การประกอบอาชีพตามแนวทางหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงควรยึดหลักในการปฏิบัติตนอย่างไร

เศรษฐกิจพอเพียง เป็นกรอบแนวคิด ซึ่งมุ่งให้ทุกคนสามารถพึ่งพาตัวเองได้ รวมถึงการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น จนเกิดความยั่งยืน คำว่า พอเพียง คือ การดำเนินชีวิตแบบทางสายกลาง โดยตั้งอยู่บนหลักสำคัญสามประการ คือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกันที่ดี    
 

 

ความพอประมาณ

คือ การดำรงชีวิตให้เหมาะสม ซึ่งเราควรจะมีความพอประมาณทั้งการหารายได้ และพอประมาณในการใช้จ่าย ความพอประมาณในการหารายได้ คือ ทำงานหารายได้ด้วยช่องทางสุจริต ทำงานให้เต็มความสามารถ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ส่วนความพอประมาณในการใช้จ่าย หมายถึง การใช้จ่ายให้เหมาะกับฐานะความเป็นอยู่ ไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยหรือใช้จ่ายเกินตัว และในขณะเดียวกัน ก็ใช้จ่ายในการดูแลตนเอง และครอบครัวอย่างเหมาะสม ไม่อยู่อย่างลำบาก และฝืดเคืองจนเกินไป

ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกิจ หรือการดำรงชีวิตประจำวัน เราจำเป็นต้องมีการตัดสินใจตลอดเวลา ซึ่งการตัดสินใจที่ดี ควรตั้งอยู่บนการไตร่ตรองถึงเหตุ รวมทั้งคำนึงถึงผลที่อาจตามมาจากการตัดสินใจอย่างรอบคอบ ไม่ใช่ตัดสินใจตามอารมณ์ หรือจากสิ่งที่คนอื่นบอกมาโดยปราศจากการวิเคราะห์

คือ การเตรียมตัวให้พร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลง ในโลกที่ไม่มีอะไรแน่นอน ทั้งสภาพลม ฟ้า อากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการทำเกษตร การเปลี่ยนแปลงในบริษัทคู่ค้า การเลิกจ้างพนักงานในบริษัทใหญ่ หรือแม้แต่ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทั้งในและต่างประเทศที่มีผลต่อการลงทุน เราจึงจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะดำรงอยู่ได้ด้วยการพึ่งพาตนเอง และตั้งอยู่ในความไม่ประมาทอยู่เสมอ เช่น เตรียมแผนสำรองสำหรับแต่ละสถานการณ์ การมีรายได้หลายทางเพื่อลดความเสี่ยงในวันที่ถูกเลิกจ้าง หรือการกระจายความเสี่ยงในการลงทุน

โดยการดำรงชีวิตตามหลักการทั้งสามข้อนั้น จำเป็นต้องมีความรู้และคุณธรรมประกอบด้วย ความรู้ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันที่เหมาะสม เช่น ความรู้ในการประกอบวิชาชีพช่วยให้ธุรกิจและการงานเจริญก้าวหน้า หรือความรู้ในการลงทุนช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้นักลงทุน ทั้งนี้ ความรู้และประสบการณ์ จะช่วยทำให้เราตัดสินใจได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล ถึงแม้ว่า พื้นฐานความคิดและประสบการณ์ที่แตกต่างกันอาจทำให้เหตุผลของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน แต่หากทุกคนยึดมั่นอยู่ในหลักคุณธรรม ก็จะทำให้การอยู่ร่วมกันในสังคมเป็นไปอย่างสงบสุข

