สิ่งแวดล้อมทางการตลาด ตัวอย่าง

ก่อนที่เราจะกระโดดลงไปในโลกของการตลาด สิ่งหนึ่งที่เราต้องรู้จักกับมันก่อนนั่นก็คือสิ่งแวดล้อมทางการตลาด เราจำเป็นจะต้องรู้ว่ามันมีอะไรบ้าง และแต่ละอย่างนั้นส่งผลกระทบอย่างไร เพื่อที่เราจะได้มองภาพเชิงลึกของการตลาดได้อย่างทะลุปรุโปร่ง ผมจึงขอเริ่มต้นด้วยภาพรวมของสิ่งแวดล้อมทางการตลาดทั้งระบบก่อนนะครับ

สิ่งแวดล้อมทางการตลาด ตัวอย่าง
ก่อนอื่นผมขอแนะนำบริษัทของเราก่อนครับ อยู่ในวงกลมสีแดงนั่นเอง และนั่นคือสิ่งแวดล้อมทางการตลาดตัวแรกของเราครับ เรียกว่า สิ่งแวดล้อมภายใน (Internal Environment) คือสิ่งที่เราสามารถควบคุมมันได้ ไม่ว่าจะเป็น จำนวนพนักงาน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ ฯลฯ ซึ่งเรื่องนี้เดี๋ยวผมจะเล่าให้ฟังคราวหลังนะครับ และหลังนอกจากสิ่งแวดล้อมภายในแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบนอกกรอบสีน้ำเงินที่ล้อมรอบบริษัทของเราอยู่นั่นคือ…สิ่งแวดล้อมภายนอก (External Environment) ซึ่งสิ่งแวดล้อมภายนอกนี้เราสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มคือ ในวงเส้นประสีชมพู นั่นคือ สิ่งแวดล้อมภายนอก ระดับจุลภาค (Micro External Environment) และในกอรบสีเขียวคือ สิ่งแวดล้อมภายนอกระดับมหภาค (Macro External Environment) ต่างกันที่ระดับความกระทบต่อบริษัทของเราครับ ในระดับจุลภาคนั้นจะอยู่ใกล้ตัวบริษัทเรา และสิ่งผลกระทบค่อนข้างมากกว่าในระดับมหภาค ซึ่งค่อนข้างอยู่ห่างไกลเราไปครับ แต่อย่างไรก็ตามสิ่งแวดล้อมภายนอกนนั้นเราไม่สามารถที่จะควบคุมมันได้ครับ เช่น จำนวนการเพิ่ม-ลดของประชากร วัฒนธรรมของผู้บริโภค เป็นต้น

ผมจะเริ่มเล่าจะวงนอกสุดก่อนนะครับ แล้วค่อยๆ กระชับพื้นที่เข้ามาข้างในเรื่อยๆ ครับ

สิ่งแวดล้อมภายนอก ระดับมหภาค (Macro External Environment)

1. Demography – ประชากรศาสตร์ : ประชากรศาสตร์นั้นคือเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับประชากร เช่น การเปลี่ยนโครงสร้างประชากร การเปลี่ยนโครงสร้างครอบครัว การย้ายถื่นฐาน เป็นต้น หลายคนคงสงสัยว่าสิ่งเหล่านี้สิ่งผลกระทบต่อการตลาดอย่างไร… ยกตัวอย่าง การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร จากเดิมทุกๆ ครอบครัวนิยมมีลูกมากกว่า 5 คนต่อครอบครัว กลายเป็น เหลือเพียงแค่ 2 คนต่อครอบครัว นั่นคืออาจจะมีการคุมกำเนิด หรือลดการตั้งครรภ์ลง ดังนั้นในทางการตลาด ถุงยางอนามัย อาจจะขายดีขึ้น หรือยาคุมกำเนิดจะขายได้มากขึ้นจากเดิม เป็นต้น หรือในกรณีที่เรามีข้อมูลอัตราการเกิดของประชากรลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้เราวิเคราะห์ได้ว่า ในอนาคตจะมีเด็กเกิดใหม่น้อยลง ดังนั้นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เกี่ยวกับเด็กก็จะขายได้ลดลง หรือในกรณีที่คนนิยมครองตัวเป็นโสด อยู่บ้านคนเดียวมากขึ้น อาจจะทำให้ข้าวสารขายได้น้อยลง เพราะ ส่วนใหญ่คนที่อยู่คนเดียวมักไม่ค่อยทำอาหารทานเอง แต่จะอาศัยการรับประทานอาหารจากร้านค้าต่างๆ มากกว่านั่นเอง

2. Economic – เศษฐกิจ : เศษฐกิจของประเทศ หรือ ของโลก ย่อมส่งผลกระทบต่อการตลาดอย่างแน่นอน ยกตัวอย่างเช่น ช่วงนี้เศษฐกิจไม่ดี พนักงานมนุษย์เงินเดือนทั้งหลายโดนลดเงินเดือนลง ก็จะทำให้กำลังซื้อของพวกเขาลดลงเช่นกัน สมมติว่าจากปกติได้รับเงินเดือน เดือนละ 100 บาท เราค้าขายก๋วยเตี๋ยวชามละ 50 บาท แน่นอนเค้าทานได้ 2 ชาม แต่อยู่มาวันหนึ่งเค้าถูกลดเงินเดือนลง เหลือเดือนละ 95 บาท เค้าก็จะทานก๋วยเตี๋ยวของเราได้แค่ชามเดียวเท่านั้น และเหลือเงินอยู่อีก 45 บาท

3. Social and Culture – สังคมและวัฒนธรรม : เรื่องราวต่างๆ ในสังคมที่เกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงไป เช่น เมื่อก่อนคนไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเวลามากนัก ถ้าต้องเดินทางจากจังหวัด ก. ไปจังหวัด ข. การเดินทางโดยรถทัวร์จะใช้เวลา 10 ชั่วโมง และมีค่าใช้จ่าย 500 บาท แต่หากเดินทางด้วยเครื่องบินจะใช้เวลา 1 ชั่วโมง ซึ่งมีค่าใช้จ่าย 1000 บาท คนอาจจะเลือกการเดินทางโดยรถทัวร์เพราะประหยัดเงินได้เยอะพอสมควร แต่ในปัจจุบันคนให้ความสำคัญกับเวลามากขึ้นอาจจะเปลี่ยนแนวคิดไป กล่าวคือ ยอมเพิ่มเงินอีก 500 บาทเพื่อซื้อเวลาที่ต่างกัน 9 ขั่วโมง เป็นต้น หรือในปัจจุบันคนรักสุขภาพมากขึ้น ทำให้อาหารชีวจิตขายดีกว่าอาหารฟาสฟู๊ด เป็นต้น

4. Political and Legal – การเมืองและกฏหมาย : กฏหมายของแต่ละเมือง หรือแต่ละประเทศที่ต่างกัน ก็ส่งผลกระทบต่อการตลาดด้วยเช่นกัน เช่น หากในวันหนึ่งรัฐบาลออกกฏหมายห้ามจำหน่ายบุหรี่ คนที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ เลยนั่นก็คือ ผู้ผลิตบุหรี่นั่นเอง เพราะจะไม่สามารถขายได้ หรือการออกกฏห้ามโฆษณาเหล้าก่อนเวลา 22.00 น. ก็จะทำให้ประสิทธิภาพของการโฆษณาลดลง ยอดขายไม่ดีเท่าที่ควร เป็นต้น

5. Technology – เทคโนโลยี : เทคโนโลยีนั้นเปรียบเสมือนดาบ 2 คม มีทั้งด้านดีและด้านร้าย เช่น เมื่อก่อนคนอาจจะอยากกินแตงโมที่ไม่มีเมล็ดเพราะจะทำให้กินสะดวกมากขึ้น ดังนั้นผู้ผลิตจึงใช้เทคโนโลยีในการตัดต่อพันธุ์กรรมของแตงโม ทำให้กลายเป็นแตงโมไร้เมล็ด ซึ่งก็ทำให้ขายดีเป็นเทน้ำเทท่าเลยทีเดียว แต่อยู่มาวันหนึ่งแนวคิดของคนเปลี่ยนไป กล่าวคือ คนเกิดความคิดที่ว่าผลไม้ที่ตัดต่อพันธุ์กรรมนั้นไม่ปลอดภัย และตั้งใจจะเลิกรับประทานแตงโมที่ไม่มีเมล็ด โดยจะกลับไปทานแตงโมที่มีเมล็ดเหมือนเดิม ซึ่งแน่นอนว่าแนวคิดนี้กระทบต่อผู้ผลิตแตงโมไร้เมล็ดแน่นอน หรือในปัจจุบันนั้นผู้คนเข้าถึงอินเทอร์เนตได้มากขึ้น ซึ่งก็อาจจะเป็นช่องทางการขายที่กำลังขยายตัวเพิ่มมากขึ้นด้วย (E-Commerece) หรือแม้แต่การใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Networking) เป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสาร ทำการตลาดกับกลุ่มเป้าหมายก็ได้เช่นกัน

6. Nature – ธรรมชาติ : ธรรมชาติเป็นสิ่งที่เราไม่อาจจะคาดเดาได้ และส่งผลกระทบต่อการตลาดบ่อยครั้งเลยทีเดียว เช่น บริษัทของเราผลิตข้าวโพดกระป๋องส่งขายทั่วโลก แต่ปรากฏว่าปีนี้ทั้งปี ฝนตกหนักผู้จัดส่งข้าวโพด (Supplier) ไม่สามารถส่งวัตถุดิบ (ข้าวโพด) ให้บริษัทของเราได้ ก็จะทำให้บริษัทของเราประสบกับปัญหาอย่างใหญ่หลวงเลยทีเดียวเนื่องจากขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิตสินค้า ซึ่งก็จะทำให้ผู้บริโภคไม่สามารถหาซื้อข้าวโพดกระป๋องได้ เนื่องจากผลิตภัณฑ์นั้นขาดตลาด

สิ่งแวดล้อมภายนอก ระดับจุลภาค (Micro External Environment)

