ปัจจัยส่วนประสมทางการตลาด 4p

4P คืออะไร? เราเชื่อว่าหากคุณคือนักการตลาดที่ผ่านการทำงานให้กับธุรกิจและแบรนด์ต่าง ๆ มาอย่างชำนาญแล้วเรื่องนี้จะไม่ใช่ปัญหาสำหรับคุณเลย แต่ในทางกลับกันนักการตลาดมือใหม่หลายคนที่อาจได้มีโอกาสศึกษาการตลาดเรื่องของ 4P คืออีกหนึ่งกลยุทธ์ที่คุณต้องให้ความสำคัญไม่แพ้เรื่อง Customer Journey หรือ SWOT Analysis เลย

ซึ่ง 4P หรือชื่อไทยคือส่วนประสมทางการตลาด คือ หัวใจสำคัญและนับเป็นจุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจอย่างถูกต้องไม่ว่าเวลาจะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัยก็ตาม ในบทความนี้เราเลยขอมาตอบคำถามที่ว่า 4P คืออะไร หรือ Marketing Mix คืออะไร ให้ทุกคนได้เข้าใจไปพร้อมกันและเจาะลึกส่วนผสมทางการตลาดที่คุณควรต้องรู้ หากพร้อมแล้วไปหาคำตอบกันได้เลย!

4P (Marketing Mix) หรือ ส่วนผสมทางการตลาด คือ แนวคิดปัจจัย 4 อย่างที่ธุรกิจต้องวิเคราะห์เพื่อช่วยในการวางแผนการทำงานการตลาดซึ่ง 4P จะประกอบไปด้วย Product (สินค้า), Price (ราคา), Place (ช่องทางการจำหน่าย) และ Promotion (การส่งเสริมการขาย) ซึ่งปัจจัยทั้ง 4 อย่างที่กล่าวไปนั้นจะเข้ามาช่วยให้นักธุรกิจและนักการตลาดทุกคนได้สามารถวิเคราะห์กลยุทธ์ออกมาได้อย่างละเอียดเพื่อการสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจได้มากที่สุด

ปัจจัยส่วนประสมทางการตลาด 4p

องค์ประกอบ 4P (ส่วนผสมการตลาด)

หลังจากที่รู้ความหมายกันไปแล้วเราลองมาดูกันว่าองค์ประกอบของ 4P ส่วนผสมทางการตลาด ที่ประกอบด้วย 4 ปัจจัย คือ Product, Price, Place และ Promotion ว่าหลักการ 4P มีอะไรบ้างและจะมีรายละเอียดแต่ละอย่างเป็นอย่างไร

1.ผลิตภัณฑ์ (Product) 

ผลิตภัณฑ์ คือสิ่งที่ธุรกิจของคุณต้องการขายให้กับผู้บริโภคและต้องเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ โดยผลิตภัณฑ์ในที่นี้อาจเป็นสินค้าหรือบริการก็ได้ ซึ่งต้องมีประโยชน์ (Utility) และสร้างคุณค่า (Value) ให้กับผู้บริโภค ตอบสนองต่อการใช้งานและสร้างความพึงพอใจกับผู้บริโภคได้ดี ซึ่งเหตุผลนี้จะช่วยให้ผลิตภัณฑ์สามารถขายได้ 

หรือในกรณีที่คุณมีผลิตภัณฑ์มาอยู่ก่อนแล้วก็ต้องเน้นในเรื่องของการเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ ต้องมีความเข้าใจว่าผลิตภัณฑ์ของเราคืออะไร อะไรคือสิ่งที่เราควรเพิ่มหรือปรับปรุงตัวผลิตภัณฑ์ของเรา ซึ่งต้องพิจารณาจากองค์ประกอบของผลิตภัณฑ์ (Product Component) ดังนี้

  • หน้าที่และประโยชน์ใช้สอยพื้นฐาน (Function)
  • รูปร่างลักษณะ (Feature and Design) 
  • คุณภาพ (Quality Level) 
  • การบรรจุภัณฑ์ (Packaging) 
  • ตราสินค้า (Brand) : ชื่อ (Name) คำ (Term) สัญลักษณ์ (Symbol) การออกแบบ (Design)

2. ราคา (Price)

ราคา คือคุณค่าหรือมูลค่าของตัวผลิตภัณฑ์ที่แสดงออกมาในรูปของตัวเงิน ซึ่งราคาถือเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคหรือผู้ใช้เปรียบเทียบผลิตภัณฑ์แต่ละแบรนด์เป็นอันดับแรก โดยผู้บริโภคจะเปรียบเทียบระหว่างคุณค่าที่ได้รับว่าเหมาะสมกับราคาหรือไม่ ดังนั้นในฐานะเจ้าของธุรกิจและผู้ประกอบการก็ควรต้องกำหนดราคาให้เหมาะสมกับสิ่งที่ผู้บริโภคได้รับก่อนที่จะปล่อยผลิตภัณฑ์ออกสู่ท้องตลาดเสมอ โดยการกำหนดราคาสามารถพิจารณาจากปัจจัยที่เกี่ยวข้องดังนี้

  • ต้นทุน (Cost) – ค่าวัสดุ ค่ากำลังการผลิต ค่าแพคเกจจิ้ง ค่าสถานที่ เงินเดือนพนักงานหรือลูกจ้าง และค่าใช้จ่ายในการทำโฆษณาทั้งออนไลน์และออฟไลน์ (เช่น ยิงแอด ทำโฆษณาออนไลน์ ฯลฯ)
  • ราคาของคู่แข่ง – ควรตั้งราคาให้เหมาะสมหรือใกล้เคียงกัน เพื่อไม่ให้เกิดการเปรียบเทียบกันจนเกินไป

3. ช่องทางการจัดจำหน่าย (Place)

ช่องทางการจัดจำหน่าย คือปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับที่ตั้งและรูปแบบสถานที่ให้บริการ โดยต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ของเราเพื่อให้เกิดการเพิ่มมูลค่าของธุรกิจ ซึ่งต้องวิเคราะห์จาก 2 องค์ประกอบดังนี้

  • รูปแบบสถานที่ขายผลิตภัณฑ์หรือบริการ – ต้องกำหนดตามความเหมาะสมของผลิตภัณฑ์หรือการให้บริการ และกลุ่มผู้ใช้หรือผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งรูปแบบต่าง ๆ เช่นสินค้าแบบไหนควรขายที่สถานที่ใด Supermarket, ตลาดสด, ร้านสะดวกซื้อ, ร้านแผงลอยริมทาง, ช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ เช่นเว็บไซต์ E-Commerce, Facebook Page, Instagram ฯลฯ
  • สถานที่ตั้งของร้านค้า – ต้องวิเคราะห์ก่อนลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของธุรกิจคือใคร
  • มีคู่แข่งขันหรือร้านค้าที่มีผลิตภัณฑ์หรือบริการประเภทเดียวกันหรือใกล้เคียงกันในบริเวณนั้นหรือไม่ แล้วจึงค่อยตัดสินใจเลือกสถานที่ตั้งของร้านค้า

หากสนใจสร้างช่องทางจัดจำหน่าย Facebook Page สามารถดูวิธีการอย่างละเอียดได้เลย >> วิธีสร้างเพจ Facebook

4. การส่งเสริมการตลาด (Promotion) 

การส่งเสริมการตลาด คือการสื่อสารกันระหว่างธุรกิจและผู้บริโภค เพื่อกระตุ้นการขายผ่านช่องทางและกลยุทธ์ต่าง ๆ เข้ามาช่วยไม่ว่าจะเป็นการใช้กลยุทธ์ด้าน Digital Marketing, กลยุทธ์ Social Media Marketing ซึ่งประกอบไปด้วย การยิงแอด , สร้างเพจ Facebook, การใช้งาน Influencer หรือการคิดโปรโมชันตามช่องทางต่างๆ ก็ล้วนเป็นวิธีการส่งเสริมการตลาดที่น่าสนใจ โดยผ่านเครื่องมือส่งเสริมการตลาดไม่ว่าจะเป็น

  • การโฆษณา (Advertising)
  • การขายโดยใช้พนักงานขาย (Personal Selling)
  • การตลาดทางตรง (Direct Marketing)
  • การให้ข่าวและประชาสัมพันธ์ (Publicity and Public Relation) 
  • การส่งเสริมการขาย (Sale Promotion) 

ซึ่งในส่วนนี้อาจเลือกใช้เครื่องมือต่าง ๆ เข้ามาช่วยในการพิจารณาถึงความเหมาะสมกับลูกค้าหรือผู้ใช้ ผลิตภัณฑ์เพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายที่ธุรกิจของคุณตั้งไว้

เพจไม่ปัง ทำอย่างไรดี เรามีบทความเกี่ยวกับการโปรโมทเพจแล้ว >> โปรโมทเพจ

เราได้รวบรวมเทคนิคการยิงแอดให้ปังกว่าใครไว้แล้ว >> ยิงแอด Facebook 

4P มีประโยชน์ต่อธุรกิจอย่างไร 

ลองมาดูกันว่าหลักการตลาด 4P นั้นมีประโยชน์ต่อการสร้างธุรกิจหรือการช่วยทำให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างไรบ้าง 

  • ช่วยให้ธุรกิจรู้จักและเข้าใจสินค้าและบริการของตัวเอง 
  • ช่วยให้ธุรกิจรู้จักกลุ่มลูกค้าของตัวเองมากขึ้น
  • ช่วยให้ธุรกิจได้วางแผนกลยุทธ์การตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • ช่วยให้ธุรกิจได้รู้ตำแหน่งในท้องตลาดของตัวเอง
  • ช่วยให้ธุรกิจได้ตัดสินใจการทำงานในแต่ละแคมเปญได้ดี
  • ผนวกรวมกับกลยุทธ์การตลาดอื่น ๆ เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ธุรกิจได้ เช่น SWOT, Five Forces, Business Model Canvas (BMC) เป็นต้น

ตัวอย่างการวิเคราะห์กลยุทธ์ 4P   

เราลองมาดู 4P Marketing ตัวอย่างในการวิเคราะห์กลยุทธ์กันบ้างว่าหากคุณต้องการนำแนวคิดของ 4P Marketing Max ส่วนประสมทางการตลาดไปใช้งานในธุรกิจจริงนั้น จะต้องมีขั้นตอนและกระบวนการตั้งแต่เริ่มต้นอย่างไรบ้าง ไปติดตามกัน!

1.ตัวอย่างการวิเคราะห์กลยุทธ์ผลิตภัณฑ์ (Product)

ในการวิเคราะห์กลยุทธ์ผลิตภัณฑ์ (Product) นั้นอันดับแรกคุณต้องเช็กก่อนว่าผลิตภัณฑ์ของธุรกิจคุณในปัจจุบันนั้นมีสิ่งต่าง ๆ ที่ลูกค้าต้องการดังนี้หรือเปล่า (โดยเราจะทำเป็นเช็กลิสต์ให้คุณได้ตรวจสอบ)

  • ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งาน (Satisfying needs)
  • จุดขายที่โดดเด่น (Unique Selling Point)
  • ฟีเจอร์ของผลิตภัณฑ์ (Feature)
  • คุณภาพของผลิตภัณฑ์ (Quality)
  • กลิ่นอายความเป็นแบรนด์ของผลิตภัณฑ์ (Branding)
  • บรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์ (Packaging)
  • มีการรับประกัน (Warranties)
  • มีบริการหลังการขาย (Services)

จากนั้นให้คุณทำการศึกษาผู้บริโภคหรือกลุ่มเป้าหมายของธุรกิจโดยให้ตั้งคำถามว่า ความต้องการแบบไหนที่พวกเขากำลังมองหาและผลิตภัณฑ์ของคุณสามารถช่วยพวกเขาได้ พวกเขาจะได้อะไรจากการซื้อหรือใช้ผลิตภัณฑ์ของคุณ 

หลังจากนั้นก็จะต้องไปศึกษาคู่แข่งในตลาดปัจจุบันว่ามีผลิตภัณฑ์ประเภทเดียวกันในตลาดไหม ถ้ามี จุดแข็ง-จุดอ่อนของคู่แข่งคืออะไร ผลิตภัณฑ์ของคุณจะสร้างความแตกต่างได้ในเรื่องอะไร ซึ่งในส่วนนี้สามารถนำแนวคิด SWOT Analysis มาช่วยได้ 

และขั้นตอนต่อมาคือคุณต้องมาวิเคราะห์ต่อว่าฟีเจอร์ไหนของผลิตภัณฑ์ของคุณจะช่วยเหลือลูกค้าที่ซื้อไปได้ดีที่สุด รูปแบบของผลิตภัณฑ์ควรจะเป็นอย่างไร บรรจุภัณฑ์หรือแพคเกจจิ้งของผลิตภัณฑ์ควรทำออกมารูปแบบไหน ควรมีการรับประกันการขายไหม เป็นต้น ซึ่งเราจะมีตัวอย่างในการวิเคราะห์มาให้คุณได้ดูเป็นแนวทางกัน 

ตัวอย่างการวิเคราะห์ : Product เครื่องหนีบและม้วนผมไฟฟ้า 2IN1 

ลูกค้า A กำลังมองหาเครื่องหนีบผมไฟฟ้าที่ตอบโจทย์กับชีวิตของเขาที่เร่งรีบ ต้องเข้าไปทำงานในเมืองทุกวัน สามารถหนีบผมและม้วนผมได้ภายในเครื่องเดียวไม่อยากสลับ 2 เครื่องไปมาเพราะทำให้เสียเวลาและเขาเป็นคนให้ความสำคัญกับแบรนด์ ต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่น่าเชื่อถือ ปลอดภัยและมีการรับประกันสินค้า

ดังนั้นเครื่องหนีบผมที่คุณจะผลิตออกมานั้นต้องสามารถตอบโจทย์ลูกค้า A ในเรื่องนี้ให้ได้ โดยผลิตภัณฑ์นั้นต้องออกแบบให้ใช้งานได้หลากหลายหนีบผม ม้วนผม จบได้ในเครื่องเดียว ร้อนเร็ว ไม่ต้องรอนาน เสียบปลั๊กรอ 10 วินาทีก็ใช้งานได้เลย มาพร้อมออฟชันเสริมเช่น ดัดผม ดัดวอลลุ่ม ฯลฯ มีระบบตัดไฟฟ้าเมื่อความร้อนเกิน มีการรับประกันสินค้า 1 ปีเต็ม เป็นต้น

2. ตัวอย่างการวิเคราะห์กลยุทธ์ราคา (Price)

ในการวิเคราะห์กลยุทธ์ราคาเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าการทำธุรกิจไม่ว่าจะธุรกิจอะไรก็ตาม ธุรกิจต้องการกำไรจากการค้าขายผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อเป็นการทำให้ธุรกิจได้เติบโตขึ้นแต่ว่าการจะตั้ง ราคาผลิตภัณฑ์สักตัวนั้นต้องคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ด้วยเสมอ

  • Brand Positioning
  • กลยุทธ์การตั้งราคา (Pricing Strategy)
  • รูปแบบการจ่ายเงิน (Payment Form)
  • ส่วนลด (Discount) 

ดังนั้นเรื่องของ Brand Positioning หรือตำแหน่งของแบรนด์ในตลาดก็มีความสำคัญกับการตั้งราคาของสินค้าเพราะว่าถ้าคุณรู้ว่าแบรนด์ของคุณกำลังอยู่ในส่วนไหนของตลาดจะช่วยให้การวิเคราะห์ราคาทำได้ง่ายขึ้น เช่น แบรนด์ที่ราคาเป็นมิตร แบรนด์ราคาระดับกลาง หรือแบรนด์ระดับหรูหรา

โดยในส่วนนี้เราขอแนะนำให้คุณใช้กลยุทธ์ Pricing Strategy เข้ามาช่วยในการตัดสินใจตั้งราคา เพราะจะช่วยให้คุณสามารถกำหนดราคาของผลิตภัณฑ์รวมถึงการสร้างโปรโมชันเพิ่มยอดขายได้ดีมากขึ้น เช่น การตั้งราคาตามต้นทุน (Cost-based Pricing) การตั้งราคาจากคู่แข่ง (Competitive-Oriented Pricing) การตั้งราคาเชิงจิตวิทยา (Psychological Pricing) เป็นต้น

ตัวอย่างการวิเคราะห์ราคา เครื่องหนีบและม้วนผมไฟฟ้า 2IN1

แบรนด์เครื่องหนีบผมไฟฟ้าของคุณนั้นเป็นแบรนด์ระดับกลาง ที่ต้องการเจาะกลุ่มตลาดนักศึกษาด้วย วัยเริ่มทำงานด้วยไปจนถึงวัยทำงานที่มีฐานะ วัสดุอาจไม่ใช่เกรดพรีเมียมแต่ก็ถือว่าใช้งานได้คงทน ไม่เสื่อม ไม่เสียง่ายและมีความปลอดภัยในการใช้งาน 

ดังนั้นการวิเคราะห์ราคาเครื่องหนีบผมไฟฟ้าของคุณอาจจะต้องกำหนดราคาที่สูสีกับตลาดทั่วไป แล้วนำข้อดีด้านฟังก์ชันการใช้งานที่ผลิตภัณฑ์ของคุณมีมากกว่ามาเป็นตัวล่อ ให้ลูกค้าได้เห็นว่าแม้จะต้องจ่ายเงินในราคาที่เท่ากับแบรนด์อื่น แต่เครื่องหนีบผมไฟฟ้าของแบรนด์คุณมีลูกเล่น มีฟังก์ชันในการใช้งานไปจนถึงบริการหลังการขายที่ดีกว่า เพราะฉะนั้นลูกค้าจะคิดว่าถ้าซื้อเครื่องหนีบผมไฟฟ้าแบรนด์ของคุณนั้นคุ้มค่ากว่าการซื้อผลิตภัณฑ์ของคู่แข่งแน่นอน

3. ตัวอย่างการวิเคราะห์กลยุทธ์ช่องทางการจัดจำหน่าย (Place)

Place หรือสถานที่นั้นไม่ได้จำกัดความเพียงแค่การจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางออฟไลน์เช่น ร้านค้าหรือห้างสรรพสินค้าเท่านั้น เพราะในปัจจุบันก็มีช่องทางของออนไลน์เพิ่มเข้ามามากมายซึ่งถือว่าเป็นทางเลือกให้แก่ลูกค้าที่จะช่วยเข้ามาเพิ่มความสะดวกสบายในการซื้อสินค้าของคุณโดยในการเริ่มวิเคราะห์กลยุทธ์ช่องทางการจัดจำหน่าย จะต้องมีปัจจัยที่คุณต้องคำนึงเป็นอันดับแรก ดังนี้

  • ช่องทางในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ (Channels)
  • ช่องทางที่ลูกค้าอยู่เป็นประจำ (Audience)
  • ช่องทางที่สามารถสนับสนุนลูกค้าได้ (Support) 
  • ช่องทางที่เหมาะสมกับขนาดธุรกิจ (Business Size)

โดยการเลือกช่องทางในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดก็คือการเลือกช่องทางที่กลุ่มเป้าหมายของคุณอยู่ในนั้น โดยคุณอาจจะลองต้องศึกษาพฤติกรรมการใช้ชีวิตของพวกเขาว่ามีความชอบในการซื้อของที่ช่องทางไหนมากที่สุดเช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านค้า ฯลฯ หรือช่องทางออนไลน์ อย่าง Social Media หรือช่องทาง Marketplace อย่าง Shopee, Lazada ฯลฯ

ซึ่งต้องบอกเลยว่าในปัจจุบันการที่ธุรกิจมีช่องทางการขายสินค้าที่หลากหลายก็จะช่วยให้เข้าถึงลูกค้าได้กว้างขึ้น เพื่อทำให้สินค้าของคุณตอบโจทย์กับทุกความต้องการในการซื้อสินค้าสักชิ้นของกลุ่มเป้าหมาย

ตัวอย่างการวิเคราะห์สถานที่ช่องทางการจัดจำหน่าย เครื่องหนีบและม้วนผมไฟฟ้า 2IN1

ลูกค้าของเครื่องหนีบผมไฟฟ้าของคุณนั้นด้วยความที่ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงที่ทำงานในเมืองเลยมักจะซื้อของผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลักโดยเฉพาะผ่านแพลตฟอร์ม Marketplace อย่าง Shopee, Lazada 

ดังนั้นการวิเคราะห์สถานที่ช่องทางการจัดจำหน่ายของแบรนด์คุณก็ต้องเลือกใช้ช่องทางออนไลน์เป็นหลัก โดยอาจจะมีหน้าร้านใน Marketplace และเพิ่มเติมด้วย Facebook Page เพื่ออธิบายความเป็นแบรนด์และผลิตภัณฑ์เพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับสินค้าให้ลูกค้าที่อาจจะเกิดความลังเลได้มั่นใจในตัวสินค้าของคุณมากยิ่งขึ้น

