ระเบียบการใช้รถพยาบาลฉุกเฉิน

สถ.แจงรายละเอียดการใช้รถพยาบาล ช่วยเหลือประชาชน ของ อปท.

อธิบดี สถ.แจงละเอียด การใช้รถพยาบาล(รถตู้) และรถพยาบาลฉุกเฉิน(รถกระบะ) ในการช่วยเหลือประชาชนของ อปท.

เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.61 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กล่าวถึงการจัดบริการสาธารณะของ อปท.ในการช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ว่า ในกรณีการรับส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลนั้น อปท.อาจดำเนินการได้ตามหลักเกณฑ์ โดยผู้ป่วยที่จะได้รับการช่วยเหลือ จะต้องเป็นผู้ป่วยที่ได้ลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือจาก อปท.ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย สำหรับการจัดบริการรับส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาล ก็ให้ อปท.พิจารณาตามความสามารถในการดูแลตนเองของผู้ป่วย โดยกรณีผู้ป่วยที่สามารถดูแลและช่วยเหลือตัวเองได้ และไม่ใช่กรณีฉุกเฉิน ให้พิจารณาใช้รถส่วนกลาง ที่ไม่ใช่รถฉุกเฉินไปให้บริการได้ โดยการใช้รถส่วนกลางนั้น ให้ถือปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการใช้และรักษารถยนต์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 548 ส่วนกรณีที่ อปท. ไม่มีรถส่วนกลาง หรือมีรถส่วนกลางแต่อยู่ในระหว่างใช้ปฏิบัติราชการ หรือรถอยู่ในสภาพที่ไม่เหมาะสมแก่การรับส่งผู้ป่วย ก็ให้ อปท. ประสานมูลนิธิหรือองค์กรอื่นๆ ที่มีรถฉุกเฉิน เพื่อให้การช่วยเหลือ หรืออาจจ้างพาหนะในพื้นที่ได้ และในกรณีที่เป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน ผู้ป่วยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ผู้ป่วยติดเตียง และผู้ป่วยที่ไม่มีผู้ดูแล ให้ใช้รถฉุกเฉินในการบริการ หาก อปท.ไม่มีรถฉุกเฉิน หรือมีรถฉุกเฉิน แต่ในขณะนั้นอยู่ในระหว่างรับส่งผู้ป่วยฉุกเฉิน ผู้ป่วยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ผู้ป่วยติดเตียง และผู้ป่วยที่ไม่มีผู้ดูแลท่านอื่นอยู่ ก็ให้ อปท.ประสานมูลนิธิหรือองค์กรอื่นๆ ที่มีรถฉุกเฉิน เพื่อให้การช่วยเหลือ หรืออาจจ้างพาหนะในพื้นที่ได้เช่นกัน

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อถึงการใช้รถพยาบาล(รถตู้) และรถพยาบาลฉุกเฉิน(รถกระบะ) ในการช่วยเหลือประชาชนว่า รถราชการจะมีอยู่ 3 ประเภท คือ รถประจำตำแหน่ง รถรับรอง และรถส่วนกลาง ซึ่งนอกจากรถประจำตำแหน่งและรถรับรองแล้ว ก็ถือเป็นรถส่วนกลางทั้งสิ้น เช่น รถพยาบาล รถพยาบาลฉุกเฉิน รถบรรทุก รถดับเพลิง และรถอื่นๆ แต่ลักษณะการใช้งานแตกต่างกันตามวัตถุประสงค์ของการจัดหา ซึ่งสำนักงบประมาณได้กำหนดราคามาตรฐานครุภัณฑ์รถพยาบาล(รถตู้) และรถพยาบาลฉุกเฉิน(รถกระบะ) แยกจากกัน ดังนี้ 1. รถพยาบาล (รถตู้) ปริมาตรกระบอกสูบ ไม่ต่ำกว่า 2,400 ซีซี หรือกำลังเครื่องยนต์สูงสุด ไม่ต่ำกว่า 90 กิโลวัตต์ คันละ 2,000,000 บาท 2. รถพยาบาลฉุกเฉิน(รถกระบะ) ปริมาตรกระบอกสูบไม่ต่ำกว่า 2,400 ซีซี หรือกำลังเครื่องยนต์สูงสุดไม่ต่ำกว่า 110 กิโลวัตต์ คันละ 1,000,000 บาท

