ความ เห็นแก่ ตัว ของนายล้ำ ได้ เปลี่ยน เป็น ความ เห็นแก่ ลูก ใน ตอน ใด

นางในวรรณคดี พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ลออ: ความดีงามอันนำไปสู่ความเห็นแก่ลูก

ผู้เขียน สายป่าน ปุริวรรณชนะ
บรรณาธิการ ชนัญญา เตชจักรเสมา

ในบรรดา “นางเอก” จากพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ได้เลือกนำมาแนะนำให้รู้จักในครั้งนี้ “แม่ลออ” คงเป็นตัวละครที่มีบทบาทน้อยที่สุด เหตุเพราะเรื่องราวของเธอมาจากบทละครพูดองก์เดียวเรื่อง เห็นแก่ลูก ซึ่งมีตัวละคร “พระยาภักดีนฤนาถ” กับ “นายล้ำ (ทิพเดชะ)” บิดาเลี้ยงและบิดาแท้ๆ ของเธอเป็นตัวเดินเรื่อง ดังนี้

พระยาภักดีนฤนาทรับแม่ลออ บุตรีวัย ๒ ปีของนายล้ำ อดีตข้าราชการราชทินนาม “ทิพเดชะ” ผู้เคยเป็นเพื่อนสนิทของตนมาเป็นบุตรบุญธรรม เนื่องจากนายล้ำต้องโทษจำคุกฐานทุจริต ๑๕ ปีให้หลังนายล้ำกลับมาทวงสิทธิ์ความเป็นพ่อที่แท้จริงของแม่ลออจากพระยาภักดีฯ ด้วยหวังว่าจะให้ลูกสาวอุปการะเลี้ยงดูตน พระยาภักดีฯ ไม่อยากให้แม่ลออต้องอับอายที่มีพ่อเป็นอดีตนักโทษ หนำซ้ำยังอาจถูกครอบครัวของคู่หมายซึ่งเป็นชายหนุ่มชาติตระกูลดีและคนอื่นๆ ในวงสังคมชั้นสูงรังเกียจจึงพยายามเสนอให้นายล้ำรับเงิน ๑๐๐ ชั่งเป็นค่าปิดปาก แต่นายล้ำดึงดันจะเปิดเผยความจริง พระยาภักดีเกือบจะทำร้ายนายล้ำ ทว่าแม่ลออกลับมาถึงบ้านเสียก่อน เมื่อนายล้ำได้พูดคุยกับลูกสาวและรู้ว่าแม่ลออวาดภาพ “พ่อที่แสนดี” ไว้ในใจก็นึกละอาย สุดท้ายก็จากไปโดยไม่บอกแม่ลออว่าตนเป็นใคร

ไม่น่าเชื่อว่าสิ่งที่ทำให้นายล้ำผู้หวังจะมา “เกาะลูกสาวกิน” เปลี่ยนใจด้วยเกิดสำนึกละอายนั้นจะได้แก่คำพูดไม่กี่ประโยคของแม่ลออว่า

		ถ้ายังงั้นดิฉันก็ยิ่งดีใจมากขึ้นที่ได้พบคุณ ก็คุณพ่อดิฉันที่ตายล่ะคะรู้จักไหม? (นายล้ำพยักหน้า.) 
	ถ้ายังงั้นคุณก็ดีกว่าดิฉัน ดิฉันไม่รู้จักเลย,เคยเห็นแต่รูปที่ในห้องคุณแม่รูปร่างสูง ๆ หน้าอกกว้าง ดิฉันช่าง
	ชอบหน้าเสียจริง ๆ หน้าตาเป็นคนซื่อ ใจคอกว้างขวาง, ถ้าใครบอกดิฉันว่าเป็นคนไม่ดี ดิฉันไม่ยอมเชื่อ
	เป็นอันขาดเทียว แต่ท่านก็เป็นคนดีจริง ๆ อย่างที่ดิฉันนึกเดาเอาในใจ คุณพ่อนี่ก็ได้บอกดิฉันว่างั้น จริง
	ไหมคะ คุณพ่อ?  

น่ายินดีที่จิตใจอันดีงามซึ่งสะท้อนผ่านการกระทำและคำพูดของลูกสาวทำให้ “พ่อที่ (เคย) เห็นแก่ตัว” อย่างนายล้ำ รู้จัก “เห็นแก่ลูก” ขึ้นมาได้ และก็น่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้นายล้ำเลิกพฤติกรรมไม่ดีไม่งามในอดีต กลับตัวกลับใจเพื่อจะเป็น “พ่อที่ดี” ให้สมแก่ภาพของพ่อในหัวใจของลูกสาวได้ด้วย

สันนิษฐานว่าบทละครเรื่องนี้เป็นบทละครพูดพระราชนิพนธ์ภาษาไทยเรื่องแรกที่มิได้ทรงแปลจากบทละครต่างประเทศ ทรงใช้พระนามแฝงว่า “พระขรรค์เพชร” พร้อมทั้งพระราชทานชื่อเรื่องภาษาอังกฤษว่า “For His Child” ต่อมาหลังจากทรงตั้งทวีปัญญาสโมสรและสร้างโรงละครทวีปัญญาในปี พ.ศ. ๒๔๔๗ ละครพูดเรื่องเห็นแก่ลูกเป็นละครเรื่องหนึ่งในสองเรื่อง (อีกเรื่อง คือ ละครจากพระราชนิพนธ์แปลเรื่อง “เกินต้องการ”) ของรายการ “ละครสราญรมย์” เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๔ ซึ่งเป็นรายการเดียวที่มีหลักฐานยืนยันว่าได้จัดแสดงในโรงละครทวีปัญญาสโมสร มีรายนามผู้แสดงดังนี้ หลวงเทพรัตนนรินทร์ รับบทพระยาภักดีนฤนารถ นายจำนงราชกิจ รับบทนายล้ำ ทิพเดชะ หลวงสวัสดิ์เวียงไชย รับบท อ้ายคำ นายช่วง รับบท แม่ลออ

อนึ่ง ในการนั้นโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะเจ้าหน้าที่ละครสราญรมย์ ได้แก่ นายวรการบัญชาทำหน้าที่ผู้ช่วยผู้อำนวยการทั่วไป นายจำนงราชกิจทำหน้าที่เลขานุการ หลวงบุรีนวราษฐ์ทำหน้าที่ผู้จัดการแผนกฉาก หลวงพิทักษ์มานพทำหน้าที่ผู้จัดการแผนกโยธา ขุนประสานดุริยศัพท์ทำหน้าที่ครูผู้อำนวยการวงปี่พาทย์ ส่วนเครื่องเรือนประกอบฉากนำมาจากกองมหันตโทษ

หลังจากคราวละครสราญรมย์ ละครพูดเรื่องเห็นแก่ลูกได้นำมาจัดแสดงอีก ๒ ครั้งในรัชกาล ได้แก่ แสดงใน “เวรอันเต” ของหม่อมหลวงปิยบุตร์ และทรงเรียกบทไปทอดพระเนตรเพื่อจัดการฝึกซ้อมเมื่อวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๓

บทละครพูดเรื่องเห็นแก่ลูกยังได้รับความนิยมแม้ภายหลังรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังเช่นเมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ ได้มีการจัดแสดงละครพูดเรื่องนี้ขึ้นอีกครั้งหนึ่งในการเปิดชุมนุมดนตรีและละครของคุรุสภา ผู้ที่รับบทเป็นนายล้ำ (ทิพเดชะ) ได้แก่ นายขาว โกมลมิศร์ เล่ากันว่าท่านผู้นี้เข้าถึงบทบาทมากจนกระทั่งน้ำตาไหลขณะแสดง

แม้ว่าบทพระราชนิพนธ์เรื่อง เห็นแก่ลูก จะมีความยาวไม่มากนัก แต่กลับเป็นที่จับใจของผู้ที่ได้อ่านและได้ชมละครเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง เห็นได้จากที่มีการแสดงละครเรื่องนี้ซ้ำหลายรอบดังที่ได้กล่าวมาแล้ว และยังคงได้รับการกล่าวถึง ตลอดจนบรรจุเป็นบทอ่านในหลักสูตรกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ ในปัจจุบัน

บรรณานุกรม

ปิ่น มาลากุล, หม่อมหลวง. งานละครของสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าแผ่นดินสยาม.
	กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๕๒.
มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. เห็นแก่ลูก หนามยอกเอาหนามบ่ง คดีสำคัญ. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 
	๒๕๑๓.

เชิญพบกับลออได้ใน เห็นแก่ลูก ฉบับดิจิทัลออนไลน์เปิดอ่านได้ฟรี
ความ เห็นแก่ ตัว ของนายล้ำ ได้ เปลี่ยน เป็น ความ เห็นแก่ ลูก ใน ตอน ใด

http://eresource.car.chula.ac.th/chula-ebooks/redirect.php?name=K6-00049

สาระสำคัญ/ความคิดรวมยอด

แนวทางในการพิจารณาวรรณกรรม

 เนื้อเรื่อง

   บทละครพูดเรื่อง เห็นแก่ลูก แสดงถึงความรักของพ่อที่มีต่อลูกผ่านพฤติกรรมของตัวละครแต่ละตัว โดยพระยาภักดีนฤนาถ เป็นตัวแทนของบิดาเลี้ยงที่ทำหน้าที่พ่อด้วยความเต็มใจ ส่วนนายล้ำ เป็นตัวแทนของบิดาผู้ให้กำเนิดซึ่งสามารถเปลี่ยนความเห็นแก่ตัวไปเป็นความเห็นแก่ลูกได้ในที่สุด

ศิลปะการประพันธ์

   1. ใช้ภาษาโบราณ แต่ทำความเข้าใจได้ไม่ยาก เช่น “ไม่รับประทาน” (ไม่รับประทาน คือ ไม่เอา)

   2. ใช้คำพูดที่สั้น แต่แฝงรายละเอียดเกี่ยวกับตัวละครไว้กระชับ

   3. ใช้บทสนทนาแสดงบรรยากาศ เหตุการณ์ และอารมณ์ของตัวละคร

ข้อคิด คติคำสอน และความจรรโลงใจ

   1. การทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ดังจะเห็นได้จากผลทุจริตของนายล้ำที่ต้องรับโทษจำคุกเป็นเวลา ๑๐ปี

   2. ความรักระหว่างพ่อลูกเป็นความรักบริสุทธิ์ไม่หวังผล ดังที่นายล้ำล้มเลิกความเห็นแก่ตัวของตนเอง เมื่อได้รับรู้ว่าแม่ลออมีความภาคภูมิใจในตัวบิดาผู้ให้กำเนิดอย่างไร

   3. ความรักบริสุทธิ์สามารถเผื่อแผ่ไปถึงบุคคลอื่นได้ ตัวอย่างเช่นความรักของพระยาภักดีนฤนาถที่มีต่อแม่ลออ ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่เลือดเนื้อเชื้อไขของตนเอง

การนำไปใช้ในชีวิตจริง

   1. การหลงในอบายและการทำกรรมชั่วทั้งปวงล้วนนำมาซึ่งปัญหาครอบครัวและปัญหาสังคม

   2. การรู้ผิดชอบชั่วดีในการกระทำของตนจะช่วยให้ครอบครัวปกติสุขไร้ซึ่งปัญหา

ตัวชี้วัด/จุดประสงค์การเรียนรู้

  1. อธิบายข้อคิด เนื้อหาจากวรรณกรรม  วรรณคดีได้
  2. สรุปข้อคิดจากวรรณกรรม วรรณคดีไปใช้