โครงสร้างหลักสูตร ก ศ น 2551

         เมื่อครั้งที่แล้วได้เข้าร่วมประชุมชี้แจงการใช้หลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ไปแล้ว ขอสรุปเนื้อหาองค์ความรู้เกี่ยวกับหลักสูตร กศน. ดังนี้

         หลักสูตร กศน.2551 ได้พัฒนามาจากหลักสูตร กศน. พ.ศ. 2544  อันเนื่องมาจากได้มี พรบ.กศน. พ.ศ.2551 เกิดขึ้น จึงต้องพัฒนาหลักสูตร โดยมีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณธรรม จริยธรรม มีสติปัญญา มีศักยภาพในการประกอบอาชีพ การศึกษาต่อ และสามารถดำรงชีวิตอยู่ในครอบครัว ชุมชน สังคมได้อย่างมีความสุข   กลุ่มเป้าหมาย คือ ประชาชนทั่วไปที่ไม่อยู่ในระบบโรงเรยน

          โครงสร้างหลักสูตร มี 3 ระดับ คือ ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย

        สาระการเรียนมี 5 สาระ คือ 1) สาระทักษะการเรียนรู้  2)สาระความรู้พื้นฐาน 3)สาระการประกอบอาชีพ 4)สาระทักษะการดำเนินชีวิต 5) สาระการพัฒนาสังคม

        มีกิจกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิต ที่เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อให้ผู้เรียนพัฒนาตนเอง ครอบครัว ชุมชนและสังคม

        เวลาเรียน ใช้เวลาเรียน 4 ภาคเรียน  ยกเว้นกรณีมีการเทียบโอนผลการเรียน

       หน่วยกิต  ใช้เวลาเรียน 40 ชั่วโมง มีค่าเท่ากับ 1 หน่วยกิต  โดยแยกเป็นแต่ละระดับ คือ

       ระดับประถมศึกษา ไม่น้อยกว่า 48 หน่วยกิต  ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ไม่น้อยกว่า 56 หน่วยกิต และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ไม่น้อยกว่า 76 หน่วยกิต

      วิธีการจัดการเรียนรู้ มี 7 รูปแบบ คือ  1) การเรียนรู้ด้วยตนเอง  2) การเรียนรู้แบบพบกลุ่ม  3) การเรียนรู้แบบทางไกล  4)การเรียนรู้แบบชั้นเรียน (ร.ร.ผู้ใหญ่)  5) การเรียนรู้ตามอัธยาศัย  6)การเรียนรู้จากการทำโครงงาน  7)การเรียนรู้รูปแบบอื่น ๆ ตามความต้องการ

       สื่อการเรียนรู้  เช่น สื่อสิ่งพิมพ์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ สื่อบุคคล ภูมิปัญญา แหล่งเรียนรู้ที่มีอยู่ในชุมชนนั้น ๆ สื่อที่ครู หรือผู้เรียนสร้างขึ้นเองก็ได้

       การวัดและประเมินผลการเรียน  คือ 1)การวัดและประเมินผลรายวิชา  2)การประเมินกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต ไม่น้อยกว่า 100 ชั่วโมง  3) การประเมินคุณธรรม  4)การประเมินคุณภาพการศึกษานอกระบบระดับชาติ

***หมายเหตุ***  วิชาเลือกแต่ละระดับสถานศึกษาต้องจัดให้ผู้เรียน เรียนรู้จากการทำโครงงานจำนวนอย่างน้อย 3 หน่วยกิต

        การลงทะเบียนเรียนตามโครงสร้างหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551 ให้ลงทะเบียนเรียนเป็นรายวิชาและตามจำนวนหน่วยกิต ในแต่ละภาคเรียนดังนี้
       1. ระดับประถมศึกษา ลงทะเบียนเรียนทั้งหมด ไม่น้อยกว่า 48 หน่วยกิต ให้ลงทะเบียนเรียนได้ภาคเรียนละไม่เกิน 14 หน่วยกิต
       2. ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ลงทะเบียนเรียนทั้งหมด ไม่น้อยกว่า 56 หน่วยกิต ให้ลงทะเบียนเรียนได้ภาคเรียนละไม่เกิน 16 หน่วยกิต
       3. ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ลงทะเบียนเรียนทั้งหมด ไม่น้อยกว่า 76 หน่วยกิต ให้ลงทะเบียนเรียนได้ภาคเรียนละไม่เกิน 20 หน่วยกิต

วิธีการจัดการเรียนรู้
         วิธีการเรียนรู้ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 จะมีวิธีเดียว คือ “วิธีเรียน กศน.” ที่สามารถจัดการเรียนรู้ได้หลายรูปแบบ เช่น
         -   การเรียนรู้แบบพบกลุ่ม
         -   การเรียนรู้ด้วยตนเอง
         -   การเรียนรู้แบบทางไกล
         -   การเรียนรู้แบบชั้นเรียน
         -   การเรียนรู้แบบอื่นๆ
 ซึ่งในแต่ละรายวิชา ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง หรือหลายรูปแบบก็ได้ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมของสถานศึกษาด้วย

      1. การจัดกระบวนการเรียนรู้ โดยมีครู/ผู้รู้/ ผู้เชี่ยวชาญในเนื้อหานั้น ๆ เป็นผู้ถ่ายทอดเนื้อหา ในการถ่ายทอดเนื้อหาของครูต้องเปิดโอกาสให้ผู้เรียนซักถาม แสดงความคิดเห็นได้ โดยเพิ่มการเขียนถาม/ตอบ หลังการบรรยาย รวมทั้งมีการจัดโอกาสให้ฝึกในห้องปฏิบัติการ และจัดเวลาการให้คำปรึกษา

         2. การจัดกระบวนการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับครู และผู้เรียนกับผู้เรียน โดยกระตุ้นให้ผู้เรียนตอบพร้อมกับใช้กิจกรรมลักษณะที่เน้นการสื่อสาร เช่น กิจกรรมคู่ กิจกรรมกลุ่ม และการจัดที่นั่งในชั้นเรียนต้องเหมาะสม เอื้อต่อการดำเนินกิจกรรม
         3. การจัดให้มีการปรับบทบาทผู้เรียน ใช้การแบ่งผู้เรียนเป็นกลุ่มเล็ก ๆ โดยที่แต่ละกลุ่มจะได้รับมอบหมายงานให้ปฏิบัติ ในการจัดการเรียนการสอนครูจะสอดแทรกกิจกรรม 3 ลักษณะ คือ กิจกรรมที่เน้นการให้ผู้เรียนได้รับข้อมูล/ข้อเท็จจริง กิจกรรมที่ให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยการได้ลงมือปฏิบัติ/สังเกต และกิจกรรมการสะท้อนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างผู้เรียนและครู
         4. การติดตามและช่วยเหลือผู้เรียน โดยอาจใช้กระบวนการติดตามช่วยเหลือโดยเพื่อน/กลุ่มเพื่อน จัดให้มีการปรึกษาหารือกันระหว่างครูกับผู้เรียน ใช้ผู้ช่วยสอน ใช้ระบบหัวหน้ากลุ่มผู้เรียน ใช้แฟ้มสะสมผลงาน ใช้การเรียนแบบทีม ใช้ e-mail, discussion boards และ internet เป็นต้น
         การเรียนรู้แบบต่าง ๆ  ดังกล่าวข้างต้น สถานศึกษาและผู้เรียนจะร่วมกันกำหนด โดยในแต่ละรายวิชาจะเลือกการเรียนรู้แบบใดแบบหนึ่งหรือหลายแบบก็ได้ ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของเนื้อหาในรายวิชานั้น ๆ โดยให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและการทำงานของผู้เรียน รวมทั้งขึ้นอยู่กับความพร้อมของสถานศึกษาด้วย และสถานศึกษาสามารถจัดให้มีการสอนเสริมได้ในทุกรูปแบบการเรียนรู้ เพิ่มเติมเต็มความรู้ให้บรรลุมาตรฐานการเรียนรู้

สื่อ

            3.1 สื่อวิชาเลือกบังคับกลุ่มพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจัดทำต้นฉบับ

   3.2 สื่อรายวิชาเลือกเสรี สถานศึกษาจัดทำหลักสูตรรายวิชาเลือกเสรี แล้วเสนอให้คณะกรรมการของ สำนักงาน กศน.จังหวัดพิจารณา ตรวจสอบสอดคล้องของรายวิชากับโปรแกรมการเรียน สอดคล้องกับมาตรฐานของกลุ่มสาระในแต่ละระดับการศึกษา จากนั้น สำนักงาน กศน.จึงขอรหัสรายวิชาเลือกจากระบบโปรแกรมรายวิชาเลือก ทั้งนี้

ไม่อนุญาตให้พัฒนารายวิชาเลือกที่เรียนได้ทุกระดับการศึกษา

            3.3 รูปแบบของสื่อ มี 2 รูปแบบ คือ แบบชุดวิชาและแบบเรียนปลายเปิดโดยให้พิจารณา

ตามธรรมชาติของวิชา

            3.4 การจัดทำสื่อเสริมการเรียนรู้ กลุ่มพัฒนาการศึกษานอระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา ร่วมกันผลิตสื่อเสริมการเรียนรู้ในเนื้อหาที่ยาก เพื่อเสริมความรู้ความเข้าใจในการเรียนรายวิชาต่างๆ

ารเทียบโอนผลการเรียน
           การเทียบโอนผลการเรียนเป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยงผลการเรียนรู้ที่หน่วยงานต่าง ๆ ร่วมจัดการศึกษาและเชื่อมโยงผลการเรียนรู้จากวิธีการเรียน  ที่หลากหลาย รวมทั้งจากการประกอบอาชีพและประสบการณ์ต่างๆและเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมให้บุคคลมีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตเมื่อบุคคลตระหนักและรับรู้ว่าสิ่งที่ได้เรียนรู้มานั้น สามารถนำมาเพิ่มคุณค่าโดยการเทียบโอนเป็นผลการเรียน  นับเป็นผลพลอยได้จากการเรียนรู้  นอกเหนือจากการนำสิ่งที่ได้เรียนรู้นั้นไปแก้ไขปัญหาในการประกอบอาชีพ  พัฒนาการทำงานให้ดีขึ้น  หรือแม้กระทั่งการนำสิ่งที่ได้เรียนรู้นั้นไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน

หลักการ

           การเทียบโอนผลการเรียนมีหลักการ  ดังนี้
           1.  หลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน  พุทธศักราช  2551  เป็นหลักสูตรที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนสามารถเทียบโอนผลการเรียนได้
          2.  การเทียบโอนผลการเรียนต้องสามารถเทียบโอนผลการเรียนที่ผู้เรียนสะสมไว้  ทั้งจากการศึกษาในระบบ  การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย  การศึกษาอาชีพหรือประสบการณ์การทำงาน
           3.  เป็นการเชื่อมโยงการศึกษาทั้งสามรูปแบบ  เพื่อส่งเสริมให้เกิดการศึกษาตลอดชีวิต

           4.  เป็นการกระจายอำนาจให้สถานศึกษาในการเทียบโอนผลการเรียน  โดยสถานศึกษาจะต้องจัดให้บุคลากรหรือเจ้าหน้าที่  ทำหน้าที่ให้คำแนะนำและดำเนินการให้มีการเทียบโอนผลการเรียน

           5.  วิธีการและหลักเกณฑ์การเทียบโอนผลการเรียนต้องได้มาตรฐานชัดเจนสมเหตุสมผลเชื่อถือได้โปร่งใสและยุติธรรม

วัตถุประสงค์
           1.  เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่ออกจากการศึกษาในระบบ  หรือนอกระบบรวมทั้งผู้ที่เรียนรู้ตามอัธยาศัยสามารถเทียบโอนผลการเรียนรู้เข้าสู่หลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช  2551
              2. เพื่อเปิดโอกาสให้มีการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในระดับการศึกษาเดียวกันหรือระดับที่สูงขึ้น         

                ขอบข่ายการเทียบโอนผลการเรียน
           แนวทางการเทียบโอนผลการเรียน  ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบ  ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน  พุทธศักราช  2551  จัดทำขึ้นเป็นแนวทางให้สถานศึกษาใช้ในการเทียบโอนผลการเรียน  ระหว่างรูปแบบการศึกษาในระบบ  การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย  ระหว่างหลักสูตรของหน่วยงานต่าง ๆ  เข้าสู่  หลักสูตรการศึกษานอกระบบ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน  พุทธศักราช   2551  มีขอบข่าย ดังนี้
           1.  การเทียบโอนผลการเรียนจากหลักสูตรที่จัดการศึกษาเป็นระดับประถม  มัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายหรือเทียบเท่า

                เป็นการเทียบโอนผลการเรียนจากหลักฐานการศึกษา  ที่ออกให้โดยสถานศึกษาของรัฐและเอกชน  ที่จัดการศึกษาตามหลักสูตรที่กระทรวงศึกษาธิการประกาศใช้  หรือให้การรับรอง และจัดระดับการศึกษาเป็นระดับประถมศึกษา  มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือเทียบเท่า  ตามหลักสูตร  ทั้งที่จัดในรูปแบบการศึกษาในระบบและการศึกษานอกระบบ

           2.  การเทียบโอนผลการเรียนจากการศึกษาต่อเนื่อง
                เป็นการเทียบโอนผลการเรียนจากการเรียนในหลักสูตรระยะสั้น หรือหลักสูตรฝึกอบรมที่จัดขึ้นตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ
           3.  การเทียบโอนความรู้และประสบการณ์กลุ่มเป้าหมายเฉพาะ
               เป็นการเทียบโอนความรู้และประสบการณ์จากการเป็นทหารกองประจำการ อาสาสมัครสาธารณสุข ผู้นำท้องถิ่น และแรงงานไทยที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติและกลุ่มเป้าหมายอื่น ๆ ที่ได้ทำข้อตกลงร่วมกัน
           4.  การเทียบโอนผลการเรียนจากหลักสูตรต่างประเทศ
           เป็นการเทียบโอนผลการเรียนจากการศึกษาหลักสูตรต่างประเทศ  ที่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศนั้น ๆ ให้การรับรองมาตรฐานการจัดการศึกษา  หรือผลการเรียนจากหลักสูตรของโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทยที่กระทรวงศึกษาธิการประกาศเทียบความรู้  
           5.  การเทียบโอนผลการเรียนจากการประเมินความรู้และประสบการณ์
           เป็นการเทียบโอนผลการเรียน  โดยใช้วิธีการประเมินความรู้และประสบการณ์ของผู้เรียน  ซึ่งมีการเรียนรู้จากการศึกษาตามอัธยาศัย  การประกอบอาชีพ  การทำงาน โดยอาจมีหลักฐานเชิงประจักษ์จากการทำงาน หลักฐานอื่น ๆที่เกี่ยวข้องหรือไม่มีหลักฐานก็ได้

คุณสมบัติทั่วไปของผู้ขอเทียบโอนผลการเรียน
           1.  ต้องไม่เป็นนักเรียนหรือนักศึกษา  ในระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษาหรือระดับที่เทียบเท่าของสถานศึกษาอื่น
           2.  ต้องขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช  2551

วิธีการเทียบโอนผลการเรียน

           การเทียบโอนผลการเรียนมี  2 วิธี คือ
            วิธีที่  1  การพิจารณาจากหลักฐานการศึกษา
                 1.1  การพิจารณาหลักฐานการศึกษาจากหลักสูตรที่จัดการศึกษาเป็นระดับ เป็นการตรวจสอบหลักสูตรผลการเรียนในรายละเอียดเกี่ยวกับ ระดับหรือชั้นปีที่เรียนจบมา  รายวิชาที่เรียน ผลการเรียน ความถูกต้องของหลักฐาน โดยหลักฐานการศึกษาที่นำมาเทียบโอนผลการเรียนต้องเป็นหลักฐานที่ออกโดยสถานศึกษาของรัฐ หรือเอกชนที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน หรือวิทยฐานะทางการศึกษา
                 1.2  การพิจารณาหลักฐานจากการศึกษาต่อเนื่อง  เป็นการตรวจสอบรายละเอียดเกี่ยวกับหลักสูตร  เนื้อหาวิชาที่ศึกษา  จำนวนชั่วโมง หน่วยงานที่จัด  เพื่อพิจารณาเทียบโอนให้สอดคล้องกับรายวิชาตามหลักสูตร ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการเทียบโอนผลการเรียนของสถานศึกษา
            วิธีที่  2  การประเมินความรู้และประสบการณ์  เป็นการวัดตรวจสอบและประเมินผลการเรียนรู้และประสบการณ์ของผู้เรียนที่เกิดจากการประกอบอาชีพ การทำงาน จากการเรียนรู้ตามอัธยาศัย  โดยใช้เครื่องมือประเมินที่หลากหลาย เช่น แบบทดสอบ  แบบสัมภาษณ์  การปฏิบัติจริง เป็นต้น

การเทียบโอนผลการเรียนจากหลักฐานการศึกษา  มีขอบข่ายดังนี้
            1.  การเทียบโอนผลการเรียนจากหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน  พุทธศักราช  2544 
(ในระบบ)  เข้าสู่หลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช  2551
            2. การเทียบโอนผลการเรียนจากหลักเกณฑ์และวิธีการจัดการศึกษานอกโรงเรียนตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช  2544 (นอกระบบ)  เข้าสู่หลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช  2551
            3.  การเทียบโอนผลการเรียนจากหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) พุทธศักราช  2545  เข้าสู่หลักสูตรการศึกษานอกระบบ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช  2551
            4.  การเทียบโอนผลการเรียนจากหลักสูตรอื่น ๆ ที่กระทรวงศึกษาธิการประกาศใช้

