ตัวอย่างผลงานที่ประสบความสําเร็จ ท้องถิ่น

สรุปและเรียบเรียงจาก วิมล ชาตะมีนา, วชิรา วราศรัย และ รุ่งทิพย์ จินดาพล (2551)  ปัจจัยแห่งความสำเร็จในการบริหารจัดการและดำเนินโครงการของอบจ.แพร่และของ อบจ.พิษณุโลก รายงานวิจัยเลขที่RDG5040021., สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย. (มรุต วันทนากร สรุปและเรียบเรียง)

1. บทนำ

Policy Brief ฉบับนี้เรียบเรียงขึ้นจากงานวิจัยหลักเรื่องปัจจัยแห่งความสำเร็จในการบริหารจัดการและดำเนินโครงการขององค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่และขององค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก และงานวิจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกอย่างน้อย 3 งานวิจัย ได้แก่ นวัตกรรมสร้างสรรค์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น / Best Practices ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความเป็นเลิศด้านความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมของประชาชน และ งานวิจัยในโครงการธรรมาภิบาลด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น : ศึกษาการริเริ่มของท้องถิ่น กระบวนการนโยบาย และปัจจัยสู่ความสำเร็จ 

คุณูปการของงานวิจัยเหล่านี้คือ ได้นำเสนอปัจจัยแห่งความสำเร็จในการบริหารจัดการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในด้านต่างๆ  และ Policy Brief ฉบับนี้จะเน้นถอดบทเรียนปัจจัยแห่งความสำเร็จเหล่านั้น ทั้งนี้เพื่อ

•    เป็นตัวอย่างให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น นำเอาประสบการณ์และบทเรียนในเรื่องการบริหารจัดการ ไปใช้ในการบริหารจัดการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตน

•    ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นย่นระยะเวลาการทำงานของตน ไม่ต้องเสียเวลาในการลองผิดลองถูก ซึ่งจะทำให้การดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประสบความสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว

•    เป็นการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้และการช่วยเหลือกันระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยยกระดับความรู้ความสามารถในการบริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม การนำบทเรียนจากโครงการ/งานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งใดแห่งหนึ่งไปประยุกต์ใช้ จำเป็นจะต้องทำการศึกษาและวิเคราะห์ให้ชัดเจนว่าโครงการ/งานเหล่านั้นประสบความสำเร็จได้ด้วยปัจจัยที่เฉพาะเจาะจงหรือไม่ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆสามารถนำบทเรียนเหล่านั้นไปใช้ได้ทั้งหมดหรือประยุกต์ใช้ได้เพียงบางส่วน ซึ่งอาจจะต้องคำนึงถึงปัจจัยแวดล้อมอื่นๆประกอบด้วย

 

2. เหตุผลและความจำเป็นของการศึกษาการพัฒนาความสามารถทางการบริหารจัดการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ข้อมูลจาก สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ปี .. 2550 พบว่า นับตั้งแต่ที่ได้มีการบังคับใช้พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น .. 2542 เป็นต้นมา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีรายได้รวมที่สามารถนำมาพัฒนาท้องถิ่นของตนเองเพิ่มขึ้นตามลำดับอย่างมีนัยสำคัญ โดยในปีงบประมาณ 2542 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีรายได้รวม 100,805 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 14.22 ของรายได้รัฐบาล และในปีงบประมาณ 2549 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีรายได้รวม 327,113 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 24.42 ของรายได้รัฐบาล กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ในช่วง 7 ปี ที่ผ่านมาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัว

ไม่เพียงแต่รายได้เท่านั้น อำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็มากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งเป็นไปตามแผนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะงานที่ได้มีการถ่ายโอนจากหน่วยราชการส่วนภูมิภาค เช่น งานบริการการศึกษา งานบริการสาธารณสุข และงานทะเบียนต่างๆ เป็นต้น

เมื่ออำนาจหน้าที่ ความรับผิดชอบ และรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเช่นนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงมีความจำเป็นต้องมีความพร้อมในการบริหารจัดการรายได้และความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นด้วย ทั้งนี้เพื่อให้การบริหารจัดการด้านต่างๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และมีผลงานที่มีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับของประชาชนในท้องถิ่นและสาธารณะชนทั่วไป

อย่างไรก็ตาม มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวนหนึ่งเท่านั้น ที่สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้ โดยพัฒนาการบริหารจัดการภายในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของตนเอง (ดังจะเห็นได้จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเหล่านั้นได้รับรางวัลในการบริหารจัดการที่ดีจากกระทรวงมหาดไทยและสำนักงานคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) ในขณะเดียวกันก็มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้ กล่าวคือ ยังไม่มีการพัฒนาการบริหารจัดการภายในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ดีพอจึงส่งผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพ ประสิทธิผลและความพึงพอใจของประชาชนท้องถิ่น

ดังนั้น การศึกษาถึงการพัฒนาการความสามารถทางการบริหารจัดการ และปัจจัยแห่งความสำเร็จในการบริหารจัดการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ประสบความสำเร็จ จึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆ สามารถนำประสบการณ์และบทเรียนเหล่านั้น มาเป็นตัวอย่างในการบริหารจัดการได้เป็นอย่างดี

ในการพัฒนาความสามารถทางการบริหารจัดการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่นและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำเป็นต้องพัฒนาความสามารถในการบริหารขององค์กรอย่างน้อย 4 ด้าน ประกอบด้วย ความสามารถด้านการพัฒนาท้องถิ่น ความสามารถด้านพัฒนาองค์กร ความสามารถด้านการบริหารการเงินการคลัง และความสามารถในการบริหารการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งมิติทั้ง 4 ด้านนี้มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงซึ่งกันและกัน และถือเป็นหัวใจของการบริหารจัดการองค์กรปกครองท้องถิ่นยุคใหม่

นอกจากนี้ ความสำเร็จในการบริหารจัดการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังจะต้องเกิดขึ้นใน 2 ระดับ ได้แก่ ความสำเร็จในการบริหารจัดการระดับโครงการ และ ความสำเร็จในการบริหารจัดการระดับองค์กร ซึ่งความสำเร็จทั้ง 2 ระดับนี้ จะมีส่วนเกื้อหนุนและส่งเสริมกันและกัน กล่าวคือ หากสร้างความสำเร็จในระดับโครงการได้ก็จะมีผลทำให้การบริหารจัดการในระดับองค์กรประสบความสำเร็จตามไปด้วย และในขณะเดียวกัน หากมีความสามารถในการบริหารระดับองค์กรภาพรวมประสบความสำเร็จ ก็จะมีผลให้การบริหารโครงการต่างๆ ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดทำขึ้นมีผลสำเร็จลุล่วงได้ง่ายเช่นกัน

วีระศักดิ์ เครือเทพ, นวัตกรรมสร้างสรรค์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, (กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย), 2548

อรทัย ก๊กผล, Best practices ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความเป็นเลิศด้านความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมของประชาชน, (นนทบุรี : วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น สถาบันพระปกเกล้า), 2546

โครงการธรรมาภิบาลด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, คู่มือและหลักสูตรการฝึกอบรมกระบวนการนโยบายธรรมาภิบาลด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภายใต้โครงการธรรมาภิบาลด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น : ศึกษาการริเริ่มของท้องถิ่น กระบวนการนโยบาย และปัจจัยสู่ความสำเร็จ, (กรุงเทพฯ : คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์), 2550

 

2.1 ปัจจัยแห่งความสำเร็จในการบริหารจัดการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ในระดับองค์กร)

•    ปัจจัยแห่งความสำเร็จในการบริหารจัดการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ในระดับองค์กร) มีอยู่ด้วยกัน 7 ประการ ได้แก่

  1. (1)    มีการกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจและยุทธศาสตร์ในการพัฒนาท้องถิ่น 

        องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องมีการทำการวิเคราะห์หาจุดอ่อนจุดแข็ง (SWOT  Analysis) ขององค์กร โดยการระดมความคิดเห็นจากบุคลากรในองค์กร เพื่อให้บุคลากรในองค์กรมีทิศทางในการปฏิบัติงานที่มุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน โดยการวิเคราะห์ปัญหาอุปสรรคที่จะเกิดขึ้นและเสนอแนะแนวทางแก้ไขร่วมกัน ทั้งนี้ได้คำนึงถึงสภาพภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ สภาพแวดล้อม และวัฒนธรรมในการกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ และยุทธศาสตร์  นอกจากนั้นแล้วยังต้องคำนึงถึงยุทธศาสตร์และเป้าหมายของการดำเนินงานของจังหวัด เพื่อให้การดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นไปในทิศทางเดียวกันและสอดคล้องกับแผนพัฒนาในระดับที่สูงกว่า

    (2)  การสร้างความรู้ ความเข้าใจและถ่ายทอดประสบการณ์ให้แก่บุคลากรในองค์กร

ผู้บริหารขององค์กรทั้งฝ่ายการเมืองและข้าราชการประจำจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ โดยผู้บริหารได้นำเอาพื้นฐานความรู้และประสบการณ์เชิงธุรกิจมาประยุกต์ใช้กับการบริหารองค์กร รวมทั้งมีแนวความคิดในเรื่องการกระจายอำนาจการปกครองท้องถิ่นที่เป็นอิสระมุ่งสู่การรับใช้ประชาชนมาถ่ายทอดความรู้และมุมมองให้แก่บุคลากรในองค์กร เพื่อให้ทุกคนมีความรู้และมุมมองในการดำเนินงานเปิดกว้างและไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งเป็นการเพิ่มศักยภาพการทำงานให้แก่บุคลากร

