บริเวณที่เหมาะกับการตั้งถิ่นฐานของชุมชนโบราณควรจะเป็นที่ใด

สาระสำคัญ/ความคิดรวมยอด

  ปัจจัยทางภูมิศาสตร์ ที่มีอิทธิพลต่อการตั้งถิ่นฐานในชุมชนประกอบไปด้วยสภาพภูมิประเทศและสภาพภูมิอากาศ ทรัพยากรธรรมชาติ  การตั้งถิ่นฐานบริเวณที่ราบลุ่มใกล้แหล่งน้ำ อากาศอบอุ่น และทรัพยากรต่างๆที่เอื้อต่อการตั้งถิ่นฐาน การประกอบอาชีพ การสร้างสรรค์วัฒนธรรมประเพณี และการดำรงชีวิต

ตัวชี้วัด/จุดประสงค์การเรียนรู้

ตัวชี้วัด

 มฐ ส4.2 ป.3/1 ระบุปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตั้งถิ่นฐานและพัฒนาการของชุมชน

จุดประสงค์การเรียนรู้

1. ระบุปัจจัยทางภูมิศาสตร์ที่มีอิทธิพลต่อการตั้งถิ่นฐานได้

2. การวิเคราะห์ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตั้งถิ่นฐาน

3. เห็นความสำคัญของปัจจัยทางภูมิศาสตร์ที่มีอิทธิพลต่อการตั้งถิ่นฐาน

การวัดผลและประเมินผล

1. ใบงาน เรื่อง ปัจจัยทางภูมิศาสตร์ที่มีอิทธิพลต่อการตั้งถิ่นฐาน
2. การถาม-ตอบ
3. การเล่นเกม

ภาคกลาง

บริเวณที่จัดว่าอยู่ในภาคกลางของประเทศไทยนั้นคือ ที่ราบลุ่มของลำน้ำปิง ยม น่าน ตอนล่าง ซึ่งอยู่ในจังหวัดตาก อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พิจิตร สุโขทัย และกำแพงเพชร ลงมาถึงแม่น้ำเจ้าพระยา นับตั้งแต่จังหวัดนครสวรรค์มาจนถึงอ่าวไทย โดยมีจังหวัดเพชรบุรีเป็นฐานทางด้านตะวันตก และจังหวัดชลบุรีทางตะวันออก

ความอุดมสมบูรณ์ของที่ราบลุ่มในภาคกลางนี้ เหมาะแก่การเป็นแหล่งปลูกข้าวที่ดี ทุกๆ ปี แม่น้ำ และลำน้ำหลายสาย จะพัดพาโคลนตะกอนมาทับถมพื้นที่ราบลุ่มในฤดูน้ำ ทำให้เกิดปุ๋ยธรรมชาติ เหมาะกับการเพาะปลูกอย่างค่อนข้างถาวร ไม่จำเป็นต้องโยกย้ายพื้นที่ทำการเพาะปลูกอย่างการทำไร่บนที่สูงตาม ภูเขา ในบริเวณที่ราบลุ่มนี้จึงเหมาะกับการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนของมนุษย์ เหตุนี้บรรดาบ้านเมืองในภาคกลาง โดยเฉพาะบริเวณภาคกลางตอนล่างในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา จึงมีการตั้งถิ่นฐานตามริมฝั่งแม่น้ำ และลำน้ำหลายสาย โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นเมืองนั้น มักเกิดขึ้นตรงที่มีลำน้ำหลายสายมาบรรจบกัน หรือไม่ก็ตรงคลองที่ขุดมาบรรจบกับแม่น้ำใหญ่ โดยเฉพาะในสมัยหลัง ที่ใช้แม่น้ำลำคลองเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญในการติดต่อค้าขายกับชุมชน อื่นๆ

หลักฐานทางโบราณคดีเกี่ยวกับการตั้งถิ่นฐานในภาคกลาง ได้ชี้ให้เห็นในสมัยโบราณ บ้านเมืองเกิดขึ้นในบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ในเขตภาคกลางตอนล่างก่อน เพราะมีการเคลื่อนย้ายของกลุ่มชน ที่เคยตั้งชุมชนอยู่ตามที่ราบชายเขาทางด้านตะวันตก และตะวันออกลงสู่ที่ราบลุ่มต่ำของแม่น้ำลำคลอง จนเกิดเป็นบ้านเมืองขึ้นในสมัยทวาราวดี คือ ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ ลงมา ตัวอย่างของเมืองใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้นในยุคนี้ก็ได้แก่ เมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เมืองนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม เมืองคูบัว จังหวัดราชบุรี เมืองละโว้ จังหวัดลพบุรี เมืองศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี และเมืองพระรถ จังหวัดชลบุรี

การก่อตั้งบ้านเรือนสมัยประวัติศาสตร์ในบริเวณที่กล่าวมานี้ ไม่ได้หมายความว่า มีการเริ่มสร้างบ้านเมืองขึ้นมาทันที แต่สันนิษฐานว่า บรรดาเมืองโบราณเหล่านี้ มีรากฐานสืบเนื่องมาจากแหล่งชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่อยู่ใกล้ เคียง เช่น แหล่งชุมชนตามบริเวณลำน้ำจระเข้สามพัน ใกล้เมืองอู่ทอง แหล่งโคกพลับ ที่จังหวัดราชบุรี แหล่งบ้านท่าแค และที่เขาวงพระจันทร์ ที่จังหวัดลพบุรี แหล่งโคกพนมดี ที่จังหวัดชลบุรี

เมื่อแม่น้ำลำคลองเกิดตื้นเขิน ผู้คนก็โยกย้ายเมืองมาตั้งริมลำน้ำใหม่ ที่ใช้เป็นเส้นทางคมนาคมได้ดีกว่า ดังจะเห็นได้ว่า ในสมัยหลังๆ ลงมา เกิดเมืองต่างๆ เช่น เมืองสุพรรณบุรี เมืองแพรกศรีราชา เมืองอยุธยา เมืองเพชรบุรี และเมืองราชบุรี ขึ้นมาแทนที่เมืองเก่าๆ ที่มีมาแต่สมัยทวาราวดี เมืองที่คงสืบเนื่องเรื่อยมาก็คงมีแต่เพียงเมืองละโว้ หรือลพบุรีเท่านั้น เพราะแม่น้ำ และลำคลองในบริเวณนี้ ยังคงใช้เป็นเส้นทางคมนาคมได้ดี ในบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาของภาคกลางตอนล่าง ก็ยังเป็นบริเวณที่อยู่ติดกับทะเลในอ่าวไทย แม่น้ำสายใหญ่ที่ไหลลงสู่ทะเล ต่างก็มีบทบาทเป็นเส้นทางที่เรือเดินทะเล แล่นเข้ามายังบ้านเมืองภายในได้ ปรากฏการณ์เช่นนี้ทำให้เกิดเมืองท่าสำคัญหลายแห่ง ที่เป็นศูนย์กลางทางด้าน เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมมาแต่โบราณ ในช่วงระยะแรกๆ ไม่ว่าเมืองนครปฐมโบราณ (นครชัยศรี) เมืองอู่ทอง เมืองคูบัว เมืองศรีมโหสถ ล้วนแต่เป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่ที่ติดต่อกับภายนอกได้ทั้งนั้น ในสมัยต่อมา เมืองราชบุรี เมืองเพชรบุรี เมืองสุพรรณบุรี และเมืองอยุธยา ต่างก็เจริญขึ้นมาแทนที่ โดยเฉพาะเมืองอยุธยานั้น ได้กลายมาเป็นทั้งเมืองท่า และเมืองหลวงของราชอาณาจักร ในเวลาเดียวกัน เมื่อกรุงศรีอยุธยาโรยร้างไป เพราะการทำลายของพม่าข้าศึก ก็เกิดนครธนบุรี และกรุงเทพมหานครขึ้นมาแทนที่สืบเนื่อง มาจนถึงทุกวันนี้

ในบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างมีความอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะในอดีต อุดมด้วยทรัพยากรที่เป็นแร่ธาตุ และของป่า ซึ่งชาวบ้าน สามารถนำมาใช้ในการดำรงชีวิต และส่งออกเป็น สินค้าไปยังภายนอกได้อีกด้วย ตัวอย่างที่เห็นได้ คือ ในบริเวณที่สูง และภูเขา ในเขตจังหวัดลพบุรี เรื่อยไปจนถึงจังหวัดนครสวรรค์ และเพชรบูรณ์ มีแร่เหล็ก และแร่ทองแดง มีการตั้งแหล่งชุมชน ถลุงแร่ และหลอมโลหะกันมา ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ จนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา เช่น แหล่งถลุง และหลอมทองแดง ในบริเวณเขาวงพระจันทร์ จังหวัดลพบุรี และแหล่งถลุงเหล็ก ครั้งสมัยทวาราวดีถึงอยุธยาที่บ้านดีลัง อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี ส่วนป่าเขาทางด้านตะวันตกในเขตจังหวัดกาญจนบุรี อุทัยธานี กำแพงเพชร และตาก ก็อุดมสมบูรณ์ไปด้วยบรรดาของป่าที่ได้จากสัตว์ป่า และพันธุ์ไม้ในป่า สิ่งของเหล่านี้เป็นสินค้าออกที่สำคัญ โดยเฉพาะในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี

ส่วนในบริเวณภาคกลางตอนเหนือ ตั้งแต่เขตจังหวัดนครสวรรค์ขึ้นไป จนถึงตากและอุตรดิตถ์นั้น ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ก็เป็นทางผ่านสัญจรไปมาของคนโบราณ ไม่ปรากฏหลักฐานร่องรอยของการตั้งถิ่นฐานเป็นบ้านเมืองที่มีขนาดใหญ่โต ในสมัยทวาราวดีและลพบุรีตอนต้นเลย พอมาถึงช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘ จึงมีการขยายตัวทางสังคม และเศรษฐกิจ ที่เกิดขึ้นทางลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาทางตอนใต้ และจากที่มีหลายกลุ่ม หลายเหล่าจากทางเหนือ ทางตะวันตก และตะวันออกเคลื่อนย้ายสัญจรผ่านไปมา เพื่อทำการค้าขายกับบ้านเมืองใหญ่ๆ ที่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ ในสมัยนั้น อันได้แก่ เมืองพุกาม และเมืองมอญ ในประเทศพม่า เมืองพระนคร ในประเทศกัมพูชา และเมืองเวียงจันทน์ ที่เป็นปากทางติดต่อไปยังประเทศญวน ทางด้านตะวันออก และตะวันตกเฉียงเหนือ รวมทั้งแคว้นหริภุญชัย และโยนกทางเหนือ การขยายตัวทางเศรษฐกิจ และสังคมดังกล่าวนี้ เป็นเหตุให้เกิดการสร้างบ้านเมืองขึ้นในบริเวณภาคกลางตอนเหนือ เกิดเป็นแว่นแคว้นสุโขทัย มีเมืองสำคัญเกิดขึ้น และเพิ่มขึ้น ตั้งแต่ตอนปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ไปจนถึงพุทธศตวรรษที่ ๒๐ เมืองสำคัญเหล่านี้ ได้แก่ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย สองแคว กำแพงเพชร นครชุม ทุ่งยั้ง พระบาง (นครสวรรค์) เป็นต้น

สภาพการตั้งหลักแหล่งบ้านเมืองในบริเวณภาคกลางตอนบน ก็คล้ายคลึงกันกับบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา นั่นคือ บรรดาเมืองสำคัญๆ จะตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำใหญ่ที่เป็นเส้นทางคมนาคม ดูเหมือนมีแต่เพียงเมืองสุโขทัยเพียงเมืองเดียว ที่ตั้งอยู่ตีนเขา ใกล้กับลำน้ำเล็กๆ ห่างไกลจากแม่น้ำยม แต่เมืองนี้ก็ดำรงอยู่ไม่นาน ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ก็โรยร่าง เปิดโอกาสให้เมืองสำคัญใหม่ๆ ที่ตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำขึ้นมาแทน คือ เมืองสองแคว หรือพิษณุโลก ริมฝั่งแม่น้ำน่าน เมืองสวรรคโลก หรือศรีสัชนาลัย ริมฝั่งแม่น้ำยม และเมืองนครชุม และกำแพงเพชร ริมฝั่งแม่น้ำปิง เป็นต้น ถ้าหากมีการเปรียบเทียบกันระหว่างภาคกลางตอนบนกับภาคกลางตอนล่าง โดยตั้งคำถามว่า เพราะเหตุใดการตั้งหลักแหล่งบ้านเมืองในบริเวณภาคกลางตอนบน จึงเกิดขึ้นทีหลังบริเวณตอนล่างในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาช้านานแล้ว ก็คงจะตอบโต้ได้โดยไม่ยากว่า ในสมัยโบราณตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ลงมานั้น จำนวนประชาชนในดินแดนประเทศไทยมีน้อย ในขณะที่แผ่นดิน และที่ทำกินมีอย่างเหลือเฟือ ผู้คนมีสิทธิ์ และโอกาสที่จะเลือกปักหลักตั้งรกรากบนบริเวณที่ดีกว่า หรืออุดมสมบูรณ์กว่า ซึ่งก็แน่นอนว่า บริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาของภาคกลางตอนล่าง อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ได้เปรียบบริเวณภาคกลางตอนบนอย่างมากมาย เหตุนี้ผู้คนจึงเลือกที่จะย้ายเข้าไปอยู่ในบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา มากกว่า

อย่างไรก็ตาม การปรับตัวเองเข้ากับสภาพ แวดล้อมทางธรรมชาติ และทางภูมิศาสตร์ของผู้คนที่สร้างบ้านสร้างเมืองอยู่ในบริเวณภาคกลาง ทั้งสองเขตนี้ มีลักษณะที่ง่าย ไม่จำเป็นต้องพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาดัดแปลง หรือควบคุมธรรมชาติแต่อย่างใด เพราะชุมชนมักตั้งอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำธรรมชาติ ที่มีใช้ตลอดปี และเมื่อถึงฤดูกาลก็มีฝนตก ทำให้มีการเพาะปลูกพืชพันธุ์ทางเศรษฐกิจได้สม่ำเสมอ ไม่จำเป็นต้องมีการชลประทานน้ำ เพื่อส่งเสริมให้การเพาะปลูกได้ผลดี เกี่ยวกับเรื่องน้ำท่วม ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา ในจดหมายเหตุของบาทหลวง เดอ ซัวซี ซึ่งได้เดินทางมากรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ. ๒๒๒๘ พร้อมกับคณะทูตเดอโชมองค์ และพำนักอยู่ในเมืองไทยร่วม ๓ เดือน ได้เขียนอธิบายไว้ว่า สมเด็จพระนารายณ์มหาราช จะเสด็จไปประทับที่ละโว้ในช่วงฤดูน้ำหลาก เพราะในระยะเวลานั้นกรุงศรีอยุธยาจะถูกน้ำท่วมเจิ่งนองไปหมด  ปรากฏการณ์เช่นนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่า ในสมัยนั้นผู้คนที่อยู่รอบๆ พระนครศรีอยุธยา และจังหวัดใกล้เคียง สามารถปลูกข้าวอย่างง่ายๆ ได้ โดยการหว่านลงบนที่นา หลังจากไถแล้ว และปล่อยให้ต้นข้าวโตเองในยามที่น้ำไหลท่วมที่นา เมื่อถึงฤดูกาล ไม่มีการจัดการทดน้ำ และชลประทานแต่อย่างใด เหตุนี้ เมื่อเกิดฝนฟ้าแล้งขึ้นบางปี จึงเกิดข้าวยากหมากแพง