ข้อใดเป็นขั้นตอนแรกในการนำเสนอผลงานโครงงานวิทยาศาสตร์ด้วยวาจา

การนำเสนอผลงานวิจัยอย่างมีประสิทธิภาพ

บทนำ

โครงการวิจัยเป็นงานที่มีเป้าหมายเพื่อการสร้างองค์ความรู้พัฒนาศาสตร์ต่าง ๆ  ในศาสตร์ทางการศึกษาก็เช่นเดียวกับวิทยาศาสตร์  นักวิจัยย่อมปรารถนาที่จะเผยแพร่การค้นพบสิ่งที่ตนศึกษา โดยเฉพาะการนำเสนอบนเวทีระดับนานาชาติ หรือระดับชาติ ซึ่งเป็นวิธีที่เผยแพร่ผลการวิจัยที่เร็วที่สุด  นักวิจัยมือใหม่อาจจดๆ จ้องๆ ชั่งใจตนเองจนกว่าจะมีความมั่นใจระดับหนึ่ง  แต่สำหรับมือเก่า ผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยและชำนาญการนำเสนอมักจะเตรียมการให้พร้อมเสมอ  ความจริงการเผยแพร่ผลงานวิจัยมีได้หลายทาง เช่น การตีพิมพ์ในวารสาร  การนำเสนอในรูปแบบของนิทรรศการ (poster presentation) .ในโอกาสต่างๆ  แต่การนำเสนอบนเวทีเป็นรูปแบบที่นักวิจัยจะแสดงตัว  บางครั้งจะได้พบผู้สนใจแสดงตัวด้วย การโต้ตอบแลกเปลี่ยนความคิด เป็นการสร้างชุมชนของการเรียนรู้ที่ดีในวงวิชาการ

สำหรับนักวิจัยมือใหม่ หรือมือเก่าที่ไม่นิยมการแสดงตัว ก็เป็นสถานการณ์ที่ต้องการเวลาเพื่อความพร้อมบางประการ  แต่อย่างไรก็ตาม บรรยากาศทางวิชาการของสังคมไทยปัจจุบันที่มีระเบียบการเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่งทางวิชาการด้วยหลักฐานการนำผลการวิจัยออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนเป็นตัวเร่งรัดให้นักวิจัยต้องเสาะหาโอกาสเปิดตัวเก็บหลักฐานอย่างคึกคัก  ในช่วงสิบปีนับจากการปฏิรูปการศึกษา จำนวนนักวิจัยส่งผลงานมายังเวทีระดับท้องถิ่น และระดับชาติมีมากขึ้น  จากจำนวนแต่ละสาขาที่มีนับสิบ เป็นจำนวนนับร้อย บางเวทีมากขึ้นเป็นจำนวนหลายๆ ร้อย   ดังเช่นเวทีของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ งานวิจัยสาขาศึกษาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นงานวิจัยในชั้นเรียนของครู งานวิจัยของอาจารย์ และงานวิทยานิพนธ์  นักวิจัยเกือบทุกรายต้องการหลักฐานเพื่อประกอบการขอเลื่อนวิทยฐานะ สำหรับนิสิตเป็นเงื่อนไขของการสำเร็จหลักสูตรทั้งปริญญาโทและปริญญาเอก  แต่โอกาสที่เปิดนั้น ก็มิได้มีมากสำหรับทุกคน  จึงมีการคัดสรรด้วยเกณฑ์คุณภาพ  จึงพบว่า ขณะนี้ ผู้ผ่านการพิจารณาให้ขึ้นเวทีต่างๆ จึงเป็นผู้มีผลงานที่ได้รับการพิจารณาตามเกณฑ์คุณภาพของกรรมการเฉพาะกิจต่างๆ   มีความเข้มงวดมากน้อยแตกต่างกันตามนโยบายและวัตถุประสงค์ของการจัดของแต่ละเวที   

การนำเสนอบนเวที เป็นงานที่นักวิจัยต้องเตรียมตัวให้มีความพร้อมทั้งด้านความเชื่อมั่นในตนเอง  ความลึกซึ้งในสาระที่จะนำเสนอ และต้องมีทักษะของการนำเสนอ   การเตรียมตัวที่ดีจะช่วยให้นักวิจัยประสบความสำเร็จ  การนำเสนอที่มีประสิทธิภาพ พิจารณาจาก  ความสามารถของใช้เทคนิควิธีการสื่อสารที่ทำให้ผู้ฟังสนใจ  ผู้ฟังเข้าใจในเรื่องที่นักวิจัยนำเสนอ ภายในเวลาที่กำหนด เช่น กำหนด 20 นาที   25 นาที หรือ 30 นาที เป็นต้น

การฝึกซ้อมการนำเสนอ

การฝึกฝนเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับนักวิจัยมือใหม่ทุกคน  และการซักซ้อมเตรียมการนำเสนอแต่ละครั้งก็เป็นเรื่องจำเป็นมากสำหรับนักวิจัยทุกคนไม่ว่าจะเป็นมือใหม่ หรือมือเก่า  ทั้งนี้ เพราะสิ่งที่นำเสนอคือการค้นพบความรู้ใหม่  หรือ วิธีใหม่  หรือการประยุกต์ความรู้ในสถานการณ์ใหม่ และเหนือสิ่งอื่นใด คือ กลุ่มคนฟังเป็นกลุ่มใหม่  นักวิจัยจึงไม่ควรมองข้ามความจำเป็นของการเตรียมพร้อมเพื่อให้การนำเสนอเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

การฝึกฝนทักษะการนำเสนอ มักเป็นกิจกรรมแทรกๆ อยู่ในการเรียนระดับอุดมศึกษาหลายวิชา โดยเฉพาะในวิชาสัมมนา และในขั้นการสอบความรอบรู้ และสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก  แต่มักไม่พบว่ามีการจัดสอนเป็นรายวิชา  สำหรับผู้เขียนจะจัดเป็นกิจกรรมหนึ่งในรายวิชาวิธีวิจัย ทั้งระดับปริญญา ตรี โท และเอก มีการฝึกการนำเสนอ และ กำหนดให้ผู้เรียนเข้าร่วมการนำเสนอในการประชุมต่างๆ ตามโอกาสที่อำนวย  สำหรับที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีการประชุมวิชาการประจำปี นิสิตได้เห็นตัวอย่างการนำเสนอหลากหลายรูปแบบที่มีประสิทธิภาพในสถานการณ์จริง ส่วนในรายวิชาอื่นที่มีการนำเสนอการค้นคว้า นิสิตมักจะได้รับการสอนโดยอ้อมแต่เรียนรู้จากประสบการณ์ตรง สำหรับการสอนโดยตรงขอยกตัวอย่างในวิชาวิธีวิจัย กำหนดหัวข้อในส่วนของการนำเสนอบนเวทีไว้ 3 หัวข้อ คือ

1. การเตรียมการนำเสนอ

2. การนำเสนอ

3. การประเมินเพื่อพัฒนาการนำเสนออย่างมีประสิทธิภาพ

จึงขอนำมาเล่า ทบทวนให้นักวิจัยได้พิจารณา

1.  การเตรียมการนำเสนอ

สถานการณ์ในห้องของการนำเสนอผลงานวิจัย เสมือนการประชุมที่ผู้เข้าประชุมมาด้วยความตั้งใจ (นอกจากนิสิตนักศึกษาบางคนที่ถูกสั่งให้มาฟัง) เขามาเพื่อฟัง ฟังในเรื่องที่ติดประกาศ ฟังในเวลาที่กำหนด ดังนั้น ผู้นำเสนอจำเป็นต้องเตรียมให้พร้อม ไม่ให้ผู้ฟังผิดหวัง นั่นหมายถึง  ผู้รายงานเองจะได้รับเกียรติและสมหวัง การเตรียมตัวจึงควรเตรียมอย่างมีขั้นตอนดังนี้

(1) วางแผนการนำเสนอ

- ทบทวนงานวิจัยที่จะนำเสนออย่างเข้าใจ

- หาข้อมูลเกี่ยวกับผู้ฟัง ส่วนใหญ่เป็นใคร น่าจะประมาณได้จากเหตุการณ์ที่เคยจัดมา เพื่อให้ตนเองประมาณบรรยากาศในห้อง

-  เวลาที่กำหนดให้นำเสนอ   20 นาที หรือ 25 นาที

-  การจัดการที่ผู้เสนอต้องรู้และดำเนินการให้แล้วเสร็จตามกำหนด เช่น การแสดงความจำนง การส่งเอกสารต่างๆ ตลอดจน การอำนวยความสะดวกในวันที่นำเสนอ

(2) เตรียมการพูด กล่าวนำ

- แนะนำตัว  ถ้าหากในการนำเสนอมีประธานหรือพิธีกรแนะนำนักวิจัยแล้ว ก็ไม่ต้องแนะนำตนเองซ้ำ

- กล่าวแนะนำโครงการวิจัย ให้มีสาระเพียงพอที่จะให้ผู้ฟังเข้าใจว่า โครงการที่นำเสนอ คือเรื่องที่อะไร เกี่ยวกับอะไร มีความสำคัญอย่างไรที่ทำให้นักวิจัยทำวิจัยเรื่องนี้  คำถามวิจัยที่ต้องการหาคำตอบคืออะไร  นักวิจัยคาดหวังจะนำคำตอบหรือผลการวิจัยไปทำให้เกิดประโยชน์อย่างไร

(3)  เตรียมเนื้อหาของการนำเสนอ : เป็นเนื้อหาหลักของการนำเสนอ

-  วัตถุประสงค์ของการวิจัย มีอะไรบ้าง ต้องสอดคล้องกับคำถามวิจัยที่กล่าวนำไป

-  กรอบความคิดเชิงทฤษฎีของปฏิบัติการเพื่อตอบคำถามวิจัยเป็นอย่างไร สรุปการค้นคว้า อ้างอิงหลักการหรือทฤษฏีที่คัดสรร อย่างสมเหตุสมผล

- รูปแบบการปฏิบัติการ (วิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน  หรือ วิจัยปฏิบัติการของผู้บริหาร) หรือ รูปแบบการพัฒนาสื่อ หรือนวตกรรมเป็นอย่างไร มีสาระสำคัญครบ กระชับ

- ถ้ามีคำศัพท์เฉาพะที่ต้องทำความเข้าใจกับผู้ฟัง ต้องมีคำอธิบายที่ชัด และแสดงให้เห็นการปฏิบัติในความหมายนั้น

- กระบวนการวิจัยในการหาคำตอบทำอย่างไร  แสดงให้ผู้ฟังเข้าใจว่า นักวิจัย ออกแบบการวิจัยที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์อย่างไร ได้ข้อมูลอย่างไร

- การจัดกระทำข้อมูลมีวิธีการอย่างไรที่จะตอบคำถามวิจัยข้อต่อข้อ  ได้ผลการสรุปการวิเคราะห์อย่างไร

(4)  เตรียมรายงานถึงสรุปผลการวิจัย

-  สรุปผลการวิจัยเป็นข้อความที่ตอบคำถามวิจัยข้อต่อข้ออย่างสอดคล้องชัดเจน  โดยมีผลการวิเคราะห์เป็นหลักฐานของการลงข้อสรุป ข้อควรระวัง คือ การสรุปผลวิจัยเป็นองค์ความรู้ที่ได้จากการใช้ข้อมูลมาอธิบาย หรือ เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์  

-  เสนอความเชื่อมโยงระหว่างผลการวิจัยกับวัตถุประสงค์ หรือ สมมุติฐานของการวิจัย (ถ้ามี)

- ชี้ประเด็นให้เห็นประโยชน์ที่น่าจะได้จากผลการวิจัย

-  เสนอแนวทางการค้นหาความรู้ที่ยังขาด เพื่อเติมเต็มความรู้และประโยชน์  เป็นแนวทางการวิจัยครั้งต่อไปอย่างเหมาะสม และเป็นไปได้ ทั้งนี้ควรมีความเชื่อมโยงกับหลักการหรือทฤษฎี และความคาดหวังที่ได้กล่าวมาแล้ว

(5)  เตรียมการตั้งคำถาม หรือ เชิญชวนให้ผู้ฟังตั้งคำถาม

-  ปกติการรายงานวิจัย มักให้ซักถามบ้าง ถึงแม้จะใช้เวลาน้อยๆ  แต่จำเป็นที่จะให้ผู้ฟังได้เสนอคำถามหรือแลกเปลี่ยนความคิด และเป็นโอกาสที่ได้ชี้แจงกับผู้ฟังในประเด็นที่ผู้เสนอมองข้ามไป

