คําซ้อนเพื่อความหมาย มีอะไรบ้าง

“เหน็ดเหนื่อย ทุกข์ยาก ลำบากลำบน” เพื่อน ๆ ลองมาเดากันดีกว่าว่าตัวอย่างคำที่ StartDee ยกมาเนี่ยจะสื่อถึงอะไรกันแน่ ติ๊กตอก ๆ

นี่มันความรู้สึกตอนเป็นนักเรียนรึเปล่า /ตึ่งโป๊ะ !

ไม่ใช่ ! คำเหล่านี้ที่เรายกมาคือคำซ้อนต่างหาก แต่คำซ้อนคืออะไร และเราจะแยกคำซ้อนแต่ละประเภทออกจากกันยังไง วันนี้ StartDee จะพาไปดู !

เพื่อน ๆ สามารถไปเรียนเรื่องคำซ้อนเพิ่มเติมได้ที่แอปพลิเคชัน StartDee ที่นอกจากภาษาไทยแล้ว ยังมีวิชาอื่น ๆ ครบเลยนะคะ คลิกแบนเนอร์ด้านล่างได้เลย

คําซ้อนเพื่อความหมาย มีอะไรบ้าง

 

คำซ้อนคืออะไร

คำซ้อน คือการนำคำมูลที่มีความหมายเหมือนกัน ตรงข้ามกัน ใกล้เคียงกัน มาเรียงต่อกัน แล้วทำให้เกิดคำใหม่ที่มีความหมายใกล้เคียงกับคำเดิม หรือมีความหมายอยู่ที่คำใดคำหนึ่ง โดยคำมูลใช้สร้างคำซ้อนนั้นอาจเป็นคำมูลจากภาษาไทยหรือภาษาต่างประเทศก็ได้

การซ้อนคำเป็นการสร้างคำใหม่ในภาษาไทยรูปแบบหนึ่ง ทำให้เราได้คำใหม่มาใช้ในภาษาไทยมากขึ้น โดยคำซ้อนในภาษาไทยสามาถแบ่งเป็น ๒ กลุ่มหลัก ๆ ได้แก่ คำซ้อนเพื่อความหมายและคำซ้อนเพื่อเสียง 



คำซ้อนเพื่อความหมาย และคำซ้อนเพื่อเสียง

เราสามารถแบ่งคำซ้อนได้เป็น ๒ ประเภทใหญ่ ๆ ตามวิธีการสร้างคำ ได้แก่ คำซ้อนเพื่อความหมาย และคำซ้อนเพื่อเสียง แต่คำซ้อนสองกลุ่มนี้ยังแบ่งแยกย่อยลงไปได้อีก ไปดูพร้อม ๆ กันเลยว่ามีอะไรบ้าง

๑. คำซ้อนเพื่อความหมาย เกิดจากการนำคำมูลที่มีความหมายเหมือนกัน คล้ายกัน หรือตรงกันข้าม มารวมกัน เกิดเป็นคำใหม่มีความหมายใหม่ หรือเป็นการย้ำความหมายให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เราจึงแบ่งคำซ้อนเพื่อความหมายได้อีก ๒ ประเภทตามความหมาย คำที่นำมาซ้อนกัน ได้แก่

๑.๑ จำแนกโดยใช้เกณฑ์ด้านความหมายของคำที่นำมาสร้าง

๑.๑.๑ คำซ้อนเพื่อความหมายที่เกิดจาก คำมูลที่มีความหมายเหมือนกันหรือคล้ายกัน มาเรียงต่อกัน เช่น บ้านเรือน รกร้าง ชั่วร้าย ดีเลิศ นิดหน่อย เหนี่ยวรั้ง หดหาย รูปภาพ ดูแล มองเห็น ราบลุ่ม พลาดพลั้ง

๑.๑.๒ คำซ้อนเพื่อความหมายที่เกิดจาก คำมูลที่มีความหมายตรงกันข้ามกัน มาเรียงต่อกัน เช่น สูงต่ำ ชั่วดี เช้าเย็น ก่อนหลัง ขาวดำ ดีเลว 

๑.๒ จำแนกโดยใช้เกณฑ์ด้านความหมายของคำที่สร้างขึ้นแล้ว

๑.๒.๑. คำซ้อนเพื่อความหมายที่ทำให้ความหมายของคำชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง รูปร่าง พัดวี เลือกสรร ซื่อสัตย์ หลงเหลือ

๑.๒.๒. คำซ้อนเพื่อความหมายที่ทำให้ความหมายของคำเฉพาะเจาะจงกว่าเดิม เช่น ปัดกวาดเช็ดถู หัวหู ญาติโยม เนื้อตัว

๑.๒.๓. คำซ้อนเพื่อความหมายที่ทำให้ความหมายของคำกว้างกว่าเดิม เช่น ลูกหลาน พี่น้อง ถ้วยชาม ข้าวปลา

๑.๒.๔. คำซ้อนเพื่อความหมายที่ทำให้ความหมายของคำเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น กดขี่ หนาแน่น แน่นหนา อบรม ตัดขาด โขกสับ อ่อนหวาน อยู่กิน วิ่งเต้น เสียดสี

 

รู้หรือไม่: คำว่า ‘แน่นหนา’ กับ ‘หนาแน่น’ ใช้ต่างกันอย่างไร

คำว่า ‘แน่นหนา’ และ ‘หนาแน่น’ เป็นคำซ้อนเพื่อความหมายที่เกิดจากคำมูลสองคำมาเรียงต่อกัน ได้แก่ ‘แน่น’ และ ‘หนา’ แต่เพื่อน ๆ รู้ไหมว่าแค่สลับตำแหน่ง สองคำนี้ก็มีความหมายที่ต่างกันแล้ว โดยคำว่า ‘หนาแน่น’ จะแปลว่าคับคั่ง แออัด ยกตัวอย่างประโยคเช่น กรุงเทพฯ มีประชากรหนาแน่นมาก ส่วนคำว่า ‘แน่นหนา’ แปลว่ามั่นคง แข็งแรง ยกตัวอย่างประโยคเช่น ประตูบานนี้ใส่กุญแจไว้อย่างแน่นหนา

คําซ้อนเพื่อความหมาย มีอะไรบ้าง
คําซ้อนเพื่อความหมาย มีอะไรบ้าง

Photo by Hanny Naibaho and Sheldon Kennedy on Unsplash

 

๒. คำซ้อนเพื่อเสียง คือการนำคำมูลตั้งแต่สองคำขึ้นไปมาซ้อนกัน โดยเน้นเสียงพยัญชนะหรือเสียงสระที่คล้องจองหรือมีเสียงใกล้เคียงกัน ทำให้เกิดคำซ้อนที่มีเสียงสวยงาม สร้างความรู้สึกให้แก่ผู้ฟัง เราสามารถแบ่งคำซ้อนเพื่อเสียงตามลักษณะของคำมูลที่นำมาซ้อนกันเป็น ๒ ประเภท ได้แก่

๒.๑ คำซ้อนเพื่อเสียงที่ เกิดจากคำมูลที่ไม่มีความหมาย มาซ้อนกัน ยกตัวอย่างเช่น โยเย ตุ๊ต๊ะ เทอะทะ กะรุ่งกะริ่ง คะยั้นคะยอ สะบักสะบอม ระหกระเหิน 

๒.๒ คำซ้อนเพื่อเสียงที่ เพิ่มคำมูลที่ไม่มีความหมาย เพื่อให้เสียงคล้องจองกับพยางค์หลัก เช่น แออัด เปรอะปะ จะเห็นว่าความหมายหลักจะอยู่ที่คำมูลเพียงคำเดียว เช่น

แออัด ความหมายหลักอยู่ที่คำว่า อัด

เปรอะปะ ความหมายหลักอยู่ที่คำว่า เปรอะ

นอกจากนี้เรายังสามารถแบ่งคำซ้อนเพื่อเสียงตามจุดประสงค์ในการซ้อนคำได้อีก ๓ ประเภท ได้แก่

๑. คำซ้อนเพื่อเสียงที่เกิดจากการซ้อนเสียงพยัญชนะ เช่น ติ๊งต่าง ตูมตาม เก่งกาจ เฟี้ยวฟ้าว

๒. คำซ้อนเพื่อเสียงที่เกิดจากการซ้อนเสียงสระ เช่น รอบคอบ เพิ่มเติม จิ้มลิ้ม อ้างว้าง กว้างขวาง 

๓. คำซ้อนเพื่อเสียงที่เกิดจากการซ้อนเสียงพยัญชนะ และสระ เช่น สอดส่อง แจกแจง ถากถาง ทาบทาม

นอกจากการจำแนกคำซ้อนตามการจำแนกที่เสนอไปแล้วนั้น เรายังสามารถพิจารณาจำแนกคำซ้อนตามจำนวนพยางค์ หรือคำที่นำมาสร้าง เป็นจังหวะการอ่าน เช่น คำซ้อน ๔ จังหวะ

 

 

คำซ้อน ๔ จังหวะ

คำซ้อน ๔ จังหวะ คือ คำซ้อนที่เกิดจากการนำคำ ๔ พยางค์มารวมกัน โดยอาจเป็นการซ้อนเพื่อเสียง หรือซ้อนเพื่อความหมาย หรือทั้งสองอย่าง ยกตัวอย่างเช่น ผิดชอบชั่วดี ผ่าเหล่าผ่ากอ ช้างม้าวัวควาย เสือสิงห์กระทิงแรด กุ้งหอยปูปลา ตื้นลึกหนาบาง คิดหน้าคิดหลัง จากตัวอย่างที่เรายกมาเพื่อน ๆ จะเห็นว่า คำซ้อนเหล่านี้เกิดจากการนำคำมูล ๔ คำที่มีความหมายหรือบริบทใกล้เคียงกันมาเรียงต่อกัน 

