การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชน

การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชน
รศ.ดร.เทิดชาย ช่วยบำรุง // tour.nida.ac.th
นี่คือการตั้งคำถามที่ชวนให้ผู้ฟังได้คิดจาก รศ.ดร.เทิดชาย ช่วยบำรุง ผู้อำนวยการหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาการจัดการการท่องเที่ยวแบบบูรณาการ คณะการจัดการการท่องเที่ยวสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ NIDA และ นักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิการท่องเที่ยวของประเทศไทย สัมมนาออนไลน์ Webinar “พัฒนาชุมชนท่องเที่ยวไทยอย่างไรให้ยั่งยืน CBT Re-design” ซึ่งจัดโดย องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.
ก่อนที่จะนำสู่การให้ความรู้เรื่อง แนวคิดที่สามารถนำมาปรับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพกับการพัฒนา ‘การท่องเที่ยวโดยชุมชน’ นั่นคือ หลักการ Design Thinking

การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชน

รู้กันก่อน การท่องเที่ยวโดยชุมชน vs. การท่องเที่ยวชุมชน นัยที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ต่างกัน

โดยก่อนที่จะไปทำความเข้าใจแนวทางการใช้ CBT Re-design ในการพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวไทย รศ.ดร.เทิดชาย สื่อสารตามตรงว่าอยากให้เข้าใจตรงกันก่อน ถึงความหมายของ การท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community-Based Tourism) หรือ CBT กับ การท่องเที่ยวชุมชน (Community Tourism) หรือ CT โดยงานทั้งสองด้านมีความเกาะเกี่ยว ใกล้เคียงกันอยู่ แต่จะแตกต่างกันก็ที่บทบาทของชุมชน
“ที่ผ่านมา รัฐบาลจะใช้คำว่า การท่องเที่ยวชุมชน คือ มองชุมชนเป็นสินค้าและบริการที่เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวไปเยี่ยมชม เพราะฉะนั้นจึงมุ่งเน้นด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งแตกต่างกับ การท่องเที่ยวโดยชุมชน คือ การท่องเที่ยวที่ชุมชนมีบทบาทในการบริหารจัดการ ในการมาช่วยพัฒนา แต่ที่ผ่านมา สองคำนี้ มีการใช้กันอย่างสับสน”
“เพราะฉะนั้น หัวใจของ CBT หรือ การท่องเที่ยวโดยชุมชน คือ การมีส่วนร่วมของชุมชน ชุมชนต้องมีสิทธิมาบริหารฐานทรัพยากร แหล่งท่องเที่ยวของเขา สรุปแล้ว CBT เป็นการพัฒนาที่ทำให้ชุมชนได้รับผลประโยชน์ในแง่ของทำให้ชุมชนเข้มแข็งขึ้น ส่วน CT ชุมชนจะได้ผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจและรายได้ที่เข้ามาในชุมชนเป็นหลักมากกว่า”
“ดังนั้น มาถึงคำถามที่ว่าทำไม การท่องเที่ยวโดยชุมชน หรือ CBT จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยพัฒนาให้ชุมชนไทยเติบโตได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน ตอบได้ง่ายๆ ก่อนว่า เพราะการท่องเที่ยวโดยชุมชนมีส่วนที่จะชักชวนให้ทุกฝ่ายมาร่วมมือกันพัฒนาให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีต่อชุมชนไทยในระยะยาว”

การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชน

“โดยองค์ประกอบหลักในการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน สามารถแบ่งออกเป็นปัจจัยต่างๆได้ ตามที่ อาจารย์สินธุ์ สโรบล (2554) อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนผู้ล่วงลับ ที่ได้ให้แนวคิดเพื่อนำไปพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนมาอย่างยาวนาน ดังนี้
  • ในเชิงพื้นที่ : ทรัพยากรที่เกี่ยวเนื่องกับเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ ในพื้นที่ ทำอย่างไรจึงจะเพิ่มค่าได้
  • ในเชิงการจัดการ : การรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และเน้นเรื่องความยั่งยืน
  • ในด้านการมีส่วนร่วม : ท้องถิ่นมีส่วนร่วมตลอดกระบวนการ ได้ประโยชน์ และยกระดับคุณภาพชีวิต
  • ในด้านกิจกรรม : การเรียนรู้ การศึกษา การเพิ่มพูนความรู้ ความประทับใจ จิตสำนึกที่ดี และประสบการณ์

แชร์หลากหลายประเด็น ที่ทุกคน ทุกฝ่าย ต้องรู้ เพื่อนำสู่การพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวของไทยอย่างยั่งยืน

ทว่าที่ผ่านมา รศ.ดร.เทิดชาย กล่าวว่ามีพูดถึงการท่องเที่ยวโดยชุมชนในหลายประเด็น โดยในแต่ละเรื่องเป็นแนวคิดที่ชี้นำให้ทุกคน ทุกฝ่าย ได้เห็นถึงแก่นแท้ในการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนร่วมกัน ดังนี้
“การท่องเที่ยวโดยชุมชนไม่ใช่สำหรับทุกคน” ซึ่งหมายความว่า เวลาเราทำการท่องเที่ยวชุมชน ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนอยากจะมาเที่ยวชุมชน เพราะฉะนั้น สิ่งจำเป็นที่ชุมชนต้องให้ความสำคัญ คือ ใครจะมาเที่ยวที่บ้านเรา โดยคำนึงถึงปัจจัยว่า ใครคนนั้นควรจะเป็นคนที่รักการท่องเที่ยวในชุมชน และมีจิตสำนึกรักบ้านของเราอย่างที่เรารักบ้านเราเอง เพราะฉะนั้นตรงนี้ การสร้างทัศนคติให้คนมาเที่ยวชุมชนว่าจะต้องดูแลบ้านเราเหมือนกับชาวชุมชนเองดูแลบ้านเป็นโจทย์สำคัญที่ต้องร่วมมือร่วมใจทำให้เกิดขึ้นให้ได้

การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชน

“การท่องเที่ยวโดยชุมชนจะให้โอกาสค้นพบประเทศนั้นผ่านผู้คนของประเทศนั้น” คำกล่าวนี้สะท้อนภาพในอนาคตของการท่องเที่ยวโดยชุมชนได้อย่างดีว่า เวลาคนตัดสินใจไปเที่ยวในชุมชนใด ต้องทำไปเพราะอยากรู้จักคนในชุมชนหรือในประเทศนั้น การท่องเที่ยวโดยชุมชนจึงจะเป็นเครื่องมือของการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนได้ ดังนั้นเป้าหมายของการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนจึงต้องเป็นไปเพื่อตอบสนองสองแง่มุม คือ ทั้งแง่ของการรักษาความดีงามของการท่องเที่ยวโดยชุมชนและความท้าทายที่เกิดขึ้นระหว่างทางด้วย
“การท่องเที่ยวโดยชุมชนนำเงินกลับสู่ชุมชนด้วยความรับผิดชอบต่อชุมชน” นี่เป็นอีกหนึ่งโจทย์สำคัญของชุมชนเช่นกันว่า เมื่อชุมชนต้อนรับนักท่องเที่ยวแล้ว จะเปิดให้ทำกิจกรรมใดที่แสดงถึงความรับผิดชอบต่อชุมชนด้วย
“การพูดคุยกับชุมชนคือการสร้างการเรียนรู้ทางจิตวิญญาณและเป็นความบันเทิงกว่าการพูดคุยกับไกด์คนไหนๆ” แสดงให้เห็นถึงจุดแข็งว่าเมื่อคนไปเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชน ถ้าได้พูดคุยกับชาวบ้าน ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ นักท่องเที่ยวก็จะรู้สึกได้ถึงการได้เรียนรู้ทางจิตวิญญาณด้วย แต่ก็จะมีประเด็นท้าทายว่า แล้วชุมชนจะเป็นผู้ให้ข้อมูล ให้ความรู้ ได้หรือไม่ นี่ก็จะเป็นประเด็นท้าทายต่อไป
“จงจำไว้ สิ่งที่เป็นสิ่งธรรมดาของชุมชนจะเป็นประสบการณ์ที่พิเศษของนักเดินทาง” คำพูดนี้มีเพื่อทำให้ทุกชุมชนตระหนักว่าวิถีชีวิต หรือสิ่งที่เขามีอยู่ทุกวันนั้น จะเป็นประสบการณ์พิเศษของนักเดินทางได้โดยไม่ต้องปรุงแต่ง

การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชน

อัปเดตสถานการณ์การท่องเที่ยวโดยชุมชน พร้อมแนวทางปรับตัว CBT Re-Design เพื่อรับโอกาสหลังวิกฤตโควิดคลี่คลาย

รศ.ดร.เทิดชาย ชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์การท่องเที่ยวโดยชุมชนที่สำคัญในประเทศ ซึ่งตอนนี้ที่เป็นความหวังในการปูทางให้ทุกชุมชนท่องเที่ยวในประเทศไทยมีมาตรฐานและได้รับการพัฒนาอย่างยั่งยืน
  • ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 12 ระบุไว้ว่า การท่องเที่ยวโดยชุมชนเป็นการสร้าง Value-Based Economy หรือ เป็นการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ในแบบ Experience Economy
  • สถานการณ์การท่องเที่ยวโดยชุมชนในระดับนโยบาย ได้มีการจัดตั้งอนุกรรมการท่องเที่ยวโดยชุมชนภายใต้ คณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ
  • มีแผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวโดยชุมชนแห่งชาติ
  • มีชุมชนที่ต้องการเป็นชุมชนท่องเที่ยวราว 4,000 ชุมชนทั่วไทย
  • ดังนั้น จึงพบว่า ชุมชนก็ลุกขึ้นมาใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชน จึงมีชุมชนที่ได้รับการประชาสัมพันธ์เป็นแหล่งท่องเที่ยว ราว 2,500 แห่ง และมีชุมชนผ่านเกณฑ์ CBT Thailand ระดับ A จำนวน 270 ชุมชน ระดับ B จำนวน 296 ชุมชน และ กำลังพัฒนา จำนวน 274 แห่ง
การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชน
“และสถานการณ์การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนของประเทศ นับว่าสอดคล้องกับ ข้อมูลอัปเดตล่าสุดจากการสำรวจของเว็บไซต์ที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวดังระดับโลก คือ”
  • รายงานการสำรวจเทรนด์การท่องเที่ยวประเทศไทย ปี 2562 โดย Airbnb พบว่าร้อยละ 84 ต้องการที่จะเดินทางท่องเที่ยวแบบใช้ชีวิตเหมือนคนท้องถิ่นและใช้จ่ายไปกับร้านอาหารในชุมชนมากที่สุดกว่า 1.7 พันล้านบาท
  • ข้อมูลจาก Expedia ปี 2561 พบว่านักท่องเที่ยวชาวไทยนิยมเลือกจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเป็นชุมชนในท้องถิ่น หรือ เมืองรอง เช่น สกลนคร นครพนม น่าน เป็นต้น และมีอัตราการท่องเที่ยวลักษณะนี้เพิ่มขึ้นสูงกว่าร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับปี 2560

“นั่นหมายความว่าการที่ภาครัฐ และหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศ วางนโยบายสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชน เป็นกุศโลบายที่ดีมากทีเดียว และเราได้พบเทรนด์สำคัญที่บ่งบอกว่านักท่องเที่ยวต้องการใช้ชีวิตเหมือนคนในท้องถิ่น ดังนั้น นี่ก็ยิ่งสนับสนุนความจริงที่ว่าวิถีท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ เป็นคุณค่าของหลายชุมชนในประเทศไทย”

การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชน
ต่อมา รศ.ดร.เทิดชาย ได้สรุปถึงหัวใจสำคัญของการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนสู่ความยั่งยืน ซึ่งควรค่าอย่างยิ่งที่ทุกชุมชนจะได้นำไปปรับใช้เพื่อเตรียมรับโอกาสที่จะเกิดขึ้นหลังจากวิกฤตโควิดคลี่คลาย
  • ชุมชนควรปรับตัวให้ทัน ตามพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่จะเปลี่ยนแปลงไป เป็นเน้นท่องเที่ยวระยะสั้น และสนใจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมากขึ้น
  • ทำการท่องเที่ยวต้องไม่หยุดที่จะพัฒนาโปรแกรมการท่องเที่ยว สินค้า และบริการอยู่เสมอ เพื่อดึงดูดใจผู้มาเยือนให้ได้
  • การรวมกลุ่มที่ดีมีชัยไปกว่าครึ่ง ควรมีการรวมกลุ่มกัน เพื่อตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน และกำหนดมาตราฐานจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวอย่างจริงจัง
  • เปิดโอกาสให้ทุกคนในกลุ่มมีส่วนร่วมในการวางแผน แสดงความคิดเห็น และลงมือทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างความสามัคคี เพราะเมื่อทำการท่องเที่ยวโดยชุมชนจะเก่งคนเดียวไม่ได้ ต้องเกิดจากการร่วมมือ ร่วมใจของทุกฝ่ายและทุกคน จึงจะเป็นชุมชนท่องเที่ยวที่เข้มแข็งและครองใจผู้มาเยือนได้ในที่สุด
  • เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าถึงนักท่องเที่ยวมากขึ้น หากชุมชนก้าวไม่ทันเทคโนโลยี ก็จะทำให้ขาดโอกาสและขาดรายได้

อัปเดตแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนจากผู้เชี่ยวชาญ

คืนชีวิตให้ ‘การท่องเที่ยวชุมชน’ สร้างสตอรี่ ‘นาเชิงคีรี-ทุ่งหลวง’ แห่งสุโขทัย พร้อมก้าวสู่มาตรฐาน CBT Thailand

ใช้เวลาแห่งวิกฤต เตรียมตัวให้พร้อม เปิดตัว ‘การท่องเที่ยวโดยชุมชน’ วิถีใหม่ บนแผ่นดิน EEC

เปิดโมเดล จีน-ไทย ช่วยท้องถิ่นฝ่าวิกฤต ยกระดับ ของดีชุมชน สู่สินค้าขายดีบนอีคอมเมิร์ชชื่อดัง

Post Views: 2,663