ลาป่วยกี่วันต้องมีใบรับรองแพทย์

หลากปัญหาหลายความข้องใจ เกี่ยวกับสวัสดิการ ระเบียบบริษัท และข้อบังคับต่างๆ ในออฟฟิศของเรา แบบนั้นทำได้จริงมั้ย มันแฟร์หรือเปล่า? แต่ไม่ได้เอ่ยถามไปเพราะกลัวโดนตอกกลับมาว่าบริษัทกำหนดมาแบบนี้ จะไม่ทำตามหรอ? เลยได้แต่เงียบไม่กล้าถามกันตรงๆ เราเลยอยากหยิบยกปัญหาคาใจยอดฮิตของชาวออฟฟิศที่เจอกันอยู่บ่อยๆ โดยไม่ได้นึกคำตอบลอยๆ ตามความต้องการ แต่ยึดตามพรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตอบคำถามยอดฮิตให้กระจ่างว่าเราควรได้รับประโยชน์ในเรื่องไหน มีสิทธิ์มีเสียงทำอะไรได้บ้าง 

โดยเนื้อหาหลักๆ นี้ อิงมาจากเว็บบอร์ดไซต์ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ที่เราบังเอิญไปเจอเนื้อหาที่น่าสนใจมา ในหมวดคำถามที่พบบ่อย เต็มไปด้วยประเด็นที่น่าสนใจ และเป็นประโยชน์กับเหล่าคนทำงานอย่างมาก แต่คำตอบอาจจะดูเป็นทางการและเป็นภาษาที่เข้าใจยากเกินกว่าจะอ่านแล้วร้อง อ๋อ! ในครั้งเดียว เลยหยิบเอา 4 คำถามยอดฮิตที่น่าจะใกล้ตัวชาวออฟฟิศมาเสนอ เป็นเนื้อหาที่เข้าใจง่ายและยังคงอ้างอิงตามกฎหมาย

ลาป่วยกี่วันต้องมีใบรับรองแพทย์

พนักงานมาสาย นายจ้างมีสิทธิ์หักเงินหรือเปล่า?

ฝนตก รถติด น้ำรอการระบาย จะขยับไปเลนไหนก็มีค่าเท่ากัน หรือแม้แต่วันธรรมดาๆ ที่รถอยากจะติดขึ้นมาแบบไม่มีเหตุผลก็เกิดขึ้นให้เห็นบ่อยๆ จะกี่เหตุผลของการมาสายก็ไม่อาจสู้ระเบียบของบริษัทได้ เพราะหลายแห่งมีข้อกำหนดมาว่า หากมาสายจะถูกหักเงิน เท่านั้น เท่านี้ จนการมาสายกลายเป็นยารสขมที่พนักงานไม่อยากจะกลืนลงคอ จึงต้องตระเตรียมตัวเองให้พร้อมเพื่อมาทำงานตรงเวลาเสมอ (ซึ่งมันก็ควรเป็นอย่างนั้นนั่นแหละ) 

การมาทำงานให้ตรงเวลา เป็นเรื่องที่ทุกคนเข้าใจเหมือนกันว่าควรปฏิบัติตาม แต่การหักเงินเพราะมาสายล่ะ อันนี้ทำได้จริงตามกฎหมายหรือเปล่านะ จึงเกิดคำถามที่ว่า พนักงานมาสาย นายจ้างมีสิทธิ์หักเงินหรือเปล่า?

เวลาเจ้านายจะหักเงินพนักงานเนี่ย มีเงื่อนไขว่าต้องเป็นกรณี 1 2 3 4 ดังนี้เท่านั้นจึงจะหักได้ นอกนั้นห้ามหักนะ พรบ.คุ้มครองแรงงาน ชี้ทางมาที่มาตรา 76 ใจความดังนี้ “ห้ามมิให้นายจ้างหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด” แล้วจะหักได้กรณีไหนบ้าง? ก็อยู่ในมาตรานี้เช่นกัน เช่น หนี้สินสหกรณ์ออมทรัพย์  ค่าบำรุงสหภาพแรงงาน เงินประกันตามมาตรา 10 เป็นต้น แต่ใดๆ ก็ตาม มันไม่มีข้อ “มาสาย” กำหนดอยู่ในนั้น การหักเงินด้วยข้อหามาสาย แม้จะเป็นกฎของบริษัทแต่ก็ถือว่าขัดกับพรบ.คุ้มครองแรงงานด้วย

สรุป บริษัทไม่สามารถหักเงินค่าจ้างของพนักงานด้วยเหตุผลมาสาย หากต้องการลงโทษ ให้หามาตรการอื่นในระเบียบบริษัทลงโทษแทน

ลาป่วยนอนซมที่บ้าน ไม่มีใบรับรองแพทย์ ทำไงดี?

บางวันที่เราเจออาการป่วยกระเสาะกระแสะเล่นงาน เป็นไข้ ท้องเสีย ปวดท้องประจำเดือน แม้จะดูเป็นเรื่องเล็กน้อยในสายตาคนนอก แต่คนที่ป่วยเองนั้น เขาเป็นคนที่ต้องหมดแรง ขยับตัวไม่ไหว จนรู้แล้วว่าร่างกายตัวเองไม่อยู่ในสภาพที่พร้อมจะออกไปทำงาน ลาป่วยจึงเป็นตัวเลือกสำหรับเรื่องนี้ แต่ทีนี้การลาป่วยแต่ละทีช่างยากเย็น ‘ป่วยแค่เองนี้หรอ?’ ‘อย่าลืมใบรับรองแพทย์นะ’ สารพัดคำถามที่โจมตีเข้ามาราวกับว่าอาการป่วยของเรานั้นไม่มีอยู่จริง 

กลายเป็นว่าหากไม่มีใบรับรองแพทย์ไปให้ในวันที่ไปทำงานอีกครั้ง อาจทำให้โดนตั้งคำถามถึงวันหยุดที่เราใช้ไป ใบรับรองแพทย์จึงกลายเป็นท่าไม้ตายจากฝั่ง HR และเป็นหนามแทงใจให้เราต้องมี hard feeling กับการลาป่วยเสมอ อาจคิดว่าก็ไม่แปลกนี่ ป่วยจริงๆ ก็ต้องมีใบรับรองแพทย์มายืนยัน แต่ถ้าวันนั้นเราป่วยด้วยอาการเป็นไข้ ปวดท้องประจำเดือน ท้องเสีย หรืออะไรก็ตามที่เราอาจต้องการเพียงแค่พักรักษาตัวอยู่ที่บ้าน เราจำเป็นต้องออกไปเอาใบรับรองแพทย์เพื่อการป่วยหนึ่งวันหรือไม่?

งั้นมาดูนี่กัน พรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 32  ระบุไว้ว่า “ให้ลูกจ้างมีสิทธิลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง การลาป่วย ตั้งแต่สามวันทำงานขึ้นไป นายจ้างอาจให้ลูกจ้างแสดงใบรับรองของแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งของสถานพยาบาลของทางราชการ ในกรณีที่ลูกจ้างไม่อาจแสดงใบรับรองของแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งหรือของสถานพยาบาลของทางราชการได้ ให้ลูกจ้างชี้แจงให้นายจ้างทราบ”

สรุป เราต้องลาป่วย 3 วันขึ้นไปเท่านั้น นายจ้างจึงจะมีสิทธิ์ขอใบรับรองแพทย์จากเรา รวมทั้งระหว่างที่เราลา เราต้องได้ค่าจ้างตามปกติ ไม่เกิน 30 วันต่อปี สมมติว่าลาป่วยไป 35 วัน แม้กฎหมายกำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างตามปกติ แต่จ่ายให้ไม่เกิน 30 วันเท่านั้น อีก 5 วันที่เหลือนายจ้างจะไม่จ่ายก็ไม่ผิดอะไร โดยพรบ.นี้กำหนดใช้กับทุกห้างร้าน ไม่ว่าข้อกำหนดของบริษัทเป็นยังไงก็ตาม หากเรารู้สึกไม่สบายใจหรือถูกเอารัดเอาเปรียบ สามารถหยิบประเด็นนี้ไปพูดคุยกับทางบริษัทได้เช่นกัน

ในหนึ่งปีลากิจได้กี่วัน?

วันนี้มีธุระ ลากิจ เลยเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดของการลา บางคนก็ธุระเยอะลากิจบ่อย บางคนธุระน้อยไม่ค่อยใช้วันลากิจนี้เท่าไหร่ แม้จะเป็นอีกหนึ่งในวันลาสากลที่ทุกคนรู้จักและเข้าใจตรงกันว่ามันคืออะไร แต่ความชัดเจนในตัวมันน้อยมากว่ามันมีข้อบังคับอะไรไหม ลาได้กี่วัน เมื่อธุระปะปังในชีวิตแต่ละคนไม่เท่ากัน จะจัดการวันลานี้ยังไงดี 

แม้แต่พรบ.คุ้มครองแรงงาน ก็ไม่ได้กำหนดจำนวนวันที่ชัดเจนเอาไว้ ตามรอยไปที่มาตรา 34 “ให้ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็นได้ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน” ไม่กำหนดจำนวนวัน แถมไม่กำหนดด้วยว่านายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างหรือไม่ เรื่องนี้เลยอาจขึ้นอยู่กับนโยบายของบริษัทว่าจะกำหนดวันลามาให้กี่วัน แบ่งเป็นวันลาป่วย ลากิจ ลาพักร้อน อย่างละเท่าไหร่ รวมถึงการจ่ายค่าจ้างด้วย อาจจะต้องพูดคุยกับนายจ้างเพื่อความกระจ่าง

ค่าโอทีตามกฎหมาย คำนวณยังไง?

นั่งทำงานเสียจนล่วงเลยเวลา บางวันหยุดก็ยังอุตส่าห์มาทำงาน เพราะคำว่าโอทีแท้ๆ เลย ที่ดึงดูดให้เราลุกขึ้นมาทำงานในช่วงเวลาที่ไม่ใช่เวลางานปกติได้ แต่ละบริษัทก็มีนโยบายแตกต่างกันไป บางที่ก็มีโอทีให้ บางที่ก็ทำไปเถอะ ไม่มีจ้า (กุมมือ) แล้วทีนี้ได้เงินมาแต่ละที เคยสงสัยไหมว่าเงินที่ได้จากการทำงานล่วงเวลานี้เนี่ย บริษัทเขาให้ยังไง แต่ที่สำคัญไปกว่านั้น มาดูกันดีกว่าว่าตามกฎหมายบอกไว้ว่าต้องให้ค่าล่วงเวลาเท่าไหร่? คำนวณยังไง? แล้วมาดูกันว่าค่าล่วงเวลาที่ได้ทุกวันนี้มันแฟร์ตามกฎหมายหรือเปล่านะ

เรื่องนี้เราได้คำตอบจากเอกสารของ คุณพวงทอง โชคบุญเจริญ นักวิชาการแรงงานชำนาญการ

กองคุ้มครองแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้ให้สูตรคำนวณโอทีมาแบบเข้าใจง่าย โดยวิธีคำนวณเนี่ย แบ่งเป็นสองแบบ คือ ค่าล่วงเวลาในวันทำงาน และค่าล่วงเวลาในวันหยุด

สำหรับวันทำงาน ไม่น้อยกว่า 1.5 เท่า

รายได้ต่อชั่วโมง x จำนวนชั่วโมง x 1.5 = โอทีวันทำงาน

สำหรับวันหยุด ไม่น้อยกว่า 3 เท่า

รายได้ต่อชั่วโมง x จำนวนชั่วโมง x 3 = โอทีวันหยุด

จาก 4 ปัญหายอดฮิตของชาวออฟฟิศนี้ เป็นเพียงการหยิบปัญหาที่เจอบ่อยๆ ขึ้นมาเป็นตัวอย่าง ยังมีเรื่องอีกมากมาย ทั้งเรียบง่ายแต่สงสัยมานาน อย่างวันลาต้องมีกี่วัน เลื่อนวันลาได้มั้ย ไปจนถึงเรื่องซับซ้อนอย่างสัญญาจ้าง ที่ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญมาให้คำตอบ โดยเราสามารถหยิบเพียงเรื่องเล็กน้อยที่เข้าใจง่ายๆ มาขยายความให้ชาวออฟฟิศหลายคนเข้าใจ เพื่อหวังให้ทุกคนรักษาสิทธิประโยชน์ของตนเอง

หากใครมีเรื่องซับซ้อนซ่อนเงื่อน อยากปรึกษา ทำไงดี สามารถโทรสายด่วน 1506 กด 3 หรือกรอกแบบฟอร์มในเว็บไซต์ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้ที่ https://s97.labour.go.th/pub_request/ContactForm.php

อ้างอิงข้อมูลจาก 

Boi.go.th

Labour.go.th

Illustration by Krittaporn Tochan

You might also like

Share this article