ใช้บังคับ บังคับใช้ ต่าง กัน อย่างไร

ภาษากฎหมาย: เรื่องชวนคิดและประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้อง

บทความโดย ศรัณย์ พิมพ์งาม

วงการหรือศาสตร์ต่าง ๆ ล้วนมีการใช้คำศัพท์หรือภาษาที่แตกต่างไปจากปกติ ดังเช่นในวงการกฎหมายก็จะมี “ภาษากฎหมาย” หรือคำศัพท์เกี่ยวกับกฎหมายที่รู้และเข้าใจกันในวงการ ซึ่งมักจะสร้างความแปลกใจให้กับคนที่ไม่ได้เรียนกฎหมาย เพื่อนที่แยกจากกันไปเรียนต่างคณะก็มักจะตกอกตกใจที่เพื่อนผู้เรียน คณะนิติศาสตร์ พูดภาษาอะไรแปลก ๆ ใส่ ซึ่งในบทความนี้ผมจะพาเดินชมวงการกฎหมายว่าพวกเขามีการใช้ภาษาเหมือนหรือแตกต่างจากปกติอย่างไรกันบ้าง

1. ภาพรวมเกี่ยวกับ ภาษากฎหมาย

จากเด็กม.ปลายวัยใส เมื่อพวกเขาได้ก้าวเข้ามาเรียนคณะนิติศาสตร์แล้ว เวลา 3-4 ปีในคณะนี้จะเปลี่ยนการรับรู้เรื่องภาษาของพวกเขาแตกต่างออกไปจากคนปกติ ซึ่งอันที่จริงในแต่ละศาสตร์วิชาก็มีกระบวนเช่นนี้เป็นปกติ โดยเฉพาะคณะที่ทำการสอนในลักษณะของวิชาชีพ เพราะไม่อาจปฏิเสธได้ว่า คณะเหล่านี้สร้างกำแพงป้องกันคนนอกศาสตร์ด้วยการมีกฎเกณฑ์บางอย่างอันรวมไปถึงเรื่องของภาษาในการกีดกันคนนอก

ยกตัวอย่างเช่น ศาสตร์เกี่ยวกับบัญชีก็จะมีภาษาทางบัญชีที่ใช้กัน ซึ่งเราจะต้องอาศัยนักบัญชีในการให้บริการเกี่ยวกับบัญชีโดยเฉพาะอย่างยิ่งบัญชีเชิงลึก ที่เห็นภาพชัดก็คือการสร้างมาตรฐานทางบัญชีขึ้นมา อันทำให้คำบางคำมีความหมายเฉพาะในทางบัญชีที่คนในวงการหรือเฉพาะคนที่ศึกษาเรื่องของบัญชีเท่านั้นถึงจะเข้าใจ เช่น คำว่า “รายได้” นั้น คนส่วนใหญ่อาจจะคิดว่าได้รับเงินจากการขายของหรือให้บริการก็นับเป็นรายได้ แต่อันที่จริงในทางบัญชีนั้นมันจะมีเกณฑ์เป็นพิเศษว่าต้องถึงระดับไหน มีพฤติการณ์เช่นไร จึงจะสามารถคำนวณหรือบันทึกสิ่งนั้นว่าเป็นรายได้

หากพิจารณาจากเรื่องของอำนาจ การตีความกฎหมายถือเป็นการใช้อำนาจอย่างหนึ่ง การแย่งชิงอำนาจในการตีความมีมาตั้งแต่สมัยโรมัน เดิมนักบวชซึ่งเป็นชนชั้นสูงจะเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายศาสนาท้องถิ่นของโรมันและมีหน้าที่ในการตีความกฎหมายจารีตประเพณีโรมัน ซึ่งในหลายครั้งใช้อำนาจในการตีความกฎหมายเข้าข้างชนชั้นสูงมากกว่าชนชั้นล่าง1

นอกเรื่องนิดหน่อย หากจะว่าไปแล้ว ประเด็นด้านภาษาในกฎหมายยังมีประเด็นเล็ก ๆ ที่แม้กระทั่งเด็กนิติเองก็ยังงง ๆ เช่น ถ้อยคำในบทบัญญัติกฎหมายมักจะมีภาษาเก่า ๆ ที่ใช้มาตั้งแต่สมัยร่างกฎหมายเมื่อเกือบ 100 ปีมาแล้ว เช่น คำว่า “ท่านว่า…” ซึ่งนักศึกษากฎหมายในปีแรกก็จะงุนงง จนผมมั่นใจว่านักศึกษาคณะนิติศาสตร์เกือบทุกคนต้องเคยตั้งคำถามนี้ในใจแน่ ๆ ท่านว่านั้น ท่านคือใคร! ใครคือท่าน ท่านอยู่ไหน จนเพลงต้องมา ใครหนออออ ท่านว่านี่ใครกันหนอออ แต่ดแต่ดแต่ด ตึ้ง ๆ (ทำนองชิงร้อยชิงล้าน)

ประเด็นเรื่อง ภาษากฎหมาย นั้น ผมเคยตั้งข้อสงสัยบางอย่างและคิดว่า การตีความกฎหมายไทยบางครั้งเกิดปัญหาขึ้นมาก็เพราะเรื่องของภาษานี่ล่ะ โดยเฉพาะการตีความครั้งสำคัญที่ทำให้เกิดการสืบทอดการตีความกฎหมายและผลลัพธ์ของการตีความนั้นจะถูกยึดถือเป็นบรรทัดฐานในการใช้กฎหมายครั้งต่อ ๆ ไปด้วย

ด้วยเหตุนี้ วงการกฎหมายจึงให้ความสำคัญอย่างมากกับการใช้การตีความกฎหมาย นั่นส่งผลให้ นิสิตนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ที่ใช้เวลาประมาณ 4 ปีในรั้วโรงเรียนกฎหมายกำลังและล้วนถูกสอนให้ฝึกตีความ ภาษากฎหมาย และทักษะที่จะต้องถูกนำไปใช้ในชีวิตเมื่อทำงานกฎหมายก็คือ ทักษะในการใช้และตีความกฎหมาย จึงไม่น่าแปลกใจที่ตัวบทบัญญัติกฎหมายจะถูกชำแหละกันทีละคำเพื่อประกอบการตีความและทำความเข้าใจกฎหมายในเรื่องนั้น ๆ

เราสามารถดูตัวอย่างประจักษ์อันแสนชัดเจนได้จากมาตรา 4 วรรคแรกแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ซึ่งต่อไปจะย่อว่า ป.พ.พ. นะครับ)

มาตรา 4 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “กฎหมายนั้น ต้องใช้ในบรรดากรณีซึ่งต้องด้วยบทบัญญัติใด ๆ แห่งกฎหมายตามตัวอักษร หรือตามความมุ่งหมายของบทบัญญัตินั้น ๆ”

โปรดสังเกตถ้อยคำในมาตรา 4 ซึ่งใช้คำว่า “ซึ่งต้องด้วยบทบัญญัติใด ๆ แห่งกฎหมายตามตัวอักษร” อันส่งผลให้นักกฎหมายจะต้องใช้และตีความกฎหมายตามตัวอักษรที่ปรากฏเสียก่อน ซึ่งจริง ๆ มันก็ควรจะต้องเป็นเช่นนั้นเพราะมันต้องมีถ้อยคำให้เราอ่านก่อนว่ากฎหมายเขียนไว้ว่าอย่างไร การตีความและใช้กฎหมายตามตัวอักษรจึงเป็นความสมเหตุสมผลในตัวมันเองระดับหนึ่ง ถ้ากฎหมายมีความชัดเจน มีตัวอักษรแสดงความมุ่งหมายอย่างแน่นอน ศาลก็ต้องบังคับคดีไป ตามความในกฎหมายซึ่งปรากฏอยู่2 เป็นกรณีที่ถ้อยคำของกฎหมายชัดเจนจึงไม่ต้องตีความ3 อย่างไรก็ดี มีนักกฎหมายบางท่านได้ให้ความเห็นอีกว่า ไม่มีบทกฎหมายใดเลยที่ไม่ต้องตีความ ยังไงก็จะต้องพิเคราะห์ตัวอักษรในตัวบทกฎหมายประกอบกับความมุ่งหมายของกฎหมายเสมอ4

นี่ล่ะครับที่ผมจะพาท่านเดินชมว่า ภาษากฎหมาย ที่นักกฎหมายได้เรียนกันมันมีประเด็นอะไรที่แตกต่างและน่าสนใจต่างไปจากภาษาไทยทั่วไปตามปกติบ้าง

2. คำในภาษาไทยกับในกฎหมายมีความหมายต่างกัน

เราต้องเริ่มต้นด้วยความเข้าใจก่อนเลยว่า คำที่ปรากฏในกฎหมายมักจะมีความหมายในทางกฎหมาย และการตีความคำ ๆ นั้นก็ควรจะต้องตีความไปในทางกฎหมายเป็นหลัก ซึ่งผมจะได้อธิบายเพิ่มเติมทีละประเด็นดังนี้ครับ

ก. คำในกฎหมาย

คำในกฎหมายส่วนใหญ่มักจะมีความหมายเป็นของตัวเองที่เป็นการแตกต่างจากความหมายที่คนส่วนใหญ่เข้าใจกัน การใช้คำในบริบทของกฎหมายจึงต้องพึงระลึกถึงสิ่งนี้ไว้เสมอ โดยเฉพาะถ้อยคำที่เป็นศัพท์แสงเทคนิคทางนิติศาสตร์อันเป็นเรื่องของกฎหมายโดยแท้ เช่น คำว่า กรรมสิทธิ์ ละเมิด โมฆะกรรม หรือคำที่กฎหมายอยากให้ต่างจากความเข้าใจของคนทั่วไป คำพวกนี้ก็จะมีความหมายตามที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น5

ผมลองยกตัวอย่างคำว่า “ละเมิด” ซึ่งเป็นคำกริยาที่มีความหมายว่า ล่วงเกินหรือฝ่าฝืนจารีตประเพณีหรือกฎหมายที่มีบัญญัติไว้ หรือล่วงเกิน ฝ่าฝืน ทำไปโดยพลการ หากแต่คำนี้ในกฎหมายมีสถานะเป็นหลักกฎหมายสำคัญเรื่องหนึ่งเลยทีเดียว เพราะละเมิดเป็นบ่อเกิดแห่งหนี้ชนิดหนึ่งในกฎหมาย ซึ่งนักกฎหมายจะเริ่มทำความเข้าใจความหมายของละเมิดก็จากการเรียนเริ่มต้นที่มาตรา 420 ของป.พ.พ.

มาตรา 420 บัญญัติว่า “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

หรือคำว่า “ประมาท” ซึ่งเป็นคำที่คนทั่วไปส่วนใหญ่เข้าใจว่าหมายถึง การไม่ระมัดระวังจนไปทำให้เกิดความเสียหายอะไรบางอย่างขึ้นมา หากแต่คำนี้ในวงกฎหมายกลับมีความสลับซับซ้อน และการใช้คำนี้ในบริบทของประเภทกฎหมายที่ต่างกันก็อาจจะไม่เหมือนกัน เพราะประมาทในทางอาญากับทางแพ่งก็อาจจะมีความแตกต่างในบางประเด็น

แม้กระทั่งประมาทในกฎหมายแพ่งก็ยังมีความแตกต่างกันด้วย เช่น ประมาทในเรื่องสัญญากับประมาทในเรื่องละเมิดก็มีหลักการบางอย่างที่ไม่คล้ายกัน เพราะระดับความระมัดระวังในความรับผิดตามสัญญาจะใช้เกณฑ์วัดแบบวิญญูชน แต่ความระมัดระวังที่ใช้ดูว่าประมาทหรือไม่ในความรับผิดแบบละเมิดจะเปรียบเทียบกับบุคคลที่มีความระมัดระวังตามพฤติการณ์และตามฐานะในสังคมเช่นเดียวกับผู้กระทำความเสียหาย6 และในภาษากฎหมายยังแยกระดับหรือความรุนแรงของความประมาทด้วย เพราะเหนือกว่าประมาทเลินเล่อ (ทั่วไป) ก็ยังมี “ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง” ด้วย ซึ่งประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงจะยกระดับไปเท่ากับการกระทำโดยจงใจ (gross negligence is equivalent to evil intention)

คำธรรมดา ๆ เช่นคำว่า “วรรค” คนทั่วไปอาจจะนึกถึงการเขียนที่จะต้องมีการเว้นวรรค การเว้นช่องว่างระหว่างคำหรือระหว่างข้อความ แต่ในแวดวงกฎหมายนั้น คำว่า วรรค จะเป็นที่เข้าใจตรงกันว่าเป็นการพูดถึง ย่อหน้าหนึ่ง ๆ ของบทบัญญัติในแต่ละมาตราของกฎหมาย ลองดูบทบัญญัติมาตรา 159 ป.พ.พ. ด้านล่างนี้ครับ

มาตรา 159 การแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลเป็นโมฆียะ
การถูกกลฉ้อฉลที่จะเป็นโมฆียะตามวรรคหนึ่ง จะต้องถึงขนาด ซึ่งถ้ามิได้มีกลฉ้อฉลดังกล่าว การอันเป็นโมฆียะนั้นคงจะมิได้กระทำขึ้น
ถ้าคู่กรณีฝ่ายหนึ่งแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลโดยบุคคลภายนอก การแสดงเจตนานั้นจะเป็นโมฆียะก็ต่อเมื่อคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้หรือควรจะได้รู้ถึงกลฉ้อฉลนั้น

นักกฎหมายจะไม่พูดว่า มาตรา 159 นี้มีทั้งหมด 3 ย่อหน้า แต่จะพูดว่า มาตรานี้มีทั้งหมด 3 วรรค และลองสังเกตในวรรค 2 ตัวบทบัญญัติเองก็ใช้คำว่า วรรค ในการพูดถึงย่อหน้าก่อนด้วย

ข. การตีความคำในกฎหมาย

อย่างที่ได้เกริ่นไปก่อนหน้าครับ การตีความคำในกฎหมายควรจะต้องมีกฎหลักว่าให้ตีความไปในทางกฎหมายก่อน เช่น การตีความหรือทำความเข้าใจคำว่า ละเมิด หรือ ประมาท จะต้องตีความโดยอาศัยศาสตร์ทางกฎหมาย มิใช่การเปิดพจนานุกรมแล้วนำความหมายทั่วไปมาตีความ เพราะพจนานุกรมไม่ใช่บทบัญญัติของกฎหมายและด้วยระบบนิติวิธี (Juristic Method) รวมไปถึงการใช้การตีความกฎหมาย คำในกฎหมายก็ควรจะต้องตีความตามกฎหมายก่อนเสมอ

แม้บทบัญญัติกฎหมายจะใช้ภาษาไทยในการบัญญัติขึ้นมา แต่ถ้อยคำในบทบัญญัติกฎหมาย แม้หลาย ๆ ครั้งจะเป็นถ้อยคำธรรมดาสามัญที่ใช้กันโดยทั่วไป อันอาจจะต้องตีความตามความเข้าใจทั่วไป แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ผลสุดท้ายของความหมายของถ้อยคำ (ที่ตอนนี้เป็นบทบัญญัติกฎหมายแล้ว) จะต้องเหมือนกันกับความหมายที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ7 พูดง่าย ๆ ก็คือ คำธรรมดาทั่วไปเมื่อมาอยู่ในบทบัญญัติกฎหมายแล้ว หลายครั้งนั้นมันมักจะถูกเปลี่ยนความหมายไปจากที่คนทั่วไปเข้าใจกัน

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เช่น คำว่า “เหตุสุดวิสัย” นั้น หากเราเปิดพจนานุกรมก่อนเราจะได้ความหมายประมาณว่า ภาวะที่พ้นความสามารถที่ใครจะป้องกันได้ ถ้าเรามาเอาใช้ในการตีความกฎหมาย ผลจะกลายเป็นว่าอะไรที่ไม่อาจป้องกันได้ก็จะกลายเป็นเหตุสุดวิสัย หากแต่นักกฎหมายจะต้องพึงระลึกไว้เสมอว่า การตีความกฎหมายต้องตีความไปในทางกฎหมายก่อน เพราะฉะนั้นเหตุสุดวิสัยซึ่งมีมาตรา 8 แห่ง ป.พ.พ.นิยามไว้ เราก็ควรจะต้องพิจารณามาตรา 8 ก่อน

มาตรา 8 “เหตุสุดวิสัย” หมายความว่า เหตุใด ๆ อันจะเกิดขึ้นก็ดี จะให้ผลพิบัติก็ดี เป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้นจะได้จัดการระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้น”

การยกความหมายในพจนานุกรมมาใช้ก่อนจึงอาจสร้างปัญหาในการตีความกฎหมายได้ เพราะย่อมเป็นการตีความกฎหมายที่ขัดกับบทบัญญัติกฎหมายและเจตนารมณ์ในการออกกฎหมายเรื่องนั้น

ค. นักกฎหมายแปลงโฉมคำได้

เนื่องจากกฎหมายโดยส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็นสภาพบังคับให้ต้องปฏิบัติตาม เพราะฉะนั้นคำในกฎหมายจึงทรงพลังในการกำกับพฤติกรรมของผู้คนให้ทำหรือไม่ให้ทำในบางสิ่ง อันนำไปสู่ความอัศจรรย์ในเรื่องที่ว่า นักกฎหมายสามารถสร้างหรือแปรเปลี่ยนความหมายของคำบิดไปจากการรับรู้ปกติได้ด้วย

โดยปกติแล้ว นักกฎหมายสามารถทำการสร้างหรือแปรเปลี่ยนความหมายของคำได้ 2 วิธี คือ วิธีที่หนึ่งโดยอาศัยการออกหรือตรากฎหมาย และวิธีที่สองโดยการร่างข้อตกลงในสัญญาบังคับระหว่างคู่สัญญา เช่น พระราชบัญญัติฉบับหนึ่งที่ถูกตรามาใช้บังคับยานยนต์ อาจระบุให้คำว่ายานยนต์คลุมไปถึงรถจักรยานยนต์ เครื่องบิน เรือ หรืออาจทำให้คำ ๆ นั้นแคบกว่าปกติ เช่น คำว่าสัตว์น้ำในกฎหมายฉบับนี้ไม่รวมถึงกุ้ง เป็นต้น

3. การใช้ ภาษากฎหมาย มักจะมีความซับซ้อน

ดูจะเป็นเรื่องที่ยอมรับและคุ้นชินไปแล้วว่า ภาษากฎหมายมักจะมีความซับซ้อนหรือยากต่อการทำความเข้าใจโดยเฉพาะคนที่ไม่ได้เรียนกฎหมายมา ซึ่งถ้ายังจำกันได้จากช่วงต้นของบทความ การทำให้กฎหมายมีความซับซ้อนเป็นการสร้างกำแพงโดยอ้อมให้กับวงวิชาชีพนักกฎหมายที่จะเข้ามาทำหน้าที่ตีความ หรือพูดอีกแบบได้ว่า นักกฎหมายได้สร้างเครื่องมือผูกขาดในการตีความกฎหมายผ่านทาง ภาษากฎหมาย

ตัวอย่างชัดเจนในการใช้ภาษากฎหมายที่ซับซ้อนของวงการกฎหมายก็คือ การใช้รูปแบบปฏิเสธซ้อนปฏิเสธ ซึ่งนักกฎหมายที่เรียนปีแรก ๆ จะเข้าใจกันดีว่า ภาษากฎหมายชอบใช้คำแบบปฏิเสธ เช่น มิให้ ต้องห้ามมิให้ มิอาจ มิชอบด้วยกฎหมาย ไม่อาจกระทำได้ โดยตัวอย่างของการคำเหล่านี้อาจดูได้จากบทบัญญัติของกฎหมายเอง เช่น มาตรา 151 ของป.พ.พ.

มาตรา 151 บัญญัติว่า “การใดเป็นการแตกต่างกับบทบัญญัติของกฎหมาย ถ้ามิใช่กฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นม่เป็นโมฆะ”

นอกจากนี้ยังมีขั้นที่ซับซ้อนกว่าของการปฏิเสธคือการใช้ปฏิเสธซ้อนทบ หรือเป็นลักษณะของนิเสธซ้อนนิเสธได้หลายขั้นไปเรื่อย ๆ เช่น ถ้อยคำในมาตรา 154 ป.พ.พ. ซึ่งผมใส่สีแดงน้ำตาลให้เห็นชัดเจนว่ามันมีคำแบบปฏิเสธอยู่จำนวนมาก

มาตรา 154 บัญญัติว่า “การแสดงเจตนาใดแม้ในใจจริงผู้แสดงจะมิได้เจตนาให้ตนต้องผูกพัน ตามที่ได้แสดงออกมาก็ตาม หาเป็นมูลเหตุให้การแสดงเจตนานั้นเป็นโมฆะไม่ เว้นแต่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งจะได้รู้ถึงเจตนาอันซ่อนอยู่ในใจของผู้แสดงนั้น”

หรือท่านอาจจะไปเจอข้อความในสัญญาหรือกฎหมายที่เขียนไว้อย่างสลับซับซ้อนตีความหลายชั้นและต้องย้อนอ่านทวนหลายตลบ เช่น “…ไม่เป็นการต้องห้ามที่ลูกจ้างจะถูกห้ามโดยนายจ้างมิให้ประกอบธุรกิจในลักษณะอันเป็นการแข่งขันกับธุรกิจของนายจ้าง”

พอจะเข้าใจไหมครับว่าข้อความข้างบนนี้บอกเราว่า นายจ้างสามารถห้ามลูกจ้างทำธุรกิจแข่งกับนายจ้างได้ หรืออธิบายอีกแบบก็คือ ลูกจ้างอาจถูกนายจ้างห้าม[ทำธุรกิจที่แข่งขันกับนายจ้าง]

ประเด็นหนึ่งที่ชาวไทยอาจไม่ฉุกคิด แต่ชาวต่างประเทศที่ไม่ชินกับภาษาไทยอาจจะมีคำถามขึ้นมาได้ ก็คือ การเขียนภาษาไทยมักจะไม่ค่อยมีการใส่เครื่องหมายวรรคตอนสักเท่าใดนัก ในขณะที่หลาย ๆ ภาษา เช่น ภาษาอังกฤษ หรือภาษาจีน ล้วนถือว่าเครื่องหมายวรรคตอนเป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ เพราะทำให้ความหมายเปลี่ยนได้ทันที ในประเด็นนี้ผมเคยโดนเพื่อนต่างชาติถามว่า ภาษา(ไทย)ของเธอไม่มีเครื่องหมายจบประโยค (ไม่มี ” . ” หรือ 。) แล้วเธอรู้ได้ยังไงว่ามันจบประโยคตรงไหน คำถามนี้เล่นเอาผมมึนไปชั่วขณะเพราะตอบไม่ได้ นั่นสิครับ เรารู้กันได้ยังไงว่ามันจบประโยคหรือประโยคนี้สิ้นสุดลงที่ตรงไหน จะอาศัยดูจากการเว้นวรรคก็ไม่ใช่

ทั้งนี้อาจจะเพราะความที่เราใช้ภาษาไทยเป็นภาษาแม่ (native speaker) ซึ่งเรียนรู้ภาษาผ่านการใช้ในชีวิตประจำวัน สั่งสมผ่านประสบการณ์ตั้งแต่เล็กจนโต ผมคิดว่าในทางภาษาศาสตร์หรือไวยากรณ์ไทยน่าจะมีคำตอบสำหรับประเด็นนี้ แต่ถ้าสำหรับคนทั่วไป เราคงจะใช้การอนุมานหรือใช้สามัญสำนึกตอบไว ๆ ซะมากกว่า ว่าประโยคนี้มันสิ้นสุดน่าจะตรงนี้นะ ซึ่งเพื่อนคนที่ถามเป็นนักกฎหมายด้วย เขาก็เลยถามต่อว่า แล้วเวลาใช้เขียนภาษากฎหมาย ร่างสัญญา ร่างกฎหมาย มันจะไม่คลุมเครือหรอ เพราะไม่รู้ว่าสิ้นสุดประโยคตรงไหน

ผมมาพบว่าประเด็นที่เพื่อนถาม เป็นประเด็นที่อาจารย์ธานินทร์ กรัยวิเชียรเคยยกมาถกในหนังสือของท่านว่า เรื่องวรรคตอนและเครื่องหมายวรรคตอนเป็นปัญหาสำคัญของภาษาโดยเฉพาะภาษากฎหมายตั้งแต่สมัยก่อน การที่เราเขียนติดกันทั้งประโยคหรือวลี บางทีก็สร้างความกำกวม เช่น หากเจอป้าย “ขับช้า ๆ อันตราย” สรุปคือต้องขับเร็วหรือช้า จึงจะปลอดภัยกันแน่8 ด้วยเหตุนี้จึงไม่แปลกที่หลาย ๆ เพจตลกใน Facebook จึงชอบเอามาเล่นมุกกัน เช่น การที่ติดป้ายไว้หน้าตึกว่า “ขายหรือเช่า ติดต่อ 08X…” ก็จะเอามาถามกันขำ ๆ ว่า สรุปเจ้าของจะขายหรือจะเช่า งงไปหมดแล้ว

ในทางปฏิบัติก็เกิดปัญหานี้จริง ๆ อาจารย์วีระวงค์ จิตต์มิตรภาพ (หัวหน้าสำนักงานกฎหมายวีระวงค์ ชินวัฒน์ และพาร์ทเนอร์ส) ก็เคยตั้งข้อสังเกตและให้ความเห็นที่น่าสนใจว่า

… เพราะสัญญาขนาดใหญ่ในประเทศไทยที่เอกชนทำกับเอกชนในขณะนี้เกือบทั้งหมดเป็นภาษาอังกฤษ แม้จะเป็นเอกชนไทยกับไทยด้วยกันและใช้กฎหมายไทยบังคับกับสัญญาก็ตาม เนื่องจากภาษาไทยมีข้อจำกัดเรื่องศัพท์ที่จะใช้ไม่ครบถ้วน ตามเหตุการณ์โลกไม่ทัน มีศัพท์ภาษาอังกฤษจำนวนมากที่ไม่มีคำแปลอย่างเป็นทางการในภาษาไทย และภาษาไทยมีไวยากรณ์ที่ไม่รัดกุมพอเมื่อเทียบกับภาษาอังกฤษ และการเขียนภาษาไทยก็ไม่นิยมใช้เครื่องหมายวรรคตอนเช่น comma หรือ full stop หรืออะไรก็แล้วแต่ เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะเขียนตามหลักการเขียนสัญญาให้กระจ่างชัด หรือ Clear Writing ไม่ให้มีการตีความไปนัยยะอื่นนอกจากคนที่เขียน ๆ ไว้จึงมีความเป็นไปได้ยากมากเมื่อเทียบกับภาษาอังกฤษ

จากบทสัมภาษณ์ในหนังสือ รพี 2560 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หน้า 178.

จากบทสัมภาษณ์ของอาจารย์วีระวงศ์จะพบว่า สัญญาทางธุรกิจจำนวนมากในไทยแม้จะบังคับตามกฎหมายไทยก็ยังถูกจัดทำและเขียนขึ้นโดยใช้ภาษาอังกฤษ เพื่อขจัดปัญหาการตีความ ที่มักจะเกิดจากการไม่นิยมใส่ไวยากรณ์ในภาษาไทย การไม่มีเครื่องหมายจบประโยคก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหานี้ครับ

4. ประธานเทียมกับภาษาเกี่ยวกับกฎหมาย

การสื่อสารในชีวิตประจำวันทั้งการพูดและการเขียน เรามักจะเจอการใช้ภาษาแบบไม่ตรงตัว เป็นการที่ผู้พูดหรือเขียนใช้คำ วลี หรือประโยคที่ไม่สามารถแปลตรงตัวได้ อธิบายอีกแบบก็คือ เป็นการพูดหรือเขียนอย่างหนึ่งแต่จริง ๆ แล้วหมายถึงอีกอย่าง ที่ไม่สามารถแปลออกมาตามที่พูดหรือเขียนได้ตรง ๆ ที่เราเข้าใจกันก็เพราะเราเติบโตผ่านวิธีการสื่อสารและรับสารจนเกิดความเข้าใจกันว่า สิ่งที่ผู้พูด ๆ หรือผู้เขียน ๆ นั้น แม้จะไม่ได้พูดตรง ๆ เขียนตรง ๆ แต่เราเข้าใจว่าเขาต้องการจะสื่อความหมายอะไร

โดยสาเหตุหนึ่งของเรื่องนี้ คือ การที่ภาษาไทยสามารถสร้างประธานเทียมขึ้นมาได้ ซึ่งการใช้ประธานเทียมมักจะเป็นการใช้ประโยคแบบกรรมวาจก (passive voice) ที่ละคำว่า “ถูก” ทิ้งไป ทำให้เกิดประโยคที่ประธานเทียมไม่ได้เป็นผู้กระทำกิริยานั้น ๆ ในประโยค9 เช่น โต๊ะนี้เมา (คนที่นั่งโต๊ะนี้เมา) หนังสืออ่านสนุก (คนอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วรู้สึกสนุก) กรุงเทพอึดอัด (คนที่อาศัยในกรุงเทพรู้สึกอึดอัด)

ปัญหาที่จะเกิดขึ้นของการพูดอย่างแต่หมายถึงอีกอย่างหนึ่งนั้น ก็คือความยุ่งยากตอนแปลภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งบางครั้งเป็นการเรียบเรียงการสื่อสารที่ขัดกับตรรกะแบบน่าประหลาดใจ

แน่นอนว่าในวงการกฎหมายก็น่าจะต้องมีเรื่องพวกนี้เกิดขึ้นเช่นกัน ผมลองรวบรวมมาให้จำนวนหนึ่งครับ

(ก) โฉนดที่ดินมีขนาด 5 ไร่

โฉนดที่ดินปกติก็คือกระดาษหนึ่งแผ่นซึ่งไม่มีทางใหญ่ขนาด 5 ไร่ได้อย่างแน่นอน (เข้าลักษณะแบบเป็นไปไม่ได้ในความเป็นจริง) ซึ่งความหมายที่เขาต้องการสื่อก็คือ ที่ดินที่ระบุไว้ในโฉนดฉบับนี้มีขนาด 5 ไร่ และแม้ไม่พูดตรง ๆ แต่คนส่วนใหญ่เข้าใจประโยคนี้ได้ ไปซะอย่างงั้น

(ข) รับทำ พ.ร.บ. รถยนต์

การที่ป้ายเขียนแบบนี้พบเจอได้บ่อย เราอาจจะเดาหรือเข้าใจได้ว่า บริษัทหรือหน่วยงานนี้มีบริการช่วยต่ออายุหรือดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องของประกันภัยรถยนต์ให้ แต่หากตั้งข้อสงสัยขึ้นมา เราจะงง ๆ ว่าที่นี่สามารถทำพระราชบัญญัติได้เลยหรอ นั่นหมายความว่า ที่นี่มีอำนาจนิติบัญญัติหรือเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวกับการร่างหรือจัดทำพระราชบัญญัติได้ ซึ่งไม่ใช่

ข้อสังเกตของผมก็คือ การไม่ได้พูดตรง ๆ หรือพูดอย่างหนึ่งแต่ความหมายจริงเป็นอีกอย่างหนึ่ง เป็นสิ่งที่น่าสนใจและประหลาดใจไปพร้อมกัน เนื่องจากโดยปกติเราก็จะชินกับคำพูดต่าง ๆ เหล่านี้และเข้าใจนัยที่ผู้พูดหรือเขียนต้องการสื่อ แต่พอนั่งคิดดี ๆ มันก็เป็นการทำให้เราพูดอ้อม ๆ เฉไฉ หรือบิดตรรกะบางอย่างทิ้ง เป็นความอัศจรรย์ทางภาษาที่เราอาจจะไม่ได้ฉุกใจคิด

หากแต่ปัญหาจะเกิดในกรณีที่มีการร่างสัญญาจากภาษาไทยเป็นอังกฤษ นักกฎหมายอาจจะมีต้นทุนที่มองไม่เห็นในการแปลหรือปรับเปลี่ยนภาษา เช่น หากมีคนเขียนว่าโฉนดมีขนาด 1 ตารางกิโลเมตรและโฉนดนี้มีปัญหาเพราะได้รุกล้ำหรือถูกรุกล้ำ ซึ่งท่านผู้อ่านน่าจะเข้าใจจากบริบทได้ว่าผมต้องการจะหมายถึงอะไร หากแต่ลองแกะประโยคทีละขั้น เราจะพบว่าโฉนดมีขนาด 1 ตารางกิโลเมตรไม่ได้ และกระดาษใบหนึ่ง (โฉนด) จะถูกรุกล้ำหรือไปรุกล้ำเขาได้ยังไง คำกริยารุกล้ำใช้กับโฉนดไม่ได้

6. สรุป

คำในภาษากฎหมายโดยปกตินั้นจะมีความหมายในทางกฎหมายโดยเฉพาะที่แตกต่างจากความหมายอันเป็นที่เข้าใจทั่วไป และรูปแบบการใช้ภาษาอาจมีความสลับซับซ้อนมากกว่าธรรมดาโดยเฉพาะการใช้คำในลักษณะปฏิเสธซ้อนทบ และนักกฎหมายเองก็ยังต้องใช้ความระมัดระวังในการตีความกฎหมาย ซึ่งตัวนักกฎหมายเองเวลาโดนถามประเด็นหรือคำในกฎหมาย หลายท่านก็ไม่สามารถตอบแบบไว ๆ ได้ สมมติท่านมาถามว่า ประมาทในละเมิดกับประมาทในสัญญาต่างกันไหม ผมอาจจะต้องตอบว่าไม่รู้เลย คงต้องขอเวลาไปค้นก่อน (ดังเช่นตอนที่เขียนบทความนี้ ผมก็ต้องเปิดหนังสือดู เพราะมันคลับคล้ายคลับคลา ไม่แน่ใจ)

ทว่า แม้มันจะทำความเข้าใจยาก ซับซ้อน แต่ในบางแง่มุมของภาษากฎหมายนั้น ลองคิด ๆ ดู มันก็มีเสน่ห์ที่น่าสนใจมากทีเดียวครับ