สิทธิการรักษา พยาบาลใน ประเทศไทย

รู้"สิทธิรักษาพยาบาล"ของคนไทยมีอะไรบ้าง ใช้อย่างไรให้ได้ประโยชน์สูงสุด


เผยแพร่ 15 พ.ค. 2565 ,11:24น.




รู้สิทธิการรักษาพยาบาลของคนไทย นอกจาก 3 สิทธิหลักที่คุ้นเคย“บัตรทอง-ประกันสังคม-ขรก.”ยังมีสิทธิอะไรอีก และใช้อย่างไรให้ได้ประโยชน์สูงสุด เช็กที่นี่ !

เมื่อพูดถึงระบบรักษาพยาบาลของคนไทย หลายคนมักนึกถึง 3 กองทุนหลัก ได้แก่ ระบบหลักประกันสุขภาพ (บัตรทอง) ระบบ ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ แต่ในความจริงแล้วสิทธิตามระบบหลักประกันสุขภาพฯ ของประเทศไทยไม่ได้มีเพียงเท่านั้น

นอกเหนือจากกองทุนสุขภาพที่เราคุ้นชินแล้ว ยังมีสิทธิที่คุ้มครองการรักษาสุขภาพต่าง ๆ แยกย่อยไปอีกมากมาย เช่น สิทธิข้าราชการ โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สิทธิข้าราชการของกรุงเทพมหานคร (กทม.) สิทธิรัฐวิสาหกิจ สิทธิครูเอกชน เป็นต้น

เช็กวิธีคำนวณ "เงินชราภาพประกันสังคม" ขอกู้-ขอคืนมาใช้ก่อนได้เท่าไร

ย้ำ“สิทธิบัตรทอง” ถือบัตร ปชช.ใบเดียว ไปรับบริการหน่วยปฐมภูมิได้ทุกที่

สิทธิการรักษา พยาบาลใน ประเทศไทย

ดังนั้นแล้ว คนไทยเรามีสิทธิรักษาพยาบาลอะไรบ้าง และในคนหนึ่งจะสามารถใช้สิทธิการรักษาได้มากกว่า 1 สิทธิได้หรือไม่ ทีมข่าว PPTV News ได้รวบรวมข้อมูลมา ดังนี้

คนไทยใช้สิทธิรักษาพยาบาลได้มากกว่า 1 สิทธิ

คนไทยคนหนึ่งสามารถมีสิทธิในการรักษาพยาบาลได้มากกว่า 1 สิทธิ เพราะในบุคคลเดียวสามารถมีได้ทั้ง ‘สิทธิหลัก’ และ ‘สิทธิรอง’ แต่สิทธิที่จะใช้ได้จะต้องเป็นไปตามระเบียบที่กำหนดไว้ในแต่ละสิทธิ

สำหรับ ‘สิทธิหลัก’ หมายถึง สิทธิที่บุคคลได้รับเมื่อเข้าทำงานในสังกัดองค์กรนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นของรัฐ หรือเอกชน เช่น ‘สิทธิข้าราชการ’ ซึ่งเป็นสิทธิที่ให้แก่เจ้าหน้าที่ หรือลูกจ้าง ที่เข้าบรรจุในหน่วยงานรัฐ อาทิ กรมบัญชีกลาง , ‘สิทธิประกันสังคม’ ซึ่งเป็นสิทธิที่ให้แก่พนักงานบริษัทเอกชน, ‘สิทธิครูเอกชน’ ซึ่งเป็นสิทธิที่ให้แก่ครูประจำโรงเรียนเอกชน หรือ ‘สิทธิรัฐวิสาหกิจ’

ส่วน ‘สิทธิรอง’ หมายถึง สิทธิที่บุคคลได้รับ เนื่องจากมีบุคคลในครอบครัวที่ได้รับสิทธิหลักจากองค์กรหนึ่ง ที่ครอบคลุมถึงบุคคลในครอบครัวด้วย เช่น กรณีบุตรได้รับสิทธิข้าราชการจากกรมบัญชีกลาง หากยังไม่ได้สมรส สิทธิการรักษาพยาบาลจะคุ้มครองไปถึง บิดา มารดา และบุคคลในครอบครัว ต่อมาหากสมรส สิทธิการรักษาก็จะครอบคลุมไปถึงคู่สมรส และบุตร เพิ่มเข้าไปอีกด้วย โดยลักษณะความครอบคลุมของสิทธิรองนี้ จะขึ้นอยู่กับระเบียบการคุ้มครองของแต่ละองค์กร

ใช้สิทธิอย่างไรให้ได้ประโยชน์สูงสุด

การใช้สิทธิประโยชน์ กรณีที่เรามีสิทธิการรักษาพยาบาลมากกว่า 1 สิทธิขึ้นไป ให้ได้ประโยชน์สูงสุด สามารถใช้ได้ดังนี้

  • กรณีที่บุคคล มี ‘สิทธิหลัก-สิทธิหลัก’