หลักเกณฑ์การเทียบโอนผลการเรียนจากหลักฐานการศึกษาหลักสูตรที่จัดการศึกษาเป็นระดับ
            1.  คณะกรรมการเทียบโอนผลการเรียนของสถานศึกษา ศึกษา วิเคราะห์หลักสูตรของสถานศึกษาที่ผู้เรียนนำหลักฐานการศึกษามาเทียบโอนผลการเรียน  แล้วจัดทำตารางวิเคราะห์หลักสูตรเพื่อใช้ในการเทียบโอนผลการเรียน
            2.  การพิจารณาเทียบโอนให้พิจารณาจาก
                2.1  ระยะเวลาและระดับชั้นที่ผู้ขอเทียบโอนเรียนผ่านมา
                2.2  รายวิชา/ หมวดวิชา ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง ตัวชี้วัดของรายวิชาหรือคำอธิบายรายวิชา ระหว่างรายวิชาที่นำมาเทียบโอนกับรายวิชาที่รับเทียบโอน  ต้องมีความสอดคล้องกันไม่น้อยกว่าร้อยละ  60
               2.3  จำนวนหน่วยกิตของรายวิชา/หมวดวิชาที่นำมาเทียบโอน  ต้องไม่น้อยกว่าจำนวนหน่วยกิตในรายวิชาที่รับเทียบโอนผลการเรียน  หากรายวิชาที่นำมาเทียบโอนผลการเรียนมีจำนวนหน่วยกิตน้อยกว่าจำนวนหน่วยกิตในรายวิชาที่รับเทียบโอนผลการเรียน  อาจนำรายวิชาอื่นที่อยู่ในสาระและมาตรฐานเดียวกัน  มานับรวมให้ได้จำนวนหน่วยกิตเท่ากับ หรือมากกว่าจำนวนหน่วยกิตในรายวิชาที่รับเทียบโอนผลการเรียน
                2.4  ไม่รับเทียบโอนรายวิชา/ หมวดวิชาที่มีค่าระดับผลการเรียนเป็น  0  ร  มส

            3.  ให้เทียบโอนผลการเรียนได้ทั้งรายวิชาบังคับและรายวิชาเลือก  โดยนับรวมกันแล้วต้องไม่เกินจำนวนหน่วยกิตที่กำหนดในแต่ละระดับการศึกษา
                   ระดับประถมศึกษา                           เทียบโอนได้ไม่เกิน            36           หน่วยกิต
                   ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น                 เทียบโอนได้ไม่เกิน            42           หน่วยกิต
                   ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย             เทียบโอนได้ไม่เกิน            57           หน่วยกิต
            4.  การให้ค่าระดับผลการเรียนจากการเทียบโอน
                   4.1  ผลการเรียนเป็นรายวิชา  ให้ใช้ค่าระดับผลการเรียนตามที่ปรากฏในหลักฐานการศึกษาที่นำมาเทียบโอน  ถ้าผลการเรียนในหลักสูตรเดิมมากกว่า 1 รายวิชานำมาเทียบโอนกับหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช  2551 ได้  1  รายวิชา  ให้นำค่าระดับผลการเรียนของรายวิชาที่ขอเทียบโอนมาเฉลี่ยหากมีจุดทศนิยมให้ปรับทศนิยมตามหลักการทางคณิตศาสตร์  เพื่อบันทึกผลการเรียนต่อไป
                   4.2  ผลการเรียนเป็นหมวดวิชา  ให้ใช้ค่าระดับผลการเรียนของหมวดวิชาเป็นค่าระดับผลการเรียนในรายวิชาที่เทียบโอนได้
            5.  หัวหน้าสถานศึกษา  พิจารณาอนุมัติผลการเทียบโอน

เกณฑ์การจบหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 

    1. ผ่านเกณฑ์การประเมินการเรียนรู้รายวิชาในแต่ละระดับการศึกษา ตามโครงสร้างหลักสูตร 

            1.1. ระดับประถมศึกษา ไม่น้อยกว่า 48 หน่วยกิต

            1.2. ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ไม่น้อยกว่า 56 หน่วยกิต

            1.3. ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายไม่น้อยกว่า 76 หน่วยกิต

    2. เข้าร่วมกิจกรรม และผ่านกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต ( กพช) ไม่น้อยกว่า 200 ชั่วโมง

    3. ผ่านการประเมินคุณธรรม ในระดับพอใช้ขึ้นไป

    4. เข้ารับการประเมินคุณภาพการศึกษานอกระบบระดับชาติ ( สอบ N Net)