    (3)  การส่งเสริมให้เกิดการทำงานร่วมกัน

มีการส่งเสริมการทำการงานอย่างบูรณาการ โดยการทำงานร่วมกันระหว่างกอง/ฝ่ายต่างๆ หรือส่งเสริมการทำงานเป็นทีม มีการใช้ทรัพยากรร่วมกัน เพื่อก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานสูงสุด เช่น ในการจัดเก็บภาษีอากร กองคลัง ต้องประสานงานให้ผู้ช่วยพัฒนาชุมชนกองส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ทำงานในพื้นที่ช่วยจัดเก็บภาษีให้ หรือประสานงานให้เจ้าหน้าที่ศูนย์ประสานงานอำเภอจัดเก็บภาษีให้ นอกจากนี้ยังต้องมีการทำงานร่วมกันระหว่างนักการเมือง ข้าราชการ และประชาชน และทำงานเป็นทีมจากหน่วยงานภายในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อเพิ่มศักยภาพการทำงาน

    (4)  ลักษณะผู้บริหารมีภาวะความเป็นผู้นำ

ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องมีลักษณะความเป็นผู้นำสูง มีความรู้ความสามารถ กล้าคิด กล้าเปลี่ยนแปลง กล้ารับผิดชอบในการตัดสินใจในการดำเนินงาน มีความมุ่งมั่นในการทำงาน กระตือรือร้น ใฝ่เรียนรู้ คิดเร็ว ทำเร็ว และมีความคิดริเริ่มในโครงการใหม่ๆ หรือนวัตกรรมเสมอ โดยนำความรู้และประสบการณ์มาประยุกต์ใช้กับการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นอกจากนั้นผู้บริหารยังต้องมีทัศนคติที่เปิดกว้าง รับรู้ รับฟังสิ่งใหม่อยู่ตลอดเวลา ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น มีความเสียสละ และอุทิศตนในการทำงานเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น 

    (5)  บุคลากรในองค์กรมีความรู้ความสามารถและมีความรับผิดชอบ

ต้องมีการส่งเสริมให้บุคลากรในองค์กรได้เข้ารับการอบรมและศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น ทำให้บุคลากรสามารถนำความรู้ที่ได้รับมาพัฒนาการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนั้นบุคลากรในระดับปฏิบัติงานต้องมีความรอบรู้ มีความกระตือรือร้นในการทำงาน มีความรับผิดชอบสูง และอุทิศตน ทุ่มเทการทำงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายขององค์กร รวมทั้งบุคลากรยังต้องมีความคล่องตัวในการยอมรับกับการเปลี่ยนแปลง มีการเรียนรู้และถ่ายทอดประสบการณ์ร่วมกัน 

    (6)  การบริหารงานที่มีความคล่องตัว

ส่งเสริมให้องค์กรมีการบริหารงานที่มีความคล่องตัว โดยการมอบหมายหน้าที่ความรับผิดชอบ เพื่อลดขั้นตอนในการทำงานให้สั้นลง ทั้งนี้ผู้บริหารจะเป็นผู้กำหนดนโยบายหรือทิศทางการทำงาน ในขณะที่ผู้ปฏิบัติงานจะต้องนำแผนและนโยบายลงสู่การปฏิบัติ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายขององค์กร หากผู้ปฏิบัติงานมีปัญหาอุปสรรคในการทำงานจะร่วมกันแก้ไขปัญหาระหว่างผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงาน โดยมีการประชุมร่วมกันระหว่างผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานเป็นประจำ

    (7)  การรับฟังความคิดเห็นจากภายนอก

ในการพัฒนาการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภายนอก ได้แก่ ผู้ที่มีความรู้ความชำนาญเฉพาะด้าน เพื่อช่วยในการเสริมสร้างความรู้ความสามารถให้แก่บุคลากรภายในองค์กรและเสนอแนะแนวทางในการดำเนินงานและโครงการ เช่น การตั้งสภาที่ปรึกษา รวมทั้งการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถบริหารงานและเสนอโครงการตรงตามความต้องการของประชาชน เพื่อให้ประชาชนเกิดความพึงพอใจมากที่สุด นอกจากนั้นยังเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและบุคคลภายนอก เช่น การจัดตั้งสถาบันพัฒนาผู้นำท้องถิ่น โดยมีวิทยากรและผู้ทรงคุณวุฒิมาให้ความรู้และร่วมมือในการดำเนินโครงการ รวมทั้งการศึกษาดูงานหรือโครงการที่ดีและประสบความสำเร็จ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับองค์กรของตน

 

