การสร้างแรงจูงใจให้นักเรียน

ครูจะสร้างแรงจูงใจและความสำเร็จ ให้เกิดขึ้นแก่เด็กได้อย่างไร?

การสร้างแรงจูงใจให้นักเรียน

จากการศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 30 ปีของ แครอล ดเว็ค ศาสตราจารย์ทางด้านจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบียในสหรัฐอเมริกา พบว่า  ระดับสติปัญญาและความฉลาดของมนุษย์มีความสำคัญน้อยกว่าความมานะพยายามและความรู้สึกท้าทายที่จะแก้ปัญหา ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจ ที่เรามักพบว่าเด็กที่มีไอคิวสูงและมีผลการเรียนดีในระดับประถมจำนวนไม่น้อย เมื่อขึ้นไปเรียนในระดับมัธยมแล้วมีผลการเรียนที่ตกต่ำลง ทั้งนี้เนื่องมาจากการที่ครูขาดความรู้ความเข้าใจในการสร้างกระบวนการจูงใจให้เด็กสามารถพัฒนาการเรียนรู้ของตนเองหรือสามารถทำได้อย่างต่อเนื่อง

ในการสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาตนเองนั้น ครูจะต้องส่งเสริมให้เด็กคำนึงถึงเรื่องกระบวนการเรียนรู้มากกว่าการพิสูจน์ว่าตนเองเป็นผู้ที่มีความฉลาดเฉลียว และในยามที่เด็กประสบความยากลำบากหรืออุปสรรคในการเรียน เด็กจะต้องมีใจจดจ่ออยู่ที่ความพยายามและการเลือกใช้ยุทธศาสตร์ต่างๆ ในการแก้ปัญหา แทนที่จะวิตกกังวลว่าตนเองไร้ความสามารถ 

“สิ่งที่ครูจำเป็นต้องทำเพื่อช่วยให้เด็กมีคุณสมบัติดังกล่าวคือ ครูจะต้องให้ความสำคัญกับความพยายามของเด็กมากกว่าเรื่องของความสามารถ และเมื่อเด็กประสบความสำเร็จ ครูควรชมเชยความมานะพยายามของเขาหรือยุทธศาสตร์ที่เขาใช้ ไม่ใช่ชมเชยความฉลาด ในทางตรงข้าม เมื่อเด็กมีปัญหาในการเรียนหรืออื่นๆ ครูจะต้องชี้ให้เด็กเห็นในเรื่องความพยายามหรือยุทธศาสตร์ที่เด็กใช้ว่า ตรงไหนที่ยังคงเป็นปัญหา และเด็กสามารถแก้ไขได้โดยวิธีใดบ้าง”

การสร้างแรงจูงใจให้นักเรียน

การสร้างความเชื่อมั่นในตนเองและการกระตุ้นส่งเสริมให้เด็กมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ที่ดีนั้น ครูจะต้องทำให้เด็กเห็นคุณค่าของการทำงานหนัก การเรียนรู้ และการท้าทาย เมื่อเด็กมีปัญหาในการเรียนหรือไม่สามารถทำได้ตามที่ตั้งเป้าไว้ ครูต้องสอนให้พวกเขารู้จักวางแผนที่จะใช้ยุทธศาสตร์ใหม่ๆ และใช้ความพยายามมากขึ้น โดยตัวครูเองนั้นจะต้องสอนทักษะการเรียนรู้ต่างๆ เพิ่มขึ้นที่จะช่วยให้เด็กสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง

กล่าวโดยสรุปคือ การชมเชยเด็กว่าฉลาดหรือเก่งจะทำให้เด็กรู้สึกดีเพียงชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้น แต่ผลเสียที่ติดตามมาคือ เด็กจะกลัวการท้าทายและไม่สามารถเผชิญหน้ากับปัญหาอุปสรรค ในขณะที่เด็กที่ได้รับคำชมเรื่องความพยายามจะเกิดความเชื่อมั่นว่าตนเองเป็นนักเรียนรู้ ชอบการท้าทาย และมีทักษะในการเผชิญหน้ากับปัญหาและอุปสรรค 

“ทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่าการชมเชยเด็กไม่สำคัญ แต่ในการชมเชย ครูต้องชมที่ตัวกระบวนการทำงานของเด็ก เช่น ความมานะพยายาม ยุทธศาสตร์ที่เด็กใช้ ความคิดของเด็ก ตัวเนื้องาน ไม่ใช่ชมตัวบุคคล”

งานศึกษาวิจัยในเรื่องนี้ น่าจะช่วยให้ข้อคิดแก่ครูไทยในการสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นกับเด็กนักเรียนได้ไม่มากก็น้อย นับเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปการเรียนรู้ที่ครูสามารถลงมือปฏิบัติได้ไม่ยาก และครูทุกคนทำได้ 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

https:/nawaporn.wordpress.com

เรียบเรียงโดย

นางสาวอัจฉราพร กิจสิพงษ์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ

  • Facebook iconFacebook
  • Twitter iconTwitter
  • LINE iconLine

สอนนักเรียนก็ว่ายากแล้ว การสร้างแรงกระตุ้นให้นักเรียนอยากเรียนรู้นั้นยากยิ่งกว่า การสร้างแรงกระตุ้นให้นักเรียนกระตือรือร้นอยากจะฝึกฝนและเรียนรู้ด้วยตนเองเป็นสิ่งที่ท้าทายมากไม่ว่าคุณจะสอนเด็กป. 2 หรือเด็กโตในโรงเรียนอาชีวะก็ตาม อย่างไรก็ดี มีวิธีการมากมายที่คุณสามารถทำให้การเรียนเป็นเรื่องสนุก ตื่นเต้น และทำให้พวกเขารู้ว่าสิ่งที่คุณสอนนั้นสำคัญกับชีวิตพวกเขาได้ ถ้าคุณอยากรู้ว่าทำอย่างไรคุณถึงจะสร้างแรงกระตุ้นให้นักเรียนได้ ก็มาเริ่มขั้นตอนแรกในบทความนี้กันเลย

  1. การสร้างแรงจูงใจให้นักเรียน

    1

    เข้าใจว่าทำไมการสร้างแรงกระตุ้นให้นักเรียนถึงเป็นเรื่องท้าทาย. เรื่องของเรื่องก็คือ ในชีวิตของนักเรียนพวกเขาต้องเจอะเจอผู้คนต่าง ๆ มากมายที่ทำตัวเป็น "ครู" ของพวกเขา ทุกคนและทุกสิ่งต่างพยายามเหลือเกินที่จะกระตุ้นให้พวกเขาคิด ทำงาน และเป็นคนที่โลกภูมิใจ แรงกระตุ้นและอิทธิพลต่าง ๆ ที่ถาโถมเข้ามาในชีวิตบีบให้พวกเขาต้องค้นหาตัวตน และเป็นธรรมดาที่พวกเขาจะระแวงทุกคนที่พยายามเข้ามามีอิทธิพลในชีวิตของพวกเขา

    • พอพวกเขารู้สึกได้ถึงแรงกระตุ้นและอิทธิพลต่าง ๆ พวกเขาก็มักจะตอบโต้แรงกดดันจากสภาพแวดล้อมที่เข้ามาอย่างต่อเนื่องด้วยการยึดถือคติสำคัญที่ว่า "ฉันจะยอมให้คุณมีอิทธิพลกับฉันก็ต่อเมื่อคุณพิสูจน์ให้ฉันเห็นว่าคุณมีค่าพอ" คตินี้เป็นกลไกที่พวกเขาสร้างขึ้นมาเพื่อให้ตัวเองมั่นใจได้ว่า คนที่ใช่จะเข้ามาหาพวกเขาในเวลาที่เหมาะสม คติที่ว่านี้ก็เป็นคติที่ดี แต่จะน่าวิตกก็ต่อเมื่อพวกเขาดันไปประทับใจคนที่สร้างอิทธิพลไม่ดี หรือเมื่อคนดีไม่พยายามมากพอที่จะทำให้พวกเขาประทับใจ

  2. การสร้างแรงจูงใจให้นักเรียน

    2

    สร้างความประทับใจในแง่บวก. ถ้าคุณอยากสร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียน คุณก็ต้องพิสูจน์ให้พวกเขาเห็นว่า คุณมีค่าพอที่จะรับฟัง วันแรกพวกเขาอาจจะระแวงคุณ แต่คุณก็สามารถสร้างความไว้วางใจและความเคารพจากพวกเขาได้โดยการทำตัวให้โดดเด่นออกมาจากพวกเขา คุณไม่สามารถสร้างความเคารพและความไว้ใจได้ถ้าคุณทำตัวกลมกลืนไปในภูมิหลังชีวิตที่มืดมัว คุณต้องโดดเด่นเพื่อให้ได้รับและดึงความสนใจของพวกเขาไว้ วิธีการสร้างความประทับใจแง่บวกให้แก่นักเรียนมีดังนี้ :

    • พูดอย่างมั่นใจ มีความคิดเห็นเป็นของตัวเองและต้องแสดงความคิดเห็นออกมาในเวลาที่เหมาะสม อย่าพูดมากเกินไปและ/หรือเอาความคิดตัวเองเป็นใหญ่ ในสายตาของนักเรียนคุณต้องดูเป็นคนที่สามารถให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ฉลาด และไม่กลัวที่จะแสดงความคิดเห็นของตัวเอง ไม่ใช่คนที่หยิ่งยโสหรือยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง
    • รักในสิ่งที่คุณสอน ตาเบิกกว้าง รอยยิ้ม และความกระตือรือร้นที่แทบจะเก็บอาการไว้ไม่อยู่สร้างความประหลาดใจให้นักเรียน ถึงพวกเขาจะไม่ได้สนใจวิชาของคุณ แต่ท่าทางของคุณจะทำให้พวกเขาขำ และที่สำคัญที่สุดก็คือ เวลาที่คุณแสดงความรักอย่างแรงกล้าในวิชาที่คุณสอน พวกเขาจะมองว่าคุณเป็นคน จริงใจ
    • กระตือรือร้น ความกระตือรือร้นเป็นโรคติดต่อ ยากมากที่นักเรียนของคุณจะสัปหงกในห้องเรียนถ้าคุณกระตือรือร้นกระเด้งไปกระเด้งมาหน้าห้อง (ฉันแค่เปรียบเทียบ ไม่ได้แนะนำให้คุณกระเด้งไปกระเด้งมาจริง ๆ) คุณต้องมีพลังงานเหลือล้นที่จะขายตัวเองและวิชาของคุณให้นักเรียนสนใจ
    • พยายามปรับลุคให้ดูดี คุณต้องสร้างความประทับใจที่ดีให้นักเรียน คุณต้องดูดีขณะเดินเข้าไปในห้องเรียน พยายามแต่งตัวให้ดูดีขึ้นเล็กน้อยหรือแตกต่างจากคนทั่วไป