สำหรับรถพยาบาล(รถตู้) และ รถพยาบาลฉุกเฉิน(รถกระบะ) จะมีลักษณะการใช้งานแตกต่างกัน คือ รถพยาบาล(รถตู้) จะมีเฉพาะ อปท.ที่มีสถานพยาบาลในสังกัด สามารถใช้รับส่งผู้ป่วยได้ทั้งกรณีฉุกเฉินและไม่ฉุกเฉิน ระหว่างใช้งาน เพื่อนำผู้ป่วยส่งสถานพยาบาลจะเปิดไซเรนหรือไม่ก็ได้ มีบุคลากรที่ประจำรถพยาบาลเพื่อดูแลผู้ป่วย คือ แพทย์หรือพยาบาล มีการใช้สัญญาณไฟวับวาบเป็น "สีน้ำเงิน" ส่วนรถพยาบาลฉุกเฉิน (รถกระบะ) จะมีได้ทุก อปท.ที่ดำเนินงานการแพทย์ฉุกเฉินตามกฎหมายว่าด้วยการแพทย์ฉุกเฉิน รถยนต์ของสถานพยาบาลที่ใช้รับส่งผู้ป่วยในกรณีฉุกเฉิน ระหว่างใช้งานเพื่อนำผู้ป่วยส่งสถานพยาบาลจะเปิดไซเรนขอทางให้ยวดยานอื่นหลีกทางให้ บุคลากรที่ประจำรถพยาบาลฉุกเฉินเพื่อดูแลผู้ป่วย คือ อปพร.หรือบุคคลที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งผ่านการอบรมการปฐมพยาบาลเบื้องต้น มีการใช้สัญญาณไฟวับวาบเป็น "สีแดงและน้ำเงิน"

"หาก อปท.จะใช้รถพยาบาล(รถตู้) หรือรถพยาบาลฉุกเฉิน(รถกระบะ) ไปให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินนั้น จะต้องดำเนินการขึ้นทะเบียนกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดก่อน โดยรถที่จะนำไปใช้บริการการแพทย์ฉุกเฉิน จะต้องเป็นรถที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดด้วย และหากจะนำไปให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉิน ผู้ป่วยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ผู้ป่วยติดเตียง และผู้ป่วยที่ไม่มีผู้ดูแล ก็สามารถดำเนินการได้ตามหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้รถ เพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น" นายสุทธิพงษ์ กล่าว

เผยแพร่: 19 ต.ค. 2561 15:58   ปรับปรุง: 19 ต.ค. 2561 18:23   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


อธิบดี สถ.แจงดรามาคำสั่งห้าม อปท.นำรถฉุกเฉินรับผู้ป่วยกลับบ้าน ยก 3 ประเด็นย้ำทำได้ แต่ต้องป่วยจริงตามกฎ-ระเบียบทางราชการ ย้ำไม่ใช่อยู่รอจนรักษาเสร็จแล้วเอาคนเจ็บกลับบ้าน ยันหากมีบุคคลอื่นที่กำลังรักษาตัวอยู่จะอาศัยกลับบ้านด้วยรถฉุกเฉินสามาถทำได้ หรือบุคคลเดียวกันตอนไปส่งตัวฉุกเฉินรักษาตัวจนหาย สามารถแจ้งให้ท้องถิ่นไปรับกลับได้ พร้อมน้อมรับคำแนะนำอย่างสร้างสรรค์บนพื้นฐานการใช้งบฯแผ่นดินอย่างคุ้มค่าและเพื่อประโยชน์สุขประชาชน

วันนี้ (19 ต.ค.) มีรายงานว่า เฟซบุ๊กกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเผยแพร่บทสัมภาษณ์ของนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) เปิดเผยถึงกรณีที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) สั่งห้ามองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นำรถฉุกเฉินรับผู้ป่วยกลับบ้านนั้น กรมฯ ต้องขอเรียนว่า การดำเนินการของ อปท.ต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551 ซึ่งกำหนดไว้ว่า “ผู้ป่วยฉุกเฉิน” คือ บุคคลซึ่งได้รับบาดเจ็บหรือมีอาการป่วยกะทันหัน ซึ่งเป็นภยันตรายต่อการดำรงชีวิต หรือการทำงานของอวัยวะสำคัญ จำเป็นต้องได้รับการประเมินการจัดการ และการบำบัดรักษาอย่างทันท่วงที เพื่อป้องกันการเสียชีวิตหรือการรุนแรงขึ้นของการบาดเจ็บหรือการป่วยนั้น

นั่นคือรถฉุกเฉินของ อปท.มีวัตถุประสงค์การใช้เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่ฉุกเฉินจริงๆ เท่านั้น ดังนั้น หาก อปท. นำรถฉุกเฉินซึ่งมีอยู่เพียงคันเดียวไปให้บริการรับส่งผู้ป่วยตามนัด ซึ่งในปัจจุบันมี อปท.หลายแห่ง ได้ให้บริการรับส่งประชาชนในท้องถิ่นในการเดินทางไปพบแพทย์ตามใบนัดที่กำหนดวันเวลาไว้แล้ว ซึ่งไม่ได้เป็นกรณีฉุกเฉินแต่อย่างใด และถ้าเกิดมีผู้ป่วยฉุกเฉินก็จะทำให้ไม่มีรถฉุกเฉินให้บริการ ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ป่วยฉุกเฉินเสียชีวิตได้ ประกอบกับปัจจุบันได้มี อปท.ถูกหน่วยตรวจสอบทักท้วงและเรียกเงินคืน กรณีนำรถฉุกเฉินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ซึ่งไม่เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการแพทย์ฉุกเฉินอีกด้วย

“อย่างไรก็ดี กรณีที่ อปท.นำรถฉุกเฉินไปส่งผู้ป่วยฉุกเฉินที่โรงพยาบาลแล้วก็ถือว่าเสร็จสิ้นภารกิจ หาก อปท.จะนำรถฉุกเฉินรับผู้ป่วยอื่นที่อยู่ที่โรงพยาบาลนั้นกลับบ้าน ก็สามารถทำได้ เนื่องจากรถฉุกเฉินของ อปท.จะต้องเดินทางกลับอยู่แล้ว แต่จะต้องไม่ใช่กรณีอยู่พักรักษาตัวจนหายป่วยสามารถกลับบ้านได้แล้ว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถึงจัดรถไปรับกลับบ้าน”

อีกกรณีหนึ่งคือ กรณีที่ผู้ป่วยนั้นเป็นผู้ที่ยากไร้ หรือผู้ป่วยติดเตียง อปท.ก็สามารถให้การช่วยเหลือได้ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2560 โดยผู้ป่วยที่ยากไร้สามารถขอรับการสงเคราะห์จาก อปท.ในการเดินทางไปโรงพยาบาลตามใบนัดของแพทย์ ซึ่ง อปท.ก็สามารถให้ความช่วยเหลือในการรับส่งผู้ป่วยดังกล่าวได้ด้วย

“ขอยืนยันว่า สถ.ได้ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ ซึ่งหากท่านใดมีข้อสงสัยหรือไม่เข้าใจขอให้สอบถามท้องถิ่นอำเภอหรือท้องถิ่นจังหวัดก่อนได้ ดีกว่าไปด่วนสรุปโดยไม่รู้สาเหตุ อย่างไรก็ตาม เราก็น้อมรับเสียงติติงหรือคำแนะนำอย่างสร้างสรรค์ บนพื้นฐานการใช้งบประมาณแผ่นดินอย่างคุ้มค่าและเป็นไปตามกฎระเบียบทางราชการ ตลอดจนการใช้งบประมาณในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ของคนไทยอย่างถูกต้องและเป็นมาตรฐานเดียวกัน” อธิบดีกล่าว

เมื่อวานนี้ (18 ต.ค.) นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผอ.โรงพยาบาลจะนะ ส.สงขลา และนักเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมและพลังงาน โพตส์เฟซบุ๊กส่วนตัวแสดงความคิดเห็นต่อกรณี กสถ.มีหนังสือซักซ้อมถึง อปท.ทั่วประเทศ ตอนหนึ่งในหนังสือระบุว่า “ห้ามรถพยาบาลฉุกเฉินของ อปท.ที่ออกหน่วยปฏิบัติการ เพื่อรับผู้ป่วยกลับบ้าน หรือการให้บริการประชาชนที่ไม่มีอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินหรืออุบัติเหตุ หรือออกปฏิบัติการอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ฉุกเฉิน หรือใช้กระทำผิดกฎหมาย”

ประเทศไทย..ไม่รู้จะพูดยังไงดี!

กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ลงนามหนังสือสั่งการ “ห้ามรถฉุกเฉินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับผู้ป่วยกลับบ้าน” เพราะถือว่าไม่ฉุกเฉิน! หากรับถือว่า “ผิด” และให้ดำเนินการทางวินัย

กฎกติกานั้นออกง่าย เพียงแค่ตัวหนังสือไม่กี่บรรทัด แต่ผลกระทบนั้นมหาศาล โรงพยาบาลกับท้องถิ่นนั้นทำงานร่วมกันอย่างมีความสุขในหลายมิติ คนในกรมเคยรู้ไหม

บางครั้งคนไข้ยากจนมาก คนไข้พิการ ญาติไม่มีรถส่วนตัว จะจ้างรถมารับกลับก็ไม่ต่ำกว่าห้าร้อยบาท โรงพยาบาลหรือญาติก็จะตามรถฉุกเฉิน อบต.มารับกลับบ้าน

บางครั้ง รถฉุกเฉิน อบต.มาส่งคนไข้ฉุกเฉิน โรงพยาบาลก็ฝากพาคนไข้ที่กำลังจะกลับบ้านติดรถกลับไปด้วย

บางครั้งรถฉุกเฉินมาส่งคนไข้เย็บแผล พยาบาลเห็นแผลไม่ใหญ่ ก็รีบบอกรถฉุกเฉิน อบต.ว่า อย่าเพิ่งกลับ รอก่อน เย็บแผลสิบห้านาทีก็เสร็จ ฝากพาคนไข้กลับไปด้วย

บางครั้ง รถพยาบาลของโรงพยาบาลไม่พอ โรงพยาบาลจะนะยังเคยตามรถของเทศบาลจะนะ ช่วยส่งต่อผู้ป่วยที่ไม่ฉุกเฉินไปโรงพยาบาลจังหวัดก็มี

เราโรงพยาบาลกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำงานร่วมกันอย่างเป็นทีม และมีความสุข ระเบียบที่ไร้หัวใจแห่งความเป็นมนุษย์เช่นนี้ รับไม่ได้จริงๆ ครับ

จะป้องกันการใช้รถไปในทางส่วนตัวนั้นเข้าใจได้ แต่กฏระเบียบควรเอื้อต่อการทำงานให้สมชื่อ “กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น” ด้วยนะครับ

มีรายงานด้วยว่า หลังจากมีข้อความเผยแพร่ไปมีบุคลากร ทั้งทางสาธารณสุขและองค์การปรกครองส่วนท้องถิ่น มาแสดงความเห็นผ่านสังคมออนไลน์อย่างกว้างขวางทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ส่วนทีไม่เห็นด้วย มองว่า อปท.ปฏิบัติตามข้อทักท้วงจาก สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ก่อนหน้านี้พบว่ามี อปท.บางแห่งปฏิบัติไม่เหมาะสม กรณีของรถฉุกเฉิน ที่นำไปใช้เช่น ส่งเอกสาร ใช้เพื่อรับส่งเข้าหน้าที่ ฯลฯ ควรจะดำเนินการสำหรับการบริการฉุกเฉินเท่านั้น เพราะ สตง.แจ้งว่า ไม่มีหน้าที่รับกลับ

