การจัด ทํา แผนที่ภาษีและทะเบียนทรัพย์สิน 2562

บทความพิเศษ / ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น) ที่มาแผนที่ภาษีและทะเบียนทรัพย์สิน “แผนที่ภาษี” หมายความว่า แผนที่ที่แสดงตำแหน่ง ลักษณะ ขนาด ของแปลงที่ดิน อาคารโรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง เส้นทางคมนาคม แหล่งน้ำ และอื่นๆ ในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อใช้ประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีอากร ค่าธรรมเนียมและใบอนุญาตต่างๆ และเป็นฐานข้อมูลในการพัฒนาท้องถิ่น “ทะเบียนทรัพย์สิน” หมายความว่า ทะเบียนที่แสดงรายการทรัพย์สินและการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สิน ประกอบด้วย ข้อมูลเกี่ยวกับที่ดิน อาคาร โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้าง ป้าย และการประกอบการค้าของเจ้าของทรัพย์สินแต่ละคน ข้างต้นเป็นนิยามในระเบียบ มท. ว่าด้วยแผนที่ภาษีและทะเบียนทรัพย์สินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2550 ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2551 เป็นต้นไป แก่ท้องถิ่นทุกรูปแบบ ยกเว้นกรุงเทพมหานคร(กทม.) โดยยกเลิกระเบียบเดิม พ.ศ.2537 วัตถุประสงค์หลักเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีท้องถิ่นให้สามารถเก็บได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยเต็มพื้นที่ แต่เดิมมีการดำเนินการจัดทำแผนที่ภาษีฯ มาแล้วตั้งแต่ปี 2520 ในเทศบาล และสุขาภิบาล ปี 2525 – 2529 แผนที่แม่บทกระทรวงมหาดไทย (ฉบับที่ 3) จากงบเงินกู้จากธนาคารโลก 31 ล้านบาทเศษ สนับสนุนให้ อปท.นำระบบแผนที่ภาษีและทะเบียนทรัพย์สินมาใช้ปรับปรุงประสิทธิภาพทางการคลัง ปี 2542 ได้ขยายผลไปยัง อบต. 161 แห่ง มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ระเบียบ มท. ดังกล่าวท้าทายบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 เพราะว่าอาจผิดหลักการกำกับดูแลตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ที่บัญญัติให้รัฐวางหลักเกณฑ์กลางไว้เท่านั้น มิใช่การออกระเบียบเชิงบังคับหรือควบคุม ปัญหาอุปสรรคในการจัดทำแผนที่ภาษีและทะเบียนทรัพย์สิน ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา มีการเปิดอบรมการจัดทำแผนที่ภาษีฯ โดยหน่วย และสถาบันการศึกษาต่างๆ หลายแห่งมาตลอด เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา มหาวิทยาลัยบูรพา ชมรมนักจัดเก็บรายได้ ฯลฯ แต่เป็นลักษณะของความใส่ใจของ อปท. ในบางแห่งเท่านั้น ไม่มีระบบบังคับ หรือ แผนการชัดเจนเชิงบังคับให้แล้วเสร็จ โดยมีจังหวัดจัดระบบการจัดทำแผนที่ภาษีไว้ มีทั้งการจัดทำด้วยระบบมือ และ ระบบคอมพิวเตอร์โปรแกรม LTAX 3000 โปรแกรมประยุกต์ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (LTAX GIS) มีการนิเทศงาน ดูงาน และเป็นพี่เลี้ยง โดยเทศบาลซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นศูนย์สนับสนุนการปฏิบัติงานแผนที่ภาษีและทะเบียน ทั้งนี้ตาม ข้อ 8 ข้อ 9 ข้อ 10 และบทเฉพาะกาล แห่งระเบียบ มท. พ.ศ.2550 โดยเฉพาะปี 2563 มีหลักสูตรภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเร่งด่วน คือ (1) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างครบทุกประเด็น ตั้งแต่กฎหมายภาษี ทำ ภ.ด.ส.1-3-6-7-8 การจัดทำแผนที่ภาษีฯ เบื้องต้น การสำรวจเบื้องต้น (2) งบทะเบียนทรัพย์สินครบทุกประเด็น ตั้งแต่ จัดซื้อจัดจ้าง จัดทำทะเบียนคุม การคำนวณค่าเสื่อม ราคาสินทรัพย์ การบันทึกบัญชีสินทรัพย์ การตรวจสอบพัสดุประจำปี การจำหน่ายพัสดุทุกวิธี การจัดทำงบทรัพย์สินและหมายเหตุประกอบงบแสดงฐานะการเงิน มีความพยายามสำรวจรวบรวมปัญหาต่างๆ ไว้ตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งก่อนหน้าที่จะประกาศใช้ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 เพราะเป็นหัวใจของกฎหมายที่รองรับการจัดเก็บรายได้ของ อปท. โดยใช้การปฏิบัติที่ควบคู่ไปกับการใช้ประโยชน์จาก “ระบบแผนที่ภาษีและทะเบียนทรัพย์สิน” ที่ อปท.พยายามปลุกปั้นเพื่อให้มีผลทางปฏิบัติที่เป็น “รูปธรรม” มานานหลายปีแล้ว มีการเปิดประเด็นปัญหานี้ขึ้น ยังมิวายที่มีปัญหาทางปฏิบัติต่างๆ ที่อาจคาดไม่ถึงปรากฏอยู่ เพราะการจัดทำแผนที่ภาษีและทะเบียนทรัพย์สินเป็นเรื่อง “เทคนิคเฉพาะทางที่ต้องกระทำอย่างต่อเนื่อง” ดังกล่าวข้างต้น ฉะนั้นจึงเป็นปัญหา และมีจุดอ่อนมากมายที่ผู้เกี่ยวข้องหลายคนใน อปท.อาจคาดไม่ถึง การจัดทำแผนที่ภาษีและทะเบียนทรัพย์สินเป็นเรื่องเฉพาะทางของท้องถิ่น ที่คน อปท.ยังขาดองค์ความรู้ที่ต่อเนื่อง ด้วยบริบทของท้องถิ่นที่มีแต่ปัญหาอุปสรรคนานาประการ ไม่ว่า เรื่องการเมืองท้องถิ่น ระบบอุปถัมภ์ในการบริหารงานบุคคลท้องถิ่น เป็นงานเฉพาะทางที่ต้องต่อเนื่อง การโยกย้ายบ่อยๆ ตามวิถีทางของระบบราชการจึงเป็นข้อจำกัดในการบริหารจัดการแผนที่ภาษีให้มีประสิทธิภาพ ปัญหาต่างๆ มีความพยายามรวบรวมปัญหาในการดำเนินการไว้บ้าง แต่เป็นปัญหาปลายเหตุทั้งสิ้น ปัญหาต้นเหตุไม่ได้มีการนำเสนอ หรือ นำเสนอ แต่หน่วยเหนือไม่รับพิจารณา นอกจากนี้ปัญหาขั้นตอนการดำเนินการเชิงเทคนิคที่ต้องอาศัยองค์ความรู้ทางด้านแผนที่ เป็นข้อจำกัดในเทคโนโลยี จึงมีเอกชนห้างร้านฯ ผู้รับจ้างเสนอตัวเข้ามาเป็นผู้รับจ้างวางโครงข่ายระบบแผนที่ภาษีในระยะเริ่มแรกหลากหลาย ทำให้ขาดมาตรฐาน สุดท้ายการบริการหลังการขายไม่มี ผลงานที่จัดทำไว้จึงไม่ต่อเนื่อง ไม่อัพเดท เปล่าประโยชน์ อปท.สูญเสียงบประมาณไปมากมายหลายแสน เป็นต้น และแม้ว่าเทคโนโลยีจะก้าวหน้าทันสมัยล้ำหน้าไปมาก เช่น มีระบบการสำรวจระยะไกล (Remote Sensing) มีระบบ GPS (Global Positioning System) หรือ “ระบบการหาตำแหน่ง” นำทางด้วยดาวเทียมที่แม่นยำ และปัจจุบันมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ. 2562 ที่เกี่ยวกับผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินด้วย หน่วยงานคู่ขนานสำคัญของ อปท. ที่คอยอำนวยความสะดวกในการคัดลอกข้อมูลที่ดินเพื่อจัดทำแผนที่ภาษีฯ ก็คือกรมที่ดินได้ออกหนังสือลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2563 ซักซ้อมตาม พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 มาตรา 59 มาตรา 60 มาตรา 62 และมาตรา 64 ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินสิ่งปลูกสร้าง หรือห้องชุด แต่กรมที่ดินอาจไม่มีข้อมูลที่ดินเขตพื้นที่ป่าสงวน พื้นที่ ส.ป.ก. ที่ดินมือเปล่า (ที่ครอบครอง) อาจมีปัญหาการบันทึกอัพเดทข้อมูลโปรแกรม ปัญหา พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 เนื่องจากมีกฎหมายลำดับรอง รวมทั้งหมด 19 ฉบับ แต่มีการออกกฎหมายฉบับรองทั้ง 11 ฉบับที่ล่าช้าส่งผลต่อการบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2562 เริ่มจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตั้งแต่ 1 มกราคม 2563 กระทรวงมหาดไทยได้เลื่อนการบังคับใช้ออกไป ประกาศขยายเวลาจัดเก็บภาษีเป็นเดือนสิงหาคม 2563 ด้วยมีการประกาศลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 3 ฉบับ ตามพระราชกฤษฎีกาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2563 (ประกาศราชกิจจานุเบกษาวันที่ 20 มกราคม 2563 ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563) พระราชกฤษฎีกาลดภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภท พ.ศ.2563 (ประกาศราชกิจจานุเบกษาวันที่ 10 มิถุนายน 2563 ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2563) พระราชกฤษฎีกาลดภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภท (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2564 (ประกาศราชกิจจานุเบกษาวันที่ 31 มกราคม 2564 ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564) ปัญหาเรื่องการคำนวณภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีผู้รู้แนะนำทางออนไลน์ที่เป็นประโยชน์ต่อคนท้องถิ่นมากกว่ากรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ที่จะเป็นผู้ดำเนินการให้ ถือเป็นจุดอ่อนของ สถ. ฉะนั้น เจ้าหน้าที่ อปท. ต้องสนใจและใส่ใจขวนขวายความรู้ด้วยตนเองเป็นหลัก เช่น การเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (ภ.ด.ส.) ตามกฎหมายของข้าราชการที่เบิกค่าเช่าบ้านจะจ่ายภาษีกันอย่างไร เดิมคือ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด.) เพื่อนำไปแนบการเบิกค่าเช่าบ้าน เพื่อแก้ปัญหาการเบิกเท็จ เบิกไม่ถูกต้อง ยังคงเป็นประเด็นปัญหากับหน่วยงานตรวจสอบอยู่ เป็นเทคนิคประการสำคัญในการจัดเก็บภาษีที่ดินฯ ใหม่ ปัญหาการประมาณการรายได้ภาษีใหม่จะต้องทำอย่างไร คำตอบคือ ภาษีเก่า อปท.ได้ประมาณการไว้อย่างไร ก็ตามแนวทางเดิม เพราะมีบทเฉพาะกาล ให้ใช้ พ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ.2508 มาตรา 48 พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ พ.ศ.2562 มาตรา 91 บังคับใช้แก่ทรัพย์สินที่มีก่อน 1 มกราคม 2563 นี่คือหลักการเบื้องต้นของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติในการคำนวณภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และหลักการประมาณการรายได้ภาษีประจำปี มีข้อแนะนำจากผู้รู้ว่า หาก อปท.ใด สตง.ลงตรวจสอบแผนที่ภาษีฯ จงพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส เปิดระเบียบแผนที่ภาษีฯ ให้ สตง. ดู แล้วควรนำเสนอปัญหาให้ สตง.ฟังและรับทราบ แล้วขั้นต่อไป ผู้บริหาร อปท. รวมทั้งผู้บังคับบัญชาในสายงานฝ่ายประจำก็ต้องมาช่วยกันชี้แจงปัญหาอุปสรรคที่มีอยู่ให้แก่ สตง. ได้ทราบ เพราะปัญหาการบริหารจัดการแผนที่ภาษีฯ ใน อปท. ที่ดำเนินการใหม่นั้น มักมีปัญหาที่ฝ่ายบริหารไม่สนับสนุน ไม่เข้าใจเสียมากกว่า ด้วยอุปสรรคข้ออ้างมากมาย ฉะนั้น เมื่อมีการเร่งรัดจากส่วนกลาง (สถ.) จึงกระวีกระวาดเร่งรีบหันกลับมาทำ โดยที่การเตรียมการขั้นตอนพื้นฐานไว้อาจยังไม่มีเลยหรือมีแต่ไม่ถูกต้องไม่ต่อเนื่อง เหตุการณ์เหล่านี้เกิดมานานแล้วตั้งแต่ก่อนปี 2562 การเตรียมดำเนินการของ อปท. ที่สับสนอลหม่าน โดยเฉพาะ อปท. ที่มีปัญหาสะสมในการจัดทำระบบแผนที่ภาษีและทะเบียนทรัพย์สิน เช่น อปท.ขาดเจ้าหน้าที่เฉพาะทาง หรือ เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบขาดทักษะ หรือ เป็นเจ้าหน้าที่ใหม่ การโยนความรับผิดชอบให้ท้องถิ่นดำเนินการภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพียงตามลำพัง อาจเลวร้ายเพราะมัวแต่สั่งและคาดโทษเจ้าหน้าที่ อปท.หลายแห่งเจ้าหน้าที่มัวแต่มะงุมมะงาหราอยู่ทำให้ท้องถิ่นขาดรายได้ไปเยอะ แถมเจอภาวะวิกฤติช่วงโควิด เป็นสาธารณภัยที่ยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั้งประเทศ ตามมาตรา 56 ส่งผลกระทบต่อรายได้ของ อปท.ขนาดเล็กขนาดกลาง เพราะจัดเก็บภาษีที่ดินฯ ไม่ได้เลย หรือจัดเก็บได้น้อยลง มีประเด็นข้อสังเกตในบทลงโทษตามกฎหมายภาษีมรดก (พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ.2558) เทียบกับกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เป็นฐานภาษีเหมือนกันว่า ผู้ร่างกับผู้อนุมัติกฎหมาย คิดกันอย่างไร เช่น (1) เจ้าหน้าที่นำความลับ(ข้อมูลส่วนบุคคล)ของประชาชนไปเปิดเผยมีความผิด (2) เจตนาละเลย ฉ้อโกงหรือใช้อุบาย เพื่อหลีกเลี่ยงภาษี มีความผิด (3) ผู้ใดแนะนำหรือสนับสนุนให้ผู้เสียภาษีทำผิด มีความผิดด้วย ปัญหาการตีความทางปฏิบัติตาม มาตรา 14 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ ว่า “ผู้มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกำหนดเวลา” หมายถึง ผู้เสียภาษี ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ (ที่จะมีสิทธิเป็นผู้ร้องขอให้ขยายเวลาเป็นรายๆ ไป) ทำให้รอบเดือนมีนาคมที่ อปท.ขยายเวลาไปแล้ว อาจเป็นปัญหา อปท.หลายแห่งขยายเวลา ภ.ส.ด. 6 (หนังสือแจ้งการประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง) เพราะ อปท.ใช้เวลาในการทำ ภ.ด.ส. 6 นาน การขยายเวลาแจ้งประเมินและชำระภาษี ไว้จึงจำเป็น มีการร่างประกาศ เช่น เฉพาะส่วน “กำหนดเวลา” ที่ต้องการขยายเวลา ส่วนเหตุผลการขยายเวลานั้น ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละ อปท.ที่แตกต่างกันไป สถานะทางการคลังของ อปท. หลังปี 2562 ข่าวผลกระทบรายได้ อปท. ได้แก่ ข่าวท้องถิ่นเก็บภาษี 7.8 พันแห่ง วืดลดวูบ 2 หมื่นล้าน กระทบจัดซื้อจัดจ้าง แผนก่อสร้าง โครงสร้างพื้นฐานทั้งระบบถูกพับ มหาดไทยเฉือนสารพัด เศรษฐกิจทรุดโควิดซ้ำ จัดงบเบี้ยหัวแตก งบฯ กู้วิกฤตโควิด ซึ่งรัฐได้สั่งลด ยกเว้นจัดเก็บภาษีที่ดินก่อนเดือนสิงหาคม 2563 สองระลอก แต่ในขณะเดียวกันรัฐรวมถึง อปท. ต้องดึงงบประมาณจำนวนมหาศาลจากรายได้ส่วนอื่นๆ มาใช้ในการป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดโรค COVID-19 รวมถึงการช่วยเหลือประชาชนด้วย สวนทางกับรายได้ที่จัดเก็บได้ลดลง การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 1 ใน 9 ส่วนที่กรมสรรพากรจัดเก็บให้ และรายได้จากการจัดสรรภาษีสรรพสามิต ที่ส่งให้ท้องถิ่นในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2563 ลดลงกว่า 1 หมื่นล้านบาท โดยส่งให้ อปท. 1.23 แสนล้านบาท เปรียบเทียบกับปี 2562 เคยส่งให้ 1.34 แสนล้านบาท ตามมติ ครม. วันที่ 2 มิถุนายน 2563 ให้ลดภาระภาษีลงร้อยละ 90 ของเงินภาษีที่จะต้องจ่าย ทำให้รายได้ที่ อปท. จัดเก็บเองในส่วนนี้ลดลงราว 91.1% เมื่อเทียบกับรายได้ภาษีโรงเรือนฯ และบำรุงท้องที่ในปี 2562 หากคำนวณทั้งประเทศ ก็จะหายไปราว 3.09 หมื่นล้านบาท นักวิชาการประเมินภาพรวมฐานะทางการคลังของ อปท. ปี 2563 ว่ารายได้ท้องถิ่นลดลงมาก โดยเฉพาะท้องถิ่นตามชนบท อาจเก็บได้เพิ่มก็ได้เพราะกฎหมายออกมาเอื้อให้กลุ่มซีพี โลตัส เซ็นทรัล กลุ่มโรงแรม ต่างๆ รายได้ท้องถิ่นลดลง 90% แทบทุกหน่วยงานแหล่งรายได้ อปท.ลดหมด เช่น กรมเจ้าท่าก่อนโอนให้ อบต. เก็บค่าเช่าตอบแทนรายปี สิ่งก่อสร้างล่วงล้ำลำน้ำ ตารางเมตรละ 50 บาท ยุค คสช. ชาวบ้านเดือดร้อนให้เก็บตารางเมตรละ 5 บาท เหตุเพราะมีนายทุนรุกล้ำริมน้ำเยอะ ทำให้ อปท.ดูแลตัวเองไม่ได้ การจัดเก็บรายได้ยิ่งลดเหลือร้อยละ10 ซึ่งเป็นภาษีที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการมาก แต่ภาษีลดให้มาก เช่น เจ้าของบ้านเช่า อพาร์ทเม้น หอพัก คอนโด โรงงาน ห้างสรรพสินค้า โรงงาน ดีใจได้ลดเยอะ แต่เจ้าของที่ดินว่างเปล่ามีราคาประเมินแพงขึ้นกว่าเดิมมาก แต่ที่แน่ๆ ท้องถิ่นตอนนี้ได้รับผลกระทบเต็มจากนโยบาย ลด แลก แจก แถมของรัฐแก่เจ้าของที่ดินฯ การจัดเก็บรายได้แค่ร้อยละ10 ส่งผลต่อค่าส่งไปรษณีย์ที่อาจมากกว่าภาษีที่เก็บได้เสียอีก มีข้อค้นพบเกี่ยวกับภาษีที่ดินฯ ประเด็นต่อมาคือ หาก อปท. ใดใช้บัญชีมาตรฐานค่าเช่าของภาษีโรงเรือนฯ มาเป็นเวลานานเกิน 10 ปี ไม่มีการปรับปรุงให้เป็นปัจจุบัน มีความเป็นไปได้สูงที่ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อัตราอื่นๆ (พาณิชยกรรม) จะจัดเก็บได้สูงขึ้น ส่วน อปท. ที่บัญชีมาตรฐานค่าเช่าสูงอยู่แล้ว หรือปรับปรุงเป็นปัจจุบันค่อนข้างมาก มีแนวโน้มที่ภาษีที่ดินฯ จากกลุ่มนี้จะลดลง ปัญหา หากภาษีที่ดินฯ สูงขึ้นได้ถึง 10 เท่า แต่อาจเก็บไม่ได้เลยเพราะเจ้าของทรัพย์สินไม่มีปัญญาจะจ่าย จังหวัดนนทบุรีลดลงมาก ถ้าไม่มีลด 90% จะไปได้ ข้อดีของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง คือมีราคาประเมินทุนทรัพย์มาตรฐานเดียวกัน ทำให้ อปท.ส่วนหนึ่งน่าจะจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น เพราะ พ.ร.ฎ. ลดภาษีลงร้อยละ 90 แต่จะทำให้อัตราภาษีที่แท้จริงที่ลดลงจาก ภ.ร.ด. ในปี 2562 มากกว่าร้อยละ 90 เหตุใดจึงมาลดภาษีที่ท้องถิ่นจัดเก็บเอง ไม่ลดภาษีอื่นๆ ของรัฐบาลกลาง เช่น น่าจะลด VAT แกนนำข้าราชการท้องถิ่น (2563) ให้ข้อสังเกตว่า เรื่อง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ผู้ปฏิบัติงานจะลาออกหรือย้ายกันหมดแล้ว ไม่ให้เวลา ไม่มีการอบรม กรมไม่ส่งเสริม ตอนนี้จะตายกันหมดแล้ว เจ้าหน้าที่เตรียมโอนย้ายหนีงานกันหมดแล้ว เงินภาษีประชาชนหมดไปกับการลงทุนเตรียมการเรื่อง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นจำนวนมาก แต่แทบไม่ได้อะไรเลย ขั้นตอนการจัดเก็บต่างๆ ก็ยุ่งยากจน เจ้าหน้าที่บ่นกันอุบ รายได้ที่จะเพิ่มขึ้นก็ผิดคาด เชื่อว่าท้องถิ่นโดยเฉพาะพื้นที่ชนบทจะขาดรายได้ภาษีท้องถิ่นไปเยอะแน่นอน ถือเป็นเรื่องใหญ่ ต้องจัดต้องขับเคลื่อนต่อ จัดเก็บภาษีที่ดินฯไม่ได้ เพราะให้ลดการจัดเก็บ 90% ท้องถิ่นหลายแห่งไม่มีงบบริหาร ส่งเสริมการใช้เงินสะสมจนไม่มีเหลือ ท้องถิ่นหมด สต๊อกเงินสำรอง หรือ แม้เงินทุนสำรองสะสมอันเป็นความหวังสุดท้าย ปัญหาท้องถิ่นปัจจุบัน โดยเฉพาะ อปท. ขนาดเล็ก และขนาดกลาง คือ ไม่มีเงินบริหารแล้ว เพราะ เก็บภาษีไม่ได้ ที่น่าจะมาชดเชยตรงนี้ กรณีการ(บังคับ)ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราร้อยละ 90 รัฐต้องมีชดเชยเงินรายได้ให้แก่ อปท. ความเห็นนี้เป็นการนำร่องเพื่อสร้างองค์ความรู้การจัดทำแผนที่ภาษี(ที่ดิน)และทะเบียนทรัพย์สินของ อปท. ซึ่งเป็นเรื่องการปฏิบัติที่ยุ่งยากเทคนิคเฉพาะทาง แม้จะเป็นข้อมูลเก่าไป ก็มิได้มีเจตนาเอามะพร้าวห้าวมาขายสวนแก่ผู้ที่รู้แล้วแต่อย่างใด เชื่อว่าอาจทำให้ลดทอนปัญหาเบื้องต้นลงได้บ้างตามสมควร โดยเฉพาะแก่นักการเมืองผู้บริหารท้องถิ่น และแก่ข้าราชการส่วนท้องถิ่นสายงานผู้บริหาร