องค์กรใดทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดว่ากฎหมายใดขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ

ความศักดิ์สิทธิ์แห่งคำวินิจฉัยชี้ขาด

            ประเทศไทยมีศาลเป็นองค์กรอิสระที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาอรรถคดี โดยดำเนินการตามรัฐธรรมนูญตามกฎหมาย และดำเนินกระบวนการในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ บรรดาศาลทั้งหลายจะตั้งขึ้นได้ก็แต่โดยการตราเป็นพระราชบัญญัติ

            ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบันคือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พุทธศักราช 2550) มาตรา 197 ถึงมาตรา 228 กำหนดศาลไทยมี 4 ประเภท ดังต่อไปนี้  ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และศาลทหาร

ศาลรัฐธรรมนูญ (Constitution Court)

            ถือว่าเป็นศาลสูงสุด เป็นองค์กรอิสระ มีอำนาจวินิจฉัยข้อกฎหมายในกฎหมายรัฐธรรมนูญว่ามีกฎหมายใดขัดแย้งกับกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือไม่ เช่น วินิจฉัยว่ากฎหมายที่จะตราขึ้นใหม่ขัดแย้งกับหลักพื้นฐานแห่งสิทธิและเสรีภาพของประชาชนชาวไทยหรือไม่ อำนาจหน้าที่ที่สำคัญของศาลรัฐธรรมนูญคือ การพิจารณาวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือร่างข้อบังคับการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร ของวุฒิสภา หรือของรัฐสภา ที่สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือรัฐสภา แล้วแต่กรณี ให้ความเห็นชอบแล้ว แต่ยังมิได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่ อำนาจประการสำคัญที่สุดของศาลรัฐธรรมนูญคือ คำวินิจฉัยชี้ขาดนั้นถือเป็นเด็ดขาดและมีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ

ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ แต่ไม่มีอำนาจหน้าที่พิจารณาอรรถคดีทั่วไป

ศาลยุติธรรม (The Court of Justice)

            เป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวง เว้นแต่คดีที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลอื่น

            ศาลยุติธรรมมี 3 ชั้น คือ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา

            • ศาลชั้นต้น ได้แก่ ศาลแพ่ง ศาลอาญา ศาลจังหวัด ศาลแขวง และศาลยุติธรรมอื่นที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลนั้นกำหนดให้เป็นศาลชั้นต้น เช่น ศาลเยาวชนและครอบครัว ศาลแรงงาน ศาลภาษีอากร ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ศาลล้มละลาย

            • ศาลอุทธรณ์ ได้แก่ ศาลอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์ภาค

            • ศาลฎีกาซึ่งเป็นศาลยุติธรรมสูงสุดที่มีอยู่เพียงศาลเดียว

ทุกคดีที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยและมีคำพิพากษาไปแล้วให้ถือว่าเป็นที่สุด คู่ความทุกฝ่ายต้องปฏิบัติตามโดยไม่สามารถอิดเอื้อนใด ๆ ได้อีก

            ศาลฎีกามีแผนกคดีพิเศษทั้งสิ้น 10 แผนก เพื่อวินิจฉัยชี้ขาดคดีที่อาศัยความชำนาญพิเศษ มีผู้พิพากษาศาลฎีกาประจำแผนก แผนกละประมาณ 10 คน ได้แก่

            • แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว

            • แผนกคดีแรงงาน

            • แผนกคดีภาษีอากร

            • แผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ

            • แผนกคดีล้มละลาย

            • แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

            • แผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจ

            • แผนกคดีสิ่งแวดล้อม

            • แผนกคดีปกครอง

            • แผนกคดีเลือกตั้ง

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกาเป็นแผนกที่จัดตั้งขึ้นใหม่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เพื่อพิจารณาพิพากษาคดีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้แก่ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือข้าราชการการเมืองอื่นซึ่งถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น รวมทั้งกรณีบุคคลอื่นที่เป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนด้วย

ศาลปกครอง (Administrative Court)

            คือศาลที่มีหน้าที่พิจารณาคดีปกครองระหว่างรัฐกับราษฎร หรือระหว่างองค์กรของรัฐด้วยกันเอง ทั้งนี้เป็นศาลที่จัดตั้งขึ้นโดยเฉพาะ แยกต่างหากจากศาลยุติธรรม ศาลปกครองเป็นศาลที่ใช้ระบบไต่สวน โดยในแต่ละคดีจะมีการพิจารณาโดยองค์คณะของตุลาการ ต่างจากศาลยุติธรรมซึ่งใช้ระบบกล่าวหา ศาลปกครองแบ่งออกเป็น "ศาลปกครองชั้นต้น" และ "ศาลปกครองสูงสุด"

            ศาลปกครองจะทำหน้าที่ประสานประโยชน์ระหว่างรัฐกับราษฎร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของราษฎร และพิทักษ์อำนาจรัฐ มิให้อำนาจรัฐทำลายเสรีภาพของราษฎร และเสรีภาพของราษฎรทำลายอำนาจรัฐ ศาลปกครองจะทำให้ทั้งสองอย่างเข้ากันได้ โดยรักษาประโยชน์ของส่วนรวมไว้ได้ และขณะเดียวกันก็ให้ความยุติธรรมแก่ราษฎร

ศาลทหาร (Military Court)

            ได้มีขึ้นเป็นของคู่กันมาตั้งแต่มีการทหารไว้ป้องกันประเทศ มีศาลทหารเพียงศาลเดียวที่ยังคงให้สังกัดกระทรวงกลาโหมอยู่ตามเดิม ศาลทหารสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภทคือ ศาลทหารในเวลาปกติ ศาลทหารในเวลาไม่ปกติ และศาลอาญาศึก การแต่งตั้งตุลาการ ตุลาการศาลทหารสูงสุด และตุลาการศาลทหารกลาง ให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งและถอดถอน ส่วนตุลาการศาลทหารชั้นต้น และศาลประจำหน่วยทหาร พระมหากษัตริย์ทรงมอบพระราชอำนาจแก่ผู้บังคับบัญชาทหาร และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอน

(ที่มา: วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี)

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นเด็ดขาด

            จากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า การที่สภาผู้แทนราษฎรแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาของสมาชิกวุฒิสภาโดยยกเลิกการแต่งตั้งให้เป็นการเลือกตั้งทั้งหมด เป็นการรื้อฟื้นจุดอ่อนของรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 กลับมาใช้ใหม่ อีกทั้งมีการใช้เสียงข้างมากอย่างผิดหลักนิติธรรมโดยทุจริต ฉ้อฉล มีประโยชน์ทับซ้อน หรือวาระซ่อนเร้น ในทางกฎหมาย จึงถือว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้ชี้ข้อเท็จจริงที่ดิ้นไม่ได้แล้วว่ารัฐสภานี้ฉ้อฉลอย่างไร กระทำความผิดประการใดไว้ในกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อีกทั้งรัฐธรรมนูญมาตรา 216 กำหนดให้คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ ผูกพันให้ ป.ป.ช. และอัยการที่เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญจะต้องชี้มูลและส่งฟ้องไปตามนี้ เพราะถือว่ายุติแล้ว และศาลก็ต้องรับข้อเท็จจริงนี้เช่นกัน เพราะคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญผูกพันศาลอื่นด้วย

ดังนั้น เมื่อรัฐสภาซึ่งส่วนใหญ่เป็นฝ่ายรัฐบาล และบุคคลในรัฐบาลเอง ออกมาประกาศไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญจึงเป็นสาเหตุก่อให้เกิดเหตุการณ์ต่อต้านรัฐบาล และเรียกร้องให้มีการจัดรูปแบบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่สุจริตสามารถตรวจสอบและสามารถถอดถอนได้ถ้าผู้แทนของประชาชนกระทำผิดต่อรัฐธรรมนูญ

คำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการสภาเภสัชกรรมให้ถือเป็นที่สุด

            จากกรณีที่มีการพิจารณาเรื่องจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม มีผู้ถูกกล่าวหาหรือกล่าวโทษจำนวนหนึ่งไม่พอใจคำวินิจฉัยชี้ขาดของสภาเภสัชกรรม โดยได้นำคดีขึ้นสู่ศาลปกครอง ถามว่าสามารถกระทำได้หรือไม่ เพราะว่าคำวินิจฉัยชี้ขาดนั้นถือเป็นที่สุดแล้ว คำตอบคือผู้ถูกกล่าวหาหรือกล่าวโทษไม่สามารถโต้แย้ง “คำวินิจฉัยชี้ขาด” ของสภาเภสัชกรรมได้ แต่สิ่งที่นำขึ้นสู่ศาลปกครองจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับกระบวนการ (ขั้นตอน) ในการดำเนินการพิจารณาเรื่องจรรยาบรรณว่าไม่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. 2537 เช่น การมีหนังสือแจ้งข้อกล่าวหาหรือข้อกล่าวโทษน้อยกว่าสิบห้าวัน หรือไม่ส่งสำเนาเรื่องกล่าวหาให้แก่ผู้ถูกกล่าวหา; หรือกรณีให้สมาชิกพ้นจากสมาชิกภาพ หรือให้พักใช้ใบอนุญาต หรือเพิกถอนใบอนุญาตมีคณะกรรมการน้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งคณะ เป็นต้น ถ้าขั้นตอนในการดำเนินเรื่องจรรยาบรรณไม่ถูกต้อง ศาลปกครองย่อมมีอำนาจวินิจฉัยได้ โดยพิพากษาให้กลับไปดำเนินกระบวนการใหม่ทั้งคดี (ซึ่งก็อาจขาดอายุความแล้ว) เป็นต้น แต่จะอย่างไรก็ตาม ศาลปกครองไม่มีอำนาจที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยชี้ขาดของสภาเภสัชกรรมได้เลย

            จากบทความที่ผู้เขียนเคยเขียนไว้ในหัวข้อว่า “ความยุติธรรม คืออะไร” และได้อัญเชิญส่วนหนึ่งของพระบรมราโชวาทว่า “...กฎหมายมิใช่ตัวความยุติธรรม หากเป็นแต่เพียงบทบัญญัติหรือปัจจัยที่ตราไว้เพื่อรักษาความยุติธรรม...”  แสดงให้เห็นว่าแท้จริงแล้วกฎหมายนั้นก็คือกติกาที่สังคมตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นแนวทางในการอยู่ร่วมกันอย่างร่มเย็นเป็นสุข กฎหมายที่ดีจึงมิใช่เครื่องมือที่มุ่งทำให้ฝ่ายหนึ่งได้เปรียบและทำให้อีกฝ่ายเสียเปรียบ มิฉะนั้น สังคมนั้นคงจะยุ่งเหยิงวุ่นวายน่าดู แต่หากแม้เกิดข้อพิพาทขึ้นมาแล้ว สังคมยอมปรารถนาจะให้ข้อพิพาทนั้นยุติลงโดยเร็ว และให้ทุกฝ่ายยอมรับได้ วิธีที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งก็คือ การบัญญัติให้มีองค์กรกลางที่เป็นอิสระ คือ “ศาล” เป็นผู้ใช้อำนาจชี้ขาดเพื่อให้เกิดการ “ยุติ” ที่เป็น “ธรรม”

            และที่กล่าวมาทั้งหมดคงเป็นหนึ่งในวิธีการที่จะพยายามอธิบายให้เห็นว่า ทำให้คำวินิจฉัยชี้ขาดหรือคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกา ศาลปกครองสูงสุด.... และคำวินิจฉัยชี้ขาดของสภาวิชาชีพเภสัชกรรม (และของสภาวิชาชีพอื่น ๆ) จึงต้องถือเป็นที่สุด