เส้นทางไปสวนพฤกษศาสตร์ เชียงใหม่

องค์การสวนพฤกษศาสตร์ ได้รับการจัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2535 ซึ่งเป็นปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีสภาพเป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ประเทศไทยมีสวนพฤกษศาสตร์ที่ได้ระดับมาตรฐานสากล และเป็นสถานที่เชิดชูความงามและคุณค่าพรรณไม้ไทยให้เป็นที่ประจักษ์แก่ชาวโลก ตั้งอยู่บริเวณชายเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย  ในปี พ.ศ.2537 องค์การฯ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้พระราชทานพระราชานุญาตจากสมเด็จฯ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ให้ใช้ชื่อว่า “สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์”

ภายในสวนพฤกษศาสตร์ มีจุดไฮไลท์ ต้องห้ามพลาด ได้แก่

1.ทางเดินเหนือเรือนยอดไม้ (canopy walk) เป็นทางเดินตาข่ายเหล็กและกระจกชมทัศนียภาพพรรณไม้มุมสูง ตลอดเส้นทง 500 เมตร

2.กลุ่มอาคารเรือนกระจก โรงเรือนรวบรวมพรรณไม้หายากและใกล้สูญพันธุ์จากหลากหลายระบบนิเวศ ชมสภาพป่าและพันธุ์ไม้ป่าดิบชื้น ความมหัศจรรย์ในการปรับตัวของพืชกลุ่มกระบองเพชร ความสวยงามของกล้วยไม้และเฟิน บัวของไทยและต่างประเทศ สีสันของสับปะรดสี พืชที่เปลี่ยนใบให้เป็นกับดักจับแมลง เรียนรู้สรรพคุณพืชสมุนไพร พร้อมทั้งชมนาฬิกาดอกไม้ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีการปลูกไม้ดอกไม้ประดับสีสันสดใสตามฤดูกาล

3.พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ (Natural Science Museum) อาคารจัดแสดงนิทรรศการถาวรและนิทรรศการหมุนเวียน ให้ความรู้ทางด้านพืช ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม ภายในแบ่งส่วนจัดแสดงเป็น

  • รูปปั้น ศาสตราจารย์ ดร.สง่า สรรพศรี ผู้ริเริ่มและผลักดันโครงการจัดตั้งองค์การสวนพฤกษศาสตร์ โดยใช้พื้นที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นสวนพฤกษศาสตร์แห่งแรกของประเทศไทย และได้พัฒนาต่อเนื่องมาจนมีความสมบูรณ์ สวยงามเป็นที่รู้จักกันในปัจจุบัน
  • พระมารดาแห่งการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ : สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงงานสนองพระราชดำริฯ อย่างยาวนานต่อเนื่อง โดยเฉพาะในด้านการอนุรักษ์ป่าเพื่อการรักษาต้นน้ำ และมีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริอยู่หลายโครงการ เช่น โครงการป่ารักน้ำ, โครงการสวนป่าสิริกิติ์ และโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีนิทรรศการเกี่ยวกับพรรณไม้พระราชทาน กับพรรณไม้ทรงโปรดอีกด้วย โดยมีนักพฤกษศาสตร์ต่างชาติและชาวไทย ขอพระราชทานพระราชานุญาตขนานนามดอกไม้เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระบรมราชินีนาถ หลายชนิด ได้แก่ กุหลาบควีนสิริกิติ์, คัทลียาควีนสิริกิติ์ และดอญญ่าควีนสิริกิติ์ เป็นต้น
  • ห้องความหลากหลายทางชีวภาพ : จัดแสดงสภาพธรรมชาติที่สิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิดมาอยู่รวมกัน ณ สถานที่หนึ่งหรือระบบนิเวศหนึ่ง แบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ ความหลากหลายทางพันธุกรรม ความหลากหลายของชนิดพันธุ์ และความหลากหลายของระบบนิเวศ
  • โลกของเรา ประกอบด้วย หินและแร่หลากหลายชนิด ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เช่น เมื่อหินหนืดใต้ผิวโลกเมื่อปะทุขึ้นมา และเย็นตัวลงจะกลายเป็น หินอัคนี ได้แก่ หินบะซอลต์ หินแกรนิต หินแกบโบร ในขณะเดียวกันหินและแร่ชนิดต่างๆ ถูกกัดเซาะ จนกลายเป็นตะกอน และถูกอัดแน่นกลับมาใหม่ จะเรียกว่า หินตะกอน เช่น หินปูน หินทราย เป็นต้น หรือหินตะกอนหรือหินอัคนีที่ได้รับความร้อนและความกดดันสูงๆ ก็จะเปลี่ยนมาเป็น หินแปร เช่น หินอ่อน หินชนวน หินไนส์ ซึ่งปัจจัยทางหิน ดิน แร่ เป็นหนึ่งในปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพรรณพืชทุกชนิด โดยในประเทศไทย นักพฤกษศาสตร์ได้คาดคะเนว่าพืชทั้งหมดในประเทศไทยน่าจะมีประมาณ 15,000 ชนิด ซึ่งคิดเป็นความหลากหลายของพืชทั่งโลกเท่ากับร้อยละ 8 ซึ่งในความหลากหลายเหล่านี้ก็มีปริศนาให้ค้นหาอยู่
  • ย้อนรอยนักพฤกษศาสตร์ไทย (ก้าวแรกของการสำรวจพรรณไม้ในภาคเหนือของไทย)

- ดร.ซี ซี ฮอสเซอุส นักพฤกษศาสตร์คนแรกที่เข้ามาสำรวจป่าในภาคเหนือและค้นพบพืชพรรณใหม่ๆ ใช้เส้นทางสำรวจหลายเส้นทาง เช่น ดอยเชียงดาว ดอยสุเทพ และดอยอินทนนท์ เป็นต้น โดยตัวอย่างพรรณไม้ไทยที่ ดร.ซี ซี ฮอสเซอุส เก็บรักษาไว้มีหลายแห่ง เช่น สวนพฤกษศาสตร์คิว พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติลอนดอน ปารีส เอดินบะระ และเจนีวา พร้อมทั้งตั้งชื่อพรรณไม้ไทยพร้อมตีพิมพ์คำบรรยายลักษณะพรรณไม้ไทยไว้หลายชนิด

- ศ.ดร.เต็ม สมิตินันทน์ ผู้บุกเบิกวงการพฤกษศาสตร์ของประเทศไทย ปรมาจารย์ด้านพฤกษศาสตร์ของไทย ผู้ยกระดับมาตรฐานพฤกษศาสตร์ไทยสู่สากล

  • ผจญภัย 10 ป่าในประเทศไทย จัดแสดงเรื่องราวของป่าในประเทศไทย ที่มีความหลากหลายถึง 10 ชนิด ขณะเดียวกัน ป่าแต่ละชนิดเองก็มีพืชเฉพาะถิ่นเป็นตัวแทนป่า ซึ่งพบได้เฉพาะในป่าชนิดนั้นๆ โดยไม่พบในป่าชนิดอื่นหรือพบน้อยมาก
  • มหัศจรรย์พรรณพืช พืชถือเป็นสิ่งมีชีวิตที่เปรียบดั่ง “ผู้ให้” เพราะความแตกต่างทั้งลักษณะภายนอก ภายในที่มหัศจรรย์และน่าค้นหา จำลองภาพวาด 3 มิติ
  • นวัตกรรมจากพรรณไม้ พืชเป็นแหล่งที่มาของอาหาร ยารักษาโรค เชื้อเพลิง เครื่องนุ่งห่มและที่อยู่อาศัยของมนุษย์ นอกจากนี้แล้วพืชยังช่วยดำรงรักษาหน้าที่พื้นฐานของระบบนิเวศซึ่งมีความจำเป็นต่อการอยู่รอดของทุกชีวิตบนโลก “โลกปราศจากพืช คือโลกที่ปราศจากชีวิต” จนปัจจุบัน นวัตกรรมจากพืชนานาชนิด ยังคงถูกผลิตคิดค้นขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการในการดำรงชีวิตของเรา
  • เส้นทางแห่งพืชพรรณ การข้ามถิ่นของพืชที่มีผลต่อวัฒนธรรม วิถีชีวิต ของคนในภูมิภาคนั้นๆ โดยเลือกนำเสนอพืชสำคัญๆ ทั่วโลกพืชที่คนไทยนำมาใช้ประโยชน์ในปัจจัยสี่ รวมถึงพืชเศรษฐกิจหลักๆ ของเรานั้นที่มีมาจากไหน? มีอะไรที่เป็นพืชถิ่นดั้งเดิมของเราบ้าง และการข้ามถิ่นของพืชมีผลต่อวิถีชีวิตของคนไทยอย่างไรบ้าง?
  • วันที่โลกไม่มีต้นไม้...สู่เส้นทางสีเขียว มนุษย์อาศัยพึ่งพาต้นไม้มาตั้งแต่มนุษย์ถือกำเนิดขึ้นมาบนโลกจนถึงปัจจุบัน จากพฤติกรรมของมนุษย์ที่มุ่งแต่จะใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศจนก่อให้เกิดภัยพิบัติต่างๆ และหากเราทุกคนยังไม่ยั้งคิด ไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เมื่อต้นไม้อยู่บนโลกไม่ได้ เมื่อนั้นมนุษย์ก็จะอยู่ไม่ได้ ทางออกในการแก้ปัญหาโลกร้อน เส้นทางสู่ทางรอดของพืชพรรณ คือ เส้นทางรอดของมนุษย์เช่นเดียวกัน เพียงมนุษย์ใส่ใจและเปลี่ยนพฤติกรรมเล็กๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวัน ก็อาจช่วยต่อเวลาให้กับโลกใบนี้ได้

จุดท่องเที่ยวอื่นภายในสวนพฤกษ์ฯ

1.เส้นทางกระสุนพระอินทร์-พระราม เป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติระยะทาง 400 เมตร ตลอดเส้นทางในช่วงฤดูฝนจะมีเจ้า “กิ้งกือกระสุน” ตัวน้อยเดินพาเหรดไปมา แมลงตัวน้อยที่ยิงใครไม่ได้แต่มีหน้าที่ย่อยสลายซากพืชในผืนป่า หากเผลอไปสัมผัสตัวมันก็จะเปลงร่างเป็นลูกกระสุนเล็กๆ แสนน่ารัก

2.วงศ์เฟิน สวนเฟินดึกดำบรรพ์ มหัศจรรย์แหล่งรวมเฟินโบราณนานาชนิด พืชในยุคเดียวกับไดโนเสาร์หลายร้อยล้านปี พร้อมทางเดินปูพรมสีเขียวนุ่มๆจากมอสธรรมชาติ

3.เส้นทางศึกษาพืชวงศ์กล้วย ตื่นตากับแปลงรวบรวมพันธุ์กล้วยที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ ชมกล้วยแปลก กล้วยหายากนับร้อยสายพันธุ์

4.อุทยานขิง-ข่า สัมผัสความสวยงามเฉพาะตัวของเหล่าพืชวงศ์ขิง-ข่าหลากหลายสายพันธุ์ มนต์เสน่ห์แห่งฤดูฝน ใน 1 ปี จะออกดอกชูช่อให้เห็นในฤดูฝนเพียงช่วงเดียว

5.เส้นทางสวนรุกขชาติ เส้นทางที่สามารถพาตัวเข้าไปอยู่ใกล้กับป่าได้มากที่สุด มีวงศ์ไม้และระบบนิเวศของป่าให้ศึกษา สงบ ร่มรื่น ท่ามกลางต้นไม้น้อยใหญ่ และธารน้ำเล็กๆ ตลอดทาง