นอกจากนี้ยังมีคำซ้อนสี่จังหวะที่มีเสียงคล้องจองกันด้วย ยกตัวอย่างเช่น วัดวาอาราม ตีอกชกหัว เคราะห์หามยามร้าย มากมายก่ายกอง ตกอกตกใจ ยิงนกตกปลา อุดหนุนจุนเจือ ล้มหมอนนอนเสื่อ เพื่อน ๆ จะเห็นว่าเสียงสระหรือพยัญชนะของพยางค์ที่ ๒ และพยางค์ที่ ๓ จะคล้องจองกันพอดี

มากมายก่ายกอง จะซ้อนเสียง ‘มาย’ กับ ‘ก่าย’

ตกอกตกใจ จะซ้อนเสียงที่คำว่า ‘อก’ จะ ‘ตก’

ยิงนกตกปลา จะซ้อนเสียงที่คำว่า ‘นก’ กับ ‘ตก’

อุดหนุนจุนเจือ จะซ้อนเสียงที่คำว่า ‘หนุน’ กับ ‘จุน’

ล้มหมอนนอนเสื่อ จะซ้อนเสียงที่คำว่า ‘หมอน’ กับ ‘นอน’

คำซ้อน ๔ จังหวะที่มีการซ้ำคำ เช่น กงเกวียนกำเกวียน อดข้าวอดน้ำ มากหมอมากความ คันไม้คันมือ ซึ่งเป็นการซ้อนเสียงสัมผัสระหว่างพยางค์ที่ ๑ กับพยางค์ที่ ๓ หรือพยางค์ที่ ๒ กับพยางค์ที่ ๔ 

 

จากตัวอย่างคำซ้อนที่เรายกมาให้เพื่อน ๆ ดู จะเห็นว่าคำซ้อนหลายคำก็เป็นเราใช้กันบ่อย ๆ ในชีวิตประจำวันเลยนะ และนอกจากการสร้างคำด้วยวิธีการซ้อนคำ ยังมีการซ้ำคำ การประสมคำ รอให้เพื่อน ๆ ศึกษาเพิ่มเติมอยู่ด้วย หรือถ้าอยากเรียนรู้การสร้างคำระดับแอดวานซ์ เราขอแนะนำให้เพื่อน ๆ ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน StartDee แล้วไปเรียนต่อกันในบทเรียนเรื่องการสร้างคำในประโยค ตอน การสร้างคำสมาสได้เลย

คําซ้อนที่มีความหมายเหมือนกัน มีอะไรบ้าง

คำซ้อนที่ใช้คำความหมายเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน ได้แก่ บ้านเรือน อ้วนพี มากมาย ฯลฯ คำซ้อน 4 คำ ที่มีคำที่ 1 และคำที่ 3 เป็นคำ ๆ เดียวกัน ได้แก่ ผู้หลักผู้ใหญ่ ร้อนอกร้อนใจ เข้าได้เข้าไป ฯลฯ คำซ้อนที่เป็นกลุ่มคำมีเสียงสัมผัส ได้แก่ เก็บหอมรอมริบ ข้าวยากหมากแพง รู้จักมักคุ้นฯลฯ

คําซ้อนมีคำว่าอะไรบ้าง

หมายถึง คำที่นำมาซ้อนกันนั้นมีความหมายใกล้เคียงกันหรือเป็นไปในทำนองเดียวกัน พอที่จะจัดเข้ากลุ่มเดียวกันได้ เช่น อ่อนนุ่ม ใจคอ เล็กน้อย ยักษ์มาร ไร่นา ศีลธรรม แข้งขา ภาษีอากร หน้าตา เขตแดน ถ้วยโถโอชาม เย็บปักถักร้อย

คำซ้อนเพื่อเสียงมีอะไรบ้าง

ลักษณะของคำซ้อนเพื่อเสียง มีดังนี้ 1.แต่ละพยางค์มีเสียงพยัญชนะต้นเหมือนกัน ต่างกันที่เสียงสระ เช่นเกะกะ ขรุขระ คู่คี่ เงอะงะ ซู่ซ่า 2.แต่ละพยางค์มีเสียงพยัญชนะต้นและพยัญชนะสะกดเหมือนกัน ต่างกันที่เสียงสระ เช่น เก้งก้าง ขลุกขลิก คึกคัก จริงจัง โผงผาง

คำซ้อนมีความหมายว่าอย่างไร

คำซ้อน หมายถึง คำที่เกิดจากการสร้างคำโดยนำคำที่มีความหมายเหมือนกัน คล้ายกัน ตรงข้ามกัน หรือมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน ในทางใดทางหนึ่งมาเขียนซ้อนกัน ซึ่งอาจทำให้เกิดความหมายเฉพาะหรือความหมายใหม่ขึ้นมา คำ ซ้อนสามารถจำแนกจุดประสงค์ของการซ้อนคำได้เป็น 2 ลักษณะ คือ1.) ซ้อนเพื่อความหมาย 2.) ซ้อนเพื่อเสียง