หลักธรรม “นิยาม 5” ข้อใด มีความหมายตรงกับหลักคำสอนเรื่อง “กฎแห่งกรรม”

สมุทัย : หลักธรรม : นิยาม 5
กรรม : นิยาม 5 (orderliness of nature) นิยาม หมายถึง การกำหนดอันแน่นอน หรือ ความเป็นไปอันมีระเบียบแน่นอนของธรรมชาติ หรือกฎธรรมชาติ
พระพุทธศาสนาสอนหลักความจริงว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นคนสัตว์หรือสิ่งของ เป็นรูปธรรมหรือนามธรรม เป็นวัตถุหรือเป็นเรื่องจิตใจ ไม่ว่าชีวิตหรือโลกที่แวดล้อมอยู่ก็ตาม ทั้งหมดล้วนเป็นไปตามธรรมดาแห่งเหตุปัจจัย เป็นเรื่องของปัจจัยสัมพันธ์ ธรรมดาที่ว่านี้มองด้วยสายตามนุษย์เรียกว่า กฎธรรมชาติ เรียกในภาษาบาลีว่านิยาม แปลว่า กำหนดอันแน่นอน แนวทางที่แน่นอน หรือความเป็นไปอันเป็นระเบียบแน่นอน เพราะปรากฎให้เห็นว่า เมื่อมีเหตุปัจจัยอย่างนั้น ๆ แล้ว ก็จะมีความเป็นไปอย่างนั้น ๆ แน่นอน
      กฎธรรมชาติหรือนิยามนั้น แม้จะมีลักษณะทั่วไปอย่างเดียวกันทั้งหมดคือ ความเป็นไปตามธรรมดาแห่งเหตุปัจจัย แต่ก็อาจแยกประเภทออกไปได้ตามลักษณะอาการจำเพาะที่เป็นแนวทางหรือเป็นแบบหนึ่ง ๆ ของความสัมพันธ์ อันจะช่วยให้กำหนดศึกษาได้ง่ายขึ้น
โดยประกอบด้วย 5 อย่างคือ
1. อุตุนิยาม (physical lows) กฎธรรมชาติเกี่ยวกับปรากฏการณ์ในธรรมชาติแวดล้อมและความเปลี่ยนแปลงทางวัตถุ หรือโลกแห่งวัตถุ เช่น เรื่องลมฟ้าอากาศ ฤดูกาล ฝนตกฟ้าร้อง การที่สิ่งทั้งหลายผุพังเน่าเปื่อย เป็นต้น แนวคิดนี้ท่านมุ่งเอาความผันแปรที่เนื่องด้วยความร้อนหรืออุณหภูมิ   หลักของอุตุนิยาม ตามแนวพระพุทธศาสนามุ่งให้ผู้ที่เข้าใจเกี่ยวกับกฎธรรมที่ว่าด้วยวัตถุ ซึ่งก็คือเมื่อมีเหตุปัจจัยเพียงพอก็จะเกิดขึ้นโดยธรรมชาติของมัน ไม่มีใครเป็นผู้กำหนดหรือห้ามได้ เช่น การที่จะเกิดฝนตก ก็มีเหตุปัจจัยเพียงพอให้เกิดฝนตก เช่น การระเหยของน้ำบนดิน การรวมตัวของก้อนเมฆ การเกิดลมพัด การกระทบกับความเย็น ก่อให้เกิดฝนตก เป็นต้น หากเราเข้าใจธรรมชาติเช่นนี้ ก็จะทำให้มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างมีความสุข เช่น เมื่อเข้าใจว่ามีเหตุปัจจัยเพียงพอที่ทำให้รถติด เราก็ไม่เกิดความหงุดหงิดรำคาญ หาทางหลีกเลี่ยงหรือยอมรับสภาพที่เป็นอยู่ เราก็เกิดความสบายใจ อุบัติเหตุก็ไม่เกิดขึ้น เป็นต้น
2. พีชนิยาม (biological laws)กฎธรรมชาติเกี่ยวกับการสืบพันธุ์ โดยเฉพาะสิ่งที่เรียกว่าพันธุกรรม เช่น หลักความจริงที่ว่าปลูกพืชเช่นใดก็ให้ผลเช่นนั้น ปลูกข้าวย่อมได้ข้าว ปลูกมะม่วงย่อมออกผลเป็นมะม่วง เป็นต้น 
 ตามทัศนะทางพระพุทธศาสนากฎธรรมชาติเกี่ยวกับพีชนิยามเป็นกฎเกณฑ์เป็นระเบียบหากมนุษย์เข้าใจกฎธรรมชาติของพีชนิยามก็จะสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข เช่น หากเราเข้าใจว่ารูปร่างหน้าตาของเรา เป็นผลมาจากพันธุกรรม ก็พึงพอใจกับสิ่งที่เป็นรูปร่างหน้าตาที่เป็นอยู่ เราก็มีความสุข แต่ในทางตรงข้าม หากเราไม่พึงพอใจ เกิดความวิตกกังวลไปต่าง ๆ นานา และเปลี่ยนแปลงรูปร่างของตนเอง เช่น ไปผ่าตัดเปลี่ยนโฉมหน้า เปลี่ยนจมูก เปลี่ยนอวัยวะอื่น ๆ ที่ไม่พึงพอใจ จนเกิดปัญหาขึ้นมา เช่น หน้าเละ จมูกแฟบบิดเบี้ยว หรืออวัยวะต่าง ๆ เน่าเฟะ อย่างที่เป็นข่าวอยู่เป็นประจำ ก่อให้เกิดความทุกข์ต่าง ๆ ตามมา เป็นต้น

3. จิตตนิยาม (psychic laws) กฎธรรมชาติเกี่ยวกับการทำงานของจิต กระบวนการของความคิด พระพุทธศาสนาเชื่อว่าคนเรา (รวมทั่งสิ่งมีชีวิตอื่น) ประกอบด้วยองค์ประกอบที่สำคัญส่วนหนึ่งของชีวิต คือ จิต จิตในทัศนะของพุทธศาสนาเป็นสิ่งต่างหากจากกาย ในฐานะที่เป็นสิ่งหนึ่งต่างหากจากกาย จิตก็มีกฎเกณฑ์ในการทำงาน เปลี่ยนแปลงและแสดงพฤติกรรม เป็นต้น เป็นแบบฉบับเฉพาะของตนเอง เช่น นายมีกับนายมาเป็นพี่น้องกัน นายมีเป็นคนเอื้ออารี นายมาเป็นคนตระหนี่ถี่เหนียว พฤติกรรมที่แตกต่างกันนี้อธิบายไม่ได้ด้วยกฎทางชีววิทยาหรือพีชนิยาม แต่อธิบายได้ด้วยจิตนิยาม พุทธศาสนาเชื่อว่าภาวะทางจิตของคนสองคนนี้ไม่เหมือนกัน นายมีประกอบด้วยองค์ประกอบของจิต (เจตสิก) ประเภทหนึ่งที่หากใครมีสิ่งนี้จะผลักดันให้เขาเป็นคนโอบอ้อมอารีต่อคนอื่น ส่วนนายมาไม่มีสิ่งนี้ คนสองคนนี้จึงมีพฤติกรรมที่แตกต่างกัน กฎที่กำหนดว่าองค์ประกอบของจิตแบบนี้จะส่งผลให้เกิดพฤติกรรมทางจิตแบบนี้ เรียกว่า จิตนิยาม(สมภาร พรมทา. 2540 : 70-71)

