ข้อ ใด เป็นการ ให้ คำ นิยาม คำ ว่า ปัญญาชน ได้ ถูก ต้อง ที่สุด

แนวคิดเรื่องปัญญาชนของกรัมชี่ ต้องเริ่มจากการให้คำจำกัดความ เพราะการจำกัดความที่ต่างกัน นำไปสู่การมองต่างกัน กรัมชี่ให้คำจำกัดความปัญญาชนต่างไปจากทัศนะแบบจิตนิยมหรืออุดมคตินิยม (idealist) ที่เป็นทัศนะกระแสหลักสืบทอดกันมาตั้งแต่ เพลโต้เฮเกล ถึง Croce

ทัศนะดั้งเดิมแบบจิตนิยมมอง(ว่าใครเป็น) ปัญญาชนจากลักษณะกิจกรรมทางปัญญา มากกว่าที่จะมองระบบความสัมพันธ์ ซึ่งกิจกรรมทางปัญญาเหล่านั้น เป็นส่วนหนึ่งภายใต้ความสัมพันธ์ทางสังคมที่ซับซ้อน ดังนั้นพวกเขาจึงมองว่าปัญญาชนเป็นกลุ่มคนที่มีความรู้ความสามารถพิเศษอยู่เหนือและนอกความสัมพันธ์ทางการผลิต

กรัมชี่เห็นว่าทัศนะเช่นนี้เป็นภาพมายา (myth) เพราะในความเป็นจริงแล้ว มนุษย์ทุกคนต้องใช้ปัญญาไม่มากก็น้อย เพียงแต่ว่ามนุษย์ทุกคนไม่ได้ทำหน้าที่ทางสังคมในฐานะปัญญาชนเท่านั้น (3)

การให้คำจำกัดความปัญญาชนของกรัมชี่ เป็นการให้คำจำกัดความในเชิงสังคม ปัญญาชนหมายถึง คนที่ทำหน้าที่ทางสังคมในการสอน จัดตั้งองค์กร ชักจูงใจ ชี้นำคนอื่นๆ ไม่ว่าจะในด้านการผลิต วัฒนธรรม หรือการบริหารทางการเมือง ปัญญาชนในทัศนะของกรัมชี่จึงมีความหมายกว้างทำนอง intelligentsia (4) คือ รวมตั้งแต่ครูอาจารย์ นักบวช นักเขียน ศิลปิน ผู้ทำงานสื่อสารมวลชน ข้าราชการ นายทหาร นักการเมือง ผู้นำสหภาพแรงงาน ผู้ปฏิบัติงานของพรรคฯ

จากประเด็นการให้คำจำกัดความของปัญญาชน เมื่อเราหันกลับมามองดูการศึกษาเรื่องปัญญาชนในสังคมไทย เราจะพบว่าการให้คำจำกัดความ หรือทัศนะต่อคำว่าปัญญาชนของไทยจะค่อนไปทางทัศนะแบบอุดมคตินิยมมากกว่าทางทัศนะทางสังคมแบบกรัมชี่

คำว่า “ปัญญาชน” ในสังคมไทยไม่ปรากฏหลักฐานว่า ใครเป็นคนเริ่มใช้ ตั้งแต่เมื่อไหร่ ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานฉบับปี 2493 ยังไม่มีคำนี้ ในศัพท์บัญญัติของคณะกรรมการบัญญัติศัพท์ ของราชบัณฑิตยสถาน ซึ่งมีพระบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร เป็นประะธาน แปลคำว่า intellectual ว่า นักพุทธิปัญญาและแปลคำ intelligentsia ว่านักปรีชา (5) โดยมิได้ให้ความหมาย

จากการสอบถามปัญญาชนอาวุโส รุ่น สุภา ศิริมานนท์, ศักดิ์ชัย บำรุงพงศ์, อุดม ศรีวุวรรณ, สุวัฒน์ วรดิลก บอกว่า คำนี้คงใช้กันมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ความหมาย็คงหมายถึง พวกคนมีการศึกษาสูง ทำงานใช้สมองโดยทั่วไป (6) แต่คนที่ใช้คำว่าปัญญาชน และให้ความหมายอย่างเจาะจง คือ คนรุ่นสุลักษณ์ ศิวรักษ์, กมล สมวิเชียร ในช่วงปี พ.ศ.2510 – 2511 กมล สมวิเชียรได้เขียนบทความลงใน วารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ฉบับที่ 1 ปีที่ 6 (พ.ศ.2511) ให้นิยามคำว่าปัญญาชนว่า คือ “นักคิด ผู้มีปัญญา มีกิจกรรมทางปัญญาที่สังคมเห็นได้ และเป็นผู้ใช้ปัญญาและวิจารณญาณอย่างอิสระ”

สุลักษณ์ ศิวรักษ์ได้ให้คำนิยามว่า ปัญญาชน “คือ บุคคลที่ประกอบไปด้วยองค์สามประการประกอบกัน ดังต่อไปนี้ คือ

1. สนใจในทางปรับปรุงสังคมและบ้านเมือง
2. รู้จักพิจารณาปัญหาหลัก ดูให้แจ้งแทงให้ตลอดว่าปัญหานั้น เกี่ยวพันกับปัญหาอื่นอย่างไรบ้าง ไม่ใช่สักแต่ว่ารู้เรื่องรายละเอียดปลีกย่อยในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แท้ที่จริงรายละเอียดต่างๆนั้นย่อมอาจหาผู้เชี่ยวชาญในกิจการนั้นๆ โดยเฉพาะมาทำการให้ได้

3. สนใจในทางคุณธรรม ความดี ความงาม ความรู้อันได้แก่ ศิลปะ วัฒนธรรม และวิทยาการ” (8)

Herbert Phillips นักวิชาการอเมริกันที่เข้ามาศึกษาเรื่องปัญญาชนไทยในระยะใกล้เคียงกันนั้น ก็กล่าวถึงการศึกษาของเขาว่า เป็นการศึกษาถึงคน “กลุ่มกระจิริดในหมู่คนไทย นั่นคือเหล่าสมาชิกของสังคม ผู้ซึ่งทั้งหมู่ผู้มีการศึกษาและตนเองเห็นว่า เป็นผู้อำนวย คำนิยม ของสังคมไทย และประสบการณ์ของชาติไทยให้เข้าถึงได้ดีที่สุดน่าเชื่อที่สุด กระชับที่สุด และคงจะเที่ยงตรงที่สุด ” (9)

การให้คำนิยามปัญญาชนของนักวิชาการทั้งสามคนมีลักษณะใกล้เคียงกันละค่อนไปทางทัศนะแบบอุดมคตินิยม คือ มองดูว่า ใครเป็นปัญญาชนจากลักษณะของกิจกรรม คุณสมบัติ ความสามารถ ค่านิยมของคนๆนั้น มากกว่าที่จะมองคนในแง่ของหน้าที่ความสัมพันธ์ทางสังคม

ดังนั้น แม้การให้คำนิยามดังกล่าวจะมีลักษณะเหลื่อมล้ำกับคำนิยามที่ใช้ทัศนะทางสังคมแบบกรัมชี่อยู่บ้าง แต่ก็ยังมีส่วนที่ต่างกันในแง่ที่ว่าการให้คำจำกัดความแบบอุดมคติ จริยธรรมนิยม อาจจะมีผลโยงไปถึงการวิเคราะห์บทบาทของปัญญาชนอย่างเป็นเรื่องของกลุ่มหัวกะทิ (elitism) ปัจเจกชน เรื่องของอัตวิสัย (subjectively) มากกว่าที่จะเป็นการวิเคราะห์เรื่องของกลุ่มสังคมธรรมดาๆกลุ่มหนึ่งอย่างเป็นภววิสัย (objectively) อย่างการให้คำนิยามเชิงสังคมของกรัมชี่

ข้อจำกัดของการให้คำนิยามแบบกมล, สุลักษณ์ อีกอย่าง คือ เป็นการจำกัดวงของปัญญาชนให้แคบ เสียจนถ้าจะถือตามคำนิยามอย่างเคร่งครัดแล้ว ก็คงจะมีปัญญาชนไม่กี่คน และเป็นการปฏิเสธบทบาทของคนที่ทำหน้าที่ทางสังคมในฐานะปัญญาชน (ไม่ว่าเขาจะมีปัญญาหรือคิดอย่างอิสระหรือไม่) ซึ่งมีจำนวนมาก และนับวันจะยิ่งมีมากขึ้นตามความจำเป็นของสังคมทุนนิยมสมัยใหม่ที่คลี่คลายขยายตัวเปลี่ยนแปลงไปจากสมัยปี 2510-2511 มาก กลุ่มทางสังคมต่างๆ ไม่ว่าจะนายทุน ข้าราชการ ทหาร คนงาน ชาวนา นักศึกษา ปัญญาชน ต่างก็มีการพัฒนาเป็นกลุ่มก้อนที่เห็นได้ชัดมากขึ้น น่าศึกษาได้มากขึ้น การให้คำนิยามที่คับแคบ หรือไม่ครอบคลุมกว้างขวางพอ จะจำกัดไม่ให้เราศึกษาทำความเข้าใจสังคมได้อย่างเป็นระบบ และอย่างชัดเจน