อย่างที่กล่าวมาข้างต้น การพึ่งพาตัวเองได้เป็นเพียงส่วนเริ่มต้นของการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง โดยเมื่อทุกคนสามารถดูแลตัวเอง และครอบครัวได้แล้ว ขั้นต่อไปอาจทำการพัฒนาธุรกิจ โดยมีการรวมกลุ่มกันในวิชาชีพเดียวกัน เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในการรวมกลุ่มกันนั้น ไม่จำกัดเฉพาะการรวมกลุ่มของชาวบ้าน เกษตรกร ในรูปของสหกรณ์ การทำงานในเมืองก็สามารถมีการรวมกลุ่มกันได้ เช่น การแบ่งปันความรู้ ประสบการณ์ในการทำธุรกิจของกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน การแลกเปลี่ยนแนวคิดการลงทุน เพื่อเป็นการต่อยอดความรู้ รวมไปจนถึงการแบ่งปันความช่วยเหลือส่งกลับคืนสู่สังคม ไปสู่กลุ่มที่ยังต้องการความช่วยเหลืออยู่ เช่น กิจกรรมจิตอาสา เพื่อสร้างสังคมที่เข้มแข็งและอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข

จะเห็นได้ว่า แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงนั้น เป็นแนวคิดที่ตั้งอยู่บนความไม่ประมาท ด้วยการใช้ความรู้และคุณธรรม เพื่อให้เกิดการพึ่งพาตัวเองได้ และเผื่อแผ่ไปถึงสังคม ซึ่งเราสามารถนำหลักการปฏิบัติไปปรับใช้ได้ทั้งในชีวิตการทำงาน และการดำรงชีวิตครับ

  บทที่ 2

การประกอบอาชีพอย่างพอเพียง

สาระสำคัญ

การประกอบอาชีพอย่างพอเพียงต้องอาศัยหลักความพอประมาณ ความมีเหตุผล ความมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาพิจารณาจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ของตัวเอง ครอบครัว และชุมได้อย่างถูกต้อง เหมาะสมกับอาชีพที่ตนเองตัดสินใจเลือกทำแล้วใช้เงื่อนไขความรู้ เงื่อนไขคุณธรรมเป็นเครื่องมือกำหนดแนวทางปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพใช้ดำเนินงานการประกอบอาชีพอย่างพอเพียง
ผลการเรียนที่คาดหวัง
บอกแนวทาง ในการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพ
ขอบข่ายเนื้อหา
เรื่องที่ 1 หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับการจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ของตนเอง
ครอบครัว ชุมชน
เรื่องที่ 2 หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับการประกอบอาชีพ

เรื่องที่ 1 หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับการจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ของตนเอง
ครอบครัว ชุมชน
เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเศรษฐกิจที่พอเพียงกับตนเองทำให้อยู่ได้ไม่ต้องเดือดร้อน มีสิ่งจำเป็นที่ทำได้โดยตัวเองไม่ต้องแข่งขันกับใคร และมีเหลือเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ไม่มี อันนำไปสู่การแลกเปลี่ยนในชุมชน และขยายไปจนสามารถที่จะเป็นสินค้าส่งออก เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเศรษฐกิจระบบเปิดที่เริ่มจากตนเองและความร่วมมือ วิธีการเช่นนี้จะดึงศักยภาพของ ประชากรออกมาสร้างความเข้มแข็งของครอบครัว ซึ่งมีความผูกพันกับ “จิตวิญญาณ” คือ “คุณค่า” มากกว่า “มูลค่า” ในระบบเศรษฐกิจพอเพียงจะจัดลำดับความสำคัญของ “คุณค่า” มากกว่า “มูลค่า” มูลค่านั้นขาดจิตวิญญาณ เพราะเป็นเศรษฐกิจภาคการเงิน ที่เน้นที่จะตอบสนองต่อความต้องการที่ไม่จำกัดซึ่งไร้ขอบเขต ถ้าไม่สามารถควบคุมได้การใช้ทรัพยากรอย่างทำลายล้างจะรวดเร็วขึ้นและปัญหาจะตามมา เป็นการบริโภคที่ก่อให้เกิดความทุกข์หรือพาไปหาความทุกข์ และจะไม่มีโอกาสบรรลุวัตถุประสงค์ในการบริโภค ที่จะก่อให้เกิดความพอใจและความสุข (Maximization of Satisfaction) ผู้บริโภคต้องใช้หลักขาดทุนคือกำไร (Our loss is our gain) อย่างนี้จะควบคุมความต้องการที่ไม่จำกัดได้ และสามารถจะลดความต้องการลงมาได้ ก่อให้เกิดความพอใจและความสุขเท่ากับได้ตระหนักในเรื่อง “คุณค่า” จะช่วยลดค่าใช้จ่ายลงได้ ไม่ต้องไปหาวิธีทำลายทรัพยากรเพื่อให้เกิดรายได้มาจัดสรรสิ่งที่เป็น “ความอยากที่ไม่มีที่สิ้นสุด” และขจัดความสำคัญของ “เงิน” ในรูปรายได้ที่เป็นตัวกำหนดการบริโภคลงได้ระดับหนึ่ง แล้วยังเป็นตัวแปรที่ไปลดภาระของกลไกของตลาดและการพึ่งพิงกลไกของตลาด ซึ่งบุคคลโดยทั่วไปไม่สามารถจะควบคุมได้ รวมทั้งได้มีส่วนในการป้องกันการบริโภคเลียนแบบ (Demonstration Effects) จะไม่ทำให้เกิดการสูญเสีย จะทำให้ไม่เกิดการบริโภคเกิน (Over Consumption) ซึ่งก่อให้เกิดสภาพเศรษฐกิจดี สังคมไม่มีปัญหา การพัฒนายั่งยืน
ประเทศไทยอุดมไปด้วยทรัพยากรและยังมีพอสำหรับประชาชนไทยถ้ามีการจัดสรรที่ดี โดยยึด " คุณค่า " มากกว่า " มูลค่า " ยึดความสัมพันธ์ของ “บุคคล” กับ “ระบบ” และปรับความต้องการที่ไม่จำกัดลงมาให้ได้ตามหลักขาดทุนเพื่อกำไร และอาศัยความร่วมมือเพื่อให้เกิดครอบครัวที่เข้มแข็งอันเป็นรากฐานที่สำคัญของระบบสังคม
ในการผลิตนั้นจะต้องทำด้วยความรอบคอบไม่เห็นแก่ได้ จะต้องคิดถึงปัจจัยที่มีและประโยชน์ของผู้เกี่ยวข้อง มิฉะนั้นจะเกิดปัญหาอย่างเช่นบางคนมีโอกาสทำโครงการแต่ไม่ได้คำนึงว่าปัจจัยต่าง ๆ ไม่ครบ ปัจจัยหนึ่งคือขนาดของโรงงาน หรือเครื่องจักรที่สามารถที่จะปฏิบัติได้ แต่ข้อสำคัญที่สุด คือวัตถุดิบ ถ้าไม่สามารถที่จะให้ค่าตอบแทนวัตถุดิบแก่เกษตรกรที่เหมาะสม เกษตรกรก็จะไม่ผลิต ยิ่งถ้าใช้วัตถุดิบสำหรับใช้ในโรงงานนั้น เป็นวัตถุดิบที่จะต้องนำมาจากระยะไกล หรือนำเข้าก็จะยิ่งยาก เพราะว่า

วัตถุดิบที่นำเข้านั้นราคายิ่งแพง บางปีวัตถุดิบมีบริบูรณ์ ราคาอาจจะต่ำลงมา แต่เวลาจะขายสิ่งของที่ผลิตจากโรงงานก็ขายยากเหมือนกัน เพราะมีมากจึงทำให้ราคาตก หรือกรณีใช้เทคโนโลยีทางการเกษตร เกษตรกรรู้ดีว่าเทคโนโลยีทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น และผลผลิตที่เพิ่มนั้นจะล้นตลาด ขายได้ในราคาที่ลดลง ทำให้ขาดทุน ต้องเป็นหนี้สิน
การนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่ของตนเอง ครอบครัว และชุมชนจะช่วยให้ดำรงชีวิตอย่างไม่เดือดร้อน และเกิดความยั่งยืน โดยคำนึงถึง
1. รู้จักใช้และจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างชาญฉลาดและรอบคอบ โดยเริ่มต้นผลิตหรือบริโภคภายใต้ข้อจำกัดของรายได้หรือทรัพยากรที่มีอยู่ไปก่อน คือใช้หลักพึ่งพาตนเอง โดยมุ่งเน้นการผลิตพืชผลให้เพียงพอกับความต้องการบริโภคในครัวเรือนเป็นอันดับแรก เมื่อเหลือจากการบริโภคแล้วจึงคำนึงถึงการผลิต เพื่อการค้าเป็นอันดับรองลงมา รู้จักประมาณตนโดยใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด ไม่ฟุ่มเฟือย ในการลงทุนประกอบอาชีพให้เป็นไปตามกำลังทรัพย์และศักยภาพของตนเอง เช่น
1.1 ปลูกผักสวนครัวลดค่าใช้จ่าย
1.2 นำน้ำที่ผ่านการใช้แล้วในครัวเรือนมารดพืชผักสวนครัว
1.3 นำพืชผักสวนครัวที่เพาะปลูกได้มาบริโภค แบ่งปันเพื่อนบ้าน บางส่วนนำไปขายที่ตลาด ส่วนที่เหลือนำไปเลี้ยงหมู
1.4 นำเงินจากการขายพืชผักสวนครัวและหมูไปซื้อสินค้าและบริการที่สมาชิกในครัวเรือนต้องการและมีความจำเป็นในการอุปโภคบริโภค
1.5 เก็บออมเงินส่วนที่เหลือจากการบริโภคไว้ใช้จ่ายในอนาคต
1.6 นำเงินส่วนหนึ่งมาลงทุนซื้อเมล็ดพืช เพื่อเพาะปลูกต่อไป
2. เลือกใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดความยั่งยืนสูงสุด โดยการนำทรัพยากรหรือวัสดุต่างๆ ที่สามารถหาได้ง่ายในชุมชนมาใช้ประโยชน์ ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนอย่างคุ้มค่าด้วยการหมุนเวียนทุนธรรมชาติในพื้นที่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการควบคุมการผลิตได้ด้วยตนเอง ช่วยลดภาระการเสี่ยงด้านราคาจากการไม่สามารถควบคุมระบบตลาด ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และใช้ทรัพยากร โดยคำนึงที่ไม่เป็นภัยกับสิ่งแวดล้อม เช่น
2.1 การทำไร่นาสวนผสมและการเกษตรผสมผสานเพื่อให้มีการหมุนเวียน มีสินค้าหลากหลาย ลดภาวะเสี่ยงด้านราคา
2.2 การจ้างแรงงานภายในชุมชน เพื่อส่งเสริมให้ตนเอง ครอบครัว และชุมชนมีรายได้
2.3 การทำปุ๋ยหมักปุ๋ยคอกและใช้วัสดุเหลือใช้เป็นปัจจัยการผลิต (ปุ๋ย) เพื่อลดค่าใช้จ่ายและบำรุงดิน
2.4 การเพาะเห็ดฟางจากวัสดุเหลือใช้ในไร่นา
2.5 การปลูกไม้ผลสวนหลังบ้าน และไม้ใช้สอยในครัวเรือน
2.6 การปลูกพืชสมุนไพร ช่วยส่งเสริมสุขภาพอนามัย
16
2.7 การเลี้ยงปลาในร่องสวน ในนาข้าวและแหล่งน้ำ เพื่อเป็นอาหารโปรตีนและรายได้เสริม
2.8 การเลี้ยงไก่พื้นเมือง และไก่ไข่ ประมาณ 10 – 15 ตัวต่อครัวเรือนเพื่อเป็นอาหารในครัวเรือน โดยใช้เศษอาหาร รำ และปลายข้าวจากผลผลิตการทำนา การเลี้ยงสัตว์จากการปลูกพืชไร่ เป็นต้น
2.9 การทำก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์

เรื่องที่ 2 หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับการประกอบอาชีพ

จากพระราชดำรัส : เศรษฐกิจพอเพียง มิได้จำกัดเฉพาะของเกษตรกรหรือชาวไร่ชาวนาเพียงเท่านั้น แต่เป็นเศรษฐกิจของทุกคนทุกอาชีพ ทั้งที่อยู่ในเมืองและอยู่ในชนบท เช่น ผู้ที่ได้เป็นเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรมและบริษัทในระบบเศรษฐกิจพอเพียง ถ้าจะต้องขยายกิจการเพราะความเจริญเติบโตจากเนื้อของงาน โดยอาศัยการขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป หรือหากจะกู้ยืมก็กระทำตามความเหมาะสม ไม่ใช่กู้มาลงทุนจนเกินตัวจนไม่เหลือที่มั่นให้ยืนอยู่ได้ เมื่อภาวะของเงินผันผวน ประชาชนก็จะต้องไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเกินตัว และ (จากการศึกษารายงานการวิจัยศึกษาการประกอบอาชีพตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของชุมชนบ้านโงกน้ำ) นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในกระบวนการประกอบอาชีพของชุมชนบ้านโงกนํ้า ตำบลนาขยาด อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ได้รับการคัดเลือกให้เป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจชุมชนพึ่งตนเอง ของจังหวัดพัทลุง ในปี 2544 และเป็นหมู่บ้านต้นแบบในการส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงทั้งในระดับครัวเรือน กลุ่มองค์กร และระดับหมู่บ้าน ได้ยึดหลักทางสายกลาง อันได้แก่ 3 ห่วงยึดเหนี่ยว และ2 ห่วงเงื่อนไขการปฏิบัติ โดยเสนอผลการวิคราะห์ในแต่ละด้านดังนี้
3 ห่วงยึดเหนี่ยว
1. ด้านความพอประมาณ
ชุมชนรู้จักใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างพอเพียง เหมาะสมแบบค่อยเป็นค่อยไป ใช้เทคโนโลยีเท่าที่จำเป็น มีรายได้เสริมจากการปลูกผัก เลี้ยงสุกร เลี้ยงโค เลี้ยงปลาดุก ไว้จุนเจือครอบครัวอีกทางหนึ่ง สภาพเศรษฐกิจของครอบครัวเหมาะสมตามอัตภาพของตน
2. ด้านความมีเหตุผล
ใช้ทรัพยากรทุกชนิดอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพสูงสุด เน้นการใช้วัตถุดิบภายในท้องถิ่นและตอบสนองตลาดในท้องถิ่น เน้นการจ้างงานเป็นหลัก โดยไม่นำเทคโนโลยีมาทดแทนแรงงาน มีขนาดการผลิตที่สอดคล้องกับความสามารถในการบริหารจัดการ เช่น ใช้พื้นที่ทางการเกษตรที่ว่างอยู่อย่างคุ้มค่า โดยการปลูกพืชผักสวนครัวข้างบ้าน พื้นที่สวนข้างบ้าน ตามสายรั้วบ้าน บางครอบครัว ก็ปลูกพืชผักและผลไม้ครบวงจรเพื่อลดค่าใช้จ่าย บางครอบครัวก็เลี้ยงโค เลี้ยงสุกร เลี้ยงปลาดุก กลุ่มอาชีพทำขนม เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ครัวเรือนจากอาชีพเสริม “ชาวบ้านโงกน้ำส่วนใหญ่ประกอบอาชีพอยู่ในชุมชน ไม่ค่อยไปทำงานนอกหมู่บ้านและไม่ค่อยมีคนนอกมาค้าขายหรือประกอบอาชีพในหมู่บ้าน

3. ด้านความมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี
เน้นการกระจายความเสี่ยงจากการมีผลผลิตหลากหลาย ไม่ก่อหนี้จนเกินความสามารถในความบริหารจัดการ มีการเปิดศูนย์ปราชญ์ชาวบ้านขึ้นที่กลุ่มออมทรัพย์บ้านโงกนํ้า ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้กับคนในชุมชน และกลุ่มอาชีพต่างๆ ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการอย่างต่อเนื่อง มีการทำกลุ่มปุ๋ยชีวภาพอัดเม็ด ซึ่งทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการซื้อปุ๋ยเคมีได้ค่อนข้างมาก การรวมกลุ่มทำปลาดุกร้าทำให้เพิ่มมูลค่าของปลาดุก และถนอมอาหารเก็บไว้รับประทานได้นานขึ้น นอกจากช่วยในด้าน การประกอบอาชีพหลักแล้ว ยังมีกลุ่มทำสบู่เหลว ยาสระผม ซึ่งก็ให้การสนับสนุน และมีส่วนร่วมอยู่เสมอ ในส่วนของข้อเสนอแนะนั้น ยังบอกว่า อยากให้หน่วยงานทางราชการเข้ามาส่งเสริม และให้ความรู้กับกลุ่มต่างๆ อย่างสมํ่าเสมอ และต่อเนื่อง และอยากให้มีกลุ่มอาชีพเสริมนี้ให้ความรู้ด้านอาชีพบางอย่าง เช่น การซ่อมรถ มอเตอร์ไซค์ การเย็บผ้า การเชื่อมโลหะ ช่างตัดผม เป็นต้น เพราะหลายคนอยากให้หน่วยงานทางราชการเข้ามาอบรมให้บ้าง เพื่อให้สามารถซ่อมแซมของตนเองได้และประกอบอาชีพเป็นธุรกิจ หรือกลุ่มของตนเอง เพื่อให้มีรายได้เสริมของครอบครัวด้วย
2 ห่วงเงื่อนไขการปฏิบัติ
1. เงื่อนไขความรู้
ในการประกอบอาชีพของคนในชุมชนบ้านโงกนํ้า มีความรอบคอบ มีความรู้ และมีความระมัดระวัง มีการทำแผนแม่บท การแบ่งงานความรับผิดชอบในแต่ละกลุ่ม รู้จักการอนุรักษ์ทั้ง สิ่งแวดล้อมและประเพณี รู้จักการฟื้นฟูสิ่งที่มีคุณค่าที่เคยหายไปแล้ว ให้กลับมาเป็นประโยชน์อีกครั้งหนึ่งตลอดจนมีการประยุกต์ภูมิปัญญาของการประกอบอาชีพ แบบดั้งเดิม นำมาบูรณาการกับเทคนิคและวิธีการของการประกอบอาชีพในสมัยปัจจุบัน แต่ทั้งนี้การส่งเสริมการให้ความรู้ก็ต้องทำอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ตลอดจนให้เกิดความทั่วถึงเพื่อให้บรรลุเป้าหมายส่วนบุคคลและของแต่ละกลุ่มอาชีพต่างๆ ตลอดจนให้สอดคล้องกับกระแสโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง และความต้องการของผู้รับสินค้าและผู้รับบริการให้มากขึ้น ท้ายที่สุดคือ การส่งเสริมให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้รับการศึกษาสูงสุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้เขาเหล่านั้นกลับมาพัฒนาบ้านเกิดภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หัวหน้าครอบครัวส่วนใหญ่ ได้อธิบายให้ทราบว่า การประกอบอาชีพซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาชีพเกษตรกรรมนั้น มีการถ่ายทอดความรู้จากคนรุ่นปู่รุ่นพ่อ รุ่นแม่ มายังรุ่นลูก และหลานไปตลอด ส่วนใหญ่แล้วเป็นการให้ความรู้จากการได้ลงมือปฏิบัติร่วมกัน เช่น เมื่อไปปลูกยางก็จะพาลูกหลานไปด้วย ในขณะที่ไปช่วยเป็นการให้เขาได้มีส่วน ร่วม โดยการสอน แนะนำ ให้ลูกหลานได้เห็น การเลี้ยงสุกรก็เช่นกัน และอื่นๆ ก็เป็นลักษณะนี้ ถามมาให้ทางราชการนำความรู้มาให้ก็นานๆ มาครั้ง แต่ก็ต้องเป็นหมู่บ้าน แต่ก็ถือว่าเป็นหมู่บ้านที่โชคดีที่มีประชากร ชาวบ้าน ที่เป็นแหล่งให้ความรู้ได้ค่อนข้างมาก ถึงแม้ว่าคนรุ่นใหม่จะไม่เรียนนอกบ้านมากขึ้น แต่ท่านก็รวบรวมความรู้ และวัสดุอุปกรณ์ในการทำมาหากินหรือประกอบอาชีพให้เห็น

2. เงื่อนไขคุณธรรม
มีความซื่อสัตย์ในการประกอบการไม่เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคและไม่เอารัดเอาเปรียบแรงงานลูกค้า มีความขยันอดทน การประกอบอาชีพของชุมชนบ้านโงกน้ำส่วนใหญ่แล้ว เป็นคนที่มีความซื่อสัตย์์ในการประกอบอาชีพของตนเอง มีความขยัน อดทน มีการแบ่งปันระหว่างครัวเรือน หัวหน้าครอบครัวที่มีอาชีพการทำสวนยางพารา มีความซื่อสัตย์ต่อตนเองในการขายผลผลิตจากยางพาราที่เป็นนํ้ายางมีคุณภาพ ไม่มีการใส่น้ำและสิ่งแปลกปลอม มีความตระหนักในการเพาะปลูก โดยพยายามหลีกเลี่ยงในการใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืช หันมาใช้สารกำจัดแมลงในธรรมชาติแทน ปุ๋ยที่ใช้ส่วนใหญ่ก็ใช้ปุ๋ยน้ำชีวภาพ ที่ผลิตขึ้นมาเอง หรือใช้มูลปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยชีวภาพอัดเม็ด เพื่อความปลอดภัยของสมาชิกในครัวเรือนเอง และยังผลไปถึงผู้ที่ซื้อไปบริโภค
ส่วนการเลี้ยงสัตว์ก็ใช้อาหารสัตว์จากธรรมชาติที่มีหรือเพาะปลูกเอง เช่น หญ้าที่ใช้เลี้ยงโค เพาะอาหารสุกรที่เหลือจากเศษอาหาร และอาหารจากพืชผัก พืชธรรมชาติที่หาได้เอง หลีกเลี่ยงการใช้สารเร่งเนื้อแดง เวลาส่วนใหญ่ใช้ไปในการทำมาหาเลี้ยงครัว ให้สมาชิกได้มีส่วนร่วมห่างไกลยาเสพติด ถึงแม้ว่าหมู่บ้านโงกนํ้าจะเป็นชุมชนปลอดยาเสพติดก็ตาม ซึ่งในขณะนี้ได้ทำงานร่วมกัน และมีการสอนคุณธรรมกับครอบครัวด้วย
กิจกรรมที่ 2
แบ่งกลุ่มผู้เรียนตามความสนใจ กลุ่มละ 5 คน แล้วดำเนินการดังต่อไปนี้
1. ในแต่ละกลุ่มระดมความคิด ในประเด็น “การนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้กับการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ของตนเอง ครอบคัว ชุมชน” แล้วเลือกนำเสนอเพียงหัวข้อเดียวว่า กลุ่มของตนสามารถนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในจัดสรรทรัพยากรอย่างไร เช่น การประหยัดค่าใช้จ่าย การพึ่งตนเอง ความมีเหตุผล มีภูมิค้มกัน ความรู้ และคุณธรรม เป็นต้น
2. ให้ผู้เรียนแต่ละกลุ่มเสนอแนวทางการเผยแพร่ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในชีวิตประจำวันหน้าชั้นเรียน กลุ่มละ 3 – 5 นาที โดยให้ผู้เรียนและผู้สอนร่วมประเมิน แนวทางการเผยแพร่ฯ ว่า เหมาะสมหรือควรแก้ไขอย่างไร เช่น การเผยแพร่โดยใช้ป้ายโปสเตอร์ แผ่นพับ และการประชาสัมพันธ์ทาง Internet เป็นต้น
3. ผู้เรียนแต่ละกลุ่มนำแนวทางการเผยแพร่ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการดำเนินชีวิต ไปเผยแพร่ในสถานศึกษาและชุมชนใกล้สถานศึกษา