ขั้นตอนของความคิดสร้างสรรค์คืออะไร

        จากการวิเคราะห์ของนักการศึกษาและนักจิตวิทยา ได้ศึกษาเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์และได้จัดลำดับขั้นตอนการเกิดความคิดสร้างสรรค์ไว้ 4 ขั้นตอน ดังนี้ (นิพนธ์ จิตต์ภักดี.2523 : 20)
               

        1. ขั้นเตรียม (Preparation) เป็นขั้นตอนการรวบรวมข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับความรู้ทั่วไปและความรู้เฉพาะ เพื่อมาประกอบการพิจารณา โดยอาศัยพื้นฐานของกระบวนการต่อไปนี้
          1.1 การสังเกตนักคิดสร้างสรรค์จำเป็นต้องเป็นนักสังเกตที่ดี และสนใจต่อสิ่งแปลกๆใหม่ ที่ได้พบเห็นเสมอ
          1.2 การจำแนก หมายถึง กระบวนการจำแนกข้อมูลที่ได้จากการสังเกตเป็นหมวดหมู่เพื่อใช้เป็นแนวทางในการลำดับความคิดต่อไป
          1.3 การทดลอง เป็นหัวใจของการสร้างสรรค์งาน เพราะผลการทดลองจะเป็นข้อมูลสำหรับคิดสร้างสรรค์ต่อไป

          2. ขั้นฟักตัว (Incubation) เป็นขั้นที่ใช้เวลาสำหรับการครุ่นคิดเป็นระยะที่ยังคิดไม่ออกบางครั้งแทบไม่ได้ใช้ความคิดเลย การฟักตัวนี้บางครั้งความคิดอื่นจะแวบมาโดยไม่รู้ตัว

         3. ขั้นคิดออก (Illumination or Inspiration) เป็นขั้นของการแสดงภาวะสร้างสรรค์อย่างแท้จริง คือสามารถมองเห็นลู่ทางในการริเริ่ม หรือสร้างสรรค์งานอย่างแจ่มชัด โดยตลอด

         4. ขั้นพิสูจน์ (Verification) เป็นขั้นการทบทวน ตรวจสอบ ปรับปรุงประเมินค่าวิธีการว่าใช้ได้หรือไม่ เพื่อให้คำตอบที่ถูกต้องแน่นอนเป็นกฎเกณฑ์ต่อไป
Divito (1971 : 208) ได้กำหนดขั้นตอนของการเกิดความคิดสร้างสรรค์ไว้ดังนี้
         1. ขั้นวิเคราะห์ (Analysis) คือ ขั้นสัมผัสหรือเผชิญกับสถานการณ์ ซึ่งส่วนมากจะเป็นปัญหาต่างๆ ปัญหาจะถูกนำมาวิเคราะห์ กำหนดนิยามเพื่อก่อให้เกิดความเข้าใจในปัญหาและส่วนประกอบ
         2. ขั้นผสมผสาน (Manipulate) หลังจากรู้สภาพปัญหา วิเคราะห์ปัญหา ความคิดที่จะแก้ปัญหาจะถูกนำมาผสมผสานกัน ซึ่งจะต้องอาศัยความคับข้องใจและความเข้าใจในปัญหา
         3. ขั้นการพบอุปสรรค (Impasse) เป็นขั้นที่เกิดขึ้นบ่อยและเป็นขั้นสูงสุดของการแก้ปัญหาในขั้นนี้จะมีความรู้สึกว่าวิธีการบางอย่างในการแก้ปัญหานั้นใช้ไม่ได้ คิดไม่ออกรู้สึกล้มเหลวในการแก้ปัญหา
        4. ขั้นคิดออก (Eureka) เป็นขั้นคิดแก้ปัญหาได้ทันทีทันใดหลังจากที่ได้พบอุปสรรคมาแล้ว ซึ่งจะทำให้เกิดความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งในการแก้ปัญหานั้นๆ
         5. ขั้นพิสูจน์ (Verification) เป็นขั้นต่อจากขั้นพบอุปสรรคและขั้นคิดออกเพื่อพิสูจน์ตรวจสอบความคิดเพื่อยืนยันความคิดดังกล่าว

