ภาพรวมวัฒนธรรมของชุมชนโบราณในดินแดนประเทศไทย

ร่องรอย แหล่งชุมชนโบราณ

เรื่องราวความเป็นมาของประเทศชาติ สามารถเรียนรู้ได้จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ จนถึงปัจจุบัน โบราณสถาน และโบราณวัตถุ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ที่คนในชาติ จักต้องช่วยกันรักษาไว้ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติสืบต่อไป ดังพระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชพระราชทาน ไว้ว่า "โบราณ สถานนั้นเป็นเกียรติของชาติ อิฐเก่าๆ แผ่นเดียว มีค่าควรที่เราจะช่วยกันรักษาไว้ ถ้าเราขาดสุโขทัย อยุธยา และกรุงเทพฯ แล้ว ประเทศไทย ก็ไม่มีความหมาย"

ภาพรวมวัฒนธรรมของชุมชนโบราณในดินแดนประเทศไทย

โครงกระดูกมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ขุดพบที่บริเวณโคกพนมดี อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี เป็นหลักฐานการตั้งถิ่นฐานของชุมชนประมาณไม่น้อยกว่า ๓-๔ พันปี

บริเวณที่ใช้เป็นสถานที่อยู่อาศัยรวมกัน ของคนในอดีตเราเรียกว่า "แหล่ง ชุมชนโบราณ" ซึ่งอาจมีอาณาบริเวณขนาดเล็ก และขนาดใหญ่แตกต่างกันไปตามความสำคัญและจำนวนผู้คนที่อาศัยรวมกันอยู่ในบริเวณนั้น เรารู้ได้ว่า บริเวณใดเป็นแหล่งชุมชนโบราณ ก็โดยอาศัยหลักฐาน ที่คนในอดีตได้สร้างขึ้นและหลงเหลืออยู่ในบริเวณนั้น หลักฐานเหล่านี้อาจเป็นโบราณสถาน ซึ่งเป็นร่องรอยของสิ่งก่อสร้าง อาคารบ้านเรือน ที่อยู่อาศัย ศาสนสถานหรืออาจเป็นโบราณวัตถุ ซึ่งเป็นสิ่งของเครื่องใช้ ที่สะสมรวมกันอยู่ในบริเวณนั้น โบราณสถานที่เป็นอาคารสิ่งก่อสร้างหรือโบราณวัตถุ และสิ่งของเครื่องมือเครื่องใช้เหล่านี้ เมื่อถูกทอดทิ้งไว้เป็นเวลานานๆ ก็อาจผุพังเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติหรืออาจถูกทับถมจมดินไป จนกว่าจะมีผู้คนค้นพบในภายหลัง หรืออาจจะสูญหายไม่มีร่องรอยให้ผู้ใดพบเห็นได้อีกเลย

ภาพรวมวัฒนธรรมของชุมชนโบราณในดินแดนประเทศไทย

เตาทุเรียง พบในบริเวณชุมชนโบราณที่บ้านเกาะน้อย อ.ศรีสัชนาลัยจ.สุโขทัย

ในบริเวณที่เป็นแหล่งชุมชนโบราณ นอกเหนือจากหลักฐานประเภทอาคารสิ่งก่อสร้าง ตลอดจนสิ่งของเครื่องใช้ อาจพบร่องรอยอย่างอื่น ที่คนในอดีตช่วยกันสร้างขึ้น เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน ดังเช่น บางแห่งมีการสร้างถนน บางแห่งขุดสระน้ำ เขื่อน คูคลอง เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์สำหรับชุมชน หรือเพื่อการเกษตร การชลประทาน บางแห่งขุดคูคันดินกักเก็บน้ำล้อมรอบ เพื่อใช้เป็นที่กำหนดขอบเขตบริเวณชุมชน บางแห่งขุดคูคันดิน เพื่อกักเก็บน้ำ และสร้างกำแพงภายใน ใช้สำหรับการป้องกันศัตรู และบางแห่งขุดคูคันดิน เพื่อให้สะดวกเป็นเส้นทางคมนาคมติดต่อกับภายนอก ร่องรอยหลักฐานที่เป็นสระน้ำ และเขื่อนคูคันดินเหล่านี้ เมื่อปล่อยทิ้งไว้ คันดินที่สูงก็จะถูกชะทลายให้ต่ำลง ในขณะที่สระน้ำและคู ซึ่งเป็นที่ต่ำ จะมีตะกอนมาทับถมให้ตื้นเขิน การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นไปตามธรรมชาติอยู่ตลอดเวลา ถึงกระนั้นก็ตาม ก็ยังคงร่องรอยปรากฎในภูมิประเทศ มีลักษณะบ่งบอกให้เราทราบได้ว่า เป็นสิ่งที่คนทำขึ้น แตกต่างไปจากลักษณะภูมิประเทศที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยทั่วไปแล้ว ร่องรอยที่เป็นสระน้ำ เขื่อน คูคลอง และคูคันดินล้อมรอบชุมชนโบราณเหล่านี้ มักมีขนาดใหญ่เพียงพอ ที่ปรากฏให้เห็นได้ในภาพถ่ายทางอากาศ และใช้เป็นหลักฐานยืนยันให้เราทราบ ถึงแหล่งที่เคยมีผู้คนอยู่อาศัยรวมกัน ซึ่งอาจเป็นเพียงแหล่งชุมชนเล็กๆ หรืออาจมีขนาดใหญ่เป็นบ้านเป็นเมือง ซึ่งล้วนเป็นหลักฐานสำคัญ ที่ควรจะช่วยกันอนุรักษ์ให้คงไว้ เป็นสมบัติทางวัฒนธรรมคู่ชาติบ้านเมืองสืบต่อไป

          ด้วยภาคใต้เป็นส่วนหนึ่งของคาบสมุทรมลายู (Malay Peninsula) เริ่มที่บริเวณคอคอดกระที่ประมาณละติจูด ๑๐ องศาเหนือ ยื่นยาวลงไปทางใต้จนถึงประเทศมาเลเซีย มีชายฝั่งทะเลขนาบอยู่ ๒ ด้าน คือ ด้านตะวันตกติดทะเลอันดามัน มีลักษณะเป็นที่ราบชายฝั่งแบบยุบตัว แคบ เว้าแหว่ง บางแห่งมีภูเขาจดชายฝั่งทำให้เกิดเป็นหน้าผาชันตามแนวชายฝั่งทะเล ด้วยเหตุนี้จึงมีพื้นที่จำกัดและขยายตัวยากจึงเป็นที่ตั้งของชุมชนขนาดเล็ก แต่ด้วยความที่อยู่ด้านตรงข้ามกับอินเดียจึงมีความเหมาะสมต่อการเดินเรือมาขึ้นบกของพ่อค้าชาวต่างชาติ ดังปรากฏหลักฐานว่ามีชุมชนโบราณฝั่งตะวันตกได้พัฒนาขึ้นและมีบทบาทเป็นเมืองท่าสำคัญทางฝั่งทะเลอันดามันอย่างชัดเจนในเวลาต่อมา ส่วนด้านตะวันออกติดทะเลอ่าวไทย มีลักษณะเป็นชายฝั่งแบบยกตัวมีการทับถมของโคลนตะกอนที่แม่น้ำและกระแสน้ำในทะเลพัดพามาทำให้เกิดเป็นที่ราบกว้างขึ้นมีสันทรายปรากฏอยู่ทั้งบนหาดและในพื้นน้ำนอกฝั่ง มีความเหมาะสมต่อการตั้งถิ่นฐานและการเพาะปลูกจึงพบร่องรอยชุมชนโบราณอยู่บริเวณเชิงเขาและที่ราบริมฝั่งทะเล ในช่วงแรกเริ่มประวัติศาสตร์และสมัยประวัติศาสตร์ในพื้นที่ต่างๆ ในเวลาต่อมา

ภาพรวมวัฒนธรรมของชุมชนโบราณในดินแดนประเทศไทย

           ชุมชนโบราณฝั่งตะวันตก (ทะเลอันดามัน) : ปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีในช่วงแรกเริ่มประวัติศาสตร์และสมัยประวัติศาสตร์ในพื้นที่ต่างๆ ดังนี้ - จังหวัดระนอง เช่น แหล่งโบราณคดีภูเขาทอง แหล่งเรือโบราณคลองกล้วย เป็นต้น - จังหวัดพังงา เช่น แหล่งโบราณคดีนางย่อน ชุมชนโบราณตะกั่วป่า ประกอบด้วย แหล่งโบราณคดีเขาพระเหนอ แหล่งโบราณคดีเหมืองทอง-เกาะคอเขา (ทุ่งตึก) แหล่งโบราณคดีเขาพระนารายณ์ (เขาเวียง) - จังหวัดกระบี่ เช่น แหล่งโบราณคดีควนลูกปัด (คลองท่อม) เป็นต้น - จังหวัดตรัง เช่น แหล่งโบราณคดีนาพละ เป็นต้น ชุมชนโบราณฝั่งตะวันออก (อ่าวไทย) : ปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีในช่วงแรกเริ่มประวัติศาสตร์และสมัยประวัติศาสตร์ในพื้นที่ต่างๆ ดังนี้ - จังหวัดชุมพร เช่น แหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว แหล่งโบราณคดีเขาเสก เป็นต้น - จังหวัดสุราษฏร์ธานี เช่น แหล่งโบราณคดีวัดอัมพาวาส แหล่งโบราณคดีวัดศาลาทึง แหล่งโบราณคดีท่าชนะ แหล่งโบราณคดีแหลมโพธิ์ แหล่งโบราณคดีไชยา แหล่งโบราณคดีพุนพิน แหล่งโบราณคดีเขาศรีวิชัย แหล่งโบราณคดีเวียงสระ เป็นต้น - จังหวัดนครศรีธรรมราช เช่น แหล่งโบราณคดีริมคลองท่าเรือและบ้านเกตกาย แหล่งโบราณคดีเขาคา แหล่งโบราณคดีท่าศาลา-สิชล แหล่งโบราณคดีโมคลาน แหล่งโบราณคดีตุมปัง เป็นต้น - จังหวัดสงขลา เช่น แหล่งโบราณคดีสทิงพระ แหล่งเตาปะโอ เป็นต้น - จังหวัดปัตตานี เช่น แหล่งโบราณคดียะรัง เป็นต้น

ภาพรวมวัฒนธรรมของชุมชนโบราณในดินแดนประเทศไทย

ภาพ : แหล่งเรือโบราณคลองกล้วย จังหวัดระนอง (ปัจจุบันกองโบราณคดีใต้น้ำได้นำชิ้นส่วนไม้ที่คาดว่าเป็นส่วนประกอบของเรือไปศึกษาและดำเนินการอนุรักษ์ต่อไป) ภาพโดย : กลุ่มโบราณคดีและอนุรักษ์โบราณสถาน สาขาภูเก็ต

ภาพรวมวัฒนธรรมของชุมชนโบราณในดินแดนประเทศไทย

ภาพ : โบราณสถานหมายเลข ๑๒ แหล่งโบราณคดีเขาศรีวิชัย จังหวัดสุราษฏร์ธานี ภาพโดย : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช

          แหล่งโบราณคดีและชุมชนโบราณต่างๆ เหล่านี้ พบหลักฐานทางโบราณคดีหลายประเภทที่สัมพันธ์กับการติดต่อค้าขายกับอินเดีย เช่น ลูกปัดชนิดต่างๆ เครื่องประดับทองคำ ตราประทับ หัวแหวนหรือจี้สลักจากหินมีค่า เหรียญโลหะ เศษภาชนะดินเผาแบบอินเดีย และบางแหล่งพบหลักฐานทางศาสนา เช่น ประติมากรรมรูปเคารพทั้งในศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์-ฮินดู โบราณสถาน และจารึก

-------------------------------------
ค้นคว้า/เรียบเรียงข้อมูล : น.ส.สุขกมล วงศ์สวรรค์ภัณฑารักษ์ชำนาญการพิเศษ
-------------------------------------

อ้างอิง : - ผาสุข อินทราวุธ, “ร่อยรอยวัฒนธรรมอินเดียในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”, โบราณคดีและประวัติศาสตร์ไทย ฉบับครูสังคม. กรุงเทพฯ: ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี, ๒๕๔๕. - มหาวิทยาลัย,จุฬาลงกรณ์. ภูมิลักษณ์ประเทศไทย. กรุงเทพฯ: บริษัทด่านสุทธาการพิมพ์, ๒๕๓๔.