  3. การสร้างแรงจูงใจให้นักเรียน

    3

    ช่วยเหลือนักเรียนเป็นพิเศษ. ทำ มากกว่า ที่คนคาดหวังจากครูทั่วไป ในกรณีที่นักเรียนส่งงานไม่ตรงเวลา ครั้งต่อไปถ้าส่งงานช้าอีก หมดคาบให้เรียกนักเรียนมาพบและทำงานที่สั่งทั้งชิ้นไปพร้อม ๆ กับเขา ช่วยนักเรียนเขียน ทำให้เขาดูว่างานวิจัยต้องทำอย่างไร และให้เขาดูรายงานที่นักเรียนคนอื่นเขียนมาส่ง วิธีนี้เป็นวิธีที่ดีเพราะมันช่วยกำจัดปัญหาไปได้หลายอย่าง เช่น ถ้าการส่งงานช้ามาจากทัศนคติของนักเรียน วิธีนี้จะช่วยคุณกำจัดขอแก้ตัวของพวกเขา แต่ถ้าพวกเขาพยายามแล้วจริง ๆ ทีนี้พวกเขาก็จะรู้แล้วว่างานชิ้นนั้นต้องทำอย่างไร

    • ใส่ใจ ตอบคำถามทุกข้อและมั่นใจว่าพวกเขาเข้าใจสิ่งที่คุณทำแล้วแน่ ๆ คุณต้องบอกพวกเขาด้วยว่าครั้งต่อไปครูจะไม่ทำการบ้านกับเธออีกแล้ว ถามพวกเขาว่าพวกเขาเข้าใจไหมและรอจนกว่าคุณจะได้คำตอบยืนยันว่าเข้าใจแล้วจริง ๆ ค่อยปล่อยให้พวกเขาทำเอง
    • แน่นอนว่าการพยายามเป็นพิเศษกับการปล่อยให้นักเรียนตักตวงผลประโยชน์จากคุณนั้นต่างกัน คุณควรช่วยเหลือนักเรียนเป็นพิเศษก็ต่อเมื่อพวกเขาต้องการความช่วยเหลือจริง ๆ แต่อย่าทำถ้าคุณต้องละทิ้งหลักการของคุณ

  4. การสร้างแรงจูงใจให้นักเรียน

    4

    ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิชาของคุณ. ถ้าคุณอยากให้นักเรียนตื่นเต้นในสิ่งที่คุณสอน คุณต้องสอนให้มากกว่าที่หลักสูตรกำหนด สอนนักเรียนเพิ่มเติมเกี่ยวกับการพัฒนาใหม่ล่าสุดในวิชาที่คุณสอน เช่น ถ้าคุณเป็นครูวิทยาศาสตร์ คุณอาจจะ 1) นำบทความจากนิตยสาร Go Genius มาให้นักเรียนอ่านในห้อง หรือ 2) แจกสรุปบทความให้นักเรียน โชว์รูปบทความให้นักเรียนดู ถามคำถามเกี่ยวกับแนวคิดที่อยู่ในบทความและถามว่าประโยคนี้หมายความว่าอะไร พร้อมกับบอกว่าใครที่สนใจสามารถมาขอยืมบทความฉบับจริงไปอ่านหลังหมดคาบเรียนได้ วิธีที่ 2 ดีกว่าวิธีแรก

    • คุณต้องเข้าใจด้วยว่าการทำให้นักเรียนสนใจเป็นหน้าที่ของคุณ ไม่ใช่หน้าที่ของสื่อที่คุณนำเสนอให้นักเรียนดู

  5. การสร้างแรงจูงใจให้นักเรียน

    5

    ให้การบ้านที่ให้นักเรียนได้คิดนอกกรอบ. ให้นักเรียนทำโครงงานห้องชิ้นใหญ่ที่ไม่เหมือนใครและสนุกสนาน เช่น นักเรียนในห้องอาจจะแสดงละครเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ (หรือวิชาอะไรก็ได้) ที่คุณสามารถนำไปแสดงที่พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นให้เด็กเล็ก ๆ ดู หรือทั้งห้องอาจจะเขียนหนังสือที่คุณสามารถเผยแพร่ผ่านบริการเผยแพร่งานด้วยตนเองและบริจาคให้ห้องสมุดประชาชนก็ได้

    • สิ่งสำคัญก็คือไอเดียในการทำโครงงานจะต้องไม่เหมือนใคร ต้องทำระหว่างคาบหรือช่วงเวลาอื่น ๆ ที่นักเรียนยังอยู่ที่โรงเรียน (เพื่อเลี่ยงการเดินทางและการใช้เวลามากเกินไป) และคุณก็ต้องลงมือทำกับเด็กทุกขั้นตอนจนกว่างานจะเสร็จด้วย

  6. การสร้างแรงจูงใจให้นักเรียน

    6

    มีอารมณ์ขัน. อารมณ์ขันช่วยดึงความสนใจของนักเรียน ทำให้สื่อการสอนที่ใช้มีชีวิตชีวามากขึ้น และทำให้นักเรียนเข้าถึงคุณง่ายขึ้นอีกด้วย เรื่องของเรื่องก็คือ ถ้าคุณจริงจังตลอดเวลา ยากมากที่เด็กจะสนใจและสื่อสารกับคุณได้จริง ๆ ถึงคุณจะไม่ต้องทำท่าบ้า ๆ บอ ๆ ยิงมุกทุกครั้งที่สบโอกาส แต่ถ้าคุณสร้างบรรยากาศให้สนุกสนานมากขึ้น นักเรียนของคุณก็จะมีแรงกระตุ้นและกระตือรือร้นที่จะเรียนมากขึ้น

  7. การสร้างแรงจูงใจให้นักเรียน

    7

    แสดงให้เห็นว่าคุณมีความสามารถ. คุณต้องพยายามทำให้นักเรียนเชื่อว่าคุณมีค่าพอที่จะรับฟัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณพยายามสร้างแรงกระตุ้นให้นักเรียนสนใจวิชาที่คุณสอน คุณต้องแสดงพรสวรรค์ออกมา เพราะคุณไม่ได้เป็นแค่ครูเท่านั้น แต่เป็นคนที่เก่งและเชี่ยวชาญในสิ่งที่คุณสอนจริง ๆ ด้วย คล้าย ๆ กับเวลาที่คุณนำเสนอตัวเองระหว่างการสัมภาษณ์งาน คือคุณต้องอ่อนน้อมถ่อมตัว แต่ก็ไม่ซ่อนความสามารถที่มีเอาไว้ คุณต้องแสดงความภาคภูมิใจออกมาเวลาที่คุณเล่าประสบการณ์หรือสิ่งที่คุณทำให้นักเรียนฟัง ถ้าคุณรู้จักคนเจ๋ง ๆ ก็เชิญเขามาพูดในคาบเรียน พยายามอย่าให้เขามากล่าวโอวาทแต่ให้มาสัมภาษณ์แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักเรียนแทน

    • ถ้านักเรียนคิดว่าคุณไม่รู้จริงในสิ่งที่คุณสอน พวกเขาจะขี้เกียจทำงานส่ง หรือคิดว่าคุณคงไม่สังเกตถ้าเขาไม่ตั้งใจอ่านเอกสารประกอบ

  8. การสร้างแรงจูงใจให้นักเรียน

    8

    สังเกตนักเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ. ถ้านักเรียนดูซึมเศร้าหรือไม่สบาย หมดคาบให้เรียกนักเรียนคนนั้นมาพบแล้วถามว่าเป็นอะไรหรือเปล่า พยายามทำตัวกึ่ง ๆ ยุ่งเวลาที่คุณถาม มองหน้านักเรียนแต่อย่าจ้องจนกว่าจะได้คำตอบ ถ้าพวกเขาตอบว่าไม่ได้เป็นอะไร อย่าเซ้าซี้พวกเขานอกจากคุณคิดว่ากำลังมีปัญหาใหญ่เกิดขึ้นจริง ๆ แค่พูดว่า "ครูแค่เห็นว่าเธอซึม ๆ ไปตอนอยู่ในห้อง" จากนั้นให้เลิกถามและกลับไปทำงานต่อ แค่พวกเขารู้ว่าคุณห่วงเขาเท่านี้ก็พอแล้ว

    • ถ้านักเรียนที่กำลังมีปัญหาเห็นว่าคุณห่วงใยเขามากพอจนสังเกตเห็นความผิดปกติ เขาจะมีแรงกระตุ้นให้พยายามมากขึ้น แต่ถ้านักเรียนคิดว่าคุณไม่ได้ใส่ใจว่าเขาจะพยายามไหมหรือรู้สึกอย่างไร เขาก็จะไม่พยายามเท่าที่ควร
    • ถ้านักเรียนกำลังเผชิญปัญหาจริง ๆ ให้ยืดหยุ่นกฎระเบียบเล็กน้อย วิธีนี้อาศัยความห่วงใยเล็กน้อยแต่สามารถสร้างความไว้วางใจได้อย่างแท้จริง ถ้านักเรียนไม่ส่งการบ้านติดต่อกันและเขามาหาคุณพร้อมกับบอกว่าเขาทำการบ้านไม่เสร็จ อีกแล้ว คุณก็ต้องเอะใจได้แล้วว่ามีบางอย่างผิดปกติ (แม้ว่าจะเป็นแค่เรื่องทัศนคติของนักเรียนก็ตาม) และให้ความช่วยเหลือทันที ให้เวลาทำงานแต่ละชิ้นเพิ่มต่างหากและเปลี่ยนหัวข้อให้ง่ายขึ้นนิดหน่อย จริงอยู่ที่มันเป็นการยืดหยุ่นกฎระเบียบ แต่วิธีนี้เป็นการกำจัดข้ออ้างไม่ให้ส่งงานช้าอีก และคุณต้องบอกพวกเขาด้วยว่า คุณจะไม่ขยายเวลาส่งงานให้อีกแล้วเด็ดขาด

  9. การสร้างแรงจูงใจให้นักเรียน

    9

    ถามความเห็นของนักเรียน. นักเรียนของคุณจะไม่ได้รับแรงกระตุ้นเท่าที่ควรถ้าพวกเขารู้สึกว่า คุณแค่มาสอนหนังสือให้ฟังและไม่ได้ใส่ใจว่าพวกเขาจะคิดอย่างไร ถ้าคุณถามพวกเขาว่าพวกเขาคิดอย่างไรกับประเด็นการเมือง บทความทางวรรณกรรม หรือความสมเหตุสมผลเกี่ยวกับทดลองทางวิทยาศาสตร์ พวกเขาก็จะตื่นตัวและพูดสิ่งที่พวกเขาคิดออกมา ถ้าพวกเขารู้สึกว่าคุณใส่ใจในสิ่งที่เขาอยากจะพูด พวกเขาก็จะกล้าแสดงความเห็นและตื่นเต้นที่จะได้แบ่งปันความคิดเห็นของเขาให้คุณฟัง

    • จำไว้ว่าการกระตุ้นให้เกิดการโต้แย้งอย่างสร้างสรรค์นั้นต่างจากการให้นักเรียนเสนอความเห็นโดยไม่รู้ที่มาที่ไป คุณต้องสอนให้นักเรียนมีหลักฐานสนับสนุนความคิดเห็นของเขาก่อนแสดงความเห็นออกมาเสมอ
    • แน่นอนว่า ถ้าคุณสอนคณิตศาสตร์หรือภาษาต่างประเทศที่ไม่ค่อยมีโอกาสให้นักเรียนได้แสดงความคิดเห็นมากนัก ลองพูดข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับวิชาเรียนเพิ่มเติมในห้องเรียน เด็กป. 2 อาจจะไม่มีความเห็นเรื่องการผันคำกริยาภาษาอังกฤษใน Present Tense แต่พวกเขาอาจจะมีความคิดเห็นเรื่องประสิทธิภาพการเรียนแบบท่องจำก็ได้ถ้าคุณนำบทความที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการท่องจำมาเล่าให้พวกเขาฟัง

  10. การสร้างแรงจูงใจให้นักเรียน

    10

    กระตุ้นการอภิปรายในห้องเรียนอย่างมีชีวิตชีวา. ถ้าคุณเอาแต่สอนตลอดเวลา นักเรียนอาจจะสัปหงกได้ ถ้าคุณอยากกระตุ้นให้นักเรียนพร้อมเรียนรู้และตื่นตัวอยู่เสมอ คุณต้องสร้างการอภิปรายในห้องเรียนอย่างสร้างสรรค์ตลอดคาบเรียนของคุณ ถามคำถามนักเรียนด้วยการเรียกชื่อตอบเป็นรายบุคคล อย่าถามรวมทั้งห้อง เพราะไม่มีนักเรียนคนไหนอยากถูกเรียกชื่อแล้วตอบคำถามไม่ได้ และถ้าพวกเขารู้ว่าพวกเขามีโอกาสที่จะตอบคำถามไม่ได้ พวกเขาก็จะเตรียมคำตอบตลอดทั้งคาบเรียน

    • วิธีนี้ไม่เพียงแต่ทำให้นักเรียนอ่านเอกสารและเตรียมตัวก่อนเข้าเรียนเท่านั้น แต่พวกเขายังจะตื่นเต้นที่ได้เรียนวิชาของคุณมากขึ้นด้วย เพราะพวกเขารู้สึกว่าความคิดเห็นของพวกเขาสำคัญ

  11. การสร้างแรงจูงใจให้นักเรียน

    11

    รู้จักนักเรียนก่อนกล่าวคำชม. ถ้าคุณเพิ่งเข้าไปสอนชั้นเรียนใหม่ ยืนอยู่หน้าพวกเขา แล้วบอกพวกเขาว่าคุณรู้ดีว่านักเรียนทุกคนในห้องนี้เป็นเด็กน่ารัก และในวิชานี้พวกเขาก็จะได้เรียนรู้วิธีเปลี่ยนโลก ถ้าคุณบอกนักเรียนแบบนี้ พวกเขาจะไม่มีวันเชื่อคุณและพวกเขาก็จะไม่เคารพในตัวคุณด้วย เพราะพวกเขาจะคิดว่าคุณจะรู้จักพวกเขาจริง ๆ ได้อย่างไรทั้ง ๆ ที่คุณไม่แม้แต่พยายามที่จะทำความรู้จักพวกเขาด้วยซ้ำ คุณจะคาดหวังให้พวกเขาเปลี่ยนโลกได้อย่างไรในเมื่อคุณไม่เคยบอกเขาว่าโลกคืออะไร คุณจะมีความคาดหวังแบบเดียวกับคนอื่นได้อย่างไรกัน และสิ่งที่พวกเขาคิดก็ถูกต้องเสียด้วย

    • สำหรับครูส่วนใหญ่ เด็กนักเรียนทุกคนก็เหมือน ๆ กัน เลยทำให้พวกเขาสบายใจที่จะพูดออกมาแบบนั้น แต่สำหรับครูที่ดีแล้ว นักเรียนแต่ละคนไม่มีใครเหมือนกัน
    • อย่าแม้แต่จะขึ้นต้นประโยคว่า "พวกเธอบางคน" (เช่น "พวกเธอบางคนจะได้เป็นนักกฎหมาย บางคนจะได้เป็นหมอ") เก็บประโยคนี้ไว้ช่วงคาบท้าย ๆ ที่คุณจะได้สอนพวกเขา (แต่ไม่ใช่คาบสุดท้าย) และพูดถึงเป็นรายบุคคล เช่น รินทร์จะรู้วิธีรักษามะเร็ง กวินทร์จะกลายเป็นคู่แข่งของเจ้าสัวซีพี วิลัยวรรณจะแต่งแต้มโลกให้สดใส ขนิษฐาเองก็อาจจะได้แข่งทำธุรกิจกับ กวินทร์ ด้วยก็ได้..."
    • เพิ่มอารมณ์ขันลงไปเล็กน้อยและทำให้นักเรียนเห็นชัดเจนว่าคุณรู้จักตัวตนบางมุมของพวกเขาทุกคน สิ่งเหล่านี้คือความคาดหวังของคุณที่มีต่อเด็ก ๆ ถ้าคุณพิสูจน์ตัวเองให้พวกเขาเห็น พวกเขา ก็จะพิสูจน์ตัวตนให้คุณเห็นเหมือนกัน

  12. การสร้างแรงจูงใจให้นักเรียน

    12

    ทำให้นักเรียนเห็นว่าวิชาของคุณส่งผลอย่างไรกับโลก. แสดงให้เขาเห็นแรงกระตุ้นที่พวกเขาเคยต่อต้านมาก่อน ชี้ประเด็นที่เกี่ยวกับผู้คน ชุมชน ประเทศ โลก อะไรก็ได้ที่สำคัญกับคุณ อะไรก็ได้ที่คุณอยากกระตุ้นพวกเขา ตอนนี้คุณได้รับความไว้วางใจจากพวกเขาและพวกเขาก็มั่นใจแล้วว่าคุณมีค่าพอที่จะรับฟัง เพราะฉะนั้นพวกเขาจะฟังในสิ่งที่คุณพูด พวกเขาจะพยายามทำความเข้าใจว่าคุณมาจากที่ไหนและทำไมคุณถึงรู้สึกแบบนี้ ถึงพวกเขาจะไม่เห็นด้วย แต่พวกเขาจะพยายามเปิดใจแน่นอน

    • คุณอาจจะมีปัญหาในการกระตุ้นนักเรียนเพราะพวกเขามองไม่ออกว่าวิชาที่คุณสอนจะเอาไปใช้ประโยชน์อะไรได้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นวิชาประวัติศาสตร์ไทยหรือวรรณคดีมรดก นำบทวิจารณ์หนังสือหรือบทความในหนังสือพิมพ์ให้นักเรียนดูเพื่อให้พวกเขารู้ว่า สิ่งที่พวกเขาเรียนอยู่นั้นส่งผลกระทบกับโลกข้างนอกจริง ๆ ถ้าพวกเขาเห็นว่าความรู้ในวิชานี้มีประโยชน์ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง พวกเขาก็จะมีแนวโน้มที่จะสนใจมากขึ้น

    โฆษณา

  1. การสร้างแรงจูงใจให้นักเรียน

    1

    ทำให้นักเรียนเป็น "ผู้เชี่ยวชาญ" ในด้านนั้น. คุณจะประหลาดใจว่าเด็ก ๆ มีแรงกระตุ้นในการเรียนแค่ไหนถ้าคุณบอกให้พวกเขานำเสนอหัวข้อเป็นกลุ่มหรือรายบุคคล พวกเขาจะรู้สึกตื่นเต้นและรู้สึกถึงความรับผิดชอบว่าตัวเองจะต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญในหัวข้อใดหัวข้อหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน พระอภัยมณี หรือการจัดอิเล็กตรอนก็ตาม การได้เตรียมโครงงานหรือเตรียมการนำเสนอนอกห้องเรียนจะทำให้นักเรียนกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้มากขึ้น เป็นวิธีที่สร้างความแปลกใหม่ในหลักสูตรได้อย่างยอดเยี่ยมและทำให้เนื้อหาน่าสนใจอยู่เสมอ

    • นอกจากนี้ การให้นักเรียนเสนอหัวข้อที่กำหนดให้หน้าชั้นเรียนยังช่วยกระตุ้นให้เพื่อน ๆ ในห้องอยากจะเรียนมากขึ้นด้วย เพราะบางครั้งนักเรียนก็เบื่อที่เห็นคุณยืนหน้าห้องตลอดเวลา และการได้เห็นเพื่อนในห้องออกไปพูดเรื่องใดเรื่องหนึ่งหน้าชั้นเรียนบ้างก็เหมือนได้เปลี่ยนบรรยากาศ

  2. การสร้างแรงจูงใจให้นักเรียน

    2

    ให้นักเรียนทำงานกลุ่ม. งานกลุ่มช่วยให้นักเรียนได้รู้จักเพื่อน ๆ ได้เห็นเนื้อหาวิชาเรียนในมุมมองใหม่ ๆ และช่วยกระตุ้นให้เขาอยากประสบความสำเร็จ ถ้านักเรียนทำงานคนเดียว เขาก็อาจจะไม่รู้สึกกดดันว่าตัวเองจะต้องทำงานให้สำเร็จเหมือนเวลาที่เขาทำงานเป็นกลุ่ม เพราะในการทำงานกลุ่มเขาจะมีบทบาทหน้าที่ที่ชัดเจน นอกจากนี้งานกลุ่มยังเป็นวิธีสร้างความแปลกใหม่ในหลักสูตรได้อย่างยอดเยี่ยม เพราะเด็ก ๆ ได้ทำสิ่งแปลกใหม่บ้างในคาบเรียน

    • นอกจากนี้คุณยังสามารถกระตุ้นการแข่งขันที่สร้างสรรค์ระหว่างนักเรียนในแต่ละกลุ่มด้วย ไม่ว่าจะเป็นเกมไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ เกมยกมือตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องที่เรียน กิจกรรมหรือเกมอื่น ๆ ที่นักเรียนแต่ละกลุ่มต้องแข่งกันเพื่อเอาชนะ แล้วคุณจะพบว่าเวลาที่ต้องแข่งกัน นักเรียนจะมีแรงกระตุ้นที่จะเข้าร่วมกิจกรรมและพยายามตอบคำถามให้ถูกต้อง (ตราบใดที่มันเป็นการแข่งขันที่สร้างสรรค์ ไม่ใช่ยุให้นักเรียนทะเลาะกัน)

  3. การสร้างแรงจูงใจให้นักเรียน

    3

    ให้การบ้านที่มีคะแนนพิเศษ. การบ้านที่มีคะแนนพิเศษช่วยให้นักเรียนได้เรียนรู้เนื้อหามากขึ้นอีกระดับและได้ทำการบ้านเพื่อเพิ่มเกรด เช่น ถ้าคุณเป็นครูวิชาเคมีและรู้ว่านักเรียนบางคนไม่ค่อยเข้าใจเนื้อหา ให้สั่งการบ้านเป็นเรียงความเกี่ยวกับหนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์แต่สนุกเช่น เคมีฉบับการ์ตูน ของศักดิ์ บวร การบ้านชิ้นนี้ใครจะทำไม่ทำก็ได้ วิธีนี้จะทำให้นักเรียนสนุกสนานและประทับใจวิทยาศาสตร์มากขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง ช่วยให้นักเรียนเข้าใจบทเรียนมากยิ่งขึ้นและได้เพิ่มเกรดตัวเองด้วย

    • คุณสามารถให้การบ้านที่แสดงให้เห็นถึงการนำเนื้อหาที่คุณสอนไปปรับใช้ได้มากขึ้น เช่น ถ้าคุณเป็นครูภาษาไทย คุณอาจจะบอกว่านักเรียนคนไหนที่ไปเข้าร่วมการแข่งขันทำนองเสนาะระดับท้องถิ่นแล้วกลับมาเขียนรายงานส่งครูจะได้คะแนนพิเศษ จากนั้นให้นักเรียนนำเสนอรายงานที่เขาส่งคุณหน้าชั้น วิธีนี้จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนและกระตุ้นให้พวกเขาอยากไปให้ไกลขึ้นและสูงขึ้น

  4. การสร้างแรงจูงใจให้นักเรียน

    4

    ให้นักเรียนได้เลือกบ้าง. นักเรียนจะมีแรงกระตุ้นในการเรียนมากขึ้นถ้าคุณให้ทางเลือกพวกเขาเวลาทำการบ้านบ้าง เพราะตัวเลือกจะทำให้พวกเขารู้สึกว่า พวกเขาควบคุมบางอย่างได้ในการเรียนและสามารถสร้างแรงกระตุ้นได้ด้วยตัวเอง ให้นักเรียนเลือกคู่ทำแล็บเอง หรือตั้งหัวข้อเรียงความหรือแบบฝึกหัดสั้น ๆ หลาย ๆ ข้อเพื่อให้นักเรียนได้เลือก คุณสามารถตั้งกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ได้มากมาย แต่ในขณะเดียวกันก็ยังให้นักเรียนมีสิทธิ์เลือกด้วย

  5. การสร้างแรงจูงใจให้นักเรียน

    5

    ให้คำวิจารณ์ที่มีประโยชน์. ถ้าคุณอยากสร้างแรงกระตุ้นให้นักเรียน คุณต้องให้คำวิจารณ์ที่ละเอียด ชัดเจน และมีความหมายเข้าใจง่าย ถ้าพวกเขารู้ว่าจุดแข็งของพวกเขาคืออะไรและพวกเขายังต้องพัฒนาตรงไหน พวกเขาจะมีแรงกระตุ้นที่จะเรียนมากกว่าการที่คุณเขียนแค่คะแนนและคำวิจารณ์ที่เข้าใจยาก ใช้เวลาในการเขียนคำวิจารณ์เพื่อให้พวกเขาเห็นว่าคุณอยากให้พวกเขาประสบความสำเร็จและอยากช่วยให้พวกเขาได้พัฒนาตัวเองจริง ๆ

    • ถ้าคุณมีเวลา คุณสามารถจัดตารางเวลาพบปะนักเรียนเป็นรายบุคคลเพื่อให้นักเรียนได้ดูตารางพัฒนาการตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การให้ความสนใจแก่นักเรียนเป็นรายบุคคลจะทำให้นักเรียนเห็นว่าคุณห่วงใยและคอยมองพวกเขาอยู่ตลอดเวลาจริง ๆ

  6. การสร้างแรงจูงใจให้นักเรียน

    6

    แสดงความคาดหวังของคุณให้ชัดเจน. การแสดงวิธีทำ ขั้นตอนการทำการบ้านที่ชัดเจน และการนำตัวอย่างชิ้นงานที่ประสบความสำเร็จมาให้นักเรียนดูจะทำให้พวกเขารู้ว่าพวกเขาต้องทำอะไรบ้าง ถ้าพวกเขาไม่รู้ว่าคุณอยากให้พวกเขาทำอะไรหรือไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรถึงจะประสบความสำเร็จในวิชาของคุณ พวกเขาก็จะไม่ตั้งใจเรียนวิชาของคุณเท่าที่ควร แต่ถ้าพวกเขารู้คำสั่งที่ชัดเจนและมีครูที่เต็มใจตอบคำถามเกี่ยวกับการบ้านที่สั่งไปจะช่วยกระตุ้นให้พวกเขาตั้งใจทำการบ้านมากขึ้น

    • ค่อย ๆ ใช้เวลาตอบคำถามหลังจากคุณอธิบายการบ้านไปแล้ว เพราะเด็ก ๆ อาจจะทำเหมือนว่าพวกเขาเข้าใจดีทุกอย่าง แต่ถ้าคุณจี้พวกเขา คุณจะรู้ว่ายังมีอะไรที่ต้องอธิบายเพิ่มเติมมากมาย

  7. การสร้างแรงจูงใจให้นักเรียน

    7

    สร้างความแปลกใหม่ในชั้นเรียน. แม้ว่าการสอนหน้าห้องจะเหมาะกับวิชาที่คุณสอน แต่ยิ่งคุณสร้างความแปลกใหม่ในชั้นเรียนมากเท่าไหร่ นักเรียนของคุณก็จะยิ่งมีแรงกระตุ้นในการเรียนมากขึ้นเท่านั้น เช่น คุณอาจจะ "สอนนิดหน่อย" สัก 10 – 15 นาที จากนั้นก็ให้นักเรียนทำงานกลุ่มที่ได้แสดงทักษะความรู้ในเรื่องที่คุณเพิ่งสอนไป ให้นักเรียนทำกิจกรรมบนกระดาน ให้นักเรียนสักคนออกมานำเสนอหน้าชั้นเรียนแลกกับคะแนนพิเศษ หรือให้นักเรียนดูวิดีโอเกี่ยวกับสิ่งที่คุณสอนสั้น ๆ การทำให้ชั้นเรียนมีสิ่งแปลกใหม่เกิดขึ้นตลอดเวลาจะทำให้นักเรียนมีแรงกระตุ้นที่จะเรียนรู้และตื่นตัวมากยิ่งขึ้น

    • การพิมพ์กำหนดการแต่ละคาบลงในกระดาษหรือเขียนบนกระดานช่วยสร้างแรงกระตุ้นให้นักเรียนที่ชอบรู้ล่วงหน้าว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้างได้เช่นกัน

    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • อย่าแสดงออกถึงความพยายามมากเกินไปไม่ว่าจะเป็นขณะพูด สอน ฟัง จัดโต๊ะ หรืออ่านหนังสือ คุณต้องทำเหมือนกับว่าคุณไม่ได้พยายามอะไรเลย
  • อย่าจู้จี้เรื่องความประพฤติเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปเสียทุกเรื่อง นักเรียนต้องรู้สึกว่าความรู้ของพวกเขามาก่อนอำนาจของคุณเสมอ
  • อย่าทำลายความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนด้วยการทำตัวเป็น 'เพื่อนไม่ใช่ครู' คุณต้องเคารพเส้นแบ่งความสัมพันธ์ในส่วนนี้ด้วย เพราะอย่างไรคุณก็เป็นครู แต่เป็นครูที่ดีและแตกต่างจากคนอื่นเท่านั้นเอง
  • อย่าพูดช้าและตั้งใจพูดมากเกินไป เพราะจะทำให้นักเรียนเข้าใจว่า คุณคิดว่าพวกเขาจะไม่เข้าใจคุณถ้าคุณพูดจังหวะปกติ
  • อย่าเป็นห่วงเป็นใยเด็กมากเกินไป
  • คุณไม่สามารถเป็นเพียง "มนุษย์คนหนึ่ง" ได้ ถ้าวันนี้คุณเจอแต่เรื่องแย่ ๆ อย่าแสดงออก ถ้าคุณไม่พอใจหรือโกรธ อย่าแสดงออก คุณต้องรับบทบาทเป็นซูเปอร์ฮีโร่ เพราะ ณ จุดนี้ของชีวิตเด็ก ๆ จะยกย่องมนุษย์กลายพันธุ์เป็นฮีโร่ ถ้ามนุษย์กลายพันธุ์ล้มป่วย ทำให้ทุกคนผิดหวัง หย่าร้าง หดหู่ และหวังพึ่งนักเรียน นักเรียนจะตีความสัญญาณเหล่านี้ว่ามนุษย์กลายพันธุ์คนนั้นไม่เข้มแข็งพอที่จะช่วยให้พวกเขาก้าวไปได้ไกลและไม่น่าพึ่งพาถ้าพวกเขากำลังมองหาที่พึ่ง 'ความตาย' ของคุณจะทำลายโอกาสที่จะได้เป็นมนุษย์กลายพันธุ์ อย่าเล่าปัญหาของคุณให้พวกเขาฟัง อย่าแสดงจุดอ่อนให้พวกเขาเห็น (ยกเว้นว่ามันจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างเช่นขีดเส้นไม่ตรง) ถ้าพวกเขามาหาคุณเพื่อเล่าปัญหาให้ฟัง ให้แสดงการเชื่อมโยงกับปัญหานั้นด้วยการพูดแค่ว่า "เรื่องแบบนี้ก็เคยเกิดขึ้นกับครูครั้งนึง" แทนที่จะพูดว่า " โอ๊ยเธอ ครูรู้ดีเลยละว่ามันเป็นยังไง"
  • ถ้าปกติคุณพูดช้าอยู่แล้ว ลองพูดให้เร็วกว่าปกติ
  • อย่ายิ้มบ่อยเกินไปและอย่ายิ้มให้ทั้งห้อง ยิ้มบ้างเป็นครั้งคราวและยิ้มให้เป็นรายคน

โฆษณา

คำเตือน

  • เตรียมใจไว้ด้วยว่าคุณไม่สามารถเข้าถึงนักเรียนได้ทุกคน แต่ก็อีกนั่นแหละ ในฐานะที่คุณเป็นครู คุณต้องทำให้พวกเขาเข้าใจว่าคุณแค่อยากกระตุ้นให้พวกเขาเป็นพลเมืองที่กระตือรือร้นก็เท่านั้นเอง !

โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

มีการเข้าถึงหน้านี้ 55,221 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม