การตั้งคำถามมี2ระดับอะไรบ้าง

คำถามมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการเรียนการสอนเป็นการกระตุ้นความคิดของผู้เรียน  ถ้าผู้สอนมีความสามารถในการถามคำถามที่มีประสิทธิภาพ  จะช่วยให้ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์วิจารณ์ได้ดี  โดยเฉพาะหลักสูตรประถมศึกษาและมัธยมศึกษาฉบับปัจจุบัน  มุ่งให้ผู้เรียนได้คิด  ได้แก้ปัญหา  ได้วิเคราะห์  ได้หาแนวทางเลือกปฏิบัติที่เหมาะสม  ดังนั้น  จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้สอนต้องมีทักษะในการถามคำถามที่มีประสิทธิภาพ  จึงจะช่วยให้ผู้เรียนมีทักษะการคิดและคิดเป็น  ดังที่หลักสูตรมุ่งหมายไว้

ประโยชน์ของคำถาม

เมื่อพิจารณาประโยชน์ของคำถามทุก ๆ ด้านพอจะสรุปสาระสำคัญได้  ดังนี้

  1. เพื่อส่งเสริมทักษะทางการคิดให้แก่ผู้เรียน
  2. เพื่อกระตุ้นความสนใจในการเรียน ทำให้ผู้เรียนตื่นตัว  สนใจเรียนดีขึ้น
  3. ช่วยขยายความคิดและแนวทางในการเรียนรู้แก่ผู้เรียน
  4. ช่วยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนการสอน
  5. เป็นสื่อกลางเชื่อมโยงความรู้เดิมกับความรู้ใหม่
  6. ปลูกฝังนิสัยรักการค้นคว้า  เพื่อหาคำตอบจากคำถามที่ได้รับ
  7. ใช้วัดผลประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนได้ดี

ประเภทของคำถาม

คำถามมีหลายประเภทผู้สอนควรคำถามหลายๆ  ประเภทในการถามผู้เรียน  ซึ่งมีดังนี้  (หน่วยศึกษานิเทศก์  กรมการฝึกหัดครู  2520 : 2 – 5)

1.  คำถามที่ใช้ความคิดพื้นฐาน  เป็นคำถามง่ายๆ  ไม่จำเป็นต้องใช้ความคิดสูงนัก  เราใช้คำถามชนิดนี้เพื่อให้นักเรียนระลึกถึงความรู้เดิม  หรือเพื่อให้พิจารณาจากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น  เป็นคำถามที่ครูสามารถถามได้ง่าย  และเหมาะที่จะใช้เพื่อฝึกให้เกิดความคล่องในการถาม  นอกจากนี้ยังเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่จะพัฒนาความสามารถของผู้สอน  ไปสู่คำถามที่ใช้ความคิดสูงยิ่งขึ้น  คำถามลักษณะนี้แบ่งออกได้เป็น  2  ประเภทดังนี้

        1.1  ความจำ  เป็นคำถามที่จะได้คำตอบจากความรู้ที่เรียนผ่านมาแล้ว  หรือจากประสบการณ์ของผู้ตอบ  ซึ่งคำถามอาจเป็นข้อเท็จจริงโดดๆ  หรือข้อเท็จจริงหลายๆ  อย่างที่สัมพันธ์กัน  ได้แก่  ความรู้เกี่ยวกับศัพท์  นิยาม  กฎ  ระเบียบ  ลำดับขั้น  การจัดประเภท  เกณฑ์วิธีการและหลักวิชา  นอกจากนี้ยังรวมถึงการเล่าเรื่อง  หรือยกตัวอย่างประกอบโดยอาศัยประสบการณ์ที่ผ่านมาด้วย

ตัวอย่างคำถามความจำ

–  สิ่งมีชีวิตต้องการก๊าซอะไรหายใจ

–  ในการปลูกข้าวชาวนาจะเริ่มทำอย่างไรก่อน

–  จากชื่อสัตว์ที่บอดมานี้  อะไรเป็นสัตว์ป่า  อะไรเป็นสัตว์เลี้ยง

–  อาหารโปรตีนให้คุณค่าอย่างไร  ฯลฯ

1.2  การสังเกต  คำถามชนิดนี้จะได้คำตอบจากประสบการณ์ตรง  โดยผู้ตอบต้องอาศัยประสาทสัมผัส  ลักษณะของคำตอบจะเป็นการบอกถึงรูปร่าง  ลักษณะส่วนประกอบหรือคุณสมบัติรวมถึงการเปลี่ยนแปลงให้กระบวนการที่สังเกตเห็น

