กระบวนการจัดการนวัตกรรม มีอะไรบ้าง

นวัตกรรมเป็นสิ่งสำคัญซึ่งจะช่วยให้องค์กรประสบความสำเร็จในการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน และสามารถส่งมอบคุณค่าให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้อย่างต่อเนื่อง

การจะทำให้บรรลุเป้าหมายด้านนวัตกรรม องค์กรต้องวางแผนเพื่อกำหนดการจัดการด้านนวัตกรรมอย่างเป็นระบบ เช่น การพิจารณาบริบท การวางแผนการจัดการนวัตกรรม การพิจารณาปัจจัยขับเคลื่อนนวัตกรรม การกำหนดกระบวนการด้านการจัดการนวัตกรรม การประเมินประสิทธิผลของระบบการจัดการนวัตกรรม เป็นต้น

ระบบการจัดการนวัตกรรมจะช่วยให้องค์กรมีแนวทางในการจัดทำ รักษา และพัฒนาแนวปฏิบัติในการจัดการนวัตกรรมอย่างเป็นระบบ และจะช่วยให้องค์กรกลายเป็นองค์กรนวัตกรรมและประสบความสำเร็จในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ บริการ กระบวนการ องค์กร และรูปแบบธุรกิจใหม่

มาตรฐานระบบการจัดการนวัตกรรมเป็นมาตรฐานที่ช่วยให้องค์กรมีการบริหารจัดการในการขับเคลื่อนให้องค์กรดำเนินการได้ตามนโยบาย และวัตถุประสงค์ด้านนวัตกรรม ช่วยให้องค์กรพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันด้านผลิตภัณฑ์/บริการ กระบวนการ วิธีการด้านการตลาด รูปแบบธุรกิจ สถานที่ทำงาน หรือความสัมพันธ์กับหน่วยงานภายนอก สร้าง/เพิ่มคุณค่าให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรวมทั้งองค์กร

จากการได้ศึกษาเรียนรู้ในรายวิชาการจัดการนวัตกรรมกับท่านอาจารย์ ดร.ธนพล ก่อฐานะ ทำให้เรียนรู้ถึงบทบาทสำคัญของภาวะผู้นำ ที่จะสามารถนำพาองค์กรให้อยู่รอดท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงของโลกได้นั้น การแก้ปัญหาดังกล่าว จำเป็นต้องมีการนำนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้ พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ และยอมรับการเปลี่ยนแปลงด้วยการนำกลยุทธ์ใหม่ ๆ มาปรับใช้ในการทำงาน ซึ่งท่านอาจารย์ได้นำประสบการณ์ชีวิตในทำงานของท่านมาแบ่งปันความรู้ด้วยการถอดบทเรียนเป็นกรณีศึกษาให้กับนักศึกษาได้เรียนรู้ร่วมกัน ทำให้เห็นว่าในยุคที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงทุกวัน สถานการณ์โลกก็เปลี่ยนอย่างรวดเร็วตลอดเวลา ความรู้ใหม่ ๆ ก็เกิดขึ้นทุกวินาที

ดังนั้น องค์ความรู้ มุมมอง และแนวคิดในเชิงพลวัตย่อมแตกต่างจากที่เคยได้เรียนรู้มา อาจารย์จึงได้ถอดบทเรียนการทำงานของอาจารย์ในการก้าวข้ามทุกปัญหาที่เกิดขึ้นในวิกฤตการณ์นั้นได้ด้วยทัศนคติที่ดี โดยการปรับใช้กลยุทธ์เฉพาะทางในหลากหลายรูปแบบทั้งทางทฤษฎีและการปฏิบัติแบบบูรณาการเข้าด้วยกัน จนทำให้ผ่านพ้นวิกฤติที่เกิดขึ้นมาได้ โดยอาจารย์ใช้เทคนิคการสอนแบบเรียบง่ายแต่มองเห็นภาพตามด้วยการสื่อสารแบบเล่าเรื่องราว ด้วยวิธีคิด มุมมอง สถานการณ์ บวกประสบการณ์ชีวิตในการเรียนรู้และการทำงานมาเป็นกระบวนการประกอบการตัดสินใจ คิด วิเคราะห์และแก้ปัญหา ซึ่งเป็นการเรียนการสอนที่เข้าใจง่าย นักศึกษาสามารถนำข้อมูลชุดความรู้ใหม่นี้มาสังเคราะห์และนำไปเป็นกรณีศึกษาประกอบการเรียนได้ทุกวิชา อีกทั้งยังเป็นความรู้จากห้องเรียนไปสู่การประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาของและตนเองและองค์กรได้เป็นอย่างดี

จะเห็นได้ว่า “นวัตกรรม” เป็นคำที่กล่าวถึงกันมากในแวดวงของการดำเนินธุรกิจ และเป็นคำที่ผู้บริหารทุกองค์กรปรารถนาและพยายามขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นภายในองค์กร แต่การที่จะทำให้องค์กรประสบผลสำเร็จในการทำนวัตกรรมนั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก เพราะเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลา ทรัพยากร ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ซึ่งต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการขับเคลื่อน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของธุรกิจให้ก้าวสู่เวทีโลกได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน เราจึงควรให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ ๆ มาช่วยในการดำเนินธุรกิจให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด

อย่างไรก็ตาม เวลาเราพูดถึงนวัตกรรมส่วนใหญ่เราก็มักจะนึกถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ ๆ รวมทั้งการปรับเปลี่ยนกระบวนการในการทำงาน แต่เรามักจะไม่ค่อยได้นึกถึงนวัตกรรมทางการจัดการ (Management Innovation) กันเท่าใด เนื่องจากนวัตกรรมทางการจัดการอาจจะเป็นสิ่งที่จับต้องได้ยากกว่านวัตกรรมทั่วๆ ไป และตัวอย่างของนวัตกรรทางการจัดการก็ไม่ค่อยได้พบเห็นทั่วไปเช่นนวัตกรรมในด้านอื่น ๆ

ในวารสาร Harvard Business Review ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2549 นี้ Gary Hamel ซึ่งถึงเป็นกูรูทางด้านกลยุทธ์ผู้หนึ่งได้เขียนบทความเรื่องชื่อ The Why, What, and How of Management Innovation ซึ่งในบทความดังกล่าว Hamel พยายามนำเสนอถึงแนวคิด ความจำเป็น และความสำคัญ ของนวัตกรรมทางการจัดการ

โดย Hamel พยายามตอกย้ำถึงความสำคัญของนวัตกรรมทางการจัดการว่ามีความสำคัญต่อการนำพาองค์กรสู่ความสำเร็จ ไม่แพ้นวัตกรรมด้านอื่นๆ พร้อมทั้งชี้ให้เห็นว่าในรอบร้อยปีที่ผ่านมา นวัตกรรมทางการจัดการเป็นปัจจัยที่สำคัญที่นำพาองค์กรหลายแห่งสู่ความสำเร็จมากกว่านวัตกรรมในด้านอื่นอย่างไรก็ดี ปัญหาสำคัญ ก็คือองค์กรต่าง ๆ ขาดระบบหรือกระบวนการในการผลักดันให้เกิดนวัตกรรมทางการจัดการ Hamel ระบุไว้ว่านวัตกรรมทางการจัดการ หรือ Management Innovation หมายถึง แนวทางคิดในด้านการบริหารจัดการที่แตกต่างจากการบริหารจัดการปกติ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อการบริหารจัดการขององค์กร หรือถ้าให้ง่ายเข้า ก็คือสิ่งที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวิธีการบริหารจัดการขององค์กร ในขณะที่นวัตกรรมในด้านอื่นๆ เน้นการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ บริการ หรือ กระบวนการในการทำงานทั่วๆ ไป นวัตกรรมทางการจัดการเน้นปรับปรุงกระบวนการในการบริหารจัดการภายในองค์กร (Management Process)

ในบทความดังกล่าว Gary Hamel ได้ยกตัวอย่างขององค์กรชั้นนำที่มีนวัตกรรมทางการจัดการ และประสบความสำเร็จอันได้แก่ GE, DuPont, P&G, Visa, และ Linux โดยนวัตกรรมทางการจัดการของ GE ได้แก่การนำระบบการบริหารที่มีความเป็นระบบและชัดเจนเข้ามาทำให้เกิดความเป็นระบบเรียบสำหรับ GE ที่ในอดีตอุดมไปด้วยนักวิทยาศาสตร์ ที่มุ่งเน้นแต่การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจนขาดระเบียบในการบริหาร หรือ ของ DuPont ก็เป็นการนำเอาหลักการของ Return on Investment (ROI) มาใช้เป็นแห่งแรก จนกระทั่งสามารถหาตัวชี้วัดทางการเงินที่สามารถใช้ในการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ ภายในองค์กร หรือ P&G ที่เป็นผู้บุกเบิกเรื่องของการบริหารแบรนด์ขึ้นมาใช้เป็นแห่งแรก หรือ Visa ที่เป็นองค์กรแรกๆ ที่มีลักษณะเป็น Virtual Organization อย่างแท้จริง หรือ Linux ที่พัฒนาซอฟแวร์โดยการอาศัยโปรแกรมเมอร์จากทั่วโลกให้เข้ามามีส่วนร่วม หรือที่เรียกว่า Open Source Developmentบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างเครือซิเมนต์ไทย เครือสหพัฒน์ หรือ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ก็น่าจะมีนวัตกรรมทางการจัดการของตนเอง ที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากการลอกเลียนของที่มีอยู่แล้วหรือของต่างประเทศ และในองค์กรที่มีนวัตกรรมทางการจัดการจะทำให้เกิดการพัฒนาองค์กร หรือนำไปสู่ความสำเร็จได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่น่าศึกษา