หลักธรรมความไม่ประมาท มีอะไรบ้าง

  ความประมาท คือ ความเลินเล่อ เผลอสติ ไม่สำรวมระวัง กาย วาจา ใจ ส่วนความไม่ประมาทมีวินัยตรงกันข้าม ได้แก่ ความรอบคอบ มีสติคอยกำกับการกระทำ วาจา ใจ

  สติ  คือ ความระลึกรู้สึกตัวอยู่เสมอจำเป็นต้องใช้ในกิจกรรมทุกอย่าง ตั้งแต่การทำการงานตามปกติ

หลักคำสอนในเรื่องความไม่ประมาท(ปัจฉิมโอวาท)

" ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย... บัดนี้ เราเตือนท่านทั้งหลาย  สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา  ท่านทั้งหลาย  จงทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด" มหาปรินิพพานสูตร 10/180

อธิบาย... พระพุทธเจ้าตรัสสอน เรื่องความไม่ประมาท เป็นพระโอวาทสุดท้าย  ในที่อื่น ทรงสั่งสอนว่า กุศลธรรมทั้งหมด  รวมลงในความไม่ประมาท  เหมือนรอยเท้าสตว์เดินดินต่าง ๆ รวมลงในรอยเท้าช้างฉะนั้น  ความไม่ประมาท จะเป็นเหตุให้เราเตือนใจ  ตามคำสอนที่ทรงเตือนไว้ว่า  "วันคืนล่วงไป ๆ บัดนี้ เราทำอะไรอยู่"  เราจะได้หมั่นพิจารณาดูตน และ หาโอกาสเพิ่มพูนคุณงามความดี  ละความชั่วให้ลดน้อยลง ความไม่ประมาทจะเตือนไม่ให้เราลืมตน เห็นเป็นจริงเป็นจังกับชีวิตในโลก  ประหนึ่งว่า  จะดำรงอยู่ได้ชั่วกัปชั่วกัลป์  ในที่สุด ทุกคนจะต้องจบลงด้วยความตาย  ทรัพย์สมบัติต่าง ๆ ก็จะเปลี่ยนมือไปเป็นของคนอื่น  ที่ดินที่เรานึกว่าเป็นของเรา  แต่ถ้าเราจะกลายเป็นเถ้าถ่าน ฝังเรี่ยรายอยู่บนพื้นดินนั้น หรือ บางที เขาก็จะเก็บไว้ในโกศเล็ก ๆ เหมือนของเด็กเล่น แต่ไม่มีใครอยากจับต้อง ถึงที่สุด เหมือน ๆ กันเช่นนี้  ในขณะที่มีชีวิตอยู่  จึงควรตั้งอยู่ในความไม่ประมาท  ถือเอาสาระจากชีวิตที่เน่าเปื่อย ไม่มีสาระนี้ ไว้ให้ได้ด้วยการบำเพ็ญคุณงามความดี  บำเพ็ญประโยชน์ท่าน ให้สมบูรณ์เถิด..

คำสอนทั่วไป    พระพุทธศาสนาสอนเรื่องความไม่ประมาทและความประมาทคู่กันในกรณีทั่ว ๆ  ไปเพื่อให้พุทธศาสนิกชนทราบผลดีของความไม่ประมาท และผลร้ายของความประมาทเปรียบเทียบ

หลักธรรมความไม่ประมาท มีอะไรบ้าง

คำสอนเฉพาะกรณี   ระดับต่ำแบ่งเป็น 4 อย่าง   

 1. ในการละกายทุจริต    ประพฤติกายสุจริต

 2. ในการละวจีสุจริต      ประพฤติวจีสุจริต

 3. ในการละมโนทุจริต    ประพฤติมโนสุจริต

 4. ในการละความเห็นผิด  ทำความเห็นให้ถูก

 คำสอนในระดับสูง   แบ่งเป็น 4 อย่าง

                1. ระวังใจไม่ให้กำหนัด     ในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด

                 2. ระวังใจไม่ให้ขัดเคือง    ในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความขัดเคือง

                 3. ระวังใจไม่ให้หลง         ในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความหลง

                 4. ระวังใจไม่ให้มัวเมา       ในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมา

หลักธรรมความไม่ประมาท มีอะไรบ้าง

                คำสอนโดยรวบยอด  พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ว่า ท่านทั้งหลาย จงมีความไม่ประมาท หรือแปลอย่างยาวโดยเพิ่มเติมข้อความเข้าว่า ท่านทั้งหลายจงทำประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท

                 คำสอนเรื่องความไม่ประมาทจึงเป็นคำสอนที่กว้าง ประมวลคำสอนอื่นๆ ไว้เปรียบเทียบเหมือนร้อยเท้าช้างที่ใหญ่กว่ารอยเท้าสัตว์อื่นๆ ที่ รวมลงในรอยเท้าช้างได้ คำสอนเรื่องความไม่ประมาท จึงสำคัญที่สุดประการหนึ่ง

 ประโยชน์ของความไม่ประมาท

                       พระพุทธองค์ตรัสว่า ความไม่ประมาทเป็นบิดา ของธรรมะทั้งปวง (ทรงเปรียบความไม่ประมาทเหมือนรอยเท้าช้าง ที่ใหญ่กว่ารอยเท้าสัตว์ทั้งหลายที่มีอยู่ในโลกปัจจุบัน) ธรรมะข้อไม่ประมาท จึงเป็นธรรมที่ใหญ่กว่าธรรมะทั้งหลาย ถ้าไม่ประมาท ความชั่วอย่างอื่นก็เกิดขึ้นไม่ได้ ความไม่ประมาทจึงมีประโยชน์ต่อบุคคล เมื่อบุคคลใดดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาท ทุกสิ่งที่ทำ พูด คิด ก็เป็นไปด้วยความไม่ประมาท ผลที่เกิดขึ้นคือความถูกต้องจากการกระทำ พูด คิด แล้วผลนั้นก็ส่งผลให้ชีวิตมีความสุข ความเจริญ และส่งผลต่อสังคมอีกด้วย

ประโยชน์ของความไม่ประมาทต่อการดำเนินชีวิตและสังคม

                 1.ประโยชน์ในการดำเนินชีวิตส่วนบุคคล

                            ความไม่ประมาทมีประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่และการดำเนินชีวิต เช่น ในการปฏิบัติหน้าที่หรือการดำเนินชีวิตที่มีความเสี่ยง ต่ออุบัติภัยมาก  ในการทำงานที่ละเอียดประณีต ในการครองเรือน ในการป้องกันโรค

                        2. ประโยชน์ต่อสังคม  การป้องกันประเทศ การป้องกันอาชญากรรม การวางแผนเศรษฐกิจและสังคม ความสัมพันธ์ระหว่าง ประเทศ

                  3.ประโยชน์ในการปฏิบัติทางพระพุทธศาสนา การปฏิบัติทางพระพุทธศาสนาจะต้องมีความไม่ประมาท กล่าวคือมีสติกำกับอยู่ เสมอ การรักษาศีล การเจริญสมาธิหรือการทำกรรมฐาน การเจริญปัญญา

สิ่งที่ก่อให้เกิดความประมาท

                     1)ความเป็นหนุ่มสาว ทำให้บุคคลเพลิดเพลินในความสนุกสนานในภาวะของหนุ่มสาว ทำให้ทำ พูด คิด ในสิ่งต่างๆ ตามประสาอารมณ์ของวัยรุ่น ไม่คำนึงถึงความถูกต้องดีงาม บางรายต้องสูญเสียอนาคต ชีวิต ไป เพราะความประมาท พระพุทธศาสนาจึงสอนให้ไม่ประมาทในวัย (โยพนมัตตัง)

               2) ความไม่มีโรค ทำให้บุคคลลุ่มหลงในชีวิต ลืมนึกถึงโรคภัยไข้เจ็บที่จะต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดา เมื่อโรคภัยเกิดขึ้นแล้ว ก็ไม่อาจทำความดีได้ เมื่อตอนแข็งแรงอยู่ไม่ได้ทำไว้ จึงตกอยู่ในภาวะของคนประมาท (อโรคยมัตตัง)

               3)ความมีทรัพย์ ทำให้คนหลงเพลิดเพลินในทรัพย์ โดยไม่ใส่ใจในการทำความดี หลงใหลคลั่งไคล้ในวัตถุนิยม คิดว่ามีเงินแล้วจะทำดีเมื่อใดก็ได้ เมื่อเพลิดเพลินไปมาก จิตใจก็ถอยห่างจากความดีไปเรื่อยๆ สุดท้าย เมื่อก่อนจะเสียชีวิตนึกเสียดายที่ได้ทำความดีไว้น้อย

               4) เวลา การที่ประมาทในเวลา โดยคิดว่า มีเวลาทำดีอยู่มาก หรือบางคนบอกว่า รอให้แก่ก่อน แล้วจึงค่อยทำบุญกุศล ถ้าเกิดเป็นอะไรไปเสียก่อน หรือเมื่อแก่แล้วก็ทำดีไม่ได้สะดวก เพราะไม่ได้สั่งสมพฤติกรรมการทำดีมา (พฤติกรรมเคยชิน) จึงทำดีได้ไม่เท่าที่ควร

ธรรมะที่สร้างความไม่ประมาท

                       ธรรมะที่เป็นเครี่องมือสร้างความไม่ประมาท ได้แก่

1.สติ ความระลึกได้ก่อนที่จะทำ จะพูด จะคิด ในสิ่งต่างๆ และ สัมปชัญญะ ความรู้ตัว ในขณะที่ทำ พูด คิดอยู่ โดยไม่เผลอใจ หรือขาดสติ

2.ปธาน คือความเพียร อันเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้เกิดความไม่ประมาทในชีวิต ได้แก่

    1)สังวรปธาน ความเพียรในการระวังมิให้ความชั่วเกิดกับตน หรือป้องมิให้ตนเองกระทำในสิ่งที่ไม่ดี

    2)ปหานปธาน ความเพียรในการละทิ้งความไม่ดีที่เคยเกิดขึ้นกับตนให้หมดไป

    3)ภาวนาปธาน ความเพียรในการสร้างสรรค์ความดีที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้นกับตน หรือเพียรในการสิ่งดีๆ ที่ยังไม่ได้สร้าง

    4)อนุรักขนาปธาน เพียรในการรักษาความดี ที่เราได้ทำไว้แล้วมิให้หายไป คือรักษาสิ่งดีๆ ที่ทำไว้แล้วให้คงอยู่เหมือนเดิม

3. หิริ โอตตัปปะ หิริ คือความละอายใจในการจะทำความชั่ว และโอตตัปปะ ความเกรงกลัวต่อผลของความชั่ว เมื่อบุคคลมีความละอาย และเกรงกลัวต่อบาป แล้ว ก็จะทำให้ผู้นั้นดำเนินชีวิตด้วยความระมัดระวัง ไม่ประมาทเผลอตัวทำความชั่วได้

วิธีการสร้างความไม่ประมาท

                       1. มีสติระลึก ก่อนจะทำ พูด คิด ในทุกสิ่ง หากสิ่งทำไปแล้วเป็นทุกข์ เป็นโทษ เดือดร้อน ก็ไม่ทำ สิ่งใดที่ทำแล้ว ก่อประโยชน์ ก่อสุข ก็พึงทำในสิ่งนั้น

                  2. ตระหนักในผลของการกระทำที่จะเกิดขึ้นกับตนเอง และผู้อื่นรอบข้าง

                       3. ระลึกอยู่ในคุณงามความดีเสมอ เอาคุณธรรมความดีมาผูกไว้ที่ใจ เหมือนคนโบราณเอาพระมาแขวนไว้ที่คอ เพื่อให้เตือนสติตนเองให้ทำความดีทุกลมหายใจ หรือทุกวินาที

ความสำคัญของพระพุทธศาสนาที่มุ่งประโยชน์สุขแก่บุคคลและสังคม

                  หลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา ที่มุ่งประโยชน์และความสุขแก่บุคคล ได้แก่

              1. ทิฎฐธัมมิกัตถะ คือ ประโยชน์ในปัจจุบัน ได้แก่ การตั้งตัวได้อย่างมั่นคงมีทรัพย์ใช้จ่ายไม่ขัดสน หลักปฏิบัติเพื่อให้ได้รับ ประโยชน์ในปัจจุบันมี 4 ประการ

                   1) อุฏฐานสัมปทา มีความหมั่นขยัน

                   2)อารักขสัมปทา รักษาทรัพย์ที่หามาได้

                   3)กัลยาณมิตตตา คบเพื่อนที่ดี

                   4) สมชีวิตา  เลี้ยงชีวิตตามสมควรแก่กำลังทรัพย์ที่หามาได้

          2. สัมปรายิกัตถะ คือ ประโยชน์ในภายหน้า หมายถึง ในอนาคตของชาติปัจจุบันนี้หรือในชาติต่อๆ ไป ได้แก่ ความอุ่นใจว่าได้ทำความดีไว้พร้อมแล้ว สามารถหวังความเจริญในอนาคต หรือหวังสุคติในชาติต่อไปได้ หลักปฏิบัติเพื่อให้ได้รับประโยชน์ในภายหน้ามี 4 ประการ

                  1) สัทธาสัมปทา มีศรัทธาที่ถูกต้อง

                 2) สีลสัมปทา    มีศีลบริสุทธิ์ตามภูมิชั้นของตน

                 3) จาคสัมปทา   ทำการบริจาคอย่างสมบูรณ์

                  4) ปัญญาสัมปทา มีปัญญาเพียบพร้อม รู้จักบาปบุญคุณโทษ

          3. ปรมัตถะ ประโยชน์อย่างยิ่ง คือ นิพพาน ความดับกิเลสและกองทุกข์ได้สิ้นเชิง ซึ่งจะบรรลุได้ด้วยการดำเนินตามอริยมรรคมีองค์ 8 ประการเมื่อปฏิบัติตามอริยมรรค ย่อมได้รับผลตามสมควรแก่การปฏิบัติ

หลักคำสอนของพระพุทธศาสนาที่มุ่งความสุขแก่บุคคล 

               โดยสอนเรื่องความสุขและวิธีปฏิบัติให้ถึงความสุข ความสุขมี 2 ประเภท คือ โลกิยสุข ความสุขที่เกี่ยวข้องกับโลก และโลกุตตรสุข ความสุขเหนือโลก

โลกิยสุข สำหรับความสุขของคฤหัสถ์มี 4 ประการคือ

1) สุขเกิดจากความมีทรัพย์ 

2) สุขเกิดจากการจ่ายบริโภค

3) สุขเกิดจากความไม่ต้องเป็นหนี้

4) สุขเกิดจากการประกอบการงานที่ปราศจากโทษ

 โลกุตตรสุข ความสุขของพระอริยบุคคล ผู้พ้นจากกิเลสบางส่วนหรือสิ้นเชิง การกำจัดกิเลสได้หมดสิ้นนั้นพระพุทธศาสนา ถือว่า เป็นความสุขอย่างยิ่ง

หลักธรรมความไม่ประมาท มีอะไรบ้าง