-  ผู้เสนอรายงานจำเป็นต้องมีแผนจัดการกับเวลาที่กำหนด จึงจะมีโอกาสให้ตั้งคำถามได้

(6)  การเตรียมสื่อการนำเสนอ

- สื่อที่นักวิจัยใช้มีหลายชนิด เช่น เครื่องฉายข้ามศีรษะ สไลด์-คอมพิวเตอร์ วิดีโอ  อุปกรณ์ และเอกสารสรุปย่อ เป็นต้น  ทั้งนี้ ผู้วิจัยต้องเลือกให้เหมาะสมกับความถนัดของตน และ สามารถจัดหาได้ในเวลาที่นำเสนอ โดยมีหลักว่า  เรียบง่าย  ชัดเจน  และเหมาะสม

- นักวิจัยต้องซ้อมจนคล่อง ต้องมั่นใจว่า เวลานำเสนอ สามารถจัดการหากมีปัญหาต้องสามารถแก้ไขได้

 2. การนำเสนอ

(1)  ควบคุมสติ  มีความเชื่อมั่น  ไม่ประหม่า  ทั้งนี้ เป็นภาวะที่เกี่ยวข้องกับผลการฝึกซ้อมมาก  บางคนที่รู้ตัวว่ามักขาดความเชื่อมั่นเมื่อมีผู้ฟังจำนวนมาก ก็จำเป็นต้องฝึกซ้อมกับสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกัน  หรือ หาประสบการณ์จากการเข้าประชุมหลายที่  ผู้เขียนรู้จักนักวิจัยที่มีประสบการณ์การนำเสนอหลายเวที พบว่าเขามีความเชื่อมั่นมาก และมีทักษะมาก

(2) วางตัว วางท่าทาง โดยเฉพาะการวางมือ  เช่นเดียวกัน บุคลิกภาพที่สง่ายอมเกิดจากความเชื่อมั่นในตนเอง ดังนั้น การฝึกซ้อมที่มากพอ จะสร้างบุคลิกภาพที่สง่าได้

(3) การแต่งตัว เป็นเรื่องที่มักละไว้ในฐานที่เข้าใจว่า นักวิจัยรู้เรื่องนี้แล้ว ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึง  แต่หลายครั้งที่ผู้เขียน พบว่า การที่ผู้นำเสนอไม่ได้ให้ความสำคัญกับการแต่งตัว ก็ลดทอนความสง่าได้  นอกจากนี้ มีกรณีที่พบว่า ความไม่พิถีพิถัน และรอบคอบอาจทำให้กระทบกับความเชื่อมั่นได้

(4) การควบคุมเวลา  ถึงแม้นักวิจัยจะเตรียมการในขั้นวางแผน 6 ขั้นอย่างดีแล้วก็ตาม  ในสถานการณ์จริงของการนำเสนอ นักวิจัยจำเป็นต้องควบคุมเวลา ให้สามารถพูดในสาระสำคัญได้ครบถ้วน  ดังเช่น ใช้เวลาแต่ละหัวข้อ ประมาณ 3-4 นาที หัวข้อ (1) ความเป็นมาของการวิจัยและวัตถุประสงค์/คำถามวิจัย  (2) ทฤษฎีหรือแนวความคิดที่ใช้ในการสร้างกิจกรรมการพัฒนาผู้เรียนหรือ นวตกรรม  หรือ สื่อ (3) การปฏิบัติการกับกลุ่มเป้าหมาย หรือ การปฏิบัติการพัฒนาสื่อ หรือ นวตกรรม    (4) วิธีวิจัย (กระบวนการเก็บข้อมูลและตอบคำถามวิจัย) (5) ข้อค้นพบและอภิปราย 

3. การประเมินเพื่อพัฒนาการนำเสนออย่างมีประสิทธิภาพ

ขั้นตอนนี้ นักวิจัยมักจะประเมินด้วยการสังเกตตนเอง และปฏิกริยาของผู้ฟัง และบรรยากาศโดยรอบในห้องประชุม  แต่การประเมินโดยฝ่ายจัดการมักมีการประเมินอย่างเป็นระบบ เพื่อประโยชน์ต่อผู้นำเสนอ ฝ่ายจัดการควรออกแบบการประเมินที่จะได้สารสนเทศสนองต่อนักวิจัย ที่จะนำไปพิจารณาปรับปรุงการนำเสนอครั้งต่อไป  การออกแบบการประเมินที่เหมาะสม จะไม่ขอกล่าวในที่นี้

บทสรุป

ขอเสนอข้อสังเกตที่ฝากถึงนักวิจัยผู้เสนอรายงานบนเวที  ในหัวข้อ ข้อพึงปฏิบัติและไม่ควรปฏิบัติ ในการนำเสนอ

การนำเสนอที่มีเวลาจำกัดเพียง  20-25  นาที  นักวิจัยจำเป็นต้องเตรียมตัวให้พร้อม  และต้องนำเสนอด้วยความมั่นใจ  ข้อพึงปฏิบัติและไม่ควรปฏิบัติต่อไปนี้ รวบรวมจากประสบการณ์ตรงของผู้เขียนและจากการแลกเปลี่ยนความรู้จากเพื่อนอาจารย์ตลอดจนอ่านพบในบทความต่าง ๆ มีดังนี้

สิ่งพึงปฏิบัติ

   ควรวางแผน กำหนดโครงสร้างสาระที่นำเสนออย่างรอบคอบ มีลำดับและความสอดคล้องตลอดเรื่องที่นำเสนอ

   วางแผนเวลาที่ใช้ในการเสนอแต่ละหัวข้อ ประมาณ 3-4 นาที 

   มีการเตรียมการนำเสนออย่างจริงจัง ฝึกฝนการพูดให้กระชับ ชัดเจน  ซ้อมพูดและจับเวลาทุกหัวข้อ  ปรับสาระและการพูดให้ตรงประเด็น กระชับ

   วางแผนการใช้สื่อ เช่น สไลด์ powerpoint ให้พอเหมาะกับสาระ ทั้งด้านจำนวน และเวลาการฉาย

   เนื้อหาในสื่อ ตรงประเด็น กระชับ  ขนาดและสีตัวอักษรอ่านง่าย ควรคำนึงถึงคนฟังที่นั่งแถวหลัง ๆ ด้วย

    การพูด ออกเสียงชัดเจน จังหวะเหมาะสม ไม่รีบร้อนเกินไป

   ควรชี้แจงถึงจุดหมายของการนำเสนอ อธิบายถึงเหตุผลของการวิจัยอย่างชัดเจน

   การนำเสนอควรเน้นการสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้ฟัง  มีวิธีที่ให้ผู้ฟังเข้าใจเรื่องที่ซับซ้อน เช่นวิธีการทางสถิติ   และการสรุปผลการวิจัย

สิ่งไม่พึงปฏิบัติ

   อย่าอ่านเอกสาร แทนการพูด  ถ้ามีการเตรียมอย่างดี ไม่น่าจะเกิดอาการเช่นนี้

   อย่าใช้อุปกรณ์ หรือสื่อการนำเสนอที่ยังไม่ได้ฝึกให้เกิดความคล่องแคล่ว

   อย่านำเสนอตารางที่มีข้อมูลมากมายที่ยังไม่ได้วิเคราะห์  หรือมีรายละเอียดเกินความจำเป็นของการอธิบายสาระที่ต้องการ

   อย่าเสนอตารางที่มีความซับซ้อน  ควรแสดงเฉพาะส่วนที่เรียบง่าย และ.ได้การสรุปตีความที่ตรงประเด็น

   อย่าใช้สื่อหลายอย่างที่ไม่เกิดประโยชน์ต่อผู้ฟัง  ผู้ฟังอาจสับสนหรือเสียสมาธิ

   อย่าใช้ลูกเล่นของ powerpoint เพียงเพื่อการเพิ่มสีสรร อาจสร้างความรำคาญ เช่น เทคนิคการโยนตัวอักษรทีละตัวพร้อมเสียง 

   อย่าใช้วาจายกตน หรือ ชมตัวเอง ถึงแม้ผลการวิจัยจะน่าสนใจ ควรรายงานตามหลักฐานที่ปรากฎ

   อย่าใช้วาจาดูถูกผู้ฟัง เช่น .ขอข้ามตอนนี้ไป เพราะเป็นเรื่องเข้าใจยาก

   อย่าใช้เวลาเกินกำหนด เพราะเป็นการแสดงถึงความอ่อนซ้อม และไม่ให้เกียรติผู้ฟัง

ผู้อ่านจะร่วมให้ข้อสังเกตเพิ่มเติม โปรดเขียนประสบการณ์เพื่อประโยชน์ร่วมกัน จะขอบคุณมาก

ภาวิณี ศรีสุขวัฒนานันท์