4. ตัวอย่างการวิเคราะห์กลยุทธ์การส่งเสริมการตลาด (Promotion)

การวิเคราะห์กลยุทธ์การส่งเสริมการตลาด (Promotion) นั้นจะมีความเชื่อมโยงกับศาสตร์ Digital Marketing เพราะเกี่ยวข้องกับการโน้มน้าวใจของกลุ่มเป้าหมายในขั้นสุดท้ายหรือจะเป็นจุดสำคัญให้กลุ่มเป้าหมายได้รู้จักกับผลิตภัณฑ์ของคุณ ซึ่งในปัจจุบันมีเครื่องมือหลายอย่างให้เลือกใช้งาน ไม่ว่าจะเป็น

  • การเลือกใช้โฆษณาแบบ Digital Advertising บนช่องทางที่มี
  • การโปรโมทผ่าน Influencer Marketing
  • การทำ PR และสร้าง Campaign ทางการตลาด 
  • การทำรีวิวหรือการพูดถึงบน Social Media 
  • การทำ Email Marketing (สำหรับสินค้าที่เป็นแบรนด์ใหญ่)
  • การลด แลก แจก แถม จัดโปรโมชันกระตุ้นลูกค้า

แนะนำว่าสำหรับธุรกิจนั้นการวิเคราะห์กลยุทธ์การส่งเสริมการตลาด คุณควรต้องรู้ก่อนว่าแบรนด์กำลังคาดหวังอะไรจากลูกค้า เช่น ต้องการให้ลูกค้ามีการรับรู้เกี่ยวกับแบรนด์ ซึ่งการศึกษา Customer Journey จะสามารถเข้ามาช่วยให้คุณวิเคราะห์ความชอบของลูกค้าและกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

จากนั้นคุณจำเป็นต้องใช้เครื่องมือในการสื่อสารเพื่อทำให้ผลิตภัณฑ์ของคุณเริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้าง โดยแต่ละเครื่องมือนั้นจะส่งเสริมซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็น Paid, Earned, Owned Media ก็ตามต้องเลือกให้เหมาะสมกับสถานที่หรือ Place ที่คุณเลือกไว้ด้วยเช่นกัน

ตัวอย่างการวิเคราะห์กลยุทธ์การส่งเสริมการตลาด (Promotion) เครื่องหนีบผมและม้วนผมไฟฟ้า 2IN1

เมื่อคุณรู้แล้วว่าลูกค้ามักจะใช้ช่องทางออนไลน์เป็นหลักในการซื้อสินค้าซึ่งแน่นอนว่าคนกลุ่มนี้ก็จะมีพฤติกรรมในการติดตามข่าวสาร เช่น Google สำหรับอ่านรีวิวและ เนื้อหา, Social Media อื่น ๆ เพื่อดูรีวิวการใช้งานสินค้าในลักษณะเดียวกันอยู่บ่อย ๆ 

ดังนั้น Promotion ของคุณควรจะมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับสินค้าและเป็นประโยชน์กับลูกค้า วิธีการเช่น ลงโฆษณาโปรโมทสินค้าบน Social Media หรืออาจใช้งาน Paid Media อย่าง Influencer หรือ Youtuber ในการรีวิวการใช้งานจริงเพื่อเป็นการกระตุ้นให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์เครื่องหนีบผมไฟฟ้าของคุณ เป็นต้น

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ 4P 

4P 4C 4E คืออะไร ต่างกันอย่างไร ?

หลังจากที่เรารู้ความหมายของ 4P กันไปแล้ว เราลองมาดูอีก 2 แนวคิดที่มีความคล้ายคลึงกันอย่าง 4C และ 4E กันบ้างที่แม้ชื่อจะใกล้กันแต่ความหมายและคำนิยามกลับแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยทั้ง 2 แบบมีรายละเอียดดังนี้

4C คือกลยุทธ์การตลาดที่คิดจากมุมมองของลูกค้า (Customer Centric)  เพื่อวิเคราะห์ว่าลูกค้าต้องการอะไร คิดอย่างไร เพื่อให้ธุรกิจได้เสนอคุณค่าและประสบการณ์ให้กับลูกค้าได้อย่างตรงจุดโดยทั้ง 4 ปัจจัยของ 4C มีดังนี้ 