ตัวอย่างคำถามการสังเกต

–  จากภาพนี้นักเรียนเห็นอะไร

–  นักเรียนได้รายละเอียดจากก้อนหินที่ให้ไปรวบรวมอย่างไรบ้าง

–  จากการทดลองนี้  พืชเปลี่ยนแปลงปอย่างไร

2.     คำถามเพื่อการคิดค้น  เป็นคำถามที่ผู้ตอบจะต้องใช้ขั้นตอนของความคิดซับซ้อนขึ้นกว่าความคิดพื้นฐาน  แนวทางที่จะคิดอาจแยกออกไปได้หลายลักษณะ  แล้วแต่จุดหมายปลายทางที่ต้องการจะตอบ  อย่างไรก็ตามจุดประสงค์ของคำถามต้องการคำตอบที่ดีที่สุด  หรือถูกต้องที่สุดตามข้อเท็จจริง  เราอาจแล่งลักษณะของคำถามประเภทนี้ได้หลายอย่าง  เช่น

2.1  ความเข้าใจ  เป็นคำถามที่ผู้ตอบใช้ความรู้เดิมมาแก้ปัญหาใหม่  ซึ่งอาจเป็นสถานการณ์ที่เลียนแบบของเก่าหรือสถานการณ์ใหม่  แต่ใช้เรื่องราวเก่าที่เคยรู้มาดัดแปลงเป็นรูปใหม่  รูปแบบของคำถามความเข้าใจ  มีลักษณะเป็นการแปลความ  ตีความ  และขยายความ

ตัวอย่างคำถามความเข้าใจ

–          ทำไมประชาชนในภาคต่าง ๆ จึงมีอาชีพต่างกัน

–          “ไม่งอมืองอเท้า”  หมายความว่าอย่างไร

–          ถ้าเธอเป็นกระป๋องนมใบหนึ่ง  มีละอองน้ำเกาะอยู่ภายนอก  น้ำในกระป๋องเป็นอย่างไร  (นักเรียนผ่านการทดลองที่เอาน้ำแข็งใส่แก้วแล้วมีหยดน้ำเกาะรอบแก้วแล้ว)

2.2  การนำไปใช้  เป็นคำถามที่ผู้ตอบอาศัยความคิดพื้นฐานและความเข้าใจความรู้ที่ได้ไปใช้ในเรื่องราวอื่น ๆ อย่างถูกต้อง  ดังนั้น  คำถามของครูจึงต้องกำหนดสถานการณ์ใหม่ๆ ที่แปจากตำราให้นักเรียนลองหาวิธีแก้ปัญหา

ตัวอย่างคำถามการนำไปใช้

–          ดินสอแท่งละห้าสิบสตางค์  ครึ่งโหลเป็นเงินเท่าไร

–          นักเรียนจะใช้คำว่าขอโทษในเวลาใดบ้าง

–          ถ้าเธอมีหม้อดินและหม้อเคลือบ  เธอจะเลือกใบไหนใส่น้ำจึงจะเย็นกว่า (จากหลักการระเหย)

2.3  การเปรียบเทียบ  เป็นคำถามที่ผู้ตอบต้องวิเคราะห์เรื่องราวออกมาเป็นส่วนย่อย ๆ และพิจารณาว่าสิ่งใดสำคัญ  สิ่งใดไม่สำคัญ  มีมูลเหตุหรือจุดมุ่งหมายอย่างไร  เป็นการเปรียบเทียบที่ต้องผ่านการคิดหลักเกณฑ์ต่างกับการเปรียบเทียบที่ต้องใช้เฉพาะการสังเกต

ตัวอย่างคำถามเปรียบเทียบ

–          ลมบกลมทะเลที่สิ่งใดที่คล้ายกัน

–          กบกับคางคกต่างกันอย่างไร

–          ทำไมเสื้อผ้าที่จากในหน้าร้อนจึงแห้งเร็วกว่าหน้าฝน

2.4  เหตุและผล  เป็นคำถามที่ผู้ตอบต้องหาความสัมพันธ์ของเรื่องราว  หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ว่าสอดคล้องหรือขัดแย้งกันอย่างไร  รูปแบบของคำถามเหตุและผล  อาจเป็นการถามความสัมพันธ์ของเรื่องราว  บุคคล  ความคิด

ตัวอย่างคำถามเหตุและผล

–          ทำไมเราต้องข้ามถนนที่มีทางม้าลาย

–          ถ้าเรารับประทานอาหารโปรตีนไม่พอจะเกดอะไรขึ้น

–          เพราะเหตุใดต้นหญ้าที่ถูกครอบจึงมีใบสีขาว

2.5 สรุปหลักการ  เป็นคำถามที่ผู้ตอบมีการคิดวิเคราะห์หามูลเหตุ  หรือความสำคัญของเรื่องราวนั้นแล้ว  รวมทั้งเห็นความสัมพันธ์ของเรื่องราวหรือเหตุและผลเหล่านั้น  จึงจะสามารถสรุปหลักการได้

ตัวอย่างคำถามสรุปหลักการ

–          นิทานที่จบลงไปนี้ให้คติกับเราอย่างไร

–          ตกลงเราจะหาพื้นที่ของรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสได้อย่างไร

–          เราจะมีวิธีป้องกันโรคไข้เลือกออกโดยวิธีใด

3.     คำถามที่ขยายความคิด  ลักษณะของคำถามประเภทนี้ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์เพราะเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ตอบ  โดยใช้ความคิดเห็นส่วนตัวมากที่สุด  เป็นคำถามที่ไม่กำหนดแนวทางคำตอบไว้ว่าเป็นจุดเริ่มต้น  ให้ผู้เรียนมีแนวความคิดกว้างขวางออกไปนอกเหนือจากการคิดเพื่อข้อเท็จจริง  แนวโน้มของคำถามประเภทนี้มีลักษณะต่างๆ เช่น

3.1  คะเน  เป็นคำถามเชิงสมมุติฐานหรือสมมุติเหตุการณ์  ซึ่งอาจเป็นไปได้หรือยังเป็นไปไม่ได้  คำตอบย่อมเป็นไปได้หลายอย่าง  การที่ประมวลคำตอบที่ดีที่สุดออกมาได้ต้องอาศัยการอภิปรายหรือหาข้อมูลเพิ่มเติม

ตัวอย่างคำถามคาดคะเน

–          ถั่วที่เพาะไว้ทำไมไม่งอกทุกต้น

–          ถ้าไม่มีดวงอาทิตย์เราจะเป็นอย่างไร

–          ถ้าต้นไม้ในป่าถูกโค่นลงหมด  ประเทศเราจะมีผลอย่างไร

3.2 การวางแผน  เป็นคำถามที่ผู้ตอบเสนอแนวคิด  วางโครงการหรือเสนอแผนงานใหม่ ๆ แล้วแต่จุดประสงค์ของคำถาม  ผู้ตอบอาจประมวลข้อเท็จจริงจากประสบการณ์ผนวกกับความคิดของตนเอง  แล้วเสนอออกมาเป็นคำถาม

ตัวอย่างคำถามเพื่อวางแผน

–          ถ้าเธอเป็นผู้แทนราษฎร  เธอจะทำประโยชน์อะไรให้จังหวัดของเราบ้าง

–          ถ้าคอรบครัวยากจน  เธอจะมีทางช่วยเหลืออย่างไรได้บ้าง

–          ทำอย่างไรจึงจะกำจัดยุงให้หมดไปจากบ้านเราได้

3.3  การวิจารณ์  คือ  คำถามที่ต้องการให้ผู้ตอบพิจารณาเรื่องราวหรือเหตุการณ์ในด้านความเหมาะสม  ข้อดี  ข้อเสีย  ซึ่งผู้ตอบย่อมมีความคิดเห็นที่อาศัยทัศนคติของตนเป็นรากฐาน  ลักษณะของคำถามอาจก่อให้เกิดการอภิปรายอย่างกว้างขวาง

ตัวอย่างคำถามการวิจารณ์

–          เธอคิดว่านางลำหับในเรื่องเงาะป่าเป็นคนอ่อนแอหรือไม่  เพราะเหตุใด

–          เธอคิดว่าการที่เลือกกรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวง  มีความเหมาะสมเพียงไร

–          เธอคิดว่ารถยนต์มีส่วนดีและส่วนเสียอย่างไร

3.4  การประเมินค่า  คือ  คำถามเพื่อให้เกิดการวินิจฉัยตีราคาโดยสรุปอย่างมีหลักเกณฑ์  อาจเป็นการตีความคิดเห็น   ผลงานต่าง ๆ วัสดุสิ่งของ  อย่างไรก็ตามแม่จะต้องการให้มีอิสระในการประเมินค่า  แต่การกำหนดเกณฑ์ก็ยังเป็นสิ่งจำเป็น  เช่น  กำหนดเกณฑ์ของระเบียบแบบแผน  เกณฑ์ที่สังคมปัจจุบันยอมรับ

ตัวอย่างคำถามประเมินค่า

–          จากเรื่องที่ครูเล่ามานี้  เธอคิดว่าบุคคลใดในเรื่องดีที่สุด

–          เธอชอบสัตว์เลี้ยงชนิดใดมากที่สุด  (เพราะเหตุใด)

เทคนิคการถามคำถาม

การถามคำถามมีประโยชน์ต่อผู้เรียนดังกล่าวมาแล้ว  ผู้เรียนจะเกิดการเรียนรู้ได้ดีหรือไม่มากน้อยเพียงใด  ขึ้นอยู่กับการถามคำถามของผู้สอนเป็นสำคัญประการหนึ่ง  ถ้าผู้สอนมีทักษะและเทคนิคในการถามคำถาม  จำทำให้การเรียนการสอนมีคุณค่า  เทคนิคในการถามคำถามอาจสรุปได้ดังนี้

1.  ในการถามไม่ควรเจาะจงผู้ตอบหรือถามผู้เรียนตามลำดับ  เพราะการรู้ตัวมาก่อนว่าจะตอบเมื่อใดนั้น  จะทำให้ผู้ตอบไม่สนใจคำถามอื่นๆ  การเรียนรู้จึงไม่เกิดขึ้น

2.  ในการใช้คำถามไม่ควรถามซ้ำผู้เรียนคนเดิมบ่อยครั้ง  เพราะการปฏิบัติดังนี้ผู้เรียนคนอื่นๆ  จะเกิดความน้อยใจที่ผู้สอนไม่เหนความสำคัญของตน  จึงทำให้ไม่สนใจบทเรียน

3.  ในการตั้งคำถามไม่ควรเร่งรัดคำตอบจากผู้เรียน  เมื่อถามคำถามไปแล้ว  ควรเปิดโอกาสให้เด็กหยุดคิดค้นหาคำตอบบ้าง

4.  การใช้คำถามควรใช้น้ำเยงเร้าใจผู้ตอบ  เป็นการกระตุ้นให้ผู้เรียนอยากตอบมากขึ้น

5.  ขณะที่ผู้ตอบหยุดคิดหรือลังเลในการที่จะตอบออกไป  ครูควรให้กำลังใจส่งเสริมไม่คาดคั้นคำตอบหรือแสดงความเบื่อหน่าย  หรือเรียกผู้อื่นตอบแทนเพราะจะทำให้ผู้เรียนเสียกำลังใจ

6.  ในการตอบคำถามหนึ่ง  ผู้สอนไม่ควรคิดว่าต้องให้เกคนเดียวตอบ  คำถามนั้นควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนหลายๆ  คนได้ตอบ  เพราะจะเป็นการกระจายความคิดและทำให้มีข้อสรุปที่ดี

7.  ในการตอบคำถามของผู้เรียนอาจได้คำตอบที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง  หรือไม่ค่อยมีเหตุผลนัก  ผู้สอนควรหาวิธีที่จะทำให้ผู้เรียนเข้าใจ  และสามารถหาคำตอบที่ถูกต้องได้  ไม่ควรปล่อยให้ผู้เรียนเข้าใจอย่างผิดๆ  ต่อไป  โดยอาจถามคำถามใหม่  หรืออธิบายเพิ่มเติม

8.  คุณค่าของการสอนโดยใช้คำถามจะหมดไป  ถ้าครุเป็นผู้ถามเองตอบเอง  หรือถามคำถามในลักษณะที่ทบทวนความจำผู้เรียนมากเกินไป

9.  สร้างบรรยากาศที่เป็นกันเองในห้องเรียน  เพื่อให้ผู้เรียนรู้สึกอยากจะมีส่วนร่วมในการตอบคำถาม

10.  ในการตอบคำถามหนึ่งๆ  ควรให้ผู้เรียนช่วยกันหาคำตอบในหลาย ๆ แนว  ไม่ควรจำกัดเฉพาะคำตอบเดียว

11.  ใช้คำถามที่ผู้เรียนมีความรู้และประสบการณ์เพียงพอ

12. ควรวิเคราะห์คำถามที่ถามไปแล้วเพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขเพื่อใช้ในโอกาสอื่น ๆ ต่อไป (พันทิพา  อุทัยสุข, 2532:76)