การให้คำนิยามปัญญาชน โดยพิจารณาจากหน้าที่ความสัมพันธ์ทางสังคมแบบกรัมชี่ ยังมีข้อดีอีกอย่างหนึ่ง คือจะช่วยให้เราแยกแยะกลุ่มทางสังคมได้ชัดเจนกว่าคำนิยามแบบอัตวิสัย เช่น สามารถแยกนายทุนที่มีสติปัญญา ใช้สติปัญญาในการดำเนินงานออกจากกลุ่มปัญญาชนได้ เพราะหน้าที่ความสัมพันธ์ทางสังคมของนายทุนเหล่านั้นอยู่ในฐานะของนายทุน ไม่ใช่ฐานะของปัญญาชน การศึกษาเรื่องปัญญาชนโดยนักวิชาการรุ่นหลังๆ ส่วนใหญ่ก็ใช้คำนิยามหรือการมองตามแนวหน้าที่ความสัมพันธ์ทางสังคมนี้ ทำให้มีการศึกษาเรื่องของปัญญาชนอย่างวิเคราะห์เจาะลึกและน่าสนใจเพิ่มขึ้น (10)

+ + +

(3) Quintin Hoare เรื่องเดิม หน้า 9.

(4) คำว่า intelligentsia แต่เดิมมีความหมายเฉพาะเจาะจงถึงปัญญาชนในโซเวียดและยุโรปตะวันออก ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่มีความคิดอ่านวิพากษ์วิจารณ์ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคม ต่อมาคำนี้ได้กลายมาเป็นคำใช้เรียกลุ่มชนที่มีการศึกษาและทั้งงานระดับใช้สมองหรืองานด้านนโยบายบริหารโดยทั่วไป รวมทั้งพวก intellectual ซึ่งมักจะหมายถึงคนที่มีความคิดอ่านิวิพากษ์วิจารณ์ และปรารถนาการเปลี่ยนแปลง

(5) ราชบัณฑิตยสถาน ศัพท์บัญญัต โดยคณะกรรมการบัญญัติศัพท์ของราชบัณฑิตและกระทรวง ทบวง สำนักพิมพ์ก้าวหน้า ไม่ระบุปีที่พิมพ์.

(6) จากวงสนทนาในงานเลี้ยงของหนังสือพิมพ์ มติชน 29 มิถุนายน 2528.

(7) กมล สมวิเชียร “ลักษณะและปัญหาของปัญญาชนไทย” วารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ฉบับที่ 1 ปีที่ 6 พ.ศ.2511 ตีพิมพ์ซ้ำใน ส.ศิวรักษ์. ปัญญาชนสยาม สำนักพิมพ์ พี.พี., 2521 (พิมพ์ครั้งที่สอง), หน้า 4.

(8) ส.ศิวรักษ์, “ปัญญาชนกับการสร้างสรรค์ประเทศ, ใน ส.ศิวรักษ์, เล่มเดียวกัน หน้า 75.

(9) “วัฒนธรรมของปัญญาชนสยาม” ใน ศ.ศิวรักษ์ เล่มเดียวกัน หน้า 104. ต้นฉบับเดิมเป็นภาษาอังกฤษ เมื่อเทียบดูแล้ว คำว่า “คำนิยม” ซึ่งตรงกับ definitions น่าจะใช้คำว่า “คำนิยาม” หรือ “การให้ความหมาย” จะสื่อความหมายให้ผู้อ่านรุ่นปัจจุบันเข้าใจได้ถูกต้องกว่า.

(10) ตัวอย่างเช่น Alexsander Gella (ed.)., The Intelligentsia and the Intellectuals Theory, Methos and Case Study California:Sage, 1976. George Konrad and Ivan Szelenyi, The Intellectuals on the Road to Class Power Sussex : Harvester press, 1979.

วิทยากร เชียงกูล
ปัญญาชน : ชนชั้นนำในโลกยุคข้อมูลข่าวสาร
ISBN 974-89302-5-2