ใครเป็นผู้จัดการมรดกได้บ้าง

          เมื่อเจ้ามรดกตาย  ทรัพย์สมบัติของเจ้ามรดกซึ่งเรามักเรียกกันว่ากองมรดก เช่น ที่ดิน เงินฝากธนาคาร เงินที่เขายืมไป ค่าเช่า ดอกเบี้ย เงินปันผล บ้านช่อง ย่องตกเป็นของทายาททันที และก็ยังรวมถึงหนี้สินด้วย คือ เจ้ามรดกไปยืมเงินใครเขาไว้หรือเป็นหนี้เขา ค้างค่าเช่าบ้าน พวกนี้เป็นพวกความรับผิดก็ตกทอดมาถึงทายาทเหมือนกัน  แต่ก็รับผิดในฐานะเป็นทายาทเท่านั้นไม่ใช้ฐานะส่วนตัว

            แม้ว่ากองมรดกจะตกทอดแก่ทายาทแล้วก็ตาม  ก็อาจมีปัญหาขัดข้องในการจัดสรรแบ่งปันมรดก หรือติดตามทวงถามหนี้สินที่บุคคลอื่นเป็นหนี้เจ้ามรดกอยู่ หรือจะไปโอนที่ดินเป็นของตน เจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินก็จะปฎิเสธบ้าง ลูกหนี้เจ้ามรดกปฎิเสธบ้าง หรือแม้จะไปเบิกเงินธนาคารๆ ก็ปฎิเสธบ้างว่า ต้องนำเอาคำสั่งศาลตั้งผู้นั้นเป็นผู้จัดการมรดกมาให้ดูมาแสดงเสียก่อนว่าผู้มาติดต่อนั้นศาลได้ตั้งเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว  มิฉะนั้นไม่ดำเนินการให้

            จึงมีความจำเป็นที่ทายาทจะต้องไปดำเนินการขอให้ศาลแต่งตั้งตนเองหรือบุคคลอื่นเป็นผู้จัดการมรดก ซึ่งก็จะเสียเวลาพอสมควรกว่าจะยื่นคำร้องขอและกว่าจะไต่สวนคำร้องและศาลมีคำสั่ง  ประเหมาะเคราะห์ร้ายมีคนอื่นคัดค้านเข้ามาอีกก็ยิ่งเสียเวลาไปอีก ความจริงกฎหมายก็มิได้บังคับไว้ว่าหากเจ้ามรดกตายแล้วต้องตั้งผู้จัดการมรดก  แต่ถ้ามีเหตุขัดข้องจึงตั้งจึงเป็นข้อคิดสำหรับผู้เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคาร หากเป็นเงินจำนวนเพียงเล็กน้อย ก็ควรจะจ่ายให้ทายาทเขาไปเลย  เพียงแต่ให้มีความละเอียดรอบคอบหน่อยว่าเขาเป็นทายาทหรือไม่ เช่นจัดให้มีคนที่เชื่อถือได้รับรองหรือค้ำประกันว่าเขาเป็นทายาทจริง  เช่นนี้ก็จะเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน

            ส่วนศาลเองก็ควรผ่อนสั้นผ่อนเบาให้ โดยจัดให้มีแบบคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกแบบง่ายๆไว้ให้ หากเป็นมรดกจำนวนเล็กน้อย โดยมีประชาสัมพันธ์ศาลช่วยแนะนำ ซึ่งทราบว่าทางปฏิบัติก็มีอยู่  นับว่าเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนโดยแท้จริง ถือได้ว่าเป็นที่พึ่งของประชาชนจริงๆ อย่างไรก็ดี หากเป็นมรดกรายใหญ่มีมากมาย  มีเรื่องซับซ้อนยุ่งยากหรือมีผู้ยื่นคัดค้านเข้ามา เช่นนี้ก็จำเป็นที่จะตั้งผู้มีความเชี่ยวชาญเข้ามาช่วยโดยตรงคือควรมีทนายความเข้ามาดำเนินการแทนจะปลอดภัยกว่า เพราะทนายเป็นผู้ใช้กฎหมายอยู่โดยตรง

การขอเป็นผู้จัดการมรดกนั้นมีข้อที่ควรรู้ไว้ดังนี้

1. จะขอเป็นผู้จัดการมรดกเมื่อใด

            เมื่อเจ้ามรดกตาย เจ้ามรดกมีทรัพย์มรดก และมีเหตุขัดข้องที่จะต้องจัดการมรดก

2. ใครเป็นผู้มีสิทธิร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดก

            ผู้มีสิทธิร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกได้แก่ ทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกที่มีสิทธิรับมรดก เช่น บุตร บิดามารดา คู่สมรสของเจ้ามรดกผู้รับพินัยกรรมของเจ้ามรดก ซึ่งอาจเป็นบุคคลภายนอกก็ได้ ผู้มีส่วนได้เสีย เช่น เจ้าของร่วมในทรัพย์สินของเจ้ามรดก กรณีเช่นนี้ที่มีมากคือ กรณีที่สามีภริยาไม่จดทะเบียนสมรสและมีทรัพย์สินร่วมกันนั่นเอง สำหรับเจ้าหนี้ ไม่ถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสีย จึงไม่อาจขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกได้

3. ใครเป็นผู้จัดการมรดกได้

            ผู้จัดการมรดกไม่จำเป็นต้องเป็นทายาทของเจ้ามรดกจะเป็นใครก็ได้  แต่ผู้มีสิทธิร้องขอต่อศาล ต้องเป็นทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียดังที่กล่าวแล้ว  ทายาทอาจขอให้ศาลตั้งนาย กนาย ขหรือนาย คก็ได้ ประการสำคัญผู้ที่จะเป็นผู้จัดการมรดกต้องบรรลุนิติภาวะแล้ว ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ ไม่เป็นบุคคลที่ศาลสั่งให้เป็นคนล้มละลาย คนประเภทนี้เห็นแล้วว่าไม่สามารถรู้ผิดชอบ  หย่อนความคิดอ่าน มีหนี้สินล้นพ้นตัว  ขืนไปจัดการทรัพย์สินคนอื่น  ก็มีแต่จะเสียหายยิ่งขึ้นไปเท่านั้น

4. การยื่นคำร้องขอยื่นที่ไหน  

            ยื่นที่ศาล  โดยทั่วไปเจ้ามรดกมีภูมิลำเนาที่ไหน เช่น ที่ขอนแก่น เชียงใหม่ ตรัง ตราด ก็ยื่นศาลที่เป็นภูมิลำเนาของผู้ตายนั่นเอง  ถ้ายื่นที่ศาลจังหวัดในกรุงเทพฯ  ก็ยื่นที่ศาลแพ่ง  แพ่งกรุงเทพใต้ แพ่งธนบุรี หรือศาลจังหวัดมีนบุรี แล้วแต่กรณี

5. คำร้องต้องทำอย่างไร

            ดังได้กล่าวมาแล้วว่าการทำคำร้องเป็นเรื่องที่ผู้มีความรู้ในทางกฎหมายและทางปฏิบัติเท่านั้นจะเข้าใจและทำได้ถูกต้อง  เราประชาชนหรือมีอาชีพอื่นย่อมไม่เข้าใจ ก็ต้องปรึกษานักกฎหมายหรือทนายความ  สำหรับคำร้องจะมีแบบคำร้องแล้วนำมาบรรยายในคำร้องระบุรายละเอียดต่างๆ เช่น ชื่อ ตำบล ที่อยู่ผู้ร้อง เป็นทายาทผู้ตายๆ      ผู้ตายเมื่อไหร่ มีหลักฐานการตาย ผู้ตายมีทายาทกี่คนใครบ้าง มีทรัพย์สินอะไรบ้าง มีเหตุขัดข้องอย่างไร และท้ายสุดก็ขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดก 

6. การยื่นคำร้องและนัดไต่สวนทำอย่างไร

            เมื่อยื่นคำร้องแล้วเจ้าหน้าที่จะเสนอศาล ศาลจะสั่งนัดว่าไต่สวนหรือมีคำสั่งอย่างอื่นต่อไป  ทางปฏิบัติก็ขอให้ประกาศหน้าศาลหรือทางหนังสือพิมพ์โดยให้เวลาพอสมควร  โดยทั่วไปศาลจะไต่สวนหลังจากรับคำร้องประมาณ 1 เดือน การไต่สวน ผู้ร้องจะต้องมาศาลและนำพยานอื่น เช่น ทายาทคนอื่นๆ มาด้วย หรือขอให้ตั้งบุคคลอื่นเป็นผู้จัดการมรดกมาด้วย เพื่อไต่สวนว่าเป็นผู้ยินยอมเป็นผู้จัดการมรดก การไต่สวนโดยทั่วไปใช้เวลาไม่นานก็เสร็จ คดีเช่นนี้ศาลมักจะนัดตอนบ่าย

            เมื่อไต่สวนเสร็จก็คือการนำพยานแต่ละฝ่ายไปให้การต่อศาลเรียกว่าเบิกความนั่นเอง เสร็จแล้ว ศาลจะจดรายงานการไต่สวน หากเป็นเรื่องไม่ซับซ้อนศาลก็นัดฟังคำสั่งวันนั้นเลย  คือสั่งให้เป็นหรือไม่เป็นผู้จัดการมรดกนั่นเองแต่หากเป็นเรื่องซับซ้อนมรดกมาก  เช่นนี้ศาลอาจนัดฟังคำสั่งวันอื่นก็ได้ เพื่อศาลจะได้ตรวจสำนวนโดยละเอียดต่อไป ทางปฏิบัติส่วนใหญ่มักไม่มีปัญหาศาลสั่งได้เลย แต่การจะรับคำสั่งไปก็อาจเป็นวันรุ่งขึ้น  เพราะจะต้องพิมพ์ให้เรียบร้อยถูกต้อง มีคำรับรองว่าเป็นสำคัญคำสั่งที่ถูกต้อง  ไม่ใช่ว่าพอศาลสั่งอนุญาตจะรับคำสั่งไปได้เลย

7. การขอรับคำสั่งศาลกรณีศาลสั่งตั้งผู้จัดการมรดกแล้ว

            ก็ต้องทำคำร้องขอเข้ามา  ศาลจะดำเนินการให้โดยไม่ชักช้า  เมื่อได้คำสั่งศาลก็นำไปแสดงต่อธนาคาร หรือเจ้าพนักงานที่ดิน  หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับมรดกของผู้ตายได้

8. ผู้จัดการมรดกจะถูกถอนจากการเป็นผู้จัดการได้หรือไม่

            หากผู้จัดการมรดกปล่อยปละละเลย  ไม่ดำเนินการจัดการมรดก หรือจัดการมรดกเสียหาย  ประมาทเลินเล่อในการจัดการมรดก  หรือทุจริตในการจัดการมรดก  เช่น เบียดบังเอาเป็นของตนเองบ้าง  เช่นนี้นอกจากจะผิดฐานยักยอกทางอาญามีโทษถึงจำคุกแล้ว  ก็อาจถูกถอนจากการเป็นผู้จัดการมรดกได้ โดยผู้มีส่วนได้เสียร้องขอให้ศาลสั่งถอนจากการเป็นผู้จัดการมรดกได้  แต่ก็ต้องขอเสียก่อนการแบ่งปันมรดกเสร็จสิ้นลง

9. คำพิพากษาฎีกาเกี่ยวกับผู้จัดการมรดก

1.คำฎีกาที่ 331/2525 ผู้ตายทำพินัยกรรมไว้ แม้ผู้คัดค้านเป็นบุตรของผู้ตาย  แต่ตามพินัยกรรมผู้คัดค้านไม่มีส่วนได้รับทรัพย์สินของผู้ตายเลย  จึงไม่สามารถตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกร่วมด้วย

            ข้อสังเกต  ศาลจะพิจารณาตั้งใครเป็นผู้จัดการมรดกต้องคำนึงถึงประโยชน์ของกองมรดกเป็นสำคัญ

2.  ฎีกาที่ 1481/2510 ศาลไม่จำต้องตั้งผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมอาจตั้งทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียคนอื่นที่เหมาะสมก็ได้

3. ฎีกาที่ 1491/2523 ทายาทที่จะร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้ หมายถึงทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกเท่านั้น

            ข้อสังเกต  ผู้ถูกตัดมิให้รับมรดก ผู้ถูกกำจัดมิให้รับมรดก ไม่มีสิทธิร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก

4.ฎีกาที่ 2095/2523 ภริยาไม่จดทะเบียนสมรสและไม่มีทรัพย์ร่วมกันไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินมรดกของสามี  ไม่มีสิทธิร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก

5. ฎีกาที่ 2021/2524 ศาลจะตั้งผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดกต้องคำนึงถึงความสมควรเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกตามพฤติการณ์  ไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากทายาททุกคน

6. ฎีกาที่ 1695/2531 (ประชุมใหญ่กองมรดกที่ไม่มีทายาทนั้น  แม้มรดกจะตกทอดแก่แผ่นดิน  แผ่นดินก็มิใช่ทายาท  เจ้าหนี้ไม่อาจบังคับชำระหนี้ได้จนกว่าจะได้ตั้งผู้จัดการมรดกขึ้น  และหากไม่มีผู้จัดการมรดกอยู่ตราบใดเจ้าหนี้ก็ไม่มีทางได้รับชำระหนี้ได้เลย  การที่เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้จากกองมรดกขึ้นอยู่กับการที่กองมรดกมีผู้จัดการมรดก  ในกรณีเช่นนี้จึงต้องถือว่าเจ้าหนี้เป็นผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้  ส่วนปัญหาที่ว่าสมควรตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่นั้น  แม้ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้กองมรดกซึ่งตามปกติย่อมมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดก  แต่เมื่อไม่ปรากฏว่ามีผู้มีส่วนได้เสียอื่นอีก  และพนักงานอัยการมิได้คัดค้าน  จึงสมควรตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกได้

ข้อสังเกต  ศาลฎีกาได้ให้เหตุผลไว้แล้วว่า  ทำไมเจ้าหนี้กองมรดกคดีนี้จึงร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกได้  และเป็นผู้จัดการมรดกได้

ปรึกษากฎหมายโทร 080-9193691 , 02-0749954 หรือ แอดไลน์ @closelawyer หรือ คลิก https://line.me/R/ti/p/%40closelawyer

ตั้งใครเป็นผู้จัดการมรดกได้บ้าง

บุคคลที่มีสิทธิร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดก.
ทายาท • ทายาทโดยชอบธรรม • ผู้รับพินัยกรรม.
ผู้มีส่วนได้เสีย เช่น เจ้าของร่วมในทรัพย์สินของเจ้ามรดก หรือสามีภรรยาซึ่งไม่ได้จดทะเบียนสมรส และมีทรัพย์สินร่วมกัน.
พนักงานอัยการ.

ทายาทเป็นผู้จัดการมรดกได้ไหม

ผู้จัดการมรดกโดยคำสั่งศาล คือ ผู้ที่เป็นทายาท หรือผู้มีส่วนได้เสีย เกี่ยวกับกองมรดกจะร้องขอให้ตนเองเป็นผู้จัดการมรดกก็ได้ คำว่า “ทายาท” นั้น จะต้องเป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายหรือเจ้ามรดกเท่านั้น หากเป็นทายาทที่ไม่มีสิทธิได้รับมรดกของเจ้ามรดกแล้ว ย่อมไม่มีสิทธิต้องขอให้เป็นผู้จัดการมรดกได้ ต่อไปจะอธิบาย ทายาทใด ...

ผู้จัดการมรดก ทำได้ตอนไหน

หน้าที่ของผู้จัดการมรดก 1. หน้าที่ผู้จัดการมรดกเริ่มนับตั้งแต่วันที่ได้ฟังคำสั่งศาลแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดก (มาตรา 1716) 2. ผู้จัดการมรดกต้องจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกภายใน 15 วัน นับแต่วันที่เริ่มหน้าที่ผู้จัดการมรดก (มาตรา 1728)

เป็นผู้จัดการมรดก 2 คนได้ไหม

ผู้จัดการมรดกจะมีคนเดียวหรือหลายคนก็ได้ แต่หากตั้งหลายคนแล้วเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ไม่เป็นผลดีต่อกองมรดก ศาลอาจตั้งแค่คนเดียวก็ได้ อ้างอิงคำพิพากษาศาลฏีกาที่ 204/2530.