         ความคิดสร้างสรรค์ไม่จำเป็นต้องมีขั้นตอนเป็นลำดับขั้นตอนดังกล่าวแต่เป็นการคาดคะเนจากเหตุการณ์ทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับความคิดสร้างสรรค์ การคิดสร้างสรรค์ของบุคคล ไม่จำเป็นต้องเป็นขั้นสูงสุดเสมอไป แต่ความคิดสร้างสรรค์อาจเป็นขั้นตอนใดในหกขั้นตอนต่อไปนี้ (บุญเหลือ ทองอยู่. 2521 : 16)
         ขั้นที่ 1 การคิดสร้างสรรค์ขั้นต้น
         ขั้นที่ 2 ขั้นมีผลผลิตออกมา
         ขั้นที่ 3 ขั้นสร้างสรรค์
         ขั้นที่ 4 ขั้นความคิดสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ใหม่
         ขั้นที่ 5 ขั้นปรับปรุงความคิดสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ
         ขั้นที่ 6 ขั้นความคิดสร้างสรรค์สูงสุด สามารถแสดงความคิดเป็นนามธรรม

อ้างอิงจาก

นิพนธ์ จิตต์ภักดี. (2523). “การสอนแบบสร้างสรรค์,” ประชากรศึกษา. 7(3) : 19-21 ; มิถุนายน-
กรกฎาคม.

Divito,Altred.  (1971).  Recognized Assessing Creativity Developing Teacher Competencies. Englewood  Cliffs, New Jersey : Prentice-Hall Inc.

บุญเหลือ ทองอยู่. (2521). “ความคิดสร้างสรรค์,” มิตรครู. 7(4) : 3-4 เมษายน.

 

ขั้นตอนของความคิดสร้างสรรค์คืออะไร

ความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบ


            เมื่อพูดถึงความคิดสร้างสรรค์ หลายคนอาจนึกถึงศิลปะหรือผลงานที่ใช้หัวคิดดีไซน์ให้ออกมาเฉพาะตัว แท้จริงแล้วความคิดสร้างสรรค์มีอยู่ในทุกผลงาน และการแทรกตัวเข้าไปของความคิดเหล่านั้นก็เพื่อให้เกิดเป็นความสุขและสุนทรียภาพในการทำงาน

            Creativity มีรากศัพท์มาจากภาษาละติน Creo = to creat, to make แปลว่า สร้าง หรือ ทำให้เกิด

                        กระบวนการคิดของสมองสามารถคิดได้หลากหลายและแปลกใหม่อยู่เสมอ เพราะภูมิหลังพื้นเพที่มีความแตกต่าง ส่งผลให้เกิดความคิดจินตนาการที่ไม่เหมือนใครและสามารถนำไปประยุกต์ได้กับศิลปะทุกแขนง ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีหรือปฏิบัติ ความคิดสร้างสรรค์ จะเชื่อมโยงความคิดที่หลากหลาย แสวงหาทางเลือกใหม่อยู่เสมอ กระบวนการของความคิดสร้างสรรค์อาจเกิดขึ้นโดยบังเอิญหรือโดยตั้งใจ ซึ่งทำได้โดยการฝึกฝน ระดมสมอง อีกทั้งความสามารถในการมองเห็นความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ ขยายขอบเขตความคิดเดิมๆ ให้กว้างและหลากหลายแง่มุม เหล่านี้ทำให้เกิดเป็นความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ เช่นกัน

            องค์ประกอบของความคิดสร้างสรรค์ ได้แก่ ความคิดนั้นต้องเป็นสิ่งใหม่ไม่เคยมีมาก่อน (New Original) ใช้การได้ (Workable) และมีความเหมาะสม (Appropriate) การคิดเชิงสร้างสรรค์จึงเป็นการคิดเพื่อการเปลี่ยนแปลงจากสิ่งเดิมไปสู่สิ่ง ใหม่ที่ดีกว่า ซึ่งจะได้ผลลัพธ์ที่ต่างไปโดยสิ้นเชิงหรือที่เรียกว่า "นวัตกรรม" (Innovation)

ความคิดสร้างสรรค์ อาจสรุปได้คร่าวๆ ดังนี้
      1.ความสามารถ (ability) ในการจินตนาการหรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ อาจเริ่มจากการสร้างสรรค์ความคิดใหม่จากการผสมผสาน (combining หรือ synthesizing) การเปลี่ยนแปลง (changing) หรือการนำกลับมาใช้ใหม่ (reapplying) ความคิดสร้างสรรค์บางเรื่องอาจน่าทึ่งและยอดเยี่ยม บางเรื่องอาจจะเป็นเรื่องธรรมดาที่คนส่วนใหญ่มองข้าม ความจริงแล้วทุกคนมีความคิดสร้างสรรค์ สังเกตได้ตั้งแต่วัยเด็ก แต่เมื่อมีอายุมากขึ้น ความคิดสร้างสรรค์มักจะถูกครอบงำด้วยกระบวนการศึกษา และสามารถรื้อฟื้นให้กลับมาได้แต่ทั้งนี้ต้องประกอบกับความถนัด ความต้องการ พร้อมของใจและวันเวลาที่จะเป็นตัวช่วยให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ขึ้น
      2.ทัศนคติ (attitude) คือ การยอมรับการเปลี่ยนแปลงและสิ่งใหม่ พร้อมที่จะเล่นกับความคิดที่หลากหลายและความเป็นไปได้ (probability) มีความคิดที่ยืดหยุ่น ชอบเห็นสิ่งที่ดีขึ้นและพร้อมที่จะปรับปรุงอยู่เสมอ
      3.กระบวนการ (process) ผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์จะทำงานหนักเพื่อพัฒนาความคิดและแนวทางแก้ปัญหาของตนให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยวิธีการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไปหรือปรับปรุงให้มีความสมบูรณ์ขึ้นตามลำดับ ความคิดสร้างสรรค์ที่เยี่ยมยอดไม่เคยปรากฏว่าเกิดจากการคิดเพียงครั้งเดียวหรือจากกิจกรรมสั้นๆ ผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์รู้ดีว่า การปรับปรุงให้ดีขึ้นสามารถทำได้เสมอ

สำหรับวิธีการคิดสร้างสรรค์ มีวิธีการที่หลากหลายแต่ที่สำคัญมี 5 วิธีการ คือ
      1.วิวัฒนาการ (evolution) เป็นวิธีการปรับปรุงให้ดีขึ้นด้วยวิธีการแบบสะสมทีละขั้นตอน ความคิดใหม่เกิดจากความคิดหลากหลาย แนวทางแก้ปัญหาใหม่ๆ เกิดจากแนวทางเก่าที่ปรับปรุงให้ดีขึ้น
      2.การผสมผสาน (synthesis) เป็นการผสมผสานหรือสังเคราะห์แนวคิดที่ ๑ กับ  ๒ เป็นแนวคิดที่ ๓ ซึ่งกลายเป็นความคิดใหม่
      3.การปฏิวัติ (revolution) ในบางครั้งความคิดใหม่เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก
      4.ปรับเปลี่ยนวิธีการใหม่ (reapplication) ปรับมุมมองเรื่องเก่า ด้วยมุมมองใหม่หรือมองแบบนอกกรอบ
      5.ปรับเปลี่ยนทิศทาง (changing direction) เป็นการปรับเปลี่ยนทิศทางการมองปัญหาด้วยวิธีการที่หลากหลายยิ่งขึ้น

เพราะไม่ว่าเราต้องการความคิดสร้างสรรค์ไปใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานใดๆ ก็แล้วแต่ กระบวนความคิดหรือเหตุผลดังกล่าวข้างต้นมีความน่าสนใจชวนให้เราฉุกความคิดและกระตุกความคิดให้ลองปรับเปลี่ยนแนวความคิดในการสร้างสรรค์ผลงานได้ นอกจากจะได้แนวทางเพิ่มขึ้นและยังอาจได้ผลงานใหม่ๆ โดยไม่รู้ตัวอีกก็เป็นได้

ที่มา : novabizz