1. Supplier – ผู้จัดหาวัตถุดิบ : เป็นสิ่งที่อธิบายให้เห็นภาพได้ไม่ยาก เช่น ถ้า Supplier ไม่จัดหาวัตถุดิบมาให้กับเรา เราก็ไม่สามารถผลิต ผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดได้

2. Marketing Intermediaries – คนกลางทางการตลาด : มีหลายกลุ่มเช่น พ่อค้าคนกลาง (ค้าปลีก,ค้าส่ง), บริษัทกระจายและขนส่งสินค้า, คนกลางทางการเงิน ซึ่งกลุ่มเหล่านี้จะเป็นตัวกลางระหว่างบริษัทของเรากับผู้บริโภค ซึ่งต่อให้เราสามารถผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้มากมาย แต่เราไม่มีคนกลางในการนำผลิตภัณฑ์ของเราไปส่งต่อให้กับผู้บริโภค ผลิตภัณฑ์ของเราก็ไม่มีทางขายได้ เช่น บริษัทของเราผลิตเงาะกระป๋องออกมาและส่งไปขายที่ห้างเทสโก้โลตัส อยู่มาวันหนึ่งเทสโก้โลตัสบอกว่าจะไม่รับเงาะกระป๋องของเราไปขายอีกต่อไป แบบนี้เราก็แย่แน่นอน

3. Customer – ผู้บริโภค : แน่นอนว่าปลายทางของผลิตภัณฑ์ที่เราต้องการให้ไปถึงนั่นคือ กลุ่มผู้บริโภคที่เป็นเป้าหมายของเรา ซึ่งถ้าวันดีคืนดีพวกเขาเหล่านี้ต่อต้านผลิตภัณฑ์ของเรา และไม่ยอมเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ของเรา ก็จะส่งผลกระทบต่อบริษัทของเราโดยตรง

4. Competitors – คู่แข่ง : คู่แข่งนั้นคือ ร่างก็อปปี้ของเรา ไม่ว่ากระบวนการของเราจะเป็นอย่างไร คู่แข่งก็จะมีกระบวนการที่คล้ายกัน เช่น รับวัตถุดิบจากแหล่งเดียวกัน ส่งให้พ่อค้าคนกลางคนเดียวกัน กลุ่มผู้บริโภคกลุ่มเดียวกัน แต่คนละแบรนด์กับเรา นั่นจะทำให้ส่วนแบ่งทางการตลาดของเราถูกแบ่งไปสู่คู่แข่งในทันที ซึ่งคู่แข่งนั้นมี 2 ประเภทคือ คู่แข่งทางตรง คือ คู่แข่งที่มีผลิตภัณฑ์อยู่ในกลุ่มเดียวกับเรา เช่น บริษัทเราผลิตยาสีฟันกลิ่นมะม่วง แต่คู่แข่งเราผลิตยาสีฟันกลิ่นกล้วย พอลงสู่ตลาด ก็จะเป็นผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม ยาสีฟัน ซึ่งก็จะเป็นคู่แข่งกับเราโดยตรง ส่วนคู่แข่งประเภทที่ 2 นั้นคือ คู่แข่งทางอ้อม คือ คู่แข่งที่มีผลิตภัณฑ์คนละกลุ่มกับเรา ซึ่งอาจจะเป็นสินค้าทดแทนก็ได้ เช่น หากลูกค้าต้องการจะซื้อโน๊ตบุ๊คสักเครื่องหนึ่ง แต่ปรากฏว่าราคาสูงเกินไป ลูกค้าอาจจะเปลี่ยนใจไปซื้อคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะแทน ซึ่งเป็นการซื้อสินค้ามาเพื่อทดแทน หรือ กรณีที่ลูกค้าอยากดื่มโคล่า แต่ในร้านไม่มีขาย ลูกค้าอาจจะเลือกดื่มน้ำอัดลมชนิดอื่นแทน เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่ทุกๆ บริษัทก็จะเป็นคู่แข่งทางอ้อมกับบริษัทของเราอยู่แล้ว เช่น บริษัทของเราผลิตข้าวมันไก่ แต่บริษัทคู่แข่งผลิตสปาเก็ตตี้ ซึ่งดูเหมือนเป็นผลิตภัณฑ์คนละกลุ่ม คนละสไตล์กัน แต่ลองจินตนาการว่าในเที่ยงวันหนึ่ง ถ้าคุณเดินเข้าไปซื้อข้าวมันไก่แล้ว คุณจะยังคงซื้อสปาเก็ตตี้หรือไม่ ซึ่งก็คงจะไม่ซื้อ (ซื้อมาทำไมตั้ง 2 อย่าง) ซึ่งนั่นถือเป็นการแย่งตลาดด้วยเช่นกัน

สำหรับตอนที่ 1 นี้ผมขอจบไว้เพียงแค่เรื่อง External Environment นะครับ ตอนต่อไปผมจะมาพูดถึง Internal Environment ต่อครับ หากคุณผู้อ่านมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามเพิ่มเติม สามารถทวีตมาหาผมได้ที่ @jothailand744 นะครับ…สวัสดีครับ