4. กรรมนิยาม (moral laws) กฎธรรมชาติเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ หรือกฎแห่งกรรม ซึ่งเป็นการกระทำที่ประกอบด้วยความจงใจ (เจตนา) แบ่งออกเป็นสองอย่างคือ กรรมดีกับกรรมชั่ว กรรมดีย่อมสนองตอบในทางดี กรรมชั่วย่อมสนองตอบในทางชั่ว สิ่งที่กำหนดว่ากรรมแบบนี้เมื่อให้ผลในลักษณะนี้คือกรรมนิยาม
5. ธรรมนิยาม (the geniral laws fo cause and effect) กฎธรรมชาติเกี่ยวกับความสัมพันธ์หรืออาการ
ที่เป็นเหตุเป็นผลแก่กันของสิ่งทั้งหลาย หรือกฎทั่วไปแห่งเหตุและผล เช่น สิ่งทั้งหลายมีความเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป เป็นธรรมดา
คนย่อมมีความเกิด แก่ เจ็บตาย เป็นธรรมดา ธรรมนิยามเป็นคำสรุปรวมเอานิยามทุกข้อทั้งหมดเข้าไว้ด้วยกัน และนิยามสี่ข้อข้างต้นก็รวมอยู่ในธรรมนิยามนี้เช่นกัน

ความจริงแล้วปรากฏการณ์อย่างเดียวกัน อาจจะเกิดเหตุปัจจัยในกฎธรรมชาติคนละอย่าง และปรากฎการณ์บางอย่างเกิดจากเหตุปัจจัยในกฎธรรมชาติหลายอย่างทำงานอิงอาศัยกันและกัน บุคคลหนึ่งน้ำตาไหล อาจเกิดจากถูกควันไฟรม (อุตุนิยาม) อาจเกิดจากความดีใจหรือเสียใจ (จิตตนิยาม) หรืออาจเป็นเพราะปรุงแต่งความคิดในทางหวนละห้อยบีบคั้นใจตนเอง (กรรมนิยาม) บุคคลหนึ่งปวดศีรษะมาก อาจเกิดจากเนื้องอกในสมอง (พีชนิยาม) อาจเนื่องจากอยู่ในอากาศที่ไม่เพียงพอ หรือร้อนเกินไป (อุตุนิยาม) หรืออาจเป็นเพราะกลุ้มกังวลใจ (กรรมนิยาม) ฯลฯ

วิตก หมายถึง ความคิด ความนึกคิด หรือดำริ ประกอบด้วย กุศลวิตก 3 และอกุศลวิตก 3 ได้แก่
1. กุศลวิตก 3 (wholesome thoughts) หมายถึง ความนึกคิดที่ดีงาม ประกอบด้วย
1.1 เนกขัมมวิตก หมายถึง ความนึกคิดในทางเสียสละ ความนึกคิดที่ปลอดจากกาม คือ ไม่ติดในการปรนเปรอสนองความอยากของตน
1.2 อพยาบาทวิตก หมายถึง ความนึกคิดที่ปลอดจากการพยาบาท หรือความนึกคิดที่ประกอบด้วยเมตตา คือไม่คิดขัดเคืองหรือพยาบาทมุ่งร้ายบุคคลอื่น
1.3 อวิหิงสาวิตก หมายถึง ความนึกคิดที่ปลอดจากการเบียดเบียน ความนึกคิดที่ประกอบด้วยกรุณาไม่คิดร้ายหรือมุ่งทำลาย2. อกุศลวิตก 3 (unwholesome thoughts) หมายถึง ความนึกคิดในสิ่งที่ไม่ดี ประกอบด้วย
2.1 กามวิตก หมายถึง ความนึกคิดในทางกาม หรือความนึกคิดในทางแสวงหาหรือพัวพันติดข้องในสิ่งที่สนองความอยาก
2.2 พยาบาทวิตก หมายถึง ความนึกคิดที่ประกอบด้วยความขัดเคืองหรือพยาบาทมุ่งร้าย
2.3 วิหิงสาวิตก หมายถึง ความนึกคิดในทางเบียดเบียน หรือความนึกคิดในทางทำลาย มุ่งร้าย หรือก่อความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น
จะเห็นว่าหลักของอกุศลวิตกทั้ง 3 เป็นหลักที่ควรละเสีย (สมุทัย) เพราะเป็นสาเหตุก่อให้เกิดความทุกข์