ระดับเสียงที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์

ระดับเสียงที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์

onlinenewstime.com : “เสียง” ที่ได้ยินกันอยู่เป็นประจำตลอดเวลานั้น มีความถี่ของคลื่นเสียง อยู่หลายระดับ ทั้งที่ดังเกินไป แต่เป็นเพียงเสียงที่สร้างความรำคาญ จนกระทั่งดังเกินไป และมีผลกระทบ กับร่างกายและจิตใจได้ ซึ่งเหล่านี้ถือเป็นมลพิษทางเสียงที่เราต้องหาทางรับมือ

เสียงดังแค่ไหนถึงจะถือว่าเป็นมลพิษเสียง

มารู้จักระดับความดังของเสียง ที่เกิดจากกิจกรรมต่าง ๆในชีวิตประจำวัน ซึ่งประกอบด้วย เสียงในระดับต่าง ๆ กัน และมีระดับที่ชี้วัดได้ว่า อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

แหล่งกำเนิดเสียงที่สำคัญ

ระดับเสียง (เดซิเบลเอ) * แหล่งกำเนิดเสียง
30 เสียงกระซิบ
50 เสียงพิมพ์ดีด
60 เสียงสนทนาทั่วไป
80 เสียงจราจรตามปกติ
90 เสีงรถบรรทุกที่กำลังวิ่ง
100 เสียงขุดเจาะถนน
120 เสียงค้อน เครื่องปั๊มโลหะ
140 เสียงเครื่องบินขึ้น

* เดซิเบลเอม dB(A) คือ สเกลของเครื่องวัดเสียง ที่สร้างเลียนแบบลักษณะการทำงานของ หูมนุษย์ โดยจะกรองเอาความถี่ต่ำ และความถี่สูงของเสียง ที่เกินกว่ามนุษย์จะได้ยินออกไป

  • ระดับเสียงที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์

เสียงรบกวน หมายถึง ระดับเสียงที่ผู้ฟังไม่ต้องการจะได้ยิน เพราะสามารถกระทบต่อ อารมณ์ ความรู้สึกได้แม้จะไม่เกินเกณฑ์ที่เป็นอันตราย แต่ก็เป็นเสียงรบกวน ที่มีผลต่อผู้ฟังได้ การใช้ความรู้สึกทำให้วัดได้ยาก ว่าเป็นเสียงรบกวนหรือไม่เช่น เสียงดนตรี ที่ดังมากในสถานที่เต้นรำ ไม่ทำให้ผู้ที่เข้าไปเที่ยวรู้สึกว่าถูกรบกวน แต่ในสถานที่ต้องการความสงบ เช่น ห้องสมุด เสียงพูดคุยตามปกติ ที่มีความดัง ประมาณ 60 เดซิเบลเอ ก็ถือว่าเป็นเสียงรบกวนได้

เกณฑ์กำหนดของระดับเสียงที่เป็นอันตราย

กรมแรงงาน กระทรวงมหาดไทย ได้กำหนดมาตรฐานของระดับเสียงในสถานประกอบการ ต่าง ๆ ไว้ดังนี้คือ

  1. ได้รับเสียงไม่เกินวันละ 7 ชั่วโมง ต้องมีระดับเสียงติดต่อกันไม่เกิน 91 เดซิเบล(เอ)
  2. ได้รับเสียงวันละ 7-8 ชั่วโมง ต้องมีระดับเสียง ติดต่อกันไม่เกิน 90 เดซิเบล(เอ)
  3. ได้รับเสียงเกินวันละ 8 ชั่วโมง ต้องมีระดับเสียง ติดต่อกันไม่เกิน 80 เดซิเบล(เอ)
  4. นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในที่ ๆ มีระดับเสียงเกิน 140 เดซิเบล(เอ) ไม่ได้

ในอีกด้าน องค์การอนามัยโลกกำหนดว่า เสียงที่เป็นอันตราย หมายถึงเสียงที่ ดังเกิน 85 เดซิเบลเอ ที่ทุกความถี่ ส่วนใหญ่พบว่า โรงงานอุตสาหกรรม มีระดับเสียงที่ดังเกิน มากกว่า 85 เดซิเบลเอ เป็นจำนวนมากซึ่งสามารถก่อให้เกิดอันตราย ต่อสุขภาพทางกาย และจิตใจ

ผลเสียของเสียงที่มีต่อสภาพร่างกายและจิตใจ

การทำงานในที่มีเสียงดังเกิน 85 เดซิเบลเอ เป็นเวลาติดต่อกันมากกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน นานนับปีจะมีผลต่อมนุษย์ดังนี้

1. ผลเสียทางกายภาพ ผลเสียโดยตรงต่อประสาทหู ก่อให้เกิดการสูญเสียการได้ยิน ทั้งแบบชั่วคราวและแบบถาวร จนกลายเป็นความพิการได้

2. ผลเสียทางจิตใจ เกิดความเครียดเป็นโรคจิต โรคประสาทได้ การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ มีผลทำให้เกิดโรคกระเพาะ ความดันโลหิตสูง

3. ผลเสียต่อประสิทธิภาพการทำงาน เสียงที่ดังมาก ๆ จะรบกวนการทำงาน ทำให้เสียสมาธิ เป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุได้ และยังลดประสิทธิภาพการทำงานอีกด้วย

การป้องกันและวิธีลดความดังของเสียง

1. ควบคุมที่แหล่งกำเนิด

  • การออกแบบอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องจักรให้มีการทำงานที่เงียบ
  • การเลือกใช้อุกรณ์ เครื่องมือ ควรเลือกประเภทที่มีเสียงดังน้อยกว่า เช่น การใช้เครื่องปั๊มโลหะ ที่เป็นระบบไฮดรอลิกแทน เครื่องที่ใช้ระบบกล
  • การเปลี่ยนกระบวนการผลิต ที่ไม่ทำให้เกิดเสียงดัง
  • การจัดหาที่ปิดล้อมเครื่องจักร โดยนำวัสดุดูดซับเสียง มาบุลงในโครงสร้าง ที่จะใช้ครอบหรือ ปิดล้อมเครื่องจักร
  • การติดตั้งเครื่องจักร ให้วางอยู่ในตำแหน่งที่มั่นคง เนื่องจากเสียง เกิดจากการสั่นสะเทือนของเครื่องจักร และการใช้อุปกรณ์กันสะเทือน จะช่วยลดเสียงได้

2. การควบคุมที่ทางผ่านของเสียง

  • เพิ่มระยะห่างระหว่างเครื่องจักร และผู้รับเสียง ทำให้มีผลต่อระดับเสียง โดยระดับเสียงจะลดลง 6 เดซิเบลเอ ทุก ๆระยะทาง ที่เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า
  • การทำห้อง หรือกำแพงกั้นทางเดินของเสียง โดยออกแบบวัสดุเก็บเสียง หรือดูดซับเสียงที่ สัมพันธ์กับความถี่ของเสียง
  • การปลูกต้นไม้ยืนต้น ที่มีใบดกบริเวณริมรั้ว ช่วยในการลดเสียงได้

3. การควบคุมการรับเสียงที่ผู้ฟัง

การใช้อุปกรณ์ป้องกันต่อหู เพื่อลดความดังของเสียงมี 2 แบบคือ

  • ที่ครอบหู จะปิดหูและกระดูกรอบ ๆ ใบหูไว้ทั้งหมด สามารถลดระดับความดังของเสียงได้ 20-40 เดซิเบลเอ
  • ปลั๊กอุดหู ทำด้วยยาง หรือพลาสติก ใช้สอดเข้าไปในช่องหู สามารถลดระดับความดังของ เสียงได้ 10-20 เดซิเบลเอ การลดระยะเวลาในการรับเสียง ของผู้ที่อยู่ในบริเวณที่มีเสียงดัง เกินมาตรฐาน โดยจำกัดให้น้อยลง

ระดับเสียงที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์

มลพิษทางเสียง เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม และต้องหาทางแก้ไข หรือป้องกัน เพื่อไม่ให้เกิดการเจ็บป่วยในระยะยาว ทั้งทางร่างกายและจิตใจ

Cr. กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม