พระพุทธศาสนามีความสำคัญอย่างไรในฐานะเป็นศาสนาประจำชาติ

ทำไมต้องระบุว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ

เผยแพร่: 27 มี.ค. 2559 15:49   โดย: แกว่งเท้าหาเสี้ยน


เมื่อไม่กี่วันก่อนคนที่อ้างเป็นตัวแทนพุทธศาสนานำโดย พล.ต.ต.รุ่งโรจน์ เภกะนันทน์ นายกสมาคมสันติสุขโลก พร้อมด้วยสมาชิก เช่น กลุ่มพิทักษ์พระพุทธศาสนา ได้นำรายชื่อประชาชน 1 แสนรายชื่อที่สนับสนุนขอให้บัญญัติพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไว้ในรัฐธรรมนูญ ยื่นต่อนายสุพจน์ ไข่มุก รองประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)

การเสนอให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติเกิดขึ้นเกือบทุกครั้งที่มีการร่างรัฐธรรมนูญ แต่ไม่เคยประสบความสำเร็จ ก็คงเพราะคิดกันแล้วว่าการระบุไว้เช่นนั้นจะประสบผลเสียมากกว่าผลดีนั่นเอง

ผมก็ไม่คิดว่าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดนี้จะบ้าจี้ทำตามข้อเสนอข้อกลุ่มคนที่อ้างว่าเป็นตัวแทนพุทธศาสนากลุ่มนี้

แต่ก็อดตั้งคำถามไม่ได้ว่าทำไมต้องระบุว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ

ในความเป็นจริงนั้นคนไทย65ล้านคนนั้นประกอบด้วยคนที่นับถือหลายศาสนาแม้คนส่วนใหญ่กว่า90%จะนับถือศาสนาพุทธก็ตาม เรายังมีคนไทยที่นับถือศาสนาอิสลาม คริสต์ ฮินดู ซิกข์ไปจนถึงนับถือผีสางรางไม้ หรือกระทั่งไม่นับถืออะไรเลย การนับถือศาสนาหรือไม่นับถือศาสนาถือเป็นเสรีภาพของแต่ละคน

ถ้ากฎหมายรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายหลักของประเทศซึ่งต้องใช้ปกครองกับทุกคนเขียนไว้ว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ชาตินั้นย่อมหมายถึง"ชาติไทย"แล้วคนที่ไม่นับถือศาสนาพุทธจะมีสถานะใดในทางกฎหมาย เราจะนับคนนับถือศาสนาอื่นเป็นคนชาติไทยหรือไม่

บางคนอ้างว่าการเขีนว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติจะได้นำหลักของศาสนาพุทธมากเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายในการปกครองประเทศ นั่นก็ยิ่งแล้วไปใหญ่ เพราะเมื่อการบังคับใช้กฎหมายต้องมีความเท่าเทียมกัน เราจะบังคับใช้หลักของศาสนาพุทธไปบังคับคนศาสนาอื่นได้หรือ

โดยทั่วไปของรัฐธรรมนูญที่ผ่านมานั้นจะบัญญัติไว้ว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก

นั่นแสดงว่า พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขของรัฐต้องนับถือศาสนาพุทธ และในขณะเดียวกันก็ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก คือ ทรงทำนุบำรุงอุปถัมภ์ศาสนาทั้งปวงในขอบขัณฑสีมา โดยไม่ทรงแบ่งแยกว่าเป็นศาสนาใดด้วย เพราะไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดก็ล้วนแล้วแต่เป็นคนไทยภายใต้พระบรมโพธิสมภารเช่นเดียวกัน

การบัญญัติไว้เช่นนั้นมีความหมายโดยพฤตินัยอยู่แล้วว่า ศาสนาพุทธเป็นศาสนาหลักของชาติไทย และคนไทยส่วนมากก็นับถือศาสนาพุทธเป็นที่รับรู้กันทั้งโลก

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยกล่าวว่า

"เมื่อได้พูดกันมาถึงเพียงนี้แล้ว ผมก็อยากจะต้องแสดงความเห็นสักเล็กน้อยว่า เพราะเหตุใดรัฐธรรมนูญจึงได้กำหนดว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ ที่ต้องกำหนดไว้เช่นนี้ก็เพราะเหตุว่า ผู้ที่ท่านร่างรัฐธรรมนูญนั้น ท่านรู้ว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่ไม่ริษยาลัทธิ เพราะฉะนั้น หากพระมหากษัตริย์ทรงนับถือศาสนาที่ริษยาลัทธิแล้ว เสรีภาพของศาสนาในเมืองไทยเรานี้อาจจะไม่มีก็ได้ เพราะองค์พระประมุขนับถือศาสนาอื่น ที่ส่วนใหญ่เป็นศาสนาที่ริษยาลัทธิ มีความรังเกียจคนที่มิได้นับถือศาสนาเดียวกัน ลองคิดดูเอาเองก็แล้วกันครับ

ความจริงการที่พระมหากษัตริย์ไทยเป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภกนั้น เนื่องมาจากพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อเสร็จพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นพิธีพราหมณ์แล้ว พระมหากษัตริย์จะต้องเสด็จฯ เข้าไปในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ณ ที่นั้น จะมีที่ประชุมสงฆ์รออยู่ ตั้งแต่สมเด็จพระสังฆราชลงมา เมื่อพระเจ้าแผ่นดินเสด็จฯ ไปถึงแล้ว ก็จะทรงปฏิญาณต่อที่ชุมนุมสงฆ์ว่า พระองค์จะทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภกตลอดไป คำปฏิญาณนี้ ผมเข้าใจว่าเป็นภาษาบาลี พระภิกษุสงฆ์ซึ่งชุมนุมกันอยู่ ณ ที่นั้น ก็พร้อมกันรับว่าสาธุ แปลว่า "ดีแล้ว" เป็นอันเสร็จพิธี

โปรดสังเกตว่า องค์พระมหากษัตริย์ไทยทรงปฏิญาณว่า จะทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภกต่อพระภิกษุสงฆ์ในศาสนาพุทธ มิได้มีการประชุมบาทหลวงที่ไหน หรือโต๊ะอิหม่ามที่ไหน หรือสมณะในศาสนาอื่นที่ไหน มาร่วมด้วย แต่ก่อนก็เคยเข้าใจกันว่า การที่ทรงปฏิญาณนั้น หมายความว่าทรงปฏิญาณว่าจะทรงเป็นพุทธอัครศาสนูปถัมภก แต่ความเข้าใจเช่นนั้นก็เปลี่ยนไปตามการพัฒนาของระบอบประชาธิปไตยเกี่ยวกับเรื่องเสรีภาพในการนับถือศาสนา เดี๋ยวนี้การปฏิญาณขององค์พระมหากษัตริย์นั้น ก็เป็นที่เข้าใจกันว่า ทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภกของศาสนาทั้งปวงที่มีอยู่ในพระราชอาณาจักรด้วย

ผมได้กล่าวมาแล้วว่า ถ้าพระมหากษัตริย์ไม่ทรงเป็นพุทธมามกะแล้ว จะทรงปฏิญาณอย่างนี้ไม่ได้ เพราะถ้าหากทรงนับถือศาสนาอื่นแล้ว การที่ไปทรงปฏิญาณเช่นนี้ก็อาจผิดศีลธรรมของเขาเลยก็ได้

ที่ผมเขียนมาวันนี้ อยากจะบอกให้คนที่ยังสงสัยทราบทั่วกันว่า ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติไทย เพราะประมุขแห่งชาติไทยทรงเป็นพุทธมามกะ เมื่อองค์รัฐาธิปัตย์แห่งชาติไทยทรงเป็นพุทธมามกะเสียอย่างหนึ่งแล้ว ศาสนาอื่นๆ ที่มีอยู่ในชาติไทยก็ได้รับความคุ้มครอง ให้มีเสรีภาพในการนับถือศาสนา และในการปฏิบัติพิธีกรรมต่างๆ ตามศาสนาของแต่ละศาสนาได้เป็นอันดี ไม่มีข้อขัดข้องแต่อย่างไรทั้งสิ้น

ใครก็ตามที่ไปนั่งคิดว่าควรจะประกาศในกฎหมายว่า ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติของประเทศไทยนั้น ดูออกจะเป็นผู้ที่นับถือศาสนาอย่างรุนแรง ไม่คิดถึงเสรีภาพในการนับถือศาสนา หรือพูดง่ายๆ ว่าไม่คิดถึงศาสนาอื่นเสียเลยจะเอาแต่ของตัวเท่านั้น"

ศาสนาพุทธมีที่ยืนจำหลักมั่นอยู่ในความเป็นชาติของเรามาตั้งแต่เริ่มมีคำว่า"รัฐชาติ"เกิดขึ้นแล้ว ไม่มีอะไรที่จะมาสั่นคลอนความเป็นพุทธจากสังคมไทยได้ บางคนอ้างว่า เพราะคนไทยส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธนั่นแหละจึงควรจะต้องบัญญัติว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ แต่ถามว่า ถ้าบัญญัติอย่างนั้นจะเอาคนที่นับถือศาสนาอื่นไปไว้ที่ไหน

เราไม่มีความแตกแยกขัดแย้งกันเรื่องการนับถือศาสนาแม้คนส่วนใหญ่ในชาติจะนับถือศาสนาพุทธ เพราะศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่มีใจเปิดกว้างไม่รังเกียจกีดกันคนศาสนาอื่น

ความเป็นพุทธหรือการพิทักษ์พุทธศาสนานั้นอยู่ที่การยึดมั่นและปฏิบัติตามหลักคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ไม่มีความจำเป็นเลยที่จะบัญญัติความเป็นพุทธไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ จนทำให้ไทยดูกลายเป็นรัฐศาสนาที่สุดโต่งซึ่งซ่อนนัยที่กีดกันศาสนาอื่นเอาไว้ ซึ่งไม่ใช่แนวทางของพุทธและอุปนิสัยของคนไทย

ศาสนานั้นยิ่งใหญ่กว่ากฎหมาย เราเชื่อมั่นต่อศาสนาเพราะหลักธรรมคำสอนไม่ใช่การบงการของรัฐหรือใช้กลไกของรัฐมาบังคับกะเกณฑ์ จะเอาศาสนาพุทธไปเขียนไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญทำไม

พุทธ แปลว่า "ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน" ซึ่งมีความหมายอันไพศาลกว้างใหญ่ อย่าตีกรอบให้แคบลงมาเลย