การจัดสรรเงินลงทุน asset allocation

คำถามหนึ่งที่พี่ทุยได้รับบ่อยมากเลยก็คือ จะแบ่งเงินไปลงทุนหรือ “จัดสรรเงิน” ไปทำอะไรดี ? เหมือนเป็นคำถามยอดฮิตของนักลงทุนมือใหม่เลยก็ว่าได้

อยากรู้ว่าการลงทุนแบบไหนเหมาะกับเรา ต้องเริ่มต้นที่ “เป้าหมายการเงิน”

ถ้าอยากรู้ว่าเราเหมาะกับการลงทุนหรือการ “จัดสรรเงิน” แบบไหน เราจะต้องรู้ว่าก่อนว่า “เป้าหมายการเงิน” ของเราคืออะไร บางคนที่กำลังเตรียมเงินไปดาวน์รถยนต์ในอีก 6 เดือนข้างหน้า แน่นอนว่าแหล่งเงินที่ควรลงทุนก็จะแตกต่างกับคนที่ต้องการเก็บเงินเพื่อเกษียณอายุในอีก 30 ปี ข้างหน้าอย่างแน่นอน ซึ่งหลักการโดยทั่วไปแล้วยิ่งสามารถลงทุนได้นานก็จะสามารถรับความเสี่ยงได้เพิ่มมากขึ้น

สมมติว่า เราต้องการเก็บเงินเพื่อดาวน์รถยนต์ในอีก 6 เดือนข้างหน้า ด้วยระยะเวลาที่สั้นลักษณะนี้ ควรจะเน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่ความเสี่ยงต่ำ สภาพคล่องสูง เปลี่ยนเป็นเงินสดได้เร็ว แต่ก็แน่นอนว่าผลตอบแทนจะไม่ได้สูงเมื่อเทียบกับการลงทุนแหล่งอื่น ๆ ที่มีความเสี่ยงที่สูงกว่า

และด้วยระยะเวลาที่สั้น ผลตอบแทนคาดหวังจากการลงทุนที่แตกต่างกัน ก็อาจจะไม่ได้ส่งผลแตกต่างกันมากนัก ตัวอย่างเช่น เราทยอยเก็บเงินเดือนละ 20,000 บาทเป็นระยะเวลา 6 เดือนเพื่อตั้งใจนำเงินไปดาวน์รถยนต์ ถ้าเรานำไปฝากเงินได้ผลตอบแทน 1% ต่อปี เมื่อครบ 6 เดือนเราจะได้เงินต้นรวมดอกเบี้ยประมาณ 120,250 บาท

ในทางกลับกัน สมมติว่าเรานำเงินไปลงทุนในหุ้น ได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 10% ต่อปี เมื่อครบ 6 เดือนเราจะได้เงินต้นรวมผลตอบแทนเท่ากับ 122,528 บาท

จะเห็นได้ว่าระดับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นสูง แต่สร้างความแตกต่างได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น และต้องอย่าลืมว่าตลาดหุ้นมีโอกาสที่จะติดลบมากกว่า -20 ถึง -30% อย่างในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมาเราน่าจะเห็นตัวอย่างความผันผวนของตลาดหุ้นกันไปแล้ว ถ้าหากเกิดความผันผวนในระยะสั้นในช่วงที่เรากำลังออมเงินอยู่ อาจจะทำให้เรามีเงินไม่เพียงพอสำหรับการนำเงินไปดาวน์รถยนต์ได้เลย ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการลงทุนระยะสั้น ก็คือ การ “รักษาเงินต้น” นั่นเอง

ซึ่งแตกต่างจากการฝากเงิน ถึงแม้ว่าดอกเบี้ยจะไม่ได้สูงมาก แต่การฝากเงินนั้นมีความปลอดภัยเพราะได้รับความคุ้มครองจาก “สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (DPA)” โดยอัตโนมัติทันทีที่เปิดบัญชีเงินฝากกับ 35 สถาบันการเงินภายใต้ความคุ้มครอง ซึ่งหากสถาบันการเงินที่ฝากเงินไว้เกิดถูกปิดกิจการขึ้นมา เงินฝากในบัญชีจะไม่หายไปไหน เพราะ DPA จะทำหน้าที่คืนเงินฝากให้กับผู้ฝากเอง

โดยในปัจจุบันยังให้ความคุ้มครองอยู่ที่ 5,000,000 บาท/สถาบันการเงิน/คน และจะมีการปรับลงเหลือ 1,000,000 บาท/สถาบันการเงิน/คน ตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป ดังนั้นโอกาสที่เงินต้นเราจะสูญหายไปแทบจะไม่มีเลยก็ว่าได้  สำหรับใครที่อยากรู้ว่าเงินฝากที่ไหนได้รับความคุ้มครอง แล้วเงินฝากประเภทไหนบ้างที่ได้รับความคุ้มครอง สามารถอ่านละเอียดเพิ่มเติมได้ คลิกที่นี่

อยากลงทุนให้ประสบความสำเร็จต้องรู้จักการ “จัดสรรสินทรัพย์ (Asset Allocation)” 

และอีกเรื่องหนึ่งที่พี่ทุยอยากจะเน้นเตือนกับคนที่กำลังจะเริ่มต้นลงทุน หลังจากที่เรารู้แล้วว่า “เป้าหมายการเงิน” เราเป็นอย่างไร ก่อนจะลงทุนอย่าลืมสิ่งที่เรียกว่า “การจัดสรรสินทรัพย์ (Asset Allocation)” ง่าย ๆ ก็คือ ห้ามเอาเงินเราทั้งก้อนไปลงทุนในสินทรัพย์ตัวใดตัวหนึ่งเด็ดขาด เหตุผลก็เพราะว่า โลกเราไม่มีสินทรัพย์ไหนที่ให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุดตลอดเวลา โดยทั่วไปแล้วก็จะมีทั้งปีที่ให้ผลตอบแทนที่ดีมาก บางปีก็ไม่ขึ้นไม่ลง แต่ในบางปีก็จะมีช่วงเวลาที่ให้ผลตอบแทนติดลบจนน่าตกใจเลยก็มีเหมือนกัน

“การจัดสรรสินทรัพย์ (Asset Allocation)” จะช่วยกระจายความเสี่ยงและเฉลี่ยผลตอบแทนจากหลาย ๆ สินทรัพย์ ช่วยป้องกันการขาดทุนหนัก ๆ ได้ ซึ่งถ้าหากใครที่สามารถรับความเสี่ยงได้สูงก็สามารถเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้นได้ เช่น คนที่รับความเสี่ยงได้เราอาจจะเลือกลงทุนในหุ้นสัก 60% ตราสารหนี้ 30% และเงินฝากอีก 10% หรือถ้าใครรับความเสี่ยงไม่ได้มากก็อาจจะลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นเหลือสัก 30% ตราสารหนี้ 40% และเงินฝากอีก 30% ก็ได้เช่นกัน

ทั้งนี้เรื่อง “การจัดสรรสินทรัพย์ (Asset Allocation)” ว่าเราควรลงทุนหุ้น ตราสารหนี้และเงินฝากเท่าไหร่นั้น ไม่ได้มีสูตรตายตัว แต่พี่ทุยอยากให้ดูที่ “ระดับความเสี่ยง” ของเป้าหมายการเงินที่เราสามารถรับได้เป็นหลักว่าเป็นอย่างไร ซึ่งวิธีหนึ่งที่พี่ทุยใช้เป็นเกณฑ์เบื้องต้นในการจัดพอร์ตการลงทุน คือ อายุของตัวเรา

หลักการ คือ พี่ทุยจะแบ่งสินทรัพย์ออกเป็น 2 ส่วนหลัก ได้แก่
1. สินทรัพย์ความเสี่ยงสูง คือ หุ้น อสังหาริมทรัพย์ และสินค้าทางเลือกอย่างทองคำ น้ำมัน
2. สินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำ คือ ตราสารหนี้ และเงินฝาก

จากนั้นให้นำ “อายุ” ของเราบวกด้วย 20 จะเป็นสัดส่วนที่เหมาะสมในการลงทุนสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำ

สมมติว่าพี่ทุยอายุ 30 ปี แปลว่า พี่ทุยควรจัดพอร์ตสินทรัพย์เสี่ยงต่ำที่ 50% และสัดส่วนที่เหลืออีก 50% สามารถนำไปลงทุนในสินทรัพย์ความเสี่ยงสูงได้ หรือถ้าพี่ทุยอายุ 60 ปี พี่ทุยควรจัดสรรการลงทุนในสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำที่ 80% และสินทรัพย์ความเสี่ยงสูงที่ 20%

อย่างที่พี่ทุยบอกไปข้างต้นว่าเป็นเพียงเกณฑ์เบื้องต้นเท่านั้น แต่ถ้าเราเป็นคนที่อายุเยอะ และมีเป้าหมายการเงินที่ยังสามารถเสี่ยงได้ก็สามารถลงทุนเสี่ยงได้เช่นกัน ดังนั้น พี่ทุยย้ำเตือนอีกครั้งว่าให้กลับไปดูที่เป้าหมายการเงินของเราว่าเป็นอย่างไร จึงจะสามารถตอบเรื่องนี้ได้ชัดเจนที่สุดนั่นเอง

การลงทุนในสินทรัพย์หลาย ๆ ตัวย่อมดีกว่าการทุ่มเงินลงไปในสินทรัพย์เพียงตัวใดตัวหนึ่ง เพราะ หากสินทรัพย์เพียงตัวเดียวที่เรามีด้อยค่าลง เงินที่เราลงทุนไปก็จะหดหาย แต่ถ้าเรามีสินทรัพย์หลายอย่าง เวลามีตัวใดตัวหนึ่งด้อยค่า ก็ยังมีตัวอื่น ๆ พยุงมูลค่าของพอร์ตไว้ได้ การลงทุนลักษณะนี้ เราเรียกว่า Asset Allocation แล้ว Asset Allocation คืออะไร ไปดูกัน

Asset Allocation คืออะไร ?

ถ้าแปลเป็นไทย “Asset Allocation” เป็น การกระจายการลงทุน หรือ การจัดพอร์ตการลงทุน ถ้าประโยคฮิต ๆ ที่คนชอบพูดกัน ก็คือ อย่าใส่ไข่ไว้ในตระกร้าใบเดียว ถ้าเราเผลอทำตะกร้าใบนึงตก เราจะได้ไม่เสียไข่ไปทั้งหมด

ถ้าเรามาเปรียบเทียบกับการลงทุน ก็อย่างเช่น เรามีเงิน 10,000 บาท ถ้าเรานำไปซื้อหุ้น A ตัวเดียวเลย ถ้าเกิดสมมติหุ้น A ราคาตกลงมา 20% พอร์ตการลงทุนเราก็จะลดทันที 20% มูลค่าโดยรวมก็จะเหลือแค่ 8,000 บาท

แต่ถ้าเรารู้จักการจัดพอร์ตการลงทุย สมมติว่าเราลงทุนหุ้น A อยู่ที่ 5,000 บาทและหุ้น B อยู่ที่ 5,000 บาท แล้วถ้าหุ้น A ราคาตกลงมา 20% ทีนี้พอร์ตเราก้จะขาดทุนแค่ 1,000 บาท มูลค่าโดยรวมจะเหลือ 9,000 บาท แปลว่ากรณีนี้เราก็จะไม่ขาดทุนมากเท่าไหร่

มาถึงตรงนี้หลาย ๆ คนก็ถามว่า ถ้าเราจัดพอร์ตการลงทุน แล้วถ้าหุ้น A ขึ้น 20% ไปเลยทีเดียว ทำให้การลงทุนในหุ้น A อย่างเดียวก็จะได้กำไรมากกว่าสิพี่ทุย !!

คำตอบก็คือใช่เลยล่ะ แต่ปัญหาก็คือเราไม่รู้ว่าราคาหุ้น A จะขึ้นหรือลงไงล่ะ ถ้าพี่ทุยรู้ว่าจะขึ้นพี่ทุยก็คงขายรถ ขายบ้านมาลงทุนเช่นกัน เราไม่รู้อนาคตว่าจะเกิดอะไรขึ้น สิ่งที่เราทำได้ก็คือ การกระจายการลงทุนอย่างเหมาะสมนั่นเอง

ข้อดีของ Asset Allocation

การจัดพอร์ตการลงทุน ระยะยาวจะได้ประโยชน์ที่ค่อนข้างดี เพราะสินทรัพย์ที่ดีจะเป็นขาขึ้นในระยะยาว แต่ในระยะสั้น ๆ อาจจะมีตกลงบ้างตามวัฏจักรของเศรษฐกิจ การจัดพอร์ตการลงทุนจะทำให้เรามีส่วนร่วมกับทุกสินทรัพย์ที่ราคาเป็นขาขึ้น และลดความเสี่ยงในกรณีที่เราลงทุนสินทรัพย์ตัวเดียว แล้วเราเลือกสินทรัพย์ผิดตัว ราคาก็อาจจะปรับตัวลง จนสุดท้ายไม่กลับมาที่เดิมอีกเลย ถ้าสินทรัพย์ตัวนั้นเราลงแค่ 5% ของพอร์ตทั้งหมดแปลว่าเราก็ขาดทุนสูงสุดแค่ 5% ของพอร์ตเท่านั้นเอง

แต่พี่ทุยให้เคล็ดไม่ลับในการกระจายการลงทุนไว้อย่างนึงว่า นอกจากที่เราต้องกระจายการลงทุนในหุ้นหลายตัว หลายกลุ่มอุตสาหกรรมแล้ว อีกอย่างนึงที่เราควรทำก็คือกระจายการลงทุนในหลากหลายประเภทสินทรัพย์ด้วย ทั้ง ตราสารทุน (หุ้น) ตราสารหนี้ แม้กระทั่งเงินฝากก็เป็นสัดส่วนที่ควรมีในพอร์ตเช่นกัน

ติดตามคำศัพท์การเงินอื่น ๆ ได้ที่นี่

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile