ในสงครามโลกครั้งที่

จากบทเรียนวิชาประวัติศาสตร์ (และวิชาอื่น ๆ เช่นภาษาไทย) เราเชื่อว่าเพื่อน ๆ ต้องเคยได้ยินชื่อของสงครามกันมาบ้างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นสงครามระดับภูมิภาคของไทยและอาณาจักรเพื่อนบ้าน ที่ปรากฎให้เราเห็นผ่านวรรณคดี เช่น ลิลิตตะเลงพ่าย หรือจะเป็นสงครามใหญ่ที่มีหลายประเทศเข้ามาพัวพันอย่างสงครามโลก ในวันนี้บทเรียนออนไลน์จาก StartDee จะพาเพื่อน ๆ ไปสำรวจจุดเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่ 1 สงครามโลกครั้งแรกที่เกิดขึ้นในโลกของเราว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ถ้าพร้อมแล้วล่ะก็ไปดูพร้อม ๆ กันเลย !

Show

ในสงครามโลกครั้งที่

 

สรุปสงครามโลกครั้งที่ 1 ใน 4 บรรทัด !

สงครามโลกครั้งที่ 1 เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ. 1914 - 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 6 ของไทย รวม ๆ แล้วกว่าสงครามจะสิ้นสุดก็ใช้เวลายาวนานถึง 4 ปี แม้ว่าสงครามโลกจะเป็นประเด็นยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ แต่ประวัติศาสตร์โลกฉบับไม่ง่วง (The Mental Floss History of the world) ที่คุณ  Eric Sass และ Steve Wiegand เขียนไว้กลับสรุปเรื่องราวของสงครามโลกครั้งที่ 1 ไว้อย่างน่าสนใจภายใน 4 บรรทัดว่า…

 

“อาร์คดยุกถูกยิง ประเทศต่าง ๆ เลือกข้างและเข้าสู่สงคราม อาวุธร้ายกาจถูกงัดออกมาใช้ คร่าชีวิตผู้คนไปเป็นจำนวนมาก โรคร้ายฆ่าคนเพิ่มอีก ทุกคนต่างเหน็ดเหนื่อยจากการสู้รบและเห็นดีเห็นงามที่จะยุติ จักรวรรดิล่มสลายและเผด็จการเฟื่องฟู”

 

เอาล่ะ !!! มาถึงจุดนี้หลายคนคงเริ่มเห็นภาพรวมทั้งหมดของสงครามโลกครั้งที่ 1 เรียบร้อยแล้ว จากนั้นก็รู้สึกว่าอ่านแค่นี้ก็พอ ไม่อ่านต่อแล้วจ้า เย้ย !!! ไม่ใช่ซะหน่อยเพราะสงครามโลกครั้งที่ 1 ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกเยอะแยะเลยน่ะสิ 

เริ่มจากไปสำรวจสถานที่เกิดเหตุและตัวละครหลักแต่ละตัวกันก่อนดีกว่า !



โลกในต้นศตวรรษที่ 20 เป็นอย่างไร: สำรวจบริบทของโลกเพื่อทำความเข้าใจสงครามโลกครั้งที่ 1

ก่อนที่สงครามโลกครั้งที่ 1 จะปะทุขึ้น เราอยากชวนเพื่อน ๆ ไปดูบริบทการปกครองของประเทศต่าง ๆ ในโลกในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 กันก่อน ช่วงเวลานั้นโลกของเราเป็น ‘ยุคของจักรวรรดิและการล่าอาณานิคม’ ประเทศต่าง ๆ ในยุคนั้นล้วนถูกปกครองโดยระบอบกษัตริย์ที่มีอำนาจ (แถมไม่ได้มีอำนาจแค่ในแผ่นดินของตนเอง แต่ยังแผ่ขยายไปยังประเทศอื่น ๆ ด้วย) ไม่ว่าจะเป็นจักรวรรดิอังกฤษที่เรืองอำนาจจนได้สมญานามว่า ‘จักรวรรดิที่พระอาทิตย์ไม่เคยตกดิน’ เพราะไม่ว่าพระอาทิตย์จะส่องแสงไปยังส่วนไหนของโลก หนึ่งในนั้นจะต้องมีอาณานิคมของอังกฤษรวมอยู่ด้วยเสมอ นอกจากนี้ยังมีจักรวรรดิอื่น ๆ อีก เช่น จักรวรรดิเยอรมนี จักรวรรดิรัสเซีย จักรวรรดิออตโตมัน และจักรวรรดิออสเตรีย - ฮังการี ซึ่งจักรวรรดิเหล่านี้ล้วนมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 ทั้งสิ้น

ในสงครามโลกครั้งที่

French plans for Europe after a victory over the Central Powers in the first World War, 16 February 2010. Wikimedia Commons.

 

ยิ่งมีประเทศในอาณานิคมมาก จักรวรรดิก็ยิ่งแข็งแกร่ง การมีประเทศในอาณานิคมทำให้เจ้าอาณานิคมได้ทั้งทรัพยากรธรรมชาติและจุดยุทธศาสตร์ดี ๆ ในการเดินเกมสงคราม ด้วยเหตุนี้ ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 จักรวรรดิต่าง ๆ ในยุโรปจึงมุ่งมั่นตั้งใจขยายดินแดนกันอย่างไม่หยุดหย่อน ความเจริญก้าวหน้าของแต่ละจักรวรรดินำไปสู่การแข่งขันทางอำนาจในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ การเมือง การพัฒนาด้านอุตสาหกรรม รวมถึงเทคโนโลยีทางการทหารและการสงครามด้วย



มาเป็นเพื่อนกันเถอะ (หรือจะเป็นญาติด้วยก็ดีนะ !)

แต่แข่งกันอย่างเดียวคงไม่ไหว หลาย ๆ จักรวรรดิจึงพร้อมใจเจริญไมตรีและเมคเฟรนด์เพื่อสร้างพันธมิตรไปด้วย ซึ่งวิธีการเจริญสัมพันธไมตรีก็มีอยู่ด้วยกันหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ทางการค้า การให้การสนับสนุนด้านกำลังทหาร หรือจะเป็นการแต่งงานเพื่อเกี่ยวดองกันเป็นเครือญาติก็เป็นที่นิยมมาก ยกตัวอย่างในอดีตที่พระนางมารี อังตัวเน็ตจากราชวงศ์ออสเตรียถูกส่งไปอภิเษกสมรสกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แห่งฝรั่งเศส (ก่อนที่ฝรั่งเศสจะเกิดการปฏิวัติ กลายเป็นสาธารณรัฐที่ปกครองโดยประธานาธิบดีในเวลาต่อมา) ด้วยเหตุนี้หลาย ๆ จักรวรรดิจึงมีความสัมพันธ์กันฉันท์เครือญาติ (แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังหลีกเลี่ยงการกระทบกระทั่งกันไม่ได้อยู่ดี) โดยกลุ่มมหาอำนาจหลัก ๆ ในยุคนั้นจะมีอยู่ 2 กลุ่ม คือ

ในสงครามโลกครั้งที่


Map of military alliances of Europe in 1914, 12 January 2009. Wikimedia Commons.

1. ไตรภาคี (Triple Entente) ได้แก่ จักรวรรดิอังกฤษ จักรวรรดิรัสเซีย และสาธารณรัฐฝรั่งเศส 
2. ไตรพันธมิตร (Triple Alliance) ได้แก่ จักรวรรดิเยอรมนี จักรวรรดิออสเตรีย - ฮังการี และอิตาลี

ซึ่งความสัมพันธ์ฉันท์เครือญาติและการเจริญไมตรีของจักรวรรดิเหล่านี้จะส่งผลอย่างมากต่อความร่วมมือ และการรับมือกับความขัดแย้งที่จะตามมาในอนาคต

 

ภัยความมั่น (คง): ชนวนสงคราม ความขัดแย้ง และสาเหตุของสงครามโลกครั้งที่ 1

ออสเตรีย - ฮังการีเป็นจักรวรรดิที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ ไม่ว่าจะเป็นชาวเช็ก (Czech) ชาวสลาฟ (Slovaks) ชาวโปแลนด์ (Poles) ชาวยูเครน (Ukrainians) ชาวรูเมเนีย (Romanians) ชาวโครแอต (Croats) ชาวสโลวีน (Slovenians) ชาวอิตาลี (Italians) และชาวเซิร์บ (Serbs) ความขัดแย้งเริ่มก่อตัวขึ้นเมื่อชาวสลาฟเริ่มเรียกร้องอิสระและต้องการแยกตัวเป็นอิสระจากจักรวรรดิออสเตรีย - ฮังการี (เพื่อไปรวมกับเซอร์เบียที่เป็นเอกราชแล้วในเวลานั้น) แต่จักรวรรดิออสเตรีย - ฮังการีก็ไม่ยอมง่าย ๆ 

ในความขัดแย้งนี้ชาวสลาฟได้รับการหนุนหลังจากเซอร์เบียให้ก่อการกบฎ (และเซอร์เบียก็มีรัสเซียคอยซัปพอร์ตอยู่อีกที*) จนในวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1914 เรื่องไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อนายกัฟรีโล ปรินซีฟ (Gavrilo Princip) ผู้ก่อการร้ายชาวบอสเนีย เชื้อสายเซิร์บลอบปลงพระชนม์อาร์คดยุก ฟรานซ์ เฟอร์ดินาน แห่งออสเตรีย (Archduke Franz Ferdinand of Austria) และดัชเชสโซฟี แห่งโฮเอนเบิร์ก (Sophie, Duchess of Hohenberg) พระชายาของพระองค์ด้วยอาวุธปืนขณะทั้งสองเสด็จเยือนกรุงซาราเยโว (Sarajevo) จากเหตุการณ์นี้ทำให้จักรวรรดิออสเตรีย - ฮังการีเริ่มใช้กลยุทธ์ทางการฑูตมากดดันเซอร์เบีย ส่วนเซอร์เบียก็ปฏิเสธการส่งผู้ร้ายข้ามแดน

นี่เป็นเรื่องที่ยอมไม่ได้เด็ดขาด กระทบภัยความมั่นสุด ๆ (ความมั่นคงน่ะ) ออสเตรียจึงประกาศสงครามกับเซอร์เบียทันที

*ทั้งเซอร์เบียและรัสเซียก็ล้วนแต่เป็นชาวสลาฟ จึงรักและสนับสนุนกันอย่างดี

 

พันธมิตรที่ไม่ได้พากย์ไทย: ฝ่ายมหาอำนาจกลางและฝ่ายพันธมิตรคือใครกันนะ ?

เมื่อรัสเซียประกาศตัวสนับสนุนเซอร์เบีย เยอรมนีก็ไม่น้อยหน้า ออกมาสนับสนุนจักรวรรดิออสเตรีย - ฮังการีเช่นกัน โดยในช่วงแรกของสงครามโลกครั้งที่ 1 กลุ่มประเทศที่มีบทบาทในสงครามจะมีอยู่ 2 ฝ่ายหลัก ๆ คือ

1. ฝ่ายมหาอำนาจกลาง (Central power) ได้แก่ จักรวรรดิเยอรมนี จักรวรรดิออสเตรีย - ฮังการี บัลแกเรีย และจักรวรรดิออตโตมัน
2. ฝ่ายสัมพันธมิตร (Allied Powers) ได้แก่ จักรวรรดิอังกฤษ จักรวรรดิรัสเซีย และสาธารณรัฐฝรั่งเศส

 
ในสงครามโลกครั้งที่

1914 - Warring powers in Europe. Alphahistory.com

นอกจากนี้ยังมีประเทศที่วางตัวเป็นกลางในช่วงแรก แต่ก็ตัดสินใจเข้าร่วมสงครามในภายหลังด้วย เช่น สหรัฐอเมริกาที่กลายมาเป็นตัวแปรสำคัญในช่วงหลังของสงครามโลกครั้งที่ 1 และหลังจากที่สงครามดำเนินไปกว่า 3 ปี สยามที่ ‘รักษาความเป็นกลางอย่างเคร่งครัด’ ก็ประกาศเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม ค.ศ. 1917 โดยมีการส่งทหารอาสาไปประจำแนวรบด้านตะวันตก ส่งกองบินเข้าร่วมฝึก รวมถึงการส่งเสบียงอาหารและยุทธภัณฑ์ไปร่วมด้วย การตัดสินใจเข้าร่วมสงครามโลกครั้งนี้ทำให้สยามได้รับการยอมรับมากขึ้นในฐานะประชาคมโลก และการเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรก็ช่วยเปิดทางไปสู่การยกเลิกสนธิสัญญาหลาย ๆ ฉบับ เช่น สนธิสัญญาเบาว์ริงที่ทำให้สยามเสียเปรียบด้านการค้ากับตะวันตกอยู่มาก

 

ขุด ๆๆๆ: เหตุการณ์สำคัญและการแนวทางการรบในสงครามโลกครั้งที่ 1

แผน Schlieffen: ยกทัพอ้อม ๆ แต่ได้คู่สงครามเพิ่มแบบตรง ๆ

จักรวรรดิเยอรมนีเริ่มการรบด้วยแผน Schlieffen โดยการยกทัพผ่านเบลเยียมเพื่อไปโจมตีฝรั่งเศส แต่เบลเยียมในขณะนั้นก็มีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับอังกฤษ (เนื่องจากกษัตริย์เบลเยียมเป็นพระญาติกับราชวงศ์อังกฤษ​อยู่) อังกฤษจึงไม่พอใจมาก ๆ และตัดสินใจประกาศสงครามกับจักรวรรดิเยอรมนีเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ค.ศ. 1914 

สงครามสนามเพลาะและแนวรบที่ไม่จบสิ้น

หลังจากเปิดฉากสงครามโลกครั้งที่ 1 อย่างเป็นทางการ การสู้รบก็เกิดขึ้นบนแนวการสู้รบที่ยาวกว่า 300 ไมล์ (ประมาณ 483 กิโลเมตร) ในสงครามโลกมีแนวรบที่สำคัญอยู่หลายจุด เช่น ‘แนวรบด้านตะวันตก (Western front)’ ซึ่งเป็นแนวรบระหว่างเยอรมนีและฝรั่งเศสที่ขึ้นชื่อเรื่องความโหดร้ายทารุณ ส่วนแนวรบอีกด้านคือ ‘แนวรบด้านตะวันออก (Eastern front)’ ซึ่งเป็นพรมแดนระหว่างเยอรมนีและรัสเซีย นอกจากนี้กรุงวอร์ซอ (Warsaw)* ที่อยู่ภายใต้การปกครองของรัสเซียในช่วงนั้นก็ถือเป็นสมรภูมิรบสำคัญอีกแห่งหนึ่ง

*ในการรบครั้งนั้นเยอรมนีได้ช่วงชิงดินแดนในกรุงวอร์ซอไปได้ ก่อนที่สงครามโลกครั้งที่ 1 จะจบลง โปแลนด์แยกตัวออกมา และกรุงวอร์ซอก็กลายมาเป็นเมืองหลวงของโปแลนด์ในปัจจุบัน

ในสงครามโลกครั้งที่

Cheshire Regiment trench near La Boiselle, July 1916. Wikimedia Commons

การต่อสู้ของเหล่าทหารดำเนินไปใน ‘สนามเพลาะ’ ซึ่งมี ‘การขุดหลุม’ เพื่อซุ่มโจมตีเป็นเอกลักษณ์ การต่อสู้จึงเป็นไปในลักษณะผลัดกันผลุบโผล่เพื่อยิงสลับกันไปมา นอกจากนี้ทหารที่อยู่ในหลุมยังต้องคอยหลบอาวุธและระเบิดที่ถูกขว้างปามาจากฝ่ายตรงข้าม คอยรับมือกับแมลงสัตว์ที่รุมกัดต่อย โรคติดต่อที่เกิดจากสภาวะไม่ถูกสุขอนามัย ไหนจะฝนที่ตกน้ำท่วมหลุมอีก การหลบอยู่ในหลุมแบบนี้ทำให้การรบไม่ค่อยคืบหน้า สงครามจึงยืดเยื้อ สร้างความท้อแท้และส่งผลต่อสภาพจิตใจของทหารอย่างมาก 40% ของทหารที่เข้าร่วมรบต้องเผชิญกับความเจ็บป่วยทางจิต เช่น โรคเครียดหลังประสบเหตุการณ์สะเทือนใจ (PTSD: Post Traumatic Stress Disorder) หรือภาวะการสะท้านจากระเบิด (Shell shock) ที่หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 จบลงก็มีรายงานผู้ป่วยกว่า 80,000 เคส

สมรภูมิรบทางทะเล

นอกจากการสู้รบในสนามเพลาะยังมีการสู้รบทางเรือด้วย สมรภูมิรบหลักอยู่ในมหาสมุทรแอตแลนติก โดยเยอรมนีใช้แผนการรบแบบไม่จำกัดเขต (Unstricted submarine warfare) ซึ่งเป็นการโจมตีเรือโดยไม่บอกกล่าวก่อนตามธรรมเนียมการสู้รบทางเรือ มีการส่งเรือดำน้ำไปประจำรอบเกาะอังกฤษ ส่งผลให้การค้าและการขนส่งของอังกฤษเป็นไปอย่างยากลำบาก แต่การใช้แผนการรบแบบไม่จำกัดเขตของกองทัพเยอรมนีในครั้งนี้ก็ทำให้จุดพลิกผันของสงครามโลกครั้งที่ 1 มาถึง



ยิงผิดชีวิตเปลี่ยน: จุดเปลี่ยนของสงครามโลกครั้งที่ 1

 

“This is a war to end all wars”

นี่คือสงครามที่จะยุติสงครามทั้งหมด

— Woodrow Wilson

 

หลังจากวางตัวเป็นกลางมากว่า 2 ปี เมื่อเรือดำน้ำของเยอรมันโจมตีเรือ RMS Lusitania ซึ่งเป็นเรือเดินสมุทรสัญชาติอังกฤษที่มีชาวอเมริกันโดยสารไปด้วยกว่า 100 คน เมื่อรวมกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดการสู้รบในมหาสมุทรแอตแลนติก และประเด็นด้านความมั่นคงอื่น ๆ ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1917 ประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสันและสภาคอนเกรสก็ตัดสินใจพาสหรัฐอเมริกาเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 1

ในสงครามโลกครั้งที่

Sinking of the Lusitania at NYT title, May 8th, 1915. Wikimedia Commons

การเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรของสหรัฐอเมริกากลายเป็นจุดพลิกผันสำคัญของสงคราม เพราะการถูกรายล้อมไปด้วยศัตรูรอบด้านทำให้เยอรมนีในตอนนี้สู้ไม่ไหวแล้วจริง ๆ จนต้องประกาศสงบศึก ส่งผลให้ฝ่ายสัมพันธมิตรมีชัยชนะเหนือฝ่ายมหาอำนาจกลางในท้ายที่สุด



สงครามสิ้นสุด สันติภาพบังเกิด (ไหมนะ ???): ผลกระทบของสงครามโลกครั้งที่ 1

8 มกราคม ค.ศ. 1918 ประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสันได้กล่าวสุนทรพจน์เกี่ยวกับสันติภาพของโลกหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งสรุปออกมาได้เป็นหลักการ 14 ข้อ (The Fourteen Points) ซึ่งกลายเป็นหลักการของสนธิสัญญาแวร์ซาย (The Treaty of Versailles) ในเวลาต่อมา เมื่อเยอรมนียอมลงนามในสนธิสัญญาสงบศึก (Armistice) ในวันที่  11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918  จากนั้นในวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ.1919 (ประมาณหนึ่งปีต่อมา) ก็มีการเซ็นสนธิสัญญาแวร์ซาย ณ พระราชวังแวร์ซาย ประเทศฝรั่งเศส ถือเป็นการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 1 อย่างเป็นทางการ รวมเป็นระยะเวลากว่า 5 ปีหลังจากการลอบสังหารอาร์คดยุก ฟรานซ์ เฟอร์ดินานแห่งออสเตรีย

ในสงครามโลกครั้งที่

League of Nations (Society Des Nations). Wikimedia Commons

จากหลักการข้อที่ 14 ของประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน องค์การสันนิบาตชาติ (League of Nations) จึงถูกก่อตั้งขึ้นเพื่อความสงบสุขของประชาคมโลก โดยกติกาสัญญาของสันนิบาตชาตินั้นถือเป็นส่วนหนึ่งของสนธิสัญญาแวร์ซาย และสยามเองก็เป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกขององค์การสันนิบาตชาติเช่นกัน



บทสรุปของสงครามโลกครั้งที่ 1 และปฐมบทสู่สงครามโลกครั้งที่ 2

กว่าสงครามจะจบลง ประเทศที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งก็สูญเสียทหารไปมากกว่า 8.5 ล้านคน บาดเจ็บอีกกว่า 21 ล้านคน มูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นรวมเป็นมูลค่ากว่า 186 พันล้านเหรียญสหรัฐ ผลจากสงครามโลกทำให้เกิดการล่มสลายของจักรวรรดิออตโตมัน จักรวรรดิออสเตรีย - ฮังการีก็แยกตัวกลายเป็นออสเตรีย ฮังการี เชโกสโลวาเกีย และยูโกสลาเวีย ส่วนจักรวรรดิรัสเซียก็เกิดการปฏิวัติและแยกดินแดน กลายเป็นเอสโตเนีย ฟินแลนด์ ลัตเวีย ลิทัวเนีย และโปแลนด์ในเวลาต่อมา รวม ๆ แล้วยุโรปตะวันออกจึงมีประเทศเกิดใหม่กว่า 9 ประเทศ

ส่วนจักรวรรดิเยอรมนีเองก็ต้องเสียค่าปฏิกรรมสงครามเป็นจำนวนเงินมหาศาล และยังสูญเสียอำนาจการปกครองเหนือดินแดนต่าง ๆ ที่เคยครอบครอง (เช่นแอฟริกา) ให้กับฝรั่งเศสและอังกฤษด้วย นอกจากนี้การเซ็นสัญญา (ที่ไม่ค่อยเป็นธรรม) หลายฉบับก็สร้างความไม่พอใจแก่ประเทศผู้แพ้สงคราม และกลายเป็นชนวนสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ในเวลาต่อมา

เรื่องราวของสงครามโลกครั้งที่ 2 จะเป็นอย่างไรต้องรอติดตามในบทความ สงครามโลกครั้งที่ 2 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 วิชาสังคมศึกษา แล้วล่ะ แต่ถ้าเพื่อน ๆ อยากเรียนในรูปแบบวิดีโอ ก็สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน StartDee มาเรียนกันก่อนได้เลย หรือจะเรียนรู้ผ่าน 10 หนังประวัติศาสตร์ก็ได้นะ รับรองไม่น่าเบื่อ

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก:

  1. อิทธิพล จัฒนาวงค์ (ครูจั๊มป์)
  2. สุรรังสรรค์ ผาสุขวงษ์ (ครูกอล์ฟ)

Reference:

BBC. (2004, March 3). Shell Shock. BBC Inside Out. http://www.bbc.co.uk/insideout/extra/series-1/shell_shocked.shtml. 

Butterworth , B. R. (2020, November 3). What World War I taught us about PTSD. The Conversation. https://theconversation.com/what-world-war-i-taught-us-about-ptsd-105613. 

Sass, E., & จันทร สุวิชชา. (2561). The empires strike out จักรวรรดิล่มสลาย. In ประวัติศาสตร์โลกฉบับไม่ง่วง (The Mental Floss History of the world) (pp. 383–423). essay, abook. 

ขำเลิศสกุล เผด็จ. (2017, July 22). ครบรอบ 100 ปี สยามเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1: ย้อนรอยการเลือกข้างเพื่อความอยู่รอด. BBC News ไทย. https://www.bbc.com/thai/thailand-40670894.