สาเหตุใดรัฐบาลจึงเข้ามามีบทบาทในระบบเศรษฐกิจ

excerpt

จากปัจจัยแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ‘แกน’ ของระบบเศรษฐกิจไทยเติบโตในอัตราที่ลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา บทความนี้นำเสนอมุมมองผ่านเศรษฐศาสตร์สถาบันและตั้งประเด็นให้เห็นว่า ‘สถาบันทางเศรษฐกิจของประเทศไทย วิ่งตามระดับการพัฒนาไม่ทัน’ สิ่งดังกล่าวนำไปสู่คำถามสำคัญที่ว่า รัฐควรเปลี่ยนบทบาทจาก ‘มือขยัน’ ไปเป็น ‘ผู้สร้างระบบ’ แล้วหรือยัง?

“The biggest problem is not to let people accept new ideas, but to let them forget the old ones.”

— John Maynard Keynes"

เศรษฐกิจไทยภายใต้บริบทใหม่ที่เติบโตช้าลง

ข้อมูลเชิงประจักษ์แสดงให้เห็นว่า ‘แกน’ ของการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา (รูปที่ 1) สิ่งดังกล่าวมีความสำคัญเนื่องจากสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพการเติบโตของประเทศในระยะยาวที่ลดลง สร้างความกังวลใจให้กับผู้บริหารงานทางเศรษฐกิจว่าประเทศไทยจะ ‘ติดกับดักรายได้ปานกลาง’ และไม่สามารถหลุดพ้นขึ้นไปเป็นประเทศที่มีรายได้สูงดังที่ได้วาดฝันไว้ นักเศรษฐศาสตร์พยายามค้นหาสาเหตุจากสิ่งที่เกิดขึ้นและ มุ่งประเด็นไปที่ปัจจัยแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งที่เกิดขึ้นจากปัจจัยภายในประเทศและต่างประเทศ เช่น การเข้าสู่สังคมชราภาพและการค้าระหว่างประเทศที่มีแนวโน้มลดลง

รูปที่ 1 : อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว

สาเหตุใดรัฐบาลจึงเข้ามามีบทบาทในระบบเศรษฐกิจ

ที่มา : สมประวิณ มันประเสริฐ และดนุพล อริยสัจจากร (2557), ผู้เขียนคำนวณ

แม้ปัจจัยแวดล้อมดังกล่าวจะมีส่วนในการอธิบายปรากฏการณ์ชะลอตัวลงของการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยที่กำลังเกิดขึ้น แต่สาเหตุสำคัญอีกประการที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติของระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจคือ ‘โครงสร้างสถาบันทางเศรษฐกิจ’ ที่ต้องเปลี่ยนแปลงไปเพื่อรองรับกับระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น

จากทรัพยากรสู่การใช้นวัตกรรม: ปัจจัยขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่ต้องเปลี่ยนแปลงไป

ปัญหาเชิงโครงสร้างที่เศรษฐกิจไทยเผชิญอยู่สามารถอธิบายได้ด้วยแนวคิดเรื่องระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่แบ่งออกเป็น 3 ระดับขั้นตาม ‘แหล่งที่มา’ ของการเติบโต

ในระดับแรก ระบบเศรษฐกิจยังไม่มีการผลิตสินค้าที่ซับซ้อนแต่การเติบโตทางเศรษฐกิจสามารถเกิดขึ้นได้ผ่านการ ‘ขายทรัพยากร’ ของประเทศ

ในระดับที่ 2 การเติบโตทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นจากการใส่ปัจจัยการผลิต ซึ่งได้แก่แรงงานและทุนเพื่อเปลี่ยนทรัพยากรไปเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูงขึ้น ประเทศสามารถเพิ่มผลผลิตได้ด้วยการเพิ่มจำนวนแรงงานและทุนเข้าสู่กระบวนการผลิต ดังนั้น ‘จำนวน’ จึงเป็นเงื่อนไขของการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับนี้

ในระดับที่ 3 การใส่ปัจจัยการผลิตในเชิงจำนวนไม่เพียงพอ เนื่องจากผลตอบแทนจากการใส่ปัจจัยการผลิตเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง (Diminishing Marginal Productivity) ดังนั้น หัวใจของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับที่ 3 จึงต้องหันไปเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตของแรงงานและทุนผ่านการปรับใช้นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่แทน

ในปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความยากลำบากในการก้าวผ่านการพัฒนาระดับที่ 2 ไปสู่ระดับที่ 3 การใส่ปัจจัยการผลิตเพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจถึง จุด ‘อิ่มตัว’ สาเหตุแท้จริงที่ไม่มีการลงทุนภาคเอกชนเกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาอาจเป็นเพราะผลตอบแทนการลงทุนภายใต้โครงสร้างทางเศรษฐกิจแบบเก่า มีค่าน้อยกว่าต้นทุนที่เกิดขึ้น ดังนั้น การยกระดับประสิทธิภาพ ผลิตภาพ และการใช้นวัตกรรม ในกระบวนการผลิตจึงเป็นสาระสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในช่วงต่อไป

ทำไมนวัตกรรมในระบบเศรษฐกิจไทยจึงไม่เกิด?

ความตระหนักถึงการใช้นวัตกรรมมาเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ใช่สิ่งใหม่สำหรับประเทศไทย งานวิจัยของ Tinakorn and Sussangkarn (1996, 1998) ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการยกระดับผลิตภาพการผลิตมากว่า 20 ปีแล้ว เหตุใดนวัตกรรมจึงยังไม่สามารถกลายมาเป็นแรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจไทยได้?

เศรษฐศาสตร์สถาบัน (Institutional economics) ชี้ว่า ความชะงักงันของนวัตกรรมเกิดจากระดับการพัฒนาทางสถาบันเศรษฐกิจและสังคม (Institutions) ที่ก้าวไม่ทันการเติบโตของประเทศ นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน Mancur Olson ได้เขียนหนังสือชื่อ The Rise and Decline of Nations ตีพิมพ์ในปี 1982 โดยพยายามอธิบายการเกิดและดับของมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลก Olson ชี้ว่าสิ่งที่ทำให้เศรษฐกิจที่เคยรุ่งเรื่องกลับล่มจมลง คือ กลุ่มผลประโยชน์ (Vested interest groups) ที่เกิดและเติบโตขึ้นตามระดับของการพัฒนา กลุ่มผลประโยชน์เหล่านี้จะแย่งชิงทรัพยากรและผลประโยชน์ (Economic rents) จนนำไปสู่ความขัดแย้งที่หน่วงเหนี่ยวการพัฒนา อีกทั้งยังพยายามกีดกันการปฏิรูปเพื่อยกระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจเมื่อตนเองสูญเสียผลประโยชน์จากการปฏิรูปดังกล่าว เช่น การใช้อำนาจกีดกันการแข่งขันจากผู้เล่นรายใหม่ในตลาด ดังนั้น ผู้ประกอบการรายอื่นจึงขาดแรงจูงใจในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อมาเป็นเครื่องมือในการแข่งขันทางการค้า ในยุคต่อมามีงานวิชาการจำนวนมากที่สนับสนุนคำอธิบายของ Olson รวมถึงงานของ Daron Acemoglu นักเศรษฐศาสตร์ผู้โด่งดังที่กล่าวว่า ปัจจัยด้านสถาบันจะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นตามระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ

ความไม่สมดุลระหว่างสถาบันทางเศรษฐกิจและระดับการพัฒนาของประเทศไทย

สำหรับประเทศไทยแล้ว หลักฐานเชิงประจักษ์ที่สนับสนุนแนวคิดข้างต้น คือ ผลการประเมินขีดความสามารถในการแข่งขันที่บ่งชี้ว่าไทยกำลังเผชิญกับการขาดแคลนนวัตกรรมควบคู่ไปกับปัญหาการพัฒนาทางสถาบัน จากรายงาน Global Competitiveness Report ปี 2015–2016 ที่จัดทำโดย World Economic Forum (WEF) ประเทศไทยมีผลการประเมินส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ดีทั้งด้านสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจและการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาค คุณภาพของแรงงาน การทำงานของระบบตลาด และระดับการพัฒนาของตลาดการเงิน อย่างไรก็ดี ไทยได้คะแนนค่อนข้างต่ำในหมวดระดับการพัฒนานวัตกรรม (3.4 จาก 7) และการพัฒนาเชิงสถาบัน (3.7 จาก 7) เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของประเทศพัฒนาแล้ว (4.6 และ 5.0 จาก 7 ตามลำดับ) (รูปที่ 2) ดังนั้น สิ่งดังกล่าวเป็นเครื่องบ่งชี้อาการของประเทศไทยได้อย่างดีว่าสถาบันทางเศรษฐกิจของไทยวิ่งตามระดับการพัฒนาของประเทศไม่ทัน หรืออาจกล่าวได้ว่า ‘ประเทศไทยติดกับดักตัวเองจากระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น’ ดังนั้น การพัฒนาโครงสร้างเชิงสถาบันจึงเป็นทางออกในการยกระดับศักยภาพในการเติบโตของไทยในอนาคต

รูปที่ 2 : ผลการประเมินความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย เทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว

สาเหตุใดรัฐบาลจึงเข้ามามีบทบาทในระบบเศรษฐกิจ

ที่มา : World Economic Forum (2015)

มองไปข้างหน้ากับบทบาทภาครัฐและโครงสร้างสถาบันทางเศรษฐกิจไทย

รัฐควรจะมีบทบาทอย่างไรต่อระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป? ในภาพกว้างบทบาทของภาครัฐในการนำพาการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศทำได้ 2 ลักษณะ ได้แก่ การเป็น ‘มือขยัน’ และการเป็น ‘ผู้สร้างระบบ’ ในบทบาทของมือขยัน ภาครัฐเปรียบเสมือนผู้เล่นคนหนึ่งในระบบเศรษฐกิจ เช่น การเป็นผู้ประกอบการ เป็นนักลงทุน และเป็นพ่อค้า เป็นต้น บทบาทดังกล่าวมีความสำคัญมากสำหรับระบบเศรษฐกิจที่เกิดใหม่และยังไม่มีความซับซ้อน ซึ่ง ‘ผู้เล่นตัวจริง’ ยังไม่มีศักยภาพเพียงพอในการประกอบการ สำหรับบทบาทในฐานะผู้สร้างระบบ ภาครัฐจะเปลี่ยนจากการเป็นผู้เล่นมาเป็นผู้วางเงื่อนไขที่ทำให้ระบบตลาดทำงานได้อย่างสมบูรณ์มากขึ้น เกิดการจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อหน่วยเศรษฐกิจของประเทศผ่านการวางโครงสร้างทางสถาบันทางเศรษฐกิจที่ลดการบิดเบือน การแทรกแซง และการผูกขาด เพื่อก่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรมของ ‘ผู้เล่นตัวจริง’ ในระบบเศรษฐกิจ ความท้าทายสำคัญสำหรับภาครัฐ คือ การกำหนดบทบาทที่เหมาะสมทั้งในฐานะมือขยัน และผู้สร้างระบบ ภายใต้สภาพแวดล้อมและระดับการพัฒนาที่เปลี่ยนแปลงไป

รัฐในฐานะ ‘มือขยัน’ ที่เหมาะสม

มิติที่ต้องคำนึงถึงในฐานะมือขยันประกอบไปด้วย ทั้งระดับและรูปแบบของบทบาทภาครัฐที่เหมาะสมภายใต้ข้อจำกัดทางด้านงบประมาณและผลข้างเคียงจากการที่ภาครัฐมีบทบาทต่อระบบเศรษฐกิจมากเกินไป (เช่น จากการใช้งบประมาณ การเก็บภาษี หรือการก่อหนี้สาธารณะ) ซึ่งอาจไปบิดเบือนพฤติกรรมของหน่วยเศรษฐกิจและไม่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับสังคมโดยรวม รวมถึงนโยบายที่เกื้อหนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางประเภทที่อาจทำให้ ‘ผู้เล่นตัวจริง’ คุ้นชินกับการปกป้องให้จนขาดการพึ่งพาตนเองและไม่สามารถแข่งขันได้ในระยะยาว ดังนั้น บทบาทจึงควรอยู่ในระดับที่เหมาะสมที่จะทำให้ระบบเศรษฐกิจได้รับประโยชน์สูงสุด (Optimal Size of Government) งานเชิงประจักษ์ของ Hok, Jariyapan, Buddhawongsa, and Tansuchat (2014) ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการใช้จ่ายภาครัฐและการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มอาเซียนและพบว่าขนาดของการใช้จ่ายภาครัฐที่ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับสูงสุดในระยะยาวอยู่ที่ประมาณร้อยละ 28.5 ของ GDP

นอกจากระดับแล้ว รูปแบบของการทำนโยบายก็มีความสำคัญเช่นกัน ในมิติของการใช้จ่ายภาครัฐ ประสิทธิผลสูงสุดจะวัดจากผลบวกต่อเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว มาตรวัดที่นิยมใช้ประเมินผลของการใช้จ่ายการคลังต่อเศรษฐกิจ ได้แก่ ตัวคูณทางการคลัง (Fiscal multiplier) ซึ่งวัดผลกระทบที่มีต่อ GDP เมื่อมีการใช้จ่ายภาครัฐเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1 งานของณัฐิกานต์ วรสง่าศิลป์ (2551) คำนวณหาขนาดตัวคูณทางการคลังของการใช้จ่ายภาครัฐประเภทต่าง ๆ ของไทยในช่วงปี 2540–2550 ด้วยวิธี Vector Auto Regression (VAR) และพบว่ารายจ่ายการลงทุนของรัฐบาลกลาง และเงินที่โอนให้รัฐบาลท้องถิ่นนำไปลงทุนต่อ มีค่าตัวคูณทางการคลังสูง และยังมีผลทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยในระยะสั้น การประกาศโครงการลงทุนสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ภาคเอกชน จึงกระตุ้นให้เกิดการบริโภคและการลงทุนตามมา ขณะที่ในระยะยาว โครงสร้างพื้นฐานจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถใน การแข่งขันของภาคเอกชน และศักยภาพในการเติบโตของประเทศตามลำดับ นอกจากนี้ เงินโอนยังมีจุดเด่นที่รัฐบาลท้องถิ่นสามารถลงทุนได้ตรงกับความต้องการของชุมชน และสร้างงานให้กับคนในพื้นที่อีกด้วย (รูปที่ 3)

รูปที่ 3 : ตัวคูณทางการคลังของประเทศไทยจากการใช้จ่ายภาครัฐประเภทต่าง ๆ

สาเหตุใดรัฐบาลจึงเข้ามามีบทบาทในระบบเศรษฐกิจ

ที่มา : ณัฐิกานต์ วรสง่าศิลป์ (2551)

นอกจากนั้น รัฐยังสามารถออกแบบโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพตามลักษณะของธุรกิจที่ต้องการส่งเสริม ตัวอย่างเช่น รูปแบบของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้กับอุตสาหกรรมที่ใช้ทุนเป็นหลัก (Capital intensive industries) งานวิจัยของ Thawornkaiwong, Civilize, and Khatphitthaya (2011) พบว่าอุตสาหกรรมที่ใช้ทุนเป็นหลักของไทยโดยเฉพาะบริษัทที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง ได้รับประโยชน์จากการรวมกลุ่มอยู่ด้วยกัน เนื่องจากการรวมกลุ่มเอื้อให้เกิดแลกเปลี่ยนปัจจัยการผลิต และองค์ความรู้ระหว่างโรงงาน (Spillover effects) ไปจนถึงการวิจัยและพัฒนาร่วมกัน ยิ่งกลุ่มมีขนาดใหญ่ขึ้น ยิ่งมีศักยภาพในการผลิตและการทำกำไร หรือที่เรียกว่า Increasing return to scale ดังนั้น รัฐบาลควรสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้กระจุกอยู่ในพื้นที่หนึ่ง และพัฒนาไปเป็น Industrial hub นอกจากนี้ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สร้างโครงข่ายเชื่อมต่อระหว่างโรงงานยังมีความสำคัญ เพราะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้หรือทรัพยากรระหว่างโรงงาน เช่น การสร้างถนนและระบบขนส่ง และการวางระบบสื่อสารโทรคมนาคม เป็นต้น

อีกหนึ่งเครื่องมือของมือขยัน คือ มาตรการด้านภาษี โดยสามารถออกแบบโครงสร้างภาษีเพื่อเอื้อต่อการจัดสรรทรัพยากรในระบบเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ข้อมูลที่รวบรวมโดย Abdon, Estrada, Lee, and Park (2014) โดยพิจารณาช่วงระหว่างปี 2009–2011 พบว่าหากพิจารณาโครงสร้างภาษีของไทย ภาษีที่เก็บบนฐานทรัพย์สินคิดเป็นร้อยละ 2.5 ของภาษีรวม และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศพัฒนาแล้วในเอเชียที่คิดเป็นร้อยละ 7.8 ขณะที่ภาษีเงินได้นิติบุคคลคิดเป็นร้อยละ 31.8 และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศพัฒนาแล้วในเอเชียที่คิดเป็นร้อยละ 21.7 งานวิจัยดังกล่าวยังแสดงหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ชี้ว่าไทยสามารถเพิ่มศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว โดยการเพิ่มสัดส่วนภาษีที่เก็บบนฐานทรัพย์สิน และลดภาษีบนฐานรายได้ โดยยังรักษารายได้จากภาษีไว้ที่ระดับเดิม จากการ เพิ่มสัดส่วนภาษีทรัพย์สินขึ้น ร้อยละ 1 แล้วลดภาษีที่เก็บบนฐานรายได้ลงในสัดส่วนเท่ากัน จะทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวเร่งขึ้นร้อยละ 0.43 (รูปที่ 4) ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเก็บภาษีบนฐานรายได้ลดทอนแรงจูงใจในการทำงานของภาคเอกชนมากกว่าภาษีที่เก็บบนฐานการบริโภคและทรัพย์สิน โดยเฉพาะสินทรัพย์ (เช่น ที่ดิน) ที่ถูกถือครองไว้โดยไม่ได้ใช้ประโยชน์ การเก็บภาษีที่เหมาะสมจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำและทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งจะเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจในระยะยาว

รูปที่ 4 : ผลของการปรับโครงสร้างภาษีต่อเศรษฐกิจ

สาเหตุใดรัฐบาลจึงเข้ามามีบทบาทในระบบเศรษฐกิจ

สาเหตุใดรัฐบาลจึงเข้ามามีบทบาทในระบบเศรษฐกิจ

Note: PIT: Personal Income Tax, CIT: Corporate Income Tax ที่มา: Acosta-Ormaechea and Yoo (2002) และ Abdon, Estrada, Lee, and Park (2014)

รัฐในฐานะ ‘ผู้สร้าง’ สถาบันทางเศรษฐกิจสำหรับ การเติบโตในระยะยาว

บทบาทสำคัญคือการเป็น ‘ผู้สร้าง’ เวทีสำหรับ ‘ผู้เล่นตัวจริง’ ในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งหมายถึงบทบาทการเป็นผู้วางโครงสร้างสถาบันทางเศรษฐกิจ (Economic institutions) ที่เอื้อให้ระบบตลาดจัดสรรทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และลดการพึ่งพาการแทรกแซงของภาครัฐ อย่างไรก็ดี โครงสร้างสถาบันเศรษฐกิจบางส่วนกำลังลดทอนศักยภาพในการพัฒนานวัตกรรมและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ดังนั้น โจทย์ของภาครัฐในฐานะผู้สร้างจึงเป็นการสร้างโอกาสและแรงจูงใจในการพัฒนาให้กับหน่วยธุรกิจทุกขนาด ในทุกภาคการผลิตอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะผู้เล่นหน้าใหม่ที่ ‘ขยัน’ และ ‘เก่ง’

งานทางวิชาการชี้ว่า ระบบตลาดที่เอื้อให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมในวงกว้างของระบบเศรษฐกิจ คือ ระบบที่ทำให้ผู้ประกอบการ ‘เจ้าใหญ่’ (Incumbent) อ่อนแอกว่าผู้ประกอบการ ‘รายใหม่’ (New comers) อยู่เสมอ ข้อมูลเชิงประจักษ์พบว่านวัตกรรมแบบก้าวกระโดดมักจะถูกคิดค้นโดยรายใหม่มากกว่าเจ้าใหญ่ที่เป็นเจ้าของตลาดเดิม เนื่องจากเจ้าใหญ่มักจะลงทุนในการพัฒนาเทคโนโลยีเดิมและมุ่งให้ความสำคัญกับการรักษาส่วนแบ่งการตลาดมากกว่าการเติบโต จึงไม่กล้าลงทุนพัฒนานวัตกรรมใหม่ที่เสี่ยงที่จะล้มเหลว รวมถึงมีต้นทุนในการเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิตสูง เนื่องจากลงทุนกับเทคโนโลยีเดิมไปมากแล้ว ในทางตรงกันข้าม ธุรกิจรายใหม่ที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดมีต้นทุนในการเปลี่ยนแปลงการผลิตและการรักษาฐานลูกค้าเก่าต่ำกว่า ทำให้กล้าคิดกล้าทำในสิ่งใหม่ที่แตกต่างมากกว่า ดังนั้น กลไกควรส่งเสริมให้ธุรกิจรายใหม่มีโอกาสเติบโต และแข่งขันกับธุรกิจขนาดใหญ่ที่เป็นเจ้าเดิมในตลาดอย่างยุติธรรม การแข่งขันจะสร้างแรงจูงใจให้ธุรกิจรายใหม่คิดค้นนวัตกรรมใหม่เพื่อแข่งขันกับเจ้าตลาด ขณะเดียวกันก็กดดันให้ธุรกิจเจ้าใหญ่พัฒนาตนเองอยู่เสมอ การพัฒนานวัตกรรมจึงเกิดขึ้นอย่างทั่วถึง

งานทางวิชาการได้เสนอแนะแนวทางในการปฏิรูปโครงสร้างทางสถาบันทางเศรษฐกิจไว้หลายประการ โดยสรุปได้ดังนี้

  1. การสร้างระบบที่ส่งเสริมการแข่งขันอย่างเป็นธรรมในตลาด โดยการลดความบิดเบือนในตลาด การลดการผูกขาดที่เอื้อให้ผู้เล่นเจ้าเดิมมีพฤติกรรมแบบ Vested interest groups ที่ใช้อำนาจในการรักษาส่วนแบ่งการตลาด ในทางปฏิบัติรัฐบาลสามารถลดการผูกขาดโดยการแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายที่กีดกันไม่ให้ผู้เล่นรายใหม่เข้าสู่ตลาด ตลอดจนผลักดันร่างกฎหมายที่ส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าโครงสร้างทางกฎหมายดังกล่าวจะเอื้อให้ ‘ผู้เล่น’ ในระบบตลาดมีแรงจูงใจที่จะแข่งขันกันด้วย ‘การพัฒนา’ ประสิทธิภาพในการผลิตและคุณภาพของสินค้า

  2. การสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการใช้เทคโนโลยีจากการวิจัยและพัฒนามาเป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจ ปัจจุบันสินค้าส่งออกของไทยไม่สอดรับกับห่วงโซ่การผลิตโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้คำสั่งซื้อและราคาสินค้าส่งออกไทยลดลง นวัตกรรมจึงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และเทคโนโลยีการผลิตที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันด้วย ‘สิ่งใหม่’ แทน ‘ของเก่า’ ที่แข่งขันได้ยาก อย่างไรก็ตาม การวิจัยและพัฒนามีความเสี่ยงที่จะล้มเหลวโดยเฉพาะกับธุรกิจรายใหม่ที่มีเงินทุนน้อย ดังนั้น ระบบที่ช่วยลดต้นทุนในการวิจัยและพัฒนาจึงมีความสำคัญ การบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาที่ให้อำนาจผูกขาดทางการตลาดกับเจ้าของนวัตกรรมจะช่วยให้มูลค่าตลาดของการพัฒนานวัตกรรมเพิ่มสูงขึ้น แต่ไม่ควรให้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างถาวร เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมในระยะยาว นอกจากนี้ ยังต้องสร้างระบบที่เอื้อให้ผู้ประกอบการได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางเทคนิคและประสบการณ์ ตลอดจนการหาประโยชน์สูงสุดจากนวัตกรรม

  3. การพัฒนาระบบการเงิน เพื่อให้ผู้ประกอบการรายใหม่ที่มีศักยภาพและมีนวัตกรรมเข้าถึงแหล่งเงินทุน โจทย์สำคัญในการพัฒนาระบบการเงิน คือ การแก้ไขปัญหาความไม่สมบูรณ์ของข้อมูลระหว่างเจ้าของเงินทุน และธุรกิจ ที่ต้องการเงินทุน โดยเฉพาะผู้กู้ที่เป็นธุรกิจรายย่อยหน้าใหม่ ซึ่งสามารถทำได้โดยการพัฒนาระบบข้อมูลเครดิตของผู้ประกอบการรายย่อย หรือลดความเสี่ยงจากความไม่สมบูรณ์ของข้อมูลโดยการบังคับใช้สัญญาทางการเงินที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ การพัฒนาตลาดการเงิน และออกแบบการกำกับดูแลที่ทันสมัยเพื่อรองรับทางเลือกใหม่ในการระดมทุน เช่น Venture capital (VC) หรือการระดมทุนมวลชนที่เรียกกันว่า Crowdfunding จะช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการรายใหม่เช่นกัน

  4. การสร้างระบบรองรับผู้ที่พลาด โดยมีกลไกที่เอื้อให้ธุรกิจที่ล้มสามารถกลับเข้าสู่ตลาดและมีโอกาสเรียนรู้ และพัฒนาจนประสบความสำเร็จ เช่น การปรับปรุงกฎหมายล้มละลาย หรือการให้โอกาสธุรกิจที่มีประวัติผิดนัดชำระหนี้ตามสมควร กลไกรองรับดังกล่าวจะเป็นหลักประกันที่จูงใจให้ธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจหน้าใหม่กล้าลงทุนกับการวิจัยและพัฒนาที่มีความเสี่ยงมากขึ้นได้

ข้อสรุป

บทบาทภาครัฐภายใต้บริบทใหม่ของเศรษฐกิจไทย คือ การเป็นมือขยันที่มีประสิทธิภาพและผู้สร้างที่วางระบบให้ ‘ผู้เล่นตัวจริง’ แข่งขันและพัฒนาได้ภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบตลาด ในฐานะมือขยัน รัฐบาลควรดำเนินนโยบายเศรษฐกิจในระดับที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพ และไม่ก่อให้เกิดความบิดเบือนในระบบเศรษฐกิจ สำหรับบทบาทในฐานะผู้สร้าง คือ การปรับโครงสร้างของสถาบันทางเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มการแข่งขันกันสร้าง ‘นวัตกรรม’ ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว

สำหรับประเทศไทยที่ ‘ติดกับดักตัวเอง’ จากระดับการพัฒนาที่สูงขึ้น เราคงต้องขบคิดกันต่อไปว่าบทบาทของภาครัฐไทยถึงจุดเปลี่ยนผ่านจาก ‘มือขยัน’ ไปเป็น ‘ผู้สร้างระบบ’ เต็มเวลาแล้วหรือยัง

เอกสารอ้างอิง

ณัฐิกานต์ วรสง่าศิลป์. (2551). เครื่องชี้แรงกระตุ้น และตัวคูณทางการคลังของไทย. ธนาคารแห่งประเทศไทย.

สมประวิณ มันประเสริฐ, และ ดนุพล อริยสัจจากร. (2557). การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรและผลกระทบต่อตัวแปรทางเศรษฐกิจมหภาคของไทย. วารสารประชากรศาสตร์ ปีที่ 30 ฉบับที่ 2, 67–92.

Abdon, A., G.B. Estrada, M. Lee and D. Park (2014): “Fiscal Policy and Growth in Developing Asia.” ADB Economics Working Paper Series No. 412.

Acosta-Ormaechea, S and J. Yoo (2012): “Tax Composition and Growth: A Broad Cross-Country Perspective.” IMF Working Paper No. 12/257.

Gilbert, B.A. (2012): “Creative Destruction: Identifying its Geographic Origins.” Research Policy Vol. 41 No.4, 734–742.

Hok, L., P. Jariyapan, P. Buddhawongsa, and R. Tansuchat (2014): “Optimal Size of Government Spending: Empirical Evidence from Eight Countries in Southeast Asia.” The Empirical Econometrics and Quantitative Economics Letters Vol. 3 No. 4, 31–44.

Olson, M. (1982): “The Rise and Decline of Nations: Economic Growth, Stagflation, and Social Rigidities.” Yale University Press.

Susangkarn, C. and P. Tinakorn (1998): “Social Accounting Matrix and the Economic Impact Analysis of Fiscal Budget Expenditure.” Thailand Development Research Institute.

Thawornkaiwong, S., B. Civilize and T. Khatphitthaya (2011): “Growth Management for Thailand: the Role of Infrastructure.” Bank of Thailand Discussion Paper.

Tinakorn, P. and C. Sussangkarn (1996): “Productivity Growth in Thailand.” Thailand Development Research Institute Research Monograph No.15.

Tinakorn, P. and C. Sussangkarn (1998): “Total Factor Productivity Growth in Thailand: 1980–1995.” Thailand Development Research Institute.

World Economic Forum. (2015): “The Global Competitiveness Report 2015–2016.” Geneva: World Economic Forum.