2.2 ปัจจัยแห่งความสำเร็จในการบริหารจัดการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ในระดับโครงการ)

•    ปัจจัยแห่งความสำเร็จในการบริหารจัดการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีอยู่ด้วยกัน 5 ประการ ได้แก่

    (1)  การให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการ

โครงการที่ประสบความสำเร็จจะต้องเป็นโครงการที่ได้รับความสนใจและความร่วมมือจากประชาชน การที่จะทำให้ประชาชนสนใจและร่วมมือได้ ประชาชนจะต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดและดำเนินโครงการ เพื่อให้ได้โครงการที่ประชาชนต้องการและพึงพอใจมากที่สุด ดังนั้นก่อนที่จะเริ่มโครงการใดใดผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานจะต้องสอบถามและรับฟังความคิดเห็นหรือความต้องการของประชาชน เช่น โครงการเสริมสร้างสุขภาพดีถ้วนหน้า โครงการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิต และโครงการส่งเสริมสนับสนุนศิลปวัฒนธรรม ประเพณี และภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นต้น

    (2)  การร่วมมือกันทำงานอย่างใกล้ชิดระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาชน

ในการดำเนินโครงการที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอความต้องการ หรือให้ประชาชนจัดทำโครงการเพื่อของบประมาณอุดหนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในระยะเริ่มแรกประชาชนอาจจะยังไม่มีความรู้ความสามารถในการนำเสนอโครงการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องมอบหมายเจ้าหน้าที่ให้เป็นผู้รับผิดชอบในการเป็นพี่เลี้ยงเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนในการเขียนโครงการที่ถูกต้องตามระเบียบของทางราชการ นอกจากนั้นยังต้องทำหน้าที่ประสานงาน เสนอแนะ และอำนวยความสะดวกในการดำเนินโครงการให้แก่ประชาชน เช่น การติดต่อวิทยากรมาให้ความรู้แก่ประชาชน และการสนับสนุนให้ชุมชนหันมาช่วยเหลือและร่วมมือกันมากขึ้น เป็นต้น

    (3)  การแปลงวิสัยทัศน์ นโยบาย และยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติงานอย่างแท้จริง

ในการขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ นโยบาย และยุทธศาสตร์ของหน่วยงานเพื่อนำมาสู่การปฏิบัติเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น โดยการจัดทำและดำเนินโครงการให้เป็นรูปธรรม เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาท้องถิ่นอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน และการให้บริการสาธารณะแก่ประชาชนอย่างมีคุณภาพ ทั้งนี้ในการดำเนินโครงการใดใดจะต้องคำนึงถึงการบรรลุวิสัยทัศน์ นโยบาย ยุทธศาสตร์และเป้าหมายของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่กำหนดไว้ ซึ่งจะต้องสอดคล้องไปในทิศทางเดียว ดังนั้น การถ่ายทอดวิสัยทัศน์ขององค์กรและนโยบายของผู้บริหารให้แก่บุคลากรผู้ดำเนินงานเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้โครงการประสบความสำเร็จประการหนึ่ง

    (4)  การติดตามและประเมินผลโครงการ

ในการดำเนินโครงการจะต้องมีการติดตามและประเมินผล เพื่อให้เกิดการพัฒนาและปรับปรุงการทำงาน และเกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นยังทำให้ทราบถึงความต้องการและความพึงพอใจของประชาชนผู้เข้าร่วมโครงการ ซึ่งจะช่วยให้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับทราบถึงปัญหา อุปสรรคของการดำเนินโครงการ และสามารถประเมินได้ว่าโครงการที่จัดทำขึ้นประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด นอกจากนั้นแล้ว ควรมีการประเมินผลถึงความคุ้มค่าของงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินโครงการก็จะเป็นประโยชน์ต่อการจัดสรรงบประมาณให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

    (5)  ความเพียงพอของงบประมาณ

งบประมาณเป็นปัจจัยหลักในการดำเนินโครงการ ซึ่งการดำเนินให้สำเร็จจะต้องมีการจัดสรรงบประมาณที่เหมาะสมและเพียงพอ นอกจากนั้นจะต้องคำนึงถึงการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยต้องพิจารณาถึงผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ดีขึ้น หากเป็นโครงการที่มีผลให้ประชาชนมีความสุขเพิ่มขึ้น โดยไม่สามารถวัดออกมาในเชิงปริมาณก็ตาม ก็ถือว่าโครงการมีความคุ้มค่าเช่นกัน

5 ถอดจากบทเรียนในการบริหารจัดการขององค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ และ จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งได้รับรางวัลการบริหารจัดการดีเด่นในหลายโครงการ เช่น โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ โครงการพัฒนาเยาวชนคนเก่งสู่ดวงดาว การบริหารเงินสดเพื่อเพิ่มผลตอบแทนขององค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นต้น