  • Customer – สิ่งที่ลูกค้าต้องการ หรือกำลังมองหาคืออะไร
  • Cost – ความคุ้มค่าของลูกค้า
  • Convenience – ความสะดวกสบายในการซื้อสินค้าหรือใช้บริการ
  • Communication – การสื่อสารและการเลือกช่องทางการสื่อสารให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย

โดย 4C จะมีความแตกต่างจาก 4P ตรงที่ 4C จะเป็นการคิดในมุมของลูกค้าแต่ 4P จะเป็นการคิดในมุมของธุรกิจว่าจะต้องทำอย่างไรให้ลูกค้าสนใจและซื้อสินค้าหรือบริการของเรานั่นเอง

4E คือแนวคิดที่ต่อยอดมาจาก 4P Marketing Mix ส่วนผสมทางการตลาดหรือพูดง่าย ๆ เป็น Level2 ของ 4P ก็ได้ซึ่งเป็นแนวคิดที่จะเน้นการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้าเป็นหลัก ซึ่งปัจจัยทั้ง 4 ของ 4E จะเป็นการนำ 4P มาพัฒนาต่อดังนี้

  • จาก Product สู่ Experience จากการขายผลิตภัณฑ์สู่การเน้นการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า
  • จาก Price สู่ Exchange เปลี่ยนจากราคามาเป็นการสร้างคุณค่าให้กับสินค้าหรือบริการ
  • จาก Place สู่ Everywhere ที่ตั้งทำเลครอบคลุมมากขึ้น ใช้ตลาดดิจิทัลทำให้ลูกค้าเข้าถึงสินค้าของเราง่ายยิ่งขึ้น
  • จาก Promotion สู่ Evangelism เปลี่ยนการจัดโปรส่งเสริมการขายเป็นการทำให้ลูกค้าขาจรมาเป็น “ลูกค้าประจำ”

ปัจจัยส่วนประสมทางการตลาด 4p

ซึ่งคุณจะเห็นถึงความสัมพันธ์กันของทั้ง 3 แนวคิดทั้ง 4P, 4C และ 4E ที่ครอบคลุมทุกการทำงานในฝั่งของ Marketing สมัยใหม่ทั้งฝั่งธุรกิจ ฝั่งลูกค้าและการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าที่เป็นกุญแจสำคัญในการทำให้ธุรกิจเติบโตในปัจจุบัน 

ดังนั้นหากธุรกิจของคุณอยากจะวิเคราะห์สถานการณ์เพื่อหาช่องทางในการขายสินค้า/บริการให้ธุรกิจเติบโตได้นั้นการวิเคราะห์ภาพของธุรกิจทั้ง 3 อย่างไม่ว่าจะเป็น 4P, 4C และ 4E ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่คุณควรต้องทำทั้งหมดเพื่อช่วยในการวิเคราะห์ธุรกิจของคุณได้อย่างมีประสิทธิภาพครอบคลุมทุกส่วนในการทำการตลาดยุคใหม่นั่นเอง

สรุปเนื้อหา “4P”

ประโยชน์ของกลยุทธ์ 4P นั้น เหมาะมากสำหรับธุรกิจที่กำลังต้องการสร้างแผนการตลาดที่เหมาะสมกับสินค้าที่มีอยู่หรือกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย และจะได้เปรียบมากขึ้นในกรณีที่ธุรกิจของคุณมีสินค้าหรือกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนอยู่แล้วก็สามารถใช้ 4P เพื่อหาว่าลูกค้าของคุณนั้นชอบอะไร อยากได้อะไร มีปัญหาอะไร ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจของคุณสามารถสร้างหรือพัฒนาสินค้าที่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าออกมาวางจำหน่ายได้นั่นเอง

อ้างอิงข้อมูล : 

ALEXANDRA TWIN, The 4 Ps of Marketing and How to Use Them in Your Strategy, June 24, 2022https://www.investopedia.com/terms/f/four-ps.asp 

Kinza Yasar, What is the marketing mix (4 P’s of marketing)? The marketing mix, also known as the four P’s of marketing, May 01, 2022 https://www.techtarget.com/whatis/definition/Four-Ps 

Alberto Carniel, The ultimate guide to marketing mix: 4Ps, 7Ps, 8Ps, 4Cs, 7Cs, December 27, 2019https://www.albertocarniel.com/post/marketing-mix#viewer-6n3e1