ไทยกับมาเลเซียมีความใกล้ชิดกันในระดับใด

ไทย-มาเลเซีย เร่งเปิดพรมแดน เดินหน้าเป้ามูลค่าการค้าที่ 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2568

24 กุมภาพันธ์ 2022

ปรับปรุงแล้ว 26 กุมภาพันธ์ 2022

ไทยกับมาเลเซียมีความใกล้ชิดกันในระดับใด

ที่มาของภาพ, Thai Government handout

นายกฯ ไทยแถลงข่าวร่วมนายกฯ มาเลเซีย ขับเคลื่อนความร่วมมือรอบด้าน ฟื้นฟูความเชื่อมโยง เศรษฐกิจ ความมั่นคง

รัฐบาลไทยระบุว่า ดาโตะ ซรี อิซมาอิล ซาบรี ยาคบ นายกรัฐมนตรีมาเลเซียถือเป็นผู้นำรัฐบาลต่างประเทศคนแรกที่เยือนไทย ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมให้การต้อนรับ พร้อมตรวจแถวทหารกองเกียรติยศ บริเวณสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เมื่อ 25 ก.พ.

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงหลังการหารือของผู้นำ 2 ประเทศ ว่า ทั้งสองฝ่ายสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนการเดินทางระหว่างประชาชนใน 2 ประเทศมากขึ้นอย่างปลอดภัย โดยเฉพาะการเดินทางของผู้ที่ฉีดวัคซีนครบแล้วโดยไม่ต้องกักกันโรค ซึ่งมาเลเซียเรียกช่องทางดังกล่าวว่า Vaccinated Travel Lane (VTL) ขณะที่ไทยได้เปิดรับผู้เดินทางจากมาเลเซียที่ฉีดวัคซีนครบ เดินทางเข้าประเทศทางอากาศโดยไม่ต้องกักตัวแล้ว ผ่านระบบ Test and Go และไทยกำลังเตรียมความพร้อมเปิดการเดินทางผ่านพรมแดนทางบกเพิ่มเติม โอกาสนี้ ทั้งสองเห็นพ้องจัดตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อเร่งหารือรายละเอียดการเปิดพรมแดนระหว่างกัน เพื่อให้ภาคธุรกิจและประชาชนของทั้งสองประเทศเดินทางไปมาหากันได้อย่างสะดวกดังเดิม นอกจากนี้ ทั้งสองพร้อมร่วมผลักดันโครงการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานบริเวณชายแดนไทย-มาเลเซีย ที่คั่งค้างให้มีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม

  • นายกรัฐมนตรีมาเลเซียลาออกท่ามกลางวิกฤตโควิด
  • สองเดือนแรกรัฐบาลมหาเธร์ ทำตามสัญญา เดินหน้ากวาดล้างเครือข่ายเก่า
  • 1MDB: นาจิบ ราซัค อดีตนายกฯ มาเลเซีย ถูกตัดสินจำคุก 12 ปีในคดีทุจริตฉาว

ที่มาของภาพ, Thai Government handout

ทางด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจและแสวงหาความร่วมมือสาขาใหม่ ๆ นายธนกรกล่าวว่า ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องคงเป้าหมายมูลค่าการค้าระหว่างกันที่ 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยขยายระยะเวลาการบรรลุเป้าหมายเป็นภายในปี 2568 และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมจัดการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้าไทย - มาเลเซีย ครั้งที่ 3 เพื่อขับเคลื่อนแนวทางให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว

ในเรื่องการพัฒนาพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้และความมั่นคงชายแดน นายธนกร กล่าวว่า ทั้งสองฝ่ายได้หารือเพื่อส่งเสริมความร่วมมือเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนทั้งสองประเทศ นายกรัฐมนตรีเชิญชวนให้มาเลเซียร่วมลงทุนในโครงการพัฒนาเศรษฐกิจในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงอุตสาหกรรมยางพาราและฮาลาล พร้อมทั้งชี้แจงเกี่ยวกับสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งฝ่ายมาเลเซียสนับสนุนท่าทีของไทยในการแสวงหาทางออกด้วยสันติวิธี ขับเคลื่อนการพูดคุยเพื่อสันติสุขให้มีความคืบหน้า ตลอดจนพร้อมร่วมมือกับไทยอย่างใกล้ชิดในการเสริมสร้างความมั่นคงชายแดน การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติและข้ามแดน คู่ขนานไปกับการร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่เพื่อประโยชน์ของประชาชนทั้งสองประเทศ

โฆษกรัฐบาลกล่าวด้วยว่า การรื้อฟื้นกลไกหารือทวิภาคี การพบหารือระหว่างผู้นำไทยกับมาเลเซียในวันนี้ จะปูทางสู่การแลกเปลี่ยนการเยือนและการประชุมหารือกันภายใต้กลไกและกรอบความร่วมมือต่าง ๆ ที่มีร่วมกัน เพื่อผลักดันความร่วมมือทวิภาคีระหว่างกันให้มีความคืบหน้าเป็นรูปธรรม โดยฝ่ายไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย - มาเลเซีย ครั้งที่ 14 ในเดือนมีนาคมนี้ และหวังว่าจะมีการประชุมหารือในกรอบอื่น ๆ ระหว่างกันอย่างต่อเนื่องต่อไป

ที่มาของภาพ, Thai Government handout

อิซมาอิล ซาบรี ยาคบ รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาเลเซียตั้งแต่ ส.ค. ปีที่แล้ว และเคยมีกำหนดจะเดินทางเยือนประเทศไทยตั้งแต่เดือน ธ.ค. แต่ต้องเลื่อนออกไป

มาเลเซียเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 4 คน ในช่วงที่ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีชื่อ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยพรรคอัมโน พรรคการเมืองสำคัญกลับมาครองอำนาจเป็นรัฐบาลมาเลเซียได้อีกครั้ง หลังจากที่พ่ายการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 61 ปี เมื่อปี 2018

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

นายกรัฐมนตรี ดาโตะ ซรี อิซมาอิล ซาบรี ยาคบ ของมาเลเซีย

ประวัติย่อ นายกฯ มาเลเซีย

อิซมาอิล ซาบรี ยาคบ สาบานตนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาเลเซียเมื่อเดือน ส.ค. ปีที่แล้ว เขาดำรงตำแหน่งรองประธานพรรคอัมโน (UMNO) และเคยเป็นรองนายกรัฐมนตรีมาเลเซียในรัฐบาลชุดก่อน

เขาเป็นนายกรัฐนตรีมาเลเซียคนที่ 3 นับตั้งแต่มีการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2018 โดยดำรงตำแหน่งต่อจากนายมูห์ยิดดิน ยัสซิน ซึ่งลาออกจากตำแหน่ง หลังจากสูญเสียเสียงสนับสนุนข้างมากในรัฐสภา

ที่มาของภาพ, Getty Images

ในปี 2018 มหาเธร์ โมฮัมหมัด ผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาเลเซียมานาน 22 ปี กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง หลังจากร่วมมือกับหลายพรรคการเมืองคว้าชัยการเลือกตั้งเหนือพรรคอัมโน ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลมายาวนาน 61 ปีได้สำเร็จ ทำให้นายนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีที่พัวพันกับการทุจริตกองทุน 1MDB ต้องก้าวลงจากตำแหน่ง

มหาเธร์ โมฮัมหมัด เป็นผู้นำรัฐบาลผสมปากาตันฮาราปัน (Pakatan Harapan - PH) นาน 1 ปี 10 เดือนก่อนที่จะก้าวลงจากตำแหน่งในปี 2020 โดยนายมูห์ยิดดิน ได้ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลผสมเปริกาตันเนชันแนล (Perikatan Nasional - PN) ซึ่งรวมถึงพรรคอัมโนด้วย

นายอิซมาอิล ซาบรี ซึ่งเป็นผู้นำรัฐบาลผสม PN คนใหม่ได้รับการสนับสนุนจากเสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งไม่มากนัก โดยเขาได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) 114 คน จากทั้งหมด 220 คนในสภา เขาจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาเลเซียจนกว่าจะมีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้น โดยมีงานสำคัญคือการฟื้นฟูเศรษฐกิจของมาเลเซียจากผลกระทบของการระบาดใหญ่ของโควิด-19

นายอิสมาอิล ซาบรี วัย 61 ปี เป็น ส.ส. จากรัฐปาหัง ดำรงแหน่งมานาน 4 สมัย โดยในสมัยที่พรรคอัมโนเป็นผู้นำรัฐบาล เขาได้เป็นรัฐมนตรีนาน 10 ปี ระหว่างปี 2008-2018 และได้ก้าวขึ้นเป็นรองประธานพรรคอัมโน หลังจากที่ทางพรรคพ่ายการเลือกตั้งในปี 2018 และเขาได้เป็นผู้นำฝ่ายค้านในปีต่อมา

แต่เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีดูแลด้านความมั่นคงในสมัยรัฐบาลผสม PN ภายใต้การนำของนายมูห์ยิดดิน และได้ก้าวขึ้นเป็นรองนายกรัฐมนตรีในเดือน ก.ค. 2021

ที่มาของภาพ, เพจ สวท.ยะลา กรมประชาสัมพันธ์

คำบรรยายภาพ,

ผู้นำศาสนาอิสลามใน จ.ยะลา ทยอยเดินทางเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็ม 2 เพื่อเร่งสร้างภูมิคุ้มกัน เมื่อวันที่ 9 ต.ค.

เจรจาสันติภาพ

ด้านความมั่นคงชายแดนและสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นายธนกรอ้างคำพูดของนายกรัฐมนตรีไทย ต่อคู่สนทนาว่า ไทยให้ความสำคัญกับมาเลเซียในฐานะผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยเพื่อสันติสุข บนพื้นฐานของการไว้วางใจซึ่งกันและกัน ไทยหวังสานต่อความร่วมมือด้านความมั่นคงตามแนวชายแดนกับมาเลเซีย การแก้ปัญหาลักลอบข้ามแดน และการแก้ไขปัญหายาเสพติดตามแนวชายแดนต่อไป ด้านผู้นำมาเลเซียยินดีสานต่อความร่วมมือทางด้านความมั่นคงทุกมิติ

มาเลเซียเป็นตัวกลางในการจัดเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยและกลุ่มแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ (บีอาร์เอ็น) ซึ่งเป็นกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่ภาคใต้ของไทย โดยได้มีการกลับมาหารือกันต่อเมื่อ 11-12 ม.ค. ที่ผ่านมาในกรุงกัวลาลัมเปอร์ หลังจากหยุดไปนานเกือบ 2 ปีในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด

  • ไทย-บีอาร์เอ็น เห็นชอบ "ลดความรุนแรง-ปรึกษาประชาชน-หาทางออกทางการเมือง"
  • มาราปาตานี-บีอาร์เอ็น: เปิดท่าทีล่าสุดต่อการพูดคุยสันติสุขชายแดนใต้
  • แฟลชม็อบชายแดนใต้ กับวาทกรรม “ประชาธิปไตย = สันติภาพ”

ที่มาของภาพ, สภาความมั่นคงแห่งชาติ

คำบรรยายภาพ,

คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้นำโดย พล.อ. วัลลภ รักเสนาะ ถ่ายภาพร่วมกับคณะผู้แทนบีอาร์เอ็น และผู้อำนวยความสะดวกของมาเลเซียในระหว่างการพบปะกันที่กัวลาลัมเปอร์ วันที่ 11-12 ม.ค.2565

คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้เผยแพร่เอกสารข่าวสรุปผลการหารือระหว่างวันที่ 11-12 ม.ค. ซึ่งใช้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า "3rd Working Group Peace Dialogue Process on Southern Thailand Meeting" ระบุว่า "ทั้งสองฝ่ายได้พูดคุยและถกแถลงหลักการที่จะยึดถือในการพูดคุยสารัตถะในระยะต่อไปจำนวน 3 เรื่อง คือ 1.ลดความรุนแรง 2.การปรึกษาหารือกับประชาชนในพื้นที่ และ 3.แสวงหาทางออกทางการเมือง"

นอกจากนี้ทั้งสองฝ่ายยังได้เสนอให้มีการจัดตั้งกลไกเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการพูดคุยสารัตถะทั้ง 3 เรื่อง โดยจะมีบุคคลผู้ประสานงานและคณะทำงานร่วมของทั้งสองฝ่ายในแต่ละเรื่อง เพื่อผลักดันให้การพูดคุยประเด็นสารัตถะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง คล่องตัวและเกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม

"คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ ได้หยิบยกเรื่องการสร้างบรรยากาศที่ดี เอื้อประโยชน์ต่อกระบวนการพูดคุย และการใช้ชีวิตที่เป็นปกติสุขของประชาชนในพื้นที่ ด้วยการให้ต่างฝ่ายต่างปฏิบัติเพื่อลดความรุนแรง อันจะเป็นการแสดงถึงความคืบหน้าและประโยชน์ที่เกิดจากกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ของทั้งสองฝ่าย" คณะพูดคุยสันติสุขฯ ของไทยระบุ

คำบรรยายวิดีโอ,

เรื่องเทรนดี้ในร้านกาแฟในจังหวัดชายแดนใต้