การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ฎีกา

คำพิพากษาฎีกาที่ 600/2557-เลิกจ้างได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า

คำพิพากษาฎีกาที่ 600/2557
เนติฯ
	คู่กรณี
โจทก์	
	นายธีระเดช เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา  
จำเลย
	มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กับพวก 
-
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
	ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
	มาตรา 583
	จ้างแรงงาน เลิกจ้าง 
	พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงาน ฯ พ.ศ. 2522 
	มาตรา 49
-
ข้อมูลย่อ
	จำเลยทั้งสองลงโทษโจทก์ในความผิดฐานเปิดสอนพิเศษให้
แก่นักศึกษาและรับเงินค่าสอนจากนักศึกษาด้วยการลดขั้นเงินเดือน
1 ขั้น จำเลยทั้งสองไม่อาจนำความผิดนั้นมาเป็นเหตุเลิกจ้างได้อีก
ส่วนความผิดวินัยฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาของโจทก์แม้
ไม่ใช่ความผิดร้ายแรง แต่โจทก์เป็นถึงอาจารย์ในมหาวิทยาลัย แต่กลับ
มีพฤติกรรมไม่ทำตามคำสั่งของจำเลยทั้งสองหลายประการ จึงมีเหตุ
สมควรเพียงพอที่จำเลยทั้งสองจะเลิกจ้างโจทก์ได้ การที่จำเลยทั้งสอง
เลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม ทั้งการกระทำของโจทก์ยัง
เป็นการกระทำอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูก
ต้องและสุจริต จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอก
กล่าวล่วงหน้า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583
-
รายละเอียด
	โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย
จำเลยที่ 2 เป็นอธิการบดี มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 เมื่อ
วันที่ 20 มิถุนายน 2533 จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง
ตำแหน่งอาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นคณะ
ศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ
19,480 บาท (เป็นค่าจ้าง 17,980 บาท ค่าที่ปรึกษาชมรม 1,500
บาท) กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกสิ้นเดือน ต่อมาวันที่ 15 พฤศจิกายน
2546 จำเลยบอกเลิกจ้างโจทก์เป็นหนังสืออ้างว่าประพฤติตนไม่เป็น
ไปตามระเบียบวินัยตามข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยการบริหารงาน
บุคคล พ.ศ. 2541 โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดและมิได้บอกกล่าว
ล่วงหน้า จำเลยจึงต้องจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน
29,220 บาท แต่จำเลยให้โจทก์เพียง 17,980 บาท ยังขาดอยู่อีก
11,140 บาท โจทก์ทำงานติดต่อกันครบ 10 ปี จำเลยต้องจ่ายค่า
ชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน เป็นเงิน 194,800 บาท
แต่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์เพียง 179,800 บาท ยังขาดอยู่อีก
15,000 บาท โจทก์ยังมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามข้อบังคับของ
จำเลยว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. 2541 โดยคำนวณจากเงิน
เดือนสุดท้ายคูณด้วยจำนวนปี เศษของปีให้คำนวณตามส่วน โจทก์
ทำงานมา 13 ปี 4 เดือน 25 วัน จึงมีสิทธิรับเงินบำเหน็จ
261,067.57 บาท แต่จำเลยจะจ่ายให้เพียง 61,164.83 บาท ยัง
ขาดอยู่อีก 199,902.74 บาท โจทก์จึงยังไม่รับ และการเลิกจ้าง
โจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย
เป็นเงิน 2,426,400 บาท โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยไม่ชำระ ขอให้
บังคับจำเลยชำระค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 11,240 บาท
เงินบำเหน็จ 199,902.74 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5
ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าชดเชย
