การเขียนโฆษณา สื่อ สิ่งพิมพ์

เอกสารเกี่ยวข้องกับการโฆษณา
            ๑. ความหมายของภาษาโฆษณา

วิเศษ ชาญประโคน (๒๕๕๐, หน้า ๑๔๐) ได้สรุปความหมายของการโฆษณาว่า หมายถึง การเผยแพร่สาร แนวคิด กิจกรรม สินค้าหรือบริการต่าง ๆ ออกสู่สาธารณชนด้วยวิธีการและสื่อต่าง ๆ ที่เหมาะสม เพื่อโน้มน้าวจิตใจให้ผู้รับสารคล้อยตามและเกิดการกระทำ 

เสาวณีย์ สิกขาบัณฑิต (๒๕๓๓, หน้า ๑๐๔) ได้ให้ความหมายว่า การโฆษณา คือ การนำเสนอแนวความคิด สินค้าหรือบริการ สู้กลุ่มเป้าหมายโดยใช้เทคนิควิธีหรือสื่อที่เหมาะสมตามจุดมุ่งหมายของผู้สนับสนุน จากคำนิยามดังกล่าว การโฆษณาจึงหมายถึงการแผร่แพร่สาร แนวคิด กิจกรรม สินค้าหรือบริการต่าง ๆ ออกสู่สาธารณชนด้วยวิธีการและสื่อต่าง ๆ ที่เหมาะสม เพื่อโน้มน้าวจิตใจให้ผู้รับสารคล้อยตามและเกิดการกระทำ โฆษณา หมายถึง ส่วนประกอบทุกอย่างของการงานโฆษณา ถ้าเป็นโฆษณาผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ ได้แก่ ภาษา สัญลักษณ์ รูปภาพ ลวดลายต่าง ๆ ที่ปรากฏในโฆษณา ถ้าเป็นโฆษณาในสื่อวิทยุ หมายถึง บทบรรยาย บทสนทนา เสียงดนตรี แต่หากเป็นการโฆษณาผ่านสื่อโทรทัศน์ นอกจากจะหมายถึง ส่วนประกอบที่เหมือนโฆษณาผ่านวิทยุแล้ว จะมีส่วนที่เป็นภาพเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งส่วน

มยุรี บุญริ้ว (๒๕๔๖, หน้า ๑๒) ได้สรุปความหมายของการโฆษณาว่า หมายถึง การบอกกล่าว เล่าแจ้ง การนำเสนอข่าวสารเกี่ยวกับสินค้าประเภทต่าง ๆ เพื่อเรียกร้อง เชิญชวนให้ประชาชนสนใจในสิ่งที่นำเสนอ โดยมีจุดมุ่งหวังเพื่อขายสินค้าโดยตรง

เอส ดับบลิว. วิลเลียม แพททิส (๒๕๓๙, หน้า ๖ อ้างถึงใน รุ่งนภา พิตรปรีชา) ให้ความหมายไว้ว่า การโฆษณา หมายถึง การสื่อสารในรูปแบบใด ๆ ซึ่งเจตนา ที่จะกระตุ้นผู้ที่มีศักยภาพในการซื้อและการส่งเสริมในด้านการจำหน่ายสินค้าและบริการ รวมทั้งการสร้างประชามติ การกระทำเพื่อก่อให้เกิดการสนับสนุนต่อการเมือง การขายความคิดเห็นหรือเสนอความคิดเห็น หรือสาเหตุต่าง ๆ

อาร์เธอร์ วินเตอร์ส (๒๕๓๙, หน้า ๖ อ้างถึงใน รุ่งนภา พิตรปรีชา) ให้ความหมายไว้ว่า การโฆษณา หมายถึง การโฆษณาเป็นการสื่อสารโฆษณาที่มิใช่ตัวบุคคลต้องชำระเงินโดยผู้อุปถัมภ์ที่ระบุไว้ และมีจุดประสงค์ที่จะขายสินค้าบริการหรือให้ผู้ซื้อยอมรับความคิดเห็นในเรื่องหนึ่

มอริช ไอ. แมนเดลล์ (๒๕๓๙, หน้า ๖ อ้างถึงใน รุ่งนภา พิตรปรีชา) ได้ให้คำจำกัดความของการโฆษณาว่า การโฆษณา หมายถึง รูปแบบการส่งเสริมที่ผ่านสื่อโฆษณามิใช่ตัวบุคคล และต้องชำระเงินค่าโฆษณาโดยผู้อุปถัมภ์ ซึ่งการโฆษณานี้มีความหมายที่แตกต่างไป จากการส่งเสริมในรูปแบบอื่น ๆ การขายโดยพนักงาน และการส่งเสริมการจำหน่าย เป็นต้น

จากความหมายของการโฆษณาข้างต้น สรุปได้ว่า การโฆษณา หมายถึง การเผยแพร่ข้อมูล ข่าวสารเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการประเภทต่าง ๆ  ไปยังประชาชนให้ทราบและรับรู้ เพื่อโน้มน้าวใจให้เกิดการกระตุ้นในการเลือกซื้อสินค้าหรือบริการ 

๒. องค์ประกอบของการโฆษณา
                รุ่งนภา พิตรปรีชา (๒๕๓๙, หน้า ๑๗๐-๑๗๑) เรื่อง องค์ประกอบของการโฆษณาได้ศึกษาไว้ว่า  องค์ประกอบของการโฆษณาซึ่งแบ่งออกได้ ๔ ประเภท ใหญ่ ๑. ผู้โฆษณา หมายถึง ผู้ส่งสารหรือแหลงที่มาของสารโฆษณา ซึ่งจะต้องมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับงานด้านการตลาดของหน่วยงาน ในโฆษณาทุกชิ้นจะต้องมีการเปิดเผยตัวผู้โฆษณาให้ปรากฏด้วย เพื่อเป็นการแจ้งให้ทราบถึงที่มาของแหล่งสาร ผู้โฆษณามี ๓ ประเภท ได้แก่ ผู้โฆษณาขายส่ง ผู้โฆษณาขายปลีกและผู้โฆษณาแนวคิ
                 ๑. สิ่งโฆษณา สิ่งโฆษณา หมายถึง แบบโฆษณาที่ทำสำเร็จแล้ว ซึ่งปรากฏอยู่ในสื่อต่าง ๆ ที่นำเสนอเนื้อหาสาระเกี่ยวกับตัวสินค้าจากผู้โฆษณาไปยังกลุ่มเป้าหมาย สิ่งโฆษณาแบ่งออกเป็นสิ่งโฆษณาประเภทสิ่งพิมพ์ และประเภทกระจายเสียงและแพร่ภาพ องค์ประกอบของสิ่งโฆษณาประเภทสิ่งพิมพ์จะประกอบด้วย พาดหัว ภาพประกอบ ข้อความโฆษณา ชื่อเครื่องหมายและสัญลักษณ์ของโฆษณาและองค์ประกอบของสิ่งโฆษณาประเภทกระจายเสียงและแพร่ภาพ ได้แก่ คำพูด เพลงประกอบ เสียงประกอบ คำขวัญ และภาพสำหรับวิทยุโทรทัศน์
                . สื่อโฆษณา หมายถึง พาหะนำสารโฆษณาไปยังกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมาย แบ่งเป็น ๓ ประเภท ได้แก่ สื่อโฆษณาประเภทสิ่งพิมพ์ สื่อโฆษณามีความสำคัญต่อการรับรู้ การเตือนความจำผู้บริโภคเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ และมีบทบาทสำคัญในการเร่งเร้าการขาย ดึงดูดความสนใจผู้บริโภค ณ จุดขาย รวมถึงการกำหนดประสิทธิภาพของการโฆษณาว่า สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายประเภทใดในปริมาณเท่าใดด้วย
                . กลุ่มผู้บริโภคเป้าหมาย หมายถึง ผู้ซื้อผลิตภัณฑ์ใด ๆ ด้วยวัตถุประสงค์ใดวัตถุประสงค์หนึ่งและในราคาหนึ่ง ผู้ผลิตภัณฑ์นั้นอาจไม่ใช่ผู้ผลิตภัณฑ์เสมอไป ในทางโฆษณานั้นจึงได้ให้ความสำคัญของผู้ใช้สินค้าในฐานะที่เป็นผู้มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อด้วย กลุ่มผู้บริโภคเป้าหมาย มีความสำคัญมากต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ความพอใจและความต้องการใช้สินค้าของกลุ่มผู้บริโภค เป็นเรื่องที่นักการตลาดและโฆษณาให้ความสนใจอยู่เสมอ จึงได้แบ่งผู้บริโภคเป้าหมายออกเป็นกลุ่มต่าง ๆ  กลุ่มบริโภคเป้าหมายมีความสัมพันธ์ต่อเนื่องโฆษณาด้วย เพราะในการวางแผนสื่อโฆษณาถ้ารู้จักธรรมชาติของกลุ่มเป้าหมายและจะทำให้การวางแผนใช้สื่อเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

๓. ลักษณะของภาษาโฆษณา
                รุ่งนภา พิตรปรีชา (๒๕๓๙, หน้า ๑๗๒-๑๗๓) ได้แบ่ง ข้อความอธิบาย ๔ ประการ วิธีการใช้ภาษา ๕ วิธี และด้านวัจนภาษามี ๔ ประการ ดังนี้ 
                ๑. หน้าที่ของข้อความอธิบาย ในภาษาโฆษณาและการประชาสัมพันธ์
                    ๑.๑ เชื่อมต่อสนับสนุนพาดหัว ข้อความอธิบายทำหน้าที่เชื่อมต่อสนับสนุนพาดหัวโดยตรง พาดหัวเปรียบเสมือนแก่นสาระ ซึ่งข้อความอธิบายนั้นจะต้องสร้างความหมายให้อยู่ภายใต้กรอบของแก่นสาระเท่านั้น
                    ๑.๒ ระบุและให้ละเอียดของสินค้าและการประชาสัมพันธ์ ข้อความอธิบายจะระบุและให้รายละเอียดของสินค้าและการประชาสัมพันธ์ เพื่อโน้มนาวใจกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายให้คล้อยตาม ให้เชื่อมั่นในสินค้าและองค์การ
                    ๑.๓ มุ่งตอบสนองจุดขายและประเด็นหลัก ข้อความอธิบายทำหน้าที่ตอบสนองจุดขายและประเด็นหลักที่กล่าวถึงประโยชน์ สรรพคุณ การอ้างเหตุผลเพื่อให้เห็นความสำคัญและความน่าเชื่อถือของสินค้าและองค์กร
                    ๑.๔ เข้าถึงจิตใจกลุ่มบริโภคเป้าหมาย ข้อความอธิบายจิตใจกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายด้วยการเลือกใช้ภาษาที่กลุ่มนั้น ๆ ใช้ ซึ่งมีความชัดเจนและเข้าใจได้ง่าย
                ๒. วีธิการใช้ภาษาของข้อความอธิบาย มี ๕ วิธีตามประเภทของข้อความอธิบาย ดังนี้ 
                    ๒.๑ ข้อความอธิบายมุ่งสู่จุดขายและประเด็นหลักโดยตรง ภาษาที่ใช้มุ่งชี้ให้เห็นจุดขายและประเด็นหลักโดยการใช้ลีลาและอารมณ์ที่สะท้อนด้วยเหตุผลหรืออารมณ์ก็ได้
                    ๒.๒ ข้อความอธิบายแบบใช้ประสบการณ์ของชีวิต มีการใช้เชิงบรรยายและพรรณาโวหารเป็นหลัก ซึ่งเป็นการเล่าเรื่องราวหรือเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายเพื่อให้เกิดความเข้าใจและความรู้สึกซาบซึ้ง เกิดอารมณ์คล้อยตาม ใช้ถ้อยคำเชื่อมโยงให้เห็นคุณค่าและประโยชน์ของจุดขายและประเด็นหลัก
                    ๒.๓ ข้อความอธิบายเชิงสนทนาบอกกล่าวจากผู้ที่น่าเชื่อถือ ผู้ที่น่าเชื่อถือ หมายถึง ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความเชี่ยวชาญรอบรู้และเป็นที่ยอมรับ หรือเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักของผู้บริโภคเป้าหมายหรือเป็นบุคคลที่มีประสบการณ์การใช้สินค้าและเข้าร่วมโครงการ เพื่อสร้างการยอมรับและความน่าเชื่อถึงให้แก่การโฆษณาและการประชาสัมพันธ์ให้มีมากยิ่งขึ้น วิธีการนำเสนออาจใช้การอ้งอิงเต็มรูปแบบโดยให้ผู้น่าเชื่อถือ ซึ่งได้รับคัดเลือกแล้วมาให้รายละเอียด หรือเพียงอ้างชื่อและภาพ
                    ๒.๔  ข้อความอธิบายโดยใช้ภาพชุด ข้อความอธิบายประเภทนี้มีการใช้ภาพหลายภาพที่เกี่ยวข้องกันเป็นชุดพร้อมคำอธิบายภาพสั้น ๆ กะทัดรัดช่วยเสริมความชัดเจนของเนื้อหาที่นำมาเล่า

         ๒.๕ ข้อความอธิบายเน้นความแปลกใหม่ เพื่อให้เกิดพลังในการสร้างความหมาย มักใช้บทกวี คำ ภาษาต่างประเภท ปรัชญา อารมณ์ขัน และประสบการณ์ของชีวิตเพื่อสร้างความแปลกใหม่

๓. วัจนภาษา หมายถึง ภาษาถ้อยคำที่ใช้ในการสื่อสารเป็นการใช้ตัวอักษรและถ้อยคำในการสื่อความหมายระหว่างผู้ส่งสารและผู้รับสาร เป็นข้อความและถ้อยคำทุกส่วนที่ประกอบกันขึ้นเป็นชิ้นงานโฆษณาที่สามารถสื่อความหมายได้ เป็นส่วนสำคัญที่ผู้ติดคำโฆษณาจะต้องสร้างสรรค์เพื่อสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสำหรับภาษาโฆษณาที่ใช้เพื่อการสื่อสารกับผู้บริโภค ได้แก่

     ๓.๑ ชื่อสินค้า ได้แก่ ชื่อหรือถ้อยคำที่เจ้าของสินค้าหรือบริการได้กำหนดขึ้นเพื่อใช้เรียกสินค้า หรือบริการเหล่านั้น ซึ่งจะมีลักษณะสำคัญคืออ่านง่าย จำได้ง่าย ออกเสียงสะกด มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่เหมาะสมกับบุคลิกภาพและจินตภาพของสินค้า

     ๓.๒ พาดหัว ได้แก่ ข้อความที่ใช้ขึ้นต้นงานโฆษณาชิ้นหนึ่ง ๆ ที่มีลักษณะดึงดูดให้สนใจทันทีที่เห็น

     ๓.๓ คำขวัญ ได้แก่ ข้อความสั้น ๆ ที่บอกเอกลักษณ์ของสินค้าหรือบริการ สามารถจดจำง่าย มีความคล้องจองมีจังหวะและน้ำหนัก ทำหน้าที่เชื่อมโฆษณาหลาย ๆ ชิ้น ของสินค้าให้เกิดความเป็นเอกภาพ และสื่อความหมายต่อเนื่องกัน

     ๓.๔ คำบรรยายใต้ภาพ เป็นคำบรรยายที่เพิ่มพูนความเข้าใจให้แก่ภาพ และไม่ซ้ำกับความหมายที่บ่งบอกอยู่แล้ว

ดวงทิพย์ วรพันธุ์ (๒๕๓๗, หน้า ๘๐๖) เรื่อง อวัจนภาษาที่ใช้ในภาพยนตร์และวิทยุโทรทัศน์ ได้ศึกษาไว้ว่า อวัจนภาษา หมายถึง ส่วนอื่นที่ประกอบขึ้นเป็นชิ้นงานโฆษณานอกเหนือจากถ้อยคำ ข้อความและสามารถสื่อความหมายได้ ช่วยให้โฆษณาชิ้นนั้นเด่น สะดุดตา น่าสนใจและมีความหมายลึกซึ้งกว่าการใช้ถ้อยคำโฆษณาแต่เพียงอย่างเดียว ลักษณะของอวัจนภาษาที่ปรากฏในแต่ละสื่อความหมายแตกต่างกันไป ได้แก่

๑. ภาพโฆษณา เป็นองค์ประกอบสำคัญในสื่อโฆษณาประเภทวิทยุโทรทัศน์ ภาพโฆษณาเป็นภาพเคลื่อนไหวได้ จึงสามารถสื่อความหมายไปยังผู้บริโภคได้ดี และภาพประกอบ เป็นองค์ประกอบสำคัญในสื่อโฆษณาประเภทสิ่งพิมพ์ ภาพประกอบต่างจากภาพโฆษณาตรงที่ภาพโฆษณาเป็นภาพเคลื่อนไหว แต่ภาพประกอบเป็นภาพนิ่ง เป็นภาพที่ช่วยดึงดูดความสนใจของผู้อ่านหรือผู้ดูสื่อโฆษณา ช่วยอธิบายสิ่งที่เป็นความคิด ความรู้สึกหรือสิ่งใด ๆ ที่เป็นนามธรรมได้ดีกว่าใช้ภาษาที่เป็นถ้อยคำเพียงอย่างเดียว

๒. สี ในโลกปัจจุบันมนุษย์จึงอยู่ท่ามกลางสีสัน ซึ่งนอกจากบอกสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเราล้วนยังมีอิทธิพลต่อจิตใจ ความรู้สึกนึกคิดของเราด้วย เช่น สัญญาณไฟแดงบอกให้หยุด เมฆหมอกสีเทาจะเตือนให้รู้ว่ามีพายุฝน ห้องน้ำสีน้ำเงินช่วยให้เราหายเครียด ต้นไม้สีเขียวทำให้รู้สึกสดชื่น เครื่องแต่งกายสีดำเตือนใจให้เราโศกเศร้าและหม่นหมองและสีขาวเป็นประเพณีสำหรับเจ้าสาว เป็นต้น แม้สีจะไม่ทำให้เกิดการตัดกันของเงาเข้มดังเช่นสีขาว-ดำ สีก็สามารถเนรนิตให้ทุกสิ่งสวยได้ จึงไม่น่าแปลกใจว่าผู้สร้างภาพยนตร์และผู้ผลิตรายการโทรทัศน์จึงเลือกใช้สีมากกว่าสีขาว-ดำ การใช้สีนั้นใช่ว่าจะเลือกใช้สีอะไรก็ได้ตามใจผู้สร้างหรือผู้ผลิตรายการโดยคิดว่าผู้ชมชินต่อสีทุกสี การเลือกใช้สีในภาพยนตร์และโทรทัศน์ต้องอาศัยทฤษฎีของสีและศิลป์คืออิทธิพลสีประกอบกันเพื่อสื่อความหมายให้สมจริง ไม่ว่าสีนั้นจะอยู่ในวรรณะสีร้อนหรือวรรณะสีเย็น เช่น
            สีแดง เป็นสีที่ให้ความรู้สึกอบอุ่น, เพิ่มพลัง, กระตุ้นลมหายใจและแรงดันโลหิตมักใช้เป็นสีแห่งเลือด, อันตรายไฟ, ความเร่าร้อน, ความตื่นเต้น, ความแข็งแกร่ง, ความเข้มแข็ง, มีพละกำลัง, ความโกรธ, แจ่มใส, กล้าหาญ, ไฟ, ร้อนแรง, การเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว, ความปรารถนา, เลือด, มีชีวิตชีวา, ความรัก, การอยู่รอด สงคราม, อันตราย, การปฏิวัติแข็งกร้าว, พลังอำนาจ, เด็ดเดี่ยว
            สีแดงสด ความสนุกสนาน, เรื่องทางเพศ, กิเลส, ความเฉียบแหลม, ความรัก, ความลังเล
            สีแดงเข้ม ความมุ่งมั่น, ความคลั่งไคล้, ความโกรธ, ความตึงเครียด, ความเป็นผู้นำ
            สีชมพู อบอุ่น, มีพลัง, ความสมดุล, กระตือรือร้น, มีชีวิตชีวา, พละกำลัง, ขยับขยาย, หรูหรา, ตื่นเต้น, เป้าหมายธุรกิจ, การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์, ทะเยอทะยาน, ความสำเร็จ, เกี่ยวกับกฎหมาย, การขาย, การแสดง, ดวงอาทิตย์, เป็นมิตร, สนุกสนาน, เข้มแข็ง, อดทน, รอบรู้, การกุศล, น่าหลงใหล, ความสุข, เป็นมิตร, กำลังใจ, อบอุ่น, น่าสนใจ, อิสระ

สีชมพูอ่อน วัยแรกรุ่น, บอบบาง

สีชมพูสด วัยรุ่น, กำลัง, มีเจตนาดี

สีเหลือง เป็นสีสว่าง เปล่งปลั่งแทนแสงอาทิตย์ในทิศตะวันออก สัญลักษณ์ของมนุษย์ยุคป่าเถื่อน มักใช้โน้มน้าวใจให้ผู้ชมมีความสุขและผจญภัย บางครั้งใช้เป็นสีแทนความขลาดกลัวพระอาทิตย์, ฉลาด, เบา, ความทรงจำ, จินตนาการ, แสงอาทิตย์, ความสุข, พลังงาน, มองโลกในแง่ดี, บริสุทธิ์, กระตือรือร้น, อบอุ่น, มีเกียรติ, ภักดี, ความชัดเจน, แนวคิด, ความเข้าใจ, เฉียบแหลม, ทรยศ, ไม่ซื่อ, ขึ้หึง, อ่อนแอ, ระมัดระวัง, ผู้ตาม, มั่นใจ, อารมณ์ขัน, เพ้อฝัน, ความคิดสร้างสรรค์

สีเหลืองอ่อน สดชื่น, สนุกสนาน, รอบรู้

สีครีม ความเงียบ, ร่าเริง, สงบ, บริสุทธิ์, นุ่มนวล, อบอุ่นมากกว่าสีขาว

สีฟ้า เป็นสีบอกเวลากลางคืนซึ่งมนุษย์กลับคืนสู่เหย้าอย่างปลอดภัย ลดความเครียดของร่างกาย เป็นสีแห่งความจงรักภักดี เชื่อกันว่าเป็นสีที่แทนความรู้สึกนึกคิดได้ดีที่สุด โชคดี, การติดต่อสื่อสาร, ฉลาดเฉียบแหลม, การป้องกัน, แรงบันดาลใจ, สงบ, นุ่มนวล, น้ำ, ทะเล, ความคิดสร้างสรรค์, ลึกลับ, ท้องฟ้า, ท่องเที่ยว, อุทิศตัว, ความก้าวหน้า, อิสระ, ความรัก, ความเชื่อใจ, เห็นอกเห็นใจ, ความเศร้า, ความกลุ้มใจ, ความมั่นคง, เป็นปึกแผ่น, ความเข้าใจ, ความมั่นใจ, การยอมรับ, การอนุรักษ์, ความปลอดภัย, คำสั่ง, สะดวกสบาย, หนาวเย็น, เทคโนโลยี, ปัญญา, ความคิด, การแบ่งปัน, ความร่วมมือกัน, ความจริงใจ, ผ่อนคลาย, มิตรภาพ, อดทน

สีน้ำเงิน ความร่ำรวย หนาวเย็น สีน้ำเงินเข้ม ความลึก, เชี่ยวชาญ, มั่นคง, น่าเชื่อถือ, อบอุ่น, อำนาจ, ความจริงจัง, สุขภาพ, ความรู้, กฏหมาย, ตรรกะ, ปลอดโปร่ง สีเขียว เป็นสีเย็นแทนใบไม้ผลิ ป่า แทนความคงทนต่อการเปลี่ยนแปลงใด, หนุ่มสาว, มั่นคง, ทนทาน, สดชื่น, ธรรมชาติ, สิ่งแวดล้อม, เงียบสงบ, อมตะ, สุขภาพ, การรักษา, โชคดี, หึงหวง, สามัคคี, ใจกว้าง, ปลอดภัยอิจฉา, โชคร้าย, การทูต, สนุกสนาน, สมดุล, ไม่มีประสบการณ์, แบ่งปัน, มิตรภาพ

สีเขียวเข้ม การเงิน, ทะเยอะทะยาน, โลภ, หึงหวง, ช่วยให้เกิดความมุ่งมั่น

สีส้ม เป็นสีของความกระฉับกระเฉงว่องไว มีความสุข สุขภาพ ที่เต็มไปด้วยพลัง ถ้ามีแสงสีนี้มากเกินไปจะกลายเป็นคนเย่อหยิ่ง สีนี้ยังเป็นสีที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อด้วย

สีส้มมัวหม่น หรือ ส้มปนน้ำตาล แสดงถึงปัญญาต่ำ ถ้าสีส้มแดงหมายถึง เย่อหยิ่ง อวดฉลาด

สีม่วง อิทธิพล, ดวงตาที่สาม, ทรงเจ้า, พลังวิเศษ, เกียรติยศ, แรงบันดาลใจ, ราชวงศ์, อำนาจลึกลับ, การเปลี่ยนแปลง, ฉลาด, เชี่ยวชาญ, จินตนาการ, ร่ำรวย, ฟุ่มเฟือย, อิสระ, ไสยศาสตร์, ความคิดสร้างสรรค์, พลังงาน, ความมั่นใจในตัวเอง, ถือตัว, ทะเยอทะยาน, หรูหรา, กำไร

สีดำ การปกป้อง, รังเกียจ, อำนาจ, เชี่ยวชาญ, เป็นทางการ, หรูหรา, ร่ำรวย, ลึกลับ, ความกลัว, ปิศาจ, ความทุกข์, ความเศร้า, ความโกรธ, สำนึกผิด, โชคร้าย, ความลับ, เข้มแข็ง, เชื่อถือ, จริงจัง สีขาว เป็นสีแทนความบอบบาง บริสุทธิ์ เยือกเย็น สงบ สะอาด สง่างาม

สีเงิน เสน่ห์, ไฮเทค, สง่างาม, โทรจิต, ญาณทิพย์, เพ้อฝัน, พลังหญิง, การสื่อสาร, เทพธิดา, ร่ำรวยหรูหรา, สมัยใหม่

สีทอง ร่ำรวย, พระเจ้า, ชัยชนะ, ปลอดภัย, อำนาจของผู้ชาย, ความสุข, ขี้เล่น, เคารพ, เฉียบแหลม, น่าเกรงขาม, ปรารถนาอำนาจ, อำนาจลึกลับ, วิทยาศาสตร์, ความมุ่งมั่น

สีเทา ปลอดภัย, เชื่อถือได้, ฉลาด, มีเกียรติ, เงียบขรึม, ถ่อมตัว, อนุรักษ์นิยม, สำหรับคนแก่, เศร้าเสียใจ, น่าเบื่อ, มืออาชีพ, เชี่ยวชาญ, ทนทาน, มีคุณภาพ, เงียบขรึม, หม่นหมอง

๓. ตัวอักษร ซึ่งมีหลักในการออกแบบตัวอักษร ๓ หลัก ใหญ่ ๆ คือ ขนาดของตัวอักษรต้องมีความเหมาะสม รูปแบบของตัวอักษรต้องชัดเจน สวยงาม ดึงดูดความสนใจ  และอ่านง่าย นอกจากนี้สี ของของตัวอักษรก็เป็นส่วนที่เน้นข้อความให้เด่นมากยิ่งขึ้นเป็นอวัจนภาษาอีกอย่างหนึ่ง ที่ช่วยสื่อความหมายต่าง ๆ ได้ เช่น ตัวอักษรที่พลิ้วไหว บอกถึงความอ่อนโยน ตัวอักษรตรง ๆ หนา ๆ บอกถึงความหนักแน่น น่าเชื่อถือ ตัวอักษรบางชนิด เป็นต้น

.ตัวอย่างโฆษณา

 

การเขียนโฆษณา สื่อ สิ่งพิมพ์
       
การเขียนโฆษณา สื่อ สิ่งพิมพ์

ข้อความสนับสนุนตอนท้าย

เป็นข้อความส่วนสุดท้ายของโฆษณาและการประชาสัมพันธ์ เพื่อสรุปให้กลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายจดจำผลประโยชน์ของสินค้าและการประชาสัมพันธ์ก่อนจบการโฆษณาและการประชาสัมพันธ์ โดยทั่วไปข้อความสนับสนุนตอนท้ายมักประกอบด้วยข้อความสรุป ชื่อตราสินค้าและองค์การและคำขวัญ บางครั้งมีการจัดวางข้อความตอนท้ายนี้ให้โดดเด่นออกมาจากข้อความอธิบาย หรือแยกคำขวัญออกมา ประเภทคำขวัญแบ่งได้ ๔ ประเภท ดังนี้

๑. คำขวัญที่บอกลักษณะเด่นของผลิตภัณฑ์ หรือองค์การ ได้แก่ คำขวัญที่บอกให้ทราบถึงเอกลักษณ์ หรือคุณสมบัติที่เด่นของสินค้าหรือบริการ

๒. คำขวัญที่บอกถึงประโยชน์ของผลิตภัณฑ์หรือองค์การ ได้แก่ คำขวัญที่บอกให้ทราบว่าสินค้านั้นใช้ทำอะไร องค์การนั้นใช้บริการอะไร ให้ประโยชน์หรือขจัดปัญหาให้ผู้บริโภคได้อย่างไร

๓. คำขวัญที่ใช้ป้องกันการใช้ผลิตภัณฑ์หรือใช้บริการขององค์การอื่นแทน ได้แก่ คำขวัญที่ต้องการให้ผู้บริโภคได้ใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้น ๆ ตลอดไป ไม่ไปใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการอื่นแทน โดยพยายามให้ลูกค้าจดจำชื่อหรือสัญลักษณ์ของผลิตภัณฑ์หรือองค์การนั้นเป็นอย่างดี

๔. คำขวัญที่สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ผลิตภัณฑ์หรือองค์การ ได้แก่ คำขวัญที่ไม่ได้มุ่งขายสินค้าหรือบริการโดยตรง แต่พูดถึงความก้าวหน้าความเป็นเลิศขององค์การหรือผลิตภัณฑ์ หรือพูดถึงสิ่งที่องค์การหรือเจ้าของผลิตภัณฑ์นั้นจะช่วยทำเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม

ส่วนลักษณะการใช้ภาษาในคำขวัญที่ดี การใช้ถ้อยคำภาษาในคำขวัญการโฆษณาที่ดี ควรมีลักษณะต่อไปนี้

          ๑. ใช้รูปวลีหรือประโยคที่สั้น กะทัดรัด ได้ใจความ

          ๒. ใช้กลวิธีในการซ้ำคำหรือเล่นคำให้เด่น น่าสนใจ

          ๓. ใช้กลวิธีในการเล่นสัมผัสคล้องจอง อาจเป็นสัมผัสสระหรือสัมผัสพยัญชนะก็ได้

          ๔. ใช้ถ้อยคำที่ถูกต้องตามลักษณะภาษาไทย

          ๕. ใช้ถ้อยคำที่ให้ภาพพจน์สื่อความหมายได้ชัดเจน

          ๖. ใช้ถ้อยคำที่มีจังหวะสม่ำเสมอ สนุกสนาน และง่ายต่อการจดจำ

          ๗. ใช้ถ้อยคำที่เป็นชื่อสินค้าอยู่ในคำขวัญด้วยจะช่วยในการจดจำ และไม่เกิดความสับสนกับสินค้าอื่น

          ๘. ใช้ถ้อยคำเหมาะสมกับสินค้าและผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย

          ข้อความตอนท้ายสะท้อนให้เห็นว่า มีการใช้ภาพและคำอธิบายสั้น ๆ เป็นข้อความสนับสนุนตอนท้าย มักนิยมใช้ในการประชาสัมพันธ์ด้วย แผ่นพับ และโปรเตอร์ มีข้อความสนับสนุนตอนท้ายจะผนวกเข้าไปรวมกับข้อความอธิบาย ถ้าเป็นการโฆษณาและการประชาสัมพันธ์ผ่านการรับรู้โดยการฟังและการเห็น และการฟังเพียงอย่างเดียว และมีแนวโน้มในนิตยสารนิยมใช้ภาพเป็นหลัก และมีชื่อตราสินค้าและองค์การ และคำอธิายสั้น ๆ หรือคำขวัญเท่านั้น ทำหน้าที่พาดหัว ข้อความอธิบายและข้อความสนับสนุนตอนท้ายไปพร้อม ๆ กัน ในวิทยุโทรทัศน์มักใช้เพียงภาพและเสียงเป็นพาดหัวและข้อความอธิบาย ส่วนข้อความสนับสนุนตอนท้ายมักจบด้วยคำขวัญเป็นส่วนใหญ่

 รูปแบบของการเขียนเพื่อการโฆษณา

การเขียนเพื่อการโฆษณา แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท ได้แก่
             ๑. การเขียนโฆษณารณรงค์
             ๒. การเขียนโฆษณาเพื่อการค้า

        ๑. การเขียนโฆษณารณรงค์เพื่อสังคม

             ในการสร้างสรรค์งานโฆษณานักโฆษณาต้องมีความรู้ความสามารถในการริเริ่มและคิดค้นวิธีการที่แปลกใหม่ที่ไม่ซ้ำกับงานโฆษณาชิ้นอื่น ๆ แต่ยังคงตามความต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับสินค้าในกลุ่มประเภทเดียวกัน ความแปลกใหม่ที่ควบคู่ไปกับความสวยงามและชวนติดตามจะมีส่วนเพิ่มประสิทธิภาพ การสื่อสารเนอย่างมาก โดยเฉพาะสินค้าประเภทที่มีระดับการแข่งขันค่อยข้างสูง จำเป็นต้องคิดค้นเทคนิคแปลกใหม่ในการเสนอข่าวสารของตน เพื่อเรียกร้องความสนใจให้เกิดขึ้นทันทีจากผู้บริโภค และช่วยย้ำเตือนความทรงจำของผู้บริโภคไว้ตลอดเวลาด้วย 

รูปแบบการโฆษณากับสังคม

    พจนา สัจจาศิลป์ (๒๕๕๔, หน้า ๒๗ ๓๓) ได้จำแนกการโฆษณารณรงค์เพื่อสังคมไว้ ๒ รูปแบบ ใหญ่ ๆ คือ
                    ๑. การโฆษณาสถาบัน
                    ๒. การโฆษณาเพื่อบริการสาธารณะ

 ๑. การโฆษณาสถาบัน
                การโฆษณาสถาบัน หรือการโฆษณาเพื่อสร้างภาพพจน์ของสถาบัน หมายถึง การโฆษณาที่เน้นการสร้างภาพลักษณ์ทางบวกเพื่อให้ผู้บริโภคเกิดทัศนคติที่ดีต่อหน่วยงาน ส่วนใหญ่การทำโฆษณาลักษณะนี้บริษัทผู้ผลิตสินค้าและบริการจะต้องเป็นผู้นำ ทางการตลาดของสินค้าและบริการมาเป็นระยะเวลานาน จนเป็นที่จดจำของผู้บริโภคสินค้า เช่น บริษัท บุญรอด บริวเวอรี่ จำกัด โฆษณาเน้นความเป็นไทย วัฒนธรรมไทย หรือบริษัทที่ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจ เช่น โฆษณาของกลุ่มชินวัตร หรือ AIS โฆษณาเน้นการกระจายการศึกษาความเจริญไปสู่ชนบท รวมทั้งบริษัทที่มีสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคม เช่น บริษัท มิสทีน จำกัดโฆษณาเน้นให้คนไทยหันมาใช้สินค้าไทย
                การโฆษณาสถาบันเป็นการโฆษณาเพื่อประโยชน์ส่วนรวมในรูปแบบของการบริการสังคมและสาธารณะ ทำให้ผู้บริโภคมีภาพลักษณ์หรือภาพพจน์ที่ดีต่อบริษัทและหน่วยงานต่าง ๆ สามารถลดการต่อต้านต่อบริษัทเพื่อสร้างความเป็นมิตรไมตรีต่อผู้บริโภคส่วนรวมในสังคม
                การโฆษณาชนิดนี้ เป็นการโฆษณาที่หวังผลระยะยาว ซึ่งบริษัทผู้ผลิตสินค้าและบริการรวมทั้งหน่วยงานองค์กรรัฐ รัฐวิสาหกิจ ซึ่งจะต้องชำระเงินสำหรับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ทั้งค่าธรรมเนียมในการสร้างสรรค์งานของบริษัทโฆษณา ค่าซื้อสื่อโฆษณาซึ่งมีราคาสูงมากโดยเฉพาะทางสื่อวิทยุโทรทัศน์ แต่โฆษณาเพื่อสถาบันก็สามารถสร้างชื่อเสียงให้กับบริษัทและหน่วยงานต่าง ๆ ได้ในฐานะที่เป็นผู้อุปถัมภ์ โดยทางอ้อมนั่นเอง
            ๒. การโฆษณาเพื่อบริการสาธารณะ
                การโฆษณาเพื่อการบริการสาธารณะ หมายถึง การโฆษณาที่สื่อมวลชนกำหนดเนื้อที่ในการลงโฆษณา โดยบริษัทผู้ผลิตสินค้าและบริการรวมทั้งหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ไม่ต้องชำระค่าใช้จ่ายในการซื้อเนื้อที่และเวลา สำหรับการลงโฆษณาทางสื่อต่าง ๆ ได้แก่ หนังสือพิมพ์ นิตยสารและวิทยุโทรทัศน์แต่อย่างใด หน่วยงานที่ทำโฆษณาประเภทนี้ได้แก่ บริษัทผู้ผลิตสินค้า และบริการที่เป็นผู้นำในตลาดสินค้ารวมทั้งหน่วยงานหรือองค์กร ที่ไม่แสวงหาผลกำไร และไม่มีผลประโยชน์ทางธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง
๒. การเขียนโฆษณาเพื่อการค้า
        การโฆษณาเป็นสื่อสำคัญในการโน้มน้าวใจลูกค้าให้เกิดความต้องการในการเลือกสินค้าและบริการ การเขียนข้อความโฆษณาจึงเป็นสิ่งสำคัญ หลักการเขียนข้อความโฆษณาเป็นสิ่งที่สามารถเรียนรู้และฝึกฝนจนชำนาญได้
        การเขียนข้อความในการโฆษณาสินค้าควรพิจารณาถึงสิ่งต่อไปนี้
            ๑. ใช้ภาษาทีคำนึงถึงผู้รับสารว่าเป็นเพศใด วัยใด อาชีพใด รายได้เป็นอย่างไรการศึกษามากน้อยเพียงใด เพราะจะทำให้เราใช้ภาษาได้อย่างมีผล
            ๒. การเขียนข้อความโฆษณาต้องดึงดูดความสนใจ เค้าอยากได้ในผลิตภัณฑ์หรือบริการที่เรานำเสนอ        ๓. ภาษาที่ใช้ต้องสั้น กะทัดรัด ไม่เยิ่นเย้อจนเกินไป เพราะการโฆษณาทางวิทยุโทรทัศน์ หรือแผ่นป้ายกลางแจ้ง คนดูคนฟังสามารถรับได้ในเวลาจำกัด ฉะนั้นถ้าข้อความยาวเกินไปจะทำให้ไม่สามารถรับสารได้ การโฆษณาก็ไม่เกิดผล
            . การใช้ภาษาในการโฆษณาอาจจะไม่ถูกแบบแผนทางไวยากรณ์บ้างก็ได้ แต่มิได้หมายความว่าการใช้ภาษาที่ผิดไวยากรณ์จะเป็นสิ่งที่ดีเสมอไป เพราะบางครั้งการใช้ประโยคที่ผิดไวยากรณ์จะทำให้สื่อความหมายผิดได้
            ๔. ภาษาที่ใช้ต้องกระตุ้นให้ผู้บริโภคเกิดความอยากได้ อยากซื้อ อยากทดลองใช้บ้าง ภาษาจึงต้องยั่วยุ เร่งเร้าให้ตัดสินใจซื้อหรือต้องการทันที่
            ๕. ภาษาที่ใช้ต้องให้ความกระจ่างชัดในสินค้านั้นว่าเป็นสินค้าชนิดใด ประเภทใด ใช้ทำอะไร มีประโยชน์อย่างไร และหาซื้อได้ที่ไหน

  การเขียนข้อความในการโฆษณาสินค้านั้น มักจะประกอบด้วย ๓ ส่วนใหญ่ ๆ คือ
            ๑. พาดหัว เป็นข้อความที่เร่งเร้าความสนใจจากผู้บริโภคให้สนใจโฆษณาชิ้นนั้น พาดหัวมักจะเขียนเป็นตัวอักษรตัวใหญ่ ไม่ยาวจนเกินไป เช่น โฆษณาของธนาคารไทยพาณิชย์ ขึ้นต้นพาดหัวว่า คุณจะรอให้ฝันเป็นจริง เมื่ออายุ ๙๕ หรือ?”
            ๒. รายละเอียดขยายพาดหัว เป็นข้อความที่ให้รายละเอียดในพาดหัวว่าเป็นสินค้าหรือบริการชนิดใด เป็นอย่างไร มีประโยชน์หรือวิธีการอย่างใด และจะหาซื้อหรือใช้บริการได้ที่ไหน เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ขยายพาดหัวว่า แม้คุณเพิ่งเริ่มทำงานเพื่อก่อสร้างตัว แต่คุณก็สามารถจะมีพร้อมในทุกสิ่งทุกอย่างที่จะทำให้ทุกช่วงวงจรชีวิตของคุณดีขึ้นด้วยสินเชื่อวงจรชีวิตของธนาคารไทยพาณิชย์ เพื่อการศึกษาที่ดี เพื่อที่อยู่อาศัย เพื่อสิ่งอำนวยความสุข เพื่อสวัสดิการต่าง ๆ แม้ยามป่วยไข้ เพื่อการลงทุน หรือแม้กระทั่งเพื่อการท่องเที่ยวเดินทางด้วยความใส่ใจรอบคอบในการให้บริการ ธนาคารไทยพาณิชย์พร้อมที่จะช่วยคุณด้วยน้ำใจ สอบถามlสินเชื่อวงจรชีวิตได้ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ทุกสาขา
            ๓. คำขวัญ เป็นคำสั้น ๆ กะทัดรัด และเป็นคำที่ติดปากอยู่เสมอ ส่วนใหญ่จะเป็นข้อความที่มีสัมผัสเพื่อให้จดจำง่าย ๆ เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ปิดท้ายโฆษณาด้วยคำขวัญว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารแห่งแรก มั่งคงด้วยรากฐานบริการด้วยน้ำใจ

การพาดหัวโฆษณา
                การพาดหัวในการโฆษณามีความสำคัญมาก เพราะเป็นสิ่งที่จะทำให้ผู้พบเห็นสะดุดตา สะดุดใจ และหันมาสนใจข้อความที่โฆษณานั้น การพาดหัวอาจทำได้หลายแบบ ดังนี้

          ๑. พาดหัวแบบข่าว คือ การเขียนแบบบอกกล่าวหรือรายงานสินค้าบริการนั่นให้ทราบ หรือมีข่าวดีสำหรับสินค้านั้น ๆ เช่น ด่วน สั่งตรงจากนอก (เครื่องเสียงติดรถยนต์ออดิโอ โปร)

          ๒. พาดหัวแบบคำแนะนำ คือ เป็นการกล่าวแนะนำสินค้าหรือประโยชน์ของสินค้าว่ามีข้อดีอย่างไร และท้าทายให้พิสูจน์ เช่น ถ้าคุณกำละงมองหน้าครีมทาเส้นเท้าแตกมือลอก ผิวที่แข็งกระด่าง (หมอมวลชน)

          ๓. พาดหัวแบบเร้าความสนใจ หรือก่อให้เกิดความอยากรู้อยากเห็น คือ การที่เร่งเร้าให้ผู้อ่านเกิดความอยากรู้อยากเห็น หรือสนใจอยากติดตาม เช่น ที่รัก ผมผิดไปแล้ว เห็นรูปร่างคล้ายกันก็เลยซื้อมา (หม้อหุงข้าวไฟฟ้า SHARP)

          ๔. พาดหัวแบบเจาะจงกลุ่ม คือ การเขียนที่กล่าวถึงกลุ่มผู้ใช้สินค้าชนิดนั้น ๆ เช่น บนข้อมือบุคคลชั้นนำ ท่านจะพบแต่ราโดเท่านั้น (นาฬิกาข้อมือ)

          ๕. พาดหัวแบบคำสั่ง คือ การเขียนในทำนองสั่งหรือให้ทดลองใช้เพราะเป็นสิ่งที่ดีสำหรับผู้ใช้เอง เช่น ดื่มเป๊ปซี่ดีที่สุด (น้ำอัดลม)

          ๖. พาดหัวแบบอธิบายภาพ คือ การเขียนข้อความที่ต้องอาศัยภาพในการโฆษณาประกอบกัน เช่น ถ้าภาพนี้เป็นสี คุณคงรู้ว่าขณะนี้มีทั้ง (เป็นภาพยาอมดีกัวดินรสมะนาว และดีกัวดินรสสตรอเบอรี่)

          ๗. พาดหัวแบบคำถาม คือ เป็นการเขียนข้อความที่เป็นคำถาม ถามผู้อ่านว่าต้องการสิ่งนั้นมีสภาพเป็นเช่นนั้นหรือไม่ เช่น คุณจะรอให้ฝันเป็นจริงหรือไม่ (ธนาคารไทยพาณิชย์)

          ๘. พาดหัวแบบอธิบาย หรือบอกประโยชน์ คือ เป็นการเขียนที่อธิบายคุณลักษณะประโยชน์ หรือวิธิใช้สินค้านั้น ๆ เช่น จานไหนจานไหนก็อร่อย (น้ำปลาตราหอยหลอด)

          ๙. พาดหัวแบบชาตินิยม คือ เป็นการเขียนที่ให้เห็นถึงประเทศชาติในด้านต่าง ๆ เช่น นิยมไทย เงินตราไม่รั่วไหล ชาติไทยไม่เสียดุล (ไทยประกันชีวิต)

          ๑๐. พาดหัวแบบท้าทาย คือ เป็นการเขียนท้าทายความรู้ความสามารถของผลิตภัณฑ์ว่ามีคุณสมบัติที่น่าใช้น่าทดลอง เช่น ยิ่งใหญ่ด้วยกำลังบรรทุกและการทรงตัว (รถบรรทุก NISSAN)

 การเขียนคำขวัญโฆษณา ควรมีลักษณะดังนี้

          ๑. เป็นคำหรือข้อความที่สั้น กะทัดรัด ได้ใจความ

          ๒. เป็นถ้อยคำที่เห็นหรือได้ฟังสามารถจดจำได้ง่าย

          ๓. เป็นข้อความที่ไม่ยากจนเกินไป หรือใช้คำฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็น

          ๔. ใช้คำที่โน้มน้าวใจ ชักจูงใจในความใคร่รู้ใคร่เห็น หรืออยากทดลอง

          ๕. ใช้คำที่มีสัมผัสสระ หรือสัมผัสอักษรเพราะจะช่วยให้จำได้ง่าย

          ๖. ไม่ใช้คำยาก หรือศัพท์วิชาการที่มีความหมายเฉพาะอย่างที่ไม่สามารถเข้าใจได้อย่างกว้างขวาง

          ๗. ใช้คำหรือข้อความที่มีความแปลกใหม่ กระตุ้นความรู้สึก

          ๘. สะกดคำให้ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ไทย

 การใช้คำและประโยคในการเขียนคำขวัญโฆษณา

          ๑. คำขวัญที่เป็นคำนิยาม หรือให้คำจำกัดความของสินค้า เช่น ถ้าคุณรู้จักกะโหลก ต้องรู้จักเรย์

          ๒. คำขวัญประเภทมีสัมผัส เช่น สุขกาย สบายใจ เมื่อใช้ซิงเกอร์

          ๓. คำขวัญที่มีการใช้คำซ้ำ เช่น ปตท. พลังไทย เพื่อไทย

          ๔. คำขวัญที่มีการใช้ข้อความขัดแย้งกัน เช่น สปอนเซอร์ เครื่องดื่มมีคุณค่า ราคาน้ำอัดลม

          ๕. คำขวัญที่เป็นเหตุเป็นผล มักใช้คำว่า เพื่อเช่น บรีสใหม่ เพื่อเนื้อผ้ายุคใหม่

          ๖. คำขวัญที่เสนอแนวคิดยุคใหม่ เช่น ชาร์ปกาวล้ำไปในอนาคต

          ๗. คำขวัญที่ไม่มีคำสัมผัส เช่น ปาล์โอลีฟ สบู่เนียนผิว

. ตัวอย่างโปรแกรมที่ใช้ในการทำโฆษณา

             ๕.๑ โปรแกรม Adobe Illustrator  คือ โปรแกรมที่ใช้ในการวาดภาพ โดยจะสร้างภาพที่มีลักษณะเป็นลายเส้น หรือที่เรียกว่า Vector Graphic จัดเป็นโปรแกรมระดับมืออาชีพที่ใช้กันเป็นมาตรฐานในการออกแบบระดับสากลสามารถทำงานออกแบบต่าง ๆ ได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นสิ่งพิมพ์ บรรจุภัณฑ์ เว็บ และภาพเคลื่อนไหวตลอดจนการสร้างภาพเพื่อใช้เป็นภาพประกอบในการทำงานอื่น ๆ เช่น การ์ตูน ภาพประกอบหนังสือ เป็นต้นแนะนำเครื่องมือต่าง ๆ 

    ๕.๒ โปรแกรม Adobe Photoshop คือ โปรแกรมสร้างและแก้ไขรูปภาพอย่างมืออาชีพโดยเฉพาะนักออกแบบในทุกวงกาย่อมรู้จักโปรแกรมตัวนี้ดี โปรแกรม Photoshop เป็นโปรแกรมที่มีเครื่องมือมากมายเพื่อสนับสนุนการสร้างงานประเภทสิ่งพิมพ์ งานวิดีทัศน์ งานนำเสนอ งานมัลติมีเดีย ตลอดจนงานออกแบบและพัฒนาเว็บไซต์ ในชุดโปรแกรม Adobe Photoshopจะประกอบด้วยโปรแกรมสองตัวได้แก่ Photoshop และ ImageReady การที่จะใช้งานโปรแกรม Photoshopคุณต้องมีเครื่องที่มีความสามารถสูงพอควร มีความเร็วในการประมวลผล และมีหน่วยความจำที่เพียงพอ ไม่เช่นนั้นการสร้างงานของคุณคงไม่สนุกแน่ เพราะการทำงานจะช้าและมีปัญหาตามมามากมาย ขณะนี้โปรแกรม Photoshop ได้พัฒนามาถึงรุ่น Adobe Photoshop CS

งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการโฆษณา

บุญยงค์ เกศเทศ (๒๕๓๕) ศึกษาเรื่อง สภาพการใช้ภาษาโฆษณาจากสื่อสิ่งพิมพ์ ปี พ.ศ.๒๕๓๔เพื่อศึกษาลักษณะโครงสร้างในการใช้ภาษาโฆษณา การใช้คำในภาษาโฆษณา การใช้คำซ้ำ การใช้คำต่างประเทศในภาษาโฆษณา การใช้คำให้เกิดภาพ โครงสร้างการใช้คำหลายรูปลักษณ์ด้วยจุดประสงค์ เพื่อจะโน้มน้าวให้ผู้พบเห็นหรือได้ยินจดจำง่ายเป็นสำคัญ การใช้คำประเภทมีคำถามพบว่ามีสูงที่สุด โฆษณาประเภทป่าวประกาศ, กระตุ้นความอยากรู้อยากเห็น, แนะนำหรือคำสั่ง, เจาะจงเฉพาะกลุ่ม, ประเภทมีสิ่งล่อใจ, ประเภทบอกข่าว, คำขวัญ ยั่วยุอารมณ์ บอกที่มา, บอกถึงพยานบุคคล และเป็นเหตุ เป็นผล เป็นลำดับรองมา ซึ่งในการใช้คำโฆษณาแต่ละประเภทนั้นก็นิยมใช้คำที่สัมผัสคล้องจองกันเป็นลำดับแรกใน ขณะที่เลือกยกคำต่างประเทศขึ้นมานำเสนอเพื่อปลุกเร้าค่านิยมให้กับผู้บริโภคที่ยังติดยึดในผลิตภัณฑ์สินค้าต่างประเทศ ผลการศึกษาพบว่า  ผู้คิดถ้อยคำโฆษณามีความพิถีพิถันในการจัดเรียงถ้อยคำให้สัมผัสคล้องจองกัน โดยให้ความสำคํญเป็นอันดับแรก มีการเลือกคำประเภท เน้น ย้ำ ซ้ำ เพื่อให้เกิดความรู้สึกต่อผู้พบเห็นหรือได้ยิน ซึ่งให้ความสำคัญรองลงมาและนำเสนอชื่อผลิตภัณฑ์ต่างประเทศโดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เป็นลำดับความสำคัญสุดท้าย อย่างไรก็ดีสภาพการใช้ภาษาโฆษณาจากกลุ่มตัวอย่างดังกล่าวส่วนใหญ่มิได้แสดงถ้อยคำในเชิงเหตุผลที่สมเหตุสมผลแต่เป็นเหตุผลวิบัติทั้งสิ้น กล่าวคือถ้าไม่วิบัติทางเนื้อหา ก็วิบัติทางรูปแบบหรือมิฉะนั้นก็วิบัติทางจิตวิทยา แสดงว่าลักษณะการใช้เหตุผลในภาษาโฆษณา ซึ่งใช้ถ้อยคำภาษาเป็นสื่อนั้นจะเป็นประเด็นที่ไม่ควรเชื่อถือหรือปฏิบัติตาม

กาญจวัฒน์ โกสยกุล (๒๕๔๕) ศึกษาเรื่อง วัจนลีลาและมายาคติของภาษาโฆษณาเครื่องสำอางในนิตยสารผู้หญิงเพื่อศึกษาลักษณะภาษาโฆษณาเครื่องสำอางมีลีลาที่เป็นลักษณะเด่นเฉพาะตัวและได้สร้างมายาคติให้แก่ผู้ที่บริโภคในสังคมบริโภคนิยมโดยผ่านกระบวนการสร้างความหมายทั้งวัจนภาษาและอวัจนภาษา ผลการศึกษาพบว่า วัจนลีลาและมายาคติของภาษาโฆษณาเครื่องสำอางในนิตยสารผู้หญิงปรากฏการใช้ลีลาภาษา ๒ ลักษณะ คือ การใช้ภาษาแสดงคุณสมบัติของเครื่องสำอาง  เป็นภาษาที่ตรงไปตรงมามุ่งแสดงรายละเอียดที่เป็นคุณสมบัติของเครื่องสำอาง แสดงวัตถุประสงค์การใช้ แสดงเหตุผลการใช้ ลีลาภาษาในส่วนนี้จึงมุ่งเน้นด้วยการแจ้งข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับเครื่องสำอาง ส่วนการใช้ภาษาเร้าอารมณ์และสร้างจินตภาพของผู้บริโภคต่อเครื่องสำอาง เป็นลีลาภาษาที่สร้างอลังการ กล่าวคือ ลีลาการใช้ภาษาดูตระการตา เพื่อสร้างจินตภาพสร้างความน่าพึงใจและสร้างความน่าเชื่อถือแก่ผู้บริโภค หากมิได้ใคร่ครวญความหมายของคำที่โฆษณาใช้อย่างถี่ถ้วนผู้บริโภคก็อาจจะหลงจินตนาการถึงอานุภาพของเครี่องสำอางเหล่านี้ตามอำนาจของภาษา
        ส่วนการสร้างมายาคติ พบว่าภาษาโฆษณาเครื่องสำอางมีกระบวนการสร้างความหมายผ่านจุดคำ ๒ กลุ่ม คือ สิ่งที่พึงขจัดเป็นการขจัดสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาของร่างกายผู้บริโภค และสิ่งที่พึงปรารถนาเป็นการสร้างภาพให้น่าเชื่อถือ ทำให้ผู้บริโภคปรารถนาที่จะพึงใช้เครื่องสำอาง ถึงแม้ว่าเครื่องสำอางไม่ใช่สินค้าจัดอยู่ปัจจัย ๔ แต่ต้องเป็นสินค้าที่ต้องซื้อหามาใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งแต่เดิมหน้าที่เครื่องสำอาง คือ ใช้เพื่อความสวยงาม หรือส่งเสริมให้เกิดความหมาย แต่เมื่อแครื่องสำอางผ่านกระบวนการโฆษณาและกระบวนการสร้างความหมาย หน้าที่ของเครื่องสำอางจึงเปลี่ยนไปจากเดิม เครี่องสำอางทำหน้าที่ใหม่ คือ เป็นเสมือนของวิเศษที่ช่วยขจัดสิ่งที่มาทำร้ายร่างกาย  ขณะเดียวกันทำให้ร่างกายเกิดเป็นร่างที่งดงามในอุดมคติ และเป็นการตอบสนองความต้องการทางจิตใจของผู้บริโภคกระบวนการทั้งหมดนี้เป็นการสร้างมายาคติให้แก่ผู้บริโภคในสังคมไทยที่ให้ความสำคัญกับการบริโภคเชิงสัญญะมากกว่าที่จะบริโภคที่อรรถประโยชน์หรือบริโภคที่ตัวสินค้า

 กรรณิการ์ สุพิชญ์ (๒๕๔๙) ศึกษาเรื่อง ภาษาโฆษณาในสื่ออินเทอร์เน็ตเพื่อศึกษาลักษณะการใช้ภาษาและรูปแบบของภาษาโฆษณาในสื่ออินเทอร์เน็ต ผลการศึกษาพบว่า รูปแบบของภาษาโฆษณาที่ใช้มากที่สุดคือแบบมีภาพประกอบซึ่งถือว่าเป็นจุดเด่นของข้อความโฆษณาโดยเฉพาะภาพประกอบที่ปรากฏในสื่ออินเทอร์เน็ตซึ่งเป็นสื่อมัลติมีเดียหรือสื่อผสมที่มีความสามารถในการนำเสนอทั้งตัวหนังสือ ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว ภาพวิดีทัศน์ ข้อมูลที่เป็นเสียง ซึ่งประกอบนี้จะดึงดูดความสนใจจากผู้อ่านข้อความโฆษณาได้มาก         

มยุรี บุญริ้ว (๒๕๔๖) ศึกษาเรื่อง ลักษณะของภาษาโฆษณาในสื่อวิทยุโทรทัศน์เพื่อศึกษาลักษณะของภาษาโฆษณาในสื่อวิทยุโทรทัศน์ จะศึกษารูปแบบข้อความโฆษณา ในการใช้ภาษาในการเขียนข้อความโฆษณาเพื่อทำให้ข้อความนั้นปรากฎเป็นที่น่าสนใจ และสามารถดึงดูดให้ผู้ซื้อผู้ฟังจดจำชื่อสินได้ และลักษณะการใช้ถ้อยคำในภาษาโฆษณา ผลการศึกษาพบว่า มีผู้คิดถ้อยคำโฆษณาและข้อความโฆษณาในลักษณะหลากหลายรูปแบบมีการผสมผสานกันระหว่างเทคนิควิธีการต่าง ๆ เพื่อให้ข้อความโฆษณามีความแปลกใหม่ ช่วยกระตุ้นเร่งเร้าความสนใจของผู้ฟังให้หันมาซื้อสินค้าให้มากที่สุด ด้วยข้อความโฆษณาให้โดดเด่น สะดุดตา สะดุดใจ ผู้ฟังด้วยการใช้ข้อความโฆษณาแบบคำขวัญมากที่สุด รองลงมาคือการโฆษณาแบบให้คำแนะนำหรือคำสั่ง แบบเจาะจงเฉพาะกลุ่มแบบกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็น แบบเร้าอารมณ์ แบบมีสิ่งล่อใจ แบบมีคำถาม แบบให้คำมั่นสัญญา แบบกล่าวอ้างพยานบุคคล ซึ่งพบว่ามีใช้น้อยที่สุด

ฤทัย พานิช (๒๕๔๗) ศึกษาเรื่อง ลักษณะภาษาโฆษณาที่ใช้ทางสื่อวิทยุกระจายเสียงเพื่อศึกษาลักษณะการใช้คำในบทโฆษณา ลักษณะการใช้ประโยคเพื่อสื่อความหมายในโฆษณา และลักษณะการเชื่อมโยงความในบทโฆษณา การใช้คำในบทโฆษณา ผลการศึกษาพบว่า ในโฆษณาพบคำสแลง ๑๒๘ คำ สามารถจำแนกได้ ๒ ประเภท คือ คำสแลงท้ และคำสแลงไม่แท้ และพบกลวิธีการสร้างคำ ๕ วิธี ได้แก่ การเติมหน่วยกับคำเติม การประสมคำ การเพิ่มความหมาย การประดิษฐ์คำใหม่ และการยืมคำ ซึ่งส่วนภาษาต่างประเทศที่ปรากฏในบทโฆษณาใน ๒ ประเด็น คือ ลักษณะการใช้รูปภาษาและลักษณะทางความหมาย พบว่า ลักษณะของคำภาษาต่างประเทศที่นำมาใช้ในบทโฆษณา มี ๒ ลักษณะ ได้แก่ การนำคำมาใช้ทั้งหมด และการนำคำมาใช้เพียงบางส่วนความหมายของคำที่เมื่อนำมาใช้นั้นทำให้ความหมายของคำที่นำมาใช้มีความหมายที่แคบลงและความหมายขยายออกไป ส่วนลักษณะการใช้ประโยคเพื่อสื่อความหมายในโฆษณา ผลการศึกษาพบว่า การสื่อความหมายในความเปิดของบทโฆษณา มีการใช้รูปประโยคเพื่อสื่อความหมายตรงตามรูปภาษาโดยใช้รูปประโยคบอกเล่ามากที่สุดและมีการใช้รูปประโยคคำถามเพื่อสื่อความหมายตรงตามรูปภาษาน้อยที่สุด ส่วนการใช้รูปประโยคที่สื่อความหมายไม่ตรงตามรูปภาษามีการใช้รูปประโยคคำถามเพื่อสื่อความหมายไม่ตรงรูปภาษามากที่สุด โดยทำหน้าที่ในการสื่อความหมายคือ แจ้งข้อมูล ประชดทักทาย กระตุ้นให้คิด และเพื่อดึงดูดความสนใจ จากข้อมูลไม่พบการใช้รูปประโยคคำสั่งเพื่อสื่อความหมายไม่ตรงตามรูปภาษาและความปิดบทโฆษณา ผลการศึกษาพบว่า มีการใช้รูปประโยคเพื่อสื่อความหมายตรงตามรูปภาษาโดยใช้รูปประโยคบอกเล่ามากที่สุดและมีการใช้รูปประโยคคำถามเพื่อสื่อความหมายตรงตามรูปภาษาน้อยที่สุด ส่วนการใช้รูปประโยคที่สื่อความหมายไม่ตรงตามรูปภาษามีเพียงการใช้รูปประโยคคำถามเพื่อสื่อความหมายไม่ตรงตามรูปภาษา โดยทำหน้าที่ในการสื่อความหมายคือ ประชด กล่าวชวนเชิญและเพื่อขอร้อง และลักษณะการเชื่อมโยงความในบทโฆษณา ผลการศึกษาพบว่า มีการกล่าวซ้ำเกี่ยวกับชื่อสินค้า ซึ่งพบได้ ๓ ประเภท การกล่าวซ้ำทุกส่วน การกล่าวซ้ำบางส่วน และการกล่าวซ้ำโครงสร้าง และการเชื่อมโยงความทางคำศัพท์มี ๕ ชนิดคือ การใช้คำเข้าชุดอยู่ในกลุ่มเดียวกัน การใช้คำแม่กลุ่มและคำลูกกลุ่ม การใช้คำรวมและคำส่วนประกอบ การใช้คำตรงข้าม และการใช้คำพ้องความหมาย

จากเอกสารและงานวิจัยข้างต้นที่ผู้ศึกษาได้กำหนดไว้ทั้ง ๒ ประเด็น คือ เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการใช้ภาษา และเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับภาษาโฆษณา ทำให้ผู้ศึกษามีความรู้เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว และมีความเข้าใจเกี่ยวกับภาษาโฆษณามากขึ้น ซึ่งจะทำให้ผู้ศึกษาสามารถนำความรู้ที่ได้จากเอกสารเหล่านี้ไปเป็นแนวทางในการวิเคราะห์ข้อมูลในบทต่อไปได้