ขณะที่บางส่วนเห็นพ้องว่า หน่วยงานด้านการแพทย์ฉุกเฉิน สาธารณสุข และ กสถ. ควรจะหารือเพื่อแก้ไขหลักเกณฑ์ให้เกิดกับประโยชน์กับประชาชน “ระเบียบที่ดีต้องมีความยืดหยุ่น ไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย หรือกติกาอะไรก็แล้วแต่ มันควรยืดหยุ่นได้ตามเหตุแห่งความเหมาะสมและบริบทในชุมชน การช่วยชีวิตคนไม่ควรอ้างกฎเกณฑ์อะไร ควรจะปฏิบัติด้วยจิตอาสา ในทางราชการก็เหมือนกัน ถ้าจะเอากฏระเบียบมาวัดกันจริงๆ”

มีรายงานด้วยว่า เมื่อปี 2560 สตง.เผยแพร่รายงานการตรวจสอบการดำเนินงานโครงการพัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน จังหวัดมหาสารคาม ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) มหาสารคาม และโครงการพัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน จังหวัดร้อยเอ็ด ของ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ร้อยเอ็ด โดยเฉพาะการสุ่มสอบถามประชาชนที่เคยใช้บริการรถพยาบาลฉุกเฉินในพื้นที่ อปท.ในจังหวัดมหาสารคาม จำนวน 18 แห่ง ที่ได้รับสนับสนุนรถพยาบาลฉุกเฉิน พบว่า ประชาชนบางรายใช้บริการรถพยาบาลฉุกเฉินโดยไม่ได้มีอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินหรืออุบัติเหตุ เช่น การไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลตามนัด ทั้งโรงพยาบาลอำเภอ โรงพยาบาลประจำจังหวัด และโรงพยาบาลนอกเขตจังหวัด การโทรศัพท์เรียกรถพยาบาล (เบอร์โทรศัพท์ของเจ้าหน้าที่/นายก) เพื่อรับกลับบ้าน เป็นต้น และประชาชน 1 ราย มีอาการท้องเสีย ได้ร้องขอให้รถพยาบาลฉุกเฉินของ อปท.พามารักษาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งอยู่นอกเขตความรับผิดชอบของชุดปฏิบัติการฉุกเฉิน

“ผลกระทบการดำเนินการไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด อาจทำให้ประชาชนเสียโอกาสที่จะได้รับบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉิน หากเกิดเหตุฉุกเฉินหรือมีผู้ป่วยฉุกเฉินที่ควรได้รับบริการอย่างทันท่วงที และอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินหากเกิดอุบัติเหตุระหว่างทาง ทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิ ในการเข้าถึงระบบการแพทย์ฉุกเฉินอย่างมีคุณภาพมาตรฐาน และ อปท.อาจมีภาระค่าใช้จ่ายค่าน้ำมันที่เพิ่มขึ้นจากการให้บริการนอกเขตพื้นที่ความรับผิดชอบ สาเหตุที่ อปท.นำรถพยาบาลฉุกเฉินไปใช้ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของการแพทย์ฉุกเฉิน และนำรถไปใช้นอกเขตความรับผิดชอบของชุดปฏิบัติการฉุกเฉินเนื่องมาจาก อบจ.มหาสารคาม ไม่มีการติดตามตรวจสอบ และควบคุมให้ อปท.ที่ได้รับรถพยาบาลฉุกเฉิน ปฏิบัติตามประกาศสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ลงวันที่ 11 สิงหาคม 2553 เรื่อง หลักเกณฑ์การสนับสนุนการดำเนินงาน”

ทั้งนี้ยังพบว่า กรณีเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการของ อปท.ได้รับการประสานหรือสั่งการโดยตรงจากผู้บังคับบัญชาให้นำรถไปใช้ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของการแพทย์ฉุกเฉิน หรือนำรถไปใช้นอกเขตความรับผิดชอบของชุดปฏิบัติการฉุกเฉิน