวยงามจนสังคมมองข้ามบริบทที่เป็นปัญหาไปจนหมด อย่างเช่นฉากขุนแผนแอบเข้าห้องนางแก้วกิริยาที่เรายกมาให้เพื่อน ๆ อ่านก็ยังมีนัยยะของการข่มขืนอยู่ เนื่องจากขุนแผนนั้นใช้ไสยเวทย์ทำให้นางแก้วกิริยาเคลิบเคลิ้ม ก่อนจะเข้าไป “ลักหลับ” โดยที่นางแก้วกิริยาไม่มีโอกาสปฏิเสธเลยเสียด้วยซ้ำ นอกจากนี้บทอัศจรรย์ในวรรณคดีไทยอีกหลายบทก็ยังคลุมเครือ ยากต่อการตีความว่าเป็นการล่วงละเมิดหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นแนวคิดของกวีที่เกิดจากการหล่อหลอมของสังคมไทยในยุคนั้น รวมถึงบ่งบอกระยะห่างเชิงอำนาจระหว่างเพศหญิงและเพศชายในสังคมไทยไปในตัวด้วย

หลายคนอาจบอกว่า "คิดมากไป" แต่เราก็อยากชวนให้ทุกคนขบคิดกันต่อว่า "การเล่าเรื่องการข่มขืนและการละเมิดให้ออกมาสวยงามมหัศจรรย์นั้นเป็นการกลบเกลื่อนความรุนแรงและความเจ็บปวดของฝ่ายหญิงที่เป็นผู้ถูกกระทำอีกรูปแบบหนึ่งหรือไม่ ?" และไม่ว่าการมีอยู่ของบทอัศจรรย์ในเรื่องกาพย์พระไชยสุริยาจะมีจุดประสงค์อย่างไร ถ้าเราเรียนรู้ที่จะเริ่มตั้งคำถามกับบทอัศจรรย์ในวรรณคดีไทย การเรียนรู้และทำความเข้าใจเรื่องเพศ และประเด็นอื่น ๆ ก็น่าจะตามมาเช่นกัน

"ถ้าเราไม่เปิดข้ามบทอัศจรรย์ไปเฉย ๆ แต่ลองหยิบมาพินิจในแง่มุมใหม่ ๆ

เราอาจจะพบเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เพราะบทอัศจรรย์ในวรรณคดีไทยไม่ได้บอกเล่าแค่เรื่องเพศเท่านั้น"

Reference:

คดีไม่มีวรรณะ. (2563, 12 สิงหาคม). เมื่อพี่โหยไห้ถึงเรื่องราวรสรักและราคะอันร้อนรุ่ม [Facebook]. Retrieved from https://www.facebook.com/106723534469976/posts/119960836479579/

โชษิตา มณีใส. “พินิจกาพย์พระไชยสุริยาของสุนทรภู่.” วารสารราชบัณฑิตยสถาน, vol. 37, no. 2, 2012, pp. 59–72. 2, www.royin.go.th/royin2014/upload/246/FileUpload/2926_3871.pdf.

ภาษิต จิตภาษา. “‘บทอัศจรรย์’ คือบทอะไร? ทำไมต้องมี? มีเมื่อไร?” นิตยสารศิลปวัฒนธรรม, Dec. 2002, www.silpa-mag.com/history/article_20228.

ห้องสมุดดิจิทัลวชิรญาณ. “กาพย์เรื่องพระไชยสุริยา.” กาพย์เรื่องพระไชยสุริยาและสุภาษิตสอนสตรีของสุนทรภู่, กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์, 25 June 2017, vajirayana.org/กาพย์เรื่องพระไชยสุริยา-และ-สุภาษิตสอนสตรี-ของ-สุนทรภู่/กาพย์เรื่องพระไชยสุริยา. 

เสาวณิต จุลวงศ์. “ร่วมอภิรมย์ หรือ ข่มขืน: มุมมองใหม่ต่อบทอัศจรรย์ในวรรณคดีไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น.” วารสารศิลปศาสตร์, vol. 12, no. 2, 2012, pp. 177–187., doi:https://so03.tci-thaijo.org/index.php/liberalarts/article/view/10980/9938.

NA. “Motion Picture Association Film Rating System.” Wikipedia, Wikimedia Foundation, 31 Aug. 2020, en.wikipedia.org/wiki/Motion_Picture_Association_film_rating_system.