ม เกษตร กํา แพง แสน คณะมนุษยศาสตร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

คณะมนุษยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ม เกษตร กํา แพง แสน คณะมนุษยศาสตร์
คําขวัญWisdom of Life
ชื่ออังกฤษFaculty of Humanities,
Kasetsart University
ที่อยู่50 ถนนงามวงศ์วาน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900
วันก่อตั้ง17 มิถุนายน พ.ศ. 2524
คณบดีผศ.ดร.ธงรบ รื่นบันเทิง
วารสารวารสารมนุษยศาสตร์วิชาการ
(Journal of Humanities)
สีประจําคณะ███ สีขาว
สัญลักษณ์ดอกแก้ว
เพลงมนุษยศาสตร์
เว็บไซต์www.human.ku.ac.th
เฟซบุ๊กFaculty of Humanities, Kasetsart University

คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นคณะลำดับที่ 11 ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งอยู่ที่เกษตรกลางบางเขน กรุงเทพมหานคร มีประวัติความเป็นมาควบคู่กับการสถาปนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เมื่อปี พ.ศ. 2486 ในฐานะ แผนกวิชาภาษาอังกฤษ สังกัดคณะกสิกรรมและสัตวบาล มีหน้าที่ดำเนินการสอนภาษาอังกฤษให้กับนิสิตคณะต่าง ๆ จนมาเป็น ภาควิชาภาษา คณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ และสถาปนาขึ้นเป็น คณะมนุษยศาสตร์ เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2524 ปัจจุบัน คณะมนุษยศาสตร์ประกอบด้วย 9 ภาควิชา เปิดสอนหลักสูตรทั้งในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก จำนวน 27 หลักสูตร โดยเป็นหลักสูตรนานาชาติ 3 หลักสูตร นอกจากนี้ ยังให้บริการสอนหลักสูตรอบรมต่าง ๆ ทั้งเชิงวิชาการและวิชาชีพ ตลอดจนจัดการทดสอบทางภาษาแก่นิสิต บุคลากร และประชาชนทั่วไป

คณะมนุษยศาสตร์เป็นคณะที่มีชื่อเสียงทางด้านนวัตกรรมมนุษยศาสตร์ในระดับนานาชาติ พัฒนาองค์กรให้เป็นสถาบันการศึกษาที่สร้างสรรค์เพื่อผลิตบัณฑิตที่เชี่ยวชาญและมีความสามารถรอบด้าน พร้อมทั้งสร้างสรรค์ผลงานทางวิชาการโดยใช้นวัตกรรมเป็นฐาน พัฒนาด้านวิชาการให้ทันสมัยและตรงกับความต้องการของตลาด และเสริมสร้างทุนทางวัฒนธรรมของไทยเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์

ประวัติ[แก้]

คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีประวัติความเป็นมายาวนานพร้อมกับการสถาปนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เมื่อปี พ.ศ. 2486 โดยแรกเริ่มนั้นมีฐานะเป็น แผนกวิชาภาษาอังกฤษ ในสังกัดคณะกสิกรรมและสัตวบาล ซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ที่ชั้นสองของตึกชีววิทยา ทำหน้าที่ในการจัดการเรียนการสอนวิชาภาษาอังกฤษให้กับนิสิตคณะกสิกรรมและสัตวบาล คณะวนศาสตร์ คณะการประมง และคณะสหกรณ์

เมื่อมีการสถาปนา คณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2509 แผนกวิชาภาษาอังกฤษ ได้โอนมาสังกัดยังคณะแห่งนี้ โดยเป็น แผนกวิชาภาษา ซึ่งมีรองศาสตราจารย์ประชุม ทัพภะสุต เป็นหัวหน้าแผนกวิชา และมีสำนักงานอยู่ที่ตึกธรรมศักดิ์มนตรี ภาควิชาภาษาได้เปิดสอนในรายวิชาภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน ภาษาญี่ปุ่น ภาษาไทย ภาษาเขมร ภาษาบาลี และภาษาสันสกฤต รวมทั้งรับผิดชอบการผลิตศิลปศาสตรบัณฑิตในสาขาวิชาภาษาต่าง ๆ กับการสอนภาษาในฐานะ "วิชาพื้นฐาน" ให้แก่นิสิตของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

โดยในระยะแรกเริ่ม คณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์มีหลักสูตรที่ได้รับอนุมัติเปิดสอน 2 สาย คือ สายวิทยาศาสตร์ และสายศิลปศาสตร์ โดยสายศิลปศาสตร์ได้เปิดสอนในหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสังคมศาสตร์ และหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชามนุษยศาสตร์ ซึ่งบัณฑิตสายศิลปศาสตร์รุ่นแรกนั้นได้สำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2514 จำนวน 22 ราย เป็นสาขาสังคมศาสตร์ 13 ราย สาขามนุษยศาสตร์ 9 ราย นอกจากนี้ ได้มีการปรับปรุงหลักสูตรครั้งแรกให้เป็นสากลนิยม โดยได้ปรับเปลี่ยนหลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชามนุษยศาสตร์ มาเป็นหลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษา[1]

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้บรรจุ คณะอักษรศาสตร์ ไว้เป็นคณะวิชาใหม่ในแผนงานผลิตบัณฑิตของแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษา ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2520-2524) ของส่วนราชการในกำกับทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐ[2] อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2523 คณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ให้ความเห็นชอบการจัดตั้ง "คณะมนุษยศาสตร์" แทนคณะอักษรศาสตร์ในการประชุมครั้งที่ 4/2523 ภายใต้แนวคิดที่จะปรับการศึกษาวิชาการแนวอักษรศาสตร์มาผสานกับการศึกษาเพื่ออาชีพ ด้วยการสร้างหลักสูตรในสาขาวิชาที่ไม่มีอยู่ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แต่เดิมและไม่ใช่สาขาวิชาในคณะอักษรศาสตร์ที่มีในมหาวิทยาลัยอื่นขึ้น อาทิ สาขาวิชาการเดินทางและการท่องเที่ยว การโรงแรม เลขานุการ สื่อสารมวลชน และดนตรี เป็นต้น[3]

ดังนั้น เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2524 จึงได้มีการโอน "ภาควิชาภาษา" ออกมาจากคณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ และ "ภาควิชาปรัชญาและศาสนา" ออกมาจากคณะสังคมศาสตร์ มาตั้งเป็นคณะวิชาใหม่มีชื่อว่า คณะมนุษยศาสตร์ โดยมีอาจารย์ ดร.กัญจนา สินธวานนท์ ดำรงตำแหน่งคณบดีคนแรกของคณะมนุษยศาสตร์ และมีสำนักงานตั้งอยู่ที่ชั้นสองและสามของตึกภาษา-สถิติ ซึ่งเป็นที่ทำการเดิมของภาควิชาภาษา จนกระทั่งคณะมนุษยศาสตร์มีอาคารเป็นของตนเองในปี พ.ศ. 2530

เมื่อเริ่มแรกคณะมนุษยศาสตร์ ประกอบด้วย 7 ภาควิชา โดยได้รับโอนภาควิชาภาษามาจากคณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ แล้วมาแยกตามสาขาวิชาการออกเป็น 3 ภาควิชา ได้แก่ ภาควิชาภาษา ภาควิชาภาษาศาสตร์ และภาควิชาวรรณคดี นอกจากนี้ยังได้รับโอนภาควิชาปรัชญาและศาสนามาจากคณะสังคมศาสตร์อีก 1 ภาควิชา และจัดตั้งภาควิชาใหม่ 3 ภาควิชา ได้แก่ ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ ภาควิชาศิลปาชีพ และภาควิชาศิลปนิเทศ

พ.ศ. 2536 จัดตั้งศูนย์ภาษาเป็นหน่วยงานภายใน เพื่อให้บริการอบรมภาษาต่างประเทศแก่บุคคลทั่วไป

พ.ศ. 2537 แยกภาควิชาภาษาออกเป็น 2 ภาควิชา คือ "ภาควิชาภาษาต่างประเทศ" และ "ภาควิชาภาษาไทย" ทำให้มีภาควิชาเพิ่มขึ้นเป็น 8 ภาควิชา

ม เกษตร กํา แพง แสน คณะมนุษยศาสตร์

พ.ศ. 2543 จัดตั้งสถาบันภาษาศาสตร์และวัฒนธรรมศึกษาราชนครินทร์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในฐานะที่พระองค์ได้ทรงทำคุณประโยชน์แก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และประเทศชาติในด้านต่าง ๆ เป็นอันมาก โดยเฉพาะในด้านภาษาและวัฒนธรรม โดยเป็นหน่วยงานในสังกัดคณะมนุษยศาสตร์ มีเป้าหมายหลักในการส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาคุณภาพทางวิชาการด้านภาษาศาสตร์และวัฒนธรรมศึกษา

พ.ศ. 2549 จัดตั้งสถาบันขงจื๊อ ตามข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง 4 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการแห่งประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน มหาวิทยาลัยหัวเฉียวแห่งประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และคณะมนุษยศาสตร์ มีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งเน้นการดำเนินกิจกรรมด้านการสอนและงานวิจัยที่ เกี่ยวข้องกับภาษาและวัฒนธรรมจีน รวมทั้งเป็นศูนย์ทดสอบภาษาจีนมาตรฐานที่เรียกว่า "HSK"

พ.ศ. 2549 สภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อนุมัติจัดตั้งศูนย์จัดการศึกษาโครงการพิเศษ คณะมนุษยศาสตร์ เพื่อทำหน้าที่ประสานการบริการโครงการจัดการศึกษาภาคพิเศษของคณะมนุษยศาสตร์ ทั้งในส่วนงานด้านธุรการและประสานด้านการบริการวิชาการของหลักสูตรระดับ ปริญญาตรีและระดับบัณฑิตศึกษาภาคพิเศษในทุกสาขาของคณะ

พ.ศ. 2552 รวมภาควิชาบรรณารักษศาสตร์กับสาขาวิชาสื่อสารมวลชน ภาควิชาศิลปนิเทศแล้วจัดตั้งเป็นภาควิชาใหม่คือ "ภาควิชานิเทศศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์" และปรับเปลี่ยนโครงสร้างของสาขาดนตรี ภาควิชาศิลปนิเทศ จัดตั้งเป็น "ภาควิชาดนตรี" จำนวนรวมภาควิชาของคณะยังคงเป็น 8 ภาควิชาเช่นเดิม

พ.ศ. 2555 แยกสาขาวิชาภาษาจีน และสาขาวิชาภาษาญี่ปุ่น ออกจากภาควิชาภาษาต่างประเทศ และจัดตั้งเป็น "ภาควิชาภาษาตะวันออก" ซึ่งนอกจากจะมีการเรียนการสอนวิชาเอกภาษาจีนและภาษาญี่ปุ่นแล้ว ยังเปิดหลักสูตรในระดับปริญญาตรีเพิ่มอีก 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาตะวันออก วิชาเอกภาษาจีนธุรกิจ (ภาคพิเศษ) และหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาตะวันออก วิชาเอกภาษาญี่ปุ่นธุรกิจ (ภาคพิเศษ) นอกจากนี้ภาควิชาภาษาตะวันออกยังมีวิชาเลือกภาษาเกาหลีและภาษาอาเซียน ได้แก่ ภาษาเวียดนาม ภาษามลายู และภาษาพม่า เพื่อการเตรียมพร้อมการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน จำนวนรวมภาควิชาของคณะเพิ่มขึ้นเป็น 9 ภาควิชา

พ.ศ. 2557 คณะมนุษยศาสตร์ได้รับโอนสำนักพิพิธภัณฑ์และวัฒนธรรมการเกษตรจากมหาวิทยาลัยเข้ามาเป็นหน่วยงานสนับสนุนของคณะ และจะยกฐานะของศูนย์ทดสอบภาษาอังกฤษซึ่งเดิมดำเนินการโดยภาควิชาภาษาต่างประเทศ ให้เป็นศูนย์ทดสอบทางภาษาเพื่อรองรับการทดสอบสมรรถภาพทางภาษาที่มีความต้องการเพิ่มมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาเกาหลี ฯลฯ

คณะมนุษยศาสตร์ได้ปรับแนวคิดจากการศึกษาที่เสร็จสมบูรณ์ในตัวเองมาเป็นการศึกษาที่เป็นเครื่องมือที่เอื้อต่อการนำไปประกอบอาชีพ แต่ยังคงธำรงเนื้อหาวิชาการสาขามนุษยศาสตร์ไว้ด้วย ภายใต้แนวคิดของอาจารย์ ดร.กัญจนา สินธวานนท์ คณบดีคนแรกและผู้ร่วมงานก่อตั้งคณะมนุษยศาสตร์ ดังที่กล่าวไว้ในบทสรุปวิสัยทัศน์ว่า

ในความหมายเดิม มนุษยศาสตร์ เป็นการศึกษาที่เน้นหนักด้านจิตใจ ถือการพัฒนาสติปัญญา คุณธรรม และรสนิยมของบุคคลเป็นคุณค่าสูงสุด แต่ปัจจุบัน มนุษยศาสตร์ ขยายขอบเขตออกไปครอบคลุมถึงการศึกษาที่นำไปเป็นประโยชน์ใช้สอยได้โดยตรงอีกด้วย การจัดการศึกษาของคณะมนุษยศาสตร์จึงเป็นไปตามหลักปรัชญาการศึกษาเพื่ออาชีพ (Career Education) คือเป็นการผสมผสานกันระหว่างวิชาการกับอาชีพ ด้วยตระหนักดีว่าความรู้ทางอาชีพจำเป็นต้องควบคู่ไปกับวิชาการและการพัฒนาจิตใจของผู้ศึกษา จึงจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมอย่างแท้จริง[4]

ดังนั้น รูปแบบของการจัดการศึกษาของคณะมนุษยศาสตร์ในปัจจุบันจึงมี 2 รูปแบบ คือ แบบเน้นความลึกซึ้งทางวิชาการด้านมนุษยศาสตร์และแบบเน้นวิชาชีพโดยผสมผสานกับวิชาการ ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการของสังคม ทำให้คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีความโดดเด่น แตกต่าง และยังคงความทันสมัยอยู่จวบจนปัจจุบัน

อาคารเรียน[แก้]

  • อาคารวชิรญาณสังวร

อาคารวชิรญาณสังวร หรืออาคารมนุษยศาสตร์ 1 สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร เสด็จมาทรงเป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2531 และทรงเป็นประธานในพิธีเปิดอาคารพร้อมทั้งทรงปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์เพื่อ เป็นสิริมงคลแก่คณะมนุษยศาสตร์ เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2534 โดยในปี พ.ศ. 2564 เนื่องในวาระครบรอบ 40 ปีแห่งการสถาปนาคณะมนุษยศาสตร์ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานพระวโรกาสให้คณะผู้บริหารคณะมนุษยศาสตร์เข้าเฝ้า ณ พระวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร เพื่อกราบทูลอาราธนาให้ทรงเจิมป้าย "อาคารวชิรญาณสังวร" โดยจะเชิญป้ายอาคารเรียนดังกล่าวไปประดับไว้ที่ส่วนบนของอาคาร เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งพระเมตตาของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ที่พระองค์ได้เสด็จมาเป็นองค์ประธานในการประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์และเสด็จมาเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอาคารเรียนดังกล่าว ปัจจุบัน อาคารวชิรญาณสังวร เป็นที่ทำการของภาควิชาปรัชญาและศาสนา ภาควิชาภาษาต่างประเทศ ภาควิชาภาษาศาสตร์ และภาควิชาวรรณคดี

  • อาคารประเสริฐศตวรรษา

อาคารประเสริฐศตวรรษา หรืออาคารมนุษยศาสตร์ 2 แต่เดิมคือ ตึกชีววิทยาประมง โดยคณะมนุษยศาสตร์ได้รับโอนอาคารเรียนมาจากคณะประมง แล้วได้ปรับปรุงภูมิทัศน์ซ่อมแซมและตกแต่ง เริ่มใช้อาคารเมื่อปี พ.ศ. 2551 โดยในปี พ.ศ. 2564 เนื่องในวาระครบรอบ 40 ปีแห่งการสถาปนาคณะมนุษยศาสตร์ อาคารมนุษยศาสตร์ 2 จึงได้รับการตั้งชื่อใหม่ว่า "อาคารประเสริฐศตวรรษา" อันมีความหมายว่า อาคารอันเป็นอนุสรณ์แด่ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร บูรพาจารย์ด้านไทยศึกษา จารึก ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี และอดีตนายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปัจจุบัน อาคารประเสริฐศตวรรษา เป็นที่ทำการของภาควิชาภาษาไทย ห้องสมุดคณะมนุษยศาสตร์ และสถาบันขงจื๊อ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

  • อาคารกัญจนานิทัศน์

อาคารกัญจนานิทัศน์ หรืออาคารมนุษยศาสตร์ 3 แต่เดิมคือ ตึกผลิตภัณฑ์ประมง โดยคณะมนุษยศาสตร์ได้รับโอนอาคารเรียนมาจากคณะประมง แล้วได้ปรับปรุงภูมิทัศน์ซ่อมแซมและตกแต่ง เริ่มใช้อาคารเมื่อปี พ.ศ. 2552 โดยในปี พ.ศ. 2564 เนื่องในวาระครบรอบ 40 ปีแห่งการสถาปนาคณะมนุษยศาสตร์ อาคารมนุษยศาสตร์ 3 จึงได้รับการตั้งชื่อใหม่ว่า "อาคารกัญจนานิทัศน์" เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงอาจารย์ ดร.กัญจนา สินธวานนท์ ผู้ก่อตั้งและคณบดีคนแรกของคณะมนุษยศาสตร์ ปัจจุบัน อาคารกัญจนานิทัศน์ เป็นที่ทำการของภาควิชานิเทศศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์

  • อาคารจุฬาภรณ์พิศาลศิลป์

อาคารจุฬาภรณ์พิศาลศิลป์ หรืออาคารมนุษยศาสตร์ 4 สมเด็จพระมหาธีราจารย์ เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์ และพระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ เป็นประธานในพิธีพราหมณ์ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2553 ทั้งยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางวัฒน วรขัตติยราชนารี พระราชทานนามอาคารว่า "จุฬาภรณ์พิศาลศิลป์" และพระราชทานพระอนุญาตอันเชิญอักษรพระนามย่อ "จ.ภ." มาประดิษฐานคู่กับนามอาคาร ทั้งยังเสด็จมาทรงเปิดอาคาร เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2554 และเริ่มใช้อาคารในปี พ.ศ. 2555 ปัจจุบัน เป็นที่ทำการของสำนักงานเลขานุการคณะมนุษยศาสตร์ ภาควิชาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ (ภาควิชาศิลปาชีพเดิม) ภาควิชาดนตรี ภาควิชาภาษาตะวันออก และศูนย์ภาษา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

สัญลักษณ์ประจำคณะ[แก้]

  • ดอกไม้ที่เป็นสัญลักษณ์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ คือ ดอกแก้ว เป็นดอกไม้ที่มีสีขาว มีทั้งความงดงาม ความบริสุทธิ์ และกลิ่นหอม
  • สีประจำคณะมนุษยศาสตร์ คือ สีขาว เป็นสีที่แสดงถึงความบริสุทธิ์ดั่งปรัชญาและปณิธานของคณะมนุษยศาสตร์ที่มุ่งมั่น สร้างสรรค์ให้บัณฑิตเป็นคนดี มีคุณธรรม ยึดถือความดีเป็นที่ตั้ง
  • เพลงประจำคณะ คือ เพลงมนุษยศาสตร์ ประพันธ์ทำนองและเนื้อร้องโดย ว่าที่ร้อยตรี อวบ เหมะรัชตะ และเพลงผองเราชาวมนุษยศาสตร์ ประพันธ์ทำนองและเนื้อร้องโดย จริยา เจรีรัตนะ

หน่วยงาน[แก้]

ภาควิชา สำนัก สถาบัน และศูนย์ ภายในคณะมนุษยศาสตร์

  • สำนักงานเลขานุการ
  • ภาควิชานิเทศศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์
  • ภาควิชาปรัชญาและศาสนา
  • ภาควิชาภาษาต่างประเทศ
  • ภาควิชาภาษาไทย
  • ภาควิชาภาษาศาสตร์
  • ภาควิชาภาษาตะวันออก
  • ภาควิชาวรรณคดี
  • ภาควิชาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ
  • ภาควิชาดนตรี เก็บถาวร 2013-06-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  • ศูนย์ภาษา
  • ศูนย์ทดสอบทางภาษา
  • ศูนย์จัดการศึกษาโครงการพิเศษ เก็บถาวร 2017-07-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  • ศูนย์พัฒนาภาษาด้วยตนเอง (KU-SALL) เก็บถาวร 2017-10-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  • สถาบันขงจื๊อ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • สถาบันภาษาศาสตร์และวัฒนธรรมศึกษาราชนครินทร์

หลักสูตร[แก้]

ระดับปริญญาตรี ระดับปริญญาโท ระดับปริญญาเอก

หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต (ศศ.บ.)

  • สาขาวิชาการจัดการการท่องเที่ยวเชิงบูรณาการ (หลักสูตรนานาชาติ)
  • สาขาวิชาการสร้างสรรค์การบริการเพื่อธุรกิจการท่องเที่ยว
  • สาขาวิชาดนตรีตะวันตก
  • สาขาวิชาดนตรีไทย
  • สาขาวิชานิเทศศาสตร์
  • สาขาวิชาปรัชญาและศาสนา
  • สาขาวิชาภาษาจีน
  • สาขาวิชาภาษาจีนธุรกิจ (ภาคพิเศษ)
  • สาขาวิชาภาษาญี่ปุ่นธุรกิจ (ภาคปกติและภาคพิเศษ)
  • สาขาวิชาภาษาไทย
  • สาขาวิชาภาษาไทยเพื่อการสื่อสารสำหรับชาวต่างประเทศ (หลักสูตรนานาชาติ)
  • สาขาวิชาภาษาฝรั่งเศส
  • สาขาวิชาภาษาเยอรมัน
  • สาขาวิชาภาษาอังกฤษ (ภาคปกติและภาคพิเศษ)
  • สาขาวิชาวรรณคดี
    • วิชาเอกวรรณคดีไทย
    • วิชาเอกวรรณคดีอังกฤษ

หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ศศ.ม.)

  • สาขาวิชาดนตรี
  • สาขาวิชานิเทศศาสตร์และสารสนเทศ
  • สาขาวิชาปรัชญาและศาสนา
  • สาขาวิชาภาษาตะวันออก
    • วิชาเอกภาษาจีน
    • วิชาเอกภาษาญี่ปุ่น
  • สาขาวิชาภาษาไทย
  • สาขาวิชาภาษาศาสตร์ประยุกต์
  • สาขาวิชาภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารระหว่างประเทศ

หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ปร.ด.)

  • สาขาวิชาปรัชญาและศาสนา
  • สาขาวิชาภาษาตะวันออก
    • วิชาเอกภาษาจีน
    • วิชาเอกภาษาญี่ปุ่น
  • สาขาวิชาภาษาไทย
  • สาขาวิชาภาษาศาสตร์ประยุกต์
  • สาขาวิชาภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารระหว่างประเทศ (หลักสูตรนานาชาติ)

ทำเนียบคณบดี[แก้]

  • นับแต่คณะมนุษยศาสตร์ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2524 จนถึงปัจจุบัน มีผู้ดำรงตำแหน่งคณบดี ดังนี้
ทำเนียบคณบดีคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
รายนามคณบดี ระยะเวลาในการดำรงตำแหน่ง
1. อาจารย์ ดร.กัญจนา สินธวานนท์ พ.ศ. 2524 - พ.ศ. 2527
2. อาจารย์ สิงห์ทอง พรนิคม พ.ศ. 2527 - พ.ศ. 2535
3. รองศาสตราจารย์ ศิริลักษณ์ ลิ้มภักดี พ.ศ. 2535 - พ.ศ. 2539
4. รองศาสตราจารย์ กมลา นาคะศิริ พ.ศ. 2539 - พ.ศ. 2543
5. รองศาสตราจารย์ ปรียา อุนรัตน์ พ.ศ. 2543 - พ.ศ. 2548
6. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นงนุช ศรีอัษฎาพร พ.ศ. 2548 - พ.ศ. 2552
7. รองศาสตราจารย์ ดร.วิไลศักดิ์ กิ่งคำ พ.ศ. 2552 - พ.ศ. 2556
8. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พุทธชาติ โปธิบาล พ.ศ. 2556 - พ.ศ. 2560
9. รองศาสตราจารย์ ดร.กิติมา อินทรัมพรรย์ พ.ศ. 2560 - พ.ศ. 2564
10. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธงรบ รื่นบันเทิง พ.ศ. 2564 - ปัจจุบัน

หมายเหตุ คำนำหน้านามของผู้ดำรงตำแหน่งคณบดี เป็นคำนำหน้านามตามตำแหน่งทางวิชาการในขณะนั้น

ละคอนมะนุด[แก้]

ละคอนมะนุด คือละครเวทีประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดทำโดย ภาควิชานิเทศศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ และมีชื่อเรียกในภาษาอังกฤษว่า HUMDRAMA มาจาก Humanities Drama ละคอนมะนุดมีแนวคิดหลักว่าเป็นละครเวทีที่เข้าใจความเป็นมนุษย์ โดยการสร้างสรรค์ละครเวที นิสิตจะสามารถนำความรู้จากแขนงต่าง ๆ ที่ได้ศึกษามาปฏิบัติใช้จริงภายใต้การดูแลของคณาจารย์และศิษย์เก่าผู้เชี่ยวชาญ อีกทั้ง ต้องใช้ความร่วมมือจากหลายฝ่าย ซึ่งจะก่อให้เกิดการเรียนรู้กระบวนการทำงานร่วมกับผู้อื่น เกิดความสามัคคี และเป็นพื้นฐานที่ดีให้กับนิสิตในการประยุกต์ใช้สู่สังคมส่วนรวมต่อไป ปัจจุบัน ละคอนมะนุดได้จัดขึ้นมาแล้ว 28 ครั้ง นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 โดยในแต่ละครั้งมีรายชื่อละครเวที ดังนี้

  • 2533 - ศัตรูประชาชน
  • 2535 - ต้นส้มแสนรัก
  • 2536 - ครอบครัวคงกระพัน
  • 2537 - ศรัทธาแห่งปรัชญากร
  • 2539 - ต้องบ้า
  • 2540 - เจ้านาย
  • 2541 - เดอะ รูมเมท
  • 2542 - ปรารถนารักนิรันดร์
  • 2543 - นิทานนิทรา
  • 2544 - มรดกอลวน คนอลเวง
  • 2545 - รักปิด รักเปิด
  • 2546 - ตามศรัทธา
  • 2547 - งานเลี้ยง
  • 2548 - Double Death
  • 2550 - Mertale : The Legend of blue
  • 2551 - The Healer คนเพ้อเมืองเพี้ยน
  • 2552 - ๒๕๘๗ : กลิ่นอายพระนคร หลากรักหลบซ่อน จะย้อนกลับมาอีกครา
  • 2553 - นาฏอัครา
  • 2554 - The Suicide Shop ร้านชำสำหรับคนตาย
  • 2555 - In the Frame วานนั้น วันนี้
  • 2556 - บางกระโพ้น
  • 2557 - นาครเขษม
  • 2558 - TOMORROW ขณะนี้ 6 นาฬิกา
  • 2559 - April Rain เมื่อเมษาคือหน้าฝน
  • 2560 - One Last Time กาลครั้งหนึ่งเมื่อฉันเห็นเธอ
  • 2561 - เดอะ ไทม์มิชชัน
  • 2562 - Bless You Bully! ตำนานลับ คลับขี้แกล้ง
  • 2563 - Powerful You Are ประลองป่วนรัก พลังป่วนโลก

หมายเหตุ ละคอนมะนุดครั้งที่ 28 (Powerful You Are ประลองป่วนรัก พลังป่วนโลก) ยกเลิกการแสดงสดเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่ 2019 (COVID-19) โดยเปลี่ยนการเป็นบันทึกภาพการแสดงและเผยแพร่ลงในสื่อสังคมออนไลน์ของละคอนมะนุดแทน

นิสิตเก่าและนิสิตปัจจุบันที่มีชื่อเสียง[แก้]

  • สุริยา ลาภวิสุทธิสิน (นิสิตเก่า) เอกการท่องเที่ยวและการโรงแรม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
  • สาโรจน์ พรประภา (นิสิตเก่า) เอกการเดินทางและการท่องเที่ยว ที่ปรึกษาหน่วยสนับสนุนศูนย์บูรณาการความเป็นเลิศศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล อดีตอธิการบดีวิทยาลัยดุสิตธานี อดีตอาจารย์ประจำสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • เขมนิจ จามิกรณ์ (นิสิตเก่า) เอกภาษาอังกฤษ นักแสดง ไทยซุปเปอร์โมเดลคอนเทสต์ 2547 นักแสดง สถานีโทรทัศน์ทรูวิชันส์ โฆษกพิเศษกองทัพเรือ
  • สิริลภัส กองตระการ (นิสิตเก่า) เกียรตินิยมอันดับ 2 เอกสื่อสารมวลชน นักแสดง รองอันดับ 2 มิสทีนไทยแลนด์ 2546 12 คนสุดท้าย มิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์ส 2552 นักแสดง ช่อง 7 HD
  • เตชินท์ ชยุติ (นิสิตเก่า) เอกดนตรีตะวันตก นักร้อง บริษัท จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ จำกัด (มหาชน)
  • กมลเนตร เรืองศรี (นิสิตเก่า) เกียรตินิยมอันดับ 1 เอกสื่อสารมวลชน นักแสดง สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3
  • เจก รัตนตั้งตระกูล (นิสิตเก่า) เกียรตินิยมอันดับ 1 เอกสื่อสารมวลชน ผู้ประกาศข่าว สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3
  • อภิสรา นุตยกุล (นิสิตเก่า) เอกภาษาอังกฤษ ผู้ประกาศข่าว สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3
  • นันทนา บุญหลง (นิสิตเก่า) เอกดนตรีตะวันตก นักร้อง ครูสอนร้องเพลง นักพากย์
  • ณพอาภา เทวกุล ณ อยุธยา (นิสิตเก่า) เอกดนตรีตะวันตก นักร้อง ผู้ออกแบบสติ๊กเกอร์ "เรารักในหลวง" เยาวชนดีเด่นแห่งชาติ ปี 2551 สาขาสื่อมวลชนเพื่อเด็กและเยาวชนที่ป้องกันปัญหาสังคม
  • จักรธร ขจรไชยกูล (โตน วงโซฟา) (นิสิตเก่า) เอกปรัชญาและศาสนา นักร้อง
  • ชญาดา สนธิรักษ์ (อลิซ LG Entertainer) (อลิซ อาร์สยาม) (นิสิตเก่า) เอกภาษาฝรั่งเศส นักร้อง บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน)
  • กุลยา ดวงมณี (นิสิตเก่า) เอกปรัชญาและศาสนา รองมิสไทยแลนด์เวิร์ลปี 2002
  • วิรุฬ สกุลทรัพย์ไพศาล (ดำ วงฟอร์เอฟเวอร์) (นิสิตเก่า) เอกดนตรีตะวันตก นักร้อง
  • อภิสุข เวทยวิศิษฏ์ (นิสิตเก่า) เอกภาษาไทย ผู้ดำเนินรายการวิทยุ สถานีวิทยุข่าวสารและการจราจร (จส100)
  • อธิป เจริญชัยสกุลสุข (เก่ง วงลูกหิน) (นิสิตเก่า) เอกภาษาไทย นักร้อง
  • เวฬุรีย์ ดิษยบุตร (นิสิตเก่า) เอกภาษาอังกฤษ อดีตมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2557 นักแสดง สถานีโทรทัศน์ช่อง 8
  • เพชรพราว ณ ลำปาง (นิสิตเก่า) เอกปรัชญาและศาสนา พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน พรีเซนเตอร์ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
  • เดียร์น่า ฟลีโป (นิสิตเก่า) เกียรตินิยมอันดับ 2 เอกภาษาไทย นักแสดง สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3
  • จิรกิตติ์ ถาวรวงศ์ (นิสิตเก่า) เอกสื่อสารมวลชน นักแสดง บริษัท จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ จำกัด (มหาชน)
  • ธัญลักษณ์ โชคธนเดช (พลอยใส AF12) (นิสิตเก่า) เอกดนตรีตะวันตก นักร้อง
  • วรนิษฐ์ ถาวรวงศ์ (นิสิตเก่า) เอกสื่อสารมวลชน นักแสดง บริษัท จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ จำกัด (มหาชน)
  • ภิเษก ศรีสวัสดิ์ (นิสิตเก่า) เอกสื่อสารมวลชน ผู้สื่อข่าวกีฬา สำนักข่าวไทย อสมท.
  • ศรัณย่า ชุณหศาสตร์ (นิสิตเก่า) เอกวรรณคดีไทย นักแสดง ช่อง 7 HD
  • สุภาพร วงศ์ถ้วยทอง (นิสิตเก่า) เอกสื่อสารมวลชน นักแสดง พิธีกร สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3
  • เจษฎากร เกรียงสมุทร (นิสิตเก่า) เอกภาษาอังกฤษ นักแสดง I Am Your King ผมขอสั่งให้คุณ
  • กานต์ กฤษณะพันธ์ (นิสิตปัจจุบัน) เอกภาษาอังกฤษ นักแสดง Why R U The Series เพราะรักใช่เปล่า
  • ชวรินทร์ เพริศพิริยะวงศ์ (นิสิตปัจจุบัน) เอกภาษาจีน นักแสดง เฮียก็หาว่าซื่อ Cutie Pie Series

อ้างอิง[แก้]

  1. คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประวัติคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรียกดูวันที่ 2020-07-11
  2. สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา แผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษา ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2520-2524) เก็บถาวร 2020-07-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกดูวันที่ 2020-07-12
  3. วรรณา นาวิกมูล มนุษยศาสตร์สมโภช: 36 ปีคณะ, 24 ปีวารสาร เรียกดูวันที่ 2020-07-12
  4. ฐานข้อมูลบูรพาจารย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อาจารย์ ดร.กัญจนา สินธวานนท์ เรียกดูวันที่ 2020-07-12

  • พระราชกฤษฎีกาจัดแบ่งคณะในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๐๙
  • ละคอนมะนุด HUMDRAMA เก็บถาวร 2020-03-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน