ความหลากหลายทางพันธุกรรมส่งผลต่อมนุษย์อย่างไร

“เราทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ความอยู่รอดของเรานั้นยึดโยงอยู่กับความหลากหลายทางชีวภาพอย่างแยกไม่ออก”

ในปีนี้ ผู้ที่อยู่ในแวดวงและมีความสนใจเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพคงตื่นเต้น ระคนดีใจอยู่ไม่น้อย เพราะองค์การสหประชาชาติ ได้ประกาศให้ปี ค.ศ.2010 เป็น ปีสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ (2010 International Year of Biodiversity) เพื่อเฉลิมฉลองให้แก่สรรพชีวิตบนโลก และระลึกถึงคุณค่าของความหลากหลายทางชีวภาพที่มีต่อการดำรงชีวิตของเรา  รวมทั้งเชิญชวนให้ทุกคนร่วมกันปกป้องคุ้มครองความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตบนโลก  ในส่วนของประเทศไทย ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีก็เห็นควรประกาศให้ปี พ.ศ.2553 เป็นปีสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย เช่นกัน

ความหลากหลายทางพันธุกรรมส่งผลต่อมนุษย์อย่างไร

นอกจากนี้ ยังมีข่าวดีสำหรับประเทศไทยที่สอดรับกับปีสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพพอดี นั่นคือ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2553 ซึ่งตรงกับวันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ สถาบันนานาชาติเพื่อการสำรวจสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ (International Institute for Species Exploration : IISE) ของมหาวิทยาลัยแอริโซนาสเตต สหรัฐอเมริกา และคณะกรรมการนักอนุกรมวิธานนานาชาติ ได้ประกาศรายชื่อสุดยอดสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ 10 ชนิด จากจำนวนนับพันชนิดที่ถูกสำรวจพบในรอบปีที่ผ่านมา โดยหนึ่งในนั้น คือ ทากทะเลชนิดใหม่ ที่มีชื่อเรียกว่า “ไอ้เท่ง” ซึ่งมีการสำรวจพบเมื่อปีที่แล้ว บริเวณร่องน้ำในป่าชายเลนอ่าวปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช โดยคณะนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  ทากทะเลชนิดนี้มีขนาดประมาณ 6-17 มิลลิเมตร และมีลำตัวสีดำ คณะนักวิจัยจึงตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ให้มันว่า ไอเทง เอเตอร์ (Aiteng ater) ซึ่งเมื่ออ่านแล้วหลายคนอาจรู้สึกคุ้น ๆ เพราะชื่อสกุล Aiteng นั้น ตั้งตามชื่อตัวหนังตะลุงของปักษ์ใต้ที่ชื่อ "ไอ้เท่ง" นั่นเอง  ส่วนคำว่า ater นั้นมาจากภาษาละติน หมายถึง สีดำ  สาเหตุที่สิ่งมีชีวิตชนิดนี้ได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 10 สุดยอดสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ เนื่องจาก การค้นพบครั้งนี้ทำให้เกิดการจัดจำแนกวงศ์ของสิ่งมีชีวิตใหม่ คือ ไอเทงกิเด (Aitengidae)  และแม้ว่าทากทะเลชนิดนี้จะมีลักษณะหน้าตาคล้ายกับทากทะเลทั่วไป แต่มันกลับกินแมลงในระยะดักแด้เป็นอาหาร ซึ่งแตกต่างจากทากทะเลวงศ์อื่น ๆ ที่มักกินสาหร่ายเป็นอาหาร และมันยังสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ทั้งบนบกและในน้ำ คล้ายกับสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ซึ่งความพิเศษนี้พบได้น้อยมากในทากทะเลที่มีการค้นพบหรือมีการศึกษาอยู่ในปัจจุบัน

ที่มาของปีสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ

องค์การสหประชาชาติ ให้เหตุผลในการกำหนดให้มีปีสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ ไว้ดังนี้

ประการแรก เพราะมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของความหลากหลายทางชีวภาพ และมีพลังความสามารถที่จะปกป้องคุ้มครองหรือแม้แต่ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพได้

ประการที่สอง ความหลากหลายทางชีวภาพ หรือก็คือ ความแตกต่างหลากหลายของสิ่งมีชีวิตบนโลก เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการค้ำจุนสายสัมพันธ์และระบบของ

ความหลากหลายทางพันธุกรรมส่งผลต่อมนุษย์อย่างไร
สิ่งมีชีวิตบนโลก ซึ่งจะสนับสนุนและเอื้ออำนวยสภาพแวดล้อมที่ดี ความมั่งคั่ง อาหาร เชื้อเพลิง ตลอดจนปัจจัยอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตให้แก่พวกเรา

ประการที่สาม กิจกรรมของมนุษย์เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการสูญเสีย
ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างมากมายในอัตราที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เกิดการทำลายระบบค้ำจุนสิ่งมีชีวิตที่แม้แต่เราเองก็ต้องพึ่งพาอยู่ทุกวัน ซึ่งนั่นมีผลย้อนกลับมาทำให้มนุษย์มีคุณภาพชีวิตต่ำลง นอกจากนี้ ยังทำให้สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ มีความยืดหยุ่นต่อภาวะคุกคาม เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ลดน้อยลงด้วย แต่ใช่ว่าปัญหานี้ไม่มีทางออก เพราะมนุษย์สามารถช่วยกันป้องกัน
ไม่ให้เกิดความสูญเสียดังกล่าวได้

ประการที่สี่ ปีสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ จะทำให้เราได้หันกลับไปทบทวนถึงความสำเร็จที่ผ่านมาในการปกป้องคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ และให้ความสำคัญกับความท้าทายอันเร่งด่วนที่กำลังรออยู่ในอนาคต  และขณะนี้ ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนจะต้องเริ่มลงมือทำตั้งแต่บัดนี้

ความหลากหลายทางชีวภาพนั้น... สำคัญไฉน

ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biological Diversity หรือ Biodiversity) เป็นคำนิยามที่หมายถึง ความแตกต่างหลากหลายของสิ่งมีชีวิตบนโลก และรูปแบบทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นจากความหลากหลายดังกล่าว  ความหลากหลายทางชีวภาพที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้ เป็นผลผลิตจากวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตที่เกิดต่อเนื่องมานับพันล้านปี โดยมีกระบวนการทางธรรมชาติเป็นตัวควบคุม ซึ่งในระยะหลังได้มีอิทธิพลของมนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย  ความหลากหลายทางชีวภาพก่อให้เกิดสายใยของชีวิต ที่มนุษย์เราเองก็เป็นส่วนหนึ่งของสายใยนี้และต่างต้องพึ่งพาอาศัยในการดำรงชีวิต

ปัจจุบัน มีสิ่งมีชีวิตที่ได้รับการจัดจำแนกแล้วประมาณ 1.75 ล้านชนิด โดยส่วนใหญ่เป็นสัตว์ขนาดเล็ก เช่น แมลง  อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่า จริง ๆ แล้ว โลกใบนี้น่าจะมีสิ่งมีชีวิตอยู่มากถึงประมาณ 13 ล้านชนิดเลยทีเดียว

เมื่อกล่าวถึงความหลากหลายทางชีวภาพ คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าคือ ความหลากหลายของชนิดพืช สัตว์ และจุลินทรีย์  แต่แท้จริงแล้ว ความหลากหลายทางชีวภาพ ยังหมายรวมถึง ความแตกต่างของพันธุกรรมภายในสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวกัน ตลอดจนความหลากหลายของระบบนิเวศ เช่น ทะเลทราย ป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ ภูเขา ทะเลสาบ แม่น้ำ ทะเล หรือแม้แต่พื้นที่เกษตรกรรม โดยในแต่ละระบบนิเวศจะมีสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ (รวมถึงมนุษย์) อยู่ร่วมกันเป็นสังคม มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน รวมทั้งมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งไม่มีชีวิตอื่น ๆ ที่อยู่รอบตัว ทั้งอากาศ น้ำ และดินด้วย

ความหลากหลายทางพันธุกรรมส่งผลต่อมนุษย์อย่างไร

ตัวอย่างความหลากหลายทางชีวภาพ  มาจาก http://www.cbd.int/2010

ปฏิสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตด้วยกันเอง และระหว่างสิ่งมี  ชีวิตกับสิ่งแวดล้อม ช่วยรังสรรค์ให้โลกใบนี้เป็นถิ่นที่อยู่ที่มีลักษณะเฉพาะและเหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ รวมทั้งมนุษย์อย่างเรา ๆ ด้วย  ความหลากหลายทางชีวภาพได้ให้ทั้งผลผลิตและปัจจัยค้ำจุนสนับสนุนการอยู่รอดของเรา  ดังนั้น การปกป้องคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพจึงเป็นผลประโยชน์ต่อเราโดยตรง

ทรัพยากรชีวภาพนั้นเปรียบเสมือนเสาหลักที่เป็นรากฐานของการพัฒนา  ผลผลิตจากธรรมชาติถูกนำมาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย เช่น อุตสาหกรรมการเกษตร เครื่องสำอาง เภสัชกรรม เยื่อและกระดาษ การเพาะเลี้ยงพืชสวน การก่อสร้าง และการบำบัดของเสีย  นอกจากการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพจะก่อให้เกิดผลกระทบโดยตรงต่อกลไลการทำงานของระบบนิเวศแล้ว มันยังมีผลคุกคามต่อแหล่งอาหารของเรา แหล่งผลผลิตป่าไม้ ยารักษาโรค และพลังงาน รวมทั้งศักยภาพของพื้นที่ในการเป็นแหล่งท่องเที่ยวและพัก ผ่อนหย่อนใจด้วย

ขณะนี้ ความต้องการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติที่ครั้งหนึ่งเราเคยละเลยหรือหลงลืมไปกำลังย้อนกลับคืนมาอีกครั้ง  ดังจะเห็นได้จากการที่เราหันกลับไปหาการรักษาโรคด้วยวิธีธรรมชาติบำบัด การสกัดหายีนที่ต้านทานโรคและแมลงจากพืชป่าหรือพืชดั้งเดิมในท้องถิ่น เพื่อนำไปใช้ปรับปรุงพันธุ์พืชเกษตรให้รอดพ้นจากการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืช

บทบาทของธรรมชาติและระบบนิเวศในการค้ำจุนและสนับสนุนสิ่งต่าง ๆ นั้นมีอยู่มากมาย และไม่สามารถจะลอกเลียนหรือสร้างขึ้นใหม่ทดแทนให้ยิ่งใหญ่เท่ากับที่ธรรมชาติเป็นอยู่ได้ เช่น กลไกการควบคุมศัตรูพืชตามธรรมชาติโดยการกินต่อกันเป็นทอด ๆ ผ่านสายใยอาหาร หรือการผสมละอองเรณูโดยแมลงและนกที่เกิดขึ้นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันและเป็นเช่นนี้ทั่วโลก  ตัวอย่างอื่น ๆ ที่แสดงถึงบทบาทและการให้บริการของระบบนิเวศ เช่น เป็นแหล่งอาหาร เชื้อเพลิง และเส้นใยต่าง ๆ เป็นแหล่งวัสดุสำหรับปลูกสร้างอาคารบ้านเรือนและสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ช่วยปรับปรุงคุณภาพน้ำและอากาศให้สะอาด กรองสารพิษและย่อยสลายของเสียต่าง ๆ ควบคุมระบบภูมิอากาศโลกให้พอเหมาะและเสถียร ควบคุมการเกิดน้ำท่วม ภาวะแห้งแล้ง พายุ และการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิอากาศอย่างฉับพลันรุนแรง สร้างและฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดินและทำให้เกิดการหมุนเวียนธาตุอาหาร ช่วยผสมละอองเรณูให้แก่พืชในธรรมชาติและพืชเกษตร ควบคุมแมลงศัตรูพืชและโรคระบาด ธำรงรักษาทรัพยากรพันธุกรรมซึ่งจะมีประโยชน์ต่อการพัฒนาพันธุ์และความหลากหลายของพืชเกษตรและปศุสัตว์ การผลิตยารักษาโรค และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ อีกทั้งยังให้ประโยชน์ทางวัฒนธรรมและสุนทรียภาพ และความสามารถ

ทำไมเราถึงสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพไป

เมื่อกล่าวถึงภัยอันตรายที่คุกคามธรรมชาติ ผู้คนทั่วไปมักนึกถึงการสูญพันธุ์หรือลดลงของสิ่งมีชีวิตชนิดต่าง ๆ เป็นอันดับแรก ๆ โดยเฉพาะสัตว์ซึ่งอยู่ในความสนใจและเป็นที่รู้จักกันดี ไม่ว่าจะเป็นหมีแพนด้า เสือ ช้าง วาฬ หรือนกชนิดต่าง ๆ

ปัจจุบัน สิ่งมีชีวิตในธรรมชาติกำลังมีจำนวนลดลงอย่างน่าใจหาย คิดเป็นอัตราสูงถึง 1,000 เท่า เมื่อเทียบกับอัตราการสูญพันธุ์ตามธรรมชาติ และสถานการณ์ปัญหานี้ก็มีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้นเสียด้วย  คาดว่ามีพืชประมาณ 34,000 ชนิด และสัตว์อีก 5,200 ชนิด (โดยเป็นนกถึง 1 ใน 8) ที่กำลังเผชิญกับภาวะสูญพันธุ์  นอกจากนี้ ตลอดระยะเวลากว่า 4,000 ปี ที่มนุษย์ได้พัฒนาและปรับปรุงพันธุ์พืชและสัตว์เพื่อผลิตเป็นอาหารและการค้าโดยให้ความสำคัญกับพันธุ์พืชและสัตว์เพียงไม่กี่ชนิด ได้ส่งผลให้สิ่งมีชีวิตชนิดพันธุ์ท้องถิ่นดั้งเดิมถูกละเลยและสูญหายไปเป็นจำนวนมาก  ตัวอย่างหนึ่งของประเทศไทย คือ การลดน้อยหรือสูญหายไปของพันธุ์ทุเรียนพื้นเมืองหลายชนิด

สาเหตุสำคัญที่กำลังคุกคามความหลากหลายทางชีวภาพ

  • การสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ธรรมชาติไปใช้ประโยชน์ในกิจกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะการเพาะปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์

  • การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศอย่างไม่ยั่งยืน และการใช้ทรัพยากรชีวภาพมากเกินพอดี

  • การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นปัญหาสำคัญอีกประการที่จะส่งผลคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพอย่างมากในระยะไม่กี่สิบปีข้างหน้า  โดยสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในขณะนี้ก็คือ รูปแบบการผลิใบและออกดอกของพืช รวมทั้งการอพยพของสัตว์ได้เปลี่ยนแปลงไป  ส่วนพื้นที่การกระจายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตก็เปลี่ยนไปจากเดิมเช่นกัน

  • สิ่งมีชีวิตที่เป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่น ที่ถูกนำเข้ามาในระบบนิเวศทั้งจากการคมนาคมขนส่งที่กระจายเข้าไปยังพื้นที่ต่าง ๆ และโดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์  สิ่งมีชีวิตเหล่านี้จะรุกรานสิ่งมีชีวิตท้องถิ่นดั้งเดิม เช่น แก่งแย่งอาหาร ล่าสิ่งมีชีวิตดั้งเดิมเป็นอาหาร แพร่โรค หรือผสมพันธุ์กับสิ่งมีชีวิตดั้งเดิม ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม

  • มลพิษต่าง ๆ เช่น ธาตุอาหารส่วนเกินที่ถูกชะล้างจากพื้นที่เกษตรกรรม และน้ำทิ้งจากชุมชน ทำให้เกิดการเจริญเติบโตของสาหร่ายและพืชน้ำอย่างรวดเร็ว  ทำให้ปริมาณออกซิเจนในแหล่งน้ำลดต่ำลงจนเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ในแหล่งน้ำ

ในขณะที่ปัญหาการลดลงของสิ่งมีชีวิตกำลังถูกจับจ้อง อีกด้านหนึ่ง ป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ แนวปะการัง และระบบนิเวศอีกเป็นจำนวนมากก็กำลังถูกบุกรุกและแบ่งแยกให้กลายเป็นพื้นที่ขนาดเล็ก ๆ ทำให้ระบบนิเวศขาดความต่อเนื่องกัน หรือไม่ก็กำลังมีสภาพที่เสื่อมโทรมลง หรือถูกทำลายไปอย่างสิ้นเชิง ซึ่งทั้งหมดล้วนส่งผลให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ

ใคร ๆ ต่างก็รู้ดีว่า ป่าไม้คือแหล่งรวบรวมความหลากหลายทางชีวภาพบนบกที่สำคัญ แต่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 ที่ผ่านมา โลกกลับต้องสูญเสียพื้นที่ป่าไปกว่าร้อยละ 45 ของพื้นที่ทั้งหมด โดยเฉพาะป่าไม้เขตร้อน

แนวปะการังที่ขึ้นชื่อว่า เป็นแหล่งรวบรวมความหลากหลายทางชีวภาพไว้มากที่สุด ก็ถูกทำลายไปไม่น้อยกว่าร้อยละ 10  ส่วนอีกประมาณ 1 ใน 3 ของที่เหลืออยู่ก็มีแนวโน้มที่จะล่มสลายไปในอีก 20-30 ปีข้างหน้า  นอกจากนี้ ป่าชายเลนตามแนวชายฝั่งทะเลซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์และอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนที่สำคัญก็กำลังตกอยู่ในภาวะเสี่ยงเช่นกัน โดยพื้นที่ป่าชายเลนประมาณครึ่งหนึ่งของโลกได้ถูกทำลายไปแล้ว

การเปลี่ยนแปลงของบรรยากาศโลก เช่น รูโหว่ของชั้นโอโซน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก็เป็นอีกปัญหาที่คุกคามความหลากหลายทางชีวภาพ  การลดลงของชั้นโอโซนทำให้รังสีอัลตราไวโอเลต ชนิดบี ส่องผ่านลงมายังผิวโลกได้มากขึ้น ซึ่งรังสีชนิดนี้เป็นอันตรายต่อเนื้อเยื่อของสิ่งมีชีวิต  ส่วน ภาวะโลกร้อนก็ทำให้ถิ่นที่อยู่และการกระจายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตเปลี่ยนแปลงไป

นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า การที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นแค่ 1 องศาเซลเซียส อาจดูไม่มากนัก แต่หากการเพิ่มขึ้นนั้นเกิดอย่างฉับพลัน ก็อาจทำให้สิ่งมีชีวิตหลายชนิดตกอยู่ในสภาพวิกฤติได้  นอกจากนี้ ระบบการผลิตอาหารของมนุษย์ก็จะได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน

การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพจะทำให้ผลผลิตของระบบนิเวศลดลง ทำให้ระบบนิเวศไม่มั่นคงและมีความสามารถในการรองรับภัยพิบัติทางธรรมชาติต่าง ๆ ลดลง ไม่ว่าจะเป็นภัยจากพายุ น้ำท่วม ภาวะแห้งแล้ง รวมทั้งภัยคุกคามที่เป็นผลจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น มลพิษต่าง ๆ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  ปัจจุบัน เราต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมากเพื่อรับมือและแก้ไขเยียวยาผลกระทบจากพายุ น้ำท่วม แผ่นดินถล่ม การกร่อนและการสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ของดิน ซึ่งเป็นผลมาจากการตัดไม้ทำลายป่า  คาดกันว่าในอนาคต ภาวะโลกร้อนจะยิ่งทำให้ผลกระทบที่ว่านี้รุนแรงมากขึ้นกว่าเดิมอีก

ปรัชญาใหม่

ในปี ค.ศ.1992 ได้มีการประชุมผู้นำโลกครั้งใหญ่ คือ การประชุมสหประชาชาติ ว่าด้วย สิ่งแวดล้อมและการพัฒนา หรือเรียกอีกชื่อว่า “เอิร์ทซัมมิท” ณ เมืองริโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล  การประชุมครั้งนั้นทำให้เกิดความตกลงระหว่างประเทศที่สำคัญ 2 ฉบับ คือ กรอบอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีเป้าหมายในการควบคุมและลดการปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจก และอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ อันเป็นความตกลงระดับโลกฉบับแรกที่กล่าวถึงการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน ซึ่งนานาประเทศต่างก็ให้การยอมรับกันถ้วนหน้า โดยมีรัฐบาลของกว่า 150 ประเทศร่วมลงนามรับรอง ณ การประชุมดังกล่าว ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย  ต่อมา ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันในอนุสัญญาฉบับนี้ เมื่อ 31 ตุลาคม ค.ศ.2003 และมีผลรับรองเมื่อ 29 มกราคม ค.ศ.2004 เป็นประเทศภาคีอนุสัญญาในลำดับที่ 188  ปัจจุบันมีประเทศร่วมเป็นภาคีสมาชิกของอนุสัญญาฉบับนี้ทั้งหมด 193 ประเทศ

อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ มีเป้าหมายหลัก 3 ประการ ได้แก่

(1) การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ

(2) การใช้ประโยชน์จากองค์ประกอบของความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน

(3) การแบ่งปันผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมอย่างยุติธรรมและเท่าเทียม

อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นความตกลงระหว่างประเทศฉบับแรกที่ตระหนักว่า การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพนั้นเป็น “ความตระหนักร่วมกันของมวลมนุษยชาติ” และเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่จำเป็นต้องมีในกระบวนการพัฒนา

แม้การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตจะเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว แต่ปัจจุบัน กิจกรรมของมนุษย์ได้ทำให้เกิดการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตอย่างน่าใจหาย  ที่สำคัญก็คือ สิ่งที่เราสูญเสียไปนั้นไม่สามารถจะสร้างใหม่หรือเรียกย้อนคืนกลับมาได้  นี่จึงอาจเป็นวิกฤตการณ์การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตขนานใหญ่อีกครั้ง นับตั้งแต่เราสูญเสียไดโนเสาร์และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ไปจากภัยธรรมชาติครั้งใหญ่เมื่อประมาณ 65 ล้านปีก่อน

ด้วยเหตุนี้ ปีสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ จึงเป็นโอกาสพิเศษที่จะช่วยทำให้ทุกคนหันกลับมาทำความเข้าใจถึงบทบาทอันสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพในการค้ำจุนและสนับสนุนทุก ๆ ชีวิตบนโลก เพราะเราไม่ควรปล่อยให้มีสิ่งมีชีวิตชนิดใดต้องสูญพันธุ์ไปอีก แม้เพียงชนิดเดียว

เราจะทำอะไรกันได้บ้าง

รัฐบาลในฐานะผู้บริหารประเทศต้องสวมบทบาทเป็นผู้นำในการดำเนินงาน เพื่อจะกำหนดระเบียบและแนวทางที่ชัดเจนในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนการปกป้องคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ  ซึ่งภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity) ประเทศภาคีของอนุสัญญาจะต้องจัดให้มีการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน โดยต้องจัดทำกลยุทธ์และแผนปฏิบัติการความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติขึ้น และบูรณาการกลยุทธ์และแผนปฏิบัติการที่ได้พัฒนาขึ้นกับนโยบายและแผนด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาในระดับชาติ โดยเฉพาะในภาคส่วนที่สำคัญ เช่น ป่าไม้ การเกษตร การประมง พลังงาน การคมนาคมขนส่ง และการวางผังเมือง  อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพยังมีพันธกรณีอื่น ๆ อีก ได้แก่

  • ระบุและติดตามตรวจสอบองค์ประกอบที่สำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพที่จำเป็นต้องได้รับการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน
  • จัดตั้งพื้นที่คุ้มครองเพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ พร้อมทั้งส่งเสริมการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในบริเวณโดยรอบพื้นที่คุ้มครองดังกล่าว
  • ฟื้นฟูสภาพระบบนิเวศที่เสื่อมโทรม และส่งเสริมการฟื้นฟูสิ่งมีชีวิตที่ตกอยู่ในภาวะถูกคุกคาม โดยร่วมมือกับชุมชนท้องถิ่น
  • ให้ความเคารพ สงวนรักษา และธำรงภูมิปัญญาและความรู้พื้นบ้านในการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน โดยเปิดโอกาสให้ผู้คนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม
  • ป้องกันการนำเข้า ควบคุม และกำจัดสิ่งมีชีวิตที่เป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่อาจคุกคามระบบนิเวศ ถิ่นที่อยู่ หรือสิ่งมีชีวิตดั้งเดิม
  • ควบคุมความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากสิ่งมีชีวิตที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรมด้วยเทคโนโลยีทางชีวภาพ
  • ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระบวนการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการพัฒนาที่อาจส่งผลคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพ
  • เสริมสร้างความรู้และความตระหนักแก่ประชาชนเกี่ยวกับความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ และความจำเป็นของการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ
  • รายงานผลการดำเนินงานของประเทศว่าเป็นไปตามเป้าหมายด้านความหลากหลายทางชีวภาพในระดับใด

ความสำเร็จในการปกป้องคุ้มครอง อนุรักษ์ และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืนจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากภาครัฐเป็นผู้ที่ดำเนินการอยู่เพียงฝ่ายเดียว จึงจำเป็นที่ทุกภาคส่วนในสังคมจะต้องมีส่วนร่วมและร่วมมือกันทำ  ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม เราทุกคนทั่วทั้งโลกจะต้องพิจารณาว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังและจำเป็นเพียงใดที่จะต้องอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน  หากเห็นแล้ว... ก็ลงมือทำกันเลย!

ยังครับ... ยังไม่จบ  สำหรับผู้อ่านส่วนใหญ่ของนิตยสาร สสวท. ที่เป็นครู นักเรียน หรือผู้ที่อยู่ในแวดวงการศึกษาล่ะ จะทำอะไรกันได้บ้าง  ธรรมชาติในท้องถิ่นที่อยู่รอบ ๆ ตัวนั้น ถือเป็นแหล่งเรียนรู้ชั้นยอดเลยทีเดียว มีความรู้รอเราอยู่ในธรรมชาติมากมาย  หากลองออกไปสังเกตและสัมผัสกับธรรมชาติในท้องถิ่น เชื่อว่าทุกคนคงจะได้แนวคิดดี ๆ และแรงบันดาลใจกลับมากันไม่มากก็น้อย (หรืออย่างน้อย ๆ ก็ต้องได้สุนทรียภาพกลับมากันบ้างล่ะน่า)  และต่อไปนี้คือแนวคิดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่นำมาฝากกัน

เรียนรู้... ลองออกไปสำรวจและจำแนกความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในระบบธรรมชาติที่เราสนใจ แล้วเขียนแผนภาพเชื่อมโยงบทบาทและหน้าที่ของสิ่งมีชีวิตชนิดต่าง ๆ ที่สำรวจพบ  จากนั้น ลองสืบเสาะหาความรู้ต่อไปว่า สิ่งมีชีวิตเหล่านั้นดำรงชีวิตอยู่ได้ในปัจจัยสภาพแวดล้อมแบบใด เพียงเท่านี้ก็จะเห็นและเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตด้วยกัน และความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตกับสิ่งแวดล้อมได้ไม่ยาก  ในระยะยาว หากได้ติดตามการเปลี่ยนแปลงความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตเป็นระยะ ควบคู่ไปกับการศึกษาปัจจัยสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ก็อาจเห็นถึงผลกระทบจากการใช้ประโยชน์ การเปลี่ยนแปลงถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติ หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่มีต่อความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตได้

บอกเล่า... ลองบอกเล่าคุณค่า ความสำคัญ และแนวคิดในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในท้องถิ่นผ่านการจัดนิทรรศการในโรงเรียน เขียนบอกเล่าไปยังสื่อสารมวลชนในท้องถิ่นหรือแม้แต่ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  สนทนาแลกเปลี่ยนความรู้และแนวคิดกับผู้คนรอบข้าง  หรือจะลองเขียนมาที่นิตยสาร สสวท. ก็ไม่ว่ากัน

ลงมือทำ... คิดก่อนใช้ทรัพยากร (จะได้ใช้น้อยลง และใช้อย่างมีสติ)  ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงคือหลักในการดำเนินชีวิตที่ดี ที่เราควรยึดมั่น  ติดตามข่าวสารและร่วมกิจกรรมการอนุรักษ์คุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพที่หน่วยงานต่าง ๆ จัดขึ้น  ร่วมกับเพื่อน ๆ ริเริ่มโครงการรณรงค์เพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพขึ้นในโรงเรียนหรือชุมชน ใช้ความคิดสร้างสรรค์ให้เต็มที่เพื่อหาวิธีลดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพที่เราพอจะทำได้  สุดท้าย... ส่งเรื่องราว ภาพ เสียง วิดีโอ บอกเล่าให้ผู้คนทั่วโลกได้รู้ เพื่อแลกเปลี่ยนข่าวสารและแบ่งปันแรงบันดาลใจให้กัน โดยอาจจะสื่อสารกันผ่านเครือข่ายสังคมทางอินเทอร์เน็ตที่กำลังเป็นที่นิยมอยู่ในขณะนี้ก็ได้ (แทนที่จะเข้าไปสนทนา โพสต์รูป ปลูกผักเก็บหญ้า หรือทำกับข้าวทำขนมกันเพียงเท่านั้นไง)


ข้อมูลประกอบจาก

“2010 International Year of Biodiversity.” (Online). Available : http://www.cbd.int/2010. (Retrieve 25/05/10)

“ปีสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ ประเทศไทย.” (Online). Available : http://chm-thai.onep.go.th/2010/index.html. (Retrieve 25/05/10)

“มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.” (Online). Available : http://www.psu.ac.th/en/node/2227. (Retrieve 31/05/10)

“International Institute for Species Exploration.” (Online). Available : http://species.asu.edu/2010_species04. (Retrieve 31/05/10)