ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐาน มีอะไรบ้าง

ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์

 

ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐาน มีอะไรบ้าง

ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เป็นทักษะการคิดของนักวิทยาศาสตร์ที่นำมาใช้ในการศึกษาค้นคว้า สืบเสาะ หาความรู้และแก้ปัญหาต่างๆ ทักษะกระบวนทางวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐาน มี 8 ทักษะ ดังนี้

ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐาน มีอะไรบ้าง

1.ทักษะการสังเกต

     เป็นการใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 อย่างใด อย่างหนึ่งหรือใช้หลายอย่างร่วมกัน ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้นและผิวกาย เพื่อค้นหาและบอกรายละเอียดของสิ่งต่างๆ ที่สังเกตโดยที่ไม่ใส่ความคิดเห็นของผู้สังเกตลงไป

ข้อมูลที่ได้จากทักษะการสังเกตประกอบด้วย

  - ข้อมูลเกี่ยวกับรูปร่าง ลักษณะและสมบัติ

  - ข้อมูลเชิงปริมาณ

  - ข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่สังเกตเห็นจากวัตถุหรือเหตุการณ์นั้น

 ความสามารถที่แสดงว่าเกิดทักษะแล้ว...

  - การชี้บ่งและการบรรยายสมบัติของวัตถุได้ โดยการใช้ประสาทสัมผัสอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง

  - บรรยายสมบัติเชิงปริมาณของวัตถุได้ โดยการกะประมาณ

  - บรรยายการเปลี่ยนแปลงของสิ่งที่สังเกตได้ 

 2.ทักษะการจำแนกประเภท

     เป็นการแบ่งพวก การจัดกลุ่มสิ่งต่างๆ หรือการเรียงลำดับ วัตถุ หรือเหตุการณ์ต่างๆ ออกเป็นหมวดหมู่โดยใช้ความเหมือนกันหรือความแตกต่างกัน มาเป็นเกณฑ์ในการจำแนกวัตถุ เหตุการณ์ หรือสิ่งต่างๆ ออกจากกัน

ความสามารถที่แสดงว่าเกิดทักษะแล้ว...

  - เรียงลำดับหรือแบ่งพวกสิ่งต่างๆ จากเกณฑ์ที่ผู้อื่นกำหนดให้ได้

  - เรียงลำดับหรือแบ่งพวกสิ่งต่างๆ โดยใช้เกณฑ์ของตนเองได้

  - บอกเกณฑ์ที่ผู้อื่นใช้เรียงลำดับหรือแบ่งพวกได้

 3.ทักษะการวัด

     เป็นการเลือกและการใช้เครื่องมือต่างๆ เพื่อหาค่าของสิ่งต่างๆ ออกมาเป็นตัวเลขได้ถูกต้องและเหมาะสมกับสิ่งที่ต้องการวัด รวมทั้งบอกหรือระบุหน่วยของตัวเลขที่ได้มาจากการวัดอย่างถูกต้อง

ความสามารถที่แสดงว่าเกิดทักษะแล้ว...

  - เลือกเครื่องมือที่เหมาะสมในการวัดปริมาณต่างๆ ของสิ่งที่ศึกษา

  - ใช้เครื่องมือวัดปริมาณต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ รวดเร็ว

  - คิดวิธีการที่จะหาค่าปริมาณต่างๆ ได้ ในกรณีที่ไม่อาจใช้เครื่องมือวัดปริมาณนั้นได้โดยตรง

  - เลือกหน่วยที่มีค่ามากๆ หรือน้อยๆ นิยมใช้คำอุปสรรคแทนพหุคูณปริมาณนั้นๆ

  - บอกความหมายของปริมาณซึ่งได้จากการวัดได้อย่างเหมาะสม  กล่าวคือ ปริมาณที่ได้จากการวัด ละเอียดถึงทศนิยมหนึ่งตำแหน่ง

    ของหน่วยย่อยที่สุดเท่านั้น

  - บอกความหมายของเลขนัยสำคัญได้

 4.ทักษะการใช้จำนวน

     เป็นการนำค่าที่ได้จากการสังเกตเชิงปริมาณ  การวัด  การทดลอง และจากแหล่งอื่นๆ มาจัดกระทำให้เกิดค่าใหม่  โดยนับและนำตัวเลขที่แสดงจำนวนที่นับได้มาคิดคำนวณโดยการ  บวก   ลบ   คูณ   หารและหาค่าเฉลี่ยยกกำลังสองหรือถอดราก  เพื่อใช้ในการสื่อความหมายให้ชัดเจนและเหมาะสม 

ความสามารถที่แสดงว่าเกิดทักษะแล้ว...

  - หาผลลัพธ์ของการบวกและการลบปริมาณที่ได้จากการวัดได้อย่างถูกต้อง

  - หาผลลัพธ์ของการคูณและการหาปริมาณที่ได้จาการวัดได้อย่างถูกต้อง

  - หาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรจากข้อมูล โดยใช้ความรู้คณิตศาสตร์ในเรื่องการแปรผัน  การสร้างสมการ   มาสร้างเป็นสูตรได้

  - คำนวณเกี่ยวกับปริมาณที่มีคำอุปสรรคประกอบหน่วยได้อย่างถูกต้อง

 5.ทักษะการลงความเห็นจากข้อมูล

     เป็นการแสดงให้เห็นว่าสามารถอธิบายหรือสรุปโดยเพิ่มความคิดเห็นให้กับข้อมูล โดยใช้ความรู้หรือประสบการณ์เดิมมาช่วย