ยกตัวอย่างเช่น เดิมเคยทำงานที่บริษัทเอกชน จึงมีสิทธิประกันสังคม และต่อมาสอบเข้าราชการได้ จึงมีสวัสดิการข้าราชการด้วย และยังคงส่งเงินสมทบกับทางประกันสังคมต่อไป

บุคคลนั้นนจะสามารถเลือกรักษาพยาบาลที่สถานพยาบาลเอกชนตามสิทธิประกันสังคม หรือจะเข้ารักษาที่สถานพยาบาลของรัฐตามสวัสดิการข้าราชการได้

  • กรณีที่บุคคล มี ‘สิทธิหลัก-สิทธิรอง’

ยกตัวอย่างเช่น ตัวเองทำงานที่บริษัทเอกชน จึงมีสิทธิหลักเป็นประกันสังคม และมีคู่สมรสทำงานอยู่ในหน่วยงานของรัฐ จึงมีสิทธิรองเป็นสวัสดิการของข้าราชการ

บุคคลนั้นจะต้องใช้สิทธิหลักของตัวเองก่อน หากมีส่วนต่างถึงจะสามารถใช้สิทธิรองได้  คือ ใช้การรักษาที่สถานพยาบาลตามสิทธิประกันสังคมก่อน แต่บางกรณีหากสิทธิหลักมีวงเงินในการเบิกจ่ายจำกัด ไม่ครอบคลุมเท่าสิทธิรอง ส่วนต่างที่เกิดขึ้นสามารถนำใบเสร็จไปเบิกจ่ายกับสิทธิรองของคู่สมรสได้

  • กรณีที่บุคคล มี ‘สิทธิรอง-สิทธิรอง’

สำหรับบุคคลที่อยู่ในกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มบุตร ที่บิดา และมารดา มีสิทธิหลักที่ครอบคลุมบุตรด้วยทั้ง 2 คน ทำให้บุตรที่อายุยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ จะได้รับสิทธิรองทั้งจากบิดาและมารดา แต่เมื่อครบอายุ 20 ปี และยังไม่ได้เป็นพนักงานหรือลูกจ้างในองค์กรใด จะได้รับสิทธิหลักเป็นสิทธิบัตรทองแทน ตามระเบียบ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545

บุคคลนั้นจะสามารถเลือกรักษาพยาบาลที่สถานพยาบาลตามสิทธิรองของพ่อหรือแแม่ ตามความเหมาะสมได้

นอกจากนี้ กรณีไม่ได้ส่งเงินสมทบประกันสังคม หรือออกจากงาน สิทธิประกันสังคมจะยังคุ้มครองต่อไปอีก 6 เดือน หลังจากนั้นทางสำนักงานประกันสังคมจะส่งข้อมูลที่หมดสิทธิให้กับ สปสช. เพื่อดำเนินการให้ สิทธิบัตรทองแทน โดยอัตโนมัติ

เช็คสิทธิรักษาพยาบาลที่มี

สำหรับการตรวจสอบสิทธิรักษาพยาบาลที่เรามี หรือจะเช็กให้สมาชิกในครอบครัวด้วยนั้น สามารถทำได้ผ่าน 3 ช่องทาง ได้แก่

1.เว็บไซต์ สปสช.

  • เข้าเว็บไซต์ สปสช. คลิกที่นี่
  • กรอกเลขประจำตัวประชาชน
  • ระบุวัน เดือน ปีเกิด
  • พิมพ์ตัวอักษรตามภาพ และกดตกลง
สิทธิการรักษา พยาบาลใน ประเทศไทย
สิทธิการรักษา พยาบาลใน ประเทศไทย

2.แอปพลิเคชัน สปสช.

  • ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “สปสช.” ซึ่งรองรับทั้งระบบ Android และ iOS
  • ลงทะเบียนเข้าใช้งาน ด้วยการกรอกหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน และรหัสผ่าน 
  • คลิกไปที่ “ตรวจสอบสิทธิตนเอง”
  • กรอกเลขประจำตัวประชาชน
  • ระบุวัน เดือน ปีเกิด
  • พิมพ์ตัวอักษรตามภาพ และกดตกลง
สิทธิการรักษา พยาบาลใน ประเทศไทย

3.Line Official สปสช.

  • เพิ่มเพื่อน @nhso
  • คลิกไปที่ “ตรวจสอบสิทธิ”
  • กรอกเลขประจำตัวประชาชน
  • ระบุวัน เดือน ปีเกิด
  • พิมพ์ตัวอักษรตามภาพ และกดตกลง
สิทธิการรักษา พยาบาลใน ประเทศไทย

จะเห็นได้ว่านอกเหนือจากสิทธิบัตรทอง ประกันสังคม หรือสวัสดิการแล้ว เรายังมีสิทธิการรักษาพยาบาลอื่น ๆ อีก ดังนั้นแล้วอย่าลืมเช็กสิทธิของเรา หรือจะสอบถามจากฝ่ายทรัพยากรบุคคลก่อนก็ได้ แล้วนำไปใช้กัน

ไม่พลาดทุกเหตุการณ์ติดตามข่าวจาก PPTV ได้ที่ Subscribe