15,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับตั้งแต่วัน
เลิกจ้าง (วันที่ 15 พฤศจิกายน 2546) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ค่าเสียหายกรณีเลิกจ้างไม่เป็นธรรม 2,426,400 บาท พร้อมดอกเบี้ย
ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่
โจทก์
	จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ
17,980 บาท ส่วนค่าที่ปรึกษาชมรมรักบี้จำนวน 1,500 บาท
จำเลยที่ 1 จ่ายให้เพื่อเป็นสวัสดิการและเป็นขวัญกำลังใจไม่ใช่ค่าจ้าง
สาเหตุที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2546 สืบเนื่อง
มาจากเมื่อประมาณกลางเดือนมิถุนายน 2546 จำเลยที่ 1 ได้รับ
คำร้องเรียนจากผู้ปกครองนักศึกษาว่าโจทก์เปิดสอนพิเศษ วิชาคณิต
ศาสตร์และเรียกเก็บเงินจากนักศึกษา อันเป็นการขัดนโยบายของ
จำเลยที่ 1 ต่อมาวันที่ 26 มิถุนายน 2546 จำเลยที่ 1 แต่งตั้งคณะ
กรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ผลการสอบสวนคณะกรรมการมีความ
เห็นว่าเป็นที่น่าเชื่อได้ว่าโจทก์จัดเปิดสอนพิเศษวิชาคณิตศาสตร์และ
เรียกเก็บเงินจากนักศึกษาจริง การกระทำดังกล่าวเป็นการขัดจรรยา
บรรณของการเป็นอาจารย์และเป็นการผิดวินัย จำเลยที่ 1 จึงมีคำสั่ง
ลงโทษโดยลดเงินเดือนโจทก์ 1 ขั้น และสั่งห้ามโจทก์มิให้สอนนักศึกษา
กับมอบหมายให้โจทก์เขียนเอกสารทางวิชาการเกี่ยวกับความรู้พื้น
ฐานด้านคณิตศาสตร์ โดยให้โจทก์ไปนั่งประจำที่ห้องทำงานของหมวด
วิชาวิทยาศาสตร์เชิงปริมาณ แต่โจทก์มิได้ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว
ถือเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของผู้บังคับบัญชาอันชอบด้วยกฎหมายและ
เป็นธรรม ละทิ้งหน้าที่การงาน ในวันที่ 8 ตุลาคม 2546 จำเลยที่ 1
แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาประสิทธิภาพในการทำงานและสภาพ
การเป็นพนักงานของโจทก์ ต่อมาวันที่ 13 พฤศจิกายน 2546 จำเลย
ที่ 1 มีมติโดยที่ประชุมคณะกรรมการบุคคลจำเลยที่ 1 ให้เลิกจ้าง
โจทก์ โดยจำเลยที่ 1 จ่ายเงินให้โจทก์เป็นค่าชดเชย 10 เดือน เป็นเงิน
179,800 บาท ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 17,980 บาท
เงินบำเหน็จ 61,164.83 บาท เงินเดือนระหว่างวันที่ 1 ถึง 15
พฤศจิกายน 2546 เป็นเงิน 8,990 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น
267,934.83 บาท ส่วนค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์
ไม่มีสิทธิได้รับเพราะโจทก์กระทำการอันไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่
ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่ง
และพาณิชย์ มาตรา 583 แต่จำเลยที่ 1 จ่ายให้เท่ากับเงินเดือนโจทก์
1 เดือน จึงถือว่าโจทก์ได้รับประโยชน์ จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิด
เป็นการส่วนตัวเพราะได้กระทำไปในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 และ
การเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม โจทก์ไม่เสียหายตามฟ้อง
ขอให้ยกฟ้อง
	ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่า
จ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 11,239.85 บาท และค่าเสียหาย
เนื่องจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 253,240 บาท พร้อมดอกเบี้ยใน
อัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2546
เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ทั้งนี้จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับ
ผิดเป็นการส่วนตัว คำขออื่นให้ยก
	จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
	ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางฟัง
ข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน
2533 ตำแหน่งอาจารย์สอนวิชาคณิตศาสตร์ และเป็นที่ปรึกษา