หมายถึง การเพิ่มความคิดเห็นให้กับข้อมูลที่ได้จากการสังเกตอย่างมีเหตุผล โดยอาศัยความรู้หรือประสบการณ์เดิมมาช่วย  ข้อมูลนี้อาจจะได้มาจากการสังเกต การวัดหรือการทดลอง การลงความเห็นจากข้อมูลชุดเดียวกัน อาจลงความเห็นหรือมีคำอธิบายได้หลายอย่างทั้งนี้เนื่องจากประสบการณ์และความรู้เดิมต่างกัน  แต่อย่างไรก็ตาม การลงความเห็นนั้นต้องเป็นไปอย่างสมเหตุสมผลกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นหรือข้อมูลที่สังเกตได้ การลงความเห็นต่างจากข้อมูล ต่างจากการทำนายในแง่ที่ว่า การลงความเห็นจากข้อมูล

ไม่ได้บอกเหตุการณ์ในอนาคตเป็นแค่เพียงการอธิบายหรือหาความหมายของข้อมูลโดยอาศัยความรู้หรือประสบการณ์เดิมมาช่วย

เท่านั้น

ความสามารถที่แสดงว่าเกิดทักษะแล้ว...

  - สามารถอธิบายหรือสรุปโดยเพิ่มความคิดเห็นให้กับข้อมูลโดยใช้ความรู้หรือประสบการณ์เดิมมาช่วย

 6.ทักษะการจัดกระทำและสื่อความหมายข้อมูล

     เป็นการนำข้อมูลที่รวบรวมได้จากวิธีการต่างๆ มาจัดกระทำให้อยู่ในรูปแบบที่มีความหมายหรือมีความสัมพันธ์กันมากขึ้น รวมทั้งนำข้อมูลมาจัดกระทำในรูปแบบต่างๆ เช่น แผนภาพ แผนภูมิ ตาราง กราฟ การเขียนบรรยาย สมการ เพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจความหมายได้ง่ายขึ้น

ความสามารถที่แสดงว่าเกิดทักษะแล้ว...

  - เลือกรูปแบบที่จะใช้การเสนอข้อมูลได้เหมาะสม

  - บอกเหตุในการเลือกรูปแบบที่จะใช้ในการเสนอข้อมูล

  - ออกแบบการเสนอข้อมูลตามรูปแบบที่เลือกไว้ได้

  - เปลี่ยนแปลงข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบใหม่ที่เข้าใจดีขึ้น

  - บรรยายลักษณะสิ่งใดสิ่งสิ่งหนึ่งด้วยข้อความที่เหมาะสม กะทัดรัด สื่อความหมายให้ผู้อื่นเข้าใจได้

 7.ทักษะการหาความสัมพันธ์ของสเปซกับเวลา แบ่งได้ 2 แบบคือ

     7.1 การหาความสัมพันธ์ระหว่างสเปซกับสเปซ เป็นการหาความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ที่วัตถุต่างๆ ครอบครองอยู่

ความสามารถที่แสดงว่าเกิดทักษะแล้ว...

  - การชี้บ่งรูป 2 มิติและวัตถุ 3 มิติที่กำหนดได้

  - สามารถวาดภาพ 2 มิติ จากวัตถุหรือภาพ 3 มิติที่กำหนดได้

  - บอกชื่อของรูปและรูปทรงเรขาคณิตได้

  - บอกความสัมพันธ์ระหว่าง 2 มิติ กับ 3 มิติได้

     7.2 การหาความสัมพันธ์ระหว่างสเปซกับเวลา เป็นการหาความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ที่วัตถุครอบครอง เมื่อเวลาผ่านไป

ความสามารถที่แสดงว่าเกิดทักษะแล้ว...

  - บอกตำแหน่งหรือทิศทางของวัตถุได้

  - บอกได้ว่าวัตถุอยู่ในตำแหน่งหรือทิศทางใดของอีกวัตถุหนึ่ง

  - บอกความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งที่อยู่ของวัตถุกับเวลาได้

  - บอกความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งของที่อยู่หน้ากระจกและภาพที่ปรากฏในกระจกว่าเป็นซ้ายหรือขวาของกันและกันได้

  - บอกความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงขนาดหรือปริมาณของสิ่งต่างๆ กับเวลาได้

8.ทักษะการพยากรณ์

     เป็นการคาดคะเนผลลัพธ์ของปรากฏการณ์ สถานการณ์  การสังเกตหรือการทดลองไว้ล่วงหน้าโดยอาศัยข้อมูลหรือประสบการณ์ของเรื่องนั้นที่เกิดซ้ำๆ เป็นแบบรูปมาช่วยในการคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้น

ความสามารถที่แสดงว่าเกิดทักษะแล้ว...

  - พยากรณ์ผลที่จะเกิดขึ้นจากข้อมูลที่เป็นหลักการ กฎหรือทฤษฎีที่มีอยู่ได้

  - พยากรณ์ผลที่จะเกิดขึ้นภายในขอบเขตข้อมูลเชิงปริมาณที่มีอยู่ได้

  - ทำนายผลที่จะเกิดขึ้นภายนอกขอบเขตของข้อมูลเชิงปริมาณที่มีอยู่ได้

* * * * * * * * *

ที่มาของข้อมูล : บทความการศึกษา อจท.

แผนกวิชาการระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน

ฝ่ายการศึกษา อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