ประชุมสุดยอด อาเซียน ครั้งที่ 38



นายกฯ เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 39 ย้ำ อาเซียนต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อยู่กันพร้อมหน้า เพื่อร่วมกันสร้างความเข้มแข็งให้ภูมิภาค

วันนี้ (26 ต.ค.) เวลา 10.00 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมและกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 39 ผ่านระบบการประชุมทางไกล พร้อมผู้นำและผู้แทนสมาชิกอาเซียน ในโอกาสนี้ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญของการประชุม ดังนี้

การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 39 นี้ ที่ประชุมมีประเด็นหลักที่หยิบยกขึ้นหารือหลักๆ ได้แก่ พัฒนาการความสัมพันธ์และความร่วมมือกับหุ้นส่วนภายนอกภูมิภาค นายกฯ ย้ำว่า “ผู้นำอาเซียนทุกประเทศให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของอาเซียน ซึ่งเป็นหลักการอันทรงคุณค่า

ในการทำงานร่วมกันของอาเซียนมาตลอด 54 ปีที่ผ่านมา และจะช่วยกันธำรงหลักการนี้ไว้ ด้วยการช่วยกันให้สมาชิกครอบครัวอาเซียนอยู่ร่วมกันพร้อมหน้าครบถ้วนเหมือนดังที่เคยเป็น มิใช่เช่นในวันนี้”

นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อที่ประชุมว่า ทุกประเทศต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศ สมาชิกอาเซียนต้องรักษาความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและความเป็นแกนกลางของอาเซียนเพื่อเอาชนะกับความท้าทายหลากหลายรูปแบบที่โลกกำลังเผชิญ ทั้งโควิด-19 ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความท้าทายต่อภูมิรัฐศาสตร์ในโลกและในภูมิภาค อาเซียนจะต้องมีความร่วมมือที่สร้างสรรค์กับภายนอกภูมิภาค และรักษาความสงบสุขในภูมิภาค เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้ก้าวหน้าต่อไป

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวเสนอ 3 แนวทางโดยให้ดำเนินการควบคู่กันไป ได้แก่

1. อาเซียนควรเพิ่มพูนความสัมพันธ์กับภาคีภายนอกให้มากยิ่งขึ้น รักษาความเป็นเอกภาพ มีบทบาทนำในการขับเคลื่อนข้อริเริ่มต่างๆ เพื่อขยายโอกาสและสร้างพลังของอาเซียนในการดำเนินความสัมพันธ์ภายนอก และเห็นว่าอาเซียนควรใช้โอกาสจากความเป็นหุ้นส่วนเหล่านี้ในการผลักดันวาระต่างๆ ที่เป็นผลประโยชน์ของอาเซียนและส่งเสริมความเป็นแกนกลางของอาเซียนในภูมิภาคต่อไป
2. อาเซียนต้องร่วมกันส่งเสียงที่ชัดเจนและสอดคล้องกันเกี่ยวกับความเป็นแกนกลางของอาเซียนในสถาปัตยกรรมในภูมิภาค เสริมสร้างความเข้มแข็งของกลไกต่างๆ ที่อาเซียนมีบทบาทนำ โดยใช้มุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (AOIP) เป็นเครื่องมือในการสนับสนุนให้มหาอำนาจมีปฏิสัมพันธ์กันในภูมิภาคของเราอย่างสร้างสรรค์ เพื่อรักษาสันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาค
3. อาเซียนควรมีส่วนร่วมในการเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจทางยุทธศาสตร์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ โดยอาจพิจารณาใช้แนวทางใหม่ๆ ในการปฏิสัมพันธ์กับทั้งสองประเทศ เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายสามารถแสวงจุดร่วมในเรื่องที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันในภูมิภาคได้ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นต้น

สำหรับสถานการณ์ในเมียนมา นายกฯ กล่าวว่า เป็นบททดสอบความสามารถของอาเซียนในการจัดการและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในภูมิภาค อาเซียนควรมีบทบาทที่สร้างสรรค์ในการช่วยคลี่คลายสถานการณ์ในเมียนมาเพื่อความน่าเชื่อถือของอาเซียนในประชาคมระหว่างประเทศ โดยไทยต้องการที่จะเห็นสันติภาพและเสถียรภาพในเมียนมาและพร้อมฉันทามติ 5 ข้อ

ทั้งนี้ ผู้แทนพิเศษของประธานอาเซียนจะมีบทบาทช่วยสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและบรรยากาศสำหรับการหารือที่สร้างสรรค์ระหว่างกลุ่มต่างๆ ได้ การยุติความรุนแรง และการแก้ไขปัญหาอย่างสันติวิธีโดยการพูดคุยและหารือระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และ การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ควรจะยังคงดำเนินต่อไปและกระจายไปสู่ทุกฝ่ายอย่างทั่วถึงและรวดเร็ว

ทั้งนี้ นายกฯ หวังว่า ในฐานะสมาชิกครอบครัวอาเซียน เมียนมาจะไว้ใจในการช่วยเหลือให้เมียนมาบรรลุสันติภาพและความสมานฉันท์ รวมทั้งกลับคืนสู่กระบวนการประชาธิปไตย เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนเมียนมา และเพื่อสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาค

ไทยยินดีกับความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพครั้งนี้ ของบรูไน และพร้อมสนับสนุนกัมพูชาในการเป็นเจ้าภาพอาเซียนปีหน้า ทั้งนี้ บรูไน ในฐานะประธานอาเซียนจะออกแถลงการณ์ประธาน (Chairman’s Statement) สำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 38 และ 39 รวมกันในฉบับเดียว



  • การประชุมทางไกล
  • นายธนกร วังบุญคงชนะ

วันที่ 25 ตุลาคม 2564 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีกำหนดการเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 38 และ 39 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ผ่านระบบการประชุมทางไกล ระหว่างวันที่ 26-28 ตุลาคม 2564 ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล

การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 38 และ 39 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ถือเป็นบทสรุปของการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนของบรูไนดารุสซาลาม ภายใต้แนวคิดหลัก “เราห่วงใย เราเตรียมพร้อม เรารุ่งเรือง” (We care, We prepare, We prosper) ซึ่งถือว่าเป็นปีที่มีความท้าทายในทุกมิติทั้งจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ความผันผวนทางภูมิรัฐศาสตร์ และสถานการณ์ในภูมิภาค โดยเฉพาะสถานการณ์ในเมียนมา

ทั้งนี้ สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนฯ จะทรงเป็นองค์ประธานการประชุมสุดยอดทั้งหมด โดยมีผู้นำ หรือผู้แทนของประเทศสมาชิกอาเซียน เลขาธิการอาเซียน ตลอดจนผู้นำของคู่เจรจาเข้าร่วมการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ จีน สาธารณรัฐเกาหลี ญี่ปุ่น สหรัฐฯ ออสเตรเลีย อินเดีย รัสเซีย และนิวซีแลนด์ นอกจากนี้ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกและองค์การการค้าโลกได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 16 ในช่วงเริ่มต้นการประชุมเพื่อบรรยายสรุปเกี่ยวกับการบรรเทาผลกระทบของโควิด-19 และการสร้างเสริมความร่วมมือเพื่อรับมือกับภาวะวิกฤติในอนาคต

โดยนายกรัฐมนตรีจะเข้าร่วมการประชุมในกรอบอาเซียนทั้งหมดจำนวน 12 การประชุม ตามเวลาประเทศไทย ดังนี้

วันอังคารที่ 26 ตุลาคม 2564
08.00 น. การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 38
10.00 น. การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 39
12.30 น. การประชุมสุดยอดอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 22
14.00 น. การประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ 24
20.00 น. การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ครั้งที่ 9

วันพุธที่ 27 ตุลาคม 2564
09.30 น. การประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 24
11.30 น. การประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลีย ครั้งที่ 1
14.00 น. การประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 24
18.00 น. การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 16

วันพฤหัสบดีที่ 28 ตุลาคม 2564
10.15 น. การประชุมระดับผู้นำแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจ สามฝ่ายอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT) ครั้งที่ 13
12.30 น. การประชุมสุดยอดอาเซียน-อินเดีย ครั้งที่ 18
14.00 น. การประชุมสุดยอดอาเซียน-รัสเซีย ครั้งที่ 4
15.30 น. พิธีปิดและส่งมอบตำแหน่งประธานอาเซียน

โดยนายกรัฐมนตรีจะหยิบยกประเด็นสำคัญที่จะผลักดัน อาทิ การรับมือกับการแพร่ระบาดและผลกระทบของโควิด-19 ซึ่งถือเป็นประเด็นหลักในการหารือของทุกกรอบการประชุม โดยไทยสนับสนุนความร่วมมือในกรอบอาเซียนและระหว่างอาเซียนกับคู่เจรจาเพื่อรับมือการแพร่ระบาดและผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมของโควิด-19 อย่างรอบด้าน การฟื้นฟูและสร้างอนาคตที่ยั่งยืนควบคู่ไปกับการใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG เพื่อสร้างความสมดุลของสรรพสิ่งในการฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในยุค “Next Normal” และการรักษาสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค เพื่อรับมือกับสภาพภูมิรัฐศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2565 กัมพูชาจะรับไม้ต่อในการเป็นประธานอาเซียน และในโอกาสนี้นายกรัฐมนตรีจะร่วมรับรองเอกสารผลลัพธ์ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 38 และครั้งที่ 39 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้องทั้งสิ้น 25 ฉบับ.