ชมรมรักบี้ให้แก่จำเลยที่ 1 หลังเวลาเลิกเรียน โจทก์ได้รับค่าจ้างอัตรา
สุดท้ายเดือนละ 17,980 บาท และได้รับเงินค่าที่ปรึกษาชมรมรักบี้
เดือนละ 1,500 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน เมื่อวันที่ 15
พฤศจิกายน 2546 จำเลยทั้งสองบอกกล่าวเลิกจ้างโจทก์โดยให้มีผล
ตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2546 จำเลยที่ 1 จ่ายค่าจ้างแทนการ
บอกกล่าวล่วงหน้า 17,980 บาท แล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ไปนั่ง
ประจำหมวดวิชาวิทยาศาสตร์เชิงปริมาณที่จัดไว้ให้ แต่กลับทิ้งหน้าที่
ไปทำงานให้กับชมรมรักบี้ในเวลาทำงานปกติที่โจทก์เป็นที่ปรึกษาซึ่ง
ต้องมาทำหน้าที่หลังเลิกงานแล้วและไม่ทำเอกสารทางวิชาการให้
สำเร็จลุล่วงไปตามคำสั่งในเวลาอันสมควร ถือได้ว่าโจทก์ได้กระทำผิด
ฐานฝ่าฝืนคำสั่งผู้บังคับบัญชา การที่จำเลยทั้งสองนำเหตุที่โจทก์
กระทำผิดวินัยกรณีเปิดสอนพิเศษแล้วเรียกเงินจากนักศึกษาซึ่งโจทก์
เคยถูกลงโทษลดชั้นเงินเดือนไปแล้วมาเป็นเหตุเลิกจ้างโจทก์ ทั้งที่
คณะกรรมการของจำเลยทั้งสองเห็นว่าความผิดที่เกิดขึ้นใหม่เป็น
ความผิดที่ไม่ร้ายแรง จำเลยทั้งสองอาจลงโทษโจทก์ฐานอื่นได้
แต่จำเลยทั้งสองเลือกที่จะลงโทษเลิกจ้างโจทก์ จึงเป็นการเลิกจ้างที่
ไม่เป็นธรรม
	คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองว่า จำเลย
ทั้งสองเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมหรือไม่ ศาลแรงงานกลางฟัง
ข้อเท็จจริงว่า โจทก์เคยถูกสอบสวนทางวินัยโดยคณะกรรมการ
สอบสวนมีความเห็นว่าโจทก์เปิดสอนพิเศษให้แก่นักศึกษาและรับเงิน
ค่าสอนจากนักศึกษา เป็นการขัดจรรยาบรรณของการเป็นอาจารย์
ตามเอกสารหมาย ล.8 ต่อมาโจทก์กระทำผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งผู้บังคับ
บัญชาที่ไม่ไปนั่งประจำหมวดวิชาวิทยาศาสตร์เชิงปริมาณ แต่กลับทิ้ง
หน้าที่ไปทำงานให้แก่ชมรมรักบี้ในเวลาทำงานปกติซึ่งโจทก์ต้องทำ
หน้าที่ดังกล่าวหลังเลิกงานแล้ว และโจทก์ไม่จัดทำเอกสารทางวิชา
การให้สำเร็จลุล่วงตามคำสั่งภายในเวลาอันควร ความผิดฐานฝ่าฝืน
คำสั่งผู้บังคับบัญชาดังกล่าวเป็นความผิดที่โจทก์กระทำขึ้นใหม่ จำเลย
ทั้งสองเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างเหตุว่า แม้การกระทำผิดวินัยฐานไม่ปฏิบัติ
ตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาของโจทก์จะไม่ใช่ความผิดร้ายแรง แต่ได้
พิจารณาการกระทำที่โจทก์เรียกเงินพิเศษจากนักศึกษาซึ่งถูกลงโทษ
ไปแล้วจึงสมควรเลิกจ้างโจทก์ เห็นว่า ความผิดของโจทก์ฐานเปิดสอน
พิเศษให้แก่นักศึกษาและรับเงินค่าสอนจากนักศึกษานั้น จำเลยทั้ง
สองลงโทษโจทก์ในความผิดดังกล่าวด้วยการลดขึ้นเงินเดือน 1 ขั้น
จำเลยทั้งสองย่อมไม่อาจนำความผิดนั้นมาเป็นเหตุเลิกจ้างได้อีก ส่วน
ความผิดวินัยฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาของโจทก์แม้ไม่ใช่
ความผิดร้ายแรง แต่โจทก์เป็นถึงอาจารย์ในมหาวิทยาลัย แต่กลับมี
พฤติกรรมไม่ทำตามคำสั่งของจำเลยทั้งสองหลายประการ กรณีจึงมี
เหตุสมควรเพียงพอที่จำเลยทั้งสองจะเลิกจ้างโจทก์ได้ การที่จำเลย
ทั้งสองเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม ทั้งการกระทำของ
โจทก์ดังกล่าวยังเป็นการกระทำอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตน
ให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์
ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและ
พาณิชย์ มาตรา 583 ส่วนอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยทั้งสองไม่จำต้อง
วินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง”
	พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เสียทั้งหมด
-
(พงษ์เทพ ศิริพงศ์ติกานนท์ - ชัยวัฒน์ เวียงธีรวัฒน์ - พิทยา บุญชู)
องค์